Saturday, 10 May 2025
POLITICS NEWS

"ปารีณา" ซัด รมต.นินทา "บิ๊กตู่" นิสัยผู้หญิง ตะเพิด ไม่พอใจก็ลาออกไป ยัน สัมพันธ์พรรคร่วมยังปึ้ก แม้วิจารณ์ "บิ๊กตู่" จัดการโควิดห่วย 

วันที่ 29 เมษายน 2564 ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพปชร. กล่าวกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลโจมตีการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และพรรคพปชร. ว่า ความสัมพันธ์ของพรรคร่วมยังดี การออกมาแสดงความเห็นของสมาชิก เป็นสิทธิเสรีภาพ แต่ในภาวะที่รัฐบาลต้องต่อสู้กับโควิด-19 ไม่ใช่เวลาที่จะมาทะเลาะกัน ควรร่วมมือแก้ปัญหา เรื่องนี้คล้ายผัวเมียทะเลาะกัน ลิ้นกับฟัน พ่อกับลูก ที่อาจกระทบกันบ้างแต่ก็ไม่มีอะไร แม้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะบอกว่าไม่มีอะไรแต่ลูกพรรคก็ยังโจมตีไม่หยุด ถ้าอยากแสดงออกก็ควรเสนอเเนวทางแก้ปัญหาดีกว่าการแสดงออกที่ไม่สร้างสรรค์ 

นางสาวปารีณา กล่าวว่า ที่หลายฝ่ายมองว่าเมื่อสถานการณ์โควิด-19 แย่ลง พรรคร่วมเริ่มที่จะตีตัวออกห่างและมีโอกาสจะถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ยืนยันว่าความสัมพันธ์ยังแน่นแฟ้นกับนายกฯจึงเป็นไปไม่ได้ที่ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยจะถอนตัว และให้เพื่อไทยเข้ามาแทนที่ ส่วนที่ครม.โอนอำนาจให้นายกฯสั่งการเรื่องวัคซีน เป็นเรื่องที่ดีและจำเป็นเพราะจะทำให้การบริหารจัดการแก้ไขปัญหารวดเร็วและง่ายขึ้น โดยไม่ต้องมารอ

“คนที่วิจารณ์ก็วิจารณ์ไปเรื่อยคนทำงานก็เหนื่อยกันไป ทางที่ดีมาช่วยกันดีกว่า ใครมีอะไรก็เเนะนำมาทั้งฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล แต่ไม่ควรจะทำให้เกิดบรรยาการแบบนี้ “

เมื่อถามว่ากรณีมีรัฐมนตรีบางคนแอบนินทานายกรัฐมนตรี น.ส.ปารีณา กล่าวว่า การนินทานั้น เป็นเรื่องของผู้หญิง ดังนั้นคนที่นินทาก็มีนิสัยของผู้หญิง ก็อยากจะรู้ว่าเป็นใคร ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีอยู่แล้ว  คิดว่าถ้าไม่พอใจก็ควรจะลาออกไปเลย 

ป.ป.ช. เปิดทรัพย์สิน “นายกอบจ.เลย” สามีที่ปรึกษา​ "อนุทิน" รวย 212 ล้านบาท​ พบ เมียเป็นบอร์ดบ.โบนันซ่า ซัมมิท ในเมียนมาร์ อึ้ง​ ครอบครองรถเกือบ 40 คัน ด้าน ผอ.ป.ป.ช.เลย จ่อ สอบเชิงลึก

เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2564 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย กรณีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564   โดยนายธนาวุฒิ ระบุประวัติการทำงานย้อนหลัง 5 ปี ว่าดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลยมาตั้งแต่ปี 2544 

มีนางใยอนงค์ ทิมสุวรรณ เป็นคู่สมรส และยังระบุตำแหน่งปัจจุบันในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐหรือหน่วยงานเอกชน ว่ามีตำแหน่งที่ปรึกษาของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท Bonanza Summit Co.Ltd ซึ่งตั้งอยู่ที่ Heho Village, Taunggyi District Shan State, Myanmar ด้วย

