Saturday, 10 May 2025
อีสานไทม์

ร้อยเอ็ด - รองแม่ทัพภาค 2 นำ พสบ.ทภ.2 รุ่น 2 เยี่ยม รพ.สนาม ร้อยเอ็ด

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่กองพลทหารราบที่ 6 ค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตำบลโพธิ์สัย อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด พล.ต.สวราชย์ แสงผล รองแม่ทัพภาคที่ 2 และคณะ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนามกองทัพบก หน่วยมณฑลทหารบกที่ 27 กองพันเสนารักษ์ที่ 6 กองพลทหารราบที่ 6 โดยมี พ.อ.ณัฎฐ์ ศรีอินทร์ รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 6 ให้การต้อนรับพร้อมบรรยายสรุปและนำตรวจนำตรวจเยี่ยมพบปะให้กำลังใจแพทย์และบุคลากรประจำโรงพยาบาล

จากนั้น พล.ต.สวราชย์ แสงผล นางธนชนก สุริยเดชสกุล และนายอรรครัตน์ รัตนจันทร์ ผู้แทนนักศึกษาหลักสูตรพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหาร กองทัพภาคที่ 2 รุ่นที่ 2 (พสบ.ทภ.2 รุ่น2) ได้มอบเสื้อและพัดลม เพื่อใช้ในกิจกรรมโรงพยาบาลสนามโดยมีนายแพทย์อัศราวุธ ใจหาญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสมเด็จ และผู้อำนวยการสนามแห่งที่ 3 เป็นผู้รับมอบ

พ.อ.ณัฎฐ์ ศรีอินทร์ รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 6 กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามกองทัพบกมณฑลทหารบกที่ 27 ค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เริ่มเปิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม  เป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 ของจังหวัดร้อยเอ็ด ต่อจากแห่งที่ 1 ที่หอประชุมจังหวัดร้อยเอ็ด และแห่งที่ 2 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด สามารถรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยเข้ารับการรักษาได้ จำนวน 100 เตียง โดยมีทีมบุคลากรทางการแพทย์ จากโรงพยาบาลศรีสมเด็จ โรงพยาบาลจังหาร โรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน และโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ค่ายโสกเชือก) หน่วยเสนารักษ์ หมุนเวียนมาปฏิบัติงาน

พ.อ.ณัฎฐ์ กล่าวว่า การดำเนินการของโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 นี้ จะใช้อาคารรับผู้ป่วย 2 อาคาร อาคารละ 50 เตียง ใช้บุคคลากรจากโรงพยาบาลอำเภอศรีสมเด็จ ร่วมกับโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และกองพันเสนารักษ์ที่ 6 จัดวางระบบการดูแลผู้ป่วยผ่านกล้องวงจรปิด, Video call, และเครื่องขยายเสียง ไม่มีการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง มีการกำหนดเขตหวงห้าม เส้นทางการนำส่งผู้ป่วยชัดเจนเพื่อให้ปลอดภัยต่อกำลังพลและครอบครัวของหน่วยที่อาศัยอยู่ภายในค่าย ในการนี้รองแม่ทัพภาคที่ 2 ได้เป็นผู้แทนรับมอบสิ่งของบริจาคจากภาคส่วนต่างๆสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ด้วย

"ภายหลังการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนาม รองแม่ทัพภาคที่ 2 ได้ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติตามแผนการดูแลผู้ติดเชื้อที่สามารถดูแลตนเองที่บ้านได้ (Home Isolation) ของหน่วยในค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พร้อมทั้งให้คำแนะนำเพื่อให้หน่วยสามารถดำเนินการดูแลกำลังพลและครอบครัวให้ปลอดภัยตามมาตรการพิทักษ์พลด้วย" พ.อ.ณัฎฐ์ กล่าว


ภาพ/ข่าว  ชุด ฉก.พญาอินทรีย์ / เดวิท โชคชัย

กาฬสินธุ์ - ส่งมอบอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อเสริมเกราะป้องกันให้นักรบชุดขาว ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้มอบอุปกรณ์ป้องกันโควิด ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยมี นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นผู้รับมอบ โดยมีนายสนั่น พงศ์อักษร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.รพ.กาฬสินธุ์ นายธนทร ศรีนาค หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาฬสินธุ์ และผู้แทนจากทุกหน่วยงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การส่งมอบวัสดุอุปกรณ์ เป็นการจัดหาโดยทางจังหวัด ได้รับการร้องขอจากคณะกรรมการป้องกันโรคติดต่อ “โควิด” จ.กาฬสินธุ์  เพื่อใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่พบการระบาดครอบคลุมไปทั้ง 18 อำเภอ ที่เป็นอุปกรณ์ป้องกันให้บุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 8 รายการ ประกอบด้วย หน้ากากอนามัยชนิด N95  ชุดป้องกันร่างกาย Cover ALL  เสื้อกาวน์ชนิดกั้นน้ำ  ถุงมือยาง ถุงมือไนไตร  แว่นตาครอบแบบใส รวมไปถึงชุดตรวจบริเวณโพรงจมูกและช่องปากในการตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ที่จะสามารถให้นักรบชุดขาวมีความปลอดภัย และสามารถตรวจหาป้องกันได้อย่างมีคุณภาพ

ด้าน นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า การจัดหาอุปกรณ์ในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์และตรงความต้องการเป็นอย่างมาก เนื่องจากปริมาณผู้ป่วย รวมไปถึงการตรวจหาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้อุปกรณ์ดังกล่าว และนับจากนี้ก็จะทำให้ทีมแพทย์ พยาบาล มีอุปกรณ์ป้องกัน เนื่องจากในขณะนี้ยังพบว่ามีพี่น้องชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ เดินทางกลับมาพักรักษาตัวที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ในอนาคตจะมีการผลักดันโรงพยาบาลสนามให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนต่อไป

