Monday, 12 May 2025
POLITICS NEWS

นายกฯ ประชุมสภากลาโหม สั่งเข้มตามชายแดนสกัดโควิด-19 กระจายวัคซีนกำลังพลด่านหน้าทั่วถึงแล้ว ให้หน่วยขึ้นตรงเร่งสร้างความเชื่อมั่นฉีดวัคซีน

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมสภากลาโหมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ไปยังหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม 

โดยภายหลังการประชุมพ.อ.วีรยุทธ์ น้อมศิริ ผู้ช่วยโฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์มอบนโยบายหัวหน้าหน่วยขึ้นตรงทุกเหล่าทัพสนับสนุนกำลังพลสายแพทย์ช่วยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ที่ตั้งขึ้นมาภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ด้านความมั่นคง และศูนย์ปฎิบัติการบริหารสถานที่กักกันโรคแห่งรัฐของกระทรวงกลาโหม และศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล รวมถึงสนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ตกค้างและติดตามข่าวสารที่มีการบิดเบือน ทั้งนี้ขอให้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ปฎิบัติงานอย่างระมัดระวัง เป็นไปตามมาตรการสาธารณสุขกำหนด เพื่อคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็ว และให้ทุกหน่วยสร้างการรับรู้ในการสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในเรื่องการฉีดวัคซีน รวมถึงกำลังพล และครอบครัวด้วย ขณะที่ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนให้กำลังพล ตอนนี้กระจายไปยังทั่วถึงแล้ว

พ.อ.วีรยุทธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการป้องกันลักลอบหนีเข้าเมือง และการลักลอบขนสินค้าตามแนวชายแดน ให้หน่วยขึ้นตรงกลาโหม เฝ้าระวังตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด โดยให้กองกำลังป้องกันแนวชายแดนประสาน การปฎิบัติกับหน่วยที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการสกัดกั้นการทำผิดกฎหมาย หากตรวจพบว่ามีข้าราชการมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องจะลงโทษทางวินัยและอาญาโดยไม่มีการละเว้น ส่วนการรับทหารเกณฑ์ผลัดที่ 1 ปี 2564 และการฝึกทหารใหม่ให้หน่วยขึ้นตรงกลาโหม และเหล่าทัพเตรียมการสำหรับการรับทหารใหม่ ให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย คำนึงถึงมาตรการสาธารณสุข และปฎิบัติตามระเบียบ ตามหลักสูตรทหารใหม่อย่างเคร่งครัด ระมัดระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการฝึก ส่วนการลงโทษทหารที่ทำผิดวินัยให้เป็นไปตามระเบียบทหารเท่านั้น

‘หมอวรงค์’ ได้ที ขี่กระแส ‘ดราม่าพิมรี่พาย’ ขย่มซ้ำ ‘พี่โทนี่’ ชี้หมดเวลานายทักษิณแล้วจริง ๆ เชื่อหลังจากนี้คงหายจากหน้าจออีกนาน หลังโดนเด็กสวนกลับหน้าหงาย

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี เขียนข้อความทางเฟซบุ๊ก ‘Warong Dechgitvigrom’ แสดงความเห็นกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีพูดในคลับเฮาส์ ช่วงหนึ่งระบุว่า แนะนำให้รัฐบาลเร่งทำโรงพยาบาลสนาม โดยหากไม่รู้ว่าจะทำให้ดี ถูก คุ้มค่าอย่างไร ก็ให้ดูจากที่พิมรี่พาย ลงไปทำ ต่อมาถูกพิมรี่พาย วิจารณ์กลับ เรียกร้องนายทักษิณ อย่าพูดถึงตนอีก เพราะถูกอำนาจมืดเล่นงาน ถูกไม่ได้รับความร่วมมือแล้วหลายครั้ง เวลาที่นายทักษิณกล่าวถึง นพ.วรงค์ ระบุว่า

#หมดเวลาของนายทักษิณจริงๆ

การที่นายทักษิณออกมาแขวะรัฐบาล โดยอาศัยชื่อเสียงขอพิมรี่พาย ยูทูปเบอร์ชื่อดัง แต่ท้ายที่สุด ก็โดนสวนกลับอย่างแรง อย่างตรงไปตรงมา ชนิดที่ต้องหายจากหน้าจอไปอีกนาน

นายทักษิณต้องรู้ตัวได้แล้วว่า ช่วงโควิดนี้ สังคมไทยเปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะดารา เซเล็ป เขากล้า เขาไม่กลัว ใช้ข้อมูล ใช้ความจริง บนเหตุและผล คนที่รวยจากการผูกขาดสัมปทานรัฐ คงไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงนี้

