Wednesday, 30 April 2025
CRIMES

‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ เร่ง!กวาดล้างแอปพลิเคชันเงินกู้เถื่อน “คิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด - ทวงหนี้รุนแรง” คุกหนัก 5 ปี ปรับ 500,000 บาท!!

พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า ได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนว่าได้รับผลกระทบจากแอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบ ซึ่งส่วนใหญ่หากกดยินยอมให้แอปพลิเคชันเข้าถึงข้อมูลก็จะสูญเสียข้อมูลส่วนตัวได้ และจะมีการกรอกข้อมูลส่วนตัวในระบบเพื่อเป็นหลักฐานถึงจะกู้เงินได้ เมื่อได้รับเงินกู้แล้วทางแอปพลิเคชันได้มีการเรียกดอกเบี้ยสูงเกินกฎหมายกำหนด หากชำระหนี้ไม่ตรงตามสัญญา บางรายจะมีการทวงหนี้ด้วยการประจานส่งข้อความไปยังคนรอบตัว หรือบางรายมีการทวงหนี้ด้วยความโหดร้ายทารุณ เกิดความเสียหายทั้งร่างกายและทรัพย์สิน นั้น

พล.ต.ต.ยิ่งยศฯ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่กำหนดให้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของพี่น้องประชาชน เป็นวาระแห่งชาติ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เร่งกวาดล้างแอปพลิเคชันเงินกู้ที่คิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด และทวงหนี้อย่างผิดกฎหมาย

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการจับกุมแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ดำเนินการคิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด และทวงหนี้ด้วยความรุนแรงอย่างผิดกฎหมายมาโดยตลอด และอยากขอเตือนไปยังเจ้าหนี้ที่กระทำการดังกล่าว อาจมีความผิดตามกฎหมาย

>> พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560

มาตรา 4 บุคคลใดให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 

(1) เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้

(2) กำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้หรือเรื่องอื่น ๆ ไว้ในหลักฐานการกู้ยืมหรือ ตราสารที่เปลี่ยนมือได้เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

(3) กำหนดจะเอาหรือรับเอาซึ่งประโยชน์อย่างอื่นนอกจากดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือสิ่งของหรือโดยวิธีการใด ๆ จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันสมควรตาม เงื่อนไขแห่งการกู้ยืมเงิน

>> พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 

มาตรา 11 ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะดังต่อไปนี้ 

(1) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น

มาตรา 41 บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา 11 (1) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรียนชี้แจงกรณีเกิดเหตุระเบิดขึ้นบริเวณสถานีรถไฟยะลา

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ขอเรียนชี้แจงถึงกรณีเกิดเหตุระเบิดขึ้นบริเวณสถานีรถไฟยะลา ดังนี้

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อช่วงเวลาประมาณ 22.10 น. ของวันที่ 21 มกราคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองยะลา ได้รับแจ้งทางวิทยุ ว่ามีเสียงดังคล้ายระเบิด 2 ครั้ง บริเวณหน้าสถานีรถไฟยะลา จากนั้นทางพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน เจ้าหน้าที่ EOD และเจ้าหน้าที่ตำรวจในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ โดยจากการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบร่องรอยความเสียหายเป็นหลุมขนาดเล็กจำนวนมาก และฝ้าเพดานของสถานีรถไฟได้รับความเสียหายเล็กน้อย และเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพยานหลักฐานต่างๆ

พร้อมทั้งตรวจสอบกล้องวงจรปิด พบว่าระเบิดที่ใช้ก่อเหตุ เป็นระเบิดแสวงเครื่องบรรจุในกระป๋องสเปรย์ ทำให้เกิดเสียงดัง จึงคาดว่าเป็นการระเบิดเพื่อสร้างสถานการณ์ในพื้นที่ ทั้งนี้จากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ และนำไปประกอบการตรวจพิสูจน์ รวมถึงประกอบการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดต่อไป

ส่วนความคืบหน้าคดีระเบิดเสาไฟฟ้าหลายจุดในพื้นที่จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ทางพนักงานสอบสวนได้ขออนุมัติหมายจับผู้ต้องหาแล้ว จำนวน 2 ราย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ และขยายผลถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้มีนโยบายในการรักษาความสงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐและประชาชน ในการสอดส่องดูแลพื้นที่ชุมชนและสร้างเกราะป้องกันให้กับชุมชน รวมถึงหาข้อมูลในเชิงรุกเพื่อเป็นการป้องกันเหตุไปพร้อมกัน หากเกิดสถานการณ์ขึ้นก็ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อติดตามตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี และเพื่อรักษาความสงบในพื้นที่ต่อไป