สำหรับสถานการณ์ในภาพรวมที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ขณะนี้ยังคงพบผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งที่อยู่ในพื้นที่และที่เดินทางมารักษาตัวมีกว่า 30 รายต่อวัน ทำให้ทีมแพทย์พยาบาล อสม.รวมไปถึงเจ้าหน้าที่อาสากู้ภัยต่างๆ ต้องทำงานกันอย่างหนัก ขณะที่ในกลุ่มนักธุรกิจ พ่อค้า ก็มีการนำน้ำดื่ม อาหารไปมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ตามสถานที่ต่างๆ เช่นกัน

ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ยังคงพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดวันนี้ (15 ก.ค.64) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากถึง 59 ราย โดยเป็นผู้ป่วยติดเชื้อขอกลับมารักษาในภูมิลำเนา 12 ราย เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงอยู่ระหว่างการกักกันตัว 42 ราย สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 2  ราย และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคอีก 3 ราย ทำให้มียอดติดเชื้อโควิด-19 ของ จ.กาฬสินธุ์พุ่งสูงถึง 735 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 467 ราย รักษาหายแล้ว 264 ราย และยอดผู้เสียชีวิตสะสมยังอยู่ที่ 4 ราย

กาฬสินธุ์ – ขอบคุณ ‘มูลนิธิปิดทองหลังพระ’ ชนะความจน ชุมชนมีรายได้สู้ภัยโควิด

มูลนิธิปิดทองหลังพระ ช่วยชาวบ้านหนองบัวน้อย ตำบลหนองตอกแป้น อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ใช้ที่ดินสาธารณะประจำหมู่บ้านปลูกพืชหลากหลาย จัดระบบสูบน้ำด้วยพลังงานโซล่าเซลล์พร้อมหอถัง ภายใต้โครงการฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไกล ตามแนวพระราชดำริ เป็นแหล่งอาหาร สร้างงาน สร้างรายได้ สู้ภัยโควิด-19

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ที่แปลงเกษตรบ้านหนองบัวน้อย หมู่ 3 ต.หนองตอกแป้น อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายสมควร ภูแข่งหมอก ผู้ใหญ่บ้านหนองบัวน้อย หมู่ 3 พร้อมด้วยคณะกรรมการหมู่บ้าน และชาวบ้านเจ้าของแปลงผักสวนครัว ร่วมกันรดน้ำและกำจัดวัชพืชในแปลงผักสวนครัวของตน ซึ่งมีหลายชนิดหลายรุ่น ทั้งที่เพิ่งเพาะปลูก กำลังเจริญเติบโต และใกล้อายุเก็บเกี่ยว

นายสมควร ภูแข่งหมอก ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า พื้นที่ที่นำชาวบ้านจัดทำเป็นแปลงผักปลูกพืชหลากหลายนี้ คือหนองบัวน้อยซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน มีพื้นที่ประมาณ 42 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่หนองประมาณ 30  ไร่ อีกส่วนเป็นพื้นที่ว่างเปล่าและจัดทำเป็นแปลงปลูกพืชผักของชาวบ้าน โดยได้จัดสรรให้ชาวบ้านที่ร่วมโครงการครัวเรือนละ 6 x 40 เมตร ก่อนหน้านี้เคยเป็นพื้นที่ว่างเปล่า จึงทำการประชาคมหมู่บ้านเปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกิน หรือผู้ที่ต้องการจะปลูกผักสวนครัวเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ โดยปลูกกินเองในครัวเรือนและขายในชุมชน เน้นความปลอดภัย ลดการใช้สารเคมี ปัจจุบันมีชาวบ้านเข้ามาใช้ประโยชน์ 38 ครัวเรือน ทั้งนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้ามาส่งเสริมให้องค์ความรู้กับชาวบ้าน ในโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย

นายสมควร กล่าวอีกว่า สำหรับน้ำที่ใช้ในแปลงพืชหลากหลายนั้น ได้น้ำจากหนองน้ำสาธารณะ  ซึ่งเป็นระบบสูบโดยใช้พลังงานไฟฟ้า ค่าไฟเดือนละประมาณ 1,000 บาท ชาวบ้านที่ปลูกผักเฉลี่ยกันออกค่าใช้จ่าย บางครั้งไฟดับหรือไฟไม่พอ ก็เป็นอุปสรรคในการรดผัก ทั้งนี้ ผักที่ปลูกมีทั้งในแปลงดิน และไฮโดรโปรนิกส์ เช่น ผักบุ้ง ผักชี หอม กระเทียม คะน้า พริก มะเขือ ตะไคร้ ขิง ข่า กะเพรา โหระพา สลัด ฟักทอง พริก มะเขือ ถั่วฝักยาว ฝรั่ง กล้วย และพืชผักตามฤดูกาลต่างๆ มีผลผลิตเก็บกิน ซื้อขายตลอดปี ทั้งขายตามตลาดชุมชน ส่งขายที่โรงพยาบาลยางตลาด และมีพ่อค้าแม่ค้ามารับถึงที่อีกด้วย ทำให้ชาวบ้านมีพืชผักสวนครัวไว้กินเอง และมีรายได้จากการจำหน่ายพืชผักสวนครัวไม่น้อยกว่าเดือนละ 5,000 บาท