ผมดูแล้ว ไม่รู้ว่า นายทักษิณจะรู้ตัวไหมว่า หมดเวลาของนายทักษิณแล้วครับ "แม้ช่วงหนึ่งจะเป็นดวงอาทิตย์ แต่อาทิตย์ดวงนี้ ก็กำลังจะลับขอบฟ้าแล้ว"

 

ที่มา : https://www.facebook.com/therealwarong


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

กอ.รมน. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐรณรงค์ให้ประชาชนเข้าร่วมการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อประเทศตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี

พล.ต. ธนาธิป  สว่างแสง โฆษก กอ.รมน. เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ประเทศไทยในขณะนี้ และโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจำนวนมาก และพบผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้น วัคซีนจึงถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยลดและหยุดยั้งการแพร่กระจายเชื้อที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้

กอ.รมน. โดย พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ในฐานะ รอง ผอ.รมน. ได้มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ศรมน.) จัดประชุมติดตามสถานการณ์การให้บริการวัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้ามาร่วมในการฉีดวัคซีนมากที่สุด โดยใช้ช่องทาง กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด บูรณาการร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขร่วมรณรงค์แนวทางการให้บริการวัคซีนโควิด-19 แบบปูพรมทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ระบาด รวมทั้งประชาสัมพันธ์เตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการให้บริการวัคซีน อีกทั้งการเตรียมความพร้อมจุดให้บริการวัคซีนทั้งในและนอกโรงพยาบาลผ่านช่องทางการลงทะเบียนและการรับบริการฉีดวัคซีนตามนโยบายของ พล.อ. ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ต้องการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ทุกคนในประเทศได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 อย่างน้อยร้อยละ 70 ของประชากรในประเทศ และให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีนที่รัฐบาล ได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 64 เป็นต้นไป

สำหรับช่องทางการลงทะเบียนและการเข้ารับวัคซีน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 จองผ่าน "หมอพร้อม" (Line OA และ Application) กลุ่มที่ 2 เป็นวิธีเสริมจากระบบหมอพร้อม ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนมากที่สุด ในกรณีที่มีวัคซีนสนับสนุนเพียงพอ โดยให้ลงทะเบียนผ่านสถานพยาบาล หรือ อสม. หรือผ่านองค์กร หรือ การลงทะเบียน ณ จุดฉีด (On Site Registration) กลุ่มที่ 3 การจัดสรรวัคซีนกลุ่มเฉพาะ ได้แก่ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่มีความจำเป็นพิเศษ กลุ่มที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประจำวัน

สำหรับการจองผ่าน “หมอพร้อม” ขณะนี้ยังเปิดให้จองได้เฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่ม โรคเรื้อรัง คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดระหว่างการรักษา โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ส่วนประชาชนทั่วไปให้เริ่มจองได้ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. 64 การปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อต้องการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประเทศไทยโดยเร็วที่สุด ซึ่งมีความจำเป็นที่ประชาชนต้องให้ความสำคัญกับการเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อหยุดเชื้อ เพื่อชาติ โดยวัคซีนจะทำให้การแพร่กระจายเชื้อ อาการป่วยหนัก และการสูญเสียชีวิตลดลง

อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนยังคงปฏิบัติตามมาตรการที่ ศบค. และรัฐบาลกำหนดอย่างเคร่งครัด รวมทั้งมาตรการส่วนบุคคล (D-M-H-T-T-A) ได้แก่ การเว้นระยะห่าง, สวมหน้ากากอนามัย, ล้างมือบ่อย ๆ, ตรวจวัดอุณหภูมิ, สังเกตอาการ และ สแกนหมอชนะ เน้นย้ำการสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่มีการอยู่ร่วมกัน ลดกิจกรรมการชุมนุมสังสรรค์ ทุกประเภท และขอความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนให้ใช้มาตรการการทำงานที่บ้าน (Work from home) ต่อไป จนกว่าการแพร่ระบาดจะลดลง รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบถึงแนวทางการบริหารของทางรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ เพื่อรู้เท่าทันเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

คณะที่ปรึกษาสธ.ศบค. แนะ กทม.กรุงเทพฯ เร่ง ตีวงต่างด้าวผิดกม. จัดสถานที่อยู่-ขยายขึ้นทะเบียน หวั่น มีพฤติกรรมเสี่ยงทำคุมระบาดยาก ด้านกทม.ขอกำลังเสริม ทีมสอบสวนโรค-ฉีดวัคซีน

