Tuesday, 13 May 2025
ECONBIZ NEWS

รมว.ปุ้ย’ ชื่นชม!! นวัตกรรม ‘น้ำมันอาโวคาโด’ สารพัดประโยชน์ ผลผลิตเม็ดงามของผู้ประกอบการ ผ่านแรงหนุนจากดีพร้อม

เมื่อวานนี้ (3 ก.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับ ‘น้ำมันอาโวคาโด’ ผลผลิตจากผู้ประกอบการผ่านแรงหนุนจาก ‘ดีพร้อม’ โดยระบุว่า…

‘น้ำมันอาโวคาโด’ ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจอย่างมากชนิดหนึ่งและกำลังมาแรงด้วยคุณค่าสารสำคัญที่ดีต่อสุขภาพ ดีต่อร่างกาย เล่าสู่กันฟังนะคะเป็นควันหลงจากวานนี้ ก่อนการประชุม ครม.วานนี้มีบูธผลงานนวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำมันอโวคาโด เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรสู่ความยั่งยืน ของ บริษัทริบูรณ์ฟาร์ม โดยได้รับการสนับสนุนจาก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) มาจัดแสดงให้กับ ครม.ทุกท่านได้ชมและเลือกซื้อหาค่ะ

‘น้ำมันอาโวคาโด’ คืออะไร คือน้ำมันที่ได้จากการสกัดอโวคาโดผลสดค่ะ มีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง นี่เลยค่ะกรดโอเลอิก ในปริมาณสูงกว่า 70% ของไขมันในน้ำมันอาโวคาโด มีปริมาณลูทีนสูงมากสารชนิดนี้อยู่ในกลุ่มคาโรทีนอยด์ ช่วยลดอาการของโรคไขข้อ สรรพคุณสำคัญอีกอย่างคือบำรุงผิว ช่วยสมานแผล สามารถนำไปขยายผลิตภัณฑ์ได้อีกนานาชนิดค่ะ เฉพาะตัวน้ำมันอาโวคาโดมีจุดเกิดควัน สูงถึง 250-270 องศาเซลเซียส สูงกว่าน้ำมันพืชส่วนใหญ่ในตลาดนะคะ จุดเกิดควันคืออุณหภูมิที่เริ่มทำให้น้ำมันเสื่อมสภาพไป 

ดังนั้น เมื่อจุดเกิดควันสูงคุณค่าจากสารต่าง ๆ สูงด้วยค่ะ การนำไปประกอบการหารคุณค่าของสารอาหารอยู่ในนั้นครบถ้วน นี่คือนวัตกรรมที่ผู้ประกอบการจากการส่งเสริมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่น่าชื่นชมอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ค่ะ กระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพร้อมนะคะ ผู้ประกอบการมีแนวคิดที่ดี มีวัตถุดิบรอการพัฒนา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพร้อมไปเป็นพี่เลี้ยงค่ะ

‘ททท.’ ปักหมุดโคราช ‘เมือง 3 มรดกโลกยูเนสโก’ ต่อยอดท่องเที่ยวไทย ชูซอฟต์พาวเวอร์เด่น ผ่านแนวคิด ‘5 Must Do in Nakhon Ratchasima’

(4 ก.ค.67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลสำเร็จตามนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวของรัฐบาลว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 30 มิ.ย. มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้าไทยสะสมกว่า 17.5 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวแล้วกว่า 8.25 แสนล้านบาท และจากนโยบาย IGNITE Thailand’s Tourism ส่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวไทยทุกมิติ เดินหน้ากระตุ้นการท่องเที่ยวต่อเนื่อง และนำเสนอเส้นทางการท่องเที่ยวในเมืองหลัก เชื่อมโยงไปยังเมืองน่าเที่ยว ขยายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวตามกระแส โดยเตรียมเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-จีน ครบ 50 ปี ผ่านโครงการ ‘ลาบูบู้เที่ยวไทย’ (Welcome Ceremony of LABUBU)ตามรอยลาบูบู้ ตามกลยุทธ์ ‘5 Must Do in Thailand’

นายชัย กล่าวว่า นักท่องเที่ยว 5 อันดับแรกที่เดินทางเข้าไทยสูงสุด ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ และรัสเซีย ตามลำดับ และในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิ.ย.ที่มีการจัดกิจกรรมงาน Pride month 2024 ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาท่องเที่ยว 659,830 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 19,083 คน หรือ 2.98% หรือเฉลี่ยวันละ 94,262 คน 

สำหรับการต่อยอดท่องเที่ยว การเที่ยวแห่งประเทศไทย จะผลักดันจ.นครราชสีมา ‘เมือง 3 มรดกโลกยูเนสโก’ (UNESCO Triple Heritage City) ที่เป็นจังหวัดแรกและจังหวัดเดียวในไทย ที่มีโปรแกรมของยูเนสโกครบทั้ง 3 โปรแกรม ได้แก่ 

- สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช อ.วังน้ำเขียว 
- มรดกโลกทางธรรมชาติผืนป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ 
- อุทยานธรณีโลกโคราช 

โดยจะเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวไปสู่เมืองน่าเที่ยวอื่น ในภูมิภาค เช่น กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ (ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์) รวมทั้งส่งเสริม Soft Power โดยใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมเป็นจุดขายผ่านแนวคิด 5 Must Do in Nakhon Ratchasima คือ