ด้านนางสมบูรณ์ ภูจำปา ผู้ช่วย ผญบ.หนองบัวน้อย หมู่ 3 กล่าวว่า จากการที่มีชาวบ้านมาใช้พื้นที่ดังกล่าวปลูกผักเป็นอาชีพเสริม และเป็นอาหารในครัวเรือนมากขึ้น ถึงแท้น้ำในบ่อหนองบัวน้อยจะเพียงพอตลอดปี แต่ระบบการจ่ายน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าบางครั้งน้ำไม่เพียงพอ ผู้นำชุมชนและสมาชิกผู้ปลูกพืชหลากหลายจึงได้ทำหนังสือขอรับการสนับสนุนระบบสูบน้ำด้วยพลังงานโซล่าเซลล์พร้อมหอถัง จากมูลนิธิปิดทองหลังพระ ก่อนที่จะได้รับการสนับสนุนเมื่อเร็วๆนี้ ภายใต้โครงการฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไกล ตามแนวพระราชดำริ ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งสามารถสำรองน้ำไว้ในถังสูงและมีน้ำใช้ในแปลงพืชผักอย่างเพียงพอ

นางสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า ประโยชน์ที่ได้จากการรวมกลุ่มปลูกพืชหลากหลายมาหลายด้าน นอกจากจะเป็นแหล่งอาหาร สร้างอาชีพเสริมและรายได้เข้าครัวเรือนแล้ว ยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ในชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ที่สำคัญแทบจะมีรายจ่าย มีแต่รายได้เข้ามา ซึ่งแต่เดิมในภาวะปกติ มีรายได้จากการจำหน่ายพืชผักอย่างน้อยวันละ 250-300 บาท แต่ในช่วงนี้ที่ประสบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตลาดชุมชนและแหล่งรับซื้อปิดตัวลง รายได้จากการขายผักลดลงเหลือเพียงวันละ 100 บาทเท่านั้น อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมูลนิธิปิดทองหลังพระ ที่เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมให้ชาวบ้านหนองบัวน้อย มีอาชีพ มีรายได้ บรรเทาความเดือดร้อนในช่วงประสบสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

ขอนแก่น – จัดให้เปิดโรงแรมกักตัวคนกลับจากพื้นที่กลุ่มเสี่ยง ขอเพียงส่งเสียงมา !! เทศบาลฯพร้อมทันทีด้วยระบบการบริการสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ใครดื้อส่งต่อกองร้อย อส.ทั้งครอบครัว

เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 14 ก.ค.2564 นายพงศ์ธร  พิศาพิทักษ์กุล นายกเทศมนตรีตำบลพระลับ พร้อมด้วย นายวินัย  ทองทัพ กำนัน ต.พระลับ ,พ.ต.ท.จิรัฐเกรียติ  ศรวิเศษ หัวหน้า สภ.ย่อยพระลับ และนายปัญญา  พระวงศ์  ผอ.รพ.สต.ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น นำกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง,เทศาล,ตำรวจ และ อสม. ในเขต ต.พระลับ เข้าทำการตรวจเยี่ยมผู้ที่เข้ารับการกักตัวที่โรงแรมฮอไรซั่น ซึ่งตั้งอยู่ ริม ถ.เลี่ยงเมืองสายขอนแก่น-กาฬสินธุ์ ปากทางเข้า บ.ผือ ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ภายหลังจากเทศบาลฯได้กำหนดให้โรงแรมแห่งนี้เป็นสถานที่กักตัว 14 วัน ของคนที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่ 10 จังหวัดสีแดงเข้ม ตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระดับพื้นที่โดยที่ขณะนี้มีผู้ทีเดินทางกลับมาจากพื้นที่ 10 จังหวัดสีแดงเข้มและเข้าสู่การกักตัวของเทศบาลฯแล้วรวม 5 ราย

นายพงศ์ธร พิศาพิทักษ์กุล นายกเทศมนตรีตำบลพระลับ กล่าวว่า ขณะนี้เทศบาลฯได้ขานรับนโยบายของกระทรวงมหาดไทยและทางจังหวัดในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่อย่างเข้มงวด โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายปกครอง,รพ.สต.ตำรวจ และ เทศบาลฯ ในการจัดระบบด้านสาธารณสุขจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งวันนี้ได้ทำทันที ด้วยการให้บุคลากรด่านหน้าใช้อำนาจตาม พรบ.ควบคุมโรคติดต่อ และประกาศของจังหวัด ในการกักตัวคนที่เข้ามาจากพื้นที่เสี่ยงสีแดงเข้ม 14 วัน ซึ่งคนพระลับ จากนี้ไปหากจะเดินทางกลับมาที่บ้านจะต้องรายงานให้กับครอบครัวได้รับทราบ และให้ครอบครัวแจ้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน หรือ เทศบาลฯในการเข้าสู่ระบบส่งต่อด้านสาธารณสุข เพื่อเข้ารับการกักตัว โดยขอย้ำว่าเป็นการกักตัวไม่ใช่การรักษาตัว

“ขณะนี้คนในชุมชนเข้าใจและรับทราบถึงแนวทางที่เทศบาลฯได้จัดทำขึ้นแล้ว โดยเป็นการกักตัว ไม่ใช่การรักษาตัว ซึ่งในการรักษาตัวนั้นหากคนในครอบครัวยืนยันติดเชื้อจากพื้นที่ใดและต้องการกลับบ้านมารักษาตัวที่ขอนแก่น ขอให้แจ้งผ่านระบบสาธารณสุขและ โรงพยาบาลให้ถูกต้อง ขณะที่คนที่จะเดินทางกลับมาที่บ้าน โดยเดินทางมาจากกลุ่มเสี่ยง นั้นขณะนี้เทศบาลฯได้ปรานงานร่วมโรงแรมฮอไรซั่น ในการกำหนดให้ห้องพัก 13 ห้อง เป็นห้องพักสำหรับการกักตัว 14 วัน สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในระบบสาธารณสุขของเทศบาลฯ โดยในการกักตัว 14 วันนั้นเทศบาลฯจะดูแลอาหาร 3 มื้อ รวมไปถึงการจัดรถรับและส่ง อีกทั้ง รพ.สต.จะจัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม.มาประจำเพื่อตรวจติดตามอาการ และมีกำลังตำรวจและ อปพร.เฝ้าประจำเพื่อป้องกันไม่ให้ออกจากสถานที่กักตัวเด็ดขาด โดยงบประมาณดังกล่าวนั้นเบิกจ่ายตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ดีในระยะที่ 1 เราได้ใช้โรงแรมเป็นสถานที่กักตัวเพื่อแสดงให้เห็นว่าคนพระลับพร้อมรับคนพระลับด้วยกันเข้าสู่ระบบกักตัวอย่างถูกต้อง สะดวก สบาย ปลอดภัยและใกล้บ้าน”

