Thursday, 24 April 2025
POLITICS NEWS

ครม.ไฟเขียวต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุมโควิด ตั้งแต่ 1 เม.ย.- 31 พ.ค.นี้ ตามที่ศบค.เสนอ พร้อมเห็นชอบพ.ร.ฎ.เรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ 7 - 8 เม.ย.นี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่1เม.ย.-31 พ.ค.นี้ ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)ให้ความเห็นชอบ

นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.เรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุมสภาสมัยวิสามัญ พ.ศ. ...ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งว่า การประชุมสมัยวิสามัญ ที่เพิ่งผ่านพ้นมาอาทิตย์ที่แล้วได้พิจารณาเรื่องที่สำคัญ คือ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ร่างพ.ร.บ.การเข้าชื่อกฎหมาย และพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ในวาระที่ 2 ซึ่งพิจารณาได้ในบางมาตราเท่านั้น และยังมีร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยาเสพติดที่ต้องพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ

ดังนั้นที่ประชุมร่วมรัฐสภาจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเรียกประชุมสมัยวิสามัญอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าจะเป็นวันที่ 7-8 เม.ย.นี้ โดยจะมีการประกาศแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการต่อไป โดยเรื่องนี้นายกฯให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีการทำประชามติเข้ามาเกี่ยวข้อง นายกฯมีความจริงใจที่จะให้กฎหมายต่างๆได้ดำเนินการผ่านรัฐสภาตามความเหมาะสม โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติ

นอกจากนี้นายกฯได้กำชับให้หัวหน้าพรรคแต่ละพรรคให้ความสำคัญกับกฎหมายต่าง ๆ เหล่านี้ ทั้งกฎหมายประชามติ และกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วย

“ณฐพร โตประยูร” ยื่น ป.ป.ช. สอบสมาชิกรัฐสภา 208 คน ที่โหวตผ่านวาระ 3 จงใจทำหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่งอัยการฟ้องศาล สั่งพ้นจากตำแหน่ง

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่สำนักงานป.ป.ช. นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นหนังสือให้ ป.ป.ช.ดำเนินการกับ 208 สมาชิกรัฐสภา ที่ลงมติเห็นชอบ วาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ  เนื่องจากเป็นการกระทำที่จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ป.ป.ช. และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีผลผูกพันทุกองค์กร   การที่สมาชิกรัฐสภายังบังอาจลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  จึงขอให้ ป.ป.ช.ไต่สวนและมีความเห็นส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดำเนินการต่อไป   

นายณัฐพร กล่าวว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมามีความชัดเจนอยู่แล้วว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะทำไม่ได้  แต่หากจะทำก็ต้องไปขอประชามติจากประชาชนก่อนและการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 15/1  เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้งฉบับ  โดยจะมีผลให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องถูกยกเลิกไปด้วย  ซึ่งจะกระทบกับโครงสร้างทางการเมืองการปกครองและยังส่งผลให้คดีความต่างๆ  โดยเฉพาะคดีความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกศาลลงโทษไปแล้ว  หรืออยู่ระหว่างการดำเนินคดีต้องหลุดพ้นไปด้วย เหตุเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ถูกยกเลิกไป 

นายณัฐพร กล่าวว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  เป็นการหาทางออกให้ประเทศ  เพราะเดิมการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำไม่ได้  แต่คำวินิจฉัยก็ออกมาบอกว่าแก้ไขได้  แต่ต้องไปทำประชามติถามประชาชนว่ายินยอมหรือไม่   ถ้ายินยอมก็แก้ไขได้   

“การที่ญัตติโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไปแต่การที่ ส.ส.และ  ส.ว. 208 คน ไปรับรองมติ  ถือเป็นการจงใจปฎิบัติหน้าที่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. ระว่า ป.ป.ช.มีอำนาจสอบสวน และส่งอัยการฟ้องร้องภายใน 108 วัน ให้ศาลสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง และตัดสิทธิ์ทางการเมือง  10 ปี”  นายณัฐพร กล่าว

เมื่อถามว่าที่ฝ่ายการเมืองอ้างว่ามติดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ไขรายมาตรา  เพราะแก้มาตรา  256/1  เท่านั้น  นายณฐพร กล่าวว่าการแก้มาตรา 256/1  เพื่อตั้ง สสร.ก็เหมือนการยกเลิกรัฐธรรมนูญญปี  2560  ซึ่งศาลระบุไว้ชัดเจน ว่าการแก้ให้มี สสร. ไปร่างรัฐธรรมนูญใหม่  เพราะเป็นสิทธิของ ส.ส.ร.ที่จะทำ  เพราะฉะนั้นเรื่องนี้กระทบต่อโครงสร้างของประเทศ กระทบต่อการบริหารงาน รัฐบาล  กระทบต่อทุกภาคส่วน แต่เรามองไม่เห็นกันว่าการแก้แบบนี้ก่อให้เกิดผลอะไรตามม