1. Must Eat อิ่มอร่อยอาหารจานเด็ด 

2. Must See ละลานตาการแสดงวัฒนธรรม 

3. Must Seek แหล่ง unseen ถิ่นน่าเที่ยว 

4. Must Buy ของกินของฝากล้ำค่าน่าซื้อหา

5. Must Beat กีฬาท้าทายกายใจ 

นอกจากนั้นจะร่วมกับ POP MART จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว เตรียมเฉลิมฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนครบรอบ 50 ปี ผ่านโครงการ ‘ลาบูบู้เที่ยวไทย’ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 - 4 ก.ค.เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวก ให้มาสคอตลาบูบู้แต่งกายด้วยชุดไทย พร้อมถ่ายทำคลิปวิดีโอประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยสื่อสารไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ตามโปรแกรมการท่องเที่ยว 5 Must Do in Thailand ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อตามรอยลาบูบู้ รวมถึงช่วยบอกต่อและเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวจีนเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยว และ กก. คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพิ่มมากขึ้นอีกจากปัจจัยส่งเสริมการเดินทาง ทั้งกระแสการท่องเที่ยวตามรอย MV เพลงใหม่ ‘ROCKSTAR’ ของลิซ่า และการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว Summer holiday ของตลาดภูมิภาคยุโรป รวมถึงการท่องเที่ยวตามรอยลาบูบู้ เป็นต้น

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของไทย ประกอบกับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไทยสามารถดำเนินการผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฟื้นตัวจนเห็นผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นว่าด้วยการส่งเสริม ต่อยอดของรัฐบาล สนับสนุนการดำเนินงานทั้งเพื่อความปลอดภัย และความสะดวกทันสมัยตอบโจทย์ และตามกระแสของนักท่องเที่ยว จะทำให้ไทยสามารถมีรายได้จากการท่องเที่ยวตามเป้า เพิ่มโอกาสเป็นประโยชน์ต่อวิถีชีวิตพี่น้องประชาชนทุกคน” นายชัย กล่าว

'กนอ.' เปิดรับฟังความเห็น 'เอกชน' หวังกระชับความต้องการนักลงทุนตรงจุด ก่อนเปิดรับการลงทุนระลอกใหม่ ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ช่วงที่ 2 ในปี 69

(4 ก.ค. 67) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า การจัดงานสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนในโครงการทบทวนรายงานการศึกษา และวิเคราะห์โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เป็นโครงการสำคัญเร่งด่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และสินค้าเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดย กนอ. เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน นำความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินงาน เพื่อเสริมสร้างการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และเกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ 

ทั้งนี้ การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อทบทวนการศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ ที่ กนอ. จัดทำไว้แล้ว ให้เหมาะสมกับความต้องการในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต ก่อนเสนอให้ กนอ. ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการนำเสนอหลักการที่ต้องการเปลี่ยนแปลง รวมถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงต่อหลักการเดิมของโครงการฯ ที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบไว้ต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

ตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของธุรกิจหรือกิจการของภาคเอกชนในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และลักษณะทางกายภาพของสภาพพื้นที่ของโครงการฯ

นายคณพศ ขุนทอง รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ 3) กล่าวว่า การจัดสัมมนา Market Sounding ครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้แสดงความคิดเห็น และเสนอแนะความต้องการที่จะพัฒนาโครงการ ประกอบด้วย พื้นที่หลังท่าเทียบเรือ 350 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร ซึ่งหลังจากได้รับฟังความคิดเห็นแล้ว จะนำไปวิเคราะห์รูปแบบการประกอบธุรกิจ รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกับการเข้าร่วมยื่นข้อเสนอการลงทุนโครงการอย่างเหมาะสมต่อไป

นายปมุข เตพละกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายปฏิบัติการ 3 กล่าวเสริมว่า โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 แบ่งการพัฒนาโครงการเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วยงานขุดลอกร่องน้ำ งานถมทะเลพื้นที่ 1,000 ไร่ และลงทุนธุรกิจท่าเทียบเรือก๊าซ 200 ไร่ กนอ. ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) กับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด หรือ GMTP เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2562 ระยะเวลาสัมปทานทั้งสิ้น 35 ปี

โดย กนอ. ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 12,900 ล้านบาท และให้บริษัท GMTP ลงทุนท่าเทียบเรือก๊าซ 35,000 ล้านบาท ปัจจุบัน มีความก้าวหน้าการดำเนินงานไปแล้วกว่า 84% พร้อมเปิดให้บริการในปี 2569 ส่วนการดำเนินงานในช่วงที่ 2 กำลังอยู่ระหว่างทบทวนผลการศึกษาสำหรับการพัฒนาพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) ประกอบด้วยพื้นที่หลังท่าเทียบเรือ 350 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร 

รายงานข่าวระบุว่า สำหรับมูลค่าการลงทุนทั้งโครงการรวมที่ 6.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชน 5.2 หมื่นล้านบาท และภาครัฐ 1.2 หมื่นล้านบาท

