Saturday, 4 May 2024
ECONBIZ

‘รศ.ดร.วีระพงศ์’ ชูภารกิจ สสว. เคียงข้างทุก SME ไทย แนะผู้ประกอบการ ‘ผสานดิจิทัล-สร้างมาตรฐานสินค้า’

SME ไทยไปต่ออย่างไร? กับสถานการณ์ในปัจจุบัน…

คำถามสุดคลาสสิกในห้วงสถานการณ์ที่เกี่ยวพันการเมือง เศรษฐกิจ และสถานการณ์โลกที่มักจะผุดขึ้นกับบรรดาผู้ประกอบการในบ้านเราอยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้กระทบ SME หลายรายแบบไม่ต้องปฏิเสธ 

อย่างไรก็ตาม คำตอบของคำถาม มีรูปแบบที่สามารถช่วยเหลือและเกื้อหนุนผู้ประกอบการ SME ไว้เสมอ เพียงแต่โจทย์ของผู้ประกอบการแต่ละรายจะตกผลึกเพื่อให้โซลูชันที่สอดคล้องต่อการช่วยให้เดินหน้า ‘อยู่รอด อยู่เป็น และอยู่ยาว’ ได้แค่ไหน?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร. วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้เปิดเผยผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดีๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00-08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 66 ได้แนะแนวทางเพื่อช่วยเหลือ SME ให้ ‘อยู่รอด-อยู่เป็น-อยู่ยาว’ อย่างน่าสนใจ ซึ่ง SME หลายรายอาจจะคุ้นอยู่แล้ว ส่วนอีกหลายรายที่ยังทราบ ก็ถือเป็นการทบทวนกันอีกครั้ง

รศ.ดร. วีระพงศ์ เผยว่า “ก่อนที่จะมีสถานการณ์โควิด 19 ต้องบอกว่า SME 3 กลุ่มใหญ่ถือเป็นหัวสำคัญของการขับเคลื่อน GDP ไทย โดยกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนGDP สูงกว่าทุกกลุ่มได้แก่ค้าส่ง ค้าปลีก, กลุ่มที่2 ผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว กลุ่มที่ 3 SME ที่เกี่ยวการส่งออกสินค้าแปรรูปเกษตรต่างๆ

“ทว่าเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด19 SME เหล่านี้ต้องปรับตัวอย่างหนัก ถึงกระนั้นภารกิจ 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่วันนี้ทาง สสว. ได้เข้าไปมีบทบาทช่วยให้ SME ไทยไปต่อก็ยังคงผลักดันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น...

“1. โอกาสหรือตลาด โดยปัจจุบันทาง สสว. ได้มีการช่วยเหลือหาตลาดให้อย่างต่อเนื่อง / 2.การเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ให้ SME สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดงบประมาณและเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจ และ 3.การเชื่อม SME ให้เข้าถึงแหล่งทุน”

ในส่วนของ ‘การเชื่อมเข้าถึงแหล่งทุน’ นั้น ทาง รศ.ดร.วีระพงศ์ ได้ขยายด้วยว่า “อันที่จริงแล้ว ถ้า SME มีการเปิดโอกาสในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หาก SME นั้นๆ มีต้นทุนเรื่องของความสามารถเป็นทุนเดิม บางครั้งการหาแหล่งทุนก็แทบจะไม่ใช่ปัญหาของผู้ประกอบการเลยแม้แต่น้อย ขณะเดียวกันส่วนใหญ่มักจะถามหาทุนในขณะที่ตนยังไม่เห็นตลาดของธุรกิจตน และยังไม่มีขยายขอบเขตศักยภาพได้แน่ชัด นั่นจึงเป็นอุปสรรคที่การคุยกันในเรื่องทุนหลายครั้ง นำมาสู่ความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน”

เมื่อถามถึงการปรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจของ SME ว่าควรจะเป็นไปในทิศทางใดหลังช่วงวิกฤติโควิด19 ซา? รศ.ดร.วีระพงศ์ ตอบว่า “หากทำธุรกิจที่เกี่ยวกับค้าปลีก-ค้าส่ง วันนี้ต้องนำดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ ต้องวิ่งเข้าหาแพลตฟอร์มหรือช่องทางต่างๆ ในการซื้อ-ขายอย่างชัดเจน นี่คือการปรับตัวในแง่ของการใช้ช่องทางกับรูปแบบในการซื้อขาย

“ส่วนที่ 2 ที่ SME ต้องมีการปรับตัวคือ ถ้าวันนี้ธุรกิจของคุณเกี่ยวเนื่องกับการขยายตัวออกไปยังต่างประเทศ สิ่งสำคัญที่สุดที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ สินค้าหรือบริการที่ต้องมีมาตรฐานในระดับสากลหรือระดับโลก อัตลักษณ์ของสินค้าเป็นอีกเรื่อง

“ส่วนที่ 3 การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ส่วนนี้จะช่วยลดต้นทุน ลดเวลา ของ SME แต่ละรายได้มากขึ้น เช่น ถ้าผู้ประกอบการจะจัดการงานบริหารงานบุคคล การมีซอฟต์แวร์มาตรฐานของ HR สำคัญมาก หรือหากต้องมีการยกระดับขั้นตอนการผลิตต่างๆ ก็จำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์ช่วยบริหารจัดการในส่วนนี้เข้ามาเพิ่มเติม เป็นต้น”

เมื่อถามถึงบทบาทของ สสว. ในส่วนที่จะเข้ามาช่วย SME ตอนนี้มีอะไรบ้าง? รศ.ดร.วีระพงศ์ เผยว่า “เราช่วยเหลือในเรื่องของ ‘โอกาส’ กับ ‘ตลาด’ ซึ่งสิ่งที่ สสว.ทำอยู่อย่างเป็นรูปธรรมในขณะนี้คือ ‘การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ’ ซึ่งเป็นนโยบายที่ สสว. ทำงานร่วมกับกรมบัญชีกลาง ด้วยการให้ภาครัฐพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างจาก SME ก่อนรายใหญ่ๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมามี SME ได้เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐคิดเป็นมูลค่ากว่า 5แสนล้านบาท ซึ่งถ้า SME ท่านใดสนใจสามารถไปขึ้นทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ สสว. https://www.sme.go.th ตรงนี้จะเป็นการเปิดตลาดในส่วนของภาครัฐ

“นอกจากนี้ ในส่วนของ วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อยและขนาดเล็ก หรือ MSMEs ทาง สสว. ก็มีโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ ‘SMEปัง ตังได้คืน’ อย่างต่อเนื่อง โดยเดิมโครงการนี้ให้การอุดหนุนวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาซึ่งจดทะเบียนทำธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ (SME-GP) ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ที่สัดส่วน 80% แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ขณะที่วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ภาคการผลิต ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 80% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) ซึ่งเป็นนิติบุคคล ภาคการผลิตที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 50% แต่ไม่เกิน 200,000 บาท”

“ขณะเดียวกัน สสว. ยังได้ร่วมมือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และสมาคมสำนักงานบัญชีไทย ให้การอุดหนุน MSME เพิ่มเติมภายใต้โครงการฯ BDS โดย MSME ทุกขนาด ที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาซึ่งจดทะเบียนทำธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ (SME-GP) ทั้งวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ภาคการผลิต ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี และวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) ภาคการผลิตที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี จะได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 90% แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ภายใต้แคมเปญ ‘จ่ายหนึ่งหมื่น คืนเก้าพัน’ ซึ่งจะให้การอุดหนุนแต่สำหรับ MSME 5,000 รายแรก ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ในวงเงินจำนวน 50 ล้านบาท โดยการกำหนดกลุ่ม MSME จะพิจารณาข้อมูลรายได้ล่าสุด ที่ได้จากการตรวจสอบของ สสว. หรือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือกรมสรรพากร”

รศ.ดร. วีระพงศ์ กล่าวอีกว่า “ขณะนี้โครงการฯ BDS มีหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) จำนวน 131 หน่วยงานให้บริการบนเว็บไซต์ จำนวน 220 บริการ ส่วนผู้ประกอบการสมัครเข้าใช้บริการ จำนวน 5,475 ราย เลือกใช้บริการแล้ว 660 ราย มีการใช้งบประมาณอุดหนุนผู้ประกอบการไปแล้ว 40.96 ล้านบาท จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจ ลงทะเบียนเข้ารับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ bds.sme.go.th รวมทั้งยังสามารถติดตามข่าวสารและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.sme.go.th” พร้อมทิ้งท้ายอีกด้วยว่า “นอกจากเว็บไซต์ของทาง สสว.แล้ว ยังมีแอปพลิเคชัน ‘SME CONNEXT’  ซึ่งจะมีรายละเอียดต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดรวมไว้ให้อีกด้วย ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถโหลดเพื่อเข้าไปศึกษารายละเอียดต่างๆ ของโครงการที่ สสว.ผลักดันได้ทั้งหมด” 

AI ไม่ทำใครตกงาน!! เปิดบทสรุป AI ในมุมที่ไม่ได้จะมาแทนที่ใคร แต่คนที่ใช้ไม่เป็นจะถูกผู้ช่ำชองใน AI แทนที่

ไม่นานมานี้ เพจเฟซบุ๊ก 'Skooldio' ได้สรุป Session 'AI for The Next Era of Marketing AI สำหรับยุคสมัยใหม่ของ marketing' โดยคุณวิสสุต เมธีสุวกุล จาก Microsoft Thailand ในงาน Creative Talk Conference 2023 ในหัวข้อ 'คุณพร้อมแล้วหรือยังที่จะเรียนรู้และนำ Generative AI ไปใช้' ว่า...

