ความเปลี่ยนแปลงของเมียนมาในปี 2020

คอลัมน์ AEC ภาคปฏิบัติ

ในช่วงเวลาที่เรามีการพูดถึงการแพร่ระบาดกันมากของโควิด-19 ในประเทศไทย โดยพุ่งประเด็นไปที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานชาวเมียนมาที่ทำงาน ณ ตลาดกุ้งในจังหวัดสมุทรสาครนั้น จะว่าไปแล้ว ปี 2020 ก็เป็นปีที่มีความตื่นเต้นไม่น้อยในเมียนมา

โดยครึ่งปีแรก ในช่วงเวลาที่มีการระบาดของโควิด-19 ในหลาย ๆ ประเทศ  เมียนมาเองกลับเป็นชาติที่มีอัตราการติดเชื้อที่ค่อนข้างต่ำ และอยู่ในอัตราที่น้อยกว่าประเทศไทยด้วยซ้ำไป   เหตุการณ์เริ่มมาพลิกผันในช่วงไตรมาสที่สามของปีที่การระบาดเริ่มเพิ่มจำนวนสูงขึ้นจากการติดเชื้อมาจากการเดินทางระหว่างพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศมายังนครย่างกุ้ง และขยายไปเมืองอื่น ๆ ในระยะต่อมา

ปีที่ผ่านมา ไทยเราติดอันดับ 4 ในการเป็นผู้นำเงินไปลงทุนในเมียนมา โดยที่ผู้ลงทุนมากที่สุดได้แก่ สิงคโปร์  ตามด้วยจีน  และฮ่องกง ที่มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนมาลงทุนกันมาก กลับกันในปีนี้ ไทยเรากลับไม่ติดในTop 5 ของการลงทุน แต่กลับมีอังกฤษและญี่ปุ่นสอดแทรกเข้ามาในฐานะผู้ลงทุนรายใหญ่ในเมียนมาตามลำดับ 

เมียนมา เป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของธุรกิจสูงขึ้นทุกปี โดยรัฐบาลมองการเพิ่มขนาดของGDP ให้โตได้เท่าตัวภายในปี 2029 รัฐบาลเองได้วาง 10 กลยุทธ์ 76 แผนปฏิบัติการภายใต้ชื่อ CERP (COVID19 Economic Relief Plan) โดยใช้ Digital economy เป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อน (Digital Trading เติบโตถึง 183% ในเมียนมา โตเป็นลำดับ 7 ในอาเซียน)

นอกเหนือจากการวางรากฐานทางการเงิน และอื่น ๆ ซึ่งได้แก่ การปรับโครงสร้างเรื่องแรงงาน   การจัดการด้านครัวเรือน ประชากรศาสตร์  และให้ความสำคัญด้านระบบสาธารณสุข ปัจจุบัน เมียนมามีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านสาธารณสุขอยู่เพียง 130,000 คน มีหมอ 35,000 คน  พยาบาล 35,000 คน  หมอฟัน 12,000 คน และอื่น ๆ อีกไม่มาก

ซึ่งจะต้องเร่งเพิ่มปริมาณให้มีจำนวนมากขึ้นกว่านี้ ล่าสุดเมียนมาได้อัดฉีดเงินเข้าระบบสาธารณสุข โดยทำให้ยอดเงินลงทุนด้านสาธารณสุขปรับมาอยู่ที่ระดับ 5USD ต่อประชากรหนึ่งคน  และนอกจากนี้รัฐบาลยังได้อนุมัติในการกู้เงินเพื่อนำมาซื้อวัคซีนป้องกันโรคระบาด COVID-19 ไว้อีกระดับหนึ่ง  

ท่านผู้อ่านครับ ระบบโรงพยาบาลและสาธารณสุขในเมียนมายังค่อนข้างล้าหลัง และผู้คนต้องออกมารักษากันนอกประเทศปีหนึ่งถึง 250,000 คนโดยประมาณ ซึ่งเราจะพบว่า 56% ที่มาตรวจรักษาในประเทศไทย จนโรงพยาบาลเอกชนเราต้องรับชาวเมียนมา มาเป็นเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกและไปเปิดสำนักงานตัวแทนกันถึงเมียนมาในหลากหลายเมือง

ตอนต่อไปจะกลับมาพูดถึงการเติบโตของเศรษฐกิจในหมวดอื่น ๆ กันต่อครับ


จิรวัฒน์

ผู้บุกเบิกการตลาด อินโดจีน พม่า อาเซียนให้บริษัทยักษ์ใหญ่ ตั้งแต่ยุคที่อาเซียนยังไม่ได้รวมตัวกัน เอาประสบการณ์ตรงมาเล่าแบ่งปัน ในวันที่โควิด - 19 ล็อคประตูเพื่อนบ้าน เรายิ่งต้องทำงานหนักมากขึ้น