Saturday, 17 May 2025
ECONBIZ NEWS

ปตท. ร่วมแก้วิกฤตฝุ่น PM 2.5 หนุนพนักงาน Work from Home

เมื่อวันที่ 3 ก.พ.66 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.)  กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่งและปิด ทำให้ฝุ่นละอองสะสมตัวมากขึ้น และส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานของคนไทย เราตระหนักถึงปัญหาจึงมีนโยบายให้พนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร, ปทุมธานี, นครราชสีมา, พระนครศรีอยุธยา, ระยอง, ราชบุรี และขอนแก่น ปฏิบัติงานในที่พัก (Work from Home) ระหว่างวันที่ 3 – 5 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อร่วมลดผลกระทบที่เกิดจากการสัญจร

ทั้งนี้ ปตท. ยึดมั่นดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชม และสิ่งแวดล้อม พร้อมตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ซึ่งเร็วกว่าที่ประเทศกำหนด ด้วยกลยุทธ์เชิงรุก 'ปรับ เปลี่ยน ปลูก' ปรับกระบวนการผลิต ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการให้ได้สูงสุด เปลี่ยนสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจพลังงานสะอาด อาทิ พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน และธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ปลูกป่าเพิ่ม 2 ล้านไร่ โดย ปตท. เป็นแกนหลักในการปลูก 1 ล้านไร่ ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) และกลุ่ม ปตท. อีก 1 ล้านไร่ เพื่อเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ

'บิ๊กตู่' ลุย!! แผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 4 ชู!! 'เศรษฐกิจดิจิทัล' พาเศรษฐกิจไทยโตยั่งยืน

(4 ก.พ.66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากผลสำเร็จของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560-2564) ในการเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) เป็นแหล่งระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย และพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเป็นจุดเชื่อมโยงของภูมิภาค เป็นต้น ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ได้รับทราบแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2565 - 2570) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างแข็งแรง ให้ตลาดทุนไทยเป็นผู้นำระดับภูมิภาค ส่งเสริมทุกภาคส่วนให้เติบโตอย่างยั่งยืน สนับสนุนทุกภาคส่วนให้ปรับสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเสริมสร้างความอยู่ดีมีสุขทางการเงินของประชาชน

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 ที่สานต่อจากแผนพัฒนาตลาดทุนฯ ฉบับที่ 3 ได้คำนึงถึงปัจจัยความท้าทาย และทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจโลก (Mega Trends) ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนในหลายด้านที่สำคัญ อาทิ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมสูงวัย ภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ เป็นต้น รวมทั้งมุ่งเน้นการสร้างภูมิทัศน์ของภาคตลาดทุนไทยในอนาคต ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ 29 แผนงาน ดังนี้...

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ตลาดทุนเพื่อการแข่งขันได้ (Competitiveness) เป็นการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของทุกภาคส่วนในตลาดทุนไทยและระบบเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 11 แผนงาน โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น การแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ตลาดทุนที่เข้าถึงได้ (Accessibility) เป็นตลาดทุนที่เอื้อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ ประกอบด้วย 8 แผนงาน โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น การสนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต (New Economy) กลุ่มธุรกิจที่เน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมเพื่อให้เติบโตต่อไปได้ในอนาคต (New S-curve) และกลุ่มธุรกิจด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) การระดมทุนผ่าน LiVE Exchange ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์สำหรับ SMEs และ Startup เป็นต้น 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ตลาดทุนดิจิทัล (Digitalization) เป็นการส่งเสริม ประยุกต์ และใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในตลาดทุน ประกอบด้วย 6 แผนงาน โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น โครงการ Digital Infrastructure (DIF) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางในตลาดทุน เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainability) เป็นการมุ่งเน้นส่งเสริมความยั่งยืนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทยและระบบเศรษฐกิจในระยะยาว ประกอบด้วย 1 แผนงาน ได้แก่ มาตรการส่งเสริมและพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืน (ESG) 

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ตลาดทุนเพื่อความอยู่ดีมีสุขทางการเงิน (Financial well-being) เป็นการมุ่งเน้นสร้างผลลัพธ์ทางการเงินที่ดี รวมถึงการสร้างโอกาสในการลงทุน โดยมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ประกอบด้วย 3 แผนงาน โดยมีแผนงานที่สำคัญ เช่น การพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย (Financial Literacy) ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 - 2570 การปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 เป็นต้น

