Monday, 5 May 2025
ECONBIZ NEWS

พาณิชย์ทำดัชนีวัดค่าครองชีพ หวังประชาชนวางแผนใช้จ่าย

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจใหม่ 2 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มค่าบริการ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคบริการ เพื่อให้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของค่าครองชีพด้านบริการมากยิ่งขึ้น เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง ค่าการศึกษา เพื่อให้ประชาชนใช้ประกอบการตัดสินใจในการใช้จ่ายและวางแผนดำเนินชีวิต รวมถึงให้หน่วยงานใช้ประกอบการกำหนดมาตรการและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการได้แม่นยำ มากยิ่งขึ้น

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคกลุ่มค่าบริการ เป็นดัชนีราคาที่คัดเลือกรายการค่าบริการจากดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งมีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยมีทั้งสิ้น 87 รายการ จาก 430 รายการ จำนวน 14 หมวด โดยหมวดที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายสูงสุด 5 อันดับแรก คือ หมวดกิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายสูงที่สุด  54.93% ตามด้วยหมวดข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 15.88% หมวดการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 6.94% หมวดกิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 6.55% และหมวดการศึกษา  4.22% 

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคบริการ เป็นเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจที่แสดงถึงความคิดเห็นของผู้ประกอบการภาคบริการที่มีต่อธุรกิจของตนเอง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญเป็นประจำทุกปี อาทิ ข้อมูลเกี่ยวกับยอดขาย รายรับ และสินค้าคงเหลือ รวมทั้งสอบถามความคิดเห็นต่อการดำเนินธุรกิจ

ก.แรงงาน ปล่อยกู้สูงสุด 1 ล้านบาทปลอดดอกเบี้ย เพิ่มทักษะแรงงานช่วยสถานประกอบกิจการ สู้วิกฤตโควิด-19 ระลอก 3

กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ปล่อยกู้ปลอดดอกเบี้ยต่อเนื่องถึงสิงหาคม 64 ช่วยสถานประกอบกิจการใช้หมุนเวียนในการพัฒนาทักษะฝีมือลูกจ้าง สู้วิกฤตโควิด-19 ระลอก 3 นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ กพร.ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ เยียวยาความเดือดร้อนของกำลังแรงงานในประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ โดยให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการที่ต้องการพัฒนาทักษะฝีมือลูกจ้างเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานสามารถกู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ปลอดดอกเบี้ย (ดอกเบี้ย 0%) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม หรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน

อธิบดี กพร. กล่าวต่อไปว่า กพร.ได้จัดสรรงบประมาณจากเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่สถานประกอบกิจการกู้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ยต่อเนื่องจนถึง 31 สิงหาคม 2564 ในวงเงินกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท ในปี 2564 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดสรรเงินจำนวน 30 ล้านบาท จากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน สำหรับให้สถานประกอบกิจการกู้ยืมไปใช้ในการพัฒนาทักษะ หรือนำไปใช้ในการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้แก่พนักงาน แบบไม่มีดอกเบี้ย ตั้งแต่ 16 กรกฎาคม 2563-31 สิงหาคม 2564 ซึ่งปัจจุบัน ณ 31 พฤษภาคม 2564 ได้อนุมัติให้เงินกู้ยืมไปแล้ว 28 บริษัท เป็นเงินกว่า 17 ล้านบาท และมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ให้บริการรับคำขอกู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน

ด้าน คุณอัชฌารี บัวมี Training & Audit Manager บริษัท กรีน ลาเท็กซ์ จำกัด เป็นสถานประกอบกิจการที่ผลิตที่นอนยางพารา หมอน เบาะ ตุ๊กตา และเครื่องนอน กล่าวถึงเงินกู้ดังกล่าวว่า การให้เงินกู้ยืมเป็นประโยชน์มาก ต่อสถานประกอบกิจการ เป็นเงินก้อนช่วยเหลือ รักษาการจ้างงาน ทำให้สถานประกอบกิจการดำเนินการจัดอบรมต่อไปได้ตามแผนประจำปีอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพพนักงานได้รับการพัฒนาและมีความพร้อม กลับมาช่วยบริษัทสู้กับวิกฤตโควิด-19

