Friday, 29 March 2024
POLITICS

‘รวมไทยสร้างชาติ’ รับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฟาก ‘อัครเดช’ ยัน!! ไม่มีใครอยากเป็นชนกลุ่มน้อย เชื่อ!! ทุกคนอยากเป็น ‘คนไทย’

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 67 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้อภิปรายเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ.. ระบุว่า…

“พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้มีมติในการประชุม สส.ของพรรค ว่า เราจะสนับสนุนเพียงร่างเดียว คือร่างของคณะรัฐมนตรี ที่เสนอเข้ามาให้สภาฯ พิจารณา เหตุผลที่พรรครับเพียงร่างเดียว และทำไมอีก 3 ร่าง พรรคถึงไม่รับ ในส่วนร่างของ ครม. จะเห็นว่าไม่มีคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองอยู่ในร่าง พ.ร.บ. แต่ใช้คำว่า พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ร.บ.ฉบับนี้ตอบโจทย์กลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีอยู่ 30-60 กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย”

นายอัครเดช เสริมต่อว่า “ทั้งนี้ พรบ.ฉบับ ครม.ตอบโจทย์ความต้องการของทุกชาติพันธุ์ทั้งในสิทธิทางวัฒนธรรม สิทธิที่ดินทำกินและทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิในความเสมอภาค และไม่เลือกปฏิบัติสิทธิในการมีส่วนร่วม และสิทธิการรับบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ ซึ่งสิทธิต่าง ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เปรียบเสมือนเป็นคนไทยอยู่แล้ว”

“ทั้งนี้ กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เขาอยากเป็นคนไทย เขาไม่ได้อยากเป็นชนกลุ่มน้อย หรือเป็นชนเผ่า ซึ่งเมื่อได้รับรองเป็นคนไทยจะได้สิทธิตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทุกคนต้องการจะเป็นคนไทยมีชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์จีน ชาติพันธุ์อินเดีย ชาติพันธุ์แขก ชาติพันธุ์มลายู ชาติพันธุ์ม้ง ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ทุกคนถือว่าเป็นคนไทย ตามแต่ละหน่วยงานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ พ.ร.บ.ของคณะรัฐมนตรี ที่ได้เสนอเข้ามาในสภาฯ มีการคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้” นายอัครเดชกล่าว

นายอัครเดช กล่าวเพิ่มเติมกรณีไม่สนับสนุนอีก 3 พ.ร.บ. ว่า “เหตุผลที่พรรครวมไทยสร้างชาติไม่สนับสนุนอีก 3 พ.ร.บ. ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่ง 2 ฉบับนี้เสนอมาในกลุ่มภาคประชาชน ส่วน พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองของพรรคก้าวไกล 1 ฉบับ ทางพรรครวมไทยสร้างชาติจะไม่ลงมติในการรับหลักการ เนื่องจากทั้ง 3 ฉบับมีคำว่าชนเผ่าพื้นเมือง” 

นายอัครเดช อธิบายต่อว่า “อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยได้ไปแถลงที่สหประชาชาติว่าประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง ที่ไม่มีชนเผ่าพื้นเมืองเพราะว่า ประเทศไทยของเรามีเผ่าพันธุ์เดียวคือเผ่าพันธุ์ไทย เรามีกลุ่มชาติพันธุ์ 30-60 ชาติพันธุ์ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เรามีเผ่าพันธุ์ไทย คำว่าชนเผ่าพื้นเมืองในหลักสากลในความหมายของสหประชาชาติก็คือชนเผ่าที่อยู่ในพื้นที่ของตนเอง แล้วโดนรุกรานมายึดพื้นที่ เช่นที่อเมริกาอินเดียแดงถือว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมืองโดนคนผิวขาวมายึดพื้นที่แล้วตั้งเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา อันนี้คือตัวอย่างในนามของสหประชาชาติคือชนเผ่าพื้นเมือง แต่ประเทศไทยเราไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง”

“ประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง เรามีเผ่าพันธุ์ไทยมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ที่ก่อตั้งชาติ ล้วนแล้วแต่เป็นชาติพันธุ์ ใครที่เป็นลูกหลานคนไทยเชื้อสายจีนอย่างตนก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีนมีความภูมิใจในความเป็นคนไทย แต่เราเชื้อสายจีนเป็นชาติพันธุ์จีน หลายท่านในที่นี้ก็มีหลายชาติพันธุ์ ทั้งชาติพันธุ์แขก ชาติพันธุ์มลายู ชาติพันธุ์ม้ง ชาติพันธุ์ลาว รัฐธรรมนูญมาตรา 70 ให้ความคุ้มครองในความเป็นชาติพันธุ์ ในรัฐธรรมนูญเราก็ไม่ได้ใช้คำว่าชนเผ่าพื้นเมือง ดังนั้นการที่เราจะรับรอง 3 พ.ร.บ.ดังกล่าวก็เสี่ยงจะขัดรัฐธรรมนูญถ้าเราจะใช้คำว่าชนเผ่าพื้นเมือง” นายอัครเดชกล่าว

นายอัครเดช กล่าวต่อไปว่า “นอกจากนั้น ประเทศไทยเราไปรับปฏิญญาว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมือง เพราะประเทศไทยเราเคยประกาศแล้วไปแถลงว่า เราไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง ถ้าเราไปรับว่าเรามีชนเผ่าพื้นเมืองในปฏิญญาสากลว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมือง สามารถแยกไปปกครองตนเองได้ ถ้าเรารับว่าประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมืองก็จะเป็นภัยต่อความมั่นคงในอนาคตอาจปกครองลำบากเพราะบางพื้นที่อาจขอไปปกครองตนเองได้ อันนี้คือสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคง กระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเป็นห่วงในประเด็นนี้ การที่เรามีชนเผ่าพันธุ์เดียวคือเผ่าพันธุ์ไทยมาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์นี่คือความภาคภูมิใจในความเป็นไทย แต่เรายอมรับในความหลากหลาย เรามี 30-60 ชาติพันธุ์ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร จะทำให้เรารวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยเป็นประเทศไทย”

นายอัครเดช กล่าวย้ำว่า “สส.รวมไทยสร้างชาติ ได้ลงไปสำรวจแล้ว ไม่มีใครอยากเป็นคนชนเผ่า เพราะทุกคนอยากเป็นคนไทย ได้สิทธิเหมือนคนไทย มีความภูมิใจในความเป็นไทย แต่ยังดำรงรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของแต่ละชาติพันธุ์ไว้ ขอเรียกร้องให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้งดใช้คำว่าชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อความมั่นคงของประเทศ แล้วให้ใช้คำว่าชาติพันธุ์แทน ประเทศไทยเราจะได้เข้าสู่ความกลมเกลียว ว่าทุกคนนั้นอยากเป็นคนไทยแล้วก็ได้สิทธิในความเป็นไทยเหมือนกัน คือเหตุผลที่เราไม่รับหลักการในส่วนของ 3 พ.ร.บ.นี้”

