Sunday, 4 May 2025
TODAY SPECIAL

ประชาชนคนไทยรู้จัก ‘พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท’ กันเป็นอย่างดี ซึ่งในวันนี้เมื่อ 145 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ขึ้นอย่างเป็นทางการ

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นท้องพระโรง การณ์นี้ได้มีการว่าจ้าง นายยอน คลูนิช ชาวอังกฤษ เป็นนายช่างหลวงออกแบบพระที่นั่งฯ 

ทั้งนี้เป็นการออกแบบที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทย กับสถาปัตยกรรมยุโรป โดยตัวอาคารพระที่นั่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมยุโรป แต่หลังคาพระที่นั่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย จนเป็นที่มาของชื่อ ‘ฝรั่งสวมชฎา’ 

นอกจากนี้ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ยังเป็นสถานที่แห่งแรกในประเทศไทย ที่มีการใช้ไฟฟ้าเป็นครั้งแรกอีกด้วย ด้วยที่มาจากการที่ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ณ ขณะนั้น ได้มีโอกาสทอดพระเนตรเห็นแสงไฟฟ้าจากประเทศทางตะวันตก จึงมีพระราชประสงค์ให้นำมาใช้ในประเทศไทย จนเป็นที่มาของการติดตั้งไฟฟ้าในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในเวลาต่อมา

แต่เดิมหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มีพระที่นั่งต่าง ๆ เรียงต่อเนื่องกันรวม 11 องค์ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 3 องค์ คือ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ 

เวลาผ่านมาแล้วกว่า 145 ปี ปัจจุบันพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ยังคงตั้งตระหง่านอย่างงดาม และกลายเป็นหนึ่งในจุดดึงดูดสำคัญของพระบรมมหาราชวัง ที่นักท่องเที่ยวต่างเดินทางเข้ามาชื่นชมความงามของโบราณสถานสำคัญของชาติแห่งนี้อยู่เสมอ


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
 

สำหรับคอการเมืองแล้ว ชื่อ ‘พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ’ ถือเป็นอีกหนึ่งชื่อที่มีบทบาทสำคัญในแวดวงการเมืองไทย และวันนี้เมื่อกว่า 23 ปีก่อน ถูกบันทึกไว้ว่า เป็นวันถึงแก่อสัญกรรม ของอดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2463 โดยเข้ารับราชการครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2483 ในตำแหน่งผู้บังคับหมวด กองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ กระทั่งต่อมา ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งทูตทางการทหารในหลายประเทศ อาทิ อาร์เจนตินา, ออสเตรีย, ตุรกี และเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2515 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่เส้นทางการเมืองเป็นครั้งแรก ในเวลาต่อมา ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. อยู่หลายสมัย รวมทั้งขึ้นดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกหลายครั้งด้วยกัน

กระทั่งในปี พ.ศ.2517 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ร่วมกับพลตรีประมาณ อดิเรกสาร และพลตรีศิริ สิริโยธิน ก่อตั้งพรรคชาติไทย จนในปี พ.ศ.2529 ก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 2 และสามารถนำพรรคชาติไทย ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งในปี พ.ศ.2531 ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2531

ตลอดระยะเวลาในการบริหารประเทศ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในฐานะนายกรัฐมนตรี มีความโดดเด่นในเรื่องนโยบายการต่างประเทศ ซึ่งมีประโยคทองที่ผู้คนในยุคนั้นต่างคุ้นหู นั่นคือ ‘เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า’ นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นด้านนโยบายเศรษฐกิจ กระทั่งมีการคาดหมายประเทศไทยในเวลานั้น จะกลายเป็น ‘เสือตัวที่ 5 ‘ ของเอเชีย ต่อจากประเทศเกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน

คณะรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ บริหารประเทศเป็นเวลากว่า 2 ปีครึ่ง จนเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 จึงถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. เข้ายึดอำนาจ ก่อนจะนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรง ‘พฤษภาทมิฬ’ ในปี พ.ศ.2535

