Tuesday, 6 May 2025
ECONBIZ NEWS

ก.อุตสาหกรรม ติดปีก SME กว่า 200 ราย หนุนเพิ่มขีดการแข่งขันด้านดิจิทัลดันธุรกิจโตยั่งยืน

(18 พ.ย. 67) กระทรวงอุตสาหกรรม ลุยโครงการพัฒนา SME ภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เดินหน้าเต็มสูบหนุนเอสเอ็มอีด้วยโครงการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีใหม่ (Digital Transformation) และโครงการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืน (Sustainable Productivity) ด้วยการลดค่าใช้จ่ายพลังงาน เพิ่มรายได้ ขยายโอกาสการค้าของ SME สู่ตลาดสากล คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 62 ล้านบาท

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยุคใหม่ที่มีความผันผวน คาดเดาไม่ได้ ส่งผลให้ธุรกิจ SME ไทย จำเป็นต้องปรับตัว รับมือ Digital Disruption และวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ซึ่งจากผลสำรวจ SME Digital Maturity Survey 2023 ชี้ชัดว่า SME ไทย อยู่ในระดับ "Digital Follower" พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในระดับ ปานกลาง โดยเฉพาะ SME ขนาดกลางและภาคการผลิตที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ด้านการตลาด การเงินและบัญชี และการขายมากที่สุด

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ขานรับนโยบายในการสนับสนุน SME โดยได้อัดฉีดงบกว่า 10 ล้านบาท เพื่อพัฒนา SME ไทย จำนวนกว่า 200 ราย ให้สามารถสร้างรายได้เพิ่ม ลดต้นทุน และรักษาสิ่งแวดล้อม ผ่าน 2 โครงการสำคัญ คือ 1. โครงการพัฒนาธุรกิจด้วยดิจิทัลสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีใหม่ (Digital Transformation) เพื่อยกระดับขีดความสามารถของ SME ในการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางธุรกิจและ การบริหารจัดการโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีเอสเอ็มอีจำนวน 100 กิจการ ในสาขาอุตสาหกรรม S-Curve ดิจิทัล เกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีความต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ 2. โครงการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืน (Sustainable Productivity) เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน โดยมีเอสเอ็มอีจำนวน 100 กิจการ ในสาขาอุตสาหกรรม S-Curve ดิจิทัล เกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ และอุตสาหกรรมอื่นที่มีการใช้พลังงานสิ้นเปลือง หรือมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับคำปรึกษาแนะนำเพื่อปรับใช้และเตรียมความพร้อมในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล หรือการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ยั่งยืน รวมไปถึงการสนับสนุนด้านเงินทุน ผ่านสินเชื่อ จากกองทุนฯ เพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจ ด้วยการลดค่าใช้จ่ายพลังงาน เพิ่มรายได้และขยายโอกาสการค้าของ SME ที่เข้าร่วมโครงการสู่ตลาดสากล คาดจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 62 ล้านบาท

“การดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์) ที่ต้องการให้ “Save อุตสาหกรรมไทย” เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขัน มุ่งสู่เป้าหมายยกระดับ SME ไทยให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง พร้อมรับมือทุกความท้าทาย โดยเสริมสร้างความสามารถทางด้านดิจิทัล ความพร้อมในด้านการผลิตที่ยั่งยืน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดอกเบี้ยต่ำ อีกทั้งยังสามารถติดตาม ประเมินผล ด้วย Green Productivity Measurement ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และสามารถก้าวไกลได้บนเวทีโลก” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย

‘รองนายกฯ พิชัย’ นำทีมบีโอไอ บุกโรดโชว์จีน เร่งดึงลงทุนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ – อิเล็กทรอนิกส์

(18 พ.ย. 67) “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรี นำทีมบีโอไอ เยือนมหานครเซี่ยงไฮ้ เร่งช่วงชิงโอกาสดึงการลงทุน ในจังหวะเวลาที่บริษัทจีนจำนวนมากเกิดความกังวลจากผลการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา เดินหน้าจัดสัมมนาใหญ่ พร้อมพบบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ และอิเล็กทรอนิกส์ ยกระดับไทยเป็นฐานผลิตสำคัญของจีนในภูมิภาคอาเซียน เผย 9 เดือน จีนยื่นขอลงทุนไทย 554 โครงการ มูลค่ากว่า 1.14 แสนล้านบาท

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 19 – 22 พฤศจิกายน 2567 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมการลงทุน จะนำคณะบีโอไอ พร้อมด้วยผู้แทนภาคเอกชน เดินทางไปโรดโชว์ส่งเสริมการลงทุน ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจะพบหารือกับนายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และยกระดับความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ในวาระที่จะครบรอบ 50 ปี แห่งมิตรภาพความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - จีน ในปี 2568 พร้อมผนึกกำลังองค์กรส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของจีน (China Council for the Promotion of International Trade: CCPIT) และ Bank of China จัดงานสัมมนาใหญ่ “Thailand – China Investment Forum 2024” ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ที่นครเซี่ยงไฮ้ เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับการลงทุนจากจีน ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนจีนให้ความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานสัมมนากว่า 500 คน จากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน แบตเตอรี่ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ดิจิทัล เครื่องจักรและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์โลหะและวัสดุ เป็นต้น  