นายอัครเดช กล่าวทิ้งท้ายว่า “รัฐธรรมนูญมาตรา 70 ยอมรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เราไม่อยากจะเห็นการเอาประเด็นนี้มาหาเสียงทางการเมือง เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศในอนาคต สส.ของพรรครวมไทยสร้างชาติ จึงได้ประชุมกันแล้ว มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ของคณะรัฐมนตรี สามารถตอบโจทย์ความต้องการของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยได้ และไม่รับอีก 3 พ.ร.บ.ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล และเสนอโดยภาคประชาชน เพราะเราเห็นว่าประเทศไทยไม่ควรมีการใช้คำว่าชนเผ่าพื้นเมือง ทุกคนเป็นคนไทย เคารพในความหลากหลายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 70 ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติสืบต่อไปในอนาคต”

'เศรษฐา' เยือน!! 'เยอรมนี' ใต้อุณหภูมิ 2 องศา หยอดหวาน 'ผ้าขาวม้าร้อยเอ็ด' ช่วยให้อบอุ่น

(7 มี.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่าน X หรือทวิตเตอร์ ภายหลังเดินทางถึงสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระบุว่า “เดินทางถึงเยอรมันแล้วครับ ลงเครื่องมาอุณหภูมิอยู่ที่ 2 องศา ได้ผ้าขาวม้าสวย ๆ จากพี่น้องชาวร้อยเอ็ดนี่แหละครับช่วยให้อบอุ่น”

“วันนี้ผมมีภารกิจที่กรุงเบอร์ลินช่วงสั้น ๆ คือการเข้าร่วมงาน ITB Berlin 2024 งานแสดงสินค้าด้านการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจัดในเดือนมีนาคมของทุกปี พร้อมพบผู้บริหารบริษัทเอกชนของเยอรมนี ก่อนจะเดินทางต่อไปยังสาธารณรัฐฝรั่งเศสครับ” นายเศรษฐา ระบุ

‘อัครเดช รทสช.’ ซัด!! ‘รองอ๋อง’ ควรวางตัวเป็นกลาง หลังถูกเบรกอภิปรายยืดเยื้อ

ย้อนความเดือด!! ‘อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์’ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ฉะ!! ‘ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ในการประชุมสภาฯ พิจารณากระทู้ถามทั่วไป เรื่องติดตามความคืบหน้าการจัดระเบียบสายไฟฟ้า สายสื่อสาร และการบริหารจัดการไฟฟ้าส่องสว่างอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 67 

นายอัครเดช ได้กล่าวถึงการจัดระเบียบสายไฟในจังหวัดราชบุรีสามารถจัดการได้จนได้ฉายาว่า ราชบุรีโมเดล แต่ในจังหวัดอื่นไม่สามารถจัดการได้ อภิปรายวนไปวนมากว่า 10 นาที แต่ยังไม่ได้ถามคำถาม นายปดิพัทธ์ ประธานในที่ประชุมทักท้วงว่า ใช้เวลาเกือบ 10 นาทีแล้วขอให้ถามคำถามได้แล้ว ทำให้นายอัครเดช กล่าวว่า กระทู้ถามทั่วไปไม่ได้ระบุเวลา ตนรู้ข้อบังคับดี ท่านประธานอย่าทำตัวเอียง ต้องวางตัวเป็นกลาง วินิจฉัยอะไรต้องรับผิดชอบ

นายปดิพัทธ์ จึงกล่าวว่า ตนให้โอกาสในการอภิปราย แต่นายอัครเดชพูดวนเวียนแล้ว และคิดว่าเราได้ประเด็นของเนื้อหาจึงอยากให้ช่วยบริหารเวลาเท่านั้น และไม่ได้ห้ามอภิปราย

ทำให้นายอัครเดช กล่าวว่า กระทู้ถามสดมีเวลาถาม และตอบ 15 นาที ตนเพิ่งถามไป 10 นาที ท่านมาเบรกตน ท่านมีอะไรกับตนไหม ตั้งแต่ครั้งที่แล้ว นายปดิพัทธ์จึงตอบกลับว่า ไม่มี แต่ตนต้องบริหารเวลา วันนี้ตนให้อภิปรายเกิน 10 นาทีได้ เพราะวันนี้มีกระทู้ของนายอัครเดชคนเดียวที่เหลือเป็นการเลื่อนกระทู้ และตนแค่บอกว่าตอนนี้ต้องถามได้แล้ว เพราะเป็นการอภิปรายที่มากพอแล้ว ตนไม่มีอะไรกับนายอัครเดช ขอให้เข้าสู่เนื้อหาเลย คิดว่ามันเสียเวลาของสภาฯ ขอเข้าสู่กระทู้ต่อ

นายอัครเดช กล่าวว่า เป็นสิทธิของส.ส. ตนยังอยู่ในเวลาที่ใช้สิทธิตามระยะเวลาที่มีอยู่คือ 15 นาที เพราะการอภิปรายของตนก็เป็นประโยชน์ต่อรัฐมนตรี ในการให้ข้อมูลรัฐมนตรีไปบริหารประเทศ เพื่อประหยัดงบประมาณเงินภาษีของพี่น้องประชาชน ตนจึงบอกว่า 70 ล้านกับ 10 ล้านมันต่างกัน สิ่งที่ตนอภิปรายดีกว่าที่จะอภิปรายที่ทะเลาะกันไปทะเลาะกันมา แล้วท่านวินิจฉัยกลายมาเป็นประเด็นที่ทะเลาะกัน ตนว่าแบบนั้นเสียเวลามากกว่า ขอให้ทำตามข้อบังคับและเคารพสิทธิของสภาฯ ด้วย

นายปดิพัทธ์ จึงชี้แจงว่า ข้อบังคับระบุว่าต้องไม่เป็นลักษณะการอภิปราย หากนายอัครเดชไม่ถามกระทู้ ขออนุญาตว่าจะไม่ถามก็ได้ แต่ตอนนี้นายอัครเดชใช้เวลามากเกินไปกับสิ่งที่ไม่อยู่ในกระทู้

นายอัครเดช สวนทันควันว่า อยากให้นายปดิพัทธ์ใช้ดุลพินิจอยู่ในข้อบังคับ และรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนด้วย ตนกำลังอภิปรายประเด็นนี้และตนถามกระทู้มาตั้งแต่สมัยที่นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานสภาฯ ตนไม่ได้ถามกระทู้นี้กระทู้แรก และตนไม่เคยมีปัญหาเช่นนี้เพราะตนรู้ข้อบังคับ ทำให้นายปดิพัทธ์ ทักท้วงขึ้นว่า ขอให้เข้าเรื่องได้แล้ว ไม่เช่นนั้นตนไม่อนุญาตให้พูดและคำวินิจฉัยของประธานเป็นที่สิ้นสุด

นายอัครเดช กล่าวว่า หากท่านประธานวินิจฉัยเช่นนี้ ตนขอให้สภาฯ แห่งนี้บันทึกไว้ว่าส.ส.ที่นำปัญหาของพี่น้องประชาชนมาอภิปรายตามข้อบังคับ แต่ท่านใช้ดุลพินิจให้ส.ส.หยุดอภิปราย จึงขอให้สภาฯ บันทึกไว้ว่าตนมีความตั้งใจที่จะถามกระทู้นี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ หากท่านวินิจฉัยเช่นนี้ ตนขอไม่ถามกระทู้ต่อ

นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตนจำเป็นต้องบริหารเวลาและข้อบังคับให้ชัดเจน ไม่ได้มีเจตนาที่จะเบรกไม่ให้นายอัครเดชถาม ขอให้ท่านอภิปรายและเข้าสู่คำถามเพราะเห็นว่าอภิปรายได้ครบถ้วนแล้ว ซึ่งก็รอคำถามจากท่านอยู่ ตนเคารพท่านและสภาฯ ก็บันทึกไว้ได้ว่าตนวินิจฉัยเช่นนี้

นายอัครเดช ลุกขึ้นทักท้วงอีกรอบว่า ท่านประธานไม่จบ นายปดิพัทธ์ จึงกล่าวขึ้นว่า ตนจบแล้ว และไม่อนุญาตให้พูด ขอบคุณรัฐมนตรี ซึ่งผู้ถามไม่ได้ใช้สิทธิ์ถามแล้ว และเจ้าหน้าที่ที่บันทึกการประชุมว่า นายอัครเดชทำผิดข้อบังคับ ไม่เคารพคำวินิจฉัย ตนไม่สามารถให้อภิปรายตัวตนได้เพราะนี่ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ทำให้นายอัครเดช ลุกขึ้นประท้วงว่า ตนไม่ได้อภิปรายและขอประท้วงว่าประธานทำผิดข้อบังคับ ท่านเป็นประธานต้องวางตัวเป็นกลาง อย่าเอาอารมณ์ เมื่อครั้งที่แล้วมาทำเช่นนี้กับสมาชิก ไม่ถูกต้อง ท่านเป็นประธาน ตนและส.ส.เคารพท่านเพราะตำแหน่งท่านแต่การที่ท่านวินิจฉัยและมาขัดการอภิปรายเช่นนี้ ตนถือว่าเป็นสิ่งที่ประธานไม่ควรทำและไม่สร้างสรรค์อย่างยิ่ง

นายปดิพัทธ์ ได้ย้ำอีกครั้งถึงเรื่องข้อบังคับสภาฯ ในการถามกระทู้และไม่ได้มีเจตนาที่จะเบรกไม่ให้นายอัครเดชถามกระทู้แต่อย่างใด จากนั้นจึงเข้าสู่วาระถัดไป

'อาจารย์อุ๋ย ปชป.' จี้รัฐลดพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างชาติ หนุนแพลตฟอร์มคนไทย สร้าง 'อธิปไตยทางไซเบอร์' เพื่อ 'อำนาจต่อรอง-ความมั่นคงทาง ศก.' ระยะยาว

'นักวิชาการด้านกฎหมาย' ชี้!! ประเทศไทยต้องเร่งสร้างอธิปไตยทางไซเบอร์ ลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มของต่างประเทศ สนับสนุนแพลตฟอร์มของคนไทย เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว 

(6 มี.ค.67) จากเหตุการณ์เครือข่ายแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดังใช้การไม่ได้เป็นเวลานานนับชั่วโมง นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายดิจิทัลและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ใช้มากมายโดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้ระบบดังกล่าวในการหารายได้เพื่อเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้าออนไลน์ หรืออินฟลูเอนเซอร์ต่าง ๆ ต้องประสบปัญหามากมาย ถูกระบบไล่ออกมาและไม่สามารถเข้าระบบได้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมากมาย ทั้งที่ได้จ่ายค่าบริการให้กับระบบดังกล่าวไปเป็นจำนวนไม่น้อย และตนก็เชื่อว่าเป็นการยากที่กลไกทางกฎหมายของประเทศไทยในปัจจุบันจะเอาผิด ลงโทษหรือแม้แต่เรียกร้องค่าเสียหายจากความผิดพลาดของแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่เคยให้ความสำคัญกับ ‘อธิปไตยไซเบอร์’

ทั้งนี้ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้ให้นิยามคำว่า อธิปไตยไซเบอร์ (Digital Sovereignty) ว่าหมายถึง 'การมีความสามารถในการกำหนดชะตากรรมด้านดิจิทัลด้วยตัวของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ฮาร์ดแวร์ หรือซอฟต์แวร์ที่เราสร้างหรือใช้งานอยู่' ตนจึงอยากตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่าตอนนี้ประเทศไทยสามารถกำหนดชะตากรรมทางดิจิทัลอะไรได้บ้าง? เพราะแพลตฟอร์มที่คนไทยใช้ในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่เป็นของต่างชาติ ที่กฎหมายไทยควบคุมได้น้อยมากหรือแทบไม่ได้เลย และกรณีที่แพลตฟอร์มล่มในลักษณะนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรก และไม่สามารถลงโทษหรือเรียกร้องค่าเสียหายจากใครได้เลย 

ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย ทั้ง ๆ ที่ จากสถิติ คนไทยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ติดอันดับต้น ๆ ของโลกมาตลอด แต่ประเทศกลับไม่มีมีอำนาจต่อรองกับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติได้มากเท่าที่ควร ไม่สามารถควบคุมและกำกับดูแลมาตรฐานของการให้บริการของแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้ และปล่อยให้แพลตฟอร์มเหล่านี้กอบโกยประโยชน์ที่ประชาชนชาวไทยควรจะได้กลับประเทศแม่ไปหมด 

ตนจึงเสนอให้รัฐบาลเร่งสร้างอธิปไตยทางไซเบอร์ ออกแบบมาตรการทางกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมมาตรฐานการให้บริการของแพลตฟอร์มต่างชาติเหล่านี้ รวมทั้งสนับสนุนแพลตฟอร์มที่สร้างและดำเนินการโดยคนไทย ให้เป็นแพลตฟอร์มใหญ่ที่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ เพื่อที่ประโยชน์จากกิจกรรมทางไซเบอร์เหล่านี้จะตกอยู่กับพี่น้องคนไทย เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศต่อไป

‘อุ๊งอิ๊ง’ โต้!! ไม่ใช่ตัวแทน ‘ทักษิณ’ บินกัมพูชา เข้าพบ ‘ฮุนเซน’ ยัน!! ไปในนามหัวหน้าพรรค ส่วนหัวข้อพูดคุยยังไม่ได้ตกลงแน่ชัด

(5 มี.ค.67) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรค พท. ให้สัมภาษณ์ถึงกำหนดการที่จะเดินทางไปเยือนประเทศกัมพูชาเพื่อพบสมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ว่า มีแพลนว่าจะเดินทางไปวันที่ 18-19 มีนาคมนี้ แต่แพลนโดยละเอียดยังไม่ได้ลง เพราะต้องแพลนร่วมกับทางประเทศกัมพูชาด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่กำหนดหัวข้อที่จะมีการพูดคุยกัน แต่ใกล้ถึงเวลาที่จะเดินทางไปจะมีการเปิดเผยอีกครั้งว่าจะมีการพูดกันเรื่องอะไรบ้าง

เมื่อถามถึง กรณีที่มีการวิเคราะห์ว่าการเดินทางไปเยือนประเทศกัมพูชาครั้งนี้ เพราะเป็นเรื่องอำนาจทางการเมืองแทนนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ไม่ต้องแทน ซึ่งหากถึงเวลาที่นายทักษิณจะไป ท่านก็ไปเองได้ แต่ขณะนี้ตนเป็นหัวหน้าพรรค พท. ฉะนั้น จึงไปในฐานะหัวหน้าพรรค ไม่ใช่ในนามของนายทักษิณ