ส่วน คุณธิดาทิพย์ จำปาแดง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนเชอรัลเอ็นเนอร์ยีเทค จำกัด ในนามศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเนเชอรัล เป็นศูนย์ทดสอบฯ เอกชนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1 ได้กล่าวขอบคุณกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ให้กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อนำมาปรับปรุงสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ให้เป็นที่ยอมรับ และรักษามาตรฐานให้เป็นไปตามที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกำหนด และเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้ารับการทดสอบด้วย

“การให้กู้ยืมดังกล่าวเป็นมาตรการจูงใจเพื่อให้สถานประกอบกิจการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานที่เป็นลูกจ้างของตนเองเพื่อให้มีทักษะฝีมือเพิ่มสูงขึ้น สถานประกอบกิจการที่สนใจสามารถยื่นคำขอกู้ยืมได้ที่ สพร. และ สนพ. ทุกแห่งทั่วประเทศ โดยสามารถยื่นคำขอกู้พร้อมหลักฐานได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 15 กรกฎาคม 2564 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สพร. และ สนพ.ทุกจังหวัด หรือกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน 0 2643 6039” อธิบดี กพร. กล่าวทิ้งท้าย
 

โควิดทุบความเชื่อมั่นเอกชนหดตัว 2 เดือนติด

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนพ.ค. 2564 ว่า ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 24.7 หลังจากภาคธุรกิจยังคงมีความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ รวมถึงได้รับผลกระทบจากการที่ภาครัฐออกมาตรการควบคุมการระบาดของโรค ทำให้มีการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สั่งปิดกิจการหลายประเภท ธุรกิจเริ่มขาดสภาพคล่องและปิดกิจการ ส่งผลให้มีการปลดคนงานเพิ่มขึ้นหรือมีการลดเงินเดือน 

ส่วนดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิตปัจจุบันมีค่าดัชนี 27.7 ลดลงจากเดือนเม.ย. อยู่ที่ 30.6  ต่ำที่สุดในประวัติการณ์นับตั้งแต่สำรวจมาเดือน พ.ค. 49 หรือ 193 เดือน หรือ 16 ปี 1 เดือน สอดคล้องกับความคาดหวังความสุขในการดำเนินชีวิตในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (มิ.ย. – ส.ค.) ต่ำเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคมีความกังวลความไม่แน่นอนในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด -19 

“ภาคธุรกิจอยากเห็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในเรื่องของการกระจายวัคซีนในทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงเพื่อให้มีเพียงพอกับจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนไว้ ทำให้การดำเนินชีวิตของประชาชนกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง รวมถึงเร่งการหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในคลัสเตอร์ต่างๆหลายพื้นที่ให้ได้โดยเร็ว และเร่งขับเคลื่อนการส่งออกของประเทศเพื่อเพิ่มระดับการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ฟื้นฟูการท่องเที่ยวของไทยให้กลับมามีรายได้ทันทีเมื่อประชาชนได้รับวัคซีนและมีภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ”

“ไทยไลอ้อนแอร์” จัดโปรเด็ดลดค่าตั๋ว 5% สนับสนุนคนฉีดวัคซีนโควิด

สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ แจ้งว่าสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสนับสนุนการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 เพียงผู้โดยสารแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นเอกสารในการฉีดวัคซีน หรือแสดงผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม โดยเป็นการฉีดวัคซีนเข็มแรก หรือครบสองเข็ม ผู้ที่ฉีดวัคซีนสามารถรับส่วนลด 5% สำหรับบัตรโดยสารเส้นทางบินภายในประเทศของสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เฉพาะการจองที่สนามบินเท่านั้น 

ขณะเดียวกันนอกจากได้รับส่วนลดแล้ว ยังได้สิทธิพิเศษรับฟรีน้ำหนักกระเป๋า 10 กิโลกรัม (สูงสุดไม่เกิน 1 ใบ) โดยการจองบัตรโดยสารของสายการบินไม่มีค่าธรรมเนียมในการจองและตัดบัตร

ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนสามารถจองบัตรโดยสารได้ตามรายละเอียดดังนี้ ต้องสำรองที่นั่งตั้งแต่วันที่ 11–30 มิ.ย.64 วันเดินทางตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย.-30 ก.ย. 64 สำหรับเส้นทางบินภายในประเทศที่สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ให้บริการ คือ เส้นทางบินจากดอนเมืองสู่จังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, พิษณุโลก, อุบลราชธานี, อุดรธานี, ขอนแก่น, หาดใหญ่, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง และเส้นทางบินข้ามภูมิภาค คือ หาดใหญ่-อุดรธานี และ เชียงใหม่-อู่ตะเภา

สอน. แจง บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด ที่อุดรธานี ปิดโรงงานน้ำตาล ไม่กระทบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ย้ำในฤดูการผลิตปี 64/65 ผลผลิตอ้อยมีแนวโน้มเติบโตขึ้น พร้อมเร่งเยียวยาพนักงานถูกเลิกจ้าง

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 กรณี บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี มีมติหยุดกิจการน้ำตาลอย่างเป็นทางการ โดยบริษัทจะโอนย้ายสัญญาซื้อขายอ้อยไปยัง บริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเดียวกัน ที่มีกำลังการผลิตได้ถึง 30,000 ตันอ้อยต่อวัน เพื่อรองรับชาวไร่อ้อยคู่สัญญาจาก บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด และขอเรียนว่าไม่มีผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย เนื่องจากในฤดูการผลิตปี 2564/2565 มีแนวโน้มผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาลของตลาดโลกจะสูงขึ้นจากในฤดูการผลิตปี 2563/2564 จึงมั่นใจได้ว่าผลประกอบการโรงงานน้ำตาลอีก 56 โรงงาน จะมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอนถือเป็นสัญญาณที่ดีท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลก

ด้านนายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด มีชาวไร่อ้อยคู่สัญญา จำนวน 1,195 ราย ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 หีบอ้อยได้ 716,862.94 ตัน และผลิตน้ำตาลได้ 82,977.23 ตัน โดยการปิดโรงงานดังกล่าวจะไม่กระทบกับชาวไร่อ้อยคู่สัญญา ในขณะเดียวกันนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ประสานไปยัง บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด ให้ดำเนินการตามระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเยียวยาช่วยเหลือแก่พนักงานประจำโรงงาน และจะดำเนินการติดตามการจ่ายเงินค่าอ้อยขั้นสุดท้ายให้กับชาวไร่อ้อยคู่สัญญาอย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายในช่วงเดือนตุลาคม 2564 รวมไปถึงตรวจสอบภาระหนี้ของบริษัทฯ กับกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อไม่ให้กระทบกับระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และการปิดกิจการจะไม่กระทบต่อการจ่ายเงินช่วยเหลือตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 แต่อย่างใด


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“อนุชา” เผย “เราชนะ-ม.33 เรารักกัน” ปชช. 41 ล้านคน ใช้จ่ายทำเศรษฐกิจหมุนเวียน เกือบ 3 แสนล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการใช้จ่ายในโครงการ “เราชนะ” สำหรับกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และโครงการ “ม.33 เรารักกัน” หลังครม. เพิ่มวงเงินเยียวยา 2,000 บาท ใช้จ่ายได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. ว่า โครงการเราชนะมีจำนวนผู้ได้รับสิทธิทั้งสิ้น 33.1 ล้านคน เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.7 ล้านคน กลุ่มผู้มีแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง 8.4 ล้านคน กลุ่มผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบเป๋าตัง 8.6 ล้านคน กลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ 2.4 ล้านคน ใช้จ่ายครบวงเงินตามสิทธิ์ในโครงการฯ 17.6 ล้านคน ทำให้มีการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทย มูลค่ากว่า 257,997 ล้านบาท ผู้ประกอบการและผู้ให้บริการได้รับประโยชน์มากกว่า 1.3 ล้านร้านค้าและกิจการ แยกเป็นการใช้จ่ายในร้านอาหารและเครื่องดื่มคิดเป็นร้อยละ 19.1 ของมูลค่าการใช้จ่ายทั้งหมด ร้านธงฟ้าคิดเป็นร้อยละ 34.4 ร้านโอท็อป คิดเป็นร้อยละ 4.1 ร้านค้าทั่วไปและอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 40.4 ร้านค้าบริการคิดเป็นร้อยละ 1.9 และขนส่งสาธารณะคิดเป็นร้อยละ 0.1