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) หรือศบค.แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า วันนี้คณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ประกอบด้วย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นพ.อุดม คชินทร นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ได้ประชุมหารือถึงการออกมาตรการเฉพาะในบางเรื่องในพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากสถานการณ์การติดเชื้อในกรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อ 1,001 ราย พบจากการเฝ้าระวังในโรงพยาบาล คนไทย 541 รายต่างด้าว 167 ราย จากการค้นหาเชิงรุก คนไทย 132 ราย ต่างด้าว 161 ราย 

โดยที่ประชุมโฟกัสจุดระบาด ที่ดอนเมือง แคมป์ก่อสร้างหลักสี่แฟลตดินแดง ตลาดห้วยขวางที่พักคนงานก่อสร้างคลองเตยตลาดพลอยบางรัก จะอยู่ในจุดเฝ้าระวังสูงสุด 36 คลัสเตอร์ กระจาย 25 เขต แบ่งเป็นกลุ่มระวังสูงสุด14 คือ ดินแดง ราชเทวี หลักสี่ ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย คลองเตย บางรัก สาทร พระนคร ประเวศ บางกอกน้อย ห้วยขวาง บางเขน บางคอแหลม เช่น ชุมชนแคมป์ก่อสร้าง ตลาดชุมชน สถานประกอบการที่เป็นคอลเซ็นเตอร์ เฝ้าระวังสูง วัฒนา สวนหลวง จตุจักร ราชเทวี ดอนเมือง บางกะปิ และพบใหม่ที่บางพลัดแคมป์ก่อสร้าง สำหรับเขตที่ดูแลดีและควบคุมการระบาดได้มี 8 เขต คือ ทวีวัฒนา ปทุมวัน ป้อมปราบศัตรูพ่าย สาทร สัมพันธวงศ์  ลาดพร้าว สวนหลวง

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จากรายงานของกรุงเทพฯ พบแคมป์ก่อสร้างทั้งหมด 409 แห่ง มีคนงานรวม 62,169 คน คนไทยกว่า 2 หมื่น เป็นคนต่างชาติกว่า 36,000 คน ซึ่งแคมป์คนงานก่อสร้างมีความสำคัญสูง ที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ และทางกรุงเทพฯ ไดเมอนิเตอร์ติดตามผ่านสำนักงานเขตทุกเขต ดังนั้นผู้อำนวยการเขตทั้งหลาย ฝ่ายปกคลอง ต้องทำงานอย่างเต็มที่ในการเฝ้าระวังร่วมกับคนในพื้นที่และท้องถิ่น เฝ้าระวังและช่วยกันดูแลคนในเขต เพราะจากการตรวจเชิงรุกพบติดเชื้อวันละ300-400 คนมี คนต้องการเตียงวันละไม่ต่ำกว่า 500 คน

โดยกรมควบคุมโรควิเคราะห์ปัจจัยระบาดในกรุงเทพฯ ที่ต้องเร่งแก้ไข คือ เรื่องสุขาภิบาลของตลาด ความแออัดของการใช้ห้องน้ำร่วมกันของแคมป์คนงานเป็นต้น ดังนั้นมาตรการที่จะต้องดำเนินการในการเฝ้าระวังในกลุ่มเฝ้าระวังสูงสุดและเฝ้าระวัง ในส่วนมาตรการของตลาด คือ ปรับการระบายอากาศให้เพียงพอ เหมาะสม จัดให้มีการควบคุมเข้าออกและมีมาตรการคัดกรอง หากใครมีอาการป่วย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า คณะที่ปรึกษาฯ จึงเสนอเรื่องของต่างด้าวโดยประมาณการว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีคนต่างด้าวที่ถูกกฎหมายประมาณ 1,318,641 คน ส่วนที่ไม่ถูกกฎหมายประมาณการทั้งประเทศเป็นหลักล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้มีพฤติกรรมที่อาจจะเป็นปัจจัยทำให้ยากต่อการควบคุมโรค คือ

1.) จะเป็นผู้ที่ไม่อยู่นิ่งและมีการหลบหนีเคลื่อนย้ายตัวเองบ่อยเพราะไม่ถูกกฎหมาย

2.) มีพฤติกรรมไปอยู่กับคนที่ถูกกฎหมายไปเกาะกลุ่มรวมกันทำงานและย้ายจุด

3.) และมีที่พักแออัด นอนพักอาศัย กินดื่ม รวมกัน ทางคณะที่ปรึกษาฯ จึงเสนอให้มีศูนย์คัดแยกผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานต่างด้าว โดยให้แยกออกมาโรงพยาบาลสนาม ยกตัวอย่างจังหวัดปทุมธานี ที่ใช้ตลาดเก่าไม่ได้ใช้ มาปูเสื่อน้ำมันให้อากาศถ่ายเท ให้คนต่างชาติมาอยู่รวมกันตรงนั้น โดยมีรั้วรอบขอบชิด ซึ่งกรุงเทพฯ จะต้องรีบทำเพราะวันนี้จำนวนที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาวันละกว่า 300 คนจะต้องแยกออกมาชุมชนให้ได้ และให้มีมาตรการนิรโทษกรรม รองรับขยายการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฏหมายเข้าสู่ระบบจ้างงานถูกต้อง