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า การเดินทางไปเยือนประเทศกัมพูชาในครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารในรัฐบาลใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ครั้งนี้ตนไปในนามพรรค พท. อย่างไรก็ตาม ย้ำว่ารายละเอียดที่จะพูดคุยกันนั้น เรายังไม่ได้ตกลงกันเนื่องจากต้องดูว่าจะสามารถพูดคุยกันได้ประมาณไหน และต้องดูเรื่องความอ่อนไหวของประเด็นนั้นๆ ด้วยว่าจะสามารถพูดคุยกันได้เท่าไหร่ แต่เรื่องส่วนตัวต้องไม่คุยแน่นอน เพราะก่อนหน้านี้ตนเคยเดินทางไปเองก็จะเป็นการคุยเรื่องส่วนตัวไม่ใช่เรื่องงาน แต่ในครั้งนี้เราเดินทางไปในนามของหัวหน้าพรรค พท. เราจะต้องเตรียมเรื่องงานไปด้วย

‘สว.สมชาย‘ หนุน ‘ปู’ กลับสู่ ‘ไทย-กระบวนการยุติธรรม’ แต่อย่าทำซ้ำรอย ‘พี่ชาย’ ไม่เช่นนั้น เกิดวิกฤติศรัทธาแน่

(5 มี.ค. 67) ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาจจะได้กลับประเทศ ตามรอยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ปัญหาคือน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังมีคดีที่ศาลตัดสินจำคุก 5 ปี ประเด็นคือจะใช้เกณฑ์ไหน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งตนเห็นด้วยกับนักโทษที่หลบหนีคดีแล้วศาลตัดสิน โดยเฉพาะส่วนใหญ่ที่เป็นนักการเมืองทึ่เกี่ยวกับคดีทุจริต เมื่อจะกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินแล้ว ก็กลับมาได้ 

นายสมชาย กล่าวต่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นคนไทย ก็สามารถกลับเข้าประเทศได้ตลอดเวลา เพียงแต่เมื่อกลับเข้ามาแล้ว ก็ต้องยอมรับกระบวนการยุติธรรม ศาลตัดสินจำคุก 5 ปี ก็ต้องรับโทษ เว้นแต่จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งตนคิดว่าเกณฑ์เรื่องการพักโทษ ก็ยังมีข้อสงสัยและข้อครหา ที่กำลังตรวจสอบกันอยู่ เกี่ยวกับการพักโทษของนายทักษิณ ว่าถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ 

นายสมชาย กล่าวอีกว่า เกณฑ์อายุ 70 ปีนั้น นายทักษิณเข้าเกณฑ์แน่นอน แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ อายุยังไม่ถึง 60 ปีเลย และการพักโทษก็ต้องรวมถึงการเป็นโรคเรื้อรังที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ด้วย ซึ่งจะมีข้อคำถามว่า การประเมินนั้น จะอยู่ในเกณฑ์หรือไม่ หากดูจากการที่น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่นอกประเทศ ก็ยังแข็งแรงอยู่ เหมือนกับนายทักษิณชกมวยอยู่นอกประเทศ

“วันก่อนยังเห็นน.ส.ยิ่งลักษณ์ไปชิมอาหารอยู่สิงคโปร์ ยังร่าเริงอยู่ ก็ยังถือว่าไม่เข้าเงื่อนไขการขอพักโทษ ดังนั้น หากน.ส.ยิ่งลักษณ์จะกลับประเทศ ก็ต้องทำใจไว้ในการเข้ารับโทษในเรือนจำ ผมคิดว่าคนไทยเห็นแล้วว่า กระบวนการท้ายน้ำของระบบยุติธรรมของกรมราชทัณฑ์มีปัญหา เพราะฉะนั้น ถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้าประเทศมาแล้วไม่รับกระบวนการยุติธรรมแต่ทำซ้ำไปอยู่ชั้น 14 โดยอ้างว่าป่วย เพื่อที่จะพักโทษอีก ผมคิดว่าวิกฤติศรัทธา กระบวนการยุติธรรมจะเยอะขึ้น” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวต่อว่า ตนสนับสนุนให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางกลับประเทศ แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนเมื่อเข้าเรือนจำแล้ว จะทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษเพื่อลดโทษ หรืออะไรก็ตาม จะเข้าเรือนจำแล้วอยู่กี่เดือนกี่วัน เลื่อนจากนักโทษชั้นกลาง เป็นชั้นดี ชั้นเยี่ยม ชั้นดีเยี่ยม แล้วได้รับพระราชทานอภัยโทษ ในปีถัดๆ ไป ตนคิดว่า ก็เหมือนนักโทษทั่วๆ ไปกว่า 210,000 คน ที่ยังค้างอยู่ในเรือนจำ คิดว่าสังคมรับได้ แต่ถ้ามาวิธีพิเศษเหาะเหินเดินอากาศ เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมก็จะวิกฤตซ้ำ 

เมื่อถามว่าเมื่ออ่านเกมแล้ว คิดว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์จะกลับประเทศหรือไม่นั้น นายสมชาย กล่าวว่า ไม่รู้ แต่มีคนพยายามจะสร้างเงื่อนไขศรีธนญชัยทางกฎหมาย ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ข้อกฎหมาย ปัญหาอยู่ที่เราเลือกใช้ วิธีลอดช่องกฎหมาย ซึ่งวันหน้าคนที่เอื้ออำนวยน่าจะได้รับผลทางกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค สว. ได้เชิญตัวแทนจากคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องการตรวจสอบกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ เพราะฉะนั้น ตนคิดว่าเรื่องนี้ จะมีผลในวันหน้าต่อการประพฤติปฏิบัติมิชอบของฝ่ายข้าราชการ ซึ่งจะเป็นบทเรียนให้กับข้าราชการ เพราะคนที่ได้รับประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นนายทักษิณหรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในอนาคตหากกลับประเทศ เขาคงไม่มารับผิดชอบต่อข้าราชการประจำ ดังนั้น ข้าราชการประจำก็ต้องรับไป

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ยกตัวอย่างคดีของนายวรยุทธ หรือบอส กระทิงแดง ผ่านมา 10 ปีแล้ว ก็ยังดำเนินการฟ้องผู้เกี่ยวข้องที่ให้ความช่วยเหลืออยู่ เพราะฉะนั้นการให้ความช่วยเหลือกับนายทักษิณและน.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อให้ข้าราชการเกษียณอายุไปแล้ว ก็หนีอาญาแผ่นดินไม่ได้ ถ้ามีข้อมูลเพียงพอที่จะชี้ ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เวชระเบียน หรือไทม์ไลน์ต่างๆ ข้อเท็จจริงปรากฏไม่เปลี่ยน 

“คนที่คิดว่าลอดช่องกฎหมายได้ ติดคุกมานักต่อนักแล้ว มีคดีที่ข้าราชการติดคุกแทนนักการเมืองก็มาก เห็นชัดเจนคือกระทรวงพาณิชย์ที่เกี่ยวกับคดีจำนำข้าว ทั้งข้าราชการ กระทรวงการคลัง กรมสรรพสามิต ใครอยากได้ตำแหน่ง แล้วไปอาสาทำ ก็ต้องรับความชอบในวันนี้ และความผิดในวันหน้า ซึ่งจะเป็นบทเรียนของการบิดเบี้ยวกฎหมาย“ นายสมชาย กล่าว 