สำหรับโครงการ ม.33เรารักกันมี ผู้ได้รับสิทธิ์รวมทั้งสิ้น 8.14 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม ถึงวันที่ 31 พ.ค. กว่า 39,317 ล้านบาท โดยผ่านร้านค้าทั้งสิ้น 1.07 ล้านร้านค้า ทั้งนี้สองโครงการ มีมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในเศรษฐกิจ 297,314 ล้านบาท

นายอนุชา กล่าวว่า นอกจากนี้มีมาตรการอื่นที่รัฐบาลดำเนินการช่วยผู้ประกอบการ อาทิ เช่น มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 250,000 ล้านบาท มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐสภาได้ผ่าน พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 และ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 
วงเงินรวม 350,000 ล้านบาท ไปเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจ เสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยจะมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจอื่นๆ ที่จะออกมาในครึ่งปีหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น

เอกชนรับแรงงานขาดแคลนหนัก ชงรัฐช่วยแก้ด่วน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ กำลังขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก โดยมีความต้องการแรงงานอย่างน้อย 400,000 ราย โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง รวมทั้งอุตสาหกรรมประมง ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้รัฐเปิดนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยอย่างถูกกฎหมาย ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือเอ็มโอยู ระหว่างรัฐบาลไทยกับประเทศต้นทางเพิ่มขึ้น และต้องผ่านการคัดกรองตรวจสุขภาพ และตรวจโควิด-19 ตามหลักสาธารณสุขด้วย

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในวันที่ 9 มิ.ย. นี้ จะหารือถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยภายหลังจากที่รัฐบาลเร่งมาตรการนำเข้าวัคซีนและฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนที่มีความคืบหน้ามากขึ้น รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่จะส่งผลต่อการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวม 

ส่วนผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพ.ค. 64 พบว่า อยู่ที่ระดับ 82.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 84.3 ในเดือนเม.ย. 64 และต่ำที่สุดในรอบ 11 เดือน นับตั้งแต่ก.ค. 63 เป็นค่าดัชนีปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ยังไม่คลี่คลายและยังเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ โดยเฉพาะในโรงงาน

'เฉลิมชัย' มอบกรมปศุสัตว์ผนึก 'ม.จุฬาฯ-ม.เกษตรฯ' เป็นแกน AIC เร่งพัฒนาวัคซีนสัตว์จากพืช (Plant Based Vaccine) Made in Thailand เป็นครั้งแรก

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (10 มิ.ย) ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายประภัตร โพธสุทน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบนโยบายให้กรมปศุสัตว์เร่งเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปี-สกิน พร้อมกับเร่งพัฒนาวัคซีนลัมปี-สกินจากพืชด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Plant Based Vaccine

โดยความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์กับบริษัทใบยาไฟโตฟาร์มของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่เป็นศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์ AIC (Agritech and Innovation Center) คาดว่าจะสามารถเริ่มทดสอบวัคซีนได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยโรงงานวัคซีนของกรมปศุสัตว์พร้อมผลิตวัคซีนดังกล่าวทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในการผลิตวัคซีนสัตว์จากพืช ซึ่งจะเริ่มจากวัคซีนลัมปี-สกิน

ทางด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีที่เกิดการระบาดของโรคลัมปี-สกิน กับโค-กระบือของเกษตรกร ในหลายพื้นที่ของประเทศ จนทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือได้รับผลกระทบจากความสูญเสียโค-กระบือไปนั้น กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตระหนักถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรเจ้าของโค-กระบือเหล่านั้น จึงได้เตรียมการเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปี-สกิน ดังนี้...