Generative AI นั้นได้รับการพูดถึงอย่างมากทั่วโลก รวมถึงนิตยสาร The New York Times ที่ได้นำรูปของ ChatGPT ที่เป็นหนึ่งใน Generative AI มาขึ้นปกนิตยสารซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจดจำมากทีเดียว

โดย ChatGPT นั้นเป็น Generative AI ภายใต้บริษัท OpenAI ซึ่งมี Generative AI ทั้งหมด 3 ตัวได้แก่...

1. ChatGPT เป็น Generative AI ที่สามารถตอบโต้ระหว่างคอมกับผู้ใช้ได้อย่างคล่องและรู้เรื่องด้วยภาษาที่เราสามารถเข้าใจได้ง่าย แล้วยังสามารถสร้างเรื่องราวและไอเดียได้ รวมทั้งยังสรุปข้อมูลให้เราได้ด้วย หากต้องการให้ข้อมูลอัปเดตล่าสุดอยู่ตลอด คุณสามารถเพิ่ม Plug in ‘voxscript’ เข้าไปกับการใช้ ChatGPT ได้

2. Codex เป็น Generative AI ที่ช่วยเขียนโปรแกรมให้ Programmer โดยไม่ว่าคุณจะใช้ภาษาเขียนโค้ดภาษาใดก็ตาม Codex ก็สามารถช่วยคุณแปลเป็นภาษาอื่นที่คุณต้องการได้ โดยที่คุณไม่ต้องเสียเวลาทำเองหรือไปเรียนภาษาอื่น

3. DALL-E เป็น Generative AI ที่สามารถช่วยคุณวาดภาพได้ตาม prompt ที่คุณกำหนดอย่างไร้ขีดจำกัด ตราบใดที่คุณเขียน prompt ที่ชัดเจน

แล้วมันจะเข้ามาช่วยเราในการทำงานได้อย่างไร?

AI จะส่งผลกระทบในการทำงานของเราในเชิงบวก Generative AI สามารถช่วยเราทำงานได้หลายอย่างมาก เช่น การทำสไลด์ใน Powerpoint จากข้อมูลที่เราบอก ดึงข้อมูลใน Excel ให้ทำมาเป็น output ที่เราอยากได้ นอกจากนี้ เราสามารถออกแบบการขายของให้กับลูกค้าแบบ Personalization ได้เช่นกัน ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสามารถของ AI ที่เข้ามาช่วยเราทำงานเท่านั้น ยังมีอีกหลายอย่างที่มันจะเข้ามาช่วยลดภาระการทำงาน และเพิ่ม Productivity ให้กับเรา

หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า เราจะเชื่อใจ AI ได้มากน้อยแค่ไหน?

คำตอบคือเชื่อได้ในระดับที่เราก็ยังควรที่จะตรวจสอบข้อมูลเพราะ Generative AI คือระบบอัตโนมัติที่วิเคราะห์คำตอบจากข้อมูลที่มีมาประเมินและค่อยตัดสินใจทำ action เปรียบเสมือน Copilot เราไม่สามารถให้ทุกอย่าง Autopilot ได้ตลอดเวลา ทุกอย่างยังต้องใช้มนุษย์ที่มีประสบการณ์ เหมือนกับการที่เราไม่สามารถใช้ระบบขับเครื่องบินได้ตลอด เรายังต้องการกัปตันในการที่จะนำเครื่องขึ้นหรือลงและควบคุมเครื่อง

📍และสำหรับบริษัทที่กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลว่าปลอดภัยไหม จะหลุดออกมาไหม
คำตอบก็คือปลอดภัยเพราะทางผู้ผลิตได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าข้อมูลที่อยู่ในระบบจะไม่ถูกเปิดเผยสู่โลกภายนอกอย่างแน่นอนด้วย Open AI for Enterprise

จะเห็นได้ว่า Generative AI ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หากเราใช้มันให้เป็น เราก็จะได้ประโยชน์เป็นอย่างมากทั้งเรื่องการใช้ชีวิตและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้โดดเด่นกว่าใคร และไม่ต้องกลัว AI จะมาแทนที่ 

‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ขายหุ้น TSMC เกลี้ยง  หวั่นปัญหาจีน-ไต้หวัน เตรียมเบนเข็มไปที่ ญี่ปุ่น

ความตึงเครียดระหว่าง จีน - ไต้หวัน ที่ส่อเค้าทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนทั่วโลก รวมไปถึงมหาเศรษฐีนักลงทุนชาวสหรัฐอเมริกา อย่าง ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ที่เริ่มไม่มั่นใจในสถานการณ์เช่นกัน

และสิ่งที่ทำให้นักลงทุนอึ้งไปตาม ๆ กัน เมื่อ Berkshire Hathaway บริษัทโฮลดิ้ง ของบัฟเฟตต์ ได้เทขายหุ้นในบริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง (TSMC) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกออกไปในสัดส่วน 86% ของมูลค่ารวม 4,100 ล้านดอลลาร์ หลังจากได้เข้าซื้อเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้า ผิดกับวิสัยการลงทุนของบัฟเฟตต์ที่มักจะลงทุนและถือครองหุ้นนั้นในระยะยาว

บัฟเฟตต์ได้ชี้แจงในบทสัมภาษณ์ Nikkei เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2566 ว่า การเทขายหุ้น TSMC ออกไปเกือบทั้งหมด เนื่องจากมีความกังวลในความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐต่อกรณีไต้หวัน ซึ่งบริษัท TSMC ก็เป็นบริษัทในไต้หวันและมีฐานการผลิตหลักอยู่ที่ไต้หวันด้วย 

บัฟเฟตต์ ยอมรับว่า TSMC เป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรม มีคนเก่ง ๆ อยู่มาก และบริหารจัดการดี และโดยส่วนตัวก็มีความสัมพันธ์อันดีกับ มอร์ริส ฉาง (Morris Chang) ผู้ก่อตั้ง TSMC แต่ก็โชคร้ายมีชัยภูมิแย่เพราะดันตั้งอยู่ไต้หวัน ดังนั้น ภูมิรัฐศาสตร์แห่งนี้ จะได้รับผลกระทบทุกครั้งที่จีนกับสหรัฐฯ ขัดแย้งกัน 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ บัฟเฟตต์ ได้เข้ามาลงทุนโดยตรงในเอเชีย ซึ่งเริ่มจากการลงทุนใน PetroChina ในปี 2002 จากนั้นในจึงเป็น Posco ผู้ผลิตเหล็กของเกาหลีใต้ในปี 2006 ส่วนปี 2008 เขาเริ่มลงทุนใน BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเซินเจิ้น ประเทศจีน แต่ก็ได้ทยอยขายหุ้นออกไปออกไป และกลับไปลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ที่ตนเองคุ้นเคย

ซึ่งจากตัวเลขการลงทุนของ Berkshire Hathaway ณ สิ้นเดือนมี.ค. 66 พบว่า กว่า 77% ของพอร์ตการลงทุนผ่านหุ้นมูลค่า 3.28 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 10.8 ล้านล้านบาท) นั้น จะประกอบไปด้วยหุ้นสหรัฐเพียง 5 ตัวเท่านั้น ได้แก่ Apple, Bank of America, American Express, Coca-Cola และ Chevron

ทั้งนี้ นอกจากเทขายหุ้น TSMC ออกไปแล้ว ยังพบว่า Berkshire Hathaway ได้ซื้อหุ้น Apple เพิ่มขึ้นอีก 20.8 ล้านหุ้น มูลค่า 3.2 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 5.8% 

และแม้ว่า บัฟเฟตต์ จะทยอยขายหุ้นที่ลงทุนอยู่ในจีน และไต้หวันออกไป แต่ก็ยังไม่ได้ทิ้งการลงทุนในเอเชียเสียทีเดียว แต่เริ่มมองหาแหล่งลงทุนใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจ

แหล่งลงทุนที่ บัฟเฟตต์ ให้ความสนใจก็คือ ญี่ปุ่น นั่นเอง โดยได้ให้สัมภาษณ์กับ นิกเคอิ เอาไว้เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาว่า Berkshire Hathaway ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน 'ห้ากลุ่มบริษัท' ที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นเป็น 7.4% ได้แก่ Itochu, Marubeni, Mitsubishi Corp., Mitsui & Co. และ Sumitomo Corp. 