‘ผู้เชี่ยวชาญด้านจีน’ เปิด 3 เหตุผล ปม ‘BYD’ ลดราคาถล่มทลาย ชี้!! เกิดจากปัจจัยนอกไทย ‘ผลิตล้นตลาด-อเมริกาขึ้นภาษี-ยุโรปไม่ซื้อ’

(4 ก.ค.67) เพจเฟซบุ๊ก ‘MCOT News FM 100.5’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีน เปิด 3 เหตุผล BYD ลดราคาถล่ม ชี้เกิดจากปัจจัยนอกประเทศไทย

จากกรณีรถยนต์ไฟฟ้า BYD ประกาศลดราคาลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยรวมส่วนลดสูงสุดถึง 340,000 บาท จนสร้างความไม่พอใจให้ผู้บริโภคที่ซื้อไปก่อนหน้านี้ กระทั่งมีการนัดรวมพลยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ สคบ. นั้น

ล่าสุด ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีน โพสต์ข้อความผ่านแอปพลิเคชัน X ถึงกรณีดังกล่าวระบุว่า เรื่อง BYD ลดราคานี้มันมีเหตุมาจากนอกประเทศไทย

1. จีน subsidize ผู้ผลิต EV แบบเว่อร์วังอลังการมากจึงมีการผลิตออกมาเกินความต้องการของตลาดไปมาก

2.อเมริกาขึ้นภาษี EV จีนแบบโหดและกะทันหันมาก

3.ยุโรปไม่ซื้อด้วยหลายสาเหตุ

การเอาสินค้ามา dump ที่ประเทศมหามิตรแล้ว dump ราคาเพื่อระบายสินค้าจึงเกิดขึ้น ดังนั้นผู้ซื้อรวมตัวกันไปต่อรองไม่น่าเป็นผล

‘สุริยะ’ ตั้งเป้ายกระดับ ‘ไทย’ สู่ศูนย์กลางการบินในอาเซียน พร้อมดันสนามบินไทยติด 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก

เมื่อวานนี้ (3 ก.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานและกล่าวงาน Dinner Talk เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี การดำเนินงาน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) โดยมี นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน โดยมี พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการ ทอท. นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ให้การต้อนรับ

นายสุริยะกล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ Thailand Vision โดยมุ่งพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน และตั้งเป้าประเทศไทยจะก้าวไปเป็นที่ 1 ของภูมิภาค โดยยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) นั้น รัฐบาลจะใช้ศักยภาพและทรัพยากรของประเทศไทยที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทุกด้านเพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจ เนื่องจากประเทศไทยมีขนาดพื้นที่เป็นอันดับที่ 50 ของโลก แต่มีผู้เดินทางจากทั่วทุกมุมโลกมาเยือนอยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก

ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2567 (เดือนตุลาคม 2566-พฤษภาคม 2567) ฟื้นตัวจนเกือบจะเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยมีผู้โดยสารรวม 81.05 ล้านคน ฟื้นตัว 83.4% เมื่อเทียบกับช่วงปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด-19) แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 48.95 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 32.09 ล้านคน ฟื้นตัว 80% ขณะที่มีเที่ยวบินรวม 490,970 เที่ยวบิน ฟื้นตัว 80.9% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 274,410 เที่ยวบิน ฟื้นตัว 83.5% และเที่ยวบินภายในประเทศ 216,560 เที่ยวบิน ฟื้นตัว 77.9% โดยในอีก 5 ปี (ปี 2572) คาดว่าทั้ง 6 สนามบินจะมีผู้โดยสารประมาณ 170 ล้านคน และมีเที่ยวบินประมาณ 1 ล้านเที่ยวบิน และในอีก 10 ปี (ปี 2577) คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 210 ล้านคน และมีเที่ยวบินประมาณ 1.2 ล้านเที่ยวบิน

นายกีรติกล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารอินเดีย, ยุโรป และอเมริกา มีจำนวนสูงกว่าเมื่อปี 62 ไปแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการบินฟื้นตัวกลับมา แต่ยังรอผู้โดยสารจีน ซึ่งขณะนี้กลับมาประมาณ 65% เทียบจากก่อนโควิด ส่วนอีก 35% คาดว่าจะกลับมาในปี 68 ซึ่งจะทำให้ปริมาณผู้โดยสารในภาพรวมกลับมาที่ 140 ล้านคนต่อปีเท่ากับปี 62

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพของสนามบินให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า ล้านคนต่อปี เพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน จึงต้องเร่งดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานให้มีความพร้อมรองรับการเดินทางในอนาคต โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่มีผู้โดยสารมาใช้บริการมากที่สุดกว่า 40 ล้านคน อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดโครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) คาดว่าจะเพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารได้อีก 81,000 ตารางเมตร และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการทางวิ่งเส้นที่ 3 ในช่วงเดือน ก.ย. 2567 ทำให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น จาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

ได้วางแผนดำเนินโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันตก (West Expansion) โครงการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (Satellite 2 : SAT-2) โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) และโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 เมื่อทุกโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่า ทสภ.จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

นายกีรติกล่าวว่า “จากการดำเนินการของ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานเชียงใหม่ที่ผ่านมาในช่วงระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 66-30 มีนาคม 67 เทียบกับช่วงก่อนดำเนินการ (ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม 65-25 มีนาคม 66) สามารถบริหารจัดการเที่ยวบินได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยดอนเมืองสามารถเพิ่ม slot เที่ยวบินจากเดิม 50 เที่ยวบิน เป็น 57 เที่ยวบิน ทำให้ผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 12% รายได้เพิ่มขึ้น 520 ล้านบาท” 