‘จิรายุ’ เคลียร์ปม ‘หนองวัวซอ’ อุดแรงปั่น ‘แด๊ดดี้’ ชี้!! ที่ดินราชพัสดุไม่ใช่ ‘กรรมสิทธิ’ แต่ต่อสิทธิได้

จากรายการ ‘คุยจบครบกระแส’ เมื่อวันที่ 4 มี.ค.67 ดำเนินรายการโดย ‘นายหัวไทร’ เฉลียว คงตุก / จาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์ ได้สัมภาษณ์พิเศษ ‘นายจิรายุ ห่วงทรัพย์’ โฆษกกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยเรื่อง การนำที่ดินทหารมาให้ชาวบ้านที่บุกรุกเช่าในอัตราราคาถูก แต่กลับถูก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ติงว่าการให้เช่า 3 ปี เป็นระยะเวลาที่สั้นไป ไม่มั่นคง ทาสีไม่ทันแห้งก็ถูกเอาคืน ซึ่งเรื่องนี้ นายจิรายุ ได้แจงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ไว้อย่างชัดเจน ว่า...

“เรื่องของการเช่าที่ดินทหารไม่น่าจะเป็นประเด็นทางการเมือง แต่ก็กลับมาเป็นประเด็นจนได้ เมื่อคุณพิธา ไปย้อนรอยรัฐบาลถึงโครงการมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ ‘หนองวัวซอโมเดล’ ให้ผู้เช่าชาวจังหวัดอุดรธานี ว่า เป็นการออกเอกสารให้ชาวบ้านเช่าแค่ระยะสั้นๆ แค่ 3ปีคนที่จะลงทุนจะไปทำอะไร โดยเปรียบเปรยว่า 3 ปี วางแผนเพาะปลูกอะไรก็ไม่ได้เลย เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวยังหม้อยังไม่ทันได้ดำ เปิดร้านทาสีก็ยังไม่แห้ง ผลผลิตยังไม่ออกผล สัญญาก็จะหมดแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าหากคนที่ไม่เข้าใจ พอได้ฟังเช่นนี้ ก็อาจจะเข้าใจผิดได้...

“ทั้งนี้ หากย้อนความกลับไปเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัย คสช. ยึดอำนาจ ที่ดินของทหารซึ่งมีจำนวนมาก มิได้มีเส้นแบ่งเขตชัดเจน แล้วก็ทำให้เกิดการบุกรุกของประชาชน แล้วพอมีผู้บุกรุกแล้วเจ้าหน้าที่ไปตรวจพบ ก็สามารถไล่ออกได้ทุกเวลา แต่เนื่องจากรัฐบาลต้องการทำให้พื้นที่ซึ่งมีโอกาสต่อประโยชน์ในการทำมาหากินอยู่ในระบบที่ถูกต้อง ทางกรมธนารักษ์ จึงได้ให้สิทธิ์กลับไปยังส่วนราชการในทุกกระทรวง-ทบวง-กรม ได้นำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดี เพราะเป็นการนำพื้นที่ไปสร้างประโยชน์แก่ประชาชน...

“อย่างไรก็ตาม ที่ดินเหล่านี้ ซึ่งคุณพิธาอาจจะไม่ทราบ คือ มีการต่อสัญญาเมื่อหมดสัญญาทั้งสิ้น โดยท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง คุณจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ท่านก็เคยได้ออกชี้แจงข้อเท็จจริงมาแล้วว่า หลังจาก 3 ปีก็มีการต่อสัญญาให้ทุกปี หรือทุกครั้งที่หมดสัญญา...

“ฉะนั้น ประเด็นที่คุณพิธา พูดถึงกรรมสิทธิผิดความหมาย และการให้สิทธิประชาชนเช่าที่ราชพัสดุ 3 ปีแล้วมีการเรียกคืนนั้น ก็เหมือนกับการเล่นการเมืองที่ภายใต้การให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน จนอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดของประชาชนได้ เพราะที่ผ่านมา การจัดสรรที่ดินทำกิน ในกลุ่มพื้นที่ราชพัสดุ เช่น หนองวัวซอโมเดล เป็นการ ‘มอบสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ’ ไม่ใช่ ‘กรรมสิทธิ์’ ตามที่นายพิธากล่าวอ้างอยู่แล้ว” (พิธาพลิกลิ้น ไม่ได้บอกว่าให้ประชาชนเป็นที่อยู่อาศัย คอยจ่ายค่าเช่าให้กับรัฐบาล ไม่ใช่แบบนั้น แต่ต้องเป็นสิทธิในการบริหารอนาคตของตัวเอง สิทธิในการมอบที่ดินให้กับลูกหลาน การมีกรรมสิทธิ์ในการจะเอาที่ดินเข้าธนาคาร นำเงินออกมาแก้ปัญหา ช่วยทำให้ จ.อุดรธานี น่าอยู่)

สำหรับกรณีที่ราชพัสดุ ‘หนองวัวซอโมเดล’ นายจิรายุ กล่าวว่า เป็นระบบสิทธิการเช่า 3 ปี ประชาชนที่เช่าอยู่เดิม ต่อสัญญาได้ตลอดและต่อเนื่อง หากจะเช่าเกิน 3 ปีก็ทำได้ แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิการเช่าจำนวนมาก การต่อสัญญา 3 ปีครั้งเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับประชาชน

“รัฐบาลนายเศรษฐา เพิ่งลงพื้นที่มอบสัญญาเช่าที่ดินในโครงการหนองวัวซอโมเดลไปเมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา และรัฐบาลจะเดินหน้าเพิ่มที่ดินทำกินให้ประชาชนต่อเนื่อง ในหลายวิธีการ ซึ่งหนองวัวซอโมเดล รัฐบาลทำมาระยะหนึ่งแล้ว และนายกฯ ก็มีความตั้งใจในเรื่องนี้มาก” นายจิรายุ ย้ำชัด

เมื่อถามว่า แล้วถ้าจะต่อสัญญาแบบระยะยาวให้แก่ผู้เช่าได้หรือไม่ นายจิรายุ เผยว่า โดยส่วนใหญ่ระเบียบการให้เช่าที่ของกรมธนารักษ์ มักจะยืนพื้นการให้เช่าไว้ที่ 3 ปี แต่ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าจะเป็นมาตรฐานแบบเหมารวม เนื่องจากบางพื้นที่และบางกิจกรรมที่แตกต่าง ก็ทำให้ไม่สามารถกำหนด เป็น 3 ปี 5 ปี หรือกี่ปีแบบเดียวกันได้ เช่น บางพื้นที่ใช้ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ การให้สัญญาเช่า 3ปีก็เยอะไปสำหรับบางผู้เช่า หรือบางกรณีมีที่ให้เช่าแถวสถานีขนส่ง บางคนก็อยากประกอบกิจการอื่นๆ โดยมองว่าควรได้ทำระยะยาว ซึ่งตรงนี้มันเป็นเรื่องของความเหมาะสมในพื้นที่ 

แต่โดยสรุปแล้ว นี่ถือว่าเป็นเจตนาที่ดี ที่ทางรัฐบาลต้องการมอบโอกาสในการทำมาหากินผ่านที่ดินทำกินให้กับประชาชนนั่นเอง