รมว.แรงงาน ปลื้ม คนแห่ใช้ ม.33 เรารักกัน ทำเงินหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจ 5,700 ล้าน

วันที่ 23 มี.ค.64 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะมนตรี (ครม.) ถึงการใช้จ่ายโครงการ ม.33 เรารักกัน ในวันที่22 มี.ค. เป็นวันแรก ว่า การโอนเงินวันแรกให้กับผู้ประกันตนคนละ1,000 บาท มีจำนวน 5.7 ล้านคน ทำให้มีเงินหมุนเวียนถึง 5,700 ล้านบาท และขณะนี้มีผู้ยืนยันตัวตนผ่านแอพพลิเคชันเป๋าตัง เกือบ 96% มีผู้ทบทวนสิทธิ์ประมาณ 7 แสนคน โดยส่วนนี้พยายามจะดำเนินการให้เร็วและผู้ประกันตนจะได้รับเงินไปในครั้งเดียว 4 พันบาท ในวันที่ 12 เม.ย.นี้และสามารถใช้ได้ไปถึงวันที่ 31 พ.ค.นี้

รมว.แรงงาน กล่าวว่า และจากการลงพื้นที่ลงไปสำรวจผู้ใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง ทั้งในตลาดและผู้ประกันตน พบว่าราบรื่นดี มีระบบบริหารจัดการลงตัวถือว่าน่าพอใจ เพราะไม่มีอะไรที่ผิดพลาดในทุกขั้นตอน พ่อค้าแม่ค้าได้ยอดขายเพิ่มมากขึ้น3-4 เท่าตัว สร้างบรรยากาศที่ดีทั้งผู้ใช้จ่ายและผู้ขาย เหมือนกับชื่อโครงการ เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

ผู้สื่อข่าวถามถึงเสียงตัดพ้อของผู้ประกันตน มาตรา 33 บางคน ได้รับเงินเดือนไม่ถึง 2 หมื่นบาท แต่มีเงินฝากในบัญชีเกิน 5 แสนบาท จะมีการทบทวนสิทธิ์ของกลุ่มคนเหล่านี้ด้วยหรือไม่ นายสุชาติ กล่าวว่า เท่าที่ดูจากข้อมูลผู้ที่มีเงินฝากเกินจำนวน ที่มาลงทะเบียนใช้สิทธิ์มีแค่ 168,000 คน ส่วนในจำนวนผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด 9 ล้านคน ที่ไม่มาใช้สิทธิ์เพราะรู้ตัวเองอยู่แล้ว เราไม่สามารถเช็คจำนวนได้ ทั้งนี้เงินจำนวน 4 พันบาท ที่รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยาเป็นการช่วยเดือนเดียว เพราะกลัวว่าเงินที่มีอยู่จะไม่พอสำหรับผู้ประกันตนทั้งหมด เนื่องจากเป็นในส่วนของเงินกู้ จึงต้องใช้หลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนดมา

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีรายงานเรื่องการทุจริตในโครงการดังกล่าวที่ขายสิทธิ์เพื่อแลกกับเงินสด หรือไม่ นายสุชาติ กล่าวว่า ตนได้ประสานไปถึงผู้นำสหภาพแรงงานทุกกลุ่ม ให้แนะนำทำความเข้าใจถึงการบริหารจัดการเงิน โดยเงินจากแอพพลิเคชันให้ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องอาหารการกิน และเก็บเงินสดไว้ในส่วนที่จำเป็นอื่น เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถฯ และขอให้ใช้เงินด้วยความรอบคอบในสิ่งที่จำเป็นยืนยันว่ารัฐบาลพยายามแก้ปัญหาให้ครบทุกกลุ่ม ทั้งนี้ได้รายงานความคืบหน้าของโครงการ ให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้รับทราบแล้ว

รมว. คมนาคม เผย มอเตอร์เวย์ 'บางใหญ่ - เมืองกาญจน์'คืบหน้า 49.9% เร็วกว่าแผน 5.9% พร้อมเปิดบริการปี 66

วันที่ 23 มี.ค.64 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม เรื่องการพัฒนาและการเปิดให้บริการระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-lane Free Flow) หรือระบบ M-Flow บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก และ โครงการมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (Motorway M81) ว่าได้ติดตามการดำเนินการ โดยกรมทางหลวง (ทล.) ได้พัฒนา M-Flow เพื่อแก้ไขปัญหารถติดหน้าด่าน โดยวางระบบให้บูรณาการกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ในการพัฒนา M-Flow ให้เป็นรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน (Single Platform System) 