“ส่วน ทภก.สามารถเพิ่ม slot เที่ยวบินจากเดิม 20 เที่ยวบิน เป็น 25 เที่ยวบิน ทำให้ผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 18% รายได้เพิ่มขึ้น 640 ล้านบาท และ ทชม.ซึ่งได้ขยายระยะเวลาในการเปิดให้บริการเป็น 24 ชั่วโมง ทำให้มีผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 5% และมีรายได้เพิ่มขึ้น 80 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าหากเปิดใช้งานทางวิ่งเส้นที่ 3 ทสภ.จะทำให้ในปี 68 มีเที่ยวบินเพิ่มเป็น 75 เที่ยวบิน มีรายได้ 4,718.24 ล้านบาท ปี 69 จะมีเที่ยวบิน 85 เที่ยวบิน มีรายได้ 8,561.54 ล้านบาท และปี 70 จะมีเที่ยวบิน 94 เที่ยวบิน และมีรายได้ 9,090.52 ล้านบาท” 

‘คลัง’ แย้ม!! ก.ค.นี้ เล็งเคาะวันลงทะเบียน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ พร้อมเปิดให้ ‘ปชช.-ร้านค้า’ ยืนยันสิทธิ์ ผ่านแอปฯ ‘ทางรัฐ’

(3 ก.ค. 67) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ภายในเดือน ก.ค. นี้ กระทรวงการคลังจะประกาศวันเปิดให้ประชาชน และร้านค้าที่มีสิทธิ์ลงทะเบียนเพื่อยืนยันการรับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการดิจิทัล วอลเล็ตอย่างเป็นทางการ ผ่านแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ โดยจะเปิดให้ผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียนภายในระยะ 2 เดือนนับจากวันประกาศ ส่วนกำหนดวันแจกเงิน หรือ โอนเงินในโครงการดิจิทัล วอลเล็ตนั้น ขณะนี้เริ่มเห็นวันที่ชัดเจนแล้ว รอเพียงระบบการโอนเงินมีความพร้อม ก็จะประกาศวันโอนเงินอย่างเป็นทางการต่อไป

“ภายในเดือนนี้ กระทรวงการคลังจะประกาศวันลงทะเบียนอย่างเป็นทางการ สำหรับประชาชน และร้านค้า โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนประมาณ 2 เดือน เชื่อว่ามีเวลาเพียงพอ ส่วนกำหนดวันรับเงินที่ชัดเจนนั้น คงต้องรอดูว่าระบบจะพร้อมเมื่อไหร่ แต่ขอเวลาทำงานอีกนิดหน่อย ใกล้ ๆ วันอีกหน่อย เพื่อความชัดเจน เพื่อที่วันจะได้ไม่เลื่อนไหลไปอีก” นายจุลพันธ์ กล่าว

ส่วนความคืบหน้า กรณีที่คณะกรรมาธิการ วิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 แขวนการพิจารณาจัดสรรงบกลางรองรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 152,700 ล้านบาทนั้น นายจุลพันธ์ ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า หลังจากที่ได้มอบหมายให้นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กลับไปจัดทำเอกสารงบฯ เพิ่มเติม ขณะนี้ ยังไม่ได้รับรายงานความคืบหน้ากลับมา แต่อย่างไรก็ตามหากแล้วเสร็จจะกำหนดวันที่ชัดเจน เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาต่อสภาฯ ต่อไป

“คาดว่าจะผ่านพิจารณาของสภาฯ ได้ไม่มีไรน่าตื่นเต้น เพราะการแขวนงบไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น เป็นเรื่องปกติ สุดท้ายก็เป็นเรื่องของเสียงข้างมาก เพราะเราชี้แจงได้ และทำให้งบประมาณตัวนี้เข้าสู่วาระ 2 ได้ และมั่นใจว่า จะผ่านวาระ 3 ได้ 100%” นายจุลพันธ์ กล่าว

‘ดอยคำ’ เปิดตัว ‘น้ำทุเรียนหมอนทอง 100%’ บรรจุซอง ‘เนื้อเนียน-หวานมัน’ เหมาะซื้อเป็นของฝากในราคา 95 บาท

เรียกว่าช่วงนี้ของประเทศไทย ถือเป็นฤดูแห่งทุเรียนก็ว่าได้ และคนไทยเราก็ขึ้นชื่อเรื่องความไปเรื่อยแบบสร้างสรรค์สุด ๆ กินทุเรียนปกติมันไม่จึ้งพอ ก็สรรหาทำ ข้าวเหนียวทุเรียน ไอศกรีมทุเรียน นมเม็ดทุเรียน ลูกอมทุเรียน ทุเรียนกวน ทุเรียนทอด เรียกได้ว่า สารพัดเมนูทุเรียนจริง ๆ

ล่าสุด (3 ก.ค. 67) เพจเฟซบุ๊ก ดอยคำ-Doi Kham ได้โพสต์สินค้าตัวใหม่ ระบุว่า…

“ใหม่ น้ำทุเรียน 100% จากดอยคำ ผลิตจากทุเรียนพันธุ์หมอนทอง เนื้อเนียน หวานมัน เข้มข้นเต็มรสทุเรียน”