นายธนาวุฒิและนางใยอนงค์ มีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 212,232,960 บาท เป็นของนายธนาวุฒิ 146,426,116 บาท ของนางยายอนงค์ 65,806,844 บาท โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นที่ดิน เงินลงทุน และยานพาหนะ 

ทั้งนี้​ ผู้ยื่นและคู่สมรสมีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 26,165,393 บาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่น

ในส่วนของที่ดินที่ผู้ยื่นและคู่สมรสแสดงไว้ในรายการบัญชีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 67 รายการมูลค่ารวม 150,673,892 บาท โดยที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอวังสะพุงจังหวัดเลย และที่จังหวัดขอนแก่น เชียงใหม่ กรุงเทพฯ​ ส่วนยานพาหนะผู้ยื่นและคู่สมรสแสดงรายละเอียดไว้จำนวน 36 รายการ ประกอบด้วยรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มูลค่ารวม 13,159,000 บาท ทั้งนี้มีการระบุวันที่ได้มาพบว่า มีการครอบครองตั้งแต่ปี 2537-2559 และเป็นหมายเลขทะเบียนของทั้งจังหวัดเลย กรุงเทพฯ และอุดรธานี

สำหรับทรัพย์สินอื่นที่มีมูลค่า 200,000 บาทขึ้นไปผู้ยื่นแสดงไว้ทั้งสิ้น 5 รายการมูลค่ารวม 9,700,000 บาท ประกอบด้วย นาฬิกาโรเล็กซ์ฝังเพชร 1 เรือน งาช้าง 2 คู่ พระเครื่อง 68 องค์ สร้อยคอทองคำ 20 เส้น แหวน 26 วง โดยระบุว่าทั้งหมดเป็นมรดก

ด้านนายทวิชาติ นิลกาญจน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเลย กล่าวว่า เป็นการแจ้ง บัญชีทรัพย์สินในส่วนของยานพาหนะตามที่ผู้ยื่นมีชื่อครอบครองทะเบียนรถ แต่อย่างไรก็ตามขอตั้งเป็นข้อสังเกตไว้และอาจมีการตรวจสอบยืนยัน หรือตรวจสอบเชิงลึกต่อไป

ก้าวไกลเปิดตัว Think Tank ประเดิมข้อเสนอเฉพาะหน้าช่วยลูกจ้าง-ผู้ประกอบการจากพิษโควิด

พรรคก้าวไกลเปิดตัว Think Tank ประเดิมเปิดข้อเสนอ 7 มาตรการช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้าง-ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคำสั่งของรัฐบาลในการป้องกันโควิด ย้ำสถานะการคลังยังกู้เพิ่มได้ แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการงบประมาณ

29 เมษายน 2564 พรรคก้าวไกลเปิดตัวศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต หรือ Think Forward Center นำโดย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ เพื่อรับฟัง ศึกษา วิจัย และออกแบบนโยบายในการพัฒนาประเทศไทยระยะยาว

สำหรับมาตรการเฉพาะหน้านั้น ดร.เดชรัต กล่าวว่าขณะนี้ระบบสาธารณสุขกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ประชาชนล้มตายจากโควิด-19 รายวัน เนื่องจากการวางแผนเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุขที่ผิดพลาดของรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับไม่กล้าพอจะประกาศล็อกดาวน์ เพราะไม่พร้อมจะรับผิดชอบเยียวยาประชาชน รัฐบาลใช้วิธีสั่งปิดสถานประกอบการและห้ามออกนอกเคหะสถานโดยใช้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้สถานการณ์ในขณะนี้ ไม่ต่างอะไรกับมีการล็อกดาวน์ เศรษฐกิจหยุดชะงัก ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า 

ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคตหรือ Think Forward Center ในนามสถาบันนโยบายสาธารณะ (Think Tank)  ของพรรคก้าวไกลจึงมีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล ดังต่อไปนี้

1) รัฐต้องพยุงการจ้างงาน โดยรัฐบาลจ่ายเงินสนับสนุนเพื่อช่วยคงการจ้างงาน ในอัตรา 30% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 3,500 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน และจะช่วยสนับสนุนเงินเพื่อคงการจ้างงานไม่เกิน 100 คน/สถานประกอบการ โดยมีเงื่อนไขไม่ปรับลดคนออก เพื่อช่วยให้สถานประกอบการขนาดเล็ก/แรงงานอิสระยังคงการจ้างงาน/การทำงานไว้ได้ จำนวนผู้ได้รับประโยชน์ประมาณ 17 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 100,000 ล้านบาท