ซึ่งเป็นระบบเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติในรูปแบบการอ่านป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ ร่วมกับระบบการตรวจจับยานพาหนะอัตโนมัติ (Automatic Vehicle Identification: AVI) โดยผู้ใช้รถยนต์ขับผ่านด่านฯ ที่ติดตั้งโครงเสาแขวนสูงเหนือศีรษะ (Overhead Gantry) พร้อมอุปกรณ์ระบบตรวจจับยานพาหนะอัตโนมัติ (AVI) ระบบอ่านป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ (Automated License Plate Recognition: ALPR) โดยไม่ต้องหยุดหรือชะลอรถ โดยจะส่งบิลเรียกเก็บภายหลังหรือชำระผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น แอพพลิเคชั่น

สำหรับระบบ M-Flow ได้ออกแบบให้รองรับการใช้ความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. ซึ่งสามารถระบายรถได้เร็วกว่าระบบเดิม 5 เท่า ขณะนี้การติดตั้ง M-Flow Gantry ทั้ง 4 ด่าน ได้แก่ ด่านทับช้าง 1, 2 และด่านธัญบุรี 1, 2 เสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการปรับปรุงกายภาพบริเวณช่องทางงานติดตั้งป้ายเครื่องหมายจราจร และการดำเนินการด้านวิศวกรรมและระบบ IT (พร้อมระบบติดตามเอาผิดผู้ฝ่าฝืนไม่ชำระค่าผ่านทางที่ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการขนส่งทางบก)

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่าสำหรับโครงการมอเตอร์เวย์ M81 มีระยะทาง 96 กม. วงเงินลงทุนโครงการ 55,927 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 38,475 ล้านบาท และค่าเวนคืน 17,452 ล้านบาท) มีด่านเก็บค่าผ่านทาง 8 แห่ง ระยะเวลาดำเนินโครงการ ปี 59-66 แบ่งการก่อสร้างเป็น 25 สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จ 4 สัญญา และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 21 สัญญา มีความคืบหน้าการก่อสร้าง  49.989% เร็วกว่าแผนงาน 5.972%  ขณะที่แผนงานอยู่ที่ 44.017% (กำหนดแล้วเสร็จปี65เปิดบริการปี66)

ทั้งนี้โดยมีปัญหาอุปสรรค 1 ตอน คือ ตอนที่ 12 มีค่างานก่อสร้างเพิ่มขึ้นประมาณ 120.37 ล้านบาท เนื่องจากมีการแก้ไขรูปแบบงานสะพานให้มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดของกรมชลประทาน และเพิ่มงานโครงสร้างชะลอการทรุดตัวบริเวณคอสะพาน (Bearing Unit) ทล.อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงของค่างานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น 

นายศักดิ์สยาม ได้มีข้อสั่งการให้ ทล. เร่งรัด M-Flow ให้เป็นไปตามแผน เพื่อนำไปสู่ภาคการปฏิบัติโดยเร็ว ขณะที่มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ต้องประสานสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อหารือเกี่ยวกับการบริหารเงินเหลือจากการก่อสร้างมาดำเนินการในส่วนของค่างานที่เพิ่มขึ้น ให้บำรุงรักษาผิวทางของสัญญาที่แล้วเสร็จให้พร้อมใช้งานเมื่อเปิดให้บริการ  

รวมทั้งให้กำหนดไทม์ไลน์ของงานระบบบริหารและบำรุงรักษา (O & M) ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ไม่เป็นไปตามแผน และให้ตรวจสอบการดำเนินงานต่าง ๆ ให้มีความชัดเจน เพื่อให้ใช้งานได้ตรงตามวัตถุประสงค์ และป้องกันการทุบทิ้งสร้างใหม่ในภายหลัง

‘บิ๊กตู่’นำถกครม. ชวนคนไทยร่วมประกวดผ้าลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ภายใต้พระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” สืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน เผยผู้ชนะ the best of the best จะได้นำผ้าไปตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์ ใส่ในงาน OTOP Midyear 2021 เดื

วันที่ 23 มี.ค.ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยนายกรัฐมนตรีมีสีหน้าเรียบเฉย และก่อนการประชุม นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมนิทรรศการผลิตภัณฑ์ผ้าไทย เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ให้กับกลุ่มทอผ้าใน 76 จังหวัด 

พร้อมประชาสัมพันธ์ การใส่ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา อีกด้วย ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรียังมีมติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 รณรงค์การใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาผ้าไทย พร้อมทั้งสนับสนุน โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) 

โดยมีพล.อ.อนพุงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมชมนิทรรศการ

นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชม ผลิตภัณฑ์ผ้าไทยที่มีการพัฒนาต่อเนื่อง ด้วยพระปรีชาสามารถในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสืบสาน รักษาและต่อยอด ตามพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 10 โดย พระราชทานแนวทางการวิจัยพัฒนา (R & D) ออกแบบลวดลายผ้าไทย สามารถใส่ได้ทุกโอกาส ทุกกิจกรรม ส่งเสริมศักยภาพผ้าไทยให้มีความทันสมัย 