ทั้งนี้กรุงเทพฯ ขอความร่วมมือ โดยต้องการทีมสอบสวนโรคเพิ่มขึ้นตามข้อแนะนำของคณะที่ปรึกษา ประกอบด้วยพยาบาลนักวิชาการสาธารณสุข ทีมละ 4 คน ลงไปสอบสวนโรคเกือบทุกเขต และทีมฉีดวัคซีน มีแพทย์พยาบาลอาสาสมัคร ทำงานทั่วไป ให้ติดต่อที่ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ได้ที่เบอร์ 064 805 2620

"ประยุทธ์" หารือเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสฯ พร้อมร่วมมือเดินหน้ายกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายตีแยรี มาตู (H.E. Mr. Thierry Mathou) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องในโอกาสเข้ารับหน้าที่

นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยในนามของรัฐบาลอย่างเป็นทางการ พร้อมชื่นชมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับฝรั่งเศสอย่างยาวนานในทุกมิติ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีฝากความปรารถนาดีไปยังนายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส และภรรยา ซึ่งได้พบหารือร่วมกันหลายครั้ง ตลอดจนยืนยันพร้อมยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างรอบด้าน

ด้านเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสฯ กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ได้สละเวลาให้เข้าพบหารือในวันนี้ พร้อมชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่มีมาอย่างยาวนาน มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความสัมพันธ์มีพลวัตมากขึ้น ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสฯ เห็นพ้องกับการยกระดับความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนแนวทางการจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ร่วมกัน โดยไทยประสงค์ที่จะมีความร่วมมือกับฝรั่งเศสด้านวัคซีน เพื่อให้คนไทยได้รับวัคซีนเร็วขึ้น เป็นส่วนสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นทั้งสองได้หารือในประเด็นความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกันในหลายด้าน โดยในด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีขอบคุณรัฐบาลฝรั่งเศสที่ดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนไทยมาโดยตลอด โดยขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลไทยจะดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนฝรั่งเศสในไทยเป็นอย่างดีเช่นกัน และทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนช่วยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์โควิด-19 ในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะสานต่อความร่วมมือระหว่างกันเช่นที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนยินดีให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อการรับมือกับความท้าทายในปัจจุบัน 

สำหรับประเด็นความร่วมมือพหุภาคี ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเพิ่มพูนความร่วมมือโดยยึดถือตามหลักสากลของโลก โดยไทยพร้อมยกระดับทางการค้า ผ่านการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (Thailand-EU FTA) ที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ไทยยินดีที่ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับไทยและยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก และพร้อมผลักดันให้ฝรั่งเศสมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในอาเซียน

“บิ๊กตู่” ให้สัมภาษณ์สื่อญี่ปุ่น มั่นใจมาตรการแก้ไขปัญหาโควิด-19 และแผนกระจายวัคซีน “ยัน” เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ขยายตัวตามเป้ารองรับการลงทุนจากต่างชาติ “โว” มีสัญญาณบวกในบางสาขา ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ และการอุปโภคบริโภค

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิคเค ระหว่างการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 26 ถึงประเด็นการบริหารสถานการณ์ภายในประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ว่า ขณะนี้ไทยยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี ไม่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ด้วยระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง บุคลากรทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ การดูแลประชาชนได้ทั่วถึง รวมทั้งการมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ด้วย ซึ่งรัฐบาลได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค และได้ดำเนินการทั้งเชิงป้องกันและการรักษาผู้ติดเชื้อ รวมทั้งดำเนินการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชากร อย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในสิ้นปีนี้ โดยจะฉีดวัคซีนให้คนต่างชาติในไทยด้วย และเมื่อเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มใหญ่ในเดือนมิถุนายนได้ตามแผน เชื่อว่าสถานการณ์จะยิ่งดีขึ้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ยังคงมีสัญญานบวกในบางสาขา อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ การอุปโภคบริโภค ภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัว การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัว ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก และ SMEs ได้แก่