“เงินกู้ดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด” จำคุก 2 ปี ปรับ 200,000 บาท ศึกษาข้อมูลก่อน เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อแก๊งเงินกู้โหด ด้วยความห่วงใยจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า ในห้วงปัจจุบันแก๊งปล่อยเงินกู้ระบาดอย่างหนัก มีทั้งรูปแบบเชิญชวนโดยการแจกนามบัตร ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือแอปพลิเคชัน ซึ่งบางครั้งมีการคิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด นั้น

พล.ต.ต.ยิ่งยศฯ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายปราบปรามหนี้นอกระบบที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูงเกินกฎหมายกำหนดซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของพี่น้องประชาชน เป็นวาระแห่งชาติ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เร่งกวาดล้างแก๊งปล่อยเงินกู้ที่คิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนดอย่างเร่งด่วน 

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการจับกุมแก๊งปล่อยเงินกู้ที่คิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนดมาโดยตลอด และอยากขอฝากถึงพี่น้องประชาชนว่าก่อนที่จะกู้เงินจากที่ใดก็ตามขอให้ศึกษาข้อมูลเงื่อนไขรวมถึงดอกเบี้ยให้ดี¬ เพื่อไม่ให้ถูกเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด และอยากเตือนไปถึงเจ้าหนี้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด หรือมีการเรียกเก็บ
ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แอบแฝง นั้น อาจมีความผิดตามกฎหมาย  

“ตัดวงจรร้าย - วางสายทันที” รู้ทัน! คอลเซ็นเตอร์หลอกขอข้อมูลส่วนตัว ด้วยความห่วงใยจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า ในห้วงปัจจุบันได้มีมิจฉาชีพในรูปแบบของแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบ เช่น หลอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลอกว่าเป็นพนักงานส่งสินค้า หลอกว่าพัสดุของท่านไม่สามารถส่งได้ หรือใช้คำถามลวงขอทราบเลขพัสดุทำให้ผู้รับสายเกิดความสับสน และทำให้เชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริงเพื่อหลอกขอข้อมูลส่วนตัว เลขบัญชีธนาคาร หรือเลขบัตรประชาชน จนกระทั่งนำไปสู่การโน้มน้าวให้โอนเงินไปยังบัญชีของมิจฉาชีพ นั้น 

พล.ต.ต.ยิ่งยศฯ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากมิจฉาชีพในรูปแบบคอลเซ็นเตอร์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความมุ่งมั่นที่จะปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างจริงจัง จึงได้ตั้ง ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) เพื่อปฏิบัติภารกิจกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือภัยร้ายทางโลกออนไลน์อย่างเข้มงวด เพื่อลดความสูญเสียทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน โดยมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ฯ

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีนโยบายให้ประชาสัมพันธ์เตือนภัย และให้ความรู้กับพี่น้องประชาชน เพื่อให้รู้เท่าทันมิจฉาชีพเสมือนเป็นวัคซีนเพื่อป้องกันภัยร้ายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (Cyber Vaccinated) และได้กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ปฏิบัติหน้าที่กวาดล้างมิจฉาชีพอย่างเข้มข้น รวดเร็ว เพื่อไม่ให้พี่น้องประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพอีกต่อไป จึงอยากขอเน้นย้ำกับพี่น้องประชาชนว่า หากท่านรับสายโทรศัพท์จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่พยายามขอให้บอกข้อมูลส่วนตัว หรือขอให้โอนเงินทางโทรศัพท์ "ขอให้ท่านสันนิษฐานว่าเป็นมิจฉาชีพ และวางสายโดยทันที" เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกมิจฉาชีพหลอกลวง

‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ ขอแสดงความเสียใจ รองสารวัตรสืบสวน สภ.หนองปลิง พลีชีพ! ระงับเหตุคนร้ายคลุ้มคลั่งใช้อาวุธปืนยิงผู้อื่น เตรียมปูนบำเหน็จ ดูแลสวัสดิการอย่างดีที่สุด!!

พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า เมื่อวันที่ 19 ม.ค.65 ได้เกิดเหตุการณ์อันน่าสลดใจเกิดขึ้น มีข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อพี่น้องประชาชนเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งเหตุมีคนร้ายคลุ้มคลั่งใช้อาวุธปืนยิงผู้อื่น ชุดสืบสวน สภ.หนองปลิง ตำรวจภูธรจังหวัดนครสวรรค์ จึงได้ออกติดตามคนร้ายผู้ก่อเหตุ แต่เมื่อถึงที่เกิดเหตุแล้วคนร้ายได้คลุ้มคลั่งยิงใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งผลให้ ร.ต.อ.ชัยปติณญา แสงปาน รองสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจภูธรหนองปลิง ถูกยิงได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวคนร้ายไว้แล้ว และจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

พล.ต.ต.ยิ่งยศฯ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอสดุดีวีรกรรมของ ร.ต.อ.ชัยปติณญา แสงปาน รองสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจภูธรหนองปลิง ตำรวจภูธรจังหวัดนครสวรรค์ ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ด้วยความตั้งใจ เสียสละ จนวาระสุดท้ายของชีวิต จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้กำชับไปยังผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ของ ร.ต.อ.ชัยปติณญาฯ ให้ดูแลสวัสดิการของครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างรวดเร็วและดีที่สุด

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะพิจารณาการปูนบำเหน็จความชอบและดูแลในเรื่องของเงินสวัสดิการอย่างเต็มที่ รวมถึงเงินสวัสดิการของต้นสังกัด และสวัสดิการอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เสียสละ และให้กำลังใจครอบครัวที่ได้รับความสูญเสียจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันดังกล่าวนี้ โดยในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ และผู้ได้รับเงินเยียวยาสามารถตรวจสอบข้อมูลสวัสดิการเพิ่มเติมได้ที่ แอปพลิเคชันแทนใจ 

ตร.แนะนำ แนวทาง “3 ไม่ 1 ควร” และชวนประชาชนร่วมเป็นเครือข่ายให้ข้อมูล ช่วยกำจัด ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’!!

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะขึ้นแก่ประชาชน โดยเฉพาะการสูญเสียทรัพย์สินจากการถูกหลอกลวง โดยให้มีการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดและหากพบผู้กระทำความผิดจะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้น นั้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอประชาสัมพันธ์พี่น้องประชาชน ถึงแนวทาง “3 ไม่ 1 ควร” ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยป้องกันการถูกหลอกลวง และช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาชญากร เพื่อกำจัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่สร้างปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ดังนี้

1. “ไม่ตกใจ” หากมีแจ้งว่าท่านหรือบุคคลในครอบครัวเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือเกี่ยวกับการฟอกเงิน และท่านอาจถูกดำเนินคดี อย่าเพิ่งตกใจ ให้ตั้งสติให้ดี และระมัดระวังในการสนทนากับบุคคลดังกล่าว เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าจะไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐจริง

2“ไม่เชื่อ” หากได้รับสายจากบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือองค์กรต่าง ๆ ให้สอบถามก่อนว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานใด มี ยศ ชื่อ-สกุล และตำแหน่งใด ถ้าหากมีพฤติกรรมที่น่าสงสัยควรสอบถามไปที่หน่วยงานดังกล่าวโดยตรง

3. “ไม่โอน” หากมีการอ้างว่า ต้องให้ท่านโอนเงินเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ห้ามโอนเงินให้เด็ดขาด เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีทางที่จะขอให้ท่านโอนเงินมาให้ตรวจสอบแน่นอน

4. “ควรแจ้งเจ้าหน้าที่” หากท่านได้รับสายที่น่าเชื่อว่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงพี่น้องประชาชน ควรแจ้งเบาะแสของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่โทรศัพท์มาหาท่านให้กับเจ้าหน้าที่ทราบ โดยเฉพาะเบาะแสเกี่ยวกับช่องทางการติดต่อ เช่นหมายเลขโทรศัพท์ และหมายเลขบัญชีธนาคาร เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถระงับหรืออายัดบัญชีธนาคารของคนร้ายและสามารถติดตามตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้อย่างรวดเร็ว