ซึ่งนายกรัฐมนตรียังสั่งให้กรมการพัฒนาชุมชนขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานผ้าไทย เครื่องประดับ เครื่องใช้และสินค้าชุมชนอื่น ๆ  เพิ่มช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ผลิต เพื่อจำหน่ายทั้งแบบออฟไลน์ รวมทั้งการส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้งต้นทาง กลางทาง ปลายทาง อาทิ ตลาดเส้นไหม ที่ส่งเสริมการขายสินค้าของเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อให้ครบห่วงโซ่การผลิต ยังเป็นการตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ด้วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ จากภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีอยู่แล้ว  พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนสวมใส่ผ้าไทยหรือผ้าที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอและผ้าไทยด้วย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า  จากการที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนินไปทรงงาน 3 ภาค ของประเทศไทย ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคเหนือ จังหวัดลำพูน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดสกลนคร โดยพี่น้องประชาชนได้นำผ้ามาจัดแสดง พระองค์ท่านทรงมีพระดำริในการให้คำแนะนำในเรื่องผ้า สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงอุทิศทุ่มเท ความเพียรพยายาม แนะนำติดตามงาน และที่สำคัญคือ ผ้าเป็นสิ่งที่ล่อเลี้ยงชีวิตของพี่น้องประชาชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ครัวเรือน เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้ยั่งยืน 

“พระองค์ท่านมองเห็นถึงจุดอ่อนของวงการผ้าไทย คือ แบบผ้าเก่า ไม่มีความโดดเด่นตามยุคตามสมัย พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยะภาพช่วยฝ่าทางตันออกไปได้ ตามพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และได้ประทานลวดลาย “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ทรงได้แนะนำการประยุกต์พัฒนาลวดลายให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น จึงเป็นการสร้างปรากฏการณ์แห่งอนาคตสำหรับการพัฒนาลวดลายและคุณภาพผ้าในยุคใหม่” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การประกวดลายผ้าพระราชทานลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ จึงเป็นการ kick off ในการส่งเสริม อนุรักษ์ รักษา สืบสาน และต่อยอด โดยการส่งเสริมศิลปินคนรุ่นใหม่ มุ่งเน้นการทำงานทักทอผ้าต้องไม่ลดขั้นตอนในการปฏิบัติงาน ตามกติกาที่ได้วางไว้ สุนทรียศาสตร์ มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาที่ส่งต่อบรรพบุรุษดำเนินต่อเนื่อง สิ่งที่คงอยู่กับโลกปัจจุบันในเรื่องแนวโน้ม ขับเคลื่อนรูปแบบความต้องการในยุคปัจจุบัน เพื่อต้องการยกระดับ คุณภาพลายผ้าไทย เส้นใย และสร้างศิลปินคนรุ่นใหม่ที่ทำงานเรื่องผ้าโดยไม่จำกัดอายุ  

อย่างไรก็ตามในการประกวดรอบสุดท้ายในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พระองค์ท่านจะทรงเสด็จเป็นองค์ประธานตัดสินในระดับประเทศด้วยพระองค์เอง ซึ่งจะมี รางวัล 15 ประเภทผ้า ตามเทคนิค เอกลักษณ์ของผ้าประจำถิ่นของจังหวัดนั้นๆ และรางวัลพิเศษ the best of the best นำผ้าที่ชนะเลิศไปตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์ ใส่ไปงาน OTOP Midyear 2021 ในเดือนสิงหาคมนี้

ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประกวดผ้าลายพระราชทานลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ซึ่งเปิดรับสมัคร ตั้งแต่บัดนี้ - เดือนเมษายน 2564 และประกวดในระดับภูมิภาคในห้วงเดือนพฤษภาคม 2564 และประกวดในระดับประเทศในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยสามารถติดต่อได้ที่กรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอทุกแห่ง และสามารถดูรายละเอียดการประกวด และข้อมูลเกี่ยวกับผ้าลายพระราชทานลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ได้ทางเว็บไซต์กรมการพัฒนาชุมชน www.cdd.go.th หรือทาง Facebook กรมการพัฒนาชุมชน Fanpage.

"จุรินทร์" ลั่น ​เดินหน้าแก้รธน. ฝันอยากเห็น​ 3​ ฝ่าย จับมือฝ่าปัญหา เมิน "ศรีสุวรรณ" ร้องป.ป.ช. ฟัน​ 208​ ส.ส.-ส.ว.เห็นชอบร่าง รธน.วาระ​ 3​ ย้อน! ถ้าผิด​ คนลงมติให้โหวตก็ผิดด้วย

