การศึกษาในปัจจุบันมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงมากทั้งในเรื่องของอันดับ งานวิจัยต่าง ๆ ในทวีปเอเชียที่สามารถพัฒนาอย่างก้าวกระโดดด้วยความใส่ใจในการศึกษาจนสามารถเทียบเท่ามหาวิทยาลัยแถบตะวันตกได้

สถาบันการศึกษาในแถบเอเชียกำลังกลายเป็นดาวรุ่งในวงการแวดวงการศึกษาโลก ทำคะแนนตีตื้นสถาบันการศึกษาของชาติตะวันตก จนกลายเป็นที่จับตามองอย่างมากจากนักวิชาการทั่วโลก และคาดว่าวงการวิชาการจากซีกโลกตะวันออกจะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน

ล่าสุดจากการสำรวจ และจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก โดยนิตยสาร Times Higher Education พบว่า สถาบันการศึกษาจากฝั่งเอเชียตะวันออก ทำคะแนนมาแรง แซงเบียดมหาวิทยาลัยชั้นนำจากตะวันตกเข้ามาติดกลุ่มอันดับท็อปมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปีนี้ 2021 

นำกลุ่มมาโดยมหาวิทยาลัยชิงหวา ของประเทศจีนที่ปีนี้เข้ามาติด หนึ่งในท็อป 20 มหาวิทยาลัยโลกได้เป็นปีแรก และสถาบันในเอเชียอื่นๆ ก็พากันเข้ามาติดอันดับท็อป 200 มหาวิทยาลัยโลกกันอย่างคึกคัก อาทิ สถาบันจากฮ่องกงเข้ามาติดถึง 5 สถาบัน จากเดิมที่เคยมี 3 สถาบัน ส่วนเกาหลีใต้ปีนี้มีมหาวิทยาลัยเข้ามาติดอันดับถึง 7 แห่ง เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 4 สถาบันจากการจัดอันดับครั้งที่ผ่านมา 

ส่วนมหาวิทยาลัยแห่งเอเชียที่กลายเป็นดาวรุ่ง พุ่งแรงที่สุดในปีนี้ ได้แก่ Nanyang Technological University จากสิงคโปร์ ที่เข้ามาติดอันดับที่ 47 ของโลก และเป็นอันดับ 5 ของเอเชียในปีนี้ แม้จะเพิ่งก่อตั้งมาได้เพียงแค่ 40 ปีจากการเป็นวิทยาเทคนิค ที่เปิดสอนเพียงแค่ 3 ภาควิชาเท่านั้น

ซึ่งการจัดอันดับของ Times Higher Education มาจากการประเมินผลงานวิชาการจากทั่วโลกมากถึง 13 ล้านชิ้น และจากการสำรวจความเห็นของนักวิชาการทั่วโลกมากกว่า 22,000 คน เพื่อให้ได้คะแนนในการจัดอันดับที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด และจากการภาพรวมในคะแนนด้านความเป็นเลิศทางวิชาการ ก็พบว่ามีสถาบันจากเอเชียทำคะแนนสูงขึ้นจนเข้ามาติดอันดับเพิ่มขึ้นถึง 32% เทียบกับการประเมินในปี 2016 ที่ผ่านมาที่มีสถาบันในเอเชียเข้ามาติดอันดับ 26%

และเป็นเครื่องบ่งชี้ว่ากระแสในวงการวิชาการจะเติบโตอย่างมากในฟากเอเชีย จากเดิมที่ซีกโลกตะวันตกเคยผูกขาดการเป็นผู้นำในด้านวิชาการของโลกมาตลอด 

ซึ่งที่ผ่านมาตลอดหลาย 10 ปี สถาบันการศึกษาในเอเชียตะวันออกต่างทุ่มงบประมาณเพื่อแข่งขันในการพัฒนาด้านวิชาการสมัยใหม่อย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลจีนเพิ่มงบประมาณแผ่นดินลงทุนในสถาบันอุดมศึกษามากขึ้นถึง 12% ในช่วงปี 2019 - 2020 ส่วนรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศแผนที่จะจัดสรรทุนการวิจัยในมหาวิทยาลัยอีก 10 ล้านล้านเยน (2.8 ล้านล้านบาท) ซึ่งชาติอื่น ๆ ในเอเชีย อย่าง ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ ต่างมีแผนทุ่นงบประมาณเพิ่มในการพัฒนาการศึกษาระดับสูงเช่นกัน

ซึ่งตรงกันข้ามกับสถาบันการศึกษาในประเทศฝั่งตะวันตก ที่มีการปรับลดงบประมาณงานวิจัย ทุนการศึกษา ลดอัตราการจ้างนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยลงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากนักศึกษามีแนวโน้มลดลง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่นักวิชาการทั่วโลกเริ่มไหลจากฝั่งตะวันตกไปสู่ตะวันออกที่มีการขยายตัวในอุตสาหกรรมการศึกษามากกว่า 

และในยุคสถานการณ์โควิด-19 ที่ผู้คนเดินทางข้ามประเทศกันไม่ได้อย่างเคย รวมถึงนักศึกษาชาวเอเชียที่เคยเป็นตลาดการศึกษาสำคัญของประเทศตะวันตก ไม่สามารถเข้าเรียนได้ บวกกับกระแสต่อต้านชาวเอเชียที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ก็จะเป็นเหตุผลที่นักศึกษารุ่นใหม่เลือกที่จะเรียนต่อกับสถาบันในเอเชีย จึงทำให้กลายเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนานักวิชาการหน้าใหม่ ๆ ในเอเชีย ที่จะเป็นกำลังขับเคลื่อนกระแสโลกในอนาคต

จึงไม่แปลกใจเลยว่า บรรดานักวิชาการโลกต่างฟันธงเลยว่า ในอนาคต สถาบันการศึกษาในย่านเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกมาแน่ และน่าจับตามองในแง่การพัฒนาการด้านวิชาการที่น่าตื่นตา ตื่นใจ ลื่นไหลได้คล่องแคล่วในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

และเชื่อว่าสถาบันการศึกษาในเอเชียจะกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจของนักศึกษาจากทั่วโลกด้วย แถมยังมีข้อได้เปรียบในด้านค่าครองชีพ และค่าเล่าเรียนที่ถูกกว่าการลงทุนไปเรียนต่อในประเทศฝั่งตะวันตก แต่ก็มีความสงบ เรียบร้อย ไม่มีบรรยากาศการเหยียดเชื้อชาติ ศาสนาที่รุนแรงอย่างที่พบในตะวันตกอีกด้วย 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ลองมาเลือกเรียนต่อในสถาบันย่านเอเชีย ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจทีเดียว

เขียนโดย : อรุณรัตน์ เปรมสิริอำไพ (ยีนส์) คอลัมนิสต์อิสระ นักแปล นักเล่าข่าว


อ้างอิง 
World Economic Forum