ขณะที่นายวินัย ทองทัพ กำนัน ต.พระลับ กล่า;ว่า ในระยะที่ 1 ได้กำหนดไว้ที่ 13 ห้องของโรงแรมแห่งนี้ ซึ่งหากมีคนต้องเข้ารับการกักตัวเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ชุมชนได้กำหนดพื้นที่รองรับเพิ่มเติมอีกหลายจุด ประกอบด้วยที่ ศาลาการเปรียญวัดบ้านสว่างหนองไฮ ซึ่งรับคนได้ 20 คน,วัดป่าแสงอรุณ รับคนได้ 15 คน,ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ.โนนสวรรค์ รับคนได้ 10 คน และ ที่โรงเรียนบ้านผือ รับคนได้ 15 คน โดยทุกจุดได้ผ่านการประชาคมและเข้าสู่ขั้นตอนของการเตรียมการในด้านต่าง ๆ ไว้ในภาพรวมแล้ว อย่างไรก็ตามขอให้คนพระลับ ดำเนินการอย่างถูกต้องเพื่อเข้าสู่การกักตัวตามระบบที่วางเอาไว้ หากตรวจพบว่าลักลอบเข้าพื้นที่โดยไม่แจ้งให้รับทราบ ทางเจ้าหน้าที่จะเชิญตัวส่งต่อไปยัง กองร้อย อส.ขอนแก่น สถานที่ที่จังหวัดกำหนดเป็นจุดกักตัวกลางของจังหวัดตามขั้นตอนต่อไปและในการส่งต่อนั้นจะต้องไปทั้งครอบครัวเนื่องจากทุกคนมีการสัมผัสและจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดแล้ว

สุรินทร์ - รพ.สุรินทร์ ส่ง 4 นางฟ้าชุดขาว สู้ภัยโควิด-19 เสริมทัพ โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน มงกุฎวัฒนะ

วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ที่บริเวณด้านหน้าอาคาร 100 ปี  โรงพยาบาลสุรินทร์ นายแพทย์ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ เป็นประธานในพิธีส่ง 4 นางฟ้าชุดขาว สู้ภัยโควิด-19 เสริมทัพ โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน มงกุฎวัฒนะ โดยนายแพทย์ ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ นำคณะผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล พร้อมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลฯ ร่วมส่งและให้กำลังใจอย่างพร้อมเพียง พร้อมได้กล่าวแสดงความยินดีและชื่นชมในความเสียสละของนางฟ้าชุดขาวทั้ง 4 คน ที่ไปทำหน้าที่แทนชาวสุรินทร์ ในการช่วยสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบ 3 ด้วยเป็นภารกิจสำคัญกับการดูแลรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน มงกุฎวัฒนะ พร้อมอวยพรและมอบช่อดอกไม้ให้กำลังใจทั้ง 4 คน แทนชาวสุรินทร์ทุกคน

ด้าน นายแพทย์ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ กล่าวว่า ทีมสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน มงกุฎวัฒนะ เป็นพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 4 คน ที่ส่งไป ประกอบด้วย

1.นางสาววาสนา คำปาละ

2.นางสาวน้ำทิพย์ จานนอก 

3.นางสาวปาริชาติ โกดหอม และ

4.นางสาวรัชนีกร แก้วคูณ

โดยปฏิบัติภารกิจระหว่างวันที่ 13-28 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมุ่งเน้นการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 อย่างไรก็ตาม การเข้าปฏิบัติงานช่วยเหลือในพื้นที่ดังกล่าว ทางโรงพยาบาลสุรินทร์ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทุกคน โดยได้เตรียมเวชภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาในการดูแลรักษาผู้ป่วย สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ (PPE) ให้กับบุคลากรทุกคน ซึ่งเพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานในช่วงเวลาดังกล่าว และหลังจากปฏิบัติงานครบตามกำหนด คณะเดินทางกลับมา จะให้มีการกักตัว 14 วัน ตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคฯ ต่อไป


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์  แสนกล้า

กาฬสินธุ์ – พลังบวรร่วมสร้างโรงพยาบาลสนาม รับคนสหัสขันธ์กลับบ้าน

คณะสงฆ์อำเภอสหัสขันธ์ พร้อมผู้มีจิตศรัทธาและภาครัฐ ร่วมมือสร้างโรงพยาบาลสนามขนาด 50 เตียง รอรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เดินทางกลับภูมิลำเนา พร้อมตั้งศูนย์พักคอย ก่อนเข้า LQ สำหรับผู้ที่เดินทางมาจาก 10 จังหวัดพื้นที่เสี่ยง

ที่หอประชุมอำเภอสหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ พร้อมด้วยพระครูสิริพัฒนนิเทศ รองเจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์ เข้าตรวจเยี่ยมจุดปรับปรุงก่อสร้างโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์ โดยใช้หอประชุมอำเภอสหัสขันธ์ ซึ่งสามารถรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด 50 เตียง โดยคณะสงฆ์ และประชาชนได้ร่วมบริจาคเงินเพื่อสร้างโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์  โดยตั้งเป้าจะเริ่มเปิดรับผู้ป่วยที่ติดเชื้ออาการไม่หนักมาก เข้ามารักษาได้วันที่ 19 ก.ค. 2564 

ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากพระเทพมงคลวชิรมุณี หรือหลวงปู่หา สุภโร (หลวงปู่ไดโนเสาร์) วัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) พระครูกัลลยา ณ ทิวากร เจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์ พระครูสิทธิวราคม ดร. วัดเวฬุวัน เจ้าคณะ อ.สหัสขันธ์ (ธ) พระอาจารย์ณรงค์ ชยมงฺคโล วัดพุทธนิมิต (ภูค่าว) พระครูสิริพัฒนนิเทศก์  วัดพุทธาวาสภูสิงห์ และคณะสงฆ์ อ.สหัสขันธ์ ประชาชนผู้มีจิตศรัทธา และภาครัฐ ร่วมระดมทุมก่อสร้าง และมอบของใช้ที่จำเป็นให้กับโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์

นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ กล่าวว่า การตั้งโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์ ได้เลือกใช้หอประชุม อ.สหัสขันธ์ ซึ่งผู้นำชุมชนทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนเข้าใจและรู้ถึงเหตุผล ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สำหรับโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์เกิดขึ้นจากพลัง “บวร” บ้าน/ชุมชน วัด และภาครัฐ โดยเฉพาะการที่ได้รับเมตตาจากคณะสงฆ์ ที่เห็นชอบให้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามของ อ.สหัสขันธ์ โดยวัตถุประสงค์เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19  ซึ่งเป็นคนสหัสขันธ์ กลับมารักษาที่ภูมิลำเนาของตนเอง เพื่อลดปัญหาเตียงไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยในเขตกรุงเทพและปริมณฑล 

นอกจากนี้ธารน้ำใจของคนสหัสขันธ์ยังล้นหลาม ได้ระดมทั้งทุนทรัพย์ แรงกาย และนำข้าวของเครื่องใช้สำคัญและจำเป็นในโรงพยาบาลสนามมาสมทบจำนวนมาก อย่างเช่นนายอำนวย พุ่มจำปา เจ้าของร้านถูกซุปเปอร์มาเก็ต ได้นำพัดลม 20 เครื่อง พร้อมน้ำดื่ม 50 แพ็ค / 600 ขวด มอบให้กับนายอำเภอสหัสขันธ์ เพื่อใช้ในโรงพยาบาลสนาม นายพิทักษ์ เทียมวงศ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สิรินธร ร่วมบริจาคพัดลมอีก 10 เครื่อง ขณะที่เครื่องนอน 50 ชุด ร้านแม่ประกายเครื่องนอน ร้านนิโรจน์ค้าผ้า ร้านสุพจน์เครื่องนอน และร้านสุรพลเครื่องนอน ซึ่งเป็นญาติธรรมวัดพุทธาวาสภูสิงห์ ร่วมบริจาคสมทบเข้าโรงพยาบาลสนาม อ.สหัสขันธ์ ขณะที่การปรับปรุงก่อสร้างโรงพยาบาลสนามมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 60% ส่วนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นมีความพร้อมสมบูรณ์แล้ว ทั้งพัดลม และเครื่องนอน

สำหรับพื้นที่ อ.สหัสขันธ์ มียอดผู้ป่วยสะสมแล้ว 40 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 11 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้แจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับมาภูมิลำเนาอีกจำนวนมาก ซึ่งต้องรอให้เตรียมพื้นที่รองรับให้เรียบร้อยก่อนจึงจะเริ่มเปิดรับ เพื่อให้คนสหัสขันธ์ได้กลับบ้านเกิด ปลอดภัย 100%


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ – โควิดพุ่งต่อเนื่อง ขยายเวลาปิดโรงเรียนอีก 14 วัน เตรียมตั้งรพ.สนามเพิ่ม

คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาฬสินธุ์มีมติขยายเวลาปิดโรงเรียนและสถานศึกษางดเรียนออนไซต์อีก 14 วัน พร้อมเตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มรองรับผู้ป่วย หลังสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อที่กลับจากพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑลเพิ่มสูงทุกวัน

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ที่ห้องประชุมฟ้าแดดสงยาง ชั้น 2 ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ และกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มเติม หลังปัจจุบันพบมีผู้ป่วยติดเชื้อกลับจากพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยพบยอดผู้ติดเชื้อสูงทุกวัน และล่าสุดวันนี้ (12 กรกฎาคม 2564) พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากถึงจำนวน 40 ราย ส่วนใหญ่กลับจากพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่แพร่ระบาด ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อของ จ.กาฬสินธุ์พุ่งสูงไปอยู่ที่ 548 ราย โดยกำลังรักษาอยู่ 349 ราย หายป่วยแล้ว 195 ราย ยอดผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่ 4 รายเท่าเดิม โดยมีนายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ นายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ และคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กาฬสินธุ์เข้าร่วมประชุม   

โดยจากสถานการณ์ดังกล่าวที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กาฬสินธุ์มีมติขยายเวลางดจัดการเรียนการสอนแบบนั่งเรียน หรือออนไซต์ ปิดโรงเรียนและสถานศึกษาทุกระดับทั้งจังหวัดอีก 14 วัน จากเดิมได้ประกาศปิดมาตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน - 13 กรกฎาคม 2564 โดยเริ่มผลตั้งแต่วันที่ 14-27 กรกฎาคม 2564  โดยให้จัดการเรียนการสอนให้รูปแบบออนไลน์หรือรูปแบบอื่น อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ที่พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ที่ประชุมยังได้เตรียมพร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 120 เตียง โดยเบื้องต้นจะใช้หอประชุมเอนกประสงค์มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พื้นที่ อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ เพื่อรองรับผู้ป่วย นอกจากนี้ยังได้ให้แต่ละอำเภอทั้ง 18 อำเภอ จัดเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลสนาม หลังจากโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลประจำอำเภอ รวมทั้งโรงพยาบาลสนามทั้ง 2 แห่งรองรับผู้ป่วยเต็มแล้ว และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกตำบลจำนวน 135 ตำบลจัดเตรียมสถานที่กักตัวผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงอีกด้วย