1.) มาตรการเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และคงการไหลเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ

2.) มาตรการทางการเงินและทางภาษี  

3.) มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงาน ซึ่งจากมาตรการเศรษฐกิจและแผนการด้านวัคซีนของรัฐบาลตามเป้าหมาย เชื่อว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยคาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ที่ร้อยละ 2.3-2.5 ส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 การท่องเที่ยวฟื้นตัว เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.7 ในปีหน้าทั้งนี้ ไทยยินดีที่รัฐบาลและและเอกชนญี่ปุ่นเชื่อมั่นในศักยภาพเศรษฐกิจของไทย ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 เป็นโอกาสให้ไทยและญี่ปุ่นร่วมมือเพื่อเสริมสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน ไทยคำนึงถึงข้อแนะนำของเอกชนญี่ปุ่นและพร้อมร่วมมือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ได้แก่ การสร้างเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม การเสริมสร้างอุตสาหกรรมที่ทันสมัย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งสามารถร่วมมือกันในลักษณะ win-win

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้านแผนและมาตรการเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งไทยได้เปรียบเรื่องที่ตั้งที่เป็น “Connecting point” ของภูมิภาค จึงมีศักยภาพสำหรับการขับเคลื่อนการลงทุน โดยได้ผลักดันเขตพัฒนเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนและของภูมิภาค โดยมุ่งเน้นสาขาที่ไทยมีศักยภาพ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการจัดการปัญหาโลกร้อนว่า  รัฐบาลไทยพร้อมดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อรับมือกับปัญหาโลกร้อน ทั้งการลดก๊าซเรือนกระจก โดยตั้งค่าเป้าหมายขั้นต่ำในการลดก๊าซเรือนกระจกไว้ที่ร้อยละ 20 และขั้นสูงไว้ที่ร้อยละ 25 จากกรณีปกติภายในปี ค.ศ.2030 โดยไทยยึดมั่นที่จะร่วมมือกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหานี้ตามพันธกรณีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความตกลงปารีส รวมทั้งได้บูรณาการประเด็นดังกล่าวในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดรับกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

“ประยุทธ์” ร่วมกล่าวปาฐกถา Nikkei Forum ย้ำจุดยืนไทยภายหลังฟื้นฟูโควิด-19 พร้อมผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่างเข้มแข็ง ครอบคลุม ยืดหยุ่น และยั่งยืน

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปาฐกถาเนื่องในการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 26 ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์นิคเค ในหัวข้อหลัก “การสร้างรูปแบบของอนาคตยุคหลังโควิด-19 : บทบาทของภูมิภาคเอเชียต่อการฟื้นตัวของโลก” (Shaping the Post-COVID era : Asia’s Role in the Global Recovery) ผ่านระบบการประชุมทางไกล

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอแบ่งปันมุมมองของไทยเพื่อความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-ญี่ปุ่นให้แนบแน่นยิ่งขึ้น โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นสัญญาณเตือนให้ต้องเร่งปรับตัวและแก้ไขจุดอ่อน เพื่อกลับมาลุกขึ้นยืนและเข้มแข็งกว่าเดิมให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งต้องร่วมกันค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ความร่วมมือพหุภาคีจะเป็นกุญแจที่จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสและเสริมสร้างขีดความสามารถของภูมิภาคในการฟื้นฟูตัวเองให้กลับมาเข้มแข็งและดีกว่าเดิม และเชื่อมั่นว่า เอเชียจะสามารถมีบทบาทนำในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกให้มีการเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น และยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูแบบองค์รวมได้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ญี่ปุ่นมีบทบาททางธุรกิจในไทยมายาวนาน ซึ่งไทยก็มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคและของโลก เป็นฐานการผลิตและศูนย์กลางกระจายสินค้าให้แก่ บริษัทญี่ปุ่นที่มีการลงทุนในไทยกว่า 5,800 แห่ง และยังเป็นฐานสำหรับการขยายการลงทุนของญี่ปุ่นไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย ซึ่งการลงทุนสะสมของญี่ปุ่น (FDI) ในไทยจนถึงปี 2563 มีมูลค่าสูงกว่า 93,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขอยืนยันว่าไทยมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการลงทุนจากทุกประเทศให้ดียิ่งขึ้นตามนโยบาย Thailand+1 ต่อไป โดยจะดำเนินการตามข้อเสนอแนะของบริษัทญี่ปุ่นในไทยให้ครอบคลุมประเด็น ดังนี้ คือ

