Saturday, 4 May 2024
ECONBIZ

'รัฐบาล' เผยครึ่งปีแรก 66 มูลค่าการลงทุนต่างชาติแตะห้าหมื่นล้าน ส่วนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตกว่า 3 เท่า จากยอดปี 65 ทั้งปี

(22 ก.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้ผลักดันและส่งเสริมการลงทุนอย่างจริงจัง ทำให้ใน 6 เดือนแรกของปี 2566 มีผู้สนใจเข้าลงทุนในประเทศเพิ่มต่อเนื่อง และได้มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 โดยอยู่ที่จำนวน 326 ราย รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 48,927 ล้านบาท สร้างการจ้างงาน 3,222 คน นักลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 74 ราย เงินลงทุน 17,527 ล้านบาท 2.สหรัฐอเมริกา 59 ราย เงินลงทุน 2,913 ล้านบาท 3. สิงคโปร์ 53 ราย เงินลงทุน 6,916 ล้านบาท 4.จีน 24 ราย เงินลงทุน 11,505 ล้านบาท และ 5. สมาพันธรัฐสวิส 14 ราย เงินลงทุน 1,857 ล้านบาท สำหรับการลงทุนจากชาติอื่น ๆ มีจำนวน 102 ราย เงินลงทุน 8,209 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมแรงดันหลุมขุดเจาะปิโตรเลียม ขั้นตอนดำเนินการขุดสถานีใต้ดิน การออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เป็นต้น

นอกจากนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ความพยายามของรัฐบาลในการมุ่งส่งเสริมการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเทคโนโลยียานยนต์รูปแบบใหม่ อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งปีแรก (เดือนมกราคม-มิถุนายน) ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมีมากถึง 31,738 คัน โดยมากกว่าถึง 3 เท่าของจำนวนทั้งหมดในปี 2565 

และจากรายงานของ China Association of Automobile Manufacturers (CAAM) พบว่า ไทยถือเป็น 1 ใน 3 ประเทศ ผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมากที่สุด เนื่องจากผู้บริโภคมีความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีรูปแบบใหม่มากขึ้น ประกอบกับภาครัฐได้มีการออกมาตรการสนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภค รวมถึงมีมาตรการจูงใจให้นักลงทุนสามารถขยายธุรกิจ และใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในภูมิภาค โดยเมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการชิ้นส่วนอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่มีศักยภาพ เข้าร่วมการเจรจาธุรกิจกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนอย่างบริษัท BYD ซึ่งมีแผนลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ของ BYD แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ไทย นับเป็นการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างบริษัทผลิตรถยนต์โลกกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน และเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตในไทยได้มีส่วนร่วมอยู่ในซัพพลายเชนระดับโลก

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทย มาอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยนับได้ว่ามีศักยภาพและความได้เปรียบที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้ง มีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพสูงตามมาตรฐานสากล มีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่เป็นประโยชน์กับการค้าการลงทุน ซึ่งเมื่อประกอบกับนโยบายของไทยที่เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี ตอบรับความท้าทายระดับโลก เช่น ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง” น.ส.รัชดากล่าว

‘รัฐบาล’ ชี้!! งบกลางใช้ฉุกเฉินมีเพียงพอ ยัน!! สำรองไว้แล้ว ไม่กระทบหน่วยงานรัฐฯ

(21 ก.ค. 66) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจง กรณีข้อห่วงใยต่อวงเงินการใช้จ่ายงบประมาณกลางคงเหลือ ที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะไม่เพียงพอให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการว่า ระบบการเงินการคลังของประเทศไทยมีเสถียรภาพที่เข้มแข็งเพียงพอต่อการดำเนินการใช้จ่ายกรณีเร่งด่วนที่มีความจำเป็นของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้บริหารจัดการงบประมาณอย่างเหมาะสมในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัย ทุกกลุ่ม อย่างครอบคลุม และเท่าเทียม

นางสาวรัชดา กล่าวว่า สำหรับกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน รัฐบาลมีงบกลาง หมวดเฉพาะ สำหรับการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นงบประมาณที่ตั้งไว้เพื่อการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐฯ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตั้งไว้ 92,400 ล้านบาท และปัจจุบัน ยังมีงบประมาณมากเพียงพอที่สามารถนำมาใช้จ่ายได้ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ประมาณ 2 เดือนเศษ (ถึงเดือนกันยายน 2566) เช่น การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง หรือภารกิจที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอื่น ๆ

ทั้งนี้ ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2566 กระทรวงการคลังรายงานว่า งบกลางฉุกเฉินที่ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เป็นวงเงินห้าหมื่นกว่าล้านบาท อาทิ โครงการเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 มาตรการให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย เป็นต้น

ในส่วนของวงเงินมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่มีการรายงานวงเงินคงเหลือ จำนวน 18,000 ล้านบาท นางสาวรัชดา กล่าวว่า เป็นวงเงินคนละส่วนกับงบกลางฉุกเฉิน ซึ่งการใช้งบประมาณภายใต้มาตรา 28 นี้ รัฐบาลมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐฯ ดำเนินโครงการโดยใช้เงินทุนของตัวเองไปก่อน และรัฐบาลจะรับภาระชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้กับหน่วยงานของรัฐในภายหลัง โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรในช่วงที่ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ รวมถึงการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการรายย่อยและลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้กำหนดกรอบอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดที่รัฐฯ ต้องรับชดเชยจากการดำเนินโครงการตามมาตรา 28 ไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 32 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งปัจจุบันมียอดคงค้างอยู่ภายใต้เกณฑ์ที่กำหนด

“จึงขอยืนยันว่า วงเงินสองส่วนดังกล่าว ไม่กระทบกับการดำเนินการตามภารกิจของหน่วยงานของรัฐฯ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐสามารถใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 3.185 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน พัฒนา คุณภาพชีวิตของประชาชน ได้รับการดูแลและช่วยเหลือจากสวัสดิการของภาครัฐฯ รวมทั้งดำเนินการ ด้านต่าง ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในทุกภูมิภาคของประเทศ และหากมีกรณีฉุกเฉินจำเป็น เช่น ภัยพิบัติในช่วงนี้ รัฐบาลไม่ว่าจะชุดใดก็ตาม ยังสามารถเบิกจ่ายจากงบกลางได้” นางสาวรัชดา ย้ำ

ลุยโครงการ ‘Green Hospital ต้นแบบ’ ขับเคลื่อนบริการทางการแพทย์ด้วยพลังงานสะอาด

(21 ก.ค. 66) บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) จรดปากกาเซ็นเอ็มโอยูร่วมกับ ‘กรมการแพทย์’ ลุยโปรเจกต์พัฒนาโรงพยาบาลตามแนวทาง Green and Clean Hospital ต้นแบบ พร้อมเดินหน้าผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด ยกระดับด้วยระบบกักเก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพ พร้อมขับเคลื่อนการขนส่งและบริการทางการแพทย์ ด้วยยานยนต์ไฟฟ้าและสถานนีชาร์จด้วยจุดบริการที่ครอบคลุม กว่า 500 สถานีชาร์จ เล็งขยายสถานีฯ ตอบโจทย์แผนยุทธศาสตร์ EV แห่งชาติ สร้างความยั่งยืน-เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของประเทศ

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ‘โครงการพัฒนาโรงพยาบาลตามแนวทางการดำเนินงาน Green and Clean Hospital ต้นแบบ’ โดยมีนายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้แทนจาก บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ร่วมลงนาม

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีโรงพยาบาล/สถาบันในสังกัดให้บริการรักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนแก่ประชาชน และมีการมุ่งมั่นพัฒนาการบริการรักษา รวมถึงบริการด้านอื่นๆ จึงมีความประสงค์จะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ศึกษา และพัฒนาระบบบริหารจัดการพลังงานสะอาดแบบบูรณาการที่เหมาะสมตามแนวทางการดำเนินงาน Green and Clean hospital ซึ่งเป็นการยกระดับให้หน่วยงานสาธารณสุขภายใต้กรมการแพทย์บริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 22 มีนาคม2565 เห็นชอบแนวทางประหยัดพลังงานโดยให้หน่วยงานภาครัฐลดการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงลงร้อยละ 20 และเร่งผลักดันให้นำมาตรการด้านพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้หน่วยงานราชการเร่งดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (solar rooftop) ในลักษณะร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อลดภาระการใช้จ่ายและเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ภาคเอกชนและประชาชนต่อไป