ในช่วงปลายเส้นทางการเมือง พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ยังมีส่วนร่วมในการก่อตั้งพรรคชาติพัฒนา ก่อนที่ต่อมา จะค่อย ๆ วางมือจากการเมือง กระทั่งเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2541 เจ้าตัวได้เดินทางไปรับการผ่าตัดมะเร็งตับ ณ โรงพยาบาลครอมเวลล์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และรักษาตัวอยู่ประมาณ 1 เดือน ก่อนจะถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2541 ด้วยวัย 78 ปี

ถึงวันนี้ หลายคนก็ยังจดจำชื่อเสียง และความสามารถของอดีตนายกฯ คนนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับคำพูดติดปากที่กลายเป็นอีกหนึ่งภาพจำของอดีตผู้นำคนนี้ นั่นคือ ‘No Problem’


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/ชาติชาย_ชุณหะวัณ

วันนี้เป็นวันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงมีพระชันษา 37 ปี

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ประสูติเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2527 เป็นพระธิดาพระองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี กับนาวาเอกวีระยุทธ ดิษยะศริน 

เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตลดา ในเวลาต่อมา ทรงเข้าศึกษาที่สถาบันศิลปะวอชิงตัน (The Art Institute of Washington) ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นทรงศึกษาต่อด้านแฟชั่นดีไซน์ในสถาบันศิลปะแคลิฟอร์เนีย (The Art Institute of California) ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาทรงโอนหน่วยกิตจากสถาบันเดิม เพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และทรงสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา พ.ศ.2553

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านกราฟิกดีไซน์และแอนิเมชั่น และทรงนำมาประกอบใช้ในพระกรณียกิจมากมาย อาทิ ในปี พ.ศ.2555 ทรงออกแบบเสื้อฝีพระหัตถ์ ‘ทุ่งภูเขาทอง’ เพื่อสมทบทุนบูรณะอุโบสถวัดภูเขาทอง และในปี พ.ศ.2556 ทรงร่วมกับ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินชื่อดังของประเทศ ออกแบบลายสำหรับเสื้อและถุงผ้า ‘ช้างนพสุบรรณ’ เพื่อนำทุนไปบูรณะวัดวัง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เสียหายจากอุทกภัยเมื่อปี พ.ศ.2554

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงประกอบพระกรณียกิจด้านศิลปะ และพระพุทธศาสนา ตลอดจนทรงมีโครงการเกษตรตัวอย่างในพระดำริที่จังหวัดสุรินทร์ โดยทรงน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิต มาปรับใช้ในโครงการเกษตรส่วนพระองค์

เนื่องด้วยวันนี้เป็นวันคล้ายวันประสูติ ประชาชนชาวไทยจึงขอน้อมถวายพระพร ขอทรงมีพลานามัยแข็งแรงยิ่งยืนนาน ทรงพระเจริญ


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระเจ้าวรวงศ์เธอ_พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

วันนี้ถือเป็นวันสำคัญของชาติ โดยถูกกำหนดให้เป็น ‘วันฉัตรมงคล’ โดยเป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

โดยภายหลังจากเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ต่อจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 และดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว’ 

รัฐบาลไทยและพสกนิกร จึงได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม จัดงานพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร หรือพระราชพิธีฉัตรมงคล ซึ่งกระทำในวันบรมราชาภิเษก ถวายเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

โดยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พสกนิกรชาวไทยจึงได้ถือเอาวันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคล เพื่อน้อมรำลึกถึงวันสำคัญนี้

กล่าวถึงพระราชพิธีฉัตรมงคล ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2393 โดยได้มีการเฉลิมฉลองด้วยการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพุทธมนต์ และมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

กาลเวลาผ่านมา จวบจนรัชกาลปัจจุบัน ยังคงราชประเพณีดั้งเดิมเอาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง โดยกิจกรรมในวันฉัตรมงคลนี้ พสกนิกรจะประดับธงชาติไว้ตามอาคารบ้านเรือน และสถานที่ราชการ รวมทั้งร่วมกันทำบุญตักบาตร ถวายเป็นพระราชกุศล พร้อมกันนี้ ยังน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัย ให้ทรงพระเกษมสำราญ ทรงเจริญพระชนพรรษายิ่งยืนนาน เป็นมหามิ่งขวัญแก่พสกนิกรสืบไป