1.) รักษาความต่อเนื่องของนโยบายด้านเศรษฐกิจและการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึงโครงการใน EEC เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนร่วมกัน

2.) พัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการระบบราง โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการการพัฒนา smart city รอบสถานีกลางบางซื่อ เป็นต้น  

3.) พัฒนาแรงงานทักษะ โดยเฉพาะวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมสำคัญ ดังเช่นที่รัฐบาลญี่ปุ่นและไทยร่วมมือกันจัดตั้งสถาบันการเรียนการสอนแบบโคเซ็นในไทย มุ่งหวังให้เป็นศูนย์การอบรมทรัพยากรมนุษย์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงต่อไป

4.) ปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพิธีการศุลกากรและภาษีนิติบุคคล ซึ่งไทยมีแผนเพิ่มการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการต่างชาติ และ

5.) เสริมสร้างโอกาสการค้าที่เสรี เป็นธรรมและเปิดกว้าง รวมถึงการพิจารณาเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP 

นายกรัฐมนตรี กล่าวเน้นย้ำว่า ความร่วมมือพหุภาคีมีความสำคัญในการผลักดันให้เกิดการฟื้นตัวอย่างรอบด้าน ผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่าง อาเซียน เอเปค RCEP และ CPTPP ล้วนเป็นกลไกสำคัญต่อกระบวนการฟื้นฟู โดยเมื่อปีที่แล้ว อาเซียนได้จัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 เพื่อจัดซื้อและกระจายเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ พัฒนาวัคซีนและยารักษา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประเทศอาเซียนบวกสาม และไทยพร้อมจะร่วมมือกับญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด ในการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจากวิกฤตด้านสาธารณสุขที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตทั้งจากภายในและนอกภูมิภาคอาเซียน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนให้เสรีและเปิดกว้าง ไทยจะเป็นเจ้าภาพกรอบความร่วมมือเอเปค ในปี ค.ศ.2022 จะริเริ่มการพูดคุยถึงเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก หรือเอฟแทป ซึ่งหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืน และครอบคลุมในระยะยาว และเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมากขึ้นให้เพิ่มเติมจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ที่มีอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ไทยจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ e-commerce และการค้าดิจิทัล เช่น การสนับสนุนธุรกิจ start-ups ตอบสนองต่อยุคสมัยแบบ new normal เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ทุกคนมีความพร้อมและมีทักษะที่จำเป็นต่อการเติบโตในสภาพแวดล้อมแบบดิจิทัล

ด้านการฟื้นฟูความเชื่อมโยงของโลก ได้แก่ การเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม การยอมรับเอกสารการฉีดวีคซีนระหว่างกัน การพัฒนาบัตรสุขภาพแบบดิจิทัลที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับระบบของประเทศต่าง ๆ ได้ ตลอดจนการเปิดพรมแดนและอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการที่จำเป็น ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการฟื้นฟูความเชื่อมโยงในทุกมิติ โดยเฉพาะการเดินทางและท่องเที่ยว ทั้งนี้ไทยขอเรียกร้องให้วัคซีนโควิด-19 จัดเป็นสินค้าสาธารณะของโลกและผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม ซึ่งไทยมีข้อริเริ่มการกระตุ้นการเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยอย่างปลอดภัย จึงหวังว่าจะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นผ่านข้อริเริ่มนี้ และด้านความยั่งยืนเพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาภูมิภาคและโลกให้ดีขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยผลักดันวาระเรื่องการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยส่งเสริมแนวปฏิบัติและการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ รวมทั้งเห็นชอบให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูจากโควิด-19 ให้มีความเข้มแข็ง ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเติบสีเขียวของญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยเร่งการบรรลุ SDGs ให้สำเร็จโดยเร็ว

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความสำคัญของภูมิภาคเอเชียว่า สามารถสร้างโลกในยุคหลังโควิด-19 ที่เข้มแข็ง ครอบคลุม ยืดหยุ่น และยั่งยืนมากขึ้น ขอส่งกำลังใจให้ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคและพาราลิมปิคในปีนี้ ซึ่งทัพนักกีฬาไทยพร้อมเข้าร่วม รวมทั้งขอส่งความปรารถนาดีและความนับถือไปยังนายกรัฐมนตรีซูกะ รัฐบาลญี่ปุ่น และประชาชนชาวญี่ปุ่นทุกคน ขอให้มั่นใจว่า ไทยสนับสนุนญี่ปุ่นเสมอในฐานะเพื่อนและเราจะชนะวิกฤตโรคระบาดนี้ พร้อมกับสร้างโลกที่ดีกว่าเดิมให้แก่ชนรุ่นหลังไปด้วยกัน