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า  จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ในขณะนี้ได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มโดยแห่งที่ 3 จะเปิดในวันที่ 14 กรกฎาคม นี้ ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จำนวน 120 เตียง โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลนามนและโรงพยาบาลสมเด็จ และในขณะนี้พร้อมเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 4 อำเภอกมลาไสย ที่โรงเรียนกมลาไสย แห่งที่ 5 ที่โรงเรียนโนนสวรรค์ อำเภอกุฉินารายณ์ แห่งที่ 6 หอประชุมอำเภอท่าคันโท แห่งที่ 7 หอประชุมอำเภอยางตลาด แห่งที่ 8 หอประชุมอำเภอสหัสขันธ์ และเตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามให้ครบ18 อำเภอ ภายในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ คาดว่าจะมีเตียงในโรงพยาบาลสนาม รวมทั้งหมดกว่า 1,000 เตียง รองรับผู้ป่วยโควิด -19 จังหวัดกาฬสินธุ์

นายทรงพล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้พิจารณามาตรการยกระดับการป้องกันโรคโควิด-19 ตามคำสั่งของจังหวัดกาฬสินธุ์ ฉบับที่ 29 โดยขยายเวลาปิดการเรียนแบบ On-site ออกไปอีก 14 วันเริ่มวันที่ 14 - 27 กรกฎาคม 2564 งดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร การประชุมสัมมนา จัดได้ไม่เกิน 50 คน ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 10 จังหวัด จะต้องรายงานตัวกับเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดอื่นให้รายงานตัวกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือ อสม.เพื่อทำการตรวจคัดกรองและประเมินความเสี่ยงโรคโควิด-19

ขอนแก่น - ประกาศชัดเศรษฐกิจขอนแก่นต้องรอด นำบุคลากรด่านหน้าด้านเศรษฐกิจตบเท้า เข้ารับการฉีดวัคซีนทางเลือกคึกคัก "ชาญณรงค์" กำชับผู้ประกอบการทุกแห่งปฎิบัติตามคำสั่งอย่างเข้มงวด ทุกคนต้องช่วยกันจึงจะก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปได้

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 13 ก.ค. 2564 ที่ห้องประชุมชั้น 13 รพ.ราชพฤกษ์ ถ.มิตรภาพ เขตเทศบาลนครขอนแก่น สถานที่ที่ใช้ในการฉีดวัคซีนทางเลือกสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ใน เขต จ.ขอนแก่น ตลอดตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมามีประชาชนที่ได้รับการยืนยันรับวัคซีนทางเลือกจากหอการค้า จ.ขอนแก่น ทยอยกันมารายงานตัวและเข้ารับการฉีดวัคซีน "ชิโนฟาร์ม" วัคซีนทางเลือกที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ทำการจัดสรรให้กับหอการค้า จ.ขอนแก่น จำนวน 2,400 โดส โดยมีกำหนดการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรด่านหน้าด้านเศรษฐกิจในวันนี้และวันพรุ่งนี้ (14 ก.ค.)

นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น กล่าวว่า หอการค้าขอนแก่น จัดอยุ่ในกลุ่มองค์กรเอกชนขนาดใหญา ซึ่งในระดับจังหวัดยอมรับว่าองค์กรภาคธุรกิจเอกชนนั้นมีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการได้รับการจัดสรรวัคซีนจากหน่วยงานภาครัฐอาจจะไม่ทั่วถึงเนื่องจากจะต้องใช้กับบุคลากรด่านหน้า แต่ตามการจัดสรรวัคซีนของทางจังหวัดและคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ และทันทีที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ให้องค์กรเอกชนได้ดำเนินการตามนโยบายและระเบียบที่กำหนด หอการค้าขอนแก่น จึงขอรับการจัดสรรวัคซีนทางเลือกในชุดแรก ซึ่งได้รับการจัดสรรทั้งสิ้น 2,400 โดส สำหรับการฉีดให้กับบุคลากรด่านหน้าด้านเศรษฐกิจ 1,200 คน

"วรรคซีนจากทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะช่วยเราได้อย่างมาก เนื่องจากเป็นการจัดสรรให้กับบุคลากรด่านหน้าด้านเศรษฐกิจ ที่ต้องออกเดินทางติดต่อหรือ ต้อนรับลูกค้า ต้องติดต่อส่วนราชการ หรือเดินทางไปต่างประเทศ กลุ่มนี้จึงมีความอ่อนไหวและมีความเสี่ยง หอการค้าจึงได้ติดต่อและขอรับวัคซีนซิโนฟาร์ม ด้วยการดำเนินการในส่วนของทุนภาคเอกชน  ในลักษณะการบริจาคให้กับทางสถาบัน และนำมาจัดสรรให้กับองค์กรสมาชิกของหอการค้า เพื่อให้ทุกคนได้ มีส่วนร่วมและการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามสนับสนุนให้ประชาชนคนขอนแก่นและคนไทยทั้งประเทศได้รับเร็วขึ้น เพราะเราต้องต่อสู้กับโควิดไปอีกนาน"

ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า เมื่อคนจำนวนมากได้รับวัคซีนมากขึ้นแล้ว ก็จะเป็นภูมิคุ้มกันหมู่ขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดที่้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมด้านเศรษฐกิจที่เข้มข้น แต่โจทย์ที่สำคัญคือเมื่อมีคนเดินทางเยอะขึ้น จังหวัดจะต้องรับแขกหรือรับการประชุมสัมมนา หรือจัดงานขนาดใหญ่ เช่นที่ขอนแก่น ซึ่งเราเป็นจังหวัดแห่งการประชุม สัมมนาและจัดแสดงนิทรรศการ ประกอบกับการที่ขอนแก่นเป้นเมืองแห่งการแพทย์ หรือเมดิคอลฮับที่ชัดเจน  ซึ่งการที่ภาคเอกชนได้ให้การสนับสนุนทางการแพทย์ ที่แสดงให้เห็นแล้ววันนี้ จะเป็นภาพแห่งความเข้มแข็ง ที่เราทุกคนจะก้าวผ่านวิกฤติเหตุการณ์นี้ไปด้วยกัน