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด ที่ให้ความร่วมมือในการที่จะคิดค้นและริเริ่ม ศึกษาพัฒนา สนับสนุน และแลกเปลี่ยนข้อมูลของโครงการฯ ทั้ง 3 ด้าน ดังนี้ ด้านที่ 1 ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar) ด้านที่ 2 ระบบกักเก็บพลังงานเพื่อรองรับการใช้พลังงานไฟฟ้าของหน่วยงาน และด้านที่ 3 การพัฒนาดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการให้บริการทางการแพทย์ในพื้นที่ต่างๆ โดยใช้หลักการความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้มาใช้บริการในการรณรงค์และขยายผลสู่สังคมต่อไป

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) เปิดเผยว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อยในกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ วางกลยุทธ์ด้าน EA Eco System เป็นแนวทางหลักในการขยายธุรกิจ และสร้างความโตที่แข็งแกร่ง ด้วยการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดครบวงจร พัฒนาแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงานจากนวัตกรรม Amita Technology เชื่อมโยงสู่การให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า EA Anywhere รวมถึงพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์ MINE Mobility ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานที่หลากหลาย ตรงวัตถุประสงค์เป้าหมายของกลุ่มผู้ใช้งาน และมีระบบบริหารจัดการพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

เพื่อเป็นการยกระดับให้หน่วยงานสาธารณสุขภายใต้กรมการแพทย์บริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล โดยใช้หลักการความยั่งยืนและเป็นมิตรกับส่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้มาใช้บริการในการรณรงค์และขยายผลสู่สังคมได้ต่อไป EA จึงได้ร่วมกับ กรมการแพทย์ ลงนามบันทึกข้อตกลง ในการร่วมกันศึกษาและพัฒนาระบบการบริหารจัดการพลังงานสะอาดแบบบูรณาการที่เหมาะสมตามแนวทางการดำเนินงาน Green and Clean Hospital ด้วยโรดแมปดังนี้

1. Renewable Power การพัฒนาและติดตั้ง ระบบ Solar System มุ่งเน้นผลิตไฟฟ้า ด้วยพลังงานสะอาด

2. Energy Storage System เพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานให้มีเสถียรภาพ ด้วยระบบกักเก็บพลังงาน เทคโนโลยีจากAmita Technology

3. EV & Charging Station การยกระดับขนส่งและการให้บริการทางการแพทย์ ด้วยยานยนต์ไฟฟ้าที่ออกแบบพิเศษสำหรับการบริการด้านสาธารณสุข พร้อมขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า EA Anywhere ครบคลุมเส้นทางการให้บริการ

“มั่นใจว่าการเซ็นเอ็มโอยูในครั้งนี้ระหว่าง EA กับกรมการแพทย์ จะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ไปสู่เป้าหมาย Green and Clean Hospital ในอนาคต ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานถือเป็นการมุ่งสู่พลังงานสะอาด ตอบโจทย์ความยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” นายสมโภชน์กล่าว

‘ก.คลัง’ แนะหั่นเบี้ยคนสูงวัยที่ร่ำรวย พุ่งเป้าช่วยคนรายได้น้อย-ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

เมื่อไม่นานมานี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดว่า กระทรวงการคลังได้จัดเตรียม ‘แผนการปฏิรูปภาษี’ ให้กับรัฐบาลใหม่พิจารณา ประมาณ 20 รายการ เพื่อลดรายจ่าย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวมากขึ้น

พร้อมกับเพิ่มรายได้ให้รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอต่อการจัดทำมาตรการที่เหมาะสม เนื่องจากตัวรายได้จัดเก็บภาษีของรัฐบาล ปัจจุบันคิดเป็นเพียง 14% ของจีดีพี เท่านั้น ซึ่งมาตรฐานที่ควรจะเป็นอยู่ที่ 15-16% ด้วยการให้สิทธิพิเศษ การดูแลเป็นวงกว้างมากเกินไป

หนึ่งในแนวทางที่มีการพูดถึง คือ การตัดงบผู้สูงอายุ ของกลุ่มที่ร่ำรวยอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็น ปรับไปใช้นโยบายที่พุ่งเป้าช่วยกลุ่มผู้มีรายได้น้อย จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจริงๆ ให้ถูกฝาถูกตัวไม่เหวี่ยงแห ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป แต่แนวทางนี้อาจไม่เป็นที่ยอมรับจากรัฐบาลต่างๆ เนื่องจากกระทบคะแนนเสียงของพรรคการเมือง

สำหรับงบประมาณที่ต้องใช้กับเบี้ยผู้สูงอายุเป็นรายเดือนนั้น ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามจำนวนผู้สูงอายุในปัจจุบันใช้งบสูงถึง 90,000 ล้านบาทต่อปี จากเดิมเพียง 50,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหากตัดการจ่ายให้ผู้สูงอายุที่ร่ำรวยออกไป คาดว่าสามารถลดรายจ่ายงบประมาณได้มากถึงครึ่งหนึ่ง

‘สนามมวยราชดำเนิน’ จับมือ ‘แกร็บ’ ทุ่มเงิน 100 ล้าน ปลุก ‘มวยไทย’ ดันซอฟต์เพาเวอร์ หนุนท่องเที่ยวเชิงกีฬา

(20 ก.ค. 66) นายเธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โกลเบิล สปอร์ต เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ‘GSV’ กล่าวว่า…

“มวยไทยถือเป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรม โดยปัจจุบันรัฐบาลได้ผลักดันให้เป็นหนึ่งใน Soft Power อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนามวยไทยให้สามารถเข้าถึงทุกคน และกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของคนทั่วโลก สนามมวยเวทีราชดำเนิน ซึ่งเป็นเวทีมวยไทยมาตรฐานแห่งแรกของโลก และเป็นต้นกำเนิดของมวยไทยอาชีพจึงได้มีการปรับภาพลักษณ์ใหม่ พร้อมจัดให้มีการแข่งขันหลากหลายรายการ ทุกวันตลอดทั้งสัปดาห์

รวมถึงการสร้างรายการใหม่ อย่างรายการ ‘ราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์’ ที่มีการปรับกติกาและรูปแบบการแข่งขันให้เข้าใจง่ายและน่าติดตาม ด้วยโปรดักชันมาตรฐานระดับสากล โดยถ่ายทอดไปกว่า 200 ประเทศและเขตการปกครอง เพื่อรองรับกลุ่มคนดูใหม่ๆ พร้อมสร้างสีสันและยกระดับมาตรฐานวงการมวยไทยไปสู่ระดับสากล”

“หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายกระแสความนิยมมวยไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 70% ของผู้ชมทั้งหมด โดยนักท่องเที่ยว 5 ชาติแรกที่เดินทางมาชมแมตช์การชกที่สนามของเรา คือ จีน, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และเยอรมนี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬาและปลุกกระแสมวยไทยให้เป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่องในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ล่าสุด GSV จึงจับมือร่วมกับ ‘แกร็บ’ ซึ่งเป็นแอพพลิเคชันเรียกรถยอดนิยมอันดับหนึ่ง ทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เพื่อโปรโมตกีฬามวยไทยผ่านสื่อ และกิจกรรมการตลาดอย่างเต็มรูปแบบในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมมอบส่วนลด 10% สำหรับบัตรเข้าชมการแข่งขันมวยไทย ณ สนามมวยเวทีราชดำเนิน สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกวันจนถึงสิ้นปี”

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า การเจาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของเราในปีนี้เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจ โดยเฉพาะบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันของแกร็บ

ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา แกร็บได้ดำเนินกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและพัฒนามาตรฐานบริการ เพื่อยกระดับประสบการณ์การเดินทาง โดยมีไฮไลต์สำคัญอย่างการปรับโฉมบริการ GrabCar Premium ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘The Ultimate 5 Senses Experience’ รวมถึงการร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทำแคมเปญ ‘อะเมซิ่งทั่วไทย มั่นใจไปกับ Grab’ และจัดทำไกด์บุ๊ก Grab&Go เพื่อแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะ

สำหรับการผนึกความร่วมมือกับสนามมวยเวทีราชดำเนินในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจที่จะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยโดยใช้ Soft Power อย่างมวยไทยมาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยนอกจากการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและกิจกรรมการตลาดในช่องทางต่างๆ แล้ว แกร็บยังมอบส่วนลดพิเศษ 30% สำหรับผู้ใช้บริการ GrabCar Premium และ GrabSUV เมื่อเดินทางไปยังสนามมวยเวทีราชดำเนินเพียงใส่รหัส RAJADAMNERN ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธันวาคม 2566

กูรูหลักทรัพย์มอง ‘เพื่อไทย’ จัดตั้งรัฐบาล เพิ่มแรงส่ง ‘ตลาดหุ้น-คลายกังวลขึ้นภาษี’

(20 ก.ค. 66) หลังจากเมื่อวานนี้ มติศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคดีหุ้นสื่อไอทีวี และสั่งให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้ก่อน ขณะที่ที่ประชุมรัฐสภาลงความเห็นห้ามนำญัตติที่ตกไปแล้วเสนอซ้ำ จึงเสนอชื่อพิธาโหวตนายกฯ รอบ 2 ไม่ได้ โดยเตรียมโหวตนายกฯ ครั้งต่อไปในวันที่ 27 ก.ค. 66 นั้น

ด้าน นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและนักกลยุทธ์ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นมีความชัดเจนด้านการเมืองพอสมควร ปัจจุบันเหลือเพียง 2 scenario คือ…

1. พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมี ‘ก้าวไกล’ ร่วมรัฐบาล และ
2. มีพรรคเพื่อไทยแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน

แต่ไม่ว่าผลจะออกมาทางใด มองเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้น จากการที่ตลาดมีความเชื่อมั่นในทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ทั้งยังลดแรงกดดันจากความกังวลนโยบายพรรคก้าวไกล ในเรื่องการเก็บภาษีหุ้น Capital Gain Tax  ภาษีความมั่งคั่งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ภาษีนิติบุคคล ฯลฯ การปรับลดราคาพลังงาน ทำให้เราประเมินว่าว่าภาพโดยรวมของตลาดหุ้น จะมีแรงส่งจากทิศทางการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้น และน่าจะเป็นปัจจัยดึงดูดโฟลว์จากต่างประเทศเข้าไทยได้ต่อเนื่องไประยะหนึ่ง

นายกิจพณ กล่าวอีกว่า หากมองเปอร์เซนต์โอกาสที่ ‘พรรคก้าวไกล’ จะมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแค่ 30% แต่หากได้ทั้ง 2 พรรคมาร่วมรัฐบาล จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นมากกว่าในแง่ความเป็นเอกภาพ แต่หากเป็นการดึงจากหลายพรรค มาแทนที่ ‘ก้าวไกล’ เพื่อให้ได้เสียงเพียงพอ อาจมีความเสี่ยงเรื่องอำนาจต่อรอง เก้าอี้ รมต. และผลประโยชน์การบริหารกระทรวงต่างๆ

ทั้งนี้หากมองถึงปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกว่า ปัจจุบันมีความนิ่งพอสมควร ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยุติวงจรการขึ้นดอกเบี้ย อีกทั้งราคาน้ำมันดิบที่เคยกดดันในครึ่งปีแรก ปรับลดลงจนส่งผลต่อกำไรหุ้นพลังงานที่คิดเป็น 1 ใน 3 ของกำไรตลาด แต่ครึ่งปีหลัง เข้าสู่ฤดูหนาว เศรษฐกิจสหรัฐก็ไม่ได้ถดถอยอย่างรุนแรง และประเทศจีนเปิดประเทศ ทั้งหมดนี้ทำให้ภาพของราคาน้ำมันดิบมีโอกาสการฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นผลดีต่อกำไรตลาดในครึ่งปี มีโอกาสจะปรับขึ้นด้วย

สำหรับ บล.ยูโอบีฯ ให้กรอบเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปี 66 ที่ 1450- 1630 จุด พีอี 16 เท่า พร้อมมองการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีหลัง จากปัจจัยการเมืองในประเทศ และผลประกอบบริษัทจดทะเบียนได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว อีกทั้งกลุ่มพลังงานที่จะมีแรงส่งจากราคาน้ำมันดิบที่เริ่มขยับขึ้น จะทำให้ดัชนี SET ค่อยๆ ฟื้นจากระดับ 1500 จุด ในปัจจุบันได้

>> ทรีนีตี้ จับตา ‘ภูมิใจไทย’ มาแรงร่วมรัฐบาล
ด้าน บล.ทรีนีตี้ จำกัด โดยนายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ ได้เผยบทวิเคราะห์ล่าสุด ว่า มองกรณีที่ประชุมรัฐสภา (19 ก.ค.) ลงมติเห็นด้วยกับข้อบังคับการประชุม 41 ที่ห้ามมีการเสนอญัตติซ้ำเป็นครั้งที่สอง เป็นตัวจุดประกายให้ ‘พรรคเพื่อไทย’ ซึ่งจะเป็นพรรคลำดับถัดไปในการเสนอชื่อนายกฯรัฐมนตรีนั้น เดินเกมส์ที่ปลอดภัยมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการโหวตนายกฯ ที่มาจากแคนดิเดตพรรคนั้น จะประสบความสำเร็จตั้งแต่รอบแรก ด้วยวิธีการ 2 แบบ ดังต่อไปนี้…

1) การไปดึงพรรคอื่นมาเพิ่มเติมเสียงให้กับกลุ่มจัดตั้งรัฐบาลที่มีอยู่ 8 พรรคเดิม อาทิ การจับมือกับพรรคภูมิใจไทยเข้ามา ซึ่งก็จะทำให้มีคะแนนเสียงส.ส.ในมือรวมกันใหม่เป็น 384 ที่นั่ง เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา
2) การตัดสินใจข้ามขั้วไปจับมือกับแกนนำฝั่งพรรคอนุรักษ์นิยมทันที เช่นพรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากสว.ให้ลงมติหนุนนายกที่มาจากแคนดิเดตเพื่อไทย รวมกันเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา

Winner : ไม่ว่าในกรณีไหน มองโอกาสในการก้าวขึ้นมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 3 ตอนนี้มีสูงมาก ประเด็นนี้อาจทำให้เห็นแรงเก็งกำไรต่อเนื่องไปยังกลุ่มหุ้นที่ STEC, STPI, เชื่อมโยงกับพรรคดังกล่าวอย่างเช่น PTG เป็นต้น

สำหรับใน 3 ตัวนี้มี PTG ที่อยู่ภายใต้ Coverage ของเรา โดยในเชิงพื้นฐานแม้แนะนำ ‘ถือ’ แต่มีประเด็นเชิงบวกล่าสุดได้แก่ การที่กบน.มีมติใช้กองทุนน้ำมันฯ ตรึงราคาดีเซลให้อยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร หลังมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 ก.ค.