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์  กล่าวต่อไปอีกว่า ในขณะนี้มิจฉาชีพเหล่านี้ได้สร้างเดือดร้อน และความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทยเป็นจำนวนมาก และมีการพัฒนาการหลอกลวงไปในหลายรูปแบบ สำหรับแนวทาง “3 ไม่ 1 ควร” เป็นเน้นและย้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของแก๊งมิจฉาชีพ  

‘INTERPOL’ ประสานสืบ ตม.รวบ!แก๊งลักรถฟิลิปปินส์ หลังก่อคดีบินซุกไทย - กบดานเป็นครูสอนภาษา

ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี    เรื่องการควบคุมกำกับดูแลชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักอาศัยหรือเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ/ผอ.ศปชก.ตร. มอบหมายให้ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปชก.ตร.)   ดำเนินการตรวจสอบชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในขณะที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย กระทำผิดกฎหมายก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ หรือกลุ่มคนร้ายข้ามชาติที่เข้ามาแฝงตัวอยู่ก่อเหตุกับคนไทยหรือชาวต่างชาติ โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการกระทำความผิด 

ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปชก.ตร.) โดย พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รอง ผบช.สตม./หัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 2 ศปชก.ตร. พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.สถิตย์ พรมอุทัย รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.อาภากร โกมลสุทธิ รอง ผบก.สส.สตม. และ ว่าที่ พ.ต.อ.พิสิษฐ์  ศรีอ่อน ผกก.2 บก.สส.สตม. ร่วมแถลงข่าว

โดยมีรายละเอียด ดังนี้ ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปชก.ตร.) ได้รับการประสานจากตำรวจสากลฟิลิปปินส์ (INTERPOL) ขอความร่วมมือให้ช่วยติดตาม นายหลุยส์ และ นางออเรีย สัญชาติฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นบุคคลต้องการตัวตามประกาศตำรวจสากลสีแดง (INTERPOL Red Notice) โดยเป็นผู้ต้องหาหลบหนีตามหมายจับศาลสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ในข้อหาโจรกรรมรถยนต์ ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย

พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ ผบก.สส.สตม.ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการที่ 2 ศปชก.ตร. สืบสวนหาตัวบุคคลตามประกาศตำรวจสากลสีแดง (INTERPOL Red Notice) ทั้งสองรายซึ่งได้หลบหนีหมายจับจากสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการที่ 2 ศปชก.ตร. จึงได้ทำการสืบสวนพบว่า คนต่างด้าวทั้งสองรายได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2562 และ 27 ธ.ค.2562 ตามลำดับ โดยได้พักอาศัยอยู่ที่คอนโดมิเนียมย่าน ถนนเสรีไทย แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กทม. และได้ขออยู่ต่อในราชอาณาจักรเพื่อประกอบอาชีพเป็นครูสอนภาษาของโรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่ กทม.

จึงได้เสนอ ผบก.สส.สตม. ดำเนินการเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร เนื่องจากมีพฤติการณ์เข้าลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 12(7) แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 กล่าวคือเป็นบุคคลที่มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชน หรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ ต่อมาเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการที่ 2 ศปชก.ตร. ได้ไปตรวจสอบที่คอนโดมิเนียมย่าน ถนนเสรีไทย แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กทม. พบคนต่างด้าวทั้งสองราย จึงได้แจ้งคำสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรให้ทราบ และนำตัวส่ง กก.3 บก.สส.สตม. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 

 

ตร.รวบ!หนุ่มฮังการี อยู่เกินกว่า 10 ปี หนีคดีฉ้อโกงเงินประกันกว่า 42 ล้านบาท!!!

ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เรื่องการควบคุมกำกับดูแลชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักอาศัยหรือเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. มอบหมายให้

สตม. ดำเนินการตรวจสอบชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในขณะที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ หรือกลุ่มคนร้ายข้ามชาติที่เข้ามาแฝงตัวอยู่ก่อเหตุกับคนไทยหรือชาวต่างชาติ โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการกระทำความผิด

สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดย พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผบช.สตม. มอบหมายให้ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รอง ผบช.สตม./โฆษก สตม.  พร้อมด้วย  พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.สถิตย์ พรมอุทัย รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.ชิตเดชา สองห้อง ผกก.1 บก.สส.สตม. แถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหารายสำคัญ โดยมีรายละเอียดดังนี้

เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.สส.สตม. จับกุม นายลาจอส อายุ 48 ปี สัญชาติฮังการี โดยกล่าวหาว่า  “เป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด” นำตัวส่งพนักงานสอบสวน กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.สตม. ดำเนินคดีตามกฎหมาย สถานที่จับกุมคอนโดมิเนียมย่านถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ   

พฤติการณ์การกระทำผิด กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.สส.สตม. ได้รับแจ้งจากสายลับว่าได้พบเห็นชายชาวต่างชาติมีตำหนิรูปพรรณคล้ายกันกับผู้ต้องหาตามประกาศทางเว็บไซต์ของตำรวจประเทศฮังการี ชื่อนายลาจอส กระทำความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร และฉ้อโกงเงินประกันภัย โดยสายลับได้พบเห็นนายลาจอส ในย่านถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.สส.สตม. จึงได้ประสานงานสอบถามไปยังสถานเอกอัครราชทูตฮังการี ประจำประเทศไทย

โดยรับแจ้งว่า นายลาจอส เป็นบุคคลเดียวกันกับที่ทางการประเทศฮังการีต้องการตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.สส.สตม. จึงได้ตรวจสอบในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ตม. พบว่า นายลาจอสเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2553 วีซ่านักท่องเที่ยว 60 วัน ได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ซึ่งการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้สิ้นสุดรวม จำนวน 4,254 วัน และยังพบว่า กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหนังสือ ที่ 0002.4/4127 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2554 แจ้งว่า นายลาจอส เป็นผู้ต้องหาที่ทางการฮังการีต้องการตัวตามหมายจับของศาลฮังการีในความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร และฉ้อโกงเงินประกันภัย เป็นเงินจำนวน 401,394,145 โฟรินต์ฮังการี หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 42 ล้านบาท

 

ตร.บุกทลายฐานที่ตั้ง ‘เว็บพนันออนไลน์ ROYAL CLUB และ BET MOVE’ สัญชาติเกาหลี เงินหมุนเวียนเดือนละกว่า 100 ล้านบาท!!

ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี เรื่อง การควบคุมกำกับดูแลชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักอาศัยหรือเข้ามาท่องเที่ยวใน   ประเทศไทย โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์  แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ,พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัทร์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ปิยะ  อุทาโย รอง ผบ.ตร. มอบหมายให้ สตม. ดำเนินการตรวจสอบชาวต่างชาติ ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในขณะที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ หรือกลุ่มคนร้ายข้ามชาติที่เข้ามาแฝงตัวอยู่เพื่อก่อเหตุกับคนไทยหรือชาวต่างชาติ โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการกระทำความผิด

สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดย พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผบช.สตม. มอบหมายให้ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รอง ผบช.สตม./โฆษก สตม. พร้อมด้วย พล.ต.ต.พันธนะ  นุชนารถ ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.สถิตย์ พรมอุทัย รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.ณภัทรพงศ สุภาพร ผกก.ปอพ.บก.สส.สตม, พ.ต.อ.ชย พานะกิจ ผกก.(สอบสวน)กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.สตม. แถลงข่าวผลการจับกุมดังนี้

เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.ปอพ.บก.สส.สตม. และ ศปอส.ตร.เข้าตรวจค้น อาคารแห่งหนึ่งในพื้นที่ หมู่ 9 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตามหมายค้นศาลแขวงพัทยา ที่ 2/2564 ลงวันที่ 3 ม.ค.65 และ   ทำการตรวจค้น ห้องเลขที่ 290/54  Northshore Condominium หมู่ 9 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตามหมายค้นศาลแขวงพัทยา ที่ 1/2564 ลงวันที่ 3 ม.ค.