“คงความสดในซอง รังสรรค์เมนูได้หลากหลาย พกพาสะดวก เหมาะเป็นของฝากชาวไทย และชาวต่างชาติ ราคา 95 บาท ทุเรียนเลิฟเวอร์ห้ามพลาด ซื้อได้แล้ววันนี้ที่ ร้านดอยคำ และ คิงพาวเวอร์ ทุกสาขา”

'อัครเดช-รวมไทยสร้างชาติ' ระดมหัวกะทิ ลุยแผนรับมือเพลิงไหม้โรงงาน ยกบทเรียนไฟไหม้ถังเก็บสารเคมี ‘มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล’ เป็นแม่แบบ

(3 ก.ค.67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส. จังหวัดราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม คณะผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงกรณีเพลิงไหม้ถังเก็บสารเคมี บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ว่า จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ถังเก็บสารเคมี บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชนในบริเวณนั้นอย่างกว้างขวาง คณะกรรมาธิการได้เล็งเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุไฟไหม้ และความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ควรต้องทบทวนและถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ไฟไหม้ดังกล่าว เพื่อหาแนวทางร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อป้องกันเหตุและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ในวันนี้ คณะกรรมาธิการ จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีไฟไหม้ถังเก็บสารเคมี บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด คือ กรมควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง สํานักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง สํานักงานเทศบาลเมืองมาบตาพุด และบริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จํากัด มาให้ข้อมูลแก่ทางคณะกรรมาธิการ

โดยคณะกรรมาธิการ ได้พิจารณาใน 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่ 1 แผนการเผชิญเหตุเพลิงไหม้สารเคมีในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม ในเบื้องต้น ได้ให้ความเห็นว่า การดำเนินการดับเพลิงล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น จึงได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทบทวนแผนการดำเนินการดับเพลิง กรณีเพลิงไหม้สารเคมีและเพลิงไหม้ที่ต้องใช้สารเคมีในการดับเพลิงในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม 

โดยให้ทบทวนถึงจำนวนรถดับเพลิงที่บรรจุสารเคมี บุคลากรที่มีความชำนาญในการดับเพลิงที่ใช้สารเคมีว่ามีความจำนวนเหมาะสมกับความเสี่ยงหรือไม่อย่างไร 

อย่างไรก็ตาม แม้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง จะได้ชี้แจงว่าได้มีแผนการดำเนินงานระหว่าง พ.ศ. 2564 ถึง พ.ศ. 2570 อยู่แล้ว และทางการนิคมอุตสาหกรรมจะได้ชี้แจงว่าปัจจุบันมีรถดับเพลิงที่ใช้สำหรับกรณีเกิดจากสารเคมีโดยเฉพาะอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถพิจารณาถึงการนำมาใช้ที่ความเหมาะสมได้ ดังนั้น จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลับไปพิจารณาทบทวนแผนการเผชิญเหตุ เพื่อให้จังหวัดระยองเป็นจังหวัดต้นแบบในการเผชิญเหตุเพลิงไหม้ในอุตสาหกรรมหนักที่ไม่สามารถใช้น้ำในการดับเพลิงได้ และจะมีการเข้าชี้แจงต่อ กมธ. อุตสาหกรรมอีกครั้งหนึ่ง 

นายอัครเดช กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 คือประเด็นผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งแบ่งออกเป็นผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 

สำหรับผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนนั้นปรากฏว่า กรมควบคุมมลพิษได้ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดระยองได้มีการดูแลช่วยเหลือประชาชนเป็นอย่างดี และไม่พบปัญหาใด ๆ 

สำหรับด้านสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินการตรวจวัดความปนเปื้อนในน้ำทะเล อากาศ และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ บริเวณโดยรอบพบว่าในช่วงแรกของเหตุการณ์มีการปนเปื้อน แต่กลับเข้าสู่ภาวะปกติในเวลาต่อมา 

ขณะที่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ให้ข้อมูลว่า เบื้องต้นได้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบไปแล้วประมาณ 10 ล้านบาท ทาง กมธ. อุตสาหกรรม จึงได้เสนอแนะให้เยียวยาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ 

“ในฐานะตัวแทนคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมขอยืนยันว่า คณะกรรมาธิการจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันไม่ให้มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต” นายอัครเดชกล่าว

'นายกฯ' ต้อนรับ 'DP World' หารือโอกาสลงทุนไทย พร้อมชูจุดแข็งทางภูมิศาสตร์ เชื่อมทะเล 2 ฝั่งมหาสมุทร

(3 ก.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับ สุลต่าน อะห์เหม็ด บิน สุลาเย็ม ประธานกลุ่มบริษัทและผู้บริหารธุรกิจโลจิสติกส์และ Supply Chain ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ‘Dubai Port World (DP World)’ เพื่อหารือเกี่ยวกับโอกาสการลงทุนในประเทศไทย และการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งของภูมิภาค

