กาญจนบุรี - เดินหน้าพัฒนาพลังน้ำแบบสูบกลับ พลังงานทดแทนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แบตเตอรี่พลังน้ำเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าแห่งอนาคต

กฟผ. เดินหน้าศึกษาความเหมาะสมพื้นที่ทั่วประเทศ สำหรับพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เพื่อผลิตไฟฟ้ารองรับความต้องการในรูปแบบแหล่งพลังงานสำรอง ซึ่งเป็นระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage System (ESS) ที่ช่วยเติมเต็มให้กับโครงข่ายระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เป็นระบบกักเก็บพลังงานชนิดหนึ่งที่ถูกคิดค้นบนพื้นฐานความคิดในการจัดการกระแสไฟฟ้าส่วนเกิน เพราะโดยปกติการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืนที่ค่อนดึกไปแล้วนั้นจะมีการใช้ไฟฟ้าลดลง ทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเหลือในระบบ ดังนั้น การทำงานของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเป็นโรงไฟฟ้าที่มีอ่างเก็บน้ำสองส่วนคือ อ่างเก็บน้ำส่วนบน และอ่างเก็บน้ำส่วนล่าง น้ำจะถูกปล่อยจากอ่างเก็บน้ำลงมาเพื่อหมุนกังหันและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยสามารถตอบสนองผลิตไฟฟ้าได้ทันที เมื่อต้องการผลิตไฟฟ้าเสริมเข้าระบบในกรณีเร่งด่วน ขณะที่โรงไฟฟ้าทั่วไปต้องใช้เวลาเริ่มเดินเครื่องกว่า 2-4 ชั่วโมง และในช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำหรือน้อยลง จะใช้ไฟฟ้าที่เหลือในระบบจ่ายให้กับปั๊มน้ำขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่ในอ่างเก็บน้ำส่วนล่าง เพื่อสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำส่วนล่างนี้กลับขึ้นไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำส่วนบนเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าต่อไป

ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 3 แห่ง ได้แก่ 1) เขื่อนศรีนครินทร์ เครื่องที่ 4-5 จังหวัดกาญจนบุรี กำลังผลิตเครื่องละ 180 เมกะวัตต์ รวมแล้วมีกำลังผลิต 360 เมกะวัตต์ 2) เขื่อนภูมิพล เครื่องที่ 8 จังหวัดตาก กำลังผลิต 171 เมกะวัตต์ และ 3) โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา เครื่องที่ 1-4 กำลังผลิตเครื่องละ 250 เมกะวัตต์ รวมแล้วมีกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ กฟผ. ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ทั่วประเทศในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ โดยมีโครงการสำรวจและศึกษาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบเป็นผู้สำรวจพื้นที่และศึกษาความเหมาะสม ปัจจุบันโครงการกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA ) โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจุฬาภรณ์แบบสูบกลับ จ.ชัยภูมิ เพื่อเป็นทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าและสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับแห่งที่ 2 ในภาคอีสาน ต่อจากโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับถือเป็นระบบเก็บกับพลังงานที่มีต้นทุนต่ำสุดในปัจจุบัน สำหรับระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Grid System) เมื่อเทียบกับวิธีการอื่น ๆ นับเป็นการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าให้มี

ประสิทธิภาพสูงสุด สามารถตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าช่วงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า อีกทั้งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่แหล่งเรียนรู้ด้านพลังงาน ช่วยเพิ่มรายได้ของชุมชนอีกทางหนึ่ง