"เมื่อถึงวันที่เรามีภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งอาจจะสร้างขึ้นในกลุ่มก้อนขนาดเล็กและสะสมจนครบทั้ง 70% ของประชากรชาวขอนแก่น หรือประมาณ 1.2 ล้านคน จากทั้งหมด 1.8 ล้านคน ซึ่งหากเราพูดถึงเฉพาะในพื้นที่เมืองหรือเฉพาะย่านการค้าและย่านที่มีการจัดประชุมสัมมนา ขณะนี้กลุ่มนี้ได้รับวัคซีนที่อยู่ในระดับปลอดภัยและตัดการแพร่กระจายได้  ซึ่งทำให้คนที่จะเดินทางเข้ามาติดต่อนั้นได้มั่นใจว่าขอนแก่นปลอดภัย ขณะที่คนที่จะเดินทางเข้ามาในจังหวัด ก็ได้รับการฉีดวัคซีแล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ตามชุดแรกจำนวน 2,400 โดส ซึ่งจะฉีดให้กับคน 1,200 คน  ซึ่งในชุดที่ 2 เราจะสำรวจว่าต้องการวัคซีนอยู่เท่าไหร่ เน้นหนักไปในกลุ่มเอสเอ็มอี โดยเฉพาะพ่อค้ารายเล็ก ที่รัฐอาจจะดูแลไม่ทั่วถึงเราก็จะพยายามดูแลเข้าไปจนถึงจุดนี้ เพราะจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงในด่านหน้าเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการในระยะนี้มีภาวะเสี่ยงมีการเคลื่อนย้ายของแรงงานแล้วก็การรับเชื้อที่เร็วกว่าเดิม ดูได้จากจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในเขต จ.ขอนแก่น ที่มีมากขึ้น ทำให้การเรารณรงค์ให้ทุกคนระมัดระวังและป้องกัน รวมทั้งการปฎิบัติตามคำสั่งอย่างเข้มงวด เป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกัน เพราะเราอาจจะเลี่ยงไม่ได้และอาจจะเป็นเรื่องที่หนีไม่ได้ เราต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ต่อไปและทุกคนต้องปลอดภัย เข้มแข็ง และปฎิบัติตามคำแนะนำของทางการอย่างเคร่งครัด"

ขอนแก่น - “อีสาน โคตรซิ่ง” ใน “เทศกาลอีสานสร้างสรรค์” หนุนอัตลักษณ์ความเป็นอีสานสื่อสารผ่านนวัตกรรม

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ร่วมกับองค์กรเครือข่าย เปิดงาน “อีสานโคตรซิ่ง” ในงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ เพื่อหวังหนุนอัตลักษณ์ความเป็นอีสานสื่อสารผ่านนวัตกรรม นำสู่การสร้างเสริมเศรษฐกิจชุมชน

วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จ.ขอนแก่น ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่น ผู้จัดงานทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และกลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ต่าง ๆ เปิดกิจกรรมใน “เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้แนวคิด “Isan Crossing: อีสานโคตรซิ่ง” เพื่อสะท้อนการผสานสินทรัพย์ทางภูมิปัญญาเเละวัฒนธรรมเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ เเละนวัตกรรม แสดงศักยภาพของบุคลากรและธุรกิจสร้างสรรค์ ผ่านผลงานที่เก็บเกี่ยวและได้รับแรงบันดาลใจจากสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม “อีสาน” อาทิ งานหัตถกรรม, การออกแบบผลิตภัณฑ์, ภาพยนตร์, ศิลปะ, ดนตรี และ อาหาร หวังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย

โดยมุ่งเน้นส่งเสริม 3 อุตสาหกรรมหลักที่ชูอัตลักษณ์ถิ่นอีสาน ได้แก่ อุตสาหกรรมบันเทิงอีสาน อุตสาหกรรมการออกแบบและงานฝีมือ และอุตสาหกรรมอาหารอีสาน ชวนชมผลงานจากหลากหลายสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กว่า 200 รายการ ผ่าน 9 รูปแบบกิจกรรมไฮไลต์ ในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จังหวัดขอนแก่น และ 19 จังหวัดภาคอีสาน โดยงานเทศกาลฯเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2564

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า อีสานเป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยสินทรัพย์และภูมิปัญญาอันน่าทึ่ง ซึ่งหลายเรื่องเป็นที่รู้จักดีในระดับโลก เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564 จึงเป็นเทศกาลที่แสดงถึงศักยภาพความสร้างสรรค์ของคนอีสานในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถต่อยอดของดีของเดิมของอีสาน ให้เข้ากับตลาดในยุคสมัยใหม่ ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ และสามารถแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่นที่ถือเป็นเมืองเศรษฐกิจใหญ่ของภาคอีสาน และมีเป้าหมายการพัฒนาเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมต่ออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

พ.ต.ท.สมชาย โตเจริญ รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า การจัดงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564 ถือเป็นมิติใหม่ของชุมชนชาวขอนแก่นที่ได้ร่วมจัดงานเทศกาลฯ เพื่อเป็นเวทีในการแสดงศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ของชาวอีสาน โดยตลอดช่วงที่ผ่านมา เทศบาลนครขอนแก่น ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในขอนแก่น โดยเริ่มที่ย่านศรีจันทร์สร้างสรรค์ เพื่อปลุกย่านเมืองเก่าให้กลับมามีชีวิตชีวา พร้อมพัฒนาชีวิตของผู้คนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกัน ซึ่งเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564 ในครั้งนี้ ได้สะท้อนถึงความร่วมมือและการพัฒนาต่อยอดของคนอีสาน และคาดว่าจะสามารถขับเคลื่อนชุมชนและเศรษฐกิจอีสานให้เติบโตต่อไป

