Thursday, 2 May 2024
THESTUDYTIME

การศึกษาในปัจจุบันมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงมากทั้งในเรื่องของอันดับ งานวิจัยต่าง ๆ ในทวีปเอเชียที่สามารถพัฒนาอย่างก้าวกระโดดด้วยความใส่ใจในการศึกษาจนสามารถเทียบเท่ามหาวิทยาลัยแถบตะวันตกได้

สถาบันการศึกษาในแถบเอเชียกำลังกลายเป็นดาวรุ่งในวงการแวดวงการศึกษาโลก ทำคะแนนตีตื้นสถาบันการศึกษาของชาติตะวันตก จนกลายเป็นที่จับตามองอย่างมากจากนักวิชาการทั่วโลก และคาดว่าวงการวิชาการจากซีกโลกตะวันออกจะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน

ล่าสุดจากการสำรวจ และจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก โดยนิตยสาร Times Higher Education พบว่า สถาบันการศึกษาจากฝั่งเอเชียตะวันออก ทำคะแนนมาแรง แซงเบียดมหาวิทยาลัยชั้นนำจากตะวันตกเข้ามาติดกลุ่มอันดับท็อปมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปีนี้ 2021 

นำกลุ่มมาโดยมหาวิทยาลัยชิงหวา ของประเทศจีนที่ปีนี้เข้ามาติด หนึ่งในท็อป 20 มหาวิทยาลัยโลกได้เป็นปีแรก และสถาบันในเอเชียอื่นๆ ก็พากันเข้ามาติดอันดับท็อป 200 มหาวิทยาลัยโลกกันอย่างคึกคัก อาทิ สถาบันจากฮ่องกงเข้ามาติดถึง 5 สถาบัน จากเดิมที่เคยมี 3 สถาบัน ส่วนเกาหลีใต้ปีนี้มีมหาวิทยาลัยเข้ามาติดอันดับถึง 7 แห่ง เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 4 สถาบันจากการจัดอันดับครั้งที่ผ่านมา 

ส่วนมหาวิทยาลัยแห่งเอเชียที่กลายเป็นดาวรุ่ง พุ่งแรงที่สุดในปีนี้ ได้แก่ Nanyang Technological University จากสิงคโปร์ ที่เข้ามาติดอันดับที่ 47 ของโลก และเป็นอันดับ 5 ของเอเชียในปีนี้ แม้จะเพิ่งก่อตั้งมาได้เพียงแค่ 40 ปีจากการเป็นวิทยาเทคนิค ที่เปิดสอนเพียงแค่ 3 ภาควิชาเท่านั้น

ซึ่งการจัดอันดับของ Times Higher Education มาจากการประเมินผลงานวิชาการจากทั่วโลกมากถึง 13 ล้านชิ้น และจากการสำรวจความเห็นของนักวิชาการทั่วโลกมากกว่า 22,000 คน เพื่อให้ได้คะแนนในการจัดอันดับที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด และจากการภาพรวมในคะแนนด้านความเป็นเลิศทางวิชาการ ก็พบว่ามีสถาบันจากเอเชียทำคะแนนสูงขึ้นจนเข้ามาติดอันดับเพิ่มขึ้นถึง 32% เทียบกับการประเมินในปี 2016 ที่ผ่านมาที่มีสถาบันในเอเชียเข้ามาติดอันดับ 26%

และเป็นเครื่องบ่งชี้ว่ากระแสในวงการวิชาการจะเติบโตอย่างมากในฟากเอเชีย จากเดิมที่ซีกโลกตะวันตกเคยผูกขาดการเป็นผู้นำในด้านวิชาการของโลกมาตลอด 

ซึ่งที่ผ่านมาตลอดหลาย 10 ปี สถาบันการศึกษาในเอเชียตะวันออกต่างทุ่มงบประมาณเพื่อแข่งขันในการพัฒนาด้านวิชาการสมัยใหม่อย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลจีนเพิ่มงบประมาณแผ่นดินลงทุนในสถาบันอุดมศึกษามากขึ้นถึง 12% ในช่วงปี 2019 - 2020 ส่วนรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศแผนที่จะจัดสรรทุนการวิจัยในมหาวิทยาลัยอีก 10 ล้านล้านเยน (2.8 ล้านล้านบาท) ซึ่งชาติอื่น ๆ ในเอเชีย อย่าง ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ ต่างมีแผนทุ่นงบประมาณเพิ่มในการพัฒนาการศึกษาระดับสูงเช่นกัน

ซึ่งตรงกันข้ามกับสถาบันการศึกษาในประเทศฝั่งตะวันตก ที่มีการปรับลดงบประมาณงานวิจัย ทุนการศึกษา ลดอัตราการจ้างนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยลงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากนักศึกษามีแนวโน้มลดลง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่นักวิชาการทั่วโลกเริ่มไหลจากฝั่งตะวันตกไปสู่ตะวันออกที่มีการขยายตัวในอุตสาหกรรมการศึกษามากกว่า 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top