ในกรณีที่เป็นการชดเชยกรณีสัตว์ตายหรือป่วยตาย โดยดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 และมีขั้นตอน คือ...

1.) รวบรวมข้อมูลความเสียหาย

2.) รวบรวมข้อมูลเสนอ คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ปศุสัตว์อำเภอ)

3.) รวบรวมข้อมูลเสนอ คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ปศุสัตว์จังหวัด)

4.) ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ ปศุสัตว์จังหวัด หรือกรมปศุสัตว์

ทั้งนี้ ชดเชยตามจริงแต่ไม่เกินรายละ 2 ตัว เป็นเงินสดผ่านบัญชีเงินฝากของเกษตรกร ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้...

หน่วย : บาท/ตัว

อายุ >> โค กระบือ

>> น้อยกว่า 6 เดือน = 6,000-8,000

>> 6 เดือน ถึง 1 ปี = 12,000-14,000

>> มากกว่า 1 ปี ถึง 2 ปี = 16,000-18,000

>> มากกว่า 2 ปี = 20,000-22,000

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์รายใด ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคลัมปี-สกิน และมีความประสงค์จะขอรับการเยียวยา ขอให้ติดต่อสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ใกล้บ้าน หรือศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ทางโทรศัพท์ 0-2653-4444 ต่อ 3315 และ e-mail : [email protected]


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

EA-กฟผ. ผนึกกำลัง ดึงจุดแข็งร่วมพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานอัจฉริยะ โดยเฉพาะด้านยานยนต์ไฟฟ้าและการพัฒนาระบบซื้อขายพลังงานไฟฟ้า ภายใต้โครงการ “Smart Energy EGAT X EA” รับเทรนด์พลังงานสะอาด

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ได้ลงนาม MOU โครงการความร่วมมือด้านพลังงานอัจฉริยะ “Smart Energy EGAT X EA” เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบพลังงานใหม่ๆ ในอนาคต ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศ โดยบริษัท EA ถือเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานของประเทศไทย ทั้งทางด้านการผลิตพลังงานสะอาด ด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ระบบแบตเตอรี่ และระบบ Platform ซื้อขายพลังงานไฟฟ้า จึงนับได้ว่าเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญของภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่จะนำเอาจุดแข็งของทั้ง 2 ฝ่ายมาร่วมมือกัน ในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ตอบสนองต่อเทรนด์พลังงานสะอาดที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ภายในปี 2564 บริษัท EA และ กฟผ. ตั้งเป้าที่จะมีโครงการนำร่องในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า เพื่อร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้แก่คนไทยร่วมกันอีกด้วย

สำหรับความร่วมมือมีรายละเอียด ดังนี้ ด้านยานยนต์ไฟฟ้า บริษัท EA จะศึกษาและพัฒนาโครงการปรับเปลี่ยนกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น รถบรรทุกขนส่งเชิงพาณิชย์ต่างๆ ในส่วนของ กฟผ. จะร่วมศึกษาและพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบรวดเร็ว (Ultra Fast Charging Station) ภายใต้ EleX by EGAT เพื่อรองรับการให้บริการยานยนต์ไฟฟ้าในลักษณะ Fleet ซึ่งสถานีอัดประจุไฟฟ้าถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ในการสนับสนุนให้โครงการปรับเปลี่ยนกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของประเทศไทย สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม และด้านการพัฒนาระบบซื้อขายพลังงานไฟฟ้า (Energy Trading Platform) ทั้ง EA และ กฟผ. จะร่วมกันศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบดังกล่าว ที่เป็นประโยชน์กับโครงสร้าง บริบทและระบบไฟฟ้าของประเทศไทย

ด้าน นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท EA กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาโครงสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้าของประเทศ ให้รองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องทางด้านเทคโนโลยี รวมทั้งช่วยส่งเสริมการเติบโตของการผลิตพลังงานหมุนเวียนในประเทศอย่างยั่งยืนและมั่นคง ปัจจุบันบริษัทเปิดให้บริการสถานีอัดประจุแล้วกว่า 400 สถานี รวมทั้งสิ้นกว่า 1,600 หัวชาร์จ ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งระบบธรรมดา หรือ AC Charger ไปจนถึงระบบชาร์จเร็วและทันสมัยที่สุด หรือ DC Super-Fast Charge ที่ใช้เวลาเพียง 15-20 นาที