>> เอเซียพลัส : มองการเมืองบวกกับตลาดหุ้น คาดได้รัฐบาลใหม่ช่วงส.ค.66
ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่ามีความเป็นไปได้สูงที่พรรคที่ได้ ส.ส.มากเป็นอันดับ 2 อย่าง ‘พรรคเพื่อไทย’ จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในการประชุมรัฐสภา 27 ก.ค.66 ซึ่งฝ่ายวิจัยฯ คาดว่าพรรคเพื่อไทย จะต้องดำเนินการให้เรียบร้อยในครั้งนี้ (27 ก.ค. 66)

เนื่องจากการประชุมสภารอบที่ผ่านมา มีข้อสรุปว่าไม่สามารถเสนอรายชื่อ บุคคลเดิมเป็นแคนดิเดตนายกฯซ้ำได้ ภายใต้สถานการณ์อื่นไม่เปลี่ยนเป็น ‘ญัตติต้องห้าม’ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ในเบื้องต้น โดยเชื่อว่ามีโอกาสที่จะได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศในช่วง ส.ค.66 โดย Scenario ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ มีดังนี้…

- พรรคเพื่อไทย จับมือพรรคร่วมรัฐบาลเดิมทั้ง 8 พรรค และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
- พรรคเพื่อไทย จับมือพรรคร่วมรัฐบาลใหม่ โดยไม่มีพรรคก้าวไกล และยังเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้ ยังได้ประเมินภาพการเมืองในช่วงนี้ว่า อยู่ในวิสัยที่สามารถคาดการณ์ได้มากขึ้น และน่าจะทำให้ดาวน์ไซด์ของ SET Index จำกัด โดยเชื่อว่าน่าจะได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศได้ในช่วงเดือน ส.ค. 66 จะมีก็แค่ ‘ความเสี่ยงนอกสภาฯ’ ที่หากมีความรุนแรงและยืดเยื้อขึ้น จะเป็นปัจจัยกดดัน SET Index อีกครั้ง ซึ่งหากพิจารณา Google Trends คำว่า ‘ม็อบ-ประท้วง-Protest’ ในปัจจุบันยังอยู่ระดับต่ำกว่าในอดีตมาก

‘EA’ ผนึก ‘นางสาวถิ่นไทยงาม’ รณรงค์ใช้พลังงานสะอาด-ยานยนต์ไฟฟ้า ลดมลพิษ-ลด PM 2.5 ในแคมเปญ ‘EA Go Green Clean Energy’

(20 ก.ค. 66) บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ตอกย้ำสู่การเป็นผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด พร้อมสนับสนุน Sustainable Beauty รับเทรนด์ความสวยแบบรักษ์โลก ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘Go Green Clean Energy’ โดยมีนางสาวถิ่นไทยงาม ร่วมโปรโมต ปักธงรณรงค์สร้างพฤติกรรมใหม่ กระตุ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ ลดมลภาวะชุมชนเมือง ลด PM2.5 แก้ปัญหารถติด สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) พร้อมด้วย นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและคณะผู้บริหาร โปรโมตแคมเปญ EA Go Green Clean Energy เชิญผู้เข้าประกวดนางสาวถิ่นไทยงาม ลงพื้นที่ถ่ายทำ Branding เดินหน้าสร้างพฤติกรรม ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด-ยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ ‘รถ-เรือ-ราง’ เชื่อมโยงการเดินทางได้ไกล ไร้มลพิษ

การขับเคลื่อนการใช้ระบบขนส่งสาธารณะพลังงานสะอาด โดยมีนางสาวถิ่นไทยงาม ร่วมโปรโมตจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการรับรู้สู่กลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายยิ่งขึ้น เกิดการกระตุ้นและขยายโอกาสธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจด้านนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ในกลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ โดยมีการถ่ายทอด Branding ผ่านผลิตภัณฑ์ EA ที่ตอกย้ำการเป็นผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด ดังนี้

- MINE Bus ยานยนต์ไฟฟ้าขนส่งสาธารณะทางบก ที่มีการส่งมอบสู่ตลาด ให้บริการประชาชน แล้วกว่า 2,000 คัน และคาดว่าจะมีการส่งมอบอีกไม่ต่ำกว่า 3,000 คัน เพื่อรองรับการขนส่งสาธารณะเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซต์ได้กว่า 320,000 Ton Co2 per year 

- MINE Mobility MT30 รถกระบะไฟฟ้า EV Mini Truck ที่ออกแบบด้วยกลยุทธ์ Respect Environment เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจรุ่นใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผู้ประกอบการหลายแห่งสนใจติดต่อเพื่อขอนำรถไปทดลองใช้ ทั้งด้านโลจิสติกส์, ด้านบริการขายอาหาร เป็นต้น

- MINE Smart Ferry มิติใหม่แห่งการโดยสารทางเรือ ที่เปิดให้บริการประชาชนสัญจรทางน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วกว่า 27 ลำ และมีเป้าหมายขยาย 44 ลำ ซึ่งคาดว่าสามารถลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซต์ได้กว่า 8,800 Ton Co2 per year 

- MINE Locomotive หัวรถจักรไฟฟ้าพร้อมตู้แบตเตอรี่แยก (Power Car) นวัตกรรมยกระดับคมนาคมทางราง ตอบโจทย์พลังงานสะอาดยุคใหม่ 

ทั้งนี้ เพื่อสอดรับเทรนด์กระแสความสนใจด้าน Sustainable Beauty ความงามที่ยั่งยืน และกระตุ้นพฤติกรรมใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะมากขึ้น EA จึงได้ร่วมกับพันธมิตรนางสาวถิ่นไทยงามโปรโมต Branding สะท้อนการดำเนินธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ ที่สร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การดูแลสังคม และการดำเนินธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี อันนำไปสู่การส่งเสริมภาพจำให้กับสาธารณะชน ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาดแห่งอนาคต (Future Leader)

เชื่อม ‘ขนส่ง-ลงทุน’ จากซีกโลกถึงซีกโลกผ่านไทยแลนด์ โปรเจกต์เปลี่ยนไทยให้เนื้อหอมที่ ‘จีน-สหรัฐฯ’ จ้อง!!

ถูกพูดถึงมาได้พักใหญ่กับโครงการเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ ‘แลนด์บริดจ์’ (LandBridge) ของประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ซึ่งเป็นโปรเจกต์ท่าเรือนํ้าลึกฝั่งอ่าวไทย ในจังหวัดชุมพร เเละท่าเรือนํ้าลึกฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง โดยมีเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 เเห่ง ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร 

แน่นอนว่าในโครงการนี้ ได้มีการวิเคราะห์ถึงโอกาสมหาศาลของไทย หากทำได้สำเร็จ โดยรายการหนุ่ยทอล์ก ดำเนินการโดยคุณหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรไอทีและผู้ผลิตคอนเทนต์ชาวไทย ซึ่งได้พูดคุยกับแขกรับเชิญอย่างคุณกวี ชูกิจเกษม นักลงทุน VI / นักเขียน และนักวิเคราะห์ที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 9 ก.ค.66 นั้น ได้ทำให้เห็นถึงความสำคัญของโครงการนี้มากยิ่งขึ้น ภายใต้ความขัดแย้งของ 2 ขั้วมหาอำนาจ ‘จีน-สหรัฐฯ’ ที่ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง

ทั้งนี้จากการสรุปคร่าว ๆ แล้ว ทั้งสองท่านได้พูดคุยกันถึงมูลเหตุแห่งความขัดแย้งในโลกของกลุ่มมหาอำนาจ ตั้งแต่เรื่องของพลังงานที่แย่งชิงกันมายาวนาน จนถึงวันนี้ได้พัฒนามาสู่การแย่งชิง ‘แร่หายาก’ (Rare Earth) ซึ่งเป็นความขัดแย้งใหม่เชิงภูมิศาสตร์ และนั่นก็ทำให้การมองหาพิกัดในการได้มาและถ่ายเทไปซึ่งทรัพยากรเหล่านี้ที่ตนมีไปสู่ประเทศอื่น ๆ จึงสำคัญมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการขนส่ง

โครงการเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ ‘แลนด์บริดจ์’ (LandBridge) ของประเทศไทย จึงถูกหยิบยกขึ้นมาถกกัน โดยทั้ง 2 ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า แต่เดิมในอาเซียนจะมี ‘ช่องแคบมะละกา’ ที่เป็นพิกัดในการขนส่งสินค้ามาลงประเทศสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็น พลังงาน สินค้าเกษตร หรือแม้แต่แร่หายาก 

แต่หากมีการขยายรากฐานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน ต่อยอดประโยชน์ที่ไทยตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีนมาเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย ผ่านโครงการแลนด์บริดจ์นี้ รับรองได้ว่า ‘ไทย’ จะได้รับโอกาสใหม่ ๆ อย่างมหาศาล