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/วันฉัตรมงคล, http://chaisri-nites.hi-supervisory5.net/theskal/chatr-mngkh
 

เพราะการรายงานข่าว ตลอดจนการทำหน้าที่สื่อสารมวลชน ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมีเสรีภาพ จึงเป็นที่มาของวันสำคัญในวันนี้ ที่ถูกยกให้เป็น ‘วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก’

ย้อนเวลากลับไปราว 30 ปีก่อน เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ.1991 (หรือ พ.ศ.2534) องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

สาเหตุของการมีวันสำคัญนี้ เกิดจากการที่มีนักข่าวภาคสนามมากมาย ต้องเสียชีวิต หรือถูกจับเป็นตัวประกัน และรวมไปถึงถูกคุกคาม จากการทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริง จึงเป็นที่มาของการสร้างสัญลักษณ์ของความมีเสรีภาพในการทำงานของสื่อมวลชน โดยจัดตั้งให้ทุก ๆ วันที่ 3 พฤษภาคม เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

ทั้งนี้เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของสื่อมวลชนทั่วโลก นั่นคือ การมีเสรีภาพในการคิดและการแสดงออก เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เสนอข้อเท็จจริงโดยเสรี และปลอดภัย ส่วนในมุมของสื่อมวลชนเอง ก็ต้องยืนหยัดอยู่บนความถูกต้อง มีจริยธรรม สร้างสรรค์งานเพื่อจรรโลงผู้คนและสังคมด้วยเช่นกัน


ที่มา: https://en.unesco.org/commemorations/worldpressfreedomday

‘ปรีดี พนมยงค์’ เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ต้องถูกบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เนื่องจากเป็นหนึ่งในคณะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รวมถึงยังเคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย และในวันนี้ ถือเป็นวาระครบรอบ 38 ปี ของการถึงแก่อสัญกรรมของบุคคลท่านนี้

นายปรีดี พนมยงค์ เป็นชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบ ก่อนจะเข้าเรียนที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม จากนั้นจึงสอบชิงทุนไปเรียนต่อด้านกฎหมายจนสำเร็จในระดับปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส

กระทั่งกลับถึงเมืองไทย ก็เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษา และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ในเวลานั้น นายปรีดียังเป็นหนึ่งในคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบบประชาธิปไตย โดยต่อมายังได้เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย

ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2484-2488 นายปรีดีได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล และร่วมเป็นหนึ่งในขบวนการเสรีไทย ต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่นในประเทศไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จนเมื่อสงครามสงบลง จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส

นายปรีดี ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาสั้น ๆ ในปี พ.ศ.2489 ก่อนจะเกิดเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 รวมทั้งยังมีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง จนถูกรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2490 ทำให้ต้องลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศ ในช่วงบั้นปลายชีวิต เขาเดินทางไปพำนักยังประเทศสิงคโปร์ จีน และฝรั่งเศส กระทั่งเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2526 เจ้าตัวก็เสียชีวิตลง ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ต่อมาจึงได้มีการนำอัฐิกลับประเทศในปี พ.ศ.2529 และทำพิธีบำเพ็ญกุศลตามประเพณี

นอกเหนือจากเรื่องการเมือง นายปรีดี ยังได้ชื่อว่า เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา และเป็นผู้ผลักดันให้เกิดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ.2543 องค์การยูเนสโกจึงได้บรรจุชื่อนายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในปฏิทินบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะบุคคลที่มีคุณูปการต่อชาติบ้านเมือง


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/ปรีดี_พนมยงค์

วันนี้นอกจากจะเป็นวันแรงงานแห่งชาติ ยังเป็นวันคล้ายวันเกิดของนักการเมืองหญิงคนดัง ‘คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์’ ประธานกรรมการผู้ก่อตั้งพรรคไทยสร้างไทย มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2504 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านการตลาด จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ รวมทั้งสำเร็จการศึกษาปริญญาเอก พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา จากคณะบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