ภายในงานสัมมนา รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการบีโอไอ จะนำเสนอศักยภาพและโอกาสการลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งสิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ นอกจากนี้ จะมีผู้บริหารจากภาคเอกชนชั้นนำร่วมบรรยายถ่ายทอดประสบการณ์และความสำเร็จของการทำธุรกิจในประเทศไทย เช่น Bank of China, บริษัท Haier ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะรายใหญ่ มีการลงทุนในไทยรวมกว่า 16,000 ล้านบาท, บริษัท Westwell Technology ผู้นำด้าน AI และ Digital Green Logistics โดยได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้ยกระดับธุรกิจต่าง ๆ เช่น การพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะในประเทศไทย อีกทั้งมีผู้แทนภาคเอกชนไปร่วมออกบูธให้ข้อมูลด้านการลงทุนและโอกาสการร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทไทย ประกอบด้วยกลุ่มธนาคาร เช่น ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย และไทยพาณิชย์ และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เช่น นิคม WHA, TRA, TFD, เอส, โรจนะ และนิคม 304 

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการบีโอไอ จะหารือกับนักลงทุนชั้นนำของจีนเป็นรายบริษัท เพื่อเจรจาแผนการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน โดยเน้นการผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ ธุรกิจบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วเพื่อเตรียมรองรับปริมาณแบตเตอรี่ใช้แล้วที่จะเริ่มเข้าสู่ตลาดในอนาคตอันใกล้ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงและอุปกรณ์โทรคมนาคม การผลิตบรรจุภัณฑ์ชีวภาพจากวัตถุดิบทางการเกษตรในประเทศไทย เป็นต้น

“ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นฐานการผลิตหลักของจีนในภูมิภาคอาเซียน โดยในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีคลื่นการลงทุนลูกใหม่จากประเทศจีนเข้ามาสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อย่างการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) กิจการ Data Center และ Cloud Service สำหรับการเยือนจีนครั้งนี้ จะเน้นดึงการลงทุนในกลุ่มแบตเตอรี่และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ต้นน้ำที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับซัพพลายเชน และต่อยอดกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้เข้ามาลงทุนแล้ว โดยเราจะเชิญชวนให้นักลงทุนจีนพิจารณาการร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทย รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากผู้ผลิตในประเทศด้วย” นายนฤตม์ กล่าว  

ทั้งนี้ ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีโครงการจากจีนยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 416 โครงการ เงินลงทุน 158,121 ล้านบาท สูงเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ในขณะที่ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม – กันยายน 2567) จีนขอรับส่งเสริมการลงทุน จำนวน 554 โครงการ เงินลงทุน 114,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ผลิตภัณฑ์โลหะและวัสดุ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 

‘พีระพันธุ์ - เอกนัฏ - อรรถวิชช์’ ประสานมือช่วยเกษตรกร ดันร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมันรับมือเลิกชดเชยไบโอดีเซล

(18 พ.ย. 67) ‘พีระพันธุ์’ ตั้ง ‘อรรถวิชช์’ นั่งประธานคณะกรรมการยกร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน เร่งช่วยเหลือเกษตรกรและกลุ่มผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน ให้ได้รับค่าตอบแทนและผลประโยชน์ที่เป็นธรรม พร้อมรับมือกองทุนน้ำมันฯ เลิกชดเชยไบโอดีเซลอีก 2 ปีข้างหน้า คาด 5-6 เดือนเห็นรูปร่าง

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันไบโอดีเซลที่จะปรับตัวสูงขึ้น หลังสิ้นสุดการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปี พ.ศ. 2569  พร้อมหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่จะได้รับผลกระทบในอีก 2 ปีข้างหน้า

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ตนในฐานะที่มีส่วนกำกับดูแลกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือกับ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้ง ปลัดกระทรวงพลังงาน และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา  และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อยกร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมันให้กับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน  โดยมอบหมายให้ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าว และคาดว่าภายใน 5-6 เดือนหลังจากนี้จะเริ่มเห็นรูปร่างของโครงการชัดเจนมากยิ่งขึ้น

นายพีระพันธุ์กล่าวเพิ่มเติมว่า  ปาล์มน้ำมันถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญกับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มเป็นอย่างมาก และในอดีตน้ำมันปาล์มยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ในช่วงที่น้ำมันเบนซินมีราคาแพง โดยนำมาผสมกับน้ำมันเบนซิน ทำให้มีปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นและราคาถูกลง เรียกว่า น้ำมันไบโอดีเซล หรือ B 100   เนื่องจากน้ำมันปาล์มในช่วงเวลานั้นมีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซินหลายเท่า 