แน่นอนว่า โครงการนี้จะทำให้ประเทศไทยได้เปรียบในเรื่องของการขนส่งสินค้าจากกลุ่มประเทศมหาอำนาจ ที่จะใช้เป็นทางลัดจาก ตะวันตก / ตะวันออกกลาง ไปเอเชียหรือไปสู่จีนได้ใกล้กว่ามะละกา แล้วก็สามารถแก้ปัญหาการแออัดของช่องทางคลองสุเอช รวมถึงช่องทางระหว่างแดนต่างๆ จากยุโรปไปถึงตะวันออกกลางและเอเชียภายใต้กรณีพิพาทจากสงคราม 

การเคลื่อนไหวตามข่าวที่เราได้เห็นกันชัดเจนแล้ว คือ ซาอุดีอาระเบีย ที่ได้มาคุยเจรจากับไทย ในการตั้งคลังน้ำมันขนาดใหญ่เทียบเท่าสิงคโปร์ รวมถึงการลงทุนในโครงการนี้ที่จะตามมาอีกมาก คือสัญญาณว่า ‘แลนด์บริดจ์’ ไม่ใช่แค่โครงการในประเทศไทย แต่เป็นโครงการที่โลกต้องใส่ใจ ภายใต้คำตอบที่ง่ายดายว่า โครงการนี้ขนส่งใกล้กว่าสิงคโปร์ และมีการโอกาสในการต่อยอดด้านการลงทุน สาธารณูปโภค และการขนส่งระหว่างสองซีกอ่าวอย่างมโหฬาร

ฉะนั้นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำให้แลนด์บริดจ์เกิด คือ สร้างถนน สร้างรถไฟ สร้างท่อน้ำมัน กระจายต่อไปทางจีนได้เร็วเท่าไร โอกาสก็ยิ่งชัดขึ้น เพียงแต่ตอนนี้ก็คงไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไร แต่โครงการนี้เดินหน้าได้ไม่ยาก เนื่องจากถ้าเราสร้างคลังน้ำมันใหญ่ตรงนี้ได้ การสร้างท่อน้ำมันจากตรงนี้ไปยังประเทศที่โฟกัส ก็จะไม่ยาวมาก

ทั้งสองท่านมองอีกว่า นี่คือความสำคัญของประเทศไทย ในขณะที่จีนกับอเมริกาเขาทะเลาะกัน เพราะพิกัดบริเวณแลนด์บริดจ์ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง ถ้าหากอเมริกามาคุมตรงนี้ได้ ก็เหมือนกับได้ศูนย์กลางของโลกไปเลย นำเศรษฐกิจวิ่งไปอาเซียนได้ ไป EEC ได้ ไปจีนได้ ซึ่งตอนนี้ก็มีการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง วิ่งไปที่จีนข้างบนแล้วด้วย

ขณะเดียวกัน หากมองประเทศไทยที่กำลังจะเข้าสู่การเป็นฮับของอุตสาหกรรม EV ในย่านนี้ การมีแร่พลังงาน หรือแม้แต่แร่หายากใหม่ ๆ จากประเทศจีน ก็จะไหลมาหาไทยได้ง่ายขึ้น เพราะตรงนี้ก็จะอยู่ไม่ไกลจากเรา อีกทั้งไทยเรามี FTA กับจีน ก็ขนแร่มามาทางนี้ ผ่านรถไฟความเร็วสูงที่สามารถทำเชื่อมต่อได้เลย ซึ่งนี่ก็เหตุผลที่ทำไมรถไฟฟ้าจีนถึงได้มาเมืองไทย

แล้วนั่นก็เป็นเหตุผลที่ว่า ทําไมบรรดาค่ารถยนต์จีนอย่าง MG หรือแม้แต่ GWM ถึงเริ่มแห่มาไทย เพราะในอนาคตนอกจากที่ว่าไปข้างต้นแล้ว เขายังสามารถขนเอาแร่ลิเธียมจากอินโดนีเซีย และเวียดนาม มาบริเวณนี้ได้อีกด้วย

ดังนั้น หมากเกมนี้ รัฐบาลลุงตู่ เหมือนจะวางไว้เพื่อรับโอกาสหลายมิติ แต่มิติที่ใกล้สุดก็คือการให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางโรงผลิตรถไฟฟ้าโดยธรรมชาติ และเราจะกลายเป็นประเทศที่มีค่าเงินแพงกว่าสิงคโปร์ได้ในอนาคต หากเราทำพิกัดนี้สำเร็จ ถึงบอกว่าประเทศไทยเรามีความหวังมากเลยกับโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งจะบอกเลยว่า อาจจะเจ๋งกว่า EEC เสียอีก 

ลุงตู่นี่แกก็ใช้ได้เหมือนกันนะเนี่ย
 

สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 คืบหน้า 82.5%  คาด!! พร้อมเปิดให้บริการ ภายในปี 2567

(19 ก.ค. 66) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยทั้ง 4 มิติ (บก ราง น้ำ และอากาศ) ให้เชื่อมโยงการเดินทางสู่ภูมิภาคอาเซียนอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวในภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเข้าถึงการเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ด้วยระบบการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงได้เร่งขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5  เชื่อมระหว่างบึงกาฬ และแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว ซึ่งมีความคืบหน้ามาโดยลำดับ แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคจากวิกฤติโควิด แต่ล่าสุด โครงการมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 82.550% คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการประชาชนของทั้งสองประเทศได้ในปี 2567

สำหรับโครงการดังกล่าว คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ได้มีมติอนุมัติการจัดทำและลงนามร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่าด้วยการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 ในปี 2562 

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ได้เข้าร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5  ที่อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ และแขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว

รูปแบบการก่อสร้างของโครงการนี้ กรมทางหลวงออกแบบเป็นสะพานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่องจราจร ความยาว 1,350 เมตร พร้อมอาคารด่านพรมแดนสำหรับกระบวนการข้ามแดน และถนนเชื่อมต่อโครงข่ายของทั้งสองฝั่ง โครงการมีระยะทาง 16.18 กม. วงเงิน 4,010.067 ล้านบาท โดยฝ่ายไทยมีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ วงเงิน 2,630 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 2,553 ล้านบาท และค่าควบคุมงานก่อสร้าง 77 ล้านบาท) ฝั่ง สปป.ลาว โดยกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง (MPWT) เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ วงเงิน 1,380.067 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 1,256 ล้านบา ท ค่าที่ปรึกษา 44 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการ 15 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 63 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมบริหารของ สพพ. 2.067 ล้านบาท)

ทั้งนี้เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นประตูเชื่อมโยงระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม และมณฑลกว่างสีของประเทศจีน เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทย กับ สปป.ลาว ทำให้การขนส่งสินค้าจากไทยไปสู่ตลาดในจีนตอนใต้ เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากภาคกลางของ สปป.ลาว สู่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังของไทย เพื่อส่งออกทางทะเลต่อไปยังภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

ไทยคว้าเจ้าภาพ ‘บิมสเทค รีทรีต’ ดันสร้างกลไกรับมือวิกฤต  หนุนความร่วมมือด้าน ‘การเกษตร-วัฒนธรรม-การทูต’ ให้ภูมิภาค

เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 66 กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่ข่าวว่า ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทคอย่างไม่เป็นทางการ (BIMSTEC Retreat) ที่กรุงเทพ โดยประเทศสมาชิกบิมสเทคทั้ง 7 ประเทศ ได้แสดงความมุ่งมั่นอีกครั้งหนึ่งที่จะเสริมสร้างให้บิมสเทคเป็นประชาคมที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น และมีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น

ในโอกาสนี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานการประชุมดังกล่าวและประเทศสมาชิกที่เข้าร่วม ประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล และศรีลังกา

รัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทคได้ชื่นชมว่าการประชุมครั้งนี้เป็นประโยชน์ และเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนความเห็นต่าง ๆ อย่างเป็นกันเอง รวมทั้งเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่จะส่งเสริมให้กรอบการดำเนินงานและกลไกความร่วมมือต่าง ๆ ของบิมสเทคมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อความเจริญเติบโตและความมั่งคั่งของภูมิภาค นอกจากนี้ ได้มีการหารือประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นข้อห่วงกังวลร่วมกันด้วย