นายจุรินทร์​ ลักษณวิศิษฏ์​ รองนายกรัฐมนตรี​ และรมว.พาณิชย์​ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์​ ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล​เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา​ จะต้องมีการพูดคุยพรรคพลังประชารัฐด้วยหรือไม่ ว่า ในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลคงต้องหารือด้วยกัน แต่บังเอิญว่าเริ่มต้นที่ได้คุยกันมี 3 พรรคการเมือง จึงยังไม่ได้พูดคุยกับพรรคพลังประชารัฐ แต่จากนี้ไปเป็นหน้าที่ของวิปรัฐบาลที่จะไปหารือเรื่องรัฐธรรมนูญที่ถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดในการที่จะเข้าสู่สภา

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะต้องขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญหรือไม่​ นายจุรินทร์ กล่าวว่า​ ในสมัยประชุมหน้า สามารถเสนอได้ ส่วนการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญขึ้นอยู่กับรัฐบาล

เมื่อถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสามารถทำได้ในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่​ นายจุรินทร์​ กล่าวว่า อย่างน้อยที่สุดในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์จะใช้ความพยายาม เพราะ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาสำคัญไม่แพ้ปัญหาการเมือง หากว่าการเมืองนิ่งการเมืองสงบ ทุกอย่างเดินหน้าไปด้วยความเรียบร้อย การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก็จะราบรื่นขึ้น นี่คือหัวใจสำคัญ 

ฉะนั้นถือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเสริมการแก้ไขเศรษฐกิจด้วย และเป็นทางออกให้กับประเทศ ในสถานการณ์ที่ตนได้เรียงมาเป็นลำดับ​รวมทั้งปัจจุบันด้วย​ จะได้ไม่​เป็นเหยื่อในทางการเมืองโดยไม่จำเป็น เพราะการที่จะพาประเทศไปสู่การเป็นประชาธิปไตย เป็นทิศทางที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว

เมื่อถามว่าจะพยายามผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญใน​ 2 ปีที่เหลืออยู่ใช่หรือไม่​ นายจุรินทร์​ กล่าวว่า อย่างน้อยที่สุดพรรคประชาธิปัตย์พยายามผลักดัน อันนี้ถือเป็นทิศทางที่ได้พุ่งไปตั้งแต่ต้น ที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์แล้วว่าได้ทำหน้าที่จนวาระสุดท้าย นั่นคือการลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3

เมื่อถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเป็นทางออกที่ดีที่สุดใช่หรือไม่ นายจุรินทร์​ กล่าวว่า ในสถานการณ์ขณะนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับมีเครื่องหมายคำถาม และดูเหมือนข้อถกเถียงยังไม่ได้ข้อยุติ ว่าสุดท้ายต้องไปทำประชามติก่อนวาระ 1 หรือไปทำประชามติหลังผ่านวาระ 3 ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ​ ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่

เมื่อถามถึงกรณีนายศรีสุวรรณ​ จรรยา​ เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยยื่น​ ป.ป.ช.เอาผิด​ ส.ส.และ​ ส.ว.ที่ลงมติวาระ​ 3​ จำนวน​ 208​ คน จะส่งผลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่​ นายจุรินทร์​ กล่าวว่า การลงมติให้ความเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 เป็นไปตามมติของรัฐสภา เพราะก่อนที่ทุกคนจะลงมติเห็นชอบก็เป็นมติของที่ประชุมรัฐสภาว่าจะให้มีการลงมติในวาระที่ 3​ ตนถือว่าการลงมติในวาระที่ 3 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบทุกประการ 

ไม่ได้มีปัญหาอะไร และถ้ามีปัญหาคงมีปัญหาทุกคน เพราะคนที่ไปร้องก็ถูกตั้งข้อสังเกตเหมือนกันว่า ทำไมจึงร้องเฉพาะคนที่ลงมติเห็นชอบ แต่ไม่ร้องคนที่ลงมติไม่เห็นชอบ หรือไม่ร้องคนที่มีมติให้รัฐสภาลงมติในวาระที่ 3 ทำไมถึงเว้นไว้ แต่ตนไม่ได้หมายความว่าให้ไปร้องทุกคน เพียงแต่มีข้อสังเกต เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้คนที่ลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 กลายเป็นเป้าหมายในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้นายจุรินทร์เคยระบุว่าจะแก้อำนาจ​ ส.ว. และญัตตินี้เคยถูกตีตกไปแล้วครั้งหนึ่ง มั่นใจหรือไม่ว่าในการยื่นครั้งต่อไปจะได้เสียงสนับสนุนจากส.ว. นายจุรินทร์​ กล่าวว่า เราก็ต้องทำหน้าที่ของเรา​ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรไม่ได้อยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์พรรคเดียวหรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่มติของที่ประชุมร่วมรัฐสภา และขึ้นอยู่กับสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3​ และเสียงฝ่ายค้านไม่น้อยกว่า​ 20% 

เป็นเงื่อนไขบังคับที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนเอาไว้ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยาก แต่เราก็ต้องฝ่าด่านนี้ไป
ไม่เช่นนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำไม่ได้เลย ยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นทางออกของประเทศทางหนึ่ง และจะส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ประชาชนอยากเห็นอยู่ด้วย การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองต้องไปด้วยกัน