โดยมูลค่าตลาดรวมของการถือครองสินทรัพย์ในญี่ปุ่นของ Berkshire Hathaway ณ วันที่ 19 พ.ค. อยู่ที่ประมาณ 2.1 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 1.52 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 5 แสนล้านบาท) ซึ่งถือเป็นการลงทุนนอกสหรัฐ ที่มากที่สุดของบัฟเฟตต์ อีกด้วย

แม้ว่า การลงทุนในญี่ปุ่น อาจจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่หวือหวาได้เช่นเดียวกับ TSMC ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าที่เป็นหัวใจหลักของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก แต่บัฟเฟตต์มองว่า บริษัทของญี่ปุ่นมีประวัติของรายได้ที่มั่นคง เงินปันผลที่เหมาะสม และมีการซื้อคืนหุ้น (Share Buybacks) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งบัฟเฟตต์ มีความชื่นชอบอย่างยิ่ง เนื่องจากการซื้อคืนหุ้น เพิ่มความเป็นเจ้าของบริษัท โดยไม่ต้องซื้อหุ้นเพิ่ม

อาจกล่าวได้ว่า การย้ายเงินลงทุนออกจากจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน แล้วเข้าไปยังญี่ปุ่น เป็นการตัดสินใจที่ง่ายมากสำหรับ บัฟเฟตต์ เพราะไม่ต้องวิตกกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีน สหรัฐฯ และไต้หวัน แถมยังได้ลงทุนในตลาดที่ตรงตามสไตล์ที่มองถึงความมั่นคงในระยะยาวนั่นเอง

‘พงษ์ภาณุ’ มองเศรษฐกิจไทยเติบโตน่าพอใจ ภาคอสังหาฯ แนวโน้มสดใส ทั้งบ้านเดี่ยว-คอนโด

(25 มิ.ย. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้พูดคุย ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2566 โดยได้ให้มุมมองถึง เศรษฐกิจของประเทศไทยในเวลานี้ ซึ่งผ่านมาแล้วครึ่งปี การวิเคราะห์ในตัวเลขที่ผ่านมาครึ่งปีนั้น ส่งผลอย่างมากในการที่จะพยากรณ์เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง
โดยนายพงษ์ภาณุมองว่า ...

เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้อย่างน่าพอใจ ที่ระดับใกล้ๆ 4% ต่อปี ทั้งนี้สำนักพยากรณ์ทั้งไทยและเทศยังไม่มีการปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 ช่วงกลางปี (mid year review) อย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าจะมี downside risk อยู่มากมาย อาทิเช่น ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อสูง ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก การส่งออกขยายตัวได้ต่ำ และความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ

การเติบโตในปีนี้ไม่เพียงแต่ได้รับการขับเคลื่อนจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังมาจากส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มมีแนวโน้มสดใสตั้งแต่กลางปีที่แล้ว โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยทั้งประเภทบ้านเดี่ยวและคอนโด ทั้งนี้แรงซื้อจากลูกค้าต่างชาติก็มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพปริมณฑลและเมืองหลักทั่วประเทศ หากมีการเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้เพิ่มขึ้น ก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปได้เป็นอย่างดี จึงขอฝากเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับรัฐบาลหน้าด้วย

‘คิม พร็อพเพอร์ตี้’ ชี้ ซาอุ จ่อสร้างคลังน้ำมัน  ภาคใต้ของไทย ให้ใหญ่เทียบชั้นได้กับสิงคโปร์

ยูทูปช่อง Kim Property Live ได้โพสต์คลิปอธิบายถึง การที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย สนใจจะมาลงทุนครั้งใหญ่ในภาคใต้ของไทย โดยมีใจความว่า ...

ประเทศไทยเนื้อหอม ซาอุดิอาระเบีย เล็งที่จะลงทุนใหญ่ในภาคใต้ของประเทศไทย โดยจะทำเป็นคลังน้ำมันให้ใหญ่ให้เทียบเท่ากับสิงคโปร์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ซาอุดิอาระเบีย จะลงทุนในภาคใต้ของเรา ประเทศไทยของเรานั้น มีข้อดีอะไรหรือ ต้องบอกก่อนว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและซาอุดิอาระเบียนั้นก็ไม่ได้รักกันมาก่อน ความสัมพันธ์นั้นร้าวฉานมากว่า 32 ปีแล้ว จากการฆาตกรรมนักธุรกิจของซาอุดิอาระเบียหรือการขโมยเพชร ความบาดหมางจากตรงนี้ทำให้ประเทศซาอุดิอาระเบียตัดความสัมพันธ์กับไทย แต่พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ก็ได้มีความพยายามในการเชื่อมสัมพันธ์กับประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยประเทศไทยได้เชิญซาอุดิอาระเบียมาในงานเอเปค ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ซึ่งประเทศซาอุดิอาระเบีย ก็ได้ให้เกียรติตอบรับตามคำเชิญมาร่วมงาน ถือว่าเป็นผลงานทางการทูตที่ยอดเยี่ยมมาก ซึ่งต่อมาซาอุดิอาระเบียนั้นก็มีแผนที่เตรียมจะมาลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ eec ซึ่งในพื้นที่ของไทยบริเวณ eec ก็เป็นจุดที่เป็นฮับของการผลิตรถ EV ซึ่งตรงกับความต้องการของซาอุดิอาระเบียที่ต้องการจะผลิตรถไฟฟ้าด้วย

ในระยะหลังนี้ ประเทศซาอุดิอาระเบียก็ได้วางตัวออกห่างจากสหรัฐอเมริกา และ เอนเอียงไปในทางของประเทศจีนมากขึ้น รวมถึงมีการจับมือกับอิหร่านโดยมีประเทศจีนนั้นเป็นตัวกลาง ในการที่จะเชื่อมความสัมพันธ์กัน

หากพูดถึงเรื่องของพลังงานในแถบเอเชีย ประเทศซาอุดิอาระเบียก็ได้มีการลงทุนซื้อหุ้นของโรงกลั่นในประเทศจีน ซึ่งนี่คือการร่วมมือกันระหว่าง 2 ประเทศแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่น แล้วการลงทุนเกี่ยวกับยุทธศาสตร์พลังงานและน้ำมันนั้นเกี่ยวอะไรกับประเทศไทยอย่างนั้นหรือ มันมีความจำเป็นอย่างไร ที่ซาอุดิอาระเบียจะต้องมาตั้งคลังน้ำมันในภาคใต้ของประเทศไทย จีนนั้นเป็นประเทศบริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลกและก็ได้ซื้อน้ำมันจากหลายช่องทางรวมทั้งน้ำมันจากอิหร่าน โดยอิหร่านนั้นใช้มาเลเซียเป็นตัวกลางในการส่งออก อธิบายให้ง่ายก็คืออิหร่านนั้นส่งน้ำมันมายังประเทศมาเลเซีย และมาเลเซียก็แปะป้ายให้เป็นน้ำมันของมาเลเซียแล้วก็ส่งไปขาย ที่ประเทศจีน แล้วเพราะเหตุใดประเทศจีนถึงไม่ซื้อน้ำมันผ่านประเทศสิงคโปร์หรือเพราะว่าประเทศจีนและประเทศสิงคโปร์นั้นเป็นคนละพวกกัน แทนที่จะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจการลงทุนการคุ้มค่ากลับกลายเป็นแฝงด้วยประเด็นทางการเมือง มีการแบ่งพวก แบ่งฝ่าย แล้วเพราะเหตุใดประเทศซาอุดิอาระเบียจึงได้เล็งมายังภาคใต้

ที่จริงแล้ว ภาคใต้ของประเทศไทยนั้น ถือได้ว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ในการขนส่งค้าขาย เพราะแทนที่เรือขนส่งจะแล่นไปทางช่องแคบ มะละกา ซึ่งก็จะต้องใช้ระยะเวลานานในการขับเรืออ้อม แต่ถ้ามาขนส่งผ่านทางภาคใต้ของประเทศไทยก็จะง่าย กว่า รวดเร็วกว่ากันมาก

แล้วประเทศไทย จะสามารถรองรับการขนส่งนี้ได้หรือไม่ ประเทศไทยนั้นมีโครงการ Land Bridge ในการเชื่อมโยงระหว่าง 2 ท่าเรือ ก็คือท่าเรือระนอง และท่าเรือชุมพร ซึ่งการก่อสร้างโครงการนี้มีมูลค่า มากถึง 500,000 ล้านบาท ซึ่งประเทศซาอุดิอาระเบียนั้นสนใจมากที่จะมาลงทุนในโครงการ Land Bridge ของประเทศไทย ด้วยการจัดตั้งคลังน้ำมันในภาคใต้ของประเทศไทย น้ำมันจากซาอุดิอาระเบียจะถูก ส่งมาเก็บไว้ที่ภาคใต้ของไทยก่อนจะนำไปขายต่อให้กับประเทศจีน

‘ประเทศไทย’ ติดอันดับ 2 ปลายทางยอดนิยม นทท. ทั่วโลก ‘กรุงเทพฯ’ คว้าอันดับ 1 เมืองถูกจองเข้าพักมากที่สุด