โดย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “เราได้พูดคุยเกี่ยวกับภาพรวมของเศรษฐกิจและทิศทางการลงทุนในโครงการต่างๆ ของประเทศไทยเพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งของภูมิภาคโดยอาศัยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ที่เชื่อมทะเลทั้ง 2 ฝั่ง คือ ฝั่งมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งจะเป็นประตูให้กับการคมนาคมขนส่งและการค้าในระดับภูมิภาคและระดับโลก”

นายกรัฐมนตรี ยังเน้นย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ต้องการให้นักลงทุนจากทั่วโลกมีส่วนร่วมในการลงทุนในประเทศไทยเพื่อก้าวสู่ประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่ครบวงจร พร้อมแสดงให้เห็นถึงทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของประเทศไทยและการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

ด้าน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รู้สึกดีใจที่ได้พบกับผู้บริหารและฝ่ายบริหารของ DP World อีกครั้งที่ประเทศไทย จากก่อนหน้านี้ที่พบกันในงาน World Economic Forum (WEF) ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา 

นอกเหนือจากภารกิจในการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคอาเซียนที่กรุงเทพฯ แล้ว DP World ยังประกอบกิจการท่าเทียบเรือขนถ่ายตู้สินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบังในจังหวัดชลบุรี ซึ่งถือเป็นท่าเรือนานาชาติที่คับคั่งที่สุดในประเทศไทย

สุลต่าน อะห์เหม็ด บิน สุลาเย็ม ประธานกลุ่มบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DP World กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง และยินดีที่จะรับฟังข้อมูลโครงการต่างๆ ของประเทศไทย

“DP World ยังคงมองหาโอกาสในการลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง อย่างไรก็ตาม แรงเสียดทานทางเศรษฐกิจและอุปสรรคจาก Supply Chain ทำให้เกิดความท้าทายด้วยความเชี่ยวชาญในการบริหารท่าเรือและท่าเทียบเรือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ไปจนถึงการขนส่ง โลจิสติกส์ และเทคโนโลยีด้านการขนส่ง เรามั่นใจว่าจะทำให้การค้าราบรื่น” บิน สุลาเย็ม กล่าว

DP World ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในดูไบ มีพนักงาน 111,000 คนในกว่า 75 ประเทศ ทำหน้าที่สนับสนุนเจ้าของสินค้าตั้งแต่ท่าเรือและท่าเทียบเรือไปจนถึงบริการทางทะเลและโลจิสติกส์ มีขีดความสามารถในการบริหารตู้สินค้าได้ถึง 10% ของตู้สินค้าทั่วโลก ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก DP World มีพนักงานกว่า 7,000 คน และมีท่าเรือและท่าเทียบเรือ 19 แห่ง

ถอดรหัสโอกาสจาก ‘ผืนป่า’ ผ่านมุมมอง ‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’ หากมนุษย์รู้จักบริบาลป่า ป่าก็พร้อมบริบาลมนุษย์กลับคืน

จากรายการทันข่าววุฒิสภา เมื่อวันที่ 2 ก.ค.67 ได้เชิญ 'อาจารย์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์' รองประธาน กมธ. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา มาร่วมพูดคุยถึงประเด็น ‘เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า’ แบบเจาะลึก โดยเนื้อหาดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้…

อ.วีระศักดิ์ มองว่า ในสมัยหนึ่ง มนุษย์มองเรื่องของ ‘ป่า’ เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก โดยมนุษย์จะบริบาลหรือดูแลรักษาป่าไว้เพื่อรักษาความชื้น เพื่อให้เป็นที่อยู่ให้สัตว์ป่า หรือก็คือ…มองป่าในเชิงของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด แล้วก็เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม หากมองในมิติดังกล่าวมากเกินไป ก็อาจจะทำให้ ‘ความสัมพันธ์’ ระหว่างป่า กับ มนุษย์ ค่อย ๆ เกิดช่องว่าง ป่าจะเป็นได้เพียงแค่ผู้ช่วยที่ทำให้เกิดอากาศดี และเป็นที่ธำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพบางประเภทให้กับมนุษย์เท่านั้น

ทว่า ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มนุษย์เริ่มเข้าไปรุกล้ำป่ามากขึ้น หรือก็คือ…แทบจะไม่มีพื้นที่ไหน ที่ไม่มีมนุษย์เข้าไปอยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากป่า และเริ่มมองหา ‘เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า’ อย่างจริงจัง แต่เป็นการหาประโยชน์ที่ขาดซึ่งบริบาลป่าควบคู่กันไป ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะองค์ความรู้ และบุคลากรที่พร้อมจะช่วยบริบาลป่าได้อย่างต่อเนื่อง เปรียบเสมือนกับสังคมปัจจุบันที่เข้าสู่ ‘ยุคสูงวัย’ แต่ขาดระบบในการดูแลจัดการคนกลุ่มนี้ รวมถึงคนที่มีความชำนาญในการมาดูแลพวกท่าน เป็นต้น

ทั้งนี้ เหตุผลที่เทียบ ‘เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า’ กับ ‘ยุคสูงวัย’ นั้น เพราะ อ.วีระศักดิ์ พยายามจะเน้นย้ำให้เห็นถึงมิติของการบริบาล หรือการดูแล เพื่อให้ป่าพร้อมที่จะกลับมาดูแลมนุษย์คืนกลับต่อไป ไม่ใช่มองป่าเป็นเพียงเศรษฐกิจที่เอาไว้กอบโกย แต่ไม่เคยคืนหรือดูแลป่าไม้กลับ

