สมานฉันท์สมชื่อหรือเอาเท่ห์

ในช่วงนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเมืองบ้านเราร้อนระอุมากขึ้นทุกที และดูเหมือนจะร้อนขึ้นเรื่อยๆไม่มีหยุด จากผู้ชุมนุมกลุ่ม "ราษฎร" ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่เมื่อการเรียกร้องเริ่มมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไป คงหนีไม่พ้นต้องมีคนเข้ามาห้ามมวย เพื่อช่วยคลี่คลายความขัดแย้งอันร้อนระอุนี้ให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

แล้วใครล่ะจะเป็นคนที่เข้ามาห้ามมวยระดับประเทศ ? ในความขัดแย้งต่าง ๆ ที่ผ่านมาในประเทศ กรรมการห้ามมวยก็มีมาหลาย ๆ ต่อหลายชื่อต่างกันไปในแต่ละยุครัฐบาลก็เท่านั้น แต่ถ้าพูดถึงในช่วงเวลานี้ก็คงหนีไม่พ้น "คณะกรรมการสมานฉันท์"

ซึ่งนำทีมโดยท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา "ชวน หลีกภัย" ที่ได้รับมอบหมายจากสถาบันพระปกเกล้าให้วางโครงสร้างคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์หาทางออกให้ประเทศ

ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์นี้จะเข้ามามีบทบาทในการเปิดเวทีให้คู่ขัดแย้งได้พูดคุยถึงปัญหาและหา "ตรงกลาง" ให้กับทั้งสองฝ่าย โดยให้ทั้งสองฝ่ายมาถกปัญหากันด้วยเหตุและผล เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น

ซึ่งจุดประสงค์ในการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์นั้นมาจากการที่ต้องการให้คนในประเทศไม่ทะเลาะกันและปรองดองกันในที่สุด แต่สุดท้ายเมื่อตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมาแล้วจะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้จริงอย่างชื่อหรือเปล่าล่ะ ?

โดยแนวทางในตอนนี้มีด้วยกัน 2 แนวทาง ทางแรกมีคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ 7 หรือ 5 ฝ่าย ที่ประกอบด้วยฝ่ายที่มีอำนาจตัดสินใจหรือจะเป็นตัวแทนของกลุ่มผุ้ชุมนุม ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ส.รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นโครงสร้างที่มีองค์ประกอบครบทุกฝ่าย

ในส่วนของทางที่สองคือการเสนอ "คนกลาง" จากแต่ละฝ่ายเพื่อมาเป็นคณะกรรมการหรือประธานรัฐสภาสรรหาบุคคล หรือจะตั้งประธานคณะกรรมการโดยการทาบทามมาเป็นคณะกรรมการ

ในตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปมาว่าจะใช้แนวทางไหนหรืออาจมีการนำทั้งสองแนวทางมาผสมกันเพื่อให้เกิดความลงตัวมากขึ้น ถ้าเกิดมาในแนวทางนี้จริงก็คงเป็นการหาทางออกที่ผ่านเสียงจากทุกฝ่าย

แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าไม่มีฝ่ายค้านไหนเข้าร่วมสังฆกรรมด้วย หรือง่าย ๆ "ไม่เอาด้วย" เพราะหลายฝ่ายกลับมองว่าเป็นการซื้อเวลาให้รัฐบาลมากกว่า

ถ้าคณะกรรมการสมานฉันท์เป็นเหมือนกับการหงายการ์ดปรองดองอย่างรัฐบาลต่างๆที่ผ่านมา ก็ไม่ต่างจากการเป็นฟูกลดแรงกระแทกให้กับทางฝั่งรัฐบาลหรือเป็นการซื้อเวลาเสียมากกว่าการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ที่สุดท้ายแล้วข้อเสนอหรือรายงานต่าง ๆ ถูกดองหรือนำออกมาใช้เพียงน้อยนิด สุดท้ายถ้าเป็นไปในรูปแบบเดิมการตั้งคณะกรรการสมานฉันท์ก็มีขึ้นเพื่อลดแรงกระแทกจากผู้ชุมนุมกลุ่ม "ราษฎร" เท่านั้น