เมื่อถามว่า​ เป็นไปได้หรือไม่ที่ 3 ฝ่ายคือฝ่ายรัฐบาล​ ฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภา จะจับมือกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ นายจุรินทร์ กล่าวว่า​อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้น และตนเคยพูดมาแล้วว่าอยากให้ 3 ฝ่ายได้คุยกัน หาทางออกร่วมกันเพื่อนำไปสู่ข้อสรุป ซึ่งนำมาซึ่งข้อสรุปในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ จี้สภา สอบ ‘ส.ส.เจี๊ยบ นครปฐม’ ผิดจริยธรรมร้ายแรง หลังโผล่ร่วมม็อบ 20 มีนา ชี้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับ

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า วันที่ 23 มี.ค.นี้ตนได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้สอบสวนและเอาผิดนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กรณีเข้าร่วมชุมนุมประท้วงกับกลุ่ม RE-DEM เมื่อ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ที่บริเวณท้องสนามหลวงและถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นการจัดชุมนุมที่ฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับ มีการทำลายและเผาป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในชาติบ้านเมือง เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหายและมีผู้บาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก

นางอมรัตน์ มีสถานะเป็นถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ แต่กลับลดตัวลงมาคลุกคลีร่วมกิจกรรมการชุมนุมกับกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้ง ๆ ที่ย่อมรู้ได้ว่าเป็นการจัดการชุมนุมที่ฝ่าฝืนกฎหมาย จึงถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ซึ่งตาม ป.อาญา ม.83 ระบุว่า “ในกรณีความผิดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น”

การชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการฝ่าฝืน ม.14 แห่ง พรบ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 ฝ่าฝืน ม.9 แห่ง พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ฝ่าฝืน ม.34(6) แห่ง พรบ.โรคติดต่อ 2558 รวมทั้งฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญา ม.116 ม.209 ม.210 และม.215 รวมทั้ง พรบ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 อีกด้วย

ที่สำคัญการเข้าร่วมชุมนุม โดยพยายามที่จะแสดงออกว่าตนเองมิใช่ “เตี้ยหลังม็อบ” ที่ถูกตั้งฉายานาม แต่พยายามจะสื่อสารผ่านเฟซบุ๊กของตนว่าตนเองอยู่หน้าม็อบเสมอนั้น แต่ทว่ากลับเป็นม็อบที่นำไปสู่การทำผิดกฎหมายอย่างมากมายข้างต้น การแสดงออกของ ส.ส.อมรรัตน์ จึงเป็นประจักษ์พยานที่ตอกย้ำพยานหลักฐานว่าเป็นพฤติการณ์ที่อาจฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯ 2561 อย่างร้ายแรง ในข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 12 และข้อ 17 ซึ่งเป็นมาตรฐานทางจริยธรรม ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ม.219 บัญญัติไว้

นอกจากนั้นการกระทำดังกล่าวยังอาจเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับ ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ 2563 อย่างร้ายแรงอีกฉบับหนึ่งด้วย โดยเฉพาะในข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 9 และข้อ 10 ซึ่งกำหนดว่า ส.ส.ต้องจงรักภักดีและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเคร่งครัด ต้องรักษาไว้และปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด และต้องรักษาไว้ซึ่งชื่อเสียงของสภาผู้แทนราษฎร และไม่กระทำการใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของประเทศชาติและสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงได้ส่งคำร้องไปยังท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดำเนินการตามกฎหมายหรือข้อบังคับ เพื่อลงโทษขั้นสูงสุด

ราเมศ เผยคณะกรรมการกฎหมาย นัดถกยกร่าง แก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกฎหมายพรรค ได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราว่า

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายพรรคจัดทำการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ซึ่งข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่เริ่มทำเรื่องแก้รัฐธรรมนูญมีครบถ้วนแล้ว ฝ่ายกฎหมายจะได้มีการนัดประชุมในวันพรุ่งนี้ 24 มีนาคม เวลา 14.00 น. ที่พรรค เพื่อเริ่มต้นทำเป็นต้นร่าง มีร่างเดิมที่ได้เตรียมไว้ก่อนหน้านี้แล้วคือ มาตรา 256 และมาตรา 272 และมีประเด็นเรื่องระบบเลือกตั้ง 

รวมไปถึงประเด็นการตรวจสอบถ่วงดุลในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเรื่องสิทธิชุมชน เป็นประเด็นเบื้องต้น ทำแยกเป็นรายฉบับ และไม่มีการแก้ไขในหมวด 1 และ หมวด 2 เมื่อดำเนินการเสร็จก็จะได้นำเสนอหัวหน้าพรรคต่อไป ฝ่ายกฎหมายคาดว่าจะเสร็จทันก่อนเปิดสมัยประชุมสามัญ 