2) รัฐต้องชดเชยการว่างงานอันเนื่องมาจากประกาศคำสั่งของรัฐ โดยไม่นำเงินกองทุนประกันสังคมจ่ายเงินชดเชยว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย หากมีนโยบายชดเชยคนที่ต้องหยุดงานชั่วคราวด้วยคำสั่งของรัฐ ผู้ที่ต้องจ่ายคือรัฐบาล อย่านำเงินที่ลูกจ้าง นายจ้างร่วมกันสมทบไปจ่าย

3) จ่ายชดเชยตรงให้กับผู้ประกอบการที่ต้องถูกสั่งปิดกิจการโดยคำสั่งรัฐ สถานประกอบการเหล่านี้จะถูกสั่งปิดเป็นอันดับต้นๆ เสมอ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ร้านนวด ร้านเสริมสวย ผับ บาร์ สถานศึกษา สถานรับเลี้ยงเด็ก สนามกีฬา กองถ่ายละครและภาพยนตร์ รวมไปถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เกี่ยวข้อง โดยเร่งด่วน ซึ่งทุกการระบาดที่ผ่านมายังไม่เคยมีการชดเชยโดยตรงให้ผู้ประกอบการแม้แต่บาทเดียว

4) จ่ายเงินเยียวยาผลกระทบ สำหรับผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 3,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 2 เดือนทันที โดยมีจำนวนผู้ได้รับประโยชน์ประมาณ 50 ล้านคน ใช้งบประมาณ 300,000 ล้านบาท

5) นำมาตรการ asset warehousing มาประยุกต์ใช้สำหรับหนี้ครัวเรือน เช่น การยืดระยะเวลาการไถ่ถอน การลดอัตราดอกเบี้ย และการมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย(3 เดือน) สำหรับสถานธนานุบาลและสถานธนานุเคราะห์ และมีมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยรัฐบาลมีงบประมาณสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนต่างในการดำเนินการ 

6) ให้สินเชื่อเพื่อค่าใช้จ่ายในการศึกษา โดยให้ผู้ปกครองสามารถนำใบเสร็จค่าบำรุงการศึกษา และค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาอื่น(รวมถึงค่าอินเตอร์เน็ต) มาขอกู้เงินแบบปลอดดอกเบี้ยตลอดปี 2564 ที่ธนาคารของรัฐ(เช่น ธนาคารออมสิน) จากนั้นจึงจะเริ่มให้คืนเงินกู้ และคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ ในปี 2565 เป็นต้นไป โดยรัฐบาลต้องให้งบประมาณสนับสนุนโดยการชดเชยอัตราดอกเบี้ย เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่ต้องขาดรายได้

7) สนับสนุนวงงบประมาณสำหรับการใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ต และ/หรืออุปกรณ์ทางการศึกษา(ที่เหมาะสมกับสภาพการเรียนการสอนแบบทางไกล/ออนไลน์) สำหรับนักเรียนและนักศึกษาทุกคน ตลอดภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ในวงเงิน 1,500 บาท/ภาคการศึกษา และภาครัฐควรประสานกับ กสทช. และภาคธุรกิจโทรคมนาคม ให้สามารถให้บริการในค่าบริการที่ต่ำที่สุด

“ข้อเสนอทั้งหมดนี้ พรรคก้าวไกลและ Think Forward Center เป็นทางรอดของประเทศ ถึงแม้ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใหม่มาบริหาร แม้ว่าการดำเนินการตามแนวทางนี้จะมีผลให้งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถดำเนินการได้ โดยหากมีการกู้ยืมเงินอีกในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ผ่านการออกพระราชบัญญัติและกระบวนการพิจารณาของรัฐสภา ก็จะทำให้สัดส่วนภาระการชำระหนี้ต่องบประมาณทั้งหมดอยู่ประมาณ 12.5% ของงบประมาณทั้งหมด และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นเป็น 65% ของ GDP ซึ่งแม้จะเกินจากกรอบเดิมที่เคยกำหนดไว้ แต่ก็เป็นแนวทางที่จะสร้างประโยชน์กับประชาชนในสถานการณ์ที่ประชาชนมีความยากลำบาก โดยเฉพาะสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่สูงกว่า 90% ของ GDP แล้วในปัจจุบัน”