แต่ปัจจุบัน  ราคาน้ำมันปาล์มตกอยู่ที่ประมาณ 41-42 บาทต่อลิตร ซึ่งแพงกว่าเนื้อน้ำมันเบนซินที่นำมาผสมเกือบเท่าตัว จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศไทยแพงขึ้น และต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยให้ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร  ซึ่งเหลือเวลาให้ชดเชยได้อีกเพียง 2 ปีเท่านั้น ขณะเดียวกัน ด้านเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมันก็เริ่มมีปัญหาส่วนแบ่งราคากับโรงสกัด  และผลประโยชน์จากราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ไปไม่ถึงเกษตรกรอย่างที่ควรจะได้รับ  

ทั้งนี้ จากผลผลิตน้ำมันปาล์มทั้งหมดในประเทศ  1 ใน 3 นำมาผสมกับน้ำมันดีเซลเพื่อใช้ภายในประเทศ ส่วนอีก 2 ใน 3  นำไปผลิตน้ำมันพืชและผลิตภัณฑ์อื่นๆ  โดยมีการส่งออกในส่วนนี้ประมาณ 20% 

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า เพื่อดูแลเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมันให้ได้ค่าตอบแทนผลผลิตที่เป็นธรรมและถูกต้อง จึงต้องร่างกฎหมายออกมาฉบับหนึ่ง ชื่อว่า กฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน ซึ่งจะมีรูปแบบเหมือนกฎหมายอ้อยและน้ำตาล เพื่อเป็นการรองรับในอีก 2 ปีข้างหน้า เมื่อกองทุนน้ำมันต้องหยุดชดเชยการผสมน้ำมันปาล์มในเนื้อน้ำมัน และต้องเร่งทำให้เกิดความเป็นธรรมกับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน รวมทั้งสายการผลิตที่จะนำผลปาล์มน้ำมันไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ดีกว่าในปัจจุบัน 

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่สร้างความเป็นธรรม มีการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้ที่นำผลปาล์มน้ำมันไปผลิตเป็นน้ำมัน และทำให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และจะมีการศึกษาพัฒนาต่อยอดการนำผลผลิตไปทำให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายพีระพันธุ์กล่าว

ก่อนหน้านี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเคยออกกฎหมายที่เรียกว่า ‘พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล’ เพื่อวางระบบให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยได้รับผลประโยชน์จากการนำอ้อยไปผลิตเป็นน้ำตาล โดยมีการวางระบบจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างกันเพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น และจะเป็นต้นแบบในการร่างกฎหมายเพื่อดูแลปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นปัญหาที่คล้ายคลึงกันต่อไป

‘อุ๊งอิ๊ง’ หารือ!! ผู้นำเปรู เพื่อเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ - การค้าเสรี - สินค้าเกษตร เล็ง!! ผสมผสาน ‘ขนสัตว์อัลปากา - ผ้าไหมไทย’ ร่วมพัฒนาเป็นซอฟต์พาวเวอร์

(17 พ.ย. 67)  นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ก่อนการเดินทางกลับประเทศไทยช่วงเวลา 18 นาฬิกาของวันนี้ (วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน) ตามเวลาเปรู ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 27 ชั่วโมง โดยจะถึงประเทศไทยในวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน ประมาณ 11 นาฬิกา ตามเวลาในประเทศไทย นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ให้สัมภาษณ์สรุปภาพรวมภารกิจ การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 และการประชุมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ดังนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชม เปรูในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยไทยได้เป็นเจ้าภาพเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด BCG Economy หรือ Bio-circular -Green ecocomy สำหรับการประชุมครั้งที่ 31 นี้มีหัวข้อหลัก เช่นการเสริมสร้างพลังการมีส่วนร่วม และการเติบโตที่ยั่งยืน (Empower Inclusive Growth) เพื่อให้สมาชิกเติบโตไปพร้อมๆกัน นอกจากนี้ ยังมีการขับเคลื่อนการลงทุน และผลักดันให้เกิดการค้าเสรี หรือ FTA  ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมเรื่องนวัตกรรม ดิจิทัลและการเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งตรงกับนโยบายที่ไทยกำลังผลักดันอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคมีแนวทางเดียวกันในการพัฒนาอย่างยั่งยืน 
(Sustainability) ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพลังงานแห่งอนาคตที่ยั่งยืน และวิธีการรับมือกับอุปสรรคและปัญหาจากภัยธรรมชาติ  การนำเทคโนโลยีที่แต่ละประเทศมีไม่เหมือนกัน มาสนับสนุนและแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า เวทีการหารือกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC Dialogue with APEC Economic Leaders ) ถือว่าเป็นส่วนสำคัญ โดยได้คุยกับนักธุรกิจระดับผู้นำแต่ละเขตเศรษฐกิจ อาทิ พลังงาน รถยนต์ไฟฟ้า และ AI ซึ่งหลายบริษัทสนใจลงทุนในประเทศไทยมาก และได้เชิญชวนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยเน้นไปที่เทคโลโลยี AI  Semiconductor และ Data center  และ ยังได้พูดคุยกับเอกชนยักษ์ใหญ่  3 บริษัท ประกอบด้วย Tiktok Microsoft และ Google  ที่แจ้งว่าสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่ม