นายราเมศกล่าวต่อว่า ทุกฝ่ายควรจริงใจในการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น หากทุกคนคิดเพื่ออนาคตในเรื่องประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศ เชื่อว่าจะเดินไปได้

กองทัพไทยแถลงข่าวปฏิเสธรายงานการส่งข้าวสาร 700 กระสอบช่วยกองทัพพม่าชายแดนริมแม่น้ำสาละวิน โดยอ้างในวันเสาร์ (20 มี.ค) ว่า การขนส่งข้าวสารตามรายงานสื่อฝ่ายไทย เป็นการค้าขายตามพรมแดนตามปกติ

ด้านแม่ทัพภาค 3 พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ อ้าง “นี่ไม่ใช่การส่งเสบียงให้ ทหารเมียนมา แต่ทางเมียนมาฝากซื้อข้าวของ ข้าวสาร ของใช้ต่าง ๆ จากฝั่งไทย”

รอยเตอร์รายงานวันเสาร์ (20 มี.ค) ว่า การช่วยใดๆ โดยตรงที่ออกมาจากไทยไปยังพม่าที่อยู่ภายใต้การรัฐประหารนั้น จะเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักออกมาจากนานาชาติโดยเฉพาะโลกตะวันตกที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของ อองซานซูจี ผู้นำประชาธิปไตยพม่า

ขณะเดียวกันจากเพจ The Reporters ได้รายงานเมื่อวันที่ 20 มี.คที่ผ่านมา โดยอ้างรายงานข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคงบริเวณชายแดนไทย - พม่า ใน ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอนพบว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยแห่งหนึ่ง ได้จัดส่งมอบข้าวสารและเสบียงอาหาร ให้แก่กองกำลังทหารพม่า ที่ตั้งที่ฐานปฏิบัติการอยู่ในรัฐกะเหรี่ยงบริเวณริมแม่น้ำสาละวิน โดยเป็นข้าวสารจำนวนอย่างน้อย 700 กระสอบ

แหล่งข่าวด้านความมั่นคงกล่าวตามการรายงานของสื่อไทยว่า “การขนเสบียงครั้งนี้ทราบว่าได้รับคำสั่งมาจากส่วนกลางของรัฐบาลไทย และรถบรรทุกขนข้าวเหล่านี้มาจาก อ.แม่สอด จ.ตาก การที่กองกำลังฝ่ายความมั่นคงของไทยยอมส่งเสบียงให้ทหารพม่าครั้งนี้ ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นการไม่สมควร เพราะเป็นปัญหาภายในพม่า ที่สำคัญคือ สังคมโลกกำลังจับตาดูการระทำอันรุนแรงที่กองทัพพม่ากำลังทำกับประชาชน ดังนั้นการส่งเสบียงให้ เท่ากับเป็นการสนับสนุนให้ทหารพม่าทำร้ายประชาชน”

ซึ่งชายแดนไทยที่ติดกับรัฐฉาน ภายหลังจากที่สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS หรือ SSA) ที่นำโดยพลเอกเจ้ายอดศึก ประกาศให้การคุ้มครองผู้ที่หลบหนีการรัฐประหารจากทหารพม่า ทำให้สถานการณ์หลายพื้นที่เกิดความตึงเครียด

พลเอกเจ้ายอดศึก เปิดเผยว่ายังไม่มีรายงานว่าบริเวณชายแดนรัฐฉาน-ไทย มีการขนส่งเสบียงให้กับทหารพม่า แต่อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา SSA ได้ประกาศไปแล้วว่าจะให้การคุ้มครองประชาชนที่หลบหนีมาจากสถานการณ์รัฐประหารของทหารพม่า

รอยเตอร์รายงานอีกว่า พล.ต.อำนาจ ศรีมาก ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 4 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังนเรศวรกล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า “กองทัพไม่ได้ส่งปัจจัยให้กับกองทัพพม่า และไม่มีการติดต่อจากพม่าก่อนหน้าเพื่อร้องขอความช่วยเหลือหรือเรียกร้องการสนับสนุนจากทางเราเพราะพวกเขาเองก็มีเกียรติยศ”

และเสริมต่อว่า “ซึ่งหากว่ามีอะไร ผมคิดว่ามันคงเป็นเรื่องการค้าขายข้ามพรมแดนตามปกติ” พล.ต.อำนาจยืนยันว่า “ทางเราไม่ได้ปิดกั้นหากว่าการปฏิบัติไม่ได้ละเมิดกฎหมายและเป็นไปตามระเบียบศุลกากร”

รอยเตอร์กล่าวว่า สื่อไทยได้รายงานว่า สหภาพชนชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU) หรือ KNU ได้ตัดเส้นทางลำเลียงเสบียงของหน่วยทหารพม่าที่ประจำอยู่ตามจุดต่างๆ ในรัฐกะเหรี่ยงบริเวณชายแดนริมแม่น้ำสาละวิน

ทั้งนี้จากการให้สัมภาษณ์ของ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาค 3 ได้กล่าวชี้แจงถึงปมข้าวสาร 700 กระสอบว่า...