จับกุม ชาวเกาหลีใต้ จำนวน 11 คน ดังนี้

1. MR.KYOUNGMIN สัญชาติเกาหลีใต้ อายุ 36 ปี

2. MR.HOYEON สัญชาติเกาหลีใต้ อายุ 27 ปี

3. MR.GANGTO สัญชาติเกาหลีใต้ อายุ 27 ปี

4. MR.GYEONGSU สัญชาติเกาหลีใต้ อายุ 32 ปี

5. MR.JEONG สัญชาติเกาหลีใต้ อายุ 24 ปี

6. MR.SEUNGWOOK สัญชาติเกาหลีใต้ อายุ 24 ปี

7. MR.KYEONGKYU สัญชาติเกาหลีใต้ อายุ 20 ปี

8. MR.SUNGHYUN สัญชาติเกาหลีใต้ อายุ 37 ปี

9. MR.WOOKJIN สัญชาติเกาหลีใต้ อายุ 36  ปี

10. MR.YOUNGJUN สัญชาติเกาหลีใต้ อายุ 32 ปี

11. MR.DOHYEON สัญชาติเกาหลีใต้ อายุ 24 ปี

ในข้อหา “ร่วมกันจัดให้เล่นพนันออนไลน์โดยผิดกฎหมายและเป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต,เป็นนายจ้างรับบุคคลต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต”

พร้อมยึดของกลาง รวมทั้งหมดจำนวน 60 รายการ แบ่งเป็น คอมพิวเตอร์ จำนวน 10 เครื่อง หน้าจอคอมพิวเตอร์ จำนวน 19 จอ คอมพิวเตอร์แบบพกพา จำนวน 2 เครื่อง โทรศัพท์มือถือจำนวน 18 เครื่อง และ บัตรส่งรหัส otp จำนวน 11 ใบ โดยได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 11 คนพร้อมของกลางในคดีส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมือง พัทยาเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 

พฤติการณ์ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้ทำการสืบสวนทราบว่าได้มีบุคคลสัญชาติเกาหลีใต้เข้ามาอาศัยประเทศไทยเป็นฐานในการทำพนันออนไลน์ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนจนทราบว่าได้มีการตั้งจุดทำการพนันที่กรุงเทพมหานครและย้ายไปที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ขอหมายค้นต่อศาลแขวงพัทยา     

ทั้งนี้จากการสืบสวนทราบว่า MR.DOHYEON  ได้ร่วมกับคนไทยในการจัดตั้งฐานในการกระทำครั้งนี้ โดย MR.DOHYEON  จะเป็นผู้จัดตั้งระบบและนำคนเกาหลีใต้เดินทางเข้ามาที่ประเทศไทยเพื่อทำงานและ  ไทยผู้ร่วมขบวนการเป็นคนจัดหาสถานที่ในการทำงาน ที่พัก รวมถึงการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เจ้าหน้าที่เชื่อว่ายังมีกลุ่มแก๊งชาวเกาหลีใต้ อยู่เบื้องหลังการกระทำความผิดในครั้งนี้ และยังมีผู้ร่วมกระทำความผิด ที่ยังสามารถสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนได้อีก โดย กก.ปอพ.บก.สส.สตม.และ ศปอส.ตร. จะดำเนินการสืบสวนขยายผลและติดตามจับกุมหัวหน้าขบวนการและเครือข่าย มาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

 

‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ เตือนภัย!! แนะนำผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลาน เรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปพลิเคชันหาคู่ อาจเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อ ถูกมิจฉาชีพหลอกลวง

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยจากแอฟพลิเคชันหาคู่ แนะนำผู้ปกครองควรดูแลการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเสี่ยงถูกมิจฉาชีพล่อลวงสร้างความเสียหายในหลายรูปแบบ

ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีบทบาทช่วยให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงเรื่องการหาคู่ก็เช่นกัน  จึงมีผู้คิดค้นแอปพลิเคชันหาคู่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่   ซึ่งแอปพลิเคชันหาคู่ที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมใช้กัน ได้แก่  Tinder ,Omi ,Bumble เป็นต้น แอปพลิเคชันเหล่านี้จะช่วยจับคู่หนุ่มสาวที่มีความชอบคล้ายๆกัน ให้ได้พูดคุยกันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น แต่เหรียญก็มักจะมีทั้ง 2 ด้านเสมอ กลุ่มมิจฉาชีพมักใช้โอกาสจากช่องทางนี้ในการหลอกล่อเหยื่อเช่นกัน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาได้เกิดเหตุในลักษณะดังกล่าวขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เหยื่อเป็นเด็กและเยาวชน   ตามที่ปรากฎบนสื่อสังคมออนไลน์และสื่ออื่นๆ หากรูปแบบการกระทำความผิดในลักษณะนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ อาจจะพัฒนาจนเป็นการค้ามนุษย์และสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างมากขึ้นได้

ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 65 ในพื้นที่ จว.เชียงใหม่ ได้มีเด็กหญิงอายุ 14 ปี หายตัวไป จนผู้ปกครองได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน และได้ทำการติดตามค้นหาจนเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 65 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบเด็กหญิงคนดังกล่าวอยู่กับชายอายุ 18 ปี ซึ่งทั้งสองได้พูดคุยกันผ่านแอพพลิเคชัน Litmatch และได้มีการนัดเจอกัน ซึ่งเป็นเหตุให้เด็กหญิงคนดังกล่าวหายตัวไป ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมชายคนดังกล่าวพร้อมกับแจ้งข้อกล่าวหา กระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีฯ และ พรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีไปจากบิดามารดาฯ ก่อนจะนำตัวส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป

และในกรณีเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 64 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ร่วมกันจับกุมตัวชายอายุ 28 ปี ในข้อหา รีดเอาทรัพย์,กรรโชกทรัพย์,    ทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ,ทำให้ผู้อื่นเกิดความหวาดกลัวหรือตกใจโดยการขู่เข็ญ สืบเนื่องจากได้รับแจ้งจากหญิงสาวหลายรายว่าได้รู้จักกับผู้ต้องหาผ่านแอปพลิเคชันหาคู่ชื่อดังก่อนจะนัดหมายเจอกัน จากนั้นก็ออกอุบายตีสนิท เมื่อคบหากันก็ได้ถ่ายคลิปตอนมีเพศสัมพันธ์ พอผ่านไปสักระยะก็จะขอยืมเงิน หากไม่ยินยอมให้ ก็จะขู่เผยแพร่คลิปดังกล่าว เมื่อฝ่ายหญิงขอเลิกผู้ต้องหาก็จะขอค่าเลิกเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท จะเห็นได้ว่าอันตรายไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงกับเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆคน

ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการใช้บริการแอปพลิเคชันหาคู่ให้มากยิ่งขึ้น นอกจากมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกล่อลวงไปกระทำชำเราแล้ว การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ก็เสี่ยงต่อการถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางที่ผิด หรืออาจถูกนำไปขายต่อบน Dark Web และนำไปใช้ในการกระทำความผิด ทำให้ท่านอาจตกเป็นผู้ต้องหา โดยท่านไม่รู้ตัวก็เป็นได้

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้กำชับและสั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย ในการป้องกันภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.) และ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ให้เร่งสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชน ทราบถึงพิษภัยและรูปแบบการกระทำความผิดต่างๆ พร้อมเร่งทำการสืบสวนปราบปรามจับกุม  ผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี เพื่อเป็นการจำกัดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นและตัดโอกาสในการกระทำความผิดอย่างจริงจังต่อเนื่องโดยให้มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอฝากเตือนภัยและประชาสัมพันธ์แนะนำผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลาน            ถึงแนวทางการป้องกันหลีกเลี่ยงการถูกล่อลวงผ่านแอปพลิเคชั่นหาคู่ ดังนี้

1.ควรระมัดระวังในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ไม่บอกข้อมูลทั้งหมดกับคนที่เพิ่งรู้จัก เมื่อใช้บริการแอปพลิเคชั่นหาคู่ออนไลน์ต่าง ๆ

2.ไม่ควรหลงเชื่อ หรือไว้ใจบุคคลใดง่าย ๆ หากมีความจำเป็นต้องนัดเจอควรมีเพื่อนหรือผู้ปกครองไปด้วยเพื่อความปลอดภัย

3.ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้ใช้สื่อสังคมออนไลน์หรือโทรศัพท์มือถือเพียงลำพัง, ควรพูดคุยทำความเข้าใจถึงขอบเขตการใช้งานว่าแอปพลิเคชั่นไหนใช้ได้บ้างหรือแอปพลิเคชั่นใดควรหลีกเลี่ยง, หมั่นเช็คประวัติการใช้งานอินเทอร์เน็ตหรือแอปพลิเคชั่นของบุตรหลานว่ามีการใช้งานที่ไม่เหมาะสมหรือมีการพูดคุยกับคนแปลกหน้าหรือไม่

4.พึงระลึกไว้เสมอว่า อะไรที่ดีเกินไป เร็วเกินไป มักจะลงเอยไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยง่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์และขอให้เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นอุทาหรณ์ให้ระมัดระวังในเรื่องการมีความสัมพันธ์ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์หรือ Chat Application ในรูปแบบต่าง ๆ

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top