“แต่การกู้เงินรอบใหม่ไม่สมควรกระทำในรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเมื่อดูจากผลงานการใช้จ่ายงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ผ่านมา พบว่ารัฐบาลนี้ไม่มีความสามารถที่จะอนุมัติและเบิกจ่ายโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงไม่สมควรจะเป็นผู้รับผิดชอบหากจะต้องมีการกู้เงินเพิ่มในครั้งใหม่นี้” ดร.เดชรัต กล่าวสรุป

นอกจากมาตรการเฉพาะหน้าในระยะสั้นที่ได้กล่าวมาแล้วแล้ว พรรคก้าวไกล และ Think Forward Center เห็นว่ารัฐบาลควรมีแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยหลังโควิด โดย Think Forward Center จะนำเสนอนโยบายในระยะกลางและระยะยาว เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ขอให้ผู้ที่สนใจติดตามต่อไป

“บิ๊กตู่”เข้าตึกไทย หารือ ศบค.ชุดเล็กก่อนนำถก ศบค.ชุดใหญ่บ่ายนี้ “จับตา” ยกระดับยาแรงปรับมาตรการตามโซนสีพื้นที่ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อ-ผู้เสียชีวิตยังสูงต่อเนื่อง

ด้านความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตนี และ รมว.กลาโหม ที่ล่าสุดฝ่ายค้านเสนอให้ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากล้มเหลวในการบริหาร เมื่อเวลา 08.40 น. เดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว 

โดย เวลา 09.30 น.ที่ตึกภักดีบดินทร์ นายกรัฐมนตรี บันทึกเทปเนื่องในวันฉัตรมงคล ก่อนที่เวลา 13.30 น.นายกรัฐมนตรีร่วมประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศปก.ศบค.) หรือศบค.ชุดเล็ก ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เพื่อหารือถึงข้อสรุป รวมถึงการยกระดับมาตรการข้อกำหนดต่างๆ

จากนั้น ช่วงบ่ายเวลา 14.00น. นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) หรือ ศบค. เป็นประธานการประชุมศบค. ชุดใหญ่ ครั้งที่ 6/2564 ผ่านระบบ VDO Conference ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสรุปผลการออกมาตรการ และข้อกำหนดในกิจการกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้ต้องจับตาว่าที่ประชุมศบค. ชุดใหญ่จะมีการยกระดับมาตรการเข้มข้นขึ้นหรือไม่ ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ที่มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่และยอดผู้เสียชีวิตในแต่ละวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับวาระการประชุมสำคัญ ของ ศบค.ชุดใหญ่ วันดียวดันนี้ กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19  ขณะที่ กรมควบคุมโรค รายงานแนวทางการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมาย กรณีการให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พำนัก

“ประเด็นสำคัญคือ มาตรการที่ สมช.โดยศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 เสนอการยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขณะที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอแผนการให้บริการวัคซีนโควิด - 19” 

และที่ต้องจับตาคือ ประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ทั้งข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548(ฉบับที่ 20 ) ,ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 21 ) ,การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด - 19 ของศูนย์ปฏิบัติการด้านการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง และรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะของสำนักงานและศูนย์ปฏิบัติการด้านต่าง ๆ

“หมอระวี”สงสารบุคลากรทางการแพทย์ ทำงานเหนื่อยแทบตาย แต่นักการเมืองมัวแต่ทะเลาะแย่งอำนาจ ทำปชช.เบื่อหน่าย วอน รอพ้นวิกฤตจะทะเลาะจนยุบสภาฯก็ไม่มีปัญหา

