VAT 7% ของไทย: เพียงพอจริงหรือ? หรือถึงเวลาปรับเพิ่มให้ตอบโจทย์เศรษฐกิจ?
หนึ่งในประเด็นร้อนที่กำลังถูกพูดถึงทั่วทั้งประเทศในช่วงนี้ คือการเสนอปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 15% โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อ้างอิงข้อมูลที่ว่า อัตรา VAT ทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 15%-25% แล้วคำถามคือ... ไทยเราพร้อมหรือยัง?
แล้วรู้หรือไม่ว่าไทยเก็บ VAT ในอัตราที่ ต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน อย่างในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง
• เวียดนาม, กัมพูชา, ลาว: 10%
• ฟิลิปปินส์: 12%
• อินโดนีเซีย: 11% (และกำลังจะเพิ่มเป็น 12% ในปี 2568)
• สิงคโปร์: 9%
ถ้าขยับสายตาไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว อัตรา VAT ยิ่งพุ่งสูงอย่างเห็นได้ชัด โดย
• สหราชอาณาจักร: 20%
• เยอรมนี: 19%
• ญี่ปุ่น: 10%
จากตัวเลขนี้จะเห็นได้ชัดเลยว่าไทยเก็บ VAT ต่ำสุดทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก แต่... การเพิ่ม VAT จะนำมาซึ่งอะไร? เรามาเจาะลึกถึงข้อดี-ข้อเสียของเรื่องนี้กันค่ะ โดยข้อดีของการปรับเพิ่มอัตรา VAT คือ
ข้อดีของการเพิ่ม VAT
1. เงินเข้ารัฐมากขึ้น เพราะการเพิ่ม VAT ทุก 1% = รายได้รัฐเพิ่ม 70,000-80,000 ล้านบาท/ปี
โดยเงินก้อนนี้สามารถเอาไป ยกระดับสวัสดิการ ด้วยการช่วยคนจน, เพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และยังนำไปพัฒนาประเทศ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน, โรงพยาบาล
2. ลดความเหลื่อมล้ำ เพราะเงินจาก VAT สามารถเปลี่ยนเป็นโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโดยตรง เช่น ลดค่าเทอม หรือสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
ข้อที่ควรต้องพิจารณา
1. ค่าครองชีพพุ่ง การเพิ่ม VAT จะส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้จะกระทบทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยที่ต้องจ่ายมากขึ้นแต่รายได้เท่าเดิม
2. เศรษฐกิจชะลอตัวลง เพราะการเพิ่ม VAT 1% อาจทำให้เศรษฐกิจโตช้าลง 0.25%-0.35% ต่อปี
แม้การปรับ VAT อาจฟังดูเหมือนคำตอบที่ดีในการเพิ่มรายได้รัฐ แต่ความเสี่ยงและผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนและเศรษฐกิจในภาพรวมยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึง อีกทั้งนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ได้ยืนยันว่า ไม่มีการปรับขึ้น VAT เป็น 15% และกระทรวงการคลังกำลังศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบเพื่อความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ หากมีการพิจารณาปรับ VAT ในอนาคต สิ่งสำคัญคือต้องมีมาตรการรองรับ เช่น การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง และการปรับลดภาษีในสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นด้วยค่ะ