คุณหญิงสุดารัตน์ เริ่มต้นเส้นทางการเมือง โดยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร ในนามพรรคพลังธรรม เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2535 ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในช่วงสมัยรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี

คุณหญิงสุดารัตน์ ยังดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกมากมาย อาทิ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย กระทั่ง พ.ศ.2541 ได้ขึ้นเป็นรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีของพรรคอีกหลายกระทรวง อาทิ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ปัจจุบัน หลังจากลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ก็มาดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการมูลนิธิไทยพึ่งไทย รวมทั้งยังเป็นประธานกรรมการผู้ก่อตั้งสถาบันสร้างไทย และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคไทยสร้างไทย นอกจากนี้ยังมีบทบาทขับเคลื่อนสังคมในหลากหลายมิติ

ตลอดระยะเวลากว่า 29 ปี บนเส้นทางการเมืองไทย นักการเมืองหญิงคนนี้ ผ่านเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองมาแล้วมากมาย แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือการสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม จนกลายเป็นนักการเมืองหญิงที่มีอิทธิพลต่อแวดวงการเมืองไทยอย่างแท้จริง


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/คุณหญิงสุดารัตน์_เกยุราพันธุ์

เอ่ยถึง สงครามโลก หนึ่งใน ‘ตัวละครสำคัญ’ ที่ผู้คนมักจะนึกถึง นั่นคือ ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’ ผู้นำนาซีชาวเยอรมัน ซึ่งในวันนี้เมื่อกว่า 76 ปีมาแล้ว ถือเป็นวันสุดท้ายของผู้นำเยอรมันรายนี้ เมื่อเขาตัดสินใจปลิดชีพตัวเองด้วยการยิงตัวตาย

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1889 เป็นชาวเยอรมันเชื้อสายออสเตรีย เขาเข้าเป็นทหารในกองทัพเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จากนั้นจึงมาเป็นหัวหน้าพรรคแรงงาน ก่อนจะเปลี่ยนเป็นพรรคสังคมนิมยมแห่งชาติ หรือพรรคนาซี ในช่วงปี ค.ศ. 1921

ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเยอรมัน หลังจากเยอรมันพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเป็นช่วงที่ประเทศต้องประสบกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก ทำให้ในเวลาต่อมา เขาได้ปรับเปลี่ยนประเทศให้เป็นรัฐเผด็จการ มีพรรคการเมืองเดียว ภายใต้อุดมการณ์นาซี และมีเป้าหมายคือ การจัดระเบียบโลกใหม่ เป็นเหตุให้เยอรมันเริ่มเข้าไปครอบงำประเทศในยุโรปในเวลาต่อมา

ฮิตเลอร์นำกองทัพเยอรมันยึดครองประเทศในยุโรปมากมาย อาทิ โปแลนด์ ออสเตรีย เชกโกสโลวะเกีย ก่อนจะประกาศสงครามกับอังกฤษและฝรั่งเศส เป็นที่มาของการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้น ฮิตเลอร์ได้นำกองทัพเยอรมันและฝ่ายอักษะยึดครองยุโรปได้เกือบทั้งทวีป พร้อมกับใช้นโยบายด้านเชื้อชาติ ปฏิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้คนไปอย่างน้อย 11 ล้านคน โดยแบ่งเป็นชาวยิวประมาณถึง 6 ล้านคน

กระทั่งช่วงปี ค.ศ. 1945 (หรือ พ.ศ. 2488) เกิดเหตุการณ์พลิกผัน เมื่อกองทัพสัมพันธมิตร สามารถเอาชนะกองทัพเยอรมันลงได้ ในช่วงเวลานั้นเอง ฮิตเลอร์ตัดสินใจแต่งงานใหม่กับภรรยาที่ชื่อ เอฟา เบราน์ และให้หลังเพียงวันเดียว ในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1945 ทั้งสองคนก็ตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกกองทัพโซเวียตจับกุมตัว โดยฮิตเลอร์ใช้ปืนยิงตัวเองตาย ส่วนเอฟา เบราน์ ดื่มยาพิษเข้าไปจนเสียชีวิต พร้อมกับสั่งให้ทหารเผาร่างของทั้งคู่ไม่ให้เหลือซาก