‘ประวิตร’ เร่ง ช่วยแรงงานกระทบโควิด-19 เผย เตรียม 45 จุด 45 จุดฉีดวัคซีนผู้ประกันตนในกทม.-9จ.ปริมณฑล ให้ผู้ประกันตน ม.33 แนะ แรงงาน ชะลอไปทำงานพื้นที่เสี่ยง รอสถานการณ์ปลอดภัยก่อน

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายต่อแรงงานจังหวัดและสำนักงานในแรงงานต่างประเทศ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มีนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เข้าร่วม

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า นโยบาย เพื่อขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในส่วนของแรงงานให้เน้นย้ำในเรื่องการบริหารวัคซีน ร่วมกับคณะกรรมการกระจายวัคซีน สำหรับผู้ประกันตนอย่างทั่วถึง และตรวจคัดกรองเชิงรุกให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงสูงมากที่สุด ส่วนการช่วยเหลือเยียวยายังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ ม.33 เรารักกัน รวมถึงลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตน และให้การกำกับดูแลการทำงานของแรงงานต่างด้าวให้ยึดถือตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และเยียวยาผู้ที่ว่างงาน ส่วนที่ระบุว่าแรงงานว่างงานเป็นล้านคนนั้นไม่จริงเพราะมีคนที่กลับเข้ามาทำงานเยอะแยะและที่ว่างงานเป็นส่วนน้อย

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า นอกจากนั้นให้ช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในฉนวนกาซา ประเทศอิสราเอลอย่างเร่งด่วน โดยกระทรวงแรงงานจะดำเนินการประสานกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อนำร่างผู้เสียชีวิตกลับมาประเทศไทยให้เร็วที่สุดและจะช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างเต็มความสามารถnโดยมีระเบียบของการช่วยเหลืออยู่แล้ว ทั้งนี้แรงงานที่จะเดินทางไปต่างประเทศขอให้ชะลอก่อน และพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยงยังไม่ให้ไป หากไม่เสี่ยงสามารถไปได้ ส่วนคนไทยที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงขณะนี้ให้อพยพออกมาก่อนเมื่อปลอดภัยแล้วจะกลับไปอีกค่อยว่ากัน

นอกจากนั้นให้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายลักลอบเข้าประเทศตามแนวชายแดน โดยร่วมกับฝ่ายความมั่นคง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ต้องขอบคุณผู้บริหารและข้าราชการทุกระดับของกระทรวงแรงงาน ที่ได้ช่วยกันทำงานเพื่อช่วยเหลือแรงงานและประชาชนด้วยความทุ่มเท เสียสละ จนเกิดความคืบหน้าบรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลด้วยดี และขอให้ทุกคนปลอดภัยจากโควิด-19 ทุกคน

ผู้สื่อข่าวถามถึงการฉีดวัคซีนให้ผู้ประกันตนมีอุปสรรคอะไรหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มี เราเตรียมการไว้ทั้งหมดแล้ว โดยเตรียมจุดฉีดไว้ 45 จุดในกทม.และปริมณฑล 9 จังหวัด เมื่อถามถึงการส่วนการลงทะเบียนฉีดวัคซีนแบบวอล์คอิน พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เป็นเรื่องของนายกฯ ตนไม่ตอบ 

เมื่อถามย้ำว่า ควรให้ลงทะเบียนหน้างาน แบบออนไซด์ สำหรับประชาชนทั่วไป ตามที่นายกฯ เปลี่ยน หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องของศบค.ว่าอย่างไรก็ว่าตามนั้นจะพิจารณาให้เป็นแบบใด 

ปริญญ์ สานต่อ นโยบายจุรินทร์ เดินหน้า “แจกข้าวกล่อง 40,000 กล่อง-อาสา ปชป.ช่วยหมอพร้อม-ขยายผลช่วยหางาน” เร่งบรรเทาปัญหาปากท้องชาวบ้าน

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกับนายปพนชัย สุวรรณทศ และทีมงานปชป. บึงกุ่ม ลงพื้นที่ชุมชนสุวรรณประสิทธิ์ 2-3 เขตบึงกุ่ม เดินหน้าโครงการ ”ข้าวกล่องเดลิเวอรี่ 40,000 กล่อง ส่งตรงถึงบ้าน” และ “อาสา ปชป. ช่วยหมอพร้อม” พร้อมแนะนำการสร้างงาน สร้างอาชีพในโลกยุคใหม่ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยพิบัติด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ตามเจตนารมณ์ของท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธานมูลนิธิเสนีย์ ปราโมช