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า ช่วงนี้ข่าวความขัดแย้งระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล หรือในพรรคร่วมรัฐบาลมีความรุนแรงขึ้นทุกวัน จนมีประชาชนหลายคนติดต่อมาปรับทุกข์กับตน ว่า ในภาวะการระบาดโควิดรอบ 3 ที่รุนแรงมาก มีการติดเชื้อวันละกว่า 2,000 คน ติดต่อกันหลายวัน เป็นภาวะวิกฤตสำหรับสถานการณ์สงครามชีวภาพ แทนที่นักการเมืองไทยทุกพรรคจะร่วมมือร่วมใจกัน ร่วมกับประชาชนในการฝ่าฟันให้พ้นวิกฤต แต่นักการเมืองกลับออกมาทะเลาะกันทุกวัน จนประชาชนเกิดความเบื่อหน่าย บุคลากรทางการแพทย์ทำงานเหนื่อยแทบตาย ไม่ได้กิน ไม่ได้นอน แต่นักการเมืองเอาแต่ทะเลาะ แย่งอำนาจ แย่งชื่อเสียง แย่งผลประโยชน์กัน

“หมอระวี”สงสารบุคลากรทางการแพทย์ ทำงานเหนื่อยแทบตาย แต่นักการเมืองมัวแต่ทะเลาะแย่งอำนาจ ทำปชช.เบื่อหน่าย วอน รอพ้นวิกฤตจะทะเลาะจนยุบสภาฯก็ไม่มีปัญหานพ.ระวี กล่าวต่อว่า แม้ว่าจะเป็นปกติของพรรคร่วมรัฐบาลที่ทำงานร่วมกันมา 2 ปี ย่อมสะสมความเห็นต่าง และข้อขัดแย้งมาเรื่อยๆ แต่ในยามวิกฤตของบ้านเมืองในขณะนี้ นักการเมืองทุกคนของพรรคร่วมรัฐบาล ต้องร่วมใจเป็นหนึ่งเดียว อดทน อดกลั้น ผนึกกำลังกันพาประชาชนพาพ้นวิกฤตไปให้ได้ดีที่สุดก่อน ความขัดแย้งเอาไว้ทีหลัง ฝ่ายค้านก็เช่นกัน ประชาชนอยากเห็นฝ่ายค้านที่ทำงานอย่างสร้างสรรค์ก่อประโยชน์ให้ประชาชน ไม่ใช่จ้องโจมตีรัฐบาลทุกลมหายใจ ไม่แยกแยะถูกผิด ข้อดี ข้อเสีย 

“ผมขอเรียกร้องให้นักการเมืองทุกพรรคมาร่วมใจนำพาประเทศ และประชาชนผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน หยุดทะเลาะกันออกสื่อจนทำให้ประชาชนเขาเอือมระอา และหมดศรัทธาเสียที รอต้นปี 2565 ที่ประเทศจะฉีดวัคซีนครบ 70 เปอร์เซ็นต์ เราจะสามารถเปิดประเทศได้ เศรษฐกิจเริ่มฟื้น นักการเมืองฝ่ายค้านและรัฐบาลจะกลับมาทะเลาะกันเหมือนเดิม พรรคร่วมรัฐบาลจะทะเลาะกันจนยุบสภาก็ไม่มีปัญหา” นพ.ระวี กล่าว 

 

ตะโกนก้อง “แรมโบ้” ยัน “บิ๊กตู่” ไม่ควรลาออก “โว” ยังไม่เห็นจะมาแทนได้ ขอฝ่ายค้านย้อนดูตัวเองบ้างเรียกร้องให้คนอื่นลาออก เพราะอยากกลับมาเป็นรัฐบาลตัวสั่น

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงพรรคร่วมฝ่ายค้านออกแถลงการณ์ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก เพราะแก้โควิด-19 ล้มเหลว ว่า นายกรัฐมนตรีไม่ควรลาออกในเวลานี้ที่บ้านเมืองเกิดสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมาได้แก้ไขปัญหาได้ดีอยู่แล้ว แม้จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ทั้ง นายกฯ รัฐบาล บุคลากรทางการแพทย์ ไม่เคยย่อท้อทำงานอย่างหนัก และหากนายกรัฐมนตรีลาออกตอนนี้ก็มองไม่เห็นว่าจะมีใครเข้ามาแก้ไขปัญหาได้