ไม่นานจากนั้น เยอรมันก็ประกาศแพ้สงคราม ปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางฝั่งยุโรปลง แต่เรื่องราวการตายของฮิตเลอร์ยังไม่จบลงแค่นั้น เพราะหลายฝ่ายต่างไม่เชื่อว่า ฮิตเลอร์จะเสียชีวิตจริง มีหลายทฤษฎีสมคบคิดออกมามากมาย บ้างว่าเขาหนีไปอยู่อเมริกาใต้ บ้างว่าหนีไปสเปน หรือแม้แต่เลยเถิดไปยังดวงจันทร์นอกโลกก็ยังมี

แต่ต่อมา มีผลการชันสูตรสุดท้ายยืนยันว่า ฮิตเลอร์และภรรยาถูกเผาร่างไปจริง ๆ แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงสร้างความคลางแคลงใจให้กับผู้คนจำนวนมากอยู่ดี ถึงตรงนี้ ไม่ว่าฮิตเลอร์จะเสียชีวิตลงไปแบบใด แต่สิ่งที่ยืนยันได้แน่ ๆ คือ โลกได้ยุติการสูญเสียลงไปอย่างแน่นอน มากไปกว่านั้น คือความสงบสุขหลังยุติการฆ่าแกงกัน


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/อดอล์ฟ_ฮิตเลอร์

วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญ โดยเป็นวันคล้ายวันประสูติของ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าธีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ทรงเจริญพระชันษา 16 ปี

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าธีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ.2548 เวลา 18.35 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี (ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นพระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร)

โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2548 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชหัตถเลขาขนานพระนามว่า ‘พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ’ โดยทรงพระมหากรุณาธิคุณอธิบายพระนามว่า ผู้ทำประทีปคือปัญญาให้สว่างกระจ่างแจ้ง ผู้ทำเกาะคือที่พึ่งให้รุ่งเรืองโชติช่วง

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2562 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ สถาปนาและเฉลิมพระนามพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร

วันนี้ถือเป็นวันคล้ายวันประสูติ ขอพระองค์ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง เป็นมิ่งขวัญต่อพสกนิกรชาวไทยสืบไป


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ_เจ้าฟ้าธีปังกรรัศมีโชติ

 

วันนี้เมื่อ 71 ปีก่อน ถือเป็นวันสำคัญที่ถูกบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยเป็นวันพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

โดยหากย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น ทั้งสองพระองค์ทรงพบกันเป็นครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.2492 และในปีเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พระยศในขณะนั้น) ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ โดยหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (พระยศในขณะนั้น) มีโอกาสเข้าเยี่ยมพระอาการเป็นประจำ กระทั่งทรงหายประชวร ทั้งสองพระองค์ก็มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด

กระทั่งเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2492 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีหมั้นขึ้นในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2493 ทั้งสองพระองค์เสด็จนิวัติพระนคร และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้นอย่างเรียบง่าย ณ วังสระปทุม

โดยงานพระราชพิธีถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 ภายในงานมีพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ที่ใกล้ชิด ตลอดจนมีผู้ประกอบพระราชพิธีตามกฎหมาย คือ นายฟื้นบุญ ปรัตยุทธ นายอำเภอปทุมวัน เป็นนายทะเบียน รวมทั้งมีราชสักขี 2 คนคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น และพลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ณ ขณะนั้น ร่วมลงนาม ภายหลังจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา ม.ร.ว.สิริกิติ์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

นับแต่นั้นเป็นต้นมา พระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่มีต่ออาณาประชาราษฎร์ ก็ได้ถ่ายทอดมายังสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และทั้งสองพระองค์ก็ทรงงานร่วมกันต่อเนื่องตลอดมามิได้ขาด


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส_พุทธศักราช_/2493


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top