ส่อง 'เขมร' จัด 'เรือรบ' พร้อมทหารกล้า เตรียมล่าขุมทรัพย์ไทย ส่วนประเทศไทยมี 'เรือประมงสู้' พร้อมนักการเมืองส้มชักธงรบ

ประเด็น 'เกาะกูด' ที่คนไทยถูก 'มนต์เขมร' อ้างอีกครั้งว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน หวังจะตะกายฮุบไปครองเพื่อ 'สมบัติใต้ทะเลลึก' ในอนาคต ผมคิดว่ายังไงก็เป็นได้แค่ 'ปาหี่ยี่ห้อเขมร' ที่ถนัดแต่แสวงหาสมบัติของคนอื่นมาเป็นของตัวเองหน้าตาเฉย

ที่ผ่านมาก็ลักเอาทรัพย์สินทางปัญญา, ศิลปะการต่อสู้, แผ่นดิน บัดนี้ก็ถึงเวลาของท้องทะเลไกล 

แต่งานนี้ 'เป็นไปได้' ที่มี 'คนไทยนิสัยขายชาติ' รวมหัวเล่นบทตีสองหน้า แฝงหัวใจเป็น 'พ่อค้าสินในน้ำ' เพราะไม่ใช่จะมีแค่เพชร, พลอย หรือปะการังแปลก ๆ งาม ๆ แต่คือ แหล่งน้ำมันใต้ทะเลไทย ที่หากใครครอบครองได้ก็จะร่ำรวย มีเงินมากกว่า 'Bernard Arnault' และ 'Elon Musk' รวมกันเป็นแรงจูงใจให้คิดทรยศชาติตัวเอง 

แต่สุดท้ายเรื่องนี้ก็จะหายไปกับสายลม เมื่อคนไทยตื่น และตระหนักถึงความหวงแหนแผ่นดิน...โจรต่างชาติอย่างเขมร ก็ต้องคิดหนัก

อย่างไรเสีย ก็มีข่าวโปรยออกมาสักพักแล้วว่า 'นักลักชาวเขมร' ได้เตรียมเรือรบ ทหารกล้า อาวุธหนัก มาตรึงกำลังใกล้เราแค่จมูก หวังขู่ให้คนไทยกลัว แต่คนไทยอย่างพวกเรามี 'กองทัพเรือประมง' ที่อดีตหัวหน้าพรรคการเมืองล้มสถาบัน คอยใช้อวน สุ่ม เบ็ด ตาข่าย และแห เป็นอาวุธประจำเรือ ก็ยากที่ 'เขมรหิว' จะฝ่าด่าน 'เรือประมงส้ม' ของนายพล พิธา จมูกยาว ผู้บัญชาการประมงคนปัจจุบันเข้ามาได้

เขมรใช้เรือรบ ใช้ปืน ใช้ทหาร แต่เราชาวไทยตะโกนถามเขมรกลับไปดังก้องทะเลว่า “ทหารมีไว้ทำไม?” ทำให้เขมรสามสี่ห้าฝ่าย งง จนต้องหยุดชะงักแผนการกลืนเกาะของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเราลงชั่วคราว 

'มหาโจรยึดเกาะ' ต่างสงสัยในคำถาม “ทหารมีไว้ทำไม?” จนต้องเอา 'ปริศนาธรรม' ของ 'นายพลส้ม' มาขบคิดต่อถึงความปราดเปรื่องเรื่องการปกป้องผืนทะเลไทย 

เรื่องราวของ 'เกาะกูด' ที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ แม้จะยังไม่มีบทสรุปออกมาในเนื้อข่าว แต่เดาได้ง่าย ๆ ว่า สิ่งใดที่เป็นของคนไทย ก็จะเป็นของไทยวันยังค่ำ สิ่งใดที่ฉลาดล้ำ ก็จะไม่มีทางโง่เง่าเต่าตุ่น 

'ทหารมีไว้ทำไม?' ไม่เห็นต้องเก็บเอาไปคิดเลย

'เต้-มงคลกิตติ์' แจ้งจับ 'พิธา-พวก' เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง อาจต้องโทษถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหลายราย

(4 มี.ค.67) ที่ศูนย์รับแจ้งความ บชก. นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยศรีวิไลย์ นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพรรคก้าวไกล ล้มล้างการปกครอง เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ฉบับเต็มรวม 32 หน้า มามอบให้กับพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ประกอบการพิจารณาดำเนินคดีอาญา กับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และผู้บริหารพรรคก้าวไกล รวมความ 10 ราย

นายมงคลกิตติ์ ระบุว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าก้าวไกลเข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง ตนได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินคดีกับนายพิธาและพวกตามกฎหมาย ซึ่งหลังยื่นคำร้องดังกล่าว ทาง ผบ. ตร.ได้ดำเนินการมีคำสั่งมายังกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งวันนี้พนักงานสอบสวนกองปราบปราม เจ้าของสำนวนคดีนี้ ได้นัดให้ตนนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม มามอบให้กับพนักงานสอบสวน ในฐานะผู้ร้อง

"มองว่าคดีนี้ต้องทำให้เป็นเยี่ยงอย่างเพื่อไม่ให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคตเพราะการใช้นโยบายหาเสียงของพรรคก้าวไกล ก่อให้เกิดความขัดแย้ง และพยายามให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบการปกครองประเทศ ที่สำคัญมีการบั่นทอนความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยธรรมวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีความชัดเจนว่าการกระทำของนายพิธาและพรรคก้าวไกลเป็นความผิดร้ายแรง แต่เป็นความผิดเฉพาะบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับพรรค ดังนั้นพนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย เชื่อว่าหากพนักงานสอบสวนดำเนินคดีจะมีผู้ถูกออกหมายจับ อาจต้องโทษถึงประหารชีวิตถึง 10 ราย และจำคุกตลอดชีวิตอีกหลายคน" นายมงคลกิตติ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเบื้องต้นพนักงานสอบสวนกองปราบปรามเจ้าของสำนวนคดี ได้รับคำวินิจฉัยดังกล่าวไว้ประกอบการพิจารณา ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

‘ก๊อง-ปรเมษฐ์’ ซัด!! ‘พิธา’ ขาดความเข้าใจเรื่องเช่าที่ราชพัสดุ

(4 ก.พ.67) จากกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางไปรับฟังปัญหาด้านที่ดินทำกินจากพี่น้องประชาชนชาวหนองวัวซอ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี และได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องการจัดการที่ดินทำกิน ระบุว่า…

“มองว่าปัญหาข้อแรกคือเรื่องการจัดการที่ดิน รัฐต้องสร้างกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วม ข้อสองคือรัฐบาลควรตรวจสอบที่ดินของรัฐที่อยู่กับกระทรวงทั้ง 8 กระทรวง ไม่ว่าจะเป็น กลาโหม มหาดไทย เกษตร ฯลฯ ว่ามีที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อยู่เท่าใด ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 320 ล้านไร่ มีเท่าไรที่สามารถนำมาให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้ สิ่งนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและพัฒนาชนบทด้วย”