ในส่วนของการบริหารจัดการวัคซีนนั้นมั่นใจว่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ที่จะเปิดให้ประชาชนได้ลงทะเบียนฉีดวัคซีน กระบวนการต่างๆจะเดินหน้าและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทั้งนี้จากการหารือแนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนร่วมกับภาคเอกชน ได้จัดตั้ง 4 ทีมขึ้นมาบริหารจัดการ เพื่อเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนให้เข้าถึงประชาชนกว่า 50 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรในประเทศ ภายในปี 2564 โดยมีทีมกระจายวัคซีน  ทีมประชาสัมพันธ์ ทีมอำนวยความสะดวก ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ขณะที่การให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจฝ่ายค้านก็ต้องยอมรับว่าต่างประเทศก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรี ก็ช่วยเหลือประชาชน โดยมีมาตรการออกมาอย่างต่อเนื่อง

นายเสกสกล กล่าวว่า ยืนยันว่านายกรัฐมนตรี ไม่เคยสนับสนุนพวกพ้อง ทำลายผู้ที่เห็นต่างนั้น ตามที่ฝ่ายค้านกล่าวหาซึ่งหากฝ่ายค้านจะถามหาความเป็นหนึ่งเดียวของคนทั้งประเทศก็ต้องถามหาจากฝ่ายค้านมากกว่า เพราะที่ผ่านมาจ้องที่จะทำลายความรัก ความสามัคคีของคนในประเทศ ไม่เคยให้ความร่วมมือ หรือแม้แต่ให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ไต่สวนก็เป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ แน่ไม่อยากให้ฝ่ายค้านเล่นการเมืองมากเกินไปในขณะที่ประเทศกำลังเกิดวิกฤต เชื่อประชาชนไม่เอา ย้อนดูตัวเองด้วยว่าได้ทำอะไรไปบ้างหากเทียบกับนายกรัฐมนตรี

"เป็นฝ่ายค้านนานหลายปี คงอยากกลับมามีอำนาจมากกว่า คงอยากเป็นรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีจนตัวสั่น หรือเพราะว่าไปรับธงมาจากคนแดนไกลสั่งการมา คนประเภทนี้ ผมเคยสัมผัสมารู้ทางว่า คิดอะไรอยู่ อีกไม่ถึง 2 ปีคงอดทนไม่ไหว อดอยากปากแห้งหรือเปล่า อดีตตอนเป็นรัฐบาลก็มีแต่ข่าวเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่กลัวประชาชนลุกฮือขึ้นมาไล่อีกรอบ เหมือนตอนอดีตนายกฯ นายทักษิณ นายสมชาย นางสาวยิ่งลักษณ์ จำไม่ได้หรือไง ฝ่ายค้านทุกวันนี้น่าเบื่อหน่าย ชอบทำตามใบสั่ง ไม่สงสารประเทศชาติ  ขอร้องอย่าเอาผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก หัดคิดถึงผลประโยชน์ประชาชนบ้าง

หรือว่า อยากให้คนโกงบ้านโกงเมืองกลับมามีอำนาจอีกครั้ง บ้านเมืองจะได้ฉิบหายเหมือนในอดีต สมองคนเหล่านี้ไม่มีคุณค่าอะไรเลย แก่เกินแกง แก่เพราะอยู่นานจริงๆ ควรหยุดเล่นการเมืองในภาวะวิกฤตความเดือดประชาชนได้แล้ว" นายเสกสกลกล่าว

ที่ประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวในสถานการณ์การแพรร่ระบาดของโรคติดเชื้อไรรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) เห็นชอบแต่งตั้งชุดติดตามและตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว 6 ชุด

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 เวลา ที่ห้องประชุมเทียน อัชกุล ชั้น 10 กรมการจัดหางาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวในสถานการณ์การแพรร่ระบาดของโรคติดเชื้อไรรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ครั้งที่ 1/2564 โดยมีนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.ต.ต. นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พร้อมด้วยผู้บริหารกรมการจัดหางาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย และเน้นย้ำให้เฝ้าระวัง ตรวจสอบ คัดกรองโรคโควิด-19 ในทุกสถานประกอบการ เพื่อร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด 

“สำหรับการประชุมวันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบการแต่งตั้งชุดติดตามและตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว จำนวน 6 ชุด  เพื่อตรวจสอบ จับกุม ดำเนินคดี นายจ้าง/สถานประกอบการ และผู้เกี่ยวข้องที่จ้างคนต่างด้าวทำงานโดยผิดกฎหมาย คนต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองและทำงานโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งคนต่างด้าวกลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันตามมติครม.วันที่ 29 ธ.ค. 63 ประกอบกับมติครม.วันที่ 26 ม.ค. 64 และมติครม.วันที่ 7 เม.ย. 64 แต่มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ชุดติดตามและตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวทั้ง 6 ชุด จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งคนต่างด้าวที่ทำงานโดยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิที่จะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง ส่วนนายจ้าง/สถานประกอบการ จะถูกดำเนินคดีข้อหารับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิที่จะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวเป็นเวลา 3 ปี

กยศ. เคาะมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สู้ภัยโควิด จ่ายดีลดดอกเบี้ยให้

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุนสำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับอนุมัติให้กู้ยืมเงินและทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป 

ขณะเดียวกันยังเห็นชอบมาตรการเพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0.01% ต่อปีเป็นการเฉพาะกิจ สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่ได้เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้หรือเคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ (ปกติกองทุนคิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปีของเงินต้นคงเหลือ) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.– 31 ธ.ค. 2564 

พร้อมทั้ง ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิด จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2564 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2564 ทั้ง ลดเบี้ยปรับ 100% กรณีชำระหนี้ปิดบัญชี, ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ, ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและมิได้เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้หรือเคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ โดยชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว และลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด

นอกจากนี้ยังชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ผิดนัดชำระหนี้ประจำปี 2563 และปี 2564 ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความในปี 2564 และงดการขายทอดตลาด ทรัพย์สินของผู้กู้ยืมเงิน และผู้ค้ำประกัน ที่กองทุนได้ขอให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์ไว้จนถึงสิ้นปี 2564 โดยกองทุนจะต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้กู้ยืมเงิน และผู้ค้ำประกันที่ถูกยึดทรัพย์ รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม และผู้รับจำนองที่ยึดไว้ด้วย

“ปธ.หอการค้าไทย” โล่ง ”บิ๊กตู่ - อนุทิน” การันตี แผนจัดหาวัคซีน ลุ้น เปิดประเทศต้นปี 65 ยัน เอกชนพร้อมช่วยสนับสนุนภาครัฐ

เมื่อวันที่28 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ร่วมแถลงผลการหารือแนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและเอกชน ว่า ภาคเอกชน และประชาชนทุกคนคงสบายใจได้ เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้ความสบายใจว่า ภายในปี 2564 ประชาชนคนไทย ผู้ที่มาทำงาน หรือคนต่างชาติ ที่อาศัยในประเทศไทยหรือแรงงานที่มาอยู่ประเทศไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนแน่นอน 

ขณะนี้รัฐบาลสามารถจัดหาวัคซีนได้ 100ล้านโดส จะครอบคลุมประชากร ประมาณ 70เปอร์เซ็นต์ เมื่อเป็นลักษณะนี้เราสบายใจได้ว่าจะสามารถเปิดประเทศได้ในต้นปี 2565 ส่วนภาคเอกชน ตั้งใจให้การสนับสนุนการทำงานร่วมกับภาครัฐ และขอบคุณที่ภาครัฐให้ความไว้วางใจที่จะทำงานร่วมกัน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้จะทำให้ทุกอย่างและเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ หากเป็นไปในลักษณะนี้ แนวทางภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ โมเดล (เปิดประเทศโดยไม่กักตัว) ก็จะเกิดขึ้นได้ในวันที่1เดือนก.ค.นี้ ตามที่รัฐบาลตั้งธงไว้ก็ไม่น่าจะพลาด ทั้งนี้การร่วมมือทำงานครั้งนี้ถือเป็นการตั้งไทยแลนด์ทีมเกิดขึ้นแล้ว