วันที่ (22 มิ.ย. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยผลสำรวจ เดือนม.ค. - พ.ค.ปี 2566 ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นบนหลายแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว ทั้ง Agoda และ Klook สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยสะสม 5 เดือน กว่า 10.6 ล้านคน สะท้อนศักยภาพด้านการท่องเที่ยวไทย และการดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล

โดย Agoda แพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวระดับโลก เปิดเผยสถิติข้อมูลนักท่องเที่ยวบนแพลตฟอร์มในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 พบว่า การท่องเที่ยวโดยรวมของไทยฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่าประเทศอื่น จากการที่ไทยเปิดประเทศเร็ว โดยเฉพาะการเปิดรับนักท่องเที่ยวจีน ประกอบกับ ไทยมีเที่ยวบินรองรับนักท่องเที่ยวเพียงพอ

ประเทศไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น และมีนักท่องเที่ยวเดินทางภายในประเทศมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 รองจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และมาเลเซีย

นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีการจองเข้าพักบนแพลตฟอร์มมากที่สุดในโลก โดย Agoda เชื่อมั่นว่า กรุงเทพฯ สามารถพัฒนาเป็น ศูนย์กลางเทคโนโลยีของเอเชียได้ ดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ และสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมที่ทำให้ไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

นายอนุชา กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กับ Klook แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวชั้นนำของเอเชีย ในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดภายใต้แคมเปญ ‘Let Your Journey be THAI’ โดยส่งเสริมต่างชาติให้เดินทางมาเที่ยวไทย ผ่านการประชาสัมพันธ์ 5F Soft Power ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากนักท่องเที่ยว

โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติจองกิจกรรมในไทยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 1,200 จากช่วงเดียวกันของปี 2565 โดย ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และมาเลเซีย มีการจองกิจกรรมไทยบนแพลตฟอร์ม Klook มากที่สุดเป็น 5 อันดับแรก กิจกรรมยอดนิยม ได้แก่ ทัวร์แบบ Day trip กิจกรรมชมความสวยงามของเมืองไทย และสปา เป็นต้น

PTTEP ผนึก 5 พันธมิตรเดินเครื่องผลิตกรีนไฮโดรเจนในโอมาน  ตั้งเป้าแหล่งพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ คาด!! เริ่มผลิตปี 73

(22 มิ.ย. 66) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. ร่วมมือกับ 5 บริษัทชั้นนำของโลก ผลักดันโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ในรัฐสุลต่านโอมาน เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำและการเติบโตอย่างยั่งยืนตามแผนกลยุทธ์ ตั้งเป้าเริ่มการผลิตกรีนไฮโดรเจนในปี 2573

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP เปิดเผยว่า ปตท.สผ. โดยบริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์ส จำกัด (FTEV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย พร้อมด้วย 5 บริษัทพันธมิตรชั้นนำจากประเทศเกาหลีใต้ และประเทศฝรั่งเศส ได้ชนะการประมูลแปลงสัมปทานและลงนามสัญญาพัฒนาโครงการ (Project Development Agreement) และสัญญาเช่าแปลงสัมปทาน (Sub-usufruct Agreement) กับบริษัท ไฮโดรเจน โอมาน หรือ Hydrom ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลโอมาน เพื่อเข้ารับสิทธิในการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน ในแปลงสัมปทาน Z1-02 เป็นระยะเวลา 47 ปี

แปลงสัมปทาน Z1-02 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 340 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในจังหวัดดูคุม ประเทศโอมาน

การเข้าร่วมในการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ครั้งนี้ นับเป็นความสำเร็จของ ปตท.สผ. ที่มุ่งขยายธุรกิจไปสู่พลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตกรีนไฮโดรเจนประมาณ 2.2 แสนตันต่อปี

หลังจากนี้ กลุ่มผู้ร่วมทุนจะทำการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) และการศึกษาเชิงเทคนิค (Technical study) ของโครงการดังกล่าว และจะประเมินมูลค่าการลงทุนต่อไป

โดยกลุ่มผู้ร่วมทุนประกอบด้วย FTEV, กลุ่มบริษัทจากประเทศเกาหลีใต้ ประกอบด้วยบริษัท POSCO Holdings บริษัท Samsung Engineering Co., Ltd. บริษัท Korea East-West Power Co., Ltd และบริษัท Korea Southern Power Co., Ltd และบริษัท MESCAT Middle East DMCC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ENGIE จากประเทศฝรั่งเศส ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของโลก

โครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนในประเทศโอมานครั้งนี้ ครอบคลุมกระบวนการผลิตไฮโดรเจนแบบครบวงจร (Hydrogen Value Chain) ตั้งแต่การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) กำลังการผลิตรวมประมาณ 5 กิกะวัตต์ (GW), การพัฒนาโรงงานผลิตกรีนไฮโดรเจนโดยใช้พลังงานไฟฟ้าดังกล่าวในกระบวนการผลิต ซึ่งทั้ง 2 ส่วนจะตั้งอยู่ในแปลงสัมปทาน Z1-02 และการพัฒนาโรงงานที่เปลี่ยนสถานะไฮโดรเจนให้เป็นกรีนแอมโมเนียซึ่งเป็นของเหลว เพื่อสะดวกในการขนส่ง จะตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดดูคุม โดยคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างในปี 2570 และเริ่มการผลิต (Commercial Operations Date) กรีนแอมโมเนียได้ในปี 2573 ในอัตราประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี โดยจะส่งออกกรีนแอมโมเนียไปยังประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้ซื้อ ส่วนกรีนไฮโดรเจนส่วนที่เหลือ จะใช้ภายในประเทศโอมาน

“ประเทศโอมานเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้น ๆ ของโลก ที่มีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และมีความคืบหน้าในการผลักดันให้มีการพัฒนาโครงการไฮโดรเจนอย่างเป็นรูปธรรม การที่ ปตท.สผ. และบริษัทพันธมิตรได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้พัฒนาโครงการกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จและเป็นก้าวที่สำคัญในการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดในพื้นที่ที่มีศักยภาพของโลก ซึ่ง ปตท.สผ. จะนำประสบการณ์และความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจในประเทศโอมานที่มีมากว่า 20 ปี มาช่วยเสริมให้การพัฒนาโครงการกรีนไฮโดรเจนครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาแหล่งพลังงานรูปแบบใหม่ต่าง ๆ ที่จะเป็นพลังงานแห่งอนาคตต่อไป รวมทั้ง ยังเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเป้าหมายองค์กรคาร์บอนต่ำ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย” นายมนตรี กล่าว

ปัจจุบัน ปตท.สผ. มีการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศโอมาน ทั้งธุรกิจขั้นต้น (Upstream) และธุรกิจขั้นกลาง (Midstream) ได้แก่ โครงการโอมาน แปลง 61 ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติบนบกขนาดใหญ่ของประเทศ โครงการพีดีโอ (แปลง 6) โครงการมุคไคซนา (แปลง 53) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบบนบกขนาดใหญ่ โครงการโอมาน ออนชอร์ แปลง 12 และโครงการโอมาน แอลเอ็นจี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งเดียวในโอมาน

เข้ารอบ Final Pitching  โครงการ Content Lab โปรแกรม “ดิจิทัลคอนเทนต์”

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประกาศรายชื่อ 7 ทีม ผ่านเข้ารอบ Final Pitching โครงการ Content Lab สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล ในโปรแกรม “ดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content)” สนับสนุนรวมกว่า 150,000 บาท/ทีม และเงินรางวัลสำหรับทีมที่ชนะในรอบ Final Pitching มูลค่ารวม 150,000 บาท พร้อมเปิดโอกาสนำเสนอโครงการให้กับผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรชั้นนำของเมืองไทย หวังต่อยอด สร้างสรรค์ และ ประชาสัมพันธ์ผลงานในระดับสากล
นายชาญ กุลภัทรนิรันดร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า...

