รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยการใช้สื่อสังคมออนไลน์ และโปรดใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร อย่าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ

เนื่องจากยุคสังคมสมัยใหม่ ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ระบบเทคโนโลยีที่ไร้ซึ่งพรมแดน ความทันสมัยที่มีคุณประโยชน์ที่นานัปการ แต่ก็แฝงด้วยพิษภัยอันน่ากลัว จากกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่อาศัยเทคโนโลยีมาใช้ในทางที่ผิด ล่อลวง หลอกลวง ให้ผู้คนตกเป็นเหยื่อ โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับการล่วงละเมิดเด็กและสตรี

พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล กฤตพิทยบูรณ์ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยประสบการณ์การเป็นตำรวจที่ดูแลเด็กและสตรีที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยพบว่าปัจจุบันมีอัตราการถูกล่วงละเมิดทางเพศและการกระทำรุนแรงสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการล่วงละเมิดทางเพศ อีกทั้งพบว่าเด็กและสตรีที่ถูกล่วงละเมิด ยังคงขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของกระบวนการทางกฎหมายและการดูแลตนเอง รวมถึงความวิตกกังวล เมื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศ ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร และควรที่จะบอกใคร พ่อ แม่ ญาติหรือคนสนิท ด้วยเหตุผลความอับอาย

ทั้งนี้ พบว่าปัจจุบัน มีคดีประเภทนี้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีการสื่อสารติดต่อกันและกันทาง social media และ application ต่างๆ ทำให้ง่ายต่อการพบปะผู้กระทำด้วยความที่อ่อนด้อยประสบการณ์หรือความอยากรู้อยากเห็นอยากลอง ทำให้เกิดปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ง่าย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่อันตราย

เมื่อเกิดปัญหาขึ้น แล้วเราจะต้องทำอย่างไร อันดับแรกเมื่อพบผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศแนะนำให้บอกแจ้งกับบุคคลใกล้ชิดหรือคนสนิทที่ไว้ใจมากที่สุด และให้รีบไปแจ้งความยังสถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุโดยเร็วที่สุด หรือหากกรณีที่ยังไม่ไปแจ้งความ สามารถรีบมาตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลก่อนและไปแจ้งความทีหลัง เพื่อเก็บหลักฐานวัตถุพยานต่างๆ ตลอดจนร่องรอยการถูกล่วงละเมิดทางเพศในกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ รับยาการป้องกันการติดเชื้อ HIV  โดยเร็วที่สุดภายใน 72 ชั่วโมงเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV และยาป้องกันการตั้งครรภ์ รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นเร่งด่วน หากล่าช้าจะทำให้กระบวนการรักษาหรือกระบวนการเก็บร่องรอยทางนิติวิทยาศาสตร์ไม่ครบถ้วน 

ทั้งนี้ทุกโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะมีกระบวนการตรวจรักษาผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกกระทำรุนแรงอย่างเป็นระบบ เมื่อได้รับการตรวจร่างกายเก็บหลักฐานต่างๆ และกระบวนการรักษาเรียบร้อยแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการการดูแลอย่างเป็นระบบของ “ศูนย์พึ่งได้"

“ศูนย์พึ่งได้” โรงพยาบาลตำรวจ เป็นศูนย์บริการ ที่ให้การดูแล และให้คำปรึกษา โดยมีทีมสหสาขาวิชาชีพ นิติแพทย์ พยาบาลผู้เชี่ยวชาญ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา เข้ามาดูแลทั้งทางด้านร่างกายจิตใจ อารมณ์ สังคม มีการประเมินมีการพูดคุย ให้คำปรึกษา แจ้งผลเลือด แจ้งผลการตรวจต่างๆ อย่างครบวงจร สิ่งสำคัญที่ต้องดูแล คือ สภาพจิตใจซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ จะมีปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล เครียด ทางศูนย์พึ่งได้จะมีนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาให้การดูแลรับฟังปัญหาอย่างเข้าใจเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยระบายความรู้สึกประเมินและคัดกรองทางจิตวิทยาเบื้องต้น 

กรณีที่พบปัญหาที่ซับซ้อนจะดำเนินการส่งพบจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไปนอกจากนี้ยังมีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาของศูนย์พึ่งได้ในการแจ้งผลเลือดพูดคุยปัญหาต่างๆ นักสังคมสงเคราะห์จะมีบทบาทในการให้คำปรึกษาทางด้านข้อกฎหมายความคุ้มครองให้ผู้ป่วยรู้สึกมีความปลอดภัยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายเข้ามาดูแลผู้ป่วยอย่างครบวงจร หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการรักษาก็จะมีการติดตามผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องข้อมูลทุกอย่างของผู้ป่วยจะถูกเก็บไว้เป็นความลับทำให้ผู้ป่วยมั่นใจถึงกระบวนการการดูแลของศูนย์พึ่งได้ รวมถึงบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการเข้ามาดูแล และให้ความช่วยเหลือและคอยให้แนะนำต่างๆ พร้อมการจัดเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพเข้าร่วมในการดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นและลดความหวาดกลัวลงไปได้

นอกจากนี้ทางศูนย์พึ่งได้ยังมีหน้าที่ในการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการมารับหลักฐานและรายงานที่ใช้ประกอบในกระบวนการทางกฎหมายเพื่อเอาผิดกับผู้กระทำ จากการพูดคุยกับผู้ปฏิบัติที่ทำงานด้านนี้ได้ตั้งข้อสังเกตจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ปัจจุบันมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเนื่องจากรากฐานระบบครอบครัวได้มีการเปลี่ยนแปลงจากสังคมครอบครัวขยายกลายมาเป็นสังคมครอบครัวเดี่ยวทำให้ผู้ถูกกระทำไม่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กและเยาวชนควรสอดส่องสังเกตพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน อาทิ การใช้โทรศัพท์การใช้สื่อใน social media และ application ต่างๆ การสอนเรื่องเพศศึกษา การรับฟังปัญหาของเด็กและเยาวชนให้เวลาเมื่อพบสิ่งผิดปกติใดๆ ที่เป็นสัญญาณเตือนให้รีบดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน ปัญหาเหล่านี้จะยังไม่หมดไปในสังคมแน่นอนแต่เราสามารถป้องกันได้ถ้าให้ความสำคัญ

สำหรับช่องทางการติดต่อในการขอความช่วยเหลือ หรือต้องการรับคำปรึกษา สามารถติดต่อมายังสายด่วน 1300 หรือติดต่อศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลตำรวจ หมายเลขโทรศัพท์ 02-252-1175 และ 02-207-6000 ต่อ 10101-10103 (ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลาราชการ 08.30-16.00 น.), สายด่วน 191, สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599, สายด่วนกองกำกับการเด็กและสตรี 1157 หรือ เพจเฟซบุ๊ก Because We Care และสถานีตำรวจทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง