Friday, 26 April 2024
WESTERN

จันทบุรี - ม.เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี มอบยาฟ้าทะลายโจร แก่จังหวัดจันทบุรี เพื่อนำไปบรรเทา ยับยั้ง รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในจังหวัด

วันนี้ ( 16 ส.ค.64 ) ที่ห้องรับรองชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี นายฤหัส ไชยศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีนำรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจันทบุรีรับมอบสิ่งของบริจาค จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี ที่ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้วิจัย และผลิตเพื่อเป็นสมุนไพรทางเลือกในการป้องกัน รักษาผู้ป่วยผู้ติดเชื้อโควิด -19 ที่รักษาตัวในจังหวัดจันทบุรี โดยครั้งนี้เป็นการส่งมอบ ยาสมุนไพรฟ้าทลายโจรจำนวน 1,780 แคปซูล มี ดร.จตุพร อรุณกมลศรี รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี นำคณะ  


ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา จ.จันทบุรี

พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

จันทบุรี - ประกอบพิธีถวายพระพรชัยมงคล เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 12 สิงหาคม อย่างเรียบง่าย และสมพระเกียรติภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19

 วันนี้ ( 12 ส.ค.64 ) ที่บริเวณห้องโถง ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้นำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดจันทบุรี แม่บ้านมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการรวมจำนวน 18 หน่วยงาน / องค์กร เป็นตัวแทนของพสกนิกรชาวจังหวัดจันทบุรี ร่วมในพิธีลงนามถวายพระพรชัยมงคลเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2564 เพื่อแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยความเรียบง่าย และสมพระเกียรติภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เว้นระยะห่างบุคคล มีการตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ และสวมใส่หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้าสีขาวตลอดเวลาที่ร่วมพิธี


ภาพ/ข่าว  จรัล บรรยงคเสนา จ.จันทบุรี

พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

จันทบุรี - ประชุมระดมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการในการรองรับผลผลิตทางการเกษตร ป้องกันแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ

วันนี้ ( 10 ส.ค.64 ) ที่ห้องประชุม 4 ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานการประชุม ระดมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการในการรองรับผลผลิตทางการเกษตร ป้องกันแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดจันทบุรีเชิญส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนมาร่วมแสดงความคิดเห็นตามข้อเสนอของ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ กรอ.จังหวัดจันทบุรี เนื่องจากจังหวัดจันทบุรีเป็นแหล่งผลิตผลไม้เขตร้อนที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศสร้างมูลค่าและรายได้แก่ประชาชนจำนวนมาก

การผลิตผลไม้คุณภาพของเกษตรกรจังหวัดจันทบุรีเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ แต่บางครั้งในช่วงฤดูการผลิตผลไม้มีมากว่าความต้องการของตลาด และข้อจำกัดในการขนส่งสินค้า รวมทั้งกลไกการตลาดเสรี จึงอาจส่งผลให้ผลไม้ราคาตกต่ำ ทางจังหวัดจึงได้มีแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและให้ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการวางแผนการบริหารตัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น จึงได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ ก่อนสรุปเป็นแผนเพื่อป้องกันแก้ไขผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตให้เกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพ 

  


ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา จ.จันทบุรี

พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

จันทบุรี - จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 โดยปลูกป่าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า บริเวณคูกันช้าง

วันนี้ ( 20 ก.ค.64 ) ที่ บริเวณคูกันช้าง พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว หมู่ที่ 7 ต.ปะตง อ.สอยดาว จ.จันทบุรี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นำหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มพลังมวลชน ประชาชนจิตอาสา ร่วมกิจกรรม ปลูกป่าเพื่อรักษา สิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 แสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

รวมทั้งปลูกป่าทดแทน เพิ่มความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่า มีความสำคัญที่ให้ประโยชน์อย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตทั้งมนุษย์และสัตว์อื่น ๆ ป้องกันอันตรายจากช้างปาออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ อีกทั้งการปลูกต้นไม้ตามแนวคูกันช้างยังช่วยป้องกันการพังทลายของคูกันช้าง ได้เป็นอย่างดี เป็นการป้องกันภัยจากช้างป่า ซึ่งครั้งนี้เป็นการปลูกป่าบริเวณคูกันช้างระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร โดยใช้กล้าไม้ประกอบด้วย ยางนา ประดู่ ตะเคียนทอง มะค่าโมง พะยูง จำนวน 1,000 กล้า


ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา ผู้สื่อข่าวจ.จันทบุรี

นายพรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

จันทบุรี - ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ลงพื้นที่จันทบุรีตรวจเยี่ยม โครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 พื้นที่เศรษฐกิจชายแดน

 

ที่ตลาดชายแดนบ้านแหลม ตำบลเทพนิมิต อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนโควิด-19 พื้นที่เศรษฐกิจตามแนวชายแดนโดยมี นายอลงกรณ์ แอคะรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายแพทย์ธนิศ เสริมแก้ว สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 6 นายแพทย์อภิรักษ์ พิศุทธ์อาภรณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี นายแพทย์ธีรพงศ์ ตุนาค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย กัมพูชา จันทบุรี ให้การต้อนรับ

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ระลอกใหม่ จังหวัดจันทบุรี มีผู้ป่วย ทั้งสิ้น 1,313 คน ซึ่งกระจายทุกอำเภอ รวมผู้ติดเชื้อคนไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศกัมพูชาจำนวน 231 คน ซึ่งขณะนี้กลับมาแล้วทั้งสิ้น 496 คน และมีแนวโน้มที่จะเดินทางกลับมาเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เขตชายแดนติดต่อประเทศกัมพูชา 2 อำเภอ คือ อำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอสอยดาว มีด่านชายแดน 5 ด่านแบ่งเป็นด่านถาวร 2 ด่าน และด่านชั่วคราว 3 ด่าน มีประชากรอาศัยในเขตพื้นที่ชายแดน ทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าว จำนวนมาก จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ในพื้นที่ชายแดน และรองรับการเดินทางของคนไทย จากกัมพูชากลับมาอย่างต่อเนื่อง

จังหวัดจันทบุรี ได้ดำเนินการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดน ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 5,888 คน พบติดเชื้อเป็นคนไทย 30 คน คนกัมพูชา 34 คน และครั้งนี้ได้จัดทำโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด -19 ให้แก่ประชาชนคนไทย และแรงงานต่างด้าว ที่อาศัยในพื้นที่ชายแดน ของอำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอสอยดาว จำนวนทั้งสิ้น 1,000 คน ซึ่งเป็นวัคซีน ตามนโยบายควบคุมการระบาดในพื้นที่ชายแดน ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง


ภาพ/ข่าว  เอกลักษณ์ อานาภรณ์  ผู้สื่อข่าวจ.จันทบุรี

จันทบุรี - สาธิต ปิตุเตชะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในจังหวัดจันทบุรี และให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์

ที่ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะ ตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยมี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายแพทย์ธนิศ เสริมแก้ว สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 6 นายแพทย์อภิรักษ์ พิศุทธ์อาภรณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี นายแพทย์ธีรพงศ์ ตุนาค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า ดร.มัณฑนา เหมชะญาติ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลพระปกเกล้า หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนให้การต้อนรับ ในครั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแก่ประชาชนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนในจังหวัดจันทบุรี

หลังจากนั้น ที่ ลานประชาธิปไตย อาคารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนาม พร้อมทั้งให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในการนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ฟอร์ด ประเทศไทย มอบรถพยาบาลฉุกเฉิน ฟอร์ด เรนเจอร์ จำนวน 1 คัน ให้กับโรงพยาบาลพระปกเกล้า ในการสนับสนุนการปฏิบัติงานทางการแพทย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดจันทบุรีในวันนี้ มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 11 ราย ยอดสะสมรวม 1,382 รายและจำนวนเตียงว่าง 133 เตียง


ภาพ/ข่าว  ชลาธร รัตตพลสกุล / จันทบุรี

ประจวบคีรีขันธ์ - ตำรวจประจวบฯ วางกำลังอุดช่องทางธรรมชาติ หลังพม่าหลายร้อยคนจ่อทะลักเข้าประเทศ

วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ต.อ.นิรันดร ศิริสังข์ไชย รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด( รอง ผบก.)ประจวบคีรีขันธ์ นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองประจวบฯ สภ.คลองวาฬ สภ.อ่าวน้อย ร่วมกับเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานลาดตระเวนที่ช่องทางธรรมชาติชายแดนไทยพม่า พร้อมตั้งจุดตรวจสกัดบริเวณช่องทางเข้าออกจากแนวชายแดน ที่หมู่ 9 ต.เกาะหลัก อ.เมืองฯ สกัดกั้นแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง หลังจากมีรายงานทางการข่าว ระบุว่า มีนายทุนพร้อมนำชาวพม่าหลายร้อยคนจากบ้านมูด่องตรงข้ามชายนแดนด่านสิงขร เดินเท้าผ่านช่องทางธรรมชาติเข้าประเทศ เพื่อไปขายแรงงานตามใบสั่งของนายทุนในโรงงานอุตสาหกรรมทั้งใน จ.ประจวบฯและหลายจังหวัดทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรได้วางกำลังคุมเข้มช่องทางธรรมชาติที่ช่อง 10 ศพ หมู่ 3 บ้านหนองขาม ช่องทางธรรมชาติหุบตาหลี หมู่ 9 บ้านมะขามโพรง ต.เกาะหลัก อำเภอเมืองฯ หลังจากจับแรงงานเถื่อนหนีเข้าเมือง 11 ราย โดยใช้เส้นทางธรรมชาติเดินเท้าข้ามแดน ขณะเดียวกันพบว่าที่ช่องทางธรรมชาติมีเส้นทางหลบหลีกได้หลายเส้นทางและมีการขยายเส้นทางใหม่ ขณะที่การวางรั้วลวดหนาม 3 ชั้น การติดตั้งกล้องวงจรปิด การติดตั้งไฟส่องสว่างจากระบบโซล่าเซลล์ หรือมีการติดตั้งสัญญาณกันขโมย ไม่สามารถป้องกันปัญหาได้จริง

พ.ต.อ.นิรันดร กล่าวว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีความห่วงใยพื้นที่ตามแนวชายแดนจากปัญหาหลบหนีเข้า จึงเข้มงวดกวดขันเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจค้นจับกุมแรงงานต่างด้าวและกำชับห้ามเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือเรียกรับผลประโยชน์โดยเด็ดขาด ขณะนี้ได้มอบหมายให้ชุดสืบสวนภูธรจังหวัด สืบสวนหาข่าวกลุ่มนายหน้าขบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าว อยู่ในระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน แต่ยอมรับว่ามีกลุ่มนายหน้าค้าแรงงานเถื่อนข้ามชาติเป็นขบวนการใหญ่ทั้งฝั่งไทย และพม่า สำหรับจุดหมายปลายทางที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม หากจะตัดตอนเพื่อแก้ไขปัญหา ต้องเป็นนโยบายของผู้บริหารในระดับสูง เนื่องจากโรงงานยังมีความต้องการใช้แรงงาน


ภาพ/ข่าว  นายนิพล ทองเก่า ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสยามโฟกัสไทม์ / 4เหล่าทัพ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ประจวบคีรีขันธ์ - ศนชล.บูรณาการหน่วยงาน ตรวจแรงงานต่างด้าว สถานประกอบการ โรงงาน ที่พัก แคมป์คนงาน คัดกรองโควิด-19

วันที่ 27 พ.ค.64 ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 1 (ศรชล.ภาค 1) โดย น.อ.ไกรพิชญ์ กรวีร์ปภาวิทย์ หน.ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ศคท.จว.ปข.)