ปตท. ได้ปรับการดำเนินงานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยมุ่งสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการต่อยอดธุรกิจใหม่ที่นอกเหนือจากด้านพลังงาน พร้อมเป็นแรงสำคัญขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ โดยได้มีการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ทั้งภาครัฐและเอกชนเล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย

ทั้งนี้ ปตท. ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในการเปิดคอร์สอบรมพัฒนาทักษะ สำหรับนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ ภายใต้ “โครงการ Content Lab สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล” ในโปรแกรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) สำหรับนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ได้มีโอกาสเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีประกอบการสร้างสรรค์ผลงาน พร้อมเรียนรู้ทักษะการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเข้มข้นจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ทั้ง Virtual Production, AR/XR, AR location base, CG, 3D Model ฯลฯ

ผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 13 ทีม ได้นำความรู้และประสบการณ์มานำเสนอ Proposal ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “Meaningful Travel” ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยพร้อมสร้างประสบการณ์ใหม่  แบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่ หมวด Location Base & Platform หมวด Game และหมวด Film & Advertising

ทั้งนี้ มีการคัดเลือก 7 ทีม ผ่านเข้ารอบการนำเสนอสุดท้าย (Final Pitching Day) ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการสนับสนุนการผลิตชิ้นงาน จาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อเตรียมนำเสนอผลงานสุดท้ายต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ และตัวแทนจากองค์กรชั้นนำของเมืองไทยในวัน Final Product Pitching  วันที่ 26 สิงหาคมนี้ โดยจะมีคัดเลือกผลงานสุดท้ายที่จะได้รับเงินรางวัล พร้อมการประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะ หวังต่อยอดและสร้างสรรค์ผลงานในระดับสากล ซึ่งถือเป็นซอฟท์พาวเวอร์ (Soft Power) ที่สำคัญ ให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่มีคุณค่าควบคู่กับการสร้างมาตรฐานความยั่งยืน

ทีมที่ผ่านการเข้ารอบ ได้แก่
• หมวด Location Base & Platform  
1. ทีมที่ 6 Travel Platform & Virtual Influencer 
2. ทีมที่ 11 Thailand Culture Guide (สายมู) 
3. ทีมที่ 14 Foodscape

• หมวด Game 
1. ทีมที่ 8 Muay Thai VR Game 
2. ทีมที่ 10 Survive the Streets

• หมวด Film & Advertising 
1. ทีมที่ 1 Thatien 
2. ทีมที่ 3 One free day

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Content Lab และ Creative Economy Agency

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 12-16 มิ.ย. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 19-23 มิ.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ล่าสุดผันผวน เฉลี่ยโดยรวมลดลงกว่า 1-2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงต้นสัปดาห์นักลงทุนเทขายจากความวิตกต่ออุปสงค์พลังงานโลกที่อาจชะลอการฟื้นตัว หากธนาคารกลางรายใหญ่ยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างไรก็ตาม ตลาดปรับตัวสูงขึ้นหลังจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กลางสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบลดลง หลังจากสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น แต่ในช่วงปลายสัปดาห์ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดสูงสุดในรอบ 7 วัน หลังโรงกลั่นน้ำมันในจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก นำน้ำมันดิบเข้ากลั่นเพิ่มขึ้น

รมว.กระทรวงพลังงานรัสเซีย นาย Nikolai Shulginov กล่าวในงานสัมมนา St. Petersburg International Economic Forum ว่ารัสเซียจะผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสท ในปี 2566 ลดลงจากปีก่อน 400,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 10.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้รัสเซียประกาศลดการผลิต 500,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วง มี.ค. 66 - ธ.ค. 67 เพื่อตอบโต้ชาติตะวันตก ซึ่งออกมาตรการกำหนดเพดานราคา (Price Cap) น้ำมันรัสเซียที่ขนส่งทางทะเล และราคา Brent จะกลับมาแตะระดับ 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ราคา Brent ต่ำกว่าระดับ 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 66 เป็นต้นมา)

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 70 - 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จับตาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ - จีน ซึ่งมีแนวโน้มผ่อนคลายลง หลัง รมว. กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ นาย Anthony Blinken เยือนจีน ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อ 18 มิ.ย. 66 และพบปะหารือกับ รมว. กระทรวงการต่างประเทศของจีน นาย Qing Gang ทั้งนี้นาย Blinken เป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงสุดของสหรัฐฯ คนแรก ที่เยือนจีนอย่างเป็นทางการในรอบ 5 ปี

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
• 14 มิ.ย. 66 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.00-5.25% ตามตลาดคาดการณ์ อย่างไรก็ตามประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) ส่งสัญญาณอาจปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 2 ครั้งสู่ระดับ 5.50-5.75% ภายในสิ้นปีนี้

• 15 มิ.ย. 66 ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Deposit Facility Rate), ดอกเบี้ยสำหรับสร้างสภาพคล่องให้ระบบธนาคารฯ (Main Refinancing Operations Rate) และดอกเบี้ยที่ให้ธนาคารฯ กู้ยืม (Marginal Lending Facility Rate) อยู่ที่ 3.50%, 4.0% และ 4.25% ตามลำดับ สูงสุดในรอบ 22 ปี ตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. 66 เป็นต้นไป

• EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 9 มิ.ย. 66 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 7.9 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 467.1 ล้านบาร์เรล

• Kpler รายงานอิหร่านผลิตน้ำมันดิบในเดือน พ.ค. 66 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 15.4% อยู่ที่ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่ปี 2561และส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 43% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่ปี 2561

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
• สำนักสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานโรงกลั่นนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Refinery Throughput) ในเดือน พ.ค. 66 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.4% อยู่ที่ 14.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน

• 13 มิ.ย. 66 ธนาคารแห่งชาติของจีน (People’s Bank of China: PBOC) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นระยะเวลา 7 วัน แบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (7-Day Reverse Repurchase Agreement) ลง 0.1% มาอยู่ที่ 1.9% ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาสภาวะเงินฝืด

• Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) ปรับเพิ่มประมาณการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก (GDP) ในปี 2566 อยู่ที่ +2.7% จากปีก่อน (เพิ่มจากประมาณการณ์ครั้งก่อน ในเดือน มี.ค. 66 ที่ +2.6%) โดยปรับเพิ่ม GDP จีน อยู่ที่ +5.6% (เพิ่มจากประมาณการณ์ครั้งก่อน ที่ +4.3%)

• IEA คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 102.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 240,000 บาร์เรลต่อวัน)

กรมโรงงานฯจับมือ UNIDO จัดการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจ ชิงเงินรางวัล 500,000 บาท เพื่อมุ่งสร้างมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้

กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ได้รับการสนับสนุนโดย กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) กรมควบคุมมลพิษ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจ “พลอยได้..พาสุข” รอบชิงชนะเลิศ กิจกรรมภายใต้ “โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถ

เพื่อสนับสนุนการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจและการนำไปดำเนินการ” (Capacity Building to Support the Business Model Competition and Implementation) ตามหลักแนวคิดการพึ่งพาอาศัยระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน มุ่งสร้างมูลค่าวัสดุเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม ผลักดันการสร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชนรอบโรงงานได้อย่างยั่งยืน โดยทีมที่ชนะเลิศการแข่งขันได้แก่ ทีมวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม จากจังหวัดอุดรธานี

พร้อมนำเสนอโมเดลธุรกิจ “สีดีสร้างสุข สีจากธรรมชาติ” ชิงเงินรางวัล 500,000 บาท โดยมี นายวีรพงษ์ เอี่ยมเจริญชัย รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายโดย นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการแข่งขันดังกล่าว ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
  
นายณัฏฐพงษ์ จุลาเกตุโพธิชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า “การแข่งขันแบบจำลองธุรกิจ ‘พลอยได้..พาสุข’ มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน หรือ กลุ่มบุคคล ที่มีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) หรือ วัสดุพลอยได้ (By-product) จากภาคอุตสาหกรรม มาต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักแนวคิด ‘การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน’ (Industry-urban Symbiosis) อันจะนำไปสู่การลดอัตราการเกิดของเสียและการลดอัตราการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่เป้าหมายได้ ซึ่งสอดคล้องกับ นโยบายการพัฒนาประเทศแบบ BCG Model ที่มีการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์และเพิ่มวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตามหลัก Circular Economy และ Green Economy

อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม MIND ในการส่งเสริมและเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และประชาชน การนำสินค้า/บริการ/หรือสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นจากของเหลือภาคอุตสาหกรรมมาร่วมแข่งขันแบบจำลอง ธุรกิจ เพื่อการดำเนินธุรกิจที่เป็นรูปธรรม สร้างมูลค่า และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบพื้นที่อุตสาหกรรมได้อีกทาง เกิดเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับเมือง” 

กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการแข่งขันรอบสุดท้าย รอบชิงชนะเลิศ มีผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 5 ทีม ได้แก่ ทีมวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมจักสานบ้านท่าตะคร้อ, ทีมวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เกษตรกรบ้านอ้ออีเขียว, ทีมวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรท่าโรงช้าง, ทีมวิสาหกิจชุมชนพรมเช็ดเท้าหนองนาก และทีมวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม

โดยมีเวลาให้ทั้ง 5 ทีมนำเสนอแผนธุรกิจ 30 นาที สำหรับทีมชนะเลิศจะได้รับเงินทุนต่อยอดธุรกิจมูลค่า 500,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 4 รางวัล ทีมละ 50,000 บาท โดยหลังจากนี้ 6 เดือน มีการติดตามความสำเร็จการนำแผนและโมเดลธุรกิจไปปฏิบัติ และนำมาจัดทำเป็นกรณีความสำเร็จ (Success Cases) ต่อไป  

โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ทีมวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม จากจังหวัดอุดรธานี พร้อมนำเสนอโมเดลธุรกิจ “สีดีสร้างสุข สีจากธรรมชาติ” มีการทำผลิตภัณฑ์หลากหลาย พัฒนาโทนสีให้เหมาะกับยุคสมัย มีการจัดผลิตภัณฑ์เป็นชุด จำหน่ายแบบ DIY มีบรรจุภัณฑ์หลายขนาด ปัจจุบันมีให้เลือก 108 สี