ก.ก.ร.4 เสนอ 4 ประเด็นหลัก ช่วยรัฐเร่งแก้ปัญหา ทั้งการกระจายวัคซีน การสร้างความเชื่อมั่น การประชาสัมพันธ์ และการสนับสนุนอำนวยความสะดวก และการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม สศช. จับมือ สมช.ประสานช่วยตั้งแต่พรุ่งนี้

วันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2564  ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังที่ช่วงเข้า ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการหอการค้าไทย เพื่อหารือและนำเสนอแนวทางการทำงานของหอการค้าไทยในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ 

ภายหลังการประชุม นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เลขาธิการ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ  สศช. เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันหรือ ก.ก.ร. ซึ่งเป็นการหารือเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการบริหารจัดการด้านวัคซีนซึ่งจะเริ่มมีเข้ามาในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป โดยภาคเอกชนมีข้อเสนอที่จะเข้ามาช่วยภาครัฐในการกระจายวัคซีนและการจัดสถานที่ต่างๆที่จะทำให้เป้าหมายการฉีดวัคซีนในช่วงสิ้นปีนี้ คือในเดือนธันวาคม 2564 สามารถบรรลุเป้าหมาย 50 ล้านคนได้ ซึ่งวันเดียวกันนี้นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบข้อเสนอที่ทางภาคเอกชน ที่มาจากการทำงานร่วมกันได้เสนอ 4 เรื่อง ประกอบด้วยเรื่องของการกระจายวัคซีน การสร้างความเชื่อมั่น การประชาสัมพันธ์ และการสนับสนุนอำนวยความสะดวกต่างๆรวมทั้งเรื่องการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ซึ่งทางรัฐบาลได้รับข้อเสนอดังกล่าวและเร่งประสานงานทั้งหมดให้เกิดผลอย่างรวดเร็ว

นายดนุชา กล่าวว่า ในเรื่องของการกระจายวัคซีน ทางนายกรัฐมนตรีและที่ประชุมเห็นชอบให้แนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐภาคเอกชนในการใช้กลไกของฝั่งภาคเอกชนเข้ามาช่วยเสริมในการจัดจุดฉีดวัคซีน และการกระจายวัคซีนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมทั้งจังหวัดต่างๆ ซึ่งในต่างจังหวัดจะผ่านกลไกของ กรอ. จังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยร่วมมือกับทางกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยในการเร่งรัดดูแลเรื่องการจัดสถานที่รวมทั้งการดูแลเรื่องการกระจายวัคซีนเมื่อมีวัคซีนเข้ามาในพื้นที่ รวมทั้งเปลี่ยนในเรื่องของอุปกรณ์ บุคลากรที่จะเข้ามาช่วยเสริมในการบริหารจัดการตามจุดต่างๆที่มีการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ซึ่งภาคเอกชนรับที่จะเข้ามาช่วยภาครัฐในการประชาสัมพันธ์เรื่องของการจัดหาวัคซีนและเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนรวมทั้งการฉีดวัคซีนเพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้มีความชัดเจนในแง่การรับรู้ของวัคซีน รวมทั้งการสนับสนุนการอำนวยความสะดวกในระบบงานต่างๆซึ่ง ปัจจุบันระบบการลงทะเบียนเราใช้การลงทะเบียนของหมอพร้อม ซึ่งภาคเอกชนพร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุนในแง่ของตัวระบบต่างๆทั้งช่วงระหว่างการลงทะเบียนและการฉีดวัคซีนผ่านแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม 

เลขา สศช.กล่าวว่า ข้อสรุปทั้งหมดนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นแม่งานในการประสานงานต่างๆกับภาคเอกชนโดยมีทาง สศช.และตน และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นผู้ดำเนินการประสานกับพระเอกชนในรายละเอียดต่างๆ โดยตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (29 เม.ย.) จะประสานงานในรายละเอียดด้านต่างๆเพื่อดูในแผนการกระจายวัคซีน การกำหนดจุดต่างๆเพื่อให้เกิดความชัดเจนเมื่อวัคซีนเข้ามาจะได้ทำการฉีดวัคซีนและกระจายวัคซีนไปสู่ประชาชนได้ตามเป้าหมาย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top