การลงทุนอย่าง Data center จะทำให้คนไทยเกิดการจ้างงานแบบใหม่ๆ ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ จีดีพี ของไทยตอนนี้เติบโตไม่เต็มศักยภาพ การหาเม็ดเงินใหม่ๆเข้าประเทศจะให้คนไทยมีรายได้และมีอาชีพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไทยจะต้องพัฒนาทุกด้านไปพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินหมื่น การสร้างรายได้ใหม่ ซอฟต์พาวเวอร์ การลงทุน และการหาเม็ดเงิน เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งทุกกรอบการประชุมต่างๆ ได้ระบุไปว่า ไทยพร้อมแล้วที่จะมุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจ โดยจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านเกษตรกรรมอัจฉริยะ หรือ Smart farming อย่างแท้จริง

ส่วนการหารือทวิภาคีกับ นางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเปรู นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอชี่นชมเปรูในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคปี 2024 นี้  ยืนยันว่า ไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกันโดยเฉพาะการเจรจาการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างไทย-เปรู ซึ่งเปรูเพิ่งเปิดท่าเรือชางใค ที่จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งสินค้าเกษตรของไทยได้เป็นอย่างมาก และสามารถเชื่อมโยงกับโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยในอนาคตได้อีกด้วย 

จะให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นำไปพิจารณาถึงผลิตภัณฑ์ ขนสัตว์อัลปากาของเปรูที่มาทำเป็นเสื้อผ้า มาผสมผสานกับผ้าไหมของไทย เพื่อให้เกิดเนื้อผ้าพิเศษขึ้นมาเพื่อนำเสนอเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ของทั้งสองประเทศ มารวมกันเพื่อช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

ส่วนการหารือทวิภาคีกับ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้พูดคุยถึงความร่วมมือกันในปีหน้า ที่ไทย-จีน จะเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 50 ปี โดยจีนได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ หรือ พระเขี้ยวแก้ว มาประดิษฐานไว้ที่ประเทศไทยในวันที่ 4 ธันวาคมนี้   และจีนยืนยันที่จะมอบหมีแพนด้ายักษ์มาประเทศไทยอีกครั้ง  

นอกจากนี้ ประเทศไทยพร้อมที่จะเรียนรู้รูปแบบการพัฒนาประเทศของจีน ในการลดความยากจนในประเทศรวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ และได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนจีนเข้ามาลงทุนที่ไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประธานาธิบดีจีนกล่าวยินดีและยืนยันว่าจะส่งเสริมความร่วมมือต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ Online scam ระหว่างกัน และจะสนับสนุนไทยเข้าร่วม BRICS ด้วย

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการเข้าร่วมงานกาล่าดินเนอร์ทั้ง 2 คืน ทั้งในงานเลี้ยงอาหารค่ำ APEC CEOs-Leaders Dinner และ งานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคว่า “ได้สร้างความมั่นใจให้กับประเทศไทยและเชิญชวนภาคเอกชนเขตเศรษฐกิบสมาชิกมาลงทุนที่ประเทศไทย ตลอด 3 วัน ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก  เพราะได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้นำแต่ละเขตเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อกัน ขณะเดียวกันย้ำถึงศักยภาพของประเทศไทยในเวทีโลกด้วยว่า ประเทศไทยพร้อมแล้ว สำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและสมาชิกเอเปค โดยมั่นใจว่าการได้พูดคุยกันจะทำให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าความร่วมมือกับประเทศต่างๆ และหาโอกาสให้กับประเทศไทยได้ง่ายขึ้น" นายกรัฐมนตรีได้กล่าว

นายจิรายุ กล่าวถึงบรรยากาศการประชุมในครั้งนี้ ว่าเจ้าภาพเปรูเป็นประธานจัดงานได้อย่างยอดเยี่ยมโดยเฉพาะเวทีการประชุมในแต่ละเวทีตลอด 3 วัน ได้สอดแทรกศิลปะวัฒนธรรมของเปรูไว้ทุกเวที นายกรัฐมนตรี ผู้นำของประเทศไทยได้รับความสนใจอย่างมาก ในทุกครั้งที่ขึ้นกล่าวหรือแสดงวิสัยทัศน์ในการประชุม โดยสื่อมวลชนต่างชาติ ต่างให้ความสนใจนายกรัฐมนตรีสุภาพสตรี 1 ใน 2 คนของไทยในการประชุมครั้งนี้อย่างมาก 