“เดิม ‘ชาวตะวันตก’ ที่เข้ามาได้สัมปทานป่าไม้ในประเทศไทยในยุคช่วงหลังล่าอาณานิคม เคยแนะนำให้ประเทศไทยสร้าง ‘กลุ่มป่าไม้’ หรือ หน่วยงานราชการที่ว่าด้วยเรื่องป่าไม้กันมาแต่ก็ตั้งแต่ช่วงนั้น เพื่อคุ้มครองป้องกันไม่ให้ป่าถูกบุกรุกและถูกทำลาย เพราะเขามองเห็นว่าในอนาคตกลุ่มคนที่เข้ามาทำลาย และเข้าไปได้เศรษฐกิจจากป่ากลับไปนั้น จะทำให้ป่าไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย และนานวันป่าก็ยิ่งมีแต่ต้องมอบเศรษฐกิจให้แก่มนุษย์ฝ่ายเดียวมากขึ้น ผ่านการมอบสัมปทานให้กับภาคเอกชน ที่ตัดป่าไม้ไปเพื่อการส่งออกไม้ในเชิงของอุตสาหกรรม ไปทำเฟอร์นิเจอร์ ไปต่อเรือ รวมไปถึงกลุ่มที่ลักลอบตัดไม้ไปขาย ซึ่งปัจจุบันก็คงเห็นแล้วว่าป่าไม้ในไทยถูกตัดกันจนเหี้ยนแล้วจริง ๆ” 

จากจุดนี้ อ.วีระศักดิ์ จึงมองว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องมาสนทนากันอย่างจริงจังถึง ‘เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่าในยุคปัจจุบัน’ โดยระหว่างช่วงแรมปีที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษานวัตกรรมและเทคโนโลยี ได้มีการไปร่วมพูดคุยกันอย่างจริงจังที่จังหวัดแพร่ โดยต่างเห็นพ้องต้องกันว่า จะฟื้นฟูให้ ‘โรงเรียนป่าไม้แพร่’ ฟื้นกลับขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นสะพานไปสู่เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่าแห่งยุคปัจจุบัน

อ.วีระศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า นี่เป็นเสมือนการชุบชีวิตโรงเรียนป่าไม้แพร่ให้ฟื้นกลับมาใหม่ ในฐานะของ ‘สถาบันการศึกษา’ โดยจะมีกิจกรรมหลักสูตรที่เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนเพื่อรับเป็นเครดิตในระดับปริญญาได้เป็นครั้งแรก หลังโรงเรียนป่าไม้แพร่ของกรมป่าไม้ถูกปิดตัวไปกว่า 30ปี

ทั้งนี้ หลักสูตรที่เปิด นอกจากการเรียนเรื่องการปลูกป่า รักษาป่า การพัฒนาพันธุ์ไม้ป่า การใช้ประโยชน์จากวัสดุที่เก็บได้จากป่ามาทำมูลค่าเพิ่ม เช่น ทำถ่านกัมมันต์จากเปลือกไม้ จากฟาง จากขี้เลื่อยแล้ว ยังมีหลักสูตรรุกขกรตัดแต่งกิ่งไม้ การออกแบบผลิตภัณฑ์จากไม้ การตรวจพิสูจน์ไม้ การสกัดสารสำคัญทางชีวภาพจากพืช การเพาะเลี้ยงสัตว์ การบริหารป่าชุมชน การทำสวนป่า การทำฝายในป่า ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้พื้นที่ตั้งโรงเรียนป่าไม้แพร่ได้กลับมามีชีวิตชีวา และสามารถถ่ายทอดความรู้ความชำนาญจากผู้มีทักษะความรู้กระจายให้ผู้มาเข้าหลักสูตรได้หลากหลาย

นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรที่ว่าด้วยการเพาะพันธุ์กล้าไม้ ทั้งไม้ทั่วไป ไม้เฉพาะ ไม้เศรษฐกิจ (ไม้สัก-ไม้พะยูง) และไม้หายากด้วย ซึ่งเดิมหน่วยงานไหน สถาบันการศึกษาใดจะเพาะ แล้วไปจำหน่ายก็ตามแต่บทบาทของแต่ละหน่วย เพียงแต่ถ้าถามว่าแล้ว ความรู้ในการ การเพาะพันธุ์นั้น พอจะสอนกันได้หรือไม่ ก็นำมาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสถาบันแห่งนี้ เพื่อช่วยให้เกิดการต่อยอดสร้างเศรษฐกิจจากผืนป่า ที่นำไปพัฒนาต่อทางอุตสาหกรรม เฟอร์นิเจอร์ เชื้อเพลิง และอื่น ๆ ได้ต่อไป