ด้านนายชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขอนแก่น เปิดเผยว่า เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564 จะสร้างประสบการณ์ร่วมและปลูกฝังแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน คนในชุมชน และประชาชนที่สนใจ ด้วยกิจกรรมถ่ายทอดประโยชน์ของการออกแบบ กระตุ้นความคิด และการพัฒนาทักษะ ณ 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ศรีจันทร์ และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ สาขาขอนแก่น ในย่านกังสดาล ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2564 โดยการจัดเทศกาลฯ ครั้งนี้ ได้มีการออกแบบรูปแบบการจัดงานเพื่อให้สอดรับชีวิตวิถีใหม่ โดยปฎิบัติตามมาตรการเข้าชมงานและหลักเกณฑ์การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด ด้วยมาตรฐาน SHA พร้อมทั้งมีกิจกรรมบางส่วนให้สามารถเข้าร่วมทางออนไลน์ เพื่อตอบรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

อุบลราชธานี- นิพนธ์ ลุยแจกโฉนดที่ดิน “อุบลราชธานี-อำนาจเจริญ” สร้างหลักประกันที่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ในโครงการ“มอบโฉนดที่ดินทั่วไทย นำสุขคลายทุกข์ให้ประชาชน” ขอบคุณ ทุกฝ่ายช่วยดูแลรักษาชีวิตประชาชนจากโควิด-19

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ที่ศาลาประชาคม บ้านนาสีดาน้อย ตำบลชานุมาน อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีมอบโฉนดที่ดินให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ตำบลชานุมาน อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 30 แปลง ตามโครงการ “มอบโฉนดที่ดินทั่วไทย นำสุขคลายทุกข์ให้ประชาชน” โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ  นายอำเภอชานุมาน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอำนาจเจริญตลอดจนข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนในพื้นที่ตำบลตำบลชานุมานร่วมในพิธี ซึ่งเป็นไปตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัดตามหลัก D-M-H-T-T-A  ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการป้องกันโรคโควิด-19

นายนิพนธ์ กล่าวว่า การมอบโฉนดที่ดินให้แก่ประชาชนในครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย และนโยบายของกรมที่ดินในการที่จะเร่งรัดในการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้แก่พี่น้องประชาชนที่ถือครองที่ดินอยู่ และได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นมายาวนาน และที่ดินนั้นไม่ใช่ที่ดินของรัฐในประเภทต่างๆ ในปีงบประมาณ 2564 นี้ กระทรวงมหาดไทย โดยตนในฐานะที่กำกับดูแลกรมที่ดิน ได้ลงนามประกาศเดินสำรวจที่ดินเพื่อออกโฉนดที่ดินหนังสือสำคัญของทางราชการแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินไปแล้วจำนวน 50 จังหวัด การมอบโฉนดที่ดิน ตามโครงการ "มอบโฉนดที่ดินทั่วไทย นำสุขคลายทุกข์ให้ประชาชน" ให้กับประชาชนเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตำบลชานุมาน อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ  จึงเป็นหลักประกันความมั่นคงในกรรมสิทธิ์ ในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน สามารถนำโฉนดที่ดินไปประกอบการพัฒนาในอาชีพของตนเอง เพิ่มผลผลิต และรายได้ ซึ่งเป็นผลดีในทางเศรษฐกิจของตนเอง

จากนั้น นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายวุฒิพงษ์ นามบุตร ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางต่อไปมอบโฉนดที่ดินให้แก่ประชาชน บ้านหนองแสง ตำบลดุมใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ตามโครงการ “ มอบโฉนดที่ดินทั่วไทย นำสุข คลายทุกข์ให้ประชาชน” อีก จำนวน 30 แปลง

นายนิพนธ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยโดยกรมที่ดินยืนยันว่านโยบายการเดินออกสำรวจโฉนดที่ดินก็จะเร่งรัดดำเนินการต่อไปในส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทยให้พี่น้องประชาชน ได้สามารถเข้าถึงการมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินของตนเองถือว่าเป็นความมั่นคงในการถือครองที่ดิน และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการใช้ทรัพยากรที่ดินของชาติ สร้างความมั่นใจ ประชาชนไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี ข้อหาบุกรุกที่ดินของทางราชการ โดยโครงการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เป็นอีกโครงการหนึ่งที่จะเอาที่ดินของรัฐ ที่ประชาชนทำมาหากินอยู่แล้วมาจัดให้กับประชาชน แม้ว่าประชาชนจะไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่ก็ถือว่าประชาชนเข้าทำกินโดยชอบ เพราะมีกฎหมายให้ดำเนินการได้ ขณะเดียวกันจะมีการดำเนินการเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิ์โดยกรรมสิทธิ์ที่เป็นนส.3 และนส.3ก ให้ออกเป็นโฉนดเพิ่มมากขึ้นด้วย” นายนิพนธ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายนิพนธ์ ยังได้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทั้งแพทย์ พยาบาล บุคลากรต่าง ๆ ที่ได้ช่วยกันดูแลป้องกันสถานการณ์โควิด ซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกท่านได้ช่วยกันทำงานอย่างหนักแข่งกับเวลาเพื่อดูแลรักษาชีวิตประชาชนไท่ให้เหิดการสูญเสีย ซึ่งตนขอเป็นส่วนหนึ่งในการให้กำลังใจและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้วิกฤตครั้งนี้ผ่านพ้นไปได้โดยเร็ว


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top