‘แพทองธาร - สีจิ้นผิง’ หารือ!! นอกรอบ พร้อมดัน!! สร้างทางรถไฟ ‘จีน – ไทย’

(16 พ.ย. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ‘สีจิ้นผิง’ ประธานาธิบดีจีน พบปะหารือกับ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรีไทย นอกรอบการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 ในกรุงลิมาของเปรู กล่าวว่าจีนและไทยควรเร่งรัดการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทย และขยับขยายความร่วมมือด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น พลังงานใหม่ เศรษฐกิจดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์

จีนและไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและมีมิตรภาพ แนวคิด ‘จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน’ ได้ยืนหยัดผ่านกาลเวลาและมีพลังชีวิตชีวาใหม่ โดยสีจิ้นผิงย้อนนึกถึงการเยือนไทยในเดือนพฤศจิกายน 2022 และได้บรรลุฉันทามติสำคัญกับคณะผู้นำของไทยเกี่ยวกับการสร้างประชาคมจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกัน พร้อมแสดงความยินดีที่มีการดำเนินการตามผลลัพธ์ของการเยือนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ความร่วมมือทวิภาคีก้าวหน้าเชิงบวกหลายด้านและนำพาผลประโยชน์อันจับต้องได้มาสู่ประชาชน

สีจิ้นผิงกล่าวว่าเนื่องในปี 2025 ตรงกับวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย รวมถึงปีทองแห่งมิตรภาพความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ จีนพร้อมทำงานร่วมกับไทยเพื่อสานต่อมิตรภาพดั้งเดิม เสริมสร้างการจัดวางยุทธศาสตร์การพัฒนา ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์บริหารปกครอง เดินหน้าความร่วมมืออันเป็นประโยชน์ซึ่งกันและกันในด้านต่างๆ สนับสนุนการสร้างความทันสมัยของทั้งสองประเทศ และผลักดันการสร้างประชาคมจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกัน

จีนและไทยควรเพิ่มการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การศึกษา และเยาวชน รวมถึงจัดงานอย่างการบูชาพระเขี้ยวแก้วในไทย ผูกโยงสายใยระหว่างประชาชนของสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และส่งต่อมิตรภาพจีน-ไทยจากรุ่นสู่รุ่น

นอกจากนั้นจีนยินดีจะเสริมสร้างการประสานงานและการสื่อสารกับไทยภายใต้กลไกพหุภาคีต่าง ๆ เช่น ความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง อาเซียน กลุ่มประเทศบริกส์ และเอเปค เพื่อคุ้มครองความเป็นหนึ่งเดียวกันและความร่วมมือของอาเซียน นานาประเทศในภูมิภาค และมีส่วนส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ การพัฒนา และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค

ด้านแพทองธารกล่าวว่าปัจจุบันโลกและภูมิภาคกำลังประสบกับความสับสนอลหม่านเพิ่มขึ้น และแผนริเริ่มระดับโลกหลายรายการที่จีนนำเสนอนั้นมีการมองการณ์ไกลเชิงยุทธศาสตร์และเอื้อต่อการเสริมสร้างความสามัคคีและความร่วมมือระหว่างประเทศ

ด้วยจีนเป็นเพื่อนที่ดีและหุ้นส่วนที่ดี ไทยนับถือชื่นชมความสำเร็จอันโดดเด่นของจีนในด้านต่าง ๆ เช่น การบรรเทาความยากจน และมุ่งหวังใช้วาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน และปีทองแห่งมิตรภาพความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นโอกาสส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระดับสูงกับจีน โดยมีเป้าหมายร่วมกำหนดอนาคตที่สดใสยิ่งขึ้นของความสัมพันธ์ไทย-จีนตลอด 50 ปีข้างหน้า

ไทยคาดหวังจะเรียนรู้ประสบการณ์การพัฒนาที่ประสบผลสำเร็จของจีน เดินหน้าความร่วมมือด้านทางรถไฟไทย-จีน และโครงการความร่วมมือตามแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) อื่นๆ เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและระหว่างประชาชน และส่งเสริมมิตรภาพดั้งเดิมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยไทยพร้อมเสริมสร้างการทำงานกับจีนภายใต้กรอบพหุภาคีต่างๆ เช่น เอเปค และร่วมคุ้มครองระบบการค้าเสรี

‘แพทองธาร’ ร่วมเวที ที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค!! ย้ำ!! สนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน สู่เศรษฐกิจดิจิทัล