ประเทศสมาชิกเห็นพ้องร่วมกันถึงความสำคัญของการสร้างกลไกในการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ต่าง ๆ เพื่อประสานงานในภาวะฉุกเฉินตามสถานการณ์ที่แตกต่างกัน และได้หารือในประเด็นสำคัญต่าง ๆ เกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร สาธารณสุข พลังงาน และการเงิน รวมถึงความร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ได้มีการพิจารณาที่จะจัดตั้งระบบการชำระเงินดิจิทัลระหว่างประเทศสมาชิกบิมสเทค รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ และการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ

รัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทค ได้ย้ำถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการประสานงาน ในประเด็นระดับโลกและประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสหประชาชาติ ประกอบด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าบิมสเทค เทคโนโลยีด้านการเกษตร ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนเยาวชน และการฝึกอบรมด้านการทูต

รัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทครู้สึกยินดี เมื่อได้รับทราบถึงความคืบหน้าของการจัดตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยการกำหนดทิศทางของบิมสเทคในอนาคต เพื่อกำหนดแผนดำเนินการขององค์กร บนพื้นฐานของผลประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศสมาชิกและประชาชน

รัฐมนตรีต่างประเทศบิมสเทคเห็นพ้องที่จะจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ เป็นประจำ โดยหากเป็นไปได้ จะจัดในช่วงไตรมาสแรกของทุกปี ทั้งนี้ อินเดียได้เสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีบิมสเทคครั้งต่อไปในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติในเดือนกันยายน 2566

ทั้งนี้ ไทยเป็นประธานบิมสเทคหรือกรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) วาระปี 2565 – 2566 ภายใต้แนวคิดการเสริมสร้างบิมสเทคสู่การเป็นภูมิภาคที่มั่งคั่ง (Prosperous) ยั่งยืน ฟื้นคืน (Resilient) และเปิดกว้าง (Open) หรือ ‘PRO BIMSTEC’ ภายในปี ค.ศ. 2030

ครม.ไฟเขียว เห็นชอบร่างประกาศสลากฯ 3 ฉบับ คาด!! เริ่มจำหน่ายสลาก 3 หลักต้นปี 2567

(18 ก.ค. 66) พ.ท.หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 66 เห็นชอบร่างกฎกระทรวงและร่างประกาศ รวม 3 ฉบับ ประกอบด้วย 

1.ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการสมทบเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ตัวเลข 3 หลัก (N3) พ.ศ. ….  
2.ร่างประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เรื่อง กำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก (L6) 
และ 3.ร่างประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เรื่อง กำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลข 3 หลัก (N3)

ตามมติ ครม. ที่เห็นชอบในหลักการการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ สลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก และสลากกินแบ่งรัฐบาล ตัวเลข 3 หลัก ไปเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 66

สำหรับขั้นตอนภายหลังจากที่ ครม. มีมติเห็นชอบแล้ว สำนักงานสลากฯ เตรียมนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสลากฯ เพื่อให้ ประธานกรรมการสลากรับทราบ และ ลงนามในประกาศ ให้มีผลบังคับใช้ โดยคาดว่าสลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก จะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2566 ขณะที่สลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลข 3 หลัก คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปี 2567 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอน จัดเตรียมแนวทางดำเนินการให้มีความพร้อมมากที่สุด

“ที่ประชุม ครม. ไม่ได้มีความเห็นเพิ่มเติมจากร่างกฎกระทรวงและร่างประกาศ เนื่องจากมีการสอบถามรายละเอียดเกือบทั้งหมดแล้ว ในคราวที่เห็นชอบเมื่อ วันที่ 14 มี.ค. 66 แต่ก็ได้เน้นย้ำให้ทำการสื่อสารกับสาธารณะให้ดี โดยเฉพาะสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลข 3 หลัก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แบบใหม่” พ.ท.หนุน กล่าว

พ.ท.หนุน กล่าวว่า การกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก (L6) วิธีการจำหน่ายและการซื้อสลากยังเป็นรูปแบบเดิม ผู้ซื้อและตัวแทนจำหน่ายสลากเดิม จะไม่ได้รับผลกระทบ เพียงแต่เป็นการปรับกระบวนการทำงานให้คล่องตัวมากขึ้น เพื่อรองรับการจำหน่ายสลากดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นในระยะต่อไป อีกทั้งไม่ต้องพิมพ์สลากเป็นแบบใบเพื่อมาสแกนเข้าระบบก่อน สามารถจำหน่ายสลากดิจิทัลได้ทันทีในจำนวนที่เหมาะสม โดยไม่มีกรอบดำเนินการ 100 ล้านใบเป็นตัวกำหนด เช่น ปัจจุบันขายสลากรูปแบบใบ 80.4 ล้านฉบับ และ ดิจิทัล 19.6 ล้านฉบับ ก็สามารถเพิ่มสลากดิจิทัลอีกได้ โดยไม่ต้องไปรอลดสัดส่วนสลากแบบใบอีกต่อไป

สำหรับการจำหน่ายสลากดิจิทัลจำหน่ายบนแอปพลิเคชันเป๋าตังในปี 2566 ยังเป็นไปตามแนวทางที่ประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 66 ที่มีนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะประธานกรรมการสลากฯ เป็นประธาน โดยคาดว่าจะจำหน่ายได้ไม่น้อยกว่า 25-30 ล้านใบต่องวด จากปัจจุบันอยู่ที่ 19.6 ล้านฉบับ ซึ่งจะพิจารณาให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของผู้ซื้อ และความต้องการขายให้เหมาะสม

‘สมโภชน์ อาหุนัย’ แห่ง EA คว้ารางวัล ‘นักบริหารดีเด่นแห่งปี 2566’ ควบรางวัล ‘นวัตกรรมยอดเยี่ยม’ จากผลิตภัณฑ์ MINE Mobility MT30

(18 ก.ค. 66) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA คว้า 2 รางวัล จากมูลนิธิเพื่อสังคมไทย มอบโล่เชิดชูเกียรติ ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ ในฐานะนักบริหารดีเด่นแห่งปี 2566 สาขาบริหารและพัฒนาองค์กร พร้อมมอบรางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยม จากผลงานผลิตภัณฑ์ MINE Mobility MT30 สำหรับองค์กรที่มีนวัตกรรมที่โดดเด่น สร้างความรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้รับโล่เชิดชูเกียรติ นักบริหารดีเด่นแห่งปี 2566 สาขาบริหารและพัฒนาองค์กร จาก พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานในพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติ โครงการหนึ่งล้านกล้าความดีตอบแทนคุณแผ่นดิน

จากผลงานโดดเด่นของ นายสมโภชน์ อาหุนัย ผู้ก่อตั้ง บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นธุรกิจจากผู้ผลิตพลังงานทดแทน เมื่อปี 2549 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2556 พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA มีการเติบโตต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา กว่า 15 ปี ที่ EA มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจ ‘Green Product’ ขยายธุรกิจไบโอดีเซล, ธุรกิจโรงไฟฟ้า, ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า, ธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้า สามารถขับเคลื่อนนวัตกรรมพลังงานสะอาดให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับสากล ทำให้องค์กรให้เติบโตควบคู่ไปกับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภายใต้แนวคิด ‘MISSION NO EMISSION’

ด้วยการบริหารตามแนวคิด วางแผนอย่างรอบคอบ วิเคราะห์ให้ลึก สร้างโอกาสทุกการเปลี่ยนแปลง จึงนำพาให้สามารถบริหารและพัฒนาองค์กร ให้เดินหน้าเป็น New Generation Company แม้เผชิญวิกฤตก็สามารถพลิกเป็นโอกาส พร้อมส่งเสริมให้พนักงานมีความมุ่งมั่น ท้าทายความสามารถและศักยภาพในทุกๆ สถานการณ์ สู่การสร้างแบรนด์คนไทยที่ภาคภูมิใจ และพัฒนาประเทศชาติที่ยั่งยืนในทุกมิติ

ขณะเดียวกัน EA ยังได้คว้ารางวัลในประเภทนวัตกรรมยอดเยี่ยม จากความสำเร็จของ นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า EV Pick-up Truck MINE Mobility MT30 โดยมี นางสาววิมลมาศ วงศ์มกรพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมน์ โมบิลิตี รีเสิร์ช จำกัด บริษัทในกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA รับรางวัลอันทรงเกียรติ จากท่าน พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติ เช่นเดียวกัน