โดยจัดจำหน่ายตามฤดุการ ครั้งละ 24-36 สี ผลิตภัณฑ์: สีธรรมชาติจากของเหลือภาคเกษตรและพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรม (สีผง สีย้อม/เพนท์ผ้า สีสกรีน) วัสดุหลัก: กากน้ำตาล,  กากอ้อย – นำ waste ไปหมัก แช่ ต้ม บ่ม กรอง เพื่อเป็นสารช่วยย้อม วัสดุประกอบอื่น: ดินแร่ ยางพารา คราม

“ทั้งนี้ กรมโรงงานฯ คาดการณ์ว่าในการจัดกิจกรรมในอนาคต จะเกิดการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้นถึง 30% ต่อปีและได้รับความสนใจจากกลุ่มนักศึกษา ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และประชาชน เกิดนวัตกรรมจากวัสดุเหลือจากภาคอุตสาหกรรม มาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ และกระตุ้นให้เกิดกระแสการแข่งขันทางธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอย่างสมดุลและยั่งยืน” นายณัฏฐพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

DELTA ร่วง 15% หลัง ตลท. จับติด Cash Balance โบรกฯ ชี้!! เสี่ยงหลุด SET50 ของรอบครึ่งแรกปี 67

(20 มิ.ย.66) ราคาหุ้น บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ล่าสุด ณ เวลา 10:12 น. อยู่ที่ระดับ 100.00 บาท ลบไป 17.50 บาท หรือ 14.89% สูงสุดที่ระดับ 103.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 99.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 805.66 ล้านบาท

สำหรับราคาหุ้น DELTA ปรับตัวลงเกิดจากแรงเทขายทำกำไร หลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศให้หลักทรัพย์ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA เป็นหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 : ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. 2566 สิ้นสุดวันที่ 10 ก.ค. 66

ขณะที่ บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุว่า วานนี้ตลาดประกาศให้ติด Cash Balance มีผล 20 มิ.ย. - 10 ก.ค. 66 ทำให้ DELTA เสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะหลุด SET50 สำหรับงวดครึ่งแรกของปี 67  เพราะถ้าตั้งแต่เกิดกรณี ในเดือน ส.ค. -พ.ย. 66 ไปติด Cash Balance อีก 1 ครั้ง จะทำให้หลุด SET50 รอบที่จะมีผล 1 ม.ค. 67 ทันที

 

ดีขึ้นทุกด้าน!! ‘IMD’ เผย อันดับขีดสามารถในการแข่งขันไทย ปี 66 ดีขึ้น ไต่จากอันดับที่ 64 มาอยู่ที่ 30 ของโลก ที่ 3 ของอาเซียน

ภาพรวมผลการจัดอันดับระดับโลก ในปี 2566 IMD World Competitiveness Center ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทำการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก (ประเทศรัสเซียและยูเครน ไม่ได้ร่วมการจัดอันดับในปี 2566 นี้ อย่างไรก็ตาม ประเทศคูเวต ได้เข้าร่วมการจัดอันดับในปีนี้เป็นปีแรก) โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจความเห็นของผู้บริหาร ณ ไตรมาสแรก ปี 2566 และข้อมูลเชิงประจักษ์ (Hard data) ปี 2565 ซึ่งยังคงจัดอันดับโดยประเมินเขตเศรษฐกิจต่างๆ ใน 4 ด้าน ได้แก่

1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance)
2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency)
3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency)
4) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)

ภาพรวมของผลการจัดอันดับในปี 2566 นี้ พบความแตกต่างของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างเขตเศรษฐกิจที่ใช้นโยบายการค้าเสรี (Open-trade economies) และเขตเศรษฐกิจที่ใช้นโยบายปกป้องทางการค้า (Protectionist economies) อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ด้านการเมือง (Politics) ด้านเศรษฐกิจ (Economics) และด้านสังคม (Social) ซึ่งผู้บริหารองค์กรที่จะสามารถนำพาธุรกิจให้ก้าวข้ามผ่านความท้าทายของโลกปัจจุบันได้ จำเป็นที่จะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างเงินเฟ้อ (Inflation) ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risks) และโลกที่มีความแบ่งแยกแตกต่างกัน (Fragmented world) มากขึ้น นอกจากนี้ ผลการศึกษาของปี 2566 ยังแสดงให้เห็นว่าเขตเศรษฐกิจอย่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในปีนี้ จากการกลับมาเปิดประเทศ หลังดำเนินนโยบายปิดประเทศเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 มาอย่างยาวนาน

ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ประจำปี 2566 เดนมาร์กยังคงได้รับการจัดอันดับเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันจากความแข็งแกร่งในปัจจัยประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) รวมถึงการปรับอันดับดีขึ้นเล็กน้อยของปัจจัยประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ไอร์แลนด์ อันดับ 2 ในปีนี้ ขยับขึ้นมา 5 อันดับจากปีที่แล้ว จากความสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจที่มีความสามารถในการปรับตัว (Resilient economies) สูง อันดับ 3 สวิตเซอร์แลนด์ จากจุดแข็งด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) รวมถึงสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ที่ปรับอันดับดีขึ้นค่อนข้างมากมาอยู่ที่อันดับ 18 จากอันดับ 30 ในปีก่อน
.
นอกจากนั้น เป็นที่น่าสนใจว่า เขตเศรษฐกิจที่ได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มที่มีอันดับสูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2566 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดเล็ก (Smaller Economies) ที่มีกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional frameworks) ที่ดี รวมถึงมีระบบการศึกษาที่แข็งแกร่ง (Strong education systems) และมีความสามารถในการเข้าถึงตลาด (Access to markets) และพันธมิตรทางการค้า (Trading partners) ได้ดี เช่น เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ได้รับการจัดอันดับในอันดับ 4-10 ตามลำดับ ในปี 2566 ได้แก่ อันดับ 4 สิงคโปร์ ซึ่งหล่นจากอันดับ 3 ในปีที่แล้ว อันดับ 5 เนเธอร์แลนด์ ดีขึ้น 1 อันดับจากปี 2566 อันดับ 6 ไต้หวัน ขยับขึ้น 1 อันดับจากปี 2566 อันดับ 7 ฮ่องกง ปรับอันดับลง 2 อันดับจากปีก่อน อันดับ 8 สวีเดน ร่วงลง 4 อันดับจากปีที่แล้ว อันดับ 9 สหรัฐอเมริกา ดีขึ้น 1 อันดับจากปี 2566 และอันดับ 10 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
.
ยิ่งไปกว่านั้น ผลการศึกษายังพบว่า ประเทศที่มีแหล่งผลิตพลังงานที่มั่นคง (Stable indigenous energy production) ห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง (Robust supply chains) และดุลการค้าที่ดี (Favorable trade balances) เป็นของตนเอง เช่น จีน ซาอุดีอาระเบีย สวิตเซอร์แลนด์ และไต้หวัน จะสามารถรักษาหรือพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไว้ได้ จากผลกระทบด้านความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
.
ผลการจัดอันดับของไทย


ปี 2566 ในภาพรวม ไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่อันดับ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ปรับดีขึ้น 3 อันดับจากอันดับที่ 33 ในปีที่แล้ว โดยมีผลคะแนนสุทธิดีขึ้นจาก 68.67 มาอยู่ที่ 74.54 ในปีนี้

เมื่อพิจารณาปัจจัย 4 ด้านที่ใช้ในการจัดอันดับ ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นจากปีที่แล้วในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีอันดับดีขึ้นมากที่สุดถึง 18 อันดับ ตามมาด้วย ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) และด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ที่ต่างขยับอันดับดีขึ้น 7 อันดับ และด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ขยับดีขึ้น 1 อันดับ โดยมีประเด็นสำคัญในแต่ละด้าน ดังนี้

- ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance): ภาพรวมอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 18 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 16 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยการลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 11 อันดับ จากอันดับ 33 ในปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 22 ในปีนี้ จากการที่ในปี 2565 นักลงทุนต่างชาติ มีการลงทุนในไทยรวม มูลค่ากว่า 128,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 46,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 56 โดยมีการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นสูงสุดถึง 39,515 ล้านบาท ตามด้วยสิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา และการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ที่ไทยอันดับดีขึ้นถึง 8 อันดับ จากปีก่อนมาอยู่ที่อันดับ 29 เนื่องจากตัวชี้วัด 1.2.12 Exports of commercial services ($bn) และ 1.2.13 Exports of commercial services (%) ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับมูลค่าการส่งออกบริการเชิงพาณิชย์ ที่เป็นการขนส่ง เดินทาง รวมถึงบริการและรายได้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ มีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น จากการที่ไทยกลับมาเปิดประเทศ หลังวิกฤตโควิด 19 ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัว

- ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency): ภาพรวมอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 24 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional Framework) และกฎหมายธุรกิจ (Business Legislation) ที่ทั้ง 2 ปัจจัยย่อยนี้ ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 7 อันดับ จากอันดับ 41 และ 38 ในปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 34 และ 31 ตามลำดับในปีนี้ โดยในปีนี้ ตัวชี้วัดที่เป็นจุดแข็งภายใต้ปัจจัยย่อยกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional Framework) ได้แก่ ตัวชี้วัด 2.3.02 Cost of capital อันดับ 11 และตัวชี้วัด 2.3.05 Central bank policy อันดับ 11 และภายใต้ปัจจัยย่อยกฎหมายธุรกิจ (Business Legislation) ได้แก่ ตัวชี้วัด 2.4.16 Labor regulations อันดับ 6 ตัวชี้วัด 2.4.17 Unemployment legislation อันดับ 12 และตัวชี้วัด 2.4.06 Investment incentives อันดับ 14

- ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency): ภาพรวมอันดับดีขึ้นจากปี 2565 ถึง 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 23 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยผลิตภาพและประสิทธิภาพ
(Productivity & Efficiency) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 9 อันดับ จากอันดับ 47 ในปี
2565 มาอยู่ที่อันดับ 38 ตามลำดับในปีนี้ โดยตัวชี้วัดที่เป็นจุดแข็งภายใต้ปัจจัยย่อยผลิตภาพและประสิทธิภาพ (Productivity & Efficiency) ได้แก่ ตัวชี้วัด 3.1.08 Large corporations อันดับ 11

- ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure): ภาพรวมอันดับดีขึ้น 1 อันดับ จากปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 43 ในปี 2566 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยโครงสร้างด้านเทคโนโลยี (Technological
Infrastructure) ที่ไทยอันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 9 อันดับ จากอันดับ 34 ในปี 2565 มาอยู่ที่
อันดับ 25 ตามลำดับในปีนี้ โดยตัวชี้วัดที่เป็นจุดแข็งภายใต้ปัจจัยย่อยโครงสร้างด้านเทคโนโลยี
(Technological Infrastructure) ได้แก่ ตัวชี้วัด 4.2.08 Internet bandwidth speed และตัว
ขี้วัด Investment in Telecommunications ที่ต่างอยู่ในอันดับ 5 ตัวชี้วัด 4.2.15 High-tech
exports (%) อันดับ 11 ตัวชี้วัด 4.2.03 Mobile telephone costs อันดับ 15 ตัวชี้วัด 4.2.04
Communications technology อันดับ 15 และตัวชี้วัด 4.2.11 Public-private partnerships
อันดับ 18

มีรายละเอียดของผลการจัดอันดับในแต่ละปัจจัย ดังนี้

สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance)


ในปี 2566 ปัจจัยด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจของไทย มีพัฒนาการของการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอย่างมากจากปีก่อนถึง 18 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 16 จากอันดับที่ดีขึ้นของทุกปัจจัยย่อย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจภายในประเทศ (Domestic Economy) ที่อันดับดีขึ้น 7 อันดับจากปีก่อน มาอยู่ที่อันดับ 44 ในปีนี้ การค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ที่อันดับดีขึ้น 8 อันดับจากปีก่อนมาอยู่ที่อันดับ 29 การลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment) ที่อันดับดีขึ้นจากปีก่อนถึง 11 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 22 การจ้างงาน (Employment) ที่อันดับดีขึ้น 1 อันดับจากปีก่อน มาอยู่ที่อันดับ 3 และระดับราคาและค่าครองชีพ (Prices) ที่อันดับดีขึ้นจากปีก่อน 4 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 27

เปิด 3 เหตุผลดัน ‘อีสาน’ ศูนย์กลาง BCG อาเซียน ทรัพยากรสมบูรณ์-พร้อมต่อยอดการวิจัย-เชื่อมโยงเพื่อนบ้าน

(19 มิ.ย. 66) นโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม โดยการขับเคลื่อน ‘ระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค’ จะเป็นหนึ่งในกลไกที่จะช่วยกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และสร้างความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน รวมทั้ง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) หรือ Northeastern Economic Corridor (NeEC) กำหนดพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา อุดรธานี หนองคาย และขอนแก่น ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและโอกาสที่จะพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bioeconomy) แห่งใหม่ของประเทศและเป็นผู้นำในระดับอาเซียน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) และมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ที่สนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เน้นการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG ทำให้มียอดการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.- มี.ค.) ของปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 24 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 3,800 ล้านบาท โดยการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร

โดยมี 3 เหตุผลที่ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ ได้แก่

1.) ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ภาคอีสานมีพื้นที่มากที่สุด คิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ หรือกว่า 160,000 ตารางกิโลเมตร และมีขนาดประชากรคิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ กว่า 22 ล้านคน ทั้งยังเป็นพื้นที่เพาะปลูกสูงถึง 43% ของประเทศ โดยมีการปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย ข้าว และยางพารา ซึ่งวัสดุเหลือใช้จากพืชเหล่านี้ จะกลายเป็นวัตถุดิบล้ำค่าในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ

2.) มีความพร้อมพัฒนาต่อยอดงานวิจัย ภาคอีสานเป็นถิ่นกำเนิดของศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาที่มีขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และหน่วยงานวิจัยจำนวนมาก 

3.) ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ภาคอีสานอยู่ในจุดที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน สามารถเป็นประตูเศรษฐกิจสู่ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีศักยภาพการเติบโตสูงได้อย่างดี 

จุดแข็งและสินทรัพย์เหล่านี้ ทำให้ภาคอีสานจะเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญในการดึงดูดการลงทุน และมีบทบาทช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปอุตสาหกรรมชีวภาพ 

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงบทบาทของภาคเอกชนในการร่วมขับเคลื่อนการลงทุน 

“ด้วยศักยภาพอันโดดเด่นของพื้นที่ NeEC ผนวกกับสิทธิประโยชน์บีโอไอที่มุ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย และกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม” 

โดยบีโอไอมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงตั้งแต่วัตถุดิบต้นน้ำโดยเฉพาะวัตถุดิบการเกษตรท้องถิ่น ไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำมูลค่าสูง จะส่งผลให้ NeEC สามารถสร้างฐานการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพแบบครบวงจร หรือไบโอคอมเพล็กซ์ และก้าวไปสู่การเป็นเมืองหลวง BCG (Bio-Circular-Green Industry) ของภูมิภาคอาเซียนได้ในที่สุด

‘Mastercard’ จัดอันดับ ‘ไทย’ ติด 1 ใน 10  ปลายทางยอดฮิตในเอเชียแปซิฟิก ปี 66

(19 มิ.ย. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานของสถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มาสเตอร์การ์ด (Mastercard Economics Institute) ถึงแนวโน้มการท่องเที่ยวทั่วโลกประจำปี 2566 จากรายงาน Travel Industry Trends 2023 พร้อมยินดีที่ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของจุดหมายปลายทางยอดนิยม ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มาสเตอร์การ์ด (Mastercard Economics Institute) ระบุในปี 2566 ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของจุดหมายปลายทางยอดนิยม Travel Industry Trends 2023 Mastercard Data & Services เพราะเสน่ห์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร โดยจัดอันดับจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตั้งแต่ปลายปี 2565 นักท่องเที่ยวต้องการเดินทางมาสัมผัสประสบการณ์ด้านวัฒนธรรม และสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ขณะเดียวกันก็มีนักท่องเที่ยวที่ต้องการกลับมาสัมผัสกับเสน่ห์ของประเทศไทยที่คุ้นเคยเป็นจำนวนมาก ไทยจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการใช้จ่ายด้านประสบการณ์การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 40.5% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อซื้อสิ่งของเพิ่มขึ้น 24%

นายอนุชา กล่าวว่า รายงานของมาสเตอร์การ์ดระบุข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้แก่ 

1.) การท่องเที่ยวพักผ่อนและการเดินทางเชิงธุรกิจมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกัน ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคมมีอัตราการจองเที่ยวบินเพิ่มสูงขึ้น 31% เมื่อเทียบกับปี 2562 และยังพบว่าช่วงต้นปี 2566 อัตราการจองเที่ยวบินขององค์กรมีการเติบโตเทียบเท่ากับการจองเที่ยวบินเพื่อการพักผ่อนส่วนบุคคล

2.) การเปิดประเทศของจีนมีผลดีต่อการท่องเที่ยว เศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิกจะได้ประโยชน์อย่างชัดเจนจากการเปิดประเทศของจีน เพราะเป็นประเทศที่มีความเชื่อมโยงอย่างมากกับการค้า การท่องเที่ยว และการเชื่อมต่อทางภูมิศาสตร์กับประเทศอื่น ๆ ของโลก

3.) นักท่องเที่ยวออกท่องโลกไปยังสถานที่ใหม่ ๆ ซึ่งเสน่ห์ที่โดดเด่นและประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ไทยติดอันดับหนึ่งในสิบของจุดหมายปลายทางยอดนิยม ซึ่งจัดอันดับจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