ในอดีตแต่ดั้งเดิมนั้น โรงเรียนป่าไม้แพร่เคยถูกสร้างมาเพื่อสร้างข้าราชการที่จะบรรจุมาทำงานด้านการทำไม้ การชักลากไม้ ซึ่งเน้นการตัดสางเพื่อเปิดพื้นที่ให้ไม้ป่าสามารถเติบโตให้ลำต้นอ้วนพีมากขึ้น แต่ภายหลังเมื่อทางการไทยเปลี่ยนมาใช้การให้สัมปทานตัดไม้แก่เอกชน จึงปิดโรงเรียนป่าไม้แพร่ไป ปรากฏว่าเอกชนที่ได้รับสัมปทานกลับเน้นการตัดไม้ในพื้นที่ให้หมด เพื่อให้คุ้มค่าการลงทุนที่สุด และยังมักลักลอบตัดไม้นอกแปลงสัมปทานไว้ด้วย จนเมื่อมาถึงสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หลังพายุไต้ฝุ่นเกย์ทำให้เกิดซุงถล่มไหลลงจากเขา ทับหมู่บ้านที่อยู่ตอนล่างมากมาย รัฐบาลจึงสั่งเปลี่ยนนโยบายให้ปิดป่าเลิกสัมปทานทำไม้ทั้งหมดนับแต่นั้น

นั่นจึงทำให้โรงเรียนป่าไม้แพร่ไม่ได้รับเหตุจูงใจให้เปิดขึ้นมาอีก จนภายหลังจากปี 2562 มีการแก้ไขกฎหมายให้คนอยู่กับป่าได้ ยกเลิกการห้ามตัดไม้หวงห้าม ทำให้มีประชาชนปลูกไม้มีค่าเพิ่มขึ้นในที่ดินตนเอง แต่องค์ความรู้ในการบำรุงรักษา และการทำไม้เริ่มหายไป ดังนั้น การฟื้นฟูหลักสูตรทักษะการจัดการป่า การดูแลต้นไม้ และสร้างมูลค่าเพิ่มจากป่า จึงเป็นฐานความรู้ที่จะทวีความสำคัญต่อการรักษาและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีคุณภาพได้ดียิ่ง ๆ ขึ้นต่อ ๆ ไป

ดังนั้นโรงเรียนป่าไม้แพร่ ก็จะเป็นต้นแบบหนึ่ง ที่เชื่อว่าหลักสูตรและความรู้เหล่านี้ เมื่อนำไปขยายกระจายต่อ จะสร้างความตระหนักรู้ และประโยชน์เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนและผู้คนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ใกล้ป่าหันกลับมาอยากจะปลูกป่ากันมากขึ้น

แม้เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่ายุคใหม่ จะดูน่าสนใจเพียงใด แต่ อ.วีระศักดิ์ เชื่อว่า บางคนที่พอได้ฟังแบบนี้แล้ว ก็อาจจะมีบางมุม เช่น ถ้าการตัดไม้ทำลายป่า เป็นเรื่องไม่ดี เขาก็จะไม่ตัด แต่เช่นเดียวกันเขาก็จะไม่ปลูกด้วย ฉะนั้นเศรษฐกิจว่าด้วยผืนป่านี้ยุคใหม่นี้ จึงต้องมีการผลักดันเพื่อให้คนส่วนใหญ่เริ่มเห็นคุณค่า และเข้าใจว่าป่านั้นสามารถเป็นเศรษฐกิจได้ โดยที่ไม่กระทบและทำลายป่า แถมยังช่วยรักษ์โลกไปในเวลาเดียวกัน เช่น ในยุโรป จะมีการอนุญาตให้ตัดไม้ในป่าที่มีการกำหนดขอบเขตปลูก เพื่อไปต่อยอดเศรษฐกิจการค้าไม้ในตลาดโลก พร้อมกระตุ้นให้เกิดการใช้งานไม้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อลดโลกร้อน อาทิ การก่อสร้างที่ใช้ไม้ทดแทน ‘ปูนซีเมนต์’ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักหนึ่งที่ทำให้โลกร้อน เนื่องจากกระบวนการผลิตประกอบไปด้วยการเผาในอุณหภูมิหลายพันองศา แถมต้องใช้พลังงานเชื้อเพลิงมากมาย เพื่อให้ได้ปูนสำเร็จออกมา และผลกระทบจากกระบวนการเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น กลับกันถ้าผู้คนหันมาสร้างอาคารสูงที่ทำด้วยไม้มากขึ้น ผลลัพธ์ที่ว่าไปก็จะหายไป แถมมีการพิสูจน์ออกมาแล้วว่า การก่อสร้างด้วยไม้ให้น้ำหนักที่เบากว่า แต่ทนทาน แถมไม่ก่อให้เกิดโลกร้อน ทั้งในเชิงโครงสร้างและเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เหมือนกับที่ IKEA กำลังทำอยู่กับการสร้างพื้นที่ป่าไม้ของตนเองในสวีเดน ซึ่งมีมากกว่าพื้นที่ป่าไม้ของกรมป่าไม้สวีเดน ถึง 5 เท่า เป็นต้น 

ดังนั้นสำหรับประชาชนที่สนใจที่จะมองหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากผืนป่า อ.วีระศักดิ์ ได้แนะนำให้เริ่มจากการเข้าไปศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับป่า ศึกษาดูว่าในพื้นที่ของท่าน ดินอยู่ในจุดไหน โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถค้นหาได้ในเว็บไซต์ของกลุ่มพัฒนาที่ดิน / กรมอุทยาน / กระทรวงเกษตร และมหาวิทยาลัยที่สอนเกี่ยวกับเรื่องป่าไม้-ต้นไม้ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ไม่ยาก

“เราบริบาลป่า ป่าก็จะบริบาลเราครับ” อ.วีระศักดิ์ ทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top