“ที่ผ่านมา ทหารเมียนมา ฝากซื้อข้าวของ ข้าวสาร ของใช้ต่างๆ จากฝั่งไทย โดยประสานผ่าน คณะกรรมการชายแดนระดับท้องถิ่น (TBC: Township Border Committee)มาเป็นปกติ เพราะซื้อจากฝั่งเมียนมา จะขนส่งไกลกว่า แต่ซื้อฝั่งไทย สะดวกกว่ามาก ถือเป็นการช่วยเหลือกันถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เพราะความสัมพันธ์ทางทหารเป็นไปด้วยดี

“เพราะที่ผ่านมาเวลาเรามีปัญหาอะไร คนไทยไปเกิดเรื่องในฝั่งเมียนมา เราก็จะประสานผ่านคณะกรรมการTBC ในการช่วยเหลือดูแล และการส่งคนไทยในเมียนมากลับประเทศ เมื่อเกิดปัญหา ฝ่ายทหารเมียนมา เขาก็ฝากเราซื้อของ ทำกันแบบนี้มายาวนานและถือเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในฝั่งไทยในการซื้อข้าวสาร ของใช้ต่างๆ จากพ่อค้าแม่ค้า ภาคเอกชนไทย แล้วส่งไปให้ฝั่งเมียนมา”

พลโท อภิเชษฐ์ ยังได้กล่าวอีกว่า "ปัญหาที่อาจถูกนานาชาติกดดันจากการที่อาจเห็นว่าฝ่ายไทยให้การสนับสนุนพม่าในการส่งเสบียง อันนั้น เป็นเรื่องการเมือง เพราะคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นTBC ไม่ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง เป็นเรื่องประสานงานความสัมพันธ์ทางทหาร และการร่วมดูแลชายแดนและดูแลประชาชน2 ฝั่งให้สงบเรียบร้อย ไม่มีปัญหาระหว่างกัน”

สำนักข่าวบีบีซีภาคภาษาไทยรายงานในวันเดียวกัน (20) ว่า กะเหรี่ยง KNU อ้างมีการปิดล้อมพื้นที่ในเขตอิทธิพลของ KNU ในเมียนมา ทำให้กองทัพเมียนมาต้องหันมาลำเลียงสินค้าผ่านทางไทยแทน

โดยชี้ว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ด้านชายแดนไทย - เมียนมา จ.ตาก เปิดเผยเมื่อ 20 มี.ค. ยืนยันว่า “ทางทหารรัฐบาลเมียนมา ได้ส่งข้าวสาร จำนวน 700 กระสอบ พร้อมด้วยเนื้อกระป๋อง น้ำมันพืช และใบชาแห้งถูกลำเลียงมาจากฝั่ง จ.เมียวดี เมียนมา เข้ามาที่ อ.แม่สอด จ.ตาก แล้วลำเลียงส่งไปที่ ริมชายหาดแม่น้ำสาละวิน บริเวณ ด้าน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน แล้วส่งข้ามแม่น้ำไปฝั่งเมียนมา ทั้งนี้เพื่อส่งให้ทหารเมียนมาตามฐานปฏิบัติการริมแม่น้ำสาละวิน หลังจากนั้นจะลำเลียงด้วยเรือหางยาวไปส่งให้ทหารเมียนมา”

แหล่งข่าวจาก KNU กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้พลโท โก่โก่ หม่อง แม่ทัพภาคตะวันออกเฉียงใต้ ได้ประสานมายังกองทัพภาคที่ 3 ของไทยเพื่อขออำนวยความสะดวก ซึ่งทางฝ่ายไทยไม่ได้ตอบรับตกลง และทำให้ทหารเมียนมาว่าจ้างเอกชนฝ่ายไทยให้ทำการขนส่งให้เอง

นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ของสหภาพชนชาติกะเหรี่ยง KNU ออกมาในวันอาทิตย์ (21) ได้ระบุว่า คัดค้านกรณีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดที่จะส่งเสบียงให้ทหารพม่าในพื้นที่กองพล 5 โดยระบุว่าว่าเคเอ็นยู "จะไม่รับผิดชอบใดๆ"

ขณะที่ฟากชาวบ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ได้ระบุว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า กองข้าวสาร 700 กระสอบ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน เป็นของใคร ชาวบ้านห่วงความปลอดภัย หากเป็นของทหารพม่า ก็ขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการนำออกจากพื้นที่โดยเร็ว เพราะทาง KNU คัดค้านการส่งเสบียง หวั่นเกิดการปะทะที่ชายแดนไทย


ที่มา: https://www.facebook.com/119425428118611/posts/3998603250200790/


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top