4.) นักท่องเที่ยวยังต้องการเดินทางเพื่อสัมผัสประสบการณ์ โดยเดือนมีนาคม 2566 ยอดการใช้จ่ายต่อการท่องเที่ยวเพื่อประสบการณ์ทั่วโลกสูงขึ้นถึง 65% ในขณะที่การใช้จ่ายในสิ่งของเพิ่มขึ้นเพียง 12% เมื่อเทียบกับปี  2562 

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าแนวโน้มการท่องเที่ยวประจำปี 2566 จะสร้างประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศไทย พร้อมมั่นใจในศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของไทย ทั้งด้านสถานที่ และการจัดการ รวมทั้ง เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนติดตามกระแสการท่องเที่ยว สกัดเอกลักษณ์ความเป็นไทย วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และศิลปวัฒนธรรม มาประกอบกับแนวทางการท่องเที่ยวสมัยใหม่ ปรับตัวและออกแบบบริการการท่องเที่ยวให้สอดคล้อง และตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลง

‘อลงกรณ์’ นำทีมไทยเยือนจีน ขยายส่งออก กุ้งและผลไม้ พร้อมสำรวจท่าเรือจ้านเจียง เปิดเส้นทางขนส่งสินค้าไปจีน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง เกษตรและสหกรณ์เปิดเผยวันนี้ว่าได้นำคณะผู้แทนไทยประกอบด้วยนายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายปรัตถกร แท่นมณี กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจําสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว นายกลศ หิรัญบูรณะ นายกสมาคมและคณะที่ปรึกษาสมาคมการค้าเพื่อความยั่งยืนของเกษตรกร (Commercial Association for Sustainability of Agriculture: CASA)เดินทางเยือนเมืองจ้านเจียงซึ่งเป็นเมืองท่าใหญ่ใต้สุดของมณฑลกวางตุ้งโดยเข้าเยี่ยมชมท่าเรือจ้านเจียงและประชุมหารือกับผู้บริหารของท่าเรือจ้านเจียงเกี่ยวกับการเปิดเส้นทางการขนส่งทางเรือจากไทยมายังท่าเรือจ้านเจียงและยังได้สำรวจตลาดสินค้าเกษตรเชียงหนานเสียซานซึ่งเป็นสาขาของตลาดเชียงหนาน-กวางโจวเป็นตลาดค้าขายผลไม้ใหญ่ที่สุดในจีน

นายอลงกรณ์กล่าวว่า การเปิดเมืองท่าค้าขายให้มากที่สุดเป็นการสร้างโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ท่าเรือจ้านเจียงจึงเป็นอีกทางเลือกของการขนส่งสินค้าทางเรือตอนใต้สุด
ของมลฑลกวางตุ้งโดยใช้เวลาขนส่งจากแหลมฉบังไปท่าเรือจ้านเจียงไม่เกิน3วันรวมทั้งเป็นการรองรับการส่งออกทุเรียนและผลไม้อื่นๆกรณีที่เกิดปัญหาติดขัดบริเวณด่านทางบกเช่นด่านโหย่วอี้กวน ตงชิงและโมฮ่านที่อยู่พรมแดนเวียดนาม-จีนและลาว-จีนเช่นกรณีโควิดหรือกรณีช่วงพีคของผลไม้ไทยและเวียดนามออกพร้อมกัน ยิ่งกว่านั้นยังสามารถส่งออกสินค้าเกษตรอื่นๆรวมทั้งสินค้าของไทยทุกประเภท ประการสำคัญคือ เมืองจ้านเจียงเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมกุ้งของจีนทำให้มีโอกาสที่ไทยจะส่งออกกุ้งมาจ้านเจียงเพิ่มขึ้น

“เมืองจ้านเจียงมีความพร้อมทางด้านระบบห่วงโซ่ความเย็น(Cold chain system) ห้องเย็นอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำและตลาดในมณฑลกวางตุ้ง และมณฑลภาคจะวันตก 13 มณฑล เช่น เสฉวน กุ้ยโจว มหานครฉงชิง ฯลฯ.จะเป็นอีกเส้นทางการขนส่งทางน้ำนอกเหนือจากท่าเรือในเขตปกครองตนเองกว่างสีจ้วง”นายอลงกรณ์กล่าว

สำหรับท่าเรือจ้านเจียง (Zhanjiang Port)
เป็นท่าเรือน้ำลึกทางตอนใต้ที่สําคัญของจีน เปิดให้บริการตั้งแต่เดือน พฤษภาคม ปี 2499 มีท่าเทียบเรือ และจุดจอดเรือ 162 แห่ง ซึ่งมีศักยภาพสามารถรองรับปริมาณสินค้าได้รวม 346.93 ล้านตัน โดยเป็นศักยภาพ ที่สามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์รวม 800,00 ตู้ TEU/น้ำหนักรวม 9.6 ล้านตัน รองรับการขนถ่ายรถยนต์ 6.275 ล้านคัน/น้ำหนักรวม 124.5 ล้านตัน ผู้โดยสาร 31.78 ล้านคน มีแนวเดินเรือน้ำลึกที่สุดทางภาคใต้ ของจีนรองรับเรือระวาง 400,000 ตันได้ ปัจจุบันมีเส้นทางเดินเรือขนส่งตู้คอนเทเนอร์ 23 เส้นทาง เป็นเส้นทางระหว่างประเทศ 10 เส้นทาง และเส้นทางในประเทศ 13 เส้นทาง รวมถึงเปิดให้บริการการเชื่อมต่อ การขนส่งทางรถไฟเชื่อมกับทางเรือ จํานวน 22 เส้นทาง ในจีน เชื่อมโยงไปมณฑลยูนนาน กุ้ยโจว และหูหนาน เป็นต้น

บริษัทท่าเรือจ้านเจียง กรุ๊ป จํากัด (Zhanjiang Port (Group) Co., Ltd.) รับผิดชอบบริหารพื้นที่ เขตท่าเรือ 4 เขต ได้แก่ เขตท่าเรือเสียซาน เป๋าหม่าน เตี้ยวซุ่นต่าว และตงไหต่าว โดยมีท่าเทียบเรือและจุดเทียบเรือ รวม 36 แห่ง ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือบรรทุกน้ำมันดิบ 300,000 ตัน ท่าเทียบเรือแร่เหล็ก 250,000 ตัน ท่าเทียบเรือถ่านหิน 150,000 ตัน ท่าเทียบเรือระวาง 150,000 ตัน และท่าเทียบเรือตู้คอนเทเนเนอร์ระวาง 150,000 ตัน ในปี 2565 เขตท่าเรือในการบริหารของบริษัทฯ มีการขนถ่ายสินค้ารวม 101.39 ล้านตัน โดยเป็น การขนถ่ายตู้คอนเทเนอร์รวม 1.301 ล้านตู้ TEU เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ส่วนตลาดค้าส่งผักผลไม้เจียงหนานเสียซาน เป็นตลาดค้าผักและผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดทางภาคตะวันตก ของมณฑลกวางตุ้ง เป็นสาขาของตชาดเชียงหนานกวางโจวมีพื้นที่กว่า 150,000 ตร.ม. เปิดให้บริการในปี 2559

ตลาดค้าส่งผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเสียซาน
ตลาดค้าส่งผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเสียซาน (Xiashan Sea Food Wholesale Market) เป็นตลาดค้าผลิตภัณฑ์สัตว์ น้ำที่ใหญ่ที่สุดทางภาคตะวันตกของมณฑลกวางตุ้ง ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเป๋าหม่าน เขตเสียซาน มีพื้นที่ก่อสร้างรวม 408,473 ตร.ม. เป็นศูนย์กลางค้าขายผลิตภัณฑ์กุ้งลําดับต้น ๆ ของโลก (พื้นที่สําหรับ ตลาดซื้อขายกุ้งประมาณ 50,000 ตร.ม.) มีความจุของโกดังห้องเย็นรวม 100,000 ตัน (ห้องละ 5,000 ตัน จํานวน 20 ห้อง) มีโรงงานผลิตน้ำแข็ง 300 ตัน โรงเก็บน้ําแข็ง 1,500 ตัน และมีส่วนของโรงงานแปรรูปกุ้งด้วย เริ่มเปิดดําเนินการเมื่อปี 2555 
สินค้าที่นํามาจําหน่ายในตลาดส่วนใหญ่เป็นกุ้งขาววานาไมสดแช่เย็น มีผู้ประกอบการกุ้ง ในตลาดประมาณ 70-80 ราย การซื้อขายจะคึกคักในช่วงเวลา 18.00-21.00 น.

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเมืองจ้านเจียงมีความประสงค์ที่จะผลักดันให้มีการนําเข้า ผลไม้ไทยผ่านท่าเรือจ้านเจียง เนื่องจากเห็นว่าเมืองจ้านเจียงมีการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ห่วงโซ่ความเย็นสามารถรองรับและกระจายสินค้าสดได้ดีขึ้นกว่าในอดีต กอรปกับระยะเวลาในการเดินเรือไม่นาน และสามารถกระจายผลไม้ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของจีนได้โดยสะดวกโดยเฉพาะทางตะวันตกของมณฑลกวางตุ้ง”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top