ร่วมบูรณาการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย กอ.รมน. ฉก.จงอางศึก ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง แรงงานจังหวัด จัดหางานจังหวัด สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด จนท.ฝ่ายปกครอง ลงตรวจสถานประกอบการ โรงงาน หอพัก บ้านพัก ที่มีแรงงานต่างด้าว

เพื่อตอบสนองมาตรการของจังหวัดในการตรวจค้นหาแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ให้เข้ากระบวนการตรวจคัดกรองโรค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่อำเภอปราณบุรี โดยเข้าทำการตรวจโรงงาน จำนวน 2 แห่ง ท่าเรือแพปลา 1 แห่ง และเรือประมง 1 ลำโดย มีรายละเอียดดังนี้

   1.โรงงานแปรรูปสัปรด บจก.เนเชอรัล ฟรุต ตรวจแรงงานเมียนมาร์ จำนวน 300 คน

   2.โรงงานแปรรูปสัปรด บจก.(มหาชน)สยามอุตสาหกรรม เกษตรอาหาร ตรวจแรงงานเมียนมาร์ จำนวน 303 คน

   3.แพปลาสมนึก ตรวจแรงงานเมียนมาร์ 3 คน

   4.เรือ ส.เลิศสมุทร 111 ตรวจแรงงานเมียนมาร์ 3 คน กัมพูชา 21 คน

ผลการตรวจไม่พบการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่อย่างใด


ภาพ/ข่าว ปชส.ศรชล.ภาค 1 / นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

กาญจนบุรี - เดินหน้าพัฒนาพลังน้ำแบบสูบกลับ พลังงานทดแทนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แบตเตอรี่พลังน้ำเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าแห่งอนาคต

กฟผ. เดินหน้าศึกษาความเหมาะสมพื้นที่ทั่วประเทศ สำหรับพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เพื่อผลิตไฟฟ้ารองรับความต้องการในรูปแบบแหล่งพลังงานสำรอง ซึ่งเป็นระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage System (ESS) ที่ช่วยเติมเต็มให้กับโครงข่ายระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เป็นระบบกักเก็บพลังงานชนิดหนึ่งที่ถูกคิดค้นบนพื้นฐานความคิดในการจัดการกระแสไฟฟ้าส่วนเกิน เพราะโดยปกติการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืนที่ค่อนดึกไปแล้วนั้นจะมีการใช้ไฟฟ้าลดลง ทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเหลือในระบบ ดังนั้น การทำงานของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเป็นโรงไฟฟ้าที่มีอ่างเก็บน้ำสองส่วนคือ อ่างเก็บน้ำส่วนบน และอ่างเก็บน้ำส่วนล่าง น้ำจะถูกปล่อยจากอ่างเก็บน้ำลงมาเพื่อหมุนกังหันและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยสามารถตอบสนองผลิตไฟฟ้าได้ทันที เมื่อต้องการผลิตไฟฟ้าเสริมเข้าระบบในกรณีเร่งด่วน ขณะที่โรงไฟฟ้าทั่วไปต้องใช้เวลาเริ่มเดินเครื่องกว่า 2-4 ชั่วโมง และในช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำหรือน้อยลง จะใช้ไฟฟ้าที่เหลือในระบบจ่ายให้กับปั๊มน้ำขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่ในอ่างเก็บน้ำส่วนล่าง เพื่อสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำส่วนล่างนี้กลับขึ้นไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำส่วนบนเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าต่อไป

ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 3 แห่ง ได้แก่ 1) เขื่อนศรีนครินทร์ เครื่องที่ 4-5 จังหวัดกาญจนบุรี กำลังผลิตเครื่องละ 180 เมกะวัตต์ รวมแล้วมีกำลังผลิต 360 เมกะวัตต์ 2) เขื่อนภูมิพล เครื่องที่ 8 จังหวัดตาก กำลังผลิต 171 เมกะวัตต์ และ 3) โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา เครื่องที่ 1-4 กำลังผลิตเครื่องละ 250 เมกะวัตต์ รวมแล้วมีกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ กฟผ. ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ทั่วประเทศในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ โดยมีโครงการสำรวจและศึกษาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบเป็นผู้สำรวจพื้นที่และศึกษาความเหมาะสม ปัจจุบันโครงการกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA ) โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจุฬาภรณ์แบบสูบกลับ จ.ชัยภูมิ เพื่อเป็นทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าและสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับแห่งที่ 2 ในภาคอีสาน ต่อจากโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับถือเป็นระบบเก็บกับพลังงานที่มีต้นทุนต่ำสุดในปัจจุบัน สำหรับระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Grid System) เมื่อเทียบกับวิธีการอื่น ๆ นับเป็นการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าให้มี