ผลงานโดดเด่นของนวัตกรรม EV Pick-up Truck MINE Mobility MT30 รถกระบะไฟฟ้า 100% รุ่นแรกฝีมือไทย สามารถขับเคลื่อนได้ระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร/การชาร์จ 1 ครั้ง ใช้เวลาชาร์จเพียง 15 นาที ด้วยเทคโนโลยี Ultra-fast Charge พร้อมแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาด (Li-Ion Battery) 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง ผ่านมาตรฐานทดสอบความปลอดภัย UN R100 และมาตรฐานกันน้ำ IP67  มาพร้อมการออกแบบให้พื้นที่กระบะบรรทุกขนาดใหญ่พิเศษ พื้นเรียบเปิดได้ 3 ด้าน ยาว 2.5 เมตร ยาวกว่ากระบะตอนเดียวทั่วไป 18 ซม. ทำให้วางไม้กระดานได้เต็มแผ่น สามารถรองรับการบรรทุกได้ดี ช่วยประหยัดพลังงานและลดต้นทุนในภาคขนส่งเชิงพาณิชย์ ด้วยการออกแบบภายใต้แนวคิด Respect Environment ตามกลยุทธ์ 5E ได้แก่

• Environment ตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม พร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะพาธุรกิจมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero
• Energy Saving เป็น EV Truck พลังงานบริสุทธิ์ ช่วยให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมาย และตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์

• Electric EV Truck ฝีมือคนไทย 100%
• Ease สะดวกในการบำรุงรักษาด้วยศูนย์บริการชั้นนำอย่าง Cockpit ที่มีจุดบริการกว่า 90 สาขาครอบคลุมทั่วประเทศ

• Experience เปิดประสบการณ์ใหม่ด้วยรถกระบะพลังงานไฟฟ้าที่ใช้งานได้จริง เหมาะกับทุกธุรกิจและไลฟ์สไตล์ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของการพลิกโฉมอุตสาหกรรมใหม่ (New S Cuve) ด้านยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม 

‘นิพนธ์’ พร้อมดัน ‘สงขลา’ สู่ศูนย์กลางปลูกทุเรียนในไทย ควบคู่แลกเปลี่ยนความรู้แก่เกษตรกร ช่วยให้ผลผลิตมีคุณภาพ

เมื่อวานนี้ (17 ก.ค. 66) นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ ‘การทำทุเรียนฉบับขั้นเทพ’ โดยมีอาจารย์ ไพโรจน์ ทางธรรม ผู้จัดการพัฒนาตลาดและผลิตภัณฑ์ นายไพบูลย์ แก้วกันหา ผู้จัดการสื่อการตลาด และเจ้าหน้าที่บริษัทเทพวัฒนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลท่าช้าง สมาชิกสหกรณ์การเกษตรบางกล่ำ และเกษตรกรชาวสวนทุเรียนเข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์การเรียนรู้สหกรณ์การเกษตร ตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา

เนื่องด้วยปัจจุบันทุเรียนเป็นพืชตัวหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียนอย่างมากจากการจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ ในปัจจุบันมีการขยายพื้นที่การปลูกมากขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีการขยายตัวอย่างมาก

บริษัท เทพวัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรร่วมกับร้านตัวแทนจำหน่ายคือร้านชูพันธ์เกษตรฟาร์มและพันธมิตรได้แก่ บริษัทไฮโดรไทย (ปุ๋ยเรือใบไข่มุก) บริษัท แอดวานส์ เฟอร์ติไลเซอร์ต้องการใช้โอกาสนี้ในการให้ความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องการจัดการ การใช้ปุ๋ยใช้ยาในการปลูกทุเรียนให้ได้ผลผลิต ที่ดีมีคุณภาพจึงได้เชิญวิทยากรจากบริษัทเทพวัฒนาคือ อาจารย์ ไพโรจน์ ทางธรรม มาบรรยายให้ความรู้ ในครั้งนี้ เพื่อเกษตรกรจะได้ต้นทุเรียนที่สวยงดงาม และให้ผลผลิตแก่เกษตรกร ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ และสร้างมูลค่าให้กับเกษตรกร

นายนิพนธ์ กล่าวช่วงหนึ่งว่า วันนี้ได้เห็นกลุ่มเกษตรกรชาวสวนทุเรียนที่มีความตั้งใจที่จะหาความรู้ในเชิงวิชาการ การทำทุเรียนตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรีบนได้มองเห็นโอกาสร่วมกัน ซึ่งเห็นบรรยากาศแล้ว ผมเชื่อว่าการเดินหน้าให้สงขลาเป็นเมืองทุเรียนไม่ใช่เป็นเรื่องเพ้อฝัน จากความตั้งใจของพี่น้อง และความสนใจของพี่น้องเกษตรกร เชื่อว่าสงขลามีศักยภาพในการที่จะทำให้สงขลาเป็นเมืองทุเรียน เพราะสงขลาเรามีพื้นที่ค่อนข้างจะมาก ซึ่งเดิมสงขลาเราปลูกยางพารา และถือเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย

วันหนึ่งเราเห็นว่าพืชทุเรียนเป็นพืชที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย ขณะนี้เราส่งทุเรียนไปจำหน่ายต่างประเทศ เฉพาะประเทศจีนประเทศเดียวปีที่แล้วแสนกว่าล้าน นั่นคือคนจีนยังทานทุเรียนไม่ถึง 10% ของพลเมืองประเทศจีน ประเทศจีนมีประชากรประมาณ 1400 ล้านคน ขณะที่คนทานทุเรียนยังไม่ถึง 100 ล้าน ซึ่งผมได้มีโอกาสไปพบกับผู้ใหญ่ที่ดูแลธุรกิจในประเทศไทยคือท่านธนินทร์ เจียรวานนท์ ท่านเจ้าสัวซีพี ให้ข้อมูลกับผมว่าพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่สงขลาลงไป เป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกทุเรียน

ซึ่งทุเรียนเป็นพืชที่ชอบน้ำแต่ไม่ชอบน้ำขัง แต่พืชทุเรียนขาดน้ำไม่ได้ ซึ่งธุรกิจทุเรียนถือเป็นธุกิจแสนล้านหรือสองแสนล้านได้ในอนาคต แต่จุดอ่อนของบ้านเราท่านบอกว่า ที่ผ่านมาเราไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องตัวหนอนในเมล็ดทุเรียนได้ ท่านจึงส่งเจ้าหน้าที่ของซีพีมากับมูลนิธิปิดทองหลังพระ ลงมาเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อปิดจุดอ่อนในเรื่องของปัญหาตัวหนอนในเมล็ดได้ แล้วทำให้จังหวัดยะลา เป็นฮับทุเรียน ตั้งแต่วันนั้นมาผมจึงเริ่มสนใจการปลูกทุเรียนมากขึ้น เพราะท่านเป็นผู้ชี้แนะอะไรหลายอย่าง และท่านพูดแล้วก็ไม่ต้องไปศึกษาตำราที่ไหน ผมเชื่อว่าความคิดของท่านที่บอกว่า ในประเทศนี้ธุรกิจที่น่าทำคือพลังงาน แต่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าพลังงานคือน้ำมัน นั่นคือพลังงานเครื่องจักร แต่ท่านบอกว่าคงลืมไปว่าพลังงานของคนคืออาหาร ตราบใดที่มีคนหก เจ็ดพันล้านคนในโลกนี้ตราบนั้นคนต้องกินอาหารเพื่อใช้เป็นพลังงาน จากคำพูดนั้นนั่นก็คือเป็นสิ่งที่ทำไมซีพีจึงผลิตอาหารเลี้ยงคน