สมโภชน์ อาหุนัย

รวมทั้งยังอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการด้วยการใช้งานผ่านแอปพลิเคชันระบบออนไลน์ในการจอง จ่าย และชาร์จในคราวเดียวกัน เตรียมพร้อมรองรับกับโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตที่กำลังเข้าสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า 100% และบริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท EA ก็มีความพร้อมรองรับการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โดยสามารถทำการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ได้หลายประเภท เช่น รถบัส รถบรรทุก รถตู้ กำลังผลิตประมาณ 3,000-5,000 คันต่อปี คาดว่าแล้วเสร็จและเริ่มดําเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงกลางปี 2564 โดยนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ในการควบคุมการผลิตทุกขั้นตอน พร้อมทั้งมีกระบวนการทดสอบที่ได้มาตรฐานการขับเคลื่อนที่ทันสมัยและครบวงจร

นอกจากนั้นบริษัท EA ยังดำเนินธุรกิจหลักด้านพลังงานหมุนเวียน จึงมีความมุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างเสถียรภาพในระบบไฟฟ้า ด้วยการพัฒนาระบบ Trading Platform มาใช้ทำการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานที่ลูกค้าสามารถซื้อพลังงานจากผู้ผลิตได้โดยตรง มี AI ช่วยในการทำนายและเทรดได้แบบอัตโนมัติ และใช้เทคโนโลยี Block Chain เข้ามาจัดการ จึงมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยสูง ซึ่งในระยะถัดไปบริษัทมีแผนที่จะนำระบบนี้มาใช้กับพลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน สถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และมิเตอร์ไฟฟ้า เพื่อสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ อันจะช่วยนำไปสู่การมีระบบการผลิต จำหน่าย และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ก.แรงงาน เห็นชอบการรับรองหลักสูตรการฝึกอบรมฝีมือแรงงานแบบ E-Training รับ New Normal

กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ออกประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบหลักสูตร รายละเอียดที่เกี่ยวข้องและรายการค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการฝึกยกระดับฝีมือแรงงานและการฝึกเปลี่ยนสาขาอาชีพ (ฉบับที่ 2) ช่วยเหลือสถานประกอบกิจการในการฝึกอบรม E-Training รับ New Normal

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ กพร.ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญช่วยเหลือสถานประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายบังคับตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ที่ได้ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการที่มีหน้าที่ต้องพัฒนาทักษะฝีมือลูกจ้างสามารถฝึกอบรมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้

อธิบดี กพร. กล่าวต่อไปว่า ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบหลักสูตร รายละเอียดที่เกี่ยวข้องและรายการค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการฝึกยกระดับฝีมือแรงงานและการฝึกเปลี่ยนสาขาอาชีพ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ในส่วนของการฝึกอบรมโดยการบรรยายด้วยวิธีการฝึกอบรมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Training) ให้มีจำนวนผู้รับการฝึกอบรมรุ่นละ ไม่เกิน 30 คน ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นนายจ้างต้องจัดให้ผู้เข้ารับการฝึกทุกคนแสดงตนก่อนเข้ารับการฝึกอบรม โดยผู้เข้ารับ การฝึกและครูฝึกหรือวิทยากรไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่ต้องสามารถสื่อสารกันได้ทั้งภาพและเสียงตลอดระยะเวลาการฝึกอบรม ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงของผู้เข้ารับการฝึกทุกคนตลอดระยะเวลาที่มีการฝึกอบรม และเก็บไว้เพื่อให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบไม่น้อยกว่า 2 ปี นับแต่วันเสร็จสิ้นการฝึก

“ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้ เป็นการช่วยเหลือสถานประกอบกิจการให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานที่เป็นลูกจ้างของตนเอง สถานประกอบกิจการที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สพร. และ สนพ.ทุกจังหวัด หรือกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน 0 2246 1937” อธิบดี กพร. กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top