(16 พ.ย. 67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ในช่วงอาหารกลางวัน (ABAC Dialogue with APEC Economic Leaders) โดย นายกรัฐมนตรี กล่าวในหัวข้อ ‘ประชาชน ภาคธุรกิจ และความรุ่งเรือง’ (People. Business. Prosperity.)ว่า ยินดีที่ได้มาร่วมกับสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ซึ่งหัวข้อของการประชุมของ ABAC ในปีนี้สอดคล้องกับหัวข้อการประชุม APECของเปรูที่ว่า ‘เสริมสร้างพลัง การมีส่วนร่วม และการเติบโตอย่างยั่งยืน’ และตนสนับสนุนความคิดริเริ่มของเปรูในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลก (the transition to the formal and global economy)

โดยแรงงานมากกว่าครึ่งของเอเปคมาจากเศรษฐกิจนอกระบบ จึงเป็นเรื่องที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ รวมทั้งบทบาทของการใช้ดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อสร้างการเข้าถึงอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะ ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ และกลุ่มที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ในกลุ่มประเทศสมาชิกอย่างมาก  

ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับตัวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและมีความท้าทาย ในเรื่องต้นทุน และทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็น ดังนั้นการสนับสนุนผ่านโครงการเสริมสร้างศักยภาพโอกาส ในการเพิ่มทักษะและพัฒนาทักษะใหม่ๆตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างทั่วถึงจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่ง รัฐบาลไทยได้ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แน่ใจว่ามีมาตรการทางการเงินที่เหมาะสม

ซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยัน สนับสนุนให้เอเปค พิจารณาโครงการชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดนต่อไป เพื่อส่งเสริมระบบการเงินที่เสรี มีความปลอดภัยและแข่งขันได้

นายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่า นอกจากการค้า การลงทุน และการบูรณาการทางเศรษฐกิจ ยังมีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค นั่นก็คือการเติบโตทางนวัตกรรมทางการเงิน และระบบการชำระเงินดิจิทัลที่จะเป็นเครื่องมือช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ ได้ โดยประเทศไทย ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการวางระบบให้ประชาชนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน สามารถชำระเงินผ่านรหัส QR code ระหว่างกันได้แล้วซึ่งจะช่วยให้การทำธุรกรรม การเงิน ข้ามพรมแดน ได้อย่างสะดวกรวดเร็วอันเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจ ของแต่ละประเทศ

‘พีระพันธุ์’ เร่งเดินหน้ากฎหมายคุมราคาพลังงานไทย หมดยุคปรับราคาขึ้น - ลงรายวัน สร้างความเป็นธรรมทุกฝ่าย

วันที่ (14 พ.ย.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานการประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กำกับการประกอบกิจการค้าน้ำมันและก๊าซ  ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะสร้างประวัติการณ์ใหม่ในการกำกับดูแลราคาพลังงานเชื้อเพลิงของไทย และจะเป็นกลไกสำคัญในการ "รื้อ" ระบบกำหนดราคาน้ำมันให้มีความชัดเจนและเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยจะนำระบบ Cost Plus ซึ่งเป็นการคำนวณราคาน้ำมันตามต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่แท้จริง มาใช้แทนระบบอ้างอิงราคาน้ำมันต่างประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศไม่ต้องเปลี่ยนแปลงรายวันอีกต่อไป

ภายใต้ระบบใหม่นี้จะมีการกำหนดราคามาตรฐานอ้างอิงเป็นราคากลางในแต่ละเดือนว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ยแต่ละเดือนควรจะเป็นเท่าไร ถ้าหากผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงกว่าราคากลางที่กำหนด ก็ต้องมาพิสูจน์ว่ามีต้นทุนที่สูงขึ้นจริงเพราะอะไร จึงจะปรับราคาได้ และให้ปรับได้เดือนละครั้งไม่ใช่ปรับรายวัน โดยคิดเป็นราคาเฉลี่ยในระยะเวลาที่กำหนดแทนการปรับราคารายวัน

‘เอกนัฏ’ สั่งปูพรมลุยตรวจโรงงานต่อเนื่อง ย้ำ! หากพบคนทำผิดให้จัดการตาม กม.อย่างเด็ดขาด

(15 พ.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) บูรณาการร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทั่วประเทศ เปิด 'ปฏิบัติการตรวจสุดซอย' ต่อเนื่อง ปูพรมตรวจกำกับดูแลโรงงานกลุ่มเสี่ยงสูงในพื้นที่เฝ้าระวัง เช่น จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี นครราชสีมา เพชรบูรณ์ เป็นต้น รวมจำนวน 218 ราย โดยเฉพาะโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม หรือโรงงานลำดับที่ 101, 105 และ 106 ทั้งที่เป็นของเสียอันตรายและไม่เป็นของเสียอันตราย เช่น การคัดแยก หลุมฝังกลบ ทำเชื้อเพลิงผสม ทำเชื้อเพลิงทดแทนจากน้ำมันและตัวทำละลายใช้แล้ว สกัดแยกโลหะ ถอดแยกบดย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หลอมตะกรัน รีไซเคิลกรดด่าง เป็นต้น ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม และจะดำเนินการขยายผลปูพรมตรวจโรงงานทั่วประเทศ โดยให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัดตรวจสอบและวางแผนดำเนินการ คาดใช้เวลาภายในเวลา 2 เดือน หากพบโรงงานที่มีการกระทำผิดจะสั่งลงโทษเด็ดขาด

นายเอกนัฏฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ ตนได้ให้นโยบายและสั่งการให้ กรอ. และ สอจ. ทั่วประเทศ ปรับกลไกการอนุมัติอนุญาตโรงงานทั้งระบบ โดยใช้แนวคิด 'เพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการที่ดี' โดยการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่ดีในทุกช่องทาง ควบคู่ไปกับการขึ้นบัญชี Blacklist ผู้ประกอบการที่มีประวัติไม่ดีหรือมีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อยกระดับการตรวจสอบ กำกับดูแล และติดตามโรงงานกลุ่มดังกล่าวอย่างเข้มข้น การปรับกลไกการอนุมัติอนุญาตโรงงานดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงป้องกันที่ต้นเหตุ อย่างไรก็ตาม การจะสู้กับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย ทำร้ายประชาชนและสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย 'สู้ เซฟ สร้าง' นั้น การดำเนินการดังกล่าวอาจจะยังไม่เพียงพอ มีความจำเป็นต้องปฏิรูปการกำกับโรงงานทั้งระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการกำกับดูแลโรงงานทั่วประเทศ

“ผมได้กำชับเจ้าหน้าที่ กรอ. และ สอจ. ทั่วประเทศ ให้ตรวจสอบทุกโรงงานสุดซอยอย่างเข้มข้น พร้อมย้ำ! หากตรวจพบการประกอบการที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้ดำเนินการสั่งการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมถึงผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดให้ถึงที่สุด โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่ออิทธิพลใด ๆ” รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าว

ด้านนายพรยศ กลั่นกรอง รักษาการอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า “ปฏิบัติการตรวจสุดซอย” เป็นปฏิบัติเชิงรุกในการตรวจสอบกำกับโรงงานเชิงลึกในทุกมิติ ทั้งด้านการติดตั้งเครื่องจักร กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีมาตรฐาน มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตอย่างครบถ้วน ด้านสิ่งแวดล้อม มีการติดตั้งระบบบำบัดมลพิษที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ด้านการบริหารจัดการสารเคมี วัตถุอันตราย และกากอุตสาหกรรมต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และด้านอาชีวอนามัย การปฏิบัติงานต้องมีความปลอดภัยของทั้งพนักงานและประชาชนโดยรอบโรงงาน อีกทั้ง การประกอบการต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายโรงงาน กฎหมายวัตถุอันตราย กฎหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบอย่างเต็มรูปแบบ เช่น ระบบตรวจกำกับดูแลสถานประกอบการ หรือระบบ i-Auditor ระบบห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ (E-Report) และระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษ (Pollution Online Monitoring System) เป็นต้น

“กรอ. พร้อมทำงานเป็นเนื้อเดียวกับ สอจ. ในการกำกับดูแลโรงงานทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ รวมทั้งพร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสู้กับผู้ประกอบการที่เย้ยกฎหมาย หากพบโรงงานทำผิดกฎหมาย จะดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุด” นายพรยศฯ กล่าวทิ้งท้าย

นายกฯ อิ๊งค์ หารือ บิ๊ก Google ขอบคุณทุ่ม 3.5 หมื่นล้านลงทุนในไทย

(15 พ.ย. 67)นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมกับนายมาริส เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการหารือกับผู้บริหารระดับสูงจากบริษัท Google, TikTok และ Microsoft ในสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ณ กรุงลิมา ประเทศเปรู เพื่อสานต่อความร่วมมือระหว่างไทยกับบริษัทเหล่านี้

ระหว่างการหารือกับนาย Karan Bhatia รองประธานฝ่ายกิจการภาครัฐและนโยบายสาธารณะของ Google นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ Google ประกาศลงทุนมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในไทยเพื่อสร้าง Data Center และ Cloud Region ซึ่งคาดว่าจะสร้างงานกว่า 14,000 ตำแหน่งในช่วงปี 2568 - 2572 และสร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2572 ไทยพร้อมร่วมมือกับ Google ในการพัฒนาทักษะเทคโนโลยีของแรงงาน ส่งเสริมการทำงานภาครัฐ การขับเคลื่อนนโยบาย Go Cloud First รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการต่อต้านการหลอกลวงออนไลน์ โดยต่อยอดจากบันทึกความเข้าใจที่ Google ลงนามกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเมื่อปี 2566

การหารือครั้งนี้ยังติดตามผลจากการพบปะของนายกรัฐมนตรีกับนาง Ruth Porat ประธานและซีอีโอฝ่ายการลงทุนของ Alphabet และ Google ซึ่งได้เดินทางมาไทยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 เพื่อหารือถึงความคืบหน้าโครงการลงทุนของบริษัทในไทยและความร่วมมือเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและดิจิทัลของไทย

นายกรัฐมนตรีได้พบกับนาย Shou Zi Chew ซีอีโอของ TikTok ซึ่งนายกรัฐมนตรีแสดงความชื่นชมในความร่วมมือระหว่าง TikTok กับหน่วยงานไทยที่ช่วยเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs และส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยทั้งสองฝ่ายหารือถึงแนวทางการเพิ่มความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัล ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล รวมถึงการสนับสนุนโครงการ Data Center ของ TikTok ปัจจุบัน TikTok มีผู้ใช้งานในไทยกว่า 49 ล้านบัญชี

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้หารือกับนาย Antony Cook รองประธานฝ่ายกฎหมายลูกค้าและพันธมิตรของ Microsoft ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงแผนความร่วมมือในด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์และ AI และโครงการพัฒนาทักษะ AI ให้แก่บุคลากรไทย ซึ่งสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมของแรงงานทักษะสูง รองรับเทคโนโลยีขั้นสูง สอดคล้องกับเป้าหมายของไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลในภูมิภาค

การหารือกับ Microsoft ครั้งนี้ยังเป็นการต่อยอดจากการเยือนไทยของนาย Satya Nadella ซีอีโอของ Microsoft เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งประกาศแผนการจัดตั้ง Data Center แห่งแรกในไทย การสนับสนุนทักษะด้าน AI และการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจไทยนำ Generative AI ของ Microsoft มาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

‘พิชัย’ จ่อเสนอจ่าย ‘เงินหมื่น’ เฟส 2 ‘คนอายุ 60 ปีขึ้นไป’ หลัง ‘ทักษิณ’ เปรยบนเวทีปราศรัยอุดรฯ ยันไม่ทับสิทธิเฟสแรก

‘พิชัย’ จ่อเสนอบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ จ่าย ‘เงินหมื่น’ เฟส 2 ‘คนอายุ 60 ปีขึ้นไป’ หลัง ‘ทักษิณ’ เปรยบนเวทีปราศรัยอุดรฯ ชี้ใช้งบไม่มาก ยืนยันไม่ทับสิทธิกลุ่มเปราะบางเฟสแรก รับมีเฟส 2-3

(14 พ.ย. 67) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นปราศรัย เวทีนายก อบจ.อุดรธานี ที่เปรยว่า ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินหมื่นเร็ว ๆ นี้ว่า เฟสที่ 1 รัฐบาลให้เป็นเงินสด สำหรับกลุ่มเปราะบาง และผู้พิการ ซึ่งหลังจากนี้จะพิจารณาจากกลุ่มที่มีปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งมีจำนวนไม่มาก โดยจะคัดบุคคลที่เร่งด่วนก่อน หากทำได้ก็จะจ่ายให้กับบุคคลเหล่านี้ก่อนที่จะพิจารณาการจ่ายเงินในเฟสต่อไป โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้นำหลักการเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

นายพิชัยระบุว่า วิธีทำไม่ยาก ยืนยันว่าสิทธิของกลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีไม่ซ้ำซ้อนกับกลุ่มเปราะบาง

ส่วนงบประมาณนั้น นายพิชัย ระบุว่า ในกลุ่มนี้มีไม่กี่ล้านคน

ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าจะมีการ จ่ายเงิน 10,000 บาท ในเฟส 2 และเฟส 3 ใช่หรือไม่ นายพิชัยยอมรับว่า ใช่ เพราะต้องมีการพิจารณาตามความเหมาะสม ความจำเป็น และรูปแบบ 

นายพิชัยกล่าวว่า แน่นอนว่าดิจิทัลกับการจ่ายเงินสดให้กับกลุ่มเปราะบาง เป็นการช่วยเหลือ 2 ทางคือ 1.เพื่อให้ประชาชนสามารถมีช่องทางการติดต่อกับรัฐบาลได้อย่างถาวร ซึ่งโปรแกรม และแพลตฟอร์ม ดังกล่าวต้องค่อยๆ ทำ พัฒนาไปเรื่อย ๆ และ 2.เมื่อประชาชนคุ้นชินกับการใช้ดิจิทัลแล้ว จะเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ส่วนเรื่องที่จะใช้เครื่องมือตัวไหน แอปพลิเคชัน เช่น “เป๋าตังค์” ก็ถือว่า เป็นเพียงเครื่องมือ แต่สิ่งที่จะมีประสิทธิภาพ แล้วจำเป็นมากที่สุดคือ แพลตฟอร์มของรัฐ

ในช่วงท้าย ผู้สื่อข่าวยังถามถึงคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ในการตั้งบอร์ดแบงก์ชาติได้รายงานผลการคัดเลือกประธานฯ มาหรือยัง นายพิชัย ระบุเพียงว่า “ยังไม่ทราบ ทราบแค่จากนักข่าว”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top