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ทำให้ประชาชนจำนวนมากจำเป็นต้องกักตัวอยู่บ้าน ขาดรายได้ และไม่สามารถออกมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้ออาหารได้ด้วยตนเอง เป็นปัญหาปากท้องครั้งสำคัญที่ต้องเร่งให้การช่วยเหลือ ทีมปชป.จึงอาสาลงพื้นที่กทม.เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเดินหน้าแจกข้าวกล่องถึงบ้านประชาชน ช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรค ในการลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด พร้อมทั้งรณรงค์ให้พี่น้องชาวกรุงเทพมหานครฉีดวัคซีน สานต่อโครงการข้าวกล่องเดลิเวอรี่ 40,000 กล่องและโครงการอาสา ปชป. ช่วยหมอพร้อม ทั้งนี้ยังมีผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเสี่ยงหลายคนที่ยังเข้าไม่ถึงการลงทะเบียน “หมอพร้อม” ทางพรรคประชาธิปัตย์จึงทํางานเชิงรุก นําทีมอาสาสมัคร ลงพื้นที่ช่วยเหลือ เพราะการได้ฉีดวัคซีนจะช่วยบรรเทาอาการป่วยถ้าติดเชื้อโควิด-19 

“การนําข้าวกล่องและถุงยังชีพมาแจกเป็นการช่วยเหลือที่ทำในระยะสั้น แต่การสร้างงาน สร้างอาชีพ เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ประชาชนยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้ในระยะยาว ครั้งนี้เราจึงไม่ได้มาเพื่อแจกอาหารเพียงอย่างเดียว แต่มาแจกงาน ช่วยคนตกงาน แนะนำการเข้าถึงงานในโลกยุคใหม่ด้วย เพื่อให้ทุกคนยืนด้วยลำแข้งของตนเองได้ ผ่านโครงการ “เรียนจบ พบงาน” ที่จะช่วยยกระดับแรงงานฝีมือให้กับคนในชุมชนและช่วยฝึกผู้ประกอบการยุคใหม่ให้พร้อมสู้กับยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นโครงการที่ทีมเศรษฐกิจทันสมัยปชป. ได้ดำเนินการมานานกว่าหนึ่งปีแล้ว สามารถช่วยคนให้มีงานทำได้มากมาย ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อได้ทางเฟซบุ๊กเพจ เรียนจบพบงาน หรือแอดไลน์ไอดี prinnpa

เกษตรกร เฮ! จุรินทร์ ชง ครม.อนุมัติ ! จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายหัวนาแล้ว 

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา เพื่อช่วยเกษตรกรชาวนานั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมแก้ไขนำเรื่อง ขออนุมัติในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอังคาร 18 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา 

" ล่าสุด ครม.อนุมัติจ่ายเงินค่าทดแทนกรณีที่ดินมีเอกสารสิทธิ จำนวน 82 แปลง เนื้อที่ 422 กว่าไร่ ในอัตราไร่ละ 125,000 บาท เป็นเงิน 52,785,937 บาท และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิจำนวน 22 แปลง เนื้อที่ 206-2-02 ไร่ ในอัตราไร่ละ 45,000 บาทเป็นเงิน 9,292,725 บาท ให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ " นางมัลลิกา กล่าว 

นางมัลลิกา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นโครงการที่ผ่านการตรวจสอบและเห็นชอบโดยคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนาจังหวัดศรีสะเกษ เฉพาะกลุ่มโนนสัง กลุ่มราษีไศล และกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านรวมทั้งสิ้น 104 แปลง เนื้อที่ 628 กว่าไร่ เป็นเงิน 62,078,662 บาท 

"เป็นเรื่องที่พิจารณากันมายาวนานจนสำเร็จในยุคปัจจุบันนี้ ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีมอบรองนายกรัฐมนตรี จุรินทร์เป็นผู้รับผิดชอบ และล่าสุดเกษตรกรชาวนาดีใจมากเพราะรัฐบาลนี้จริงใจใส่ใจแก้ไขปัญหาแม้จะเป็นเรื่องยืดเยื้อมาหลายยุค แล้วเมื่อวาน นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ แจ้งว่าเกษตรกรติดป้ายขอบคุณนายกฯ รองนายกฯ จุรินทร์ และรัฐมนตรีเฉลิมชัย กันว่อนเลยที่จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งก็ดีใจกับเกษตรกรด้วยเพราะเขาก็สู้อดทนกันมานาน " นางมัลลิกา กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top