ดังนั้นวันนี้อนาคตของประเทศไทยคือทุเรียน และพื้นที่ภาคใต้ก็เป็นพื้นที่ที่มีโอกาส ทำอย่างไรเราจะปิดช่องว่างจุดอ่อนของทุเรียนภาคใต้ นั่นคือการแก้ไม่ให้แมลงเข้าไปวางไข่ในทุเรียน อย่าให้มีหนอนในเมล็ดทุเรียนได้ แล้วอนาคตก็จะดี ดังนั้นการให้ความรู้จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด วันนี้การทำเกษตรบ้านเราจะทำตามยถากรรมย่อมไม่ได้ การทำการเกษตรต้องมีหลักวิชา และเชื่อว่าเราจะสร้างอาชีพใหม่ได้แน่นอน ถ้าเกษตรกรคนใดมีสองอย่างคือทั้งยางพาราและสวนทุเรียน ซึ่งยางพารานั้นเก็บรายได้ทุกวัน เก็บเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน แต่ถ้าท่านปลูกทุเรียนไปด้วยทุเรียนจะถือเป็นโบนัสประจำปี สามารถสร้างกำไรเลี้ยงครอบครัวได้ ซึ่งถ้าเรามีโอกาสดีมีทั้งสวนยางพาราและสวนทุเรียนไว้บ้าง แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือองค์ความรู้ ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครรู้เรื่องของ ทุเรียนดีซะทุกอย่าง การรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นี่คือสุดยอดวิชา ใครมีปัญหาก็พูดคุยกัน และไม่ให้ปัญหาเหล่านั้นเกิดกับคนอื่นอีก หรือไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก ซึ่งก็จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

และนี่คือสิ่งที่ทุกคนจะประสบความสำเร็จในเรื่องของการปลูกทุเรียนได้ จึงอยากเห็นเกษตรกรได้ทำสิ่งเหล่านี้ และตั้งใจในการที่จะเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิชาการถือเป็นสิ่งจำเป็นในการเกษตรโดยเฉพาะเกษตรแปลงใหญ่ ฉะนั้นจากทฤษฎีทั้งหลายที่เราดำเนินการอยู่นี้ ทั้งในส่วนของกระทรวงเกษตร และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผมได้มีโอกาสในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา เข้าไปเป็นคณะรัฐมนตรี และพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้าไปดูแลในกระทรวงเกษตร ผมจึงมีความเข้าใจการสร้างมาตรฐาน หรือมาตรฐานต่างๆที่กระทรวงเกษตรกำหนด หรือแม้แต่ที่กระทรวงพาณิชย์ส่งสินค้าไปขาย

ต่อไปนี้ไม่ใช่ใครมีสินค้าทำอย่างไรก็ได้ การใช้ยาเคมีใช้อย่างไรให้พอดี ใช้ปุ๋ยอย่างไรใช้ให้พอดี เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นในเชิงวิชาการทั้งสิ้น และหลักวิชาการเหล่านี้จะทำให้เราประสบความสำเร็จในอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทุเรียนเป็นพืชเกษตรตัวใหม่ของประเทศไทย และสงขลายังไม่สายเกินไปที่จะปรับขบวนการเหล่านี้ และร้อยเรียงทำอย่างไรที่จะทำให้ทุเรียนสงขลาเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ เราต้องช่วยกัน สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลกังวลอย่างยิ่ง และรัฐบาลจีนไม่ยอมให้เกิดขึ้นนั่นคือ การส่งทุเรียนที่ไม่ได้คุณภาพเข้าประเทศจีน ดังนั้นสิ่งนี้พวกเราต้องระลึกอยู่เสมอว่าต้องไม่ทำลายตัวเราเอง เพราะการที่เราจะทำให้ทุเรียนของเราไม่มีคุณภาพ จะเป็นการตัดราคาตัดโอกาสของเกษตรกร ดังนั้นการทำให้ทุเรียนไม่มีราคา ถ้าเราลองนั่งคำนวณดูจะเห็นว่าไม่มีผลไม้ชนิดไหนแล้วในปัจจุบัน ที่จะส่งออกได้ดีกว่าทุเรียน ดังนั้นเราต้องทำให้สินค้าทุเรียนสงขลาเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้

‘ก.อุตฯ’ นิคม ‘สมาร์ท ปาร์ค’ คืบหน้ากว่า 60.70%  จีนแห่ลงทุน ‘EV’ ส่วนยุโรปจ่อพัฒนาโลจิสติกส์

(17 ก.ค. 66) นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ระยอง ว่า ปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนจากหลายประเทศหลังจากที่มีการโรดโชว์ โดยเป็นเอกชนจากประเทศจีนที่ต้องการพื้นที่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในซัพพลายเชน และมีนักลงทุนจากยุโรปที่ต้องการพื้นที่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์

ทั้งนี้ การก่อสร้างโครงการสมาร์ท ปาร์ค นั้น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ประกาศเจตนารมณ์ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้น

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นโครงการฯ จะเกิดการกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคต

ด้าน นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่าโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค เมื่อดำเนินการสำเร็จลุล่วงจะก่อให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่มากมาย ทั้งการเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย (เอส-เคิร์ฟ) การพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่น ทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มรายได้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อย่างดี โดยความก้าวหน้างานก่อสร้างสะสมจนถึง 25 มิ.ย. 2566 คืบหน้าไป 60.70% ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนที่วางไว้ในปี 2567

อย่างไรก็ตาม โครงการสมาร์ท ปาร์ค ในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งมีพื้นที่โครงการ 1,383.71 ไร่ ถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ที่จะก้าวข้ามการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นฐานเดิม เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เสริมสร้างความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ทันสมัย ปลอดภัย ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ ภายใต้แนวคิดนิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ต้องบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม!! เทศกาลภาพยนตร์ไทย-มาเลเซีย 2023 คึกคัก พร้อมดันกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางด้านภาพยนตร์ของอาเซียน

(17 ก.ค. 66) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มุ่งผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ใช้มิติวัฒนธรรมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ และสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย โดยรับทราบผลสำเร็จของงานเทศกาลภาพยนตร์ไทยในมาเลเซียประจำปี 2566 ภายใต้ธีม ‘Bridging Thainess to International Audience’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่  13 - 16 กรกฎาคม 2566 ที่โรงภาพยนตร์ GSC Mid Vally โดยมีแขกผู้มีเกียรติจากกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย กระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะและวัฒนธรรมมาเลเซีย คณะกรรมการพัฒนาภาพยนตร์แห่งมาเลเซีย (FINAS) คณะทูตานุทูตต่างประเทศ พร้อมทั้งสื่อมวลชนมาเลเซีย นักเรียน นักศึกษามาเลเซียและไทย คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในมาเลเซีย และแฟนคลับชาวไทยและมาเลเซีย เข้าร่วมกันอย่างคึกคัก

ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมมิตรภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว ในเชิงสังคมและวัฒนธรรม ยังเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และความร่วมมือในอนาคตระหว่างอุตสาหกรรมภาพยนตร์และบันเทิงของทั้งสองประเทศ เปิดโอกาสทางด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาความสำเร็จของประเทศไทยสามารถดึงดูดคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในไทย ทำให้สถิติ 7 ปี (2559 - 2565) สร้างรายได้เข้าประเทศแล้วกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ครม.พล.อ.ประยุทธ์ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเพิ่มเติมเพื่อดึงดูดคณะถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ  ทำให้มั่นใจว่าจะผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางด้านภาพยนตร์ของอาเซียนได้ตามเป้าหมาย

สำหรับการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ไทยในมาเลเซีย ประจำปี 2566 ภายใต้ธีม ‘เชื่อมความเป็นไทยสู่สากล’ นำภาพยนตร์ไทย 5 เรื่องจากเครือภาพยนตร์ไทยที่มีชื่อเสียงมาฉายสู่สายตามิตรชาวมาเลเซีย ได้แก่ แอน (Faces of Anne) เทอมสองสยองขวัญ (Haunted Universities 2nd Semester) บุพเพสันนิวาส 2 (Love Destiny the Movie) Fast & Feel Love เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ และหนังรักคลาสสิคตลอดกาล Friend Zone ระวัง...สิ้นสุดทางเพื่อน โดยจัดฉายในโรงภาพยนตร์ในเครือ Golden Screen Cinemas (GSC) 4 แห่งใน กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองปูตราจายา และรัฐสลังงอร์ ได้แก่ GSC Mid Valley GSC 1 Utama GSC MyTown และ GSC IOI City Mall โดย ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top