ประสิทธิภาพสูงสุด สามารถตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าช่วงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า อีกทั้งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่แหล่งเรียนรู้ด้านพลังงาน ช่วยเพิ่มรายได้ของชุมชนอีกทางหนึ่ง

ระยอง - นายกช้าง รณรงค์ให้ชาวระยองฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 หากเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน จ่ายทันที 500,000 บาท

เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2564 ที่ห้องประชุมชั้น 3  อบจ.ระยอง ต.เนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง นายปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยอง เปิดแถลงข่าวรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนชาว จ.ระยอง ไปรับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ทุกคน เพื่อให้ จ.ระยอง เป็นจังหวัดที่ปลอดจากเชื้อไวรัสโควิด-19
นายปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยอง กล่าวว่า หลังจากที่ตนติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 18 เม.ย.64 ที่ผ่านมา แต่โชคดีที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว 1 เข็ม จึงทำให้อาการทั่วไปไม่รุนแรง เชื้อไม่ลงปอด ล่าสุดหายเป็นปกติแล้ว ซึ่งตนได้เล็งเห็นถึงประโยนช์ของการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ดังกล่าว จึงควรให้ประชาชนชาว จ.ระยอง เข้ารับการฉีดวัคซีนกันทุกคน เพื่อทุกคนจะได้ปลอดภัยจากโควิด-19 เพราะการฉีดวัคซีนมีประโยชน์กว่าไม่ฉีด และไม่ต้องไปกลัวว่าจะได้รับอันตรายจากการฉีด เพราะ ทางภาครัฐก็มีประกันให้ หากใครเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนมีการจ่ายเงินช่วยเหลือ จำนวน 400,000 บาท โดยตนจะควักเงินส่วนตัวจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มให้อีก โดยทางตนได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ต่อการฉีดวัคซีน จึงได้เสนอจ่ายเงินส่วนตัวจากผลกระทบต่อการฉีดวัคซีน 


โดยฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต หรือพิการถาวร ประชาชนที่อาศัยอยู่ใน จ.ระยอง ที่ทะเบียนบ้านอยู่ในระยอง จ่าย 400,000 บาท  ประชาชนที่มีทะเบียนบ้านและเป็นชาวระยองโดยกำเนิด จ่ายเพิ่มให้ 100,000 บาท เป็น 500,000 บาท ฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการพิการหรือสูญเสียอวัยวะทางร่างกาย จ่าย 240,000 บาท เป็นประชาชนที่มีทะเบียนบ้านเป็นชาวจ.ระยองโดยกำเนิด จ่าย 340,000 บาท บาดเจ็บจากการฉีดวัคซีน ประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ใน จ.ระยอง จ่าย 100,000 บาท สำหรับประชาชนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ใน จ.ระยอง จ่าย 200,000 บาท ส่วนประชาชนที่ไม่มีทะเบียนบ้านอยู่ใน จ.ระยอง จะตรวจสอบหลักฐานจากบัตรประกันสังคม และบัตรพนักงานแต่ก็จะต้องตรวจสอบกันอย่างละเอียดว่าอาศัยอยู่ใน จ.ระยอง จริง และมีเงื่อนไขว่าต้องฉีดวัคซีนกับโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น ขอเชิญให้ชาวระยอง ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนต้านโควิดทุกคน หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อได้ที่ อบจ.ระยอง


ภาพ/ข่าว  วฐิต กลางนอก / ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน 
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top