นายพิธากล่าวต่อว่า “ในส่วนของหนองวัวซอ เป็นหนึ่งในหลายพื้นที่ที่มีปัญหาคล้ายๆ กันทั่วประเทศ กล่าวคือ พื้นที่หนองวัวซอมีที่ดินที่ทหารครอบครอง 39,235 ไร่ พื้นที่ที่จะนำมาเข้าร่วมโครงการซึ่งซ้อนทับกับที่ดินของประชาชนมีอยู่ 9,255 ไร่ มีประชาชนใช้ประโยชน์อยู่ 1,597 ราย พื้นที่ทับซ้อนเหล่านี้ประชาชนคัดค้านการเป็นที่ดินของทหารมาตลอด เรียกร้องการพิสูจน์สิทธิ์มาตลอด แต่ไม่เคยมีกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์จากรัฐ จากการขึ้นทะเบียนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง จนต่อมากลายเป็นที่ดินราชพัสดุในความดูแลของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง”

ทั้งนี้ ที่ราชพัสดุทั่วประเทศมีทั้งหมดกว่า 12 ล้านไร่ ครึ่งหนึ่งถือครองโดยกองทัพ ทั้งที่ที่ราชพัสดุเป็นที่ดินของรัฐที่ควรให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต แต่กระทรวงการคลังต้องการให้ประชาชนเช่าที่ดินเพียง 3 ปี ซึ่งตนมองว่าเป็นระยะเวลาที่ไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคง เกษตรกรไม่สามารถวางแผนเพาะปลูก หรือผู้เช่าที่ดินไม่สามารถวางแผนจัดการที่ดินของตนได้ เมื่อเทียบกับการที่รัฐอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยังมากถึง 99 ปี

"หากต้องการก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ไม่มีประเทศพัฒนาแล้วที่ไหนที่รัฐบาลเป็นเจ้าของที่ดินมากถึง 60% ดังนั้นกลับไปที่หลักการเดิม ที่ประชาชนควรจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และรัฐบาลควรจะใช้ที่ดินอย่างเหมาะสมจริง ๆ" พิธากล่าว

ล่าสุด นายปรเมษฐ์ ภู่โต ผู้ดำเนินรายการ ‘ถึงแก่น Live’ ก็ได่ออกมาแสดงความคิดเห็นในกรณีที่นายพิธา วิพากษ์โครงการหนองวัวซอโมเดล อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี โดยระบุในบางช่วงบางตอนของรายการว่า…

“การที่คุณพิธาพูดว่า ให้ชาวบ้านเช่าแค่ 3 ปี ไม่มีหลักประกัน พูดแบบนี้คือ คนที่ไม่เคยเช่าที่ราชพัสดุ...บ้านผม ชุมชนบ้านครัวเขตปทุมวัน กลางกรุงเลย ก็เช่าที่ราชพัสดุ จากกรมธนารักษ์ มาตั้งแต่รุ่นทวด จนถึงปัจจุบัน ไม่เห็นมีปัญหาอะไร เขาก็ต่อให้ทุกปี คนถือสิทธ์เสียชีวิต ทายาทก็ไปทำเรื่องเช่าต่อมาแบบนี้”

ศาลฎีกาฯ มติเอกฉันท์ ยกฟ้อง-ถอนหมายจับ 'ยิ่งลักษณ์' พร้อมพวก ปมคดีจัดอีเวนต์โรดโชว์สร้างอนาคตประเทศไทย งบ 240 ล้านบาท

(4 มี.ค. 67) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติเป็นเอกฉันท์ 9:0 พิพากษายกฟ้องคดีที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวกรวม 6 คน ประกอบไปด้วย นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ, บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน), บริษัทสยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) และ นายระวิ โหลทอง จำเลยที่

ความผิดเกี่ยวกับการเสนอโครงการ โรดโชว์ ที่ไม่ใช่กรณีเร่งด่วนขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใช้ดุลยพินิจบิดผันสั่งอนุมัติงบกลาง มีเจตนาร่วมกันในการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษอันเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ และยังมีการร่วมกันดำเนินการเพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติยกเว้นการลงนามในสัญญาก่อนได้รับเงินประจำงวดทั้งที่ไม่ได้เข้าเงื่อนไข เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจำนวนเงิน 239,700,000 บาท

โดยศาลชี้ว่าจำเลยที่ 1-3 ไม่มีมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และ 157 และไม่มีความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. ปี 2561 มาตรา 192 และมาตรา 123 /1 รวมถึงไม่มีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ ปี 2542 มาตรา 12 และ 13 และชี้ว่าจำเลยที่ 4-6 ไม่มีความผิดตามคำฟ้องเช่นกัน โดยยังไม่ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86

จากการไต่สวนพยานและหลักฐานศาลชี้ว่า การที่จำเลย 1-3 ดำเนินนำงบกลางจำนวน 40 ล้านบาท มาจัดดำเนินโครงการโรดโชว์ เป็นการดำเนินนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งศาลมีอำนาจวินิจฉัยถึงการใช้งบประมาณเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐและตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากการพิจารณาร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ใช่เป็นการตัดสินใจของนางสาวยิ่งลักษณ์ และไม่ได้กำหนดเวลากระชั้นชิดเพียงเพื่อเป็นเหตุอ้างในการใช้งบกลาง ประกอบกับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณมีความเห็นว่าสมควรที่นายกรัฐมนตรีจะอนุมัติงบกลางนี้ได้ จึงเป็นดุลยพินิจที่กระทำไปบนพื้นฐานของข้อมูลข้อเท็จจริงเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้นอีกทั้งการจัดโครงการโรดโชว์ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่กระชั้นชิด

และยังกล่าวถึงพฤติการณ์ของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ว่าไม่ปรากฏว่ามีส่วนร่วมหรือแนะนำโดยมิชอบ ในกระบวนการเสนออนุมัติงงบกลาง ในการดำเนินการ และไม่ปรากฏพฤติการณ์ในการร่วมกันแทรกแซงหรือมีคำสั่งให้ เลือกบริษัทมติชนและบริษัทสยามสปอร์ตเป็นผู้รับจ้างโครงการไว้ล่วงหน้าก่อนเริ่มการจัดจ้าง หรือไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะอย่างใดเพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์หรือเลือกเฉพาะเจาะจงหรือกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น

ขณะเดียวกัน จากการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่า เห็นว่านายสุรนันทน์ไม่ได้กระทำการ ในลักษณะที่เป็นการชี้นำหรือจูงใจหรือให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ และไม่ได้มีบุคคลใดสั่งให้เลือกบริษัทเอกชนทั้งสองเป็นผู้รับจ้าง ซึ่งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ เป็นไปภายใต้เงื่อนไขการดำเนินโครงการที่กระชั้นชิด ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทำได้ตามระเบียบกฎหมาย จึงไม่ได้ใช้วิธีการประกวดราคา ตามข้อกล่าวหาจึงขาดเรื่องเจตนาพิเศษ ในการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติจัดโครงการ เพื่อทำให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

โดยประการสำคัญที่สุดหลังเกิดเหตุรัฐประหารเลขาธิการนายกรัฐมนตรีสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโครงการดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าโครงการโรดโชว์ เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุจึงอนุมัติเบิกจ่าย สอดคล้องกับการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดพบว่าไม่มีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานรัฐ ดังนั้นจึงฟังได้ว่านายสุรนันทน์ไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติ

สำหรับโครงการอีก 10 จังหวัดในวงเงิน 200 ล้านบาท เป็นการดำเนินการที่กระชั้นชิดไม่มีเวลาเพียงพอที่จะใช้วิธีการประกวดราคา และเข้าเงื่อนไขตามระเบียบสำนักนายกฯรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุเช่นเดียวกัน

ส่วนจำเลย 4-6 จากข้อเท็จจริงทางไต่สวนรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดซึ่งกรณีการแบ่งจังหวัดของบริษัทมติชนและบริษัทสยามสปอร์ตนั้นเป็นไปตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและเพื่อจัดทำงานนำเสนอจึงไม่ถือว่าเป็นการตกลงร่วมกันฮั้วประมูลจึงไม่ผิดตามคำฟ้อง

‘นายกฯ’ ชี้!! รอ ‘พีระพันธุ์’ ชงต่ออายุมาตรการพลังงานอยู่ หลังราคา ‘น้ำมันดีเซล-ค่าไฟฟ้า’ ใกล้สิ้นสุดมาตรการ

เมื่อวานนี้ (3 มี.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับประชาชน โดยมติครม. ตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค.นี้ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้ากลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านพักอาศัยไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ที่จะสิ้นสุดมาตรการในเดือนเม.ย.นี้ ว่ารัฐบาลมีแนวโน้มจะต่ออายุมาตรการดังกล่าวหรือไม่ ว่า รอ รมว.พลังงาน เป็นผู้เสนอ

‘หมอวรงค์’ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ 4 มี.ค.นี้ จะบุกจี้ ผบ.ตร. เพื่อเร่งดำเนินคดีอาญา ‘พิธา-พรรคก้าวไกล’

(3 มี.ค.67) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ “ดำเนินคดีอาญาพิธาและพรรคก้าวไกล” โดยได้ระบุว่า หมอวรงค์และพรรคไทยภักดี จะไปยื่นหนังสือต่อผบ.ตร. เพื่อเร่งรัดดำเนินคดีอาญานายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และเครือข่าย ที่ใช้สิทธิและเสรีภาพล้มล้างการปกครองฯ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม 2567 เวลา 10.30น. ณ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

‘พายัพ’ ซัด ‘ชัยธวัช’ อย่าคิดฝันหวาน จะล้มรัฐบาล เย้ย ‘ก้าวไกล’ เหมาะสมแล้วที่เป็นฝ่ายค้าน ขอให้ทำต่อไปนานๆ 

(3 มี.ค.67) นายพายัพ ปั้นเกตุ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ สส.ของพรรคหลายคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่าจะมีนายกฯ 2 คน ว่า เป็นเจตนาหวังผลทางการเมือง ต้องการทำให้เกิดความสับสนหวาดระแวงขึ้นในรัฐบาลและพี่น้องประชาชน จึงขอให้หัวหน้าพรรคและ สส.พรรคก้าวไกลหยุดการกระทำ เลิกยุแยงตะแคงรั่ว ลงทุนตอกลิ่มหวังผลให้รัฐบาลสั่นคลอน

“ขอให้ตื่นกันได้แล้ว อย่าฝันหวานเรื่องการสั่นคลอนรัฐบาลเลย เพราะนายเศรษฐาเป็นคนตั้งใจทำงาน การคิดเช่นนั้นเหมือนฝันกลางแดด พรรคก้าวไกลเหมาะสมที่จะทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ก็ขอให้ทำต่อไปนานๆ จนครบวาระ 4 ปี”

นายพายัพ ยังกล่าวต่ออีกว่า หากมีเวลาว่างก็ควรเอาเวลาเตรียมข้อมูลข้อกฎหมายไว้ต่อสู้คดีล้มล้างการปกครอง อย่าไปห่วงรัฐบาลหรือนายกฯ เลย เพราะพรรคเพื่อไทยต่อสู้ทางการเมืองเพื่อประเทศชาติและประชาชนมายาวนาน จึงมุ่งมั่นที่จะเป็นรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน พัฒนาประเทศไทย นำพาพี่น้องประชาชนให้หลุดพ้นจากความยากจน และก้าวไปข้างหน้าเทียบเท่านานาอารยประเทศ

‘อนุทิน’ ลั่น รับไม่ได้ มาเฟียต่างชาติ ที่ภูเก็ต จากเหตุกร่างทำร้ายหมอ สั่ง ผู้ว่า-อธิบดีปกครอง เร่งจัดการ ย้ำ คนเดียวเอาอยู่ ไม่ต้องถึงมือ ‘ชาดา’

(3 มี.ค.67) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์ของคนภูเก็ตที่ออกมาเรียกร้องสิทธิให้ตรวจสอบประเด็นที่ดิน หลังเกิดกรณีเหตุการณ์ชาวต่างชาติทำร้ายแพทย์หญิงจนลุกลาม ว่า ตนเองได้สั่งกำชับไปแล้ว และเมื่อวานได้มีการหารือกับอธิบดีกรมการปกครองว่าในส่วนของกระทรวงมหาดไทยต้องไปจัดการตรงไหนบ้าง และนายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ ลงพื้นที่ไปก็แจ้งให้ตนเองไปตรวจสอบ เพราะพบว่าในพื้นที่มีเครือข่ายลักษณะคล้ายมาเฟีย ตนเองกำชับอธิบดีกรมการปกครองและผู้ว่าราชการจังหวัดให้ทำงานร่วมกับหลายฝ่าย พร้อมยืนยันว่า จะไม่ให้มีนักเลง ผู้มีอิทธิพลต่างชาติมามีอำนาจ อิทธิพลความประพฤติที่ไม่ดีในประเทศไทยเป็นอันขาด

นายอนุทิน ระบุด้วยว่า  โดยส่วนตัวตนเองรับไม่ได้อยู่แล้วเพราะแค่ผู้มีอิทธิพลคนไทยเรายังไม่ยอมแต่เราจะยอมให้ชาวต่างชาติมีอิทธิพลและมาทำตัวเป็นมาเฟียได้อย่างไร

ส่วนจะให้นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ไปดูปัญหาที่จังหวัดภูเก็ตหรือไม่นั้น นายอนุทิน ระบุว่า ไม่ต้องนายชาดาหรอกนาย อนุทินคนเดียวก็เอาอยู่แล้วเดี๋ยวจัดการ ให้ท่านชาดาดูแลผู้มีอิทธิพลคนไทยไป

“กรณีที่มีการรุกล้ำที่ดินสาธารณะต้องใช้กฎหมายเพราะปัญหาทั้งหมดคือเราไม่ได้ใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ แต่ถ้าเราใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ก็ไม่มีใครเอาประโยชน์จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ ฉะนั้นต้องใช้กฎหมายอย่างเต็มที่  เราเข้าใจว่าอยากได้นักท่องเที่ยวเข้ามา แต่การที่เขาจะเข้ามาก็ต้องเข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม ซึ่งเขาต้องเคารพเมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทย เพราะมีกฎหมายและวัฒนธรรมที่จะต้องทำตาม ต้องลองดูว่ามีต่างชาติมาซ่าหรือ มาแอคอาท เดี๋ยวจัดการหมด เพียงแค่ดึงวีซ่าหรือพาสปอร์ตออกก็จบแล้ว” นายอนุทิน ระบุ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top