ปตท. หนุนกิจกรรม ‘เดิน-วิ่ง OLYMPIC DAY 2023’ กระตุ้นคนไทยรักสุขภาพ - กระจายรายได้สู่ภูมิภาค

ปตท. ส่งเสริมสุขภาพคนไทย พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจ สนับสนุนกิจกรรมเดิน-วิ่ง OLYMPIC DAY 2023 ใน 4 จังหวัด

(2 ก.พ. 66) นางกนกพร รอดรุ่งเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ร่วมงานแถลงข่าวพร้อมสนับสนุนการจัดกิจกรรม ‘เดิน - วิ่ง OLYMPIC 2023’ ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมี นายพิชัย ชุณหวชิระ รองประธานกรรมการ โอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานอนุกรรมการฝ่ายกีฬาเพื่อมวลชนและสิ่งแวดล้อม ประธานจัดการแข่งขัน เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ประชาชนหันมาออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพ

‘รมว.จุติ’ ยกย่อง ‘อาคม’ หลังขึ้นแท่น รมว.คลังแห่งปี 66 ช่วยพา ศก.ไทย ฝ่าภาวะวิกฤติซ้อนวิกฤติ

รมว.พม. ยินดี ‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’ รับรางวัล รมว.คลังแห่งปี 2566 ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จากนิตยสาร The Banker ยกย่องบริหารเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพในวิกฤติซ้อนวิกฤติ 

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 66 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) แสดงความยินดีกับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในโอกาสที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งปี 2566 (Finance Minister of the Year 2023) ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จากนิตยสาร The Banker ในเครือ Financial Times สื่อสิ่งพิมพ์ด้านเศรษฐกิจและการเงินชั้นนำที่ได้รับความเชื่อถือในระดับสากล 

นายจุติ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศไทยได้รับรางวัลดังกล่าว เพราะความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ ทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรเงินกู้อยู่ในระดับที่น่าเชื่อถือ ไม่ผันผวน อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับปานกลาง และหนี้สาธารณะอยู่ในเกณฑ์ดี อีกทั้งมีการจัดสรรงบประมาณที่ตอบโจทย์ประเทศ รักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้เป็นอย่างดี

‘สุริยะ’ หนุนภาคอุตฯ ใช้ ‘ปูนไฮดรอลิก’ ทำคอนกรีต แทนปูนปอร์ตแลนด์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

กระทรวงอุตสาหกรรม หนุนภาคอุตสาหกรรมใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ชี้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า เร่ง สมอ. แก้ไขมาตรฐานคอนกรีตและปูนทั้ง 71 มาตรฐาน ให้สามารถใช้ปูนซีเมนต์ ไฮดรอลิกเป็นส่วนผสม เพื่อช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

(2 ก.พ. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไข เพื่อบรรเทาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดแก่ประชากรโลก กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลภาคอุตสาหกรรม จึงได้กำหนดนโยบายเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยมอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งรัดดำเนินการกำหนดมาตรฐานเพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว 

สุริยะ กล่าวว่า "ผมได้รับรายงานว่า สมอ. ได้มีการกำหนดและแก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับคอนกรีตและปูนซีเมนต์ โดยให้สามารถใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีตต่าง ๆ แทนการใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ซึ่งการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ โดยมีการคิดค้นพัฒนาการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ซึ่งมีส่วนประกอบของปูนเม็ดในอัตราส่วนที่น้อยกว่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประมาณร้อยละ 10 ของปริมาณทั้งหมด โดยใช้วัสดุอื่นมาผสมทดแทน เช่น หินปูน กากถลุง และปอซโซลาน เป็นต้น"

สุริยะ กล่าวอีกว่า จากองค์ประกอบที่มีอัตราส่วนของปูนเม็ดน้อยลง จึงทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตน้อยลงตามไปด้วย โดยปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกนั้นมีคุณสมบัติและประสิทธิภาพในการนำไปใช้งานที่ดีเทียบเท่ากับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ หากประมาณการเบื้องต้นในเชิงของการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก 1 ตัน จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 0.05 ตัน (CO2) เมื่อเทียบกับการผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ในปริมาณที่เท่ากัน ดังนั้น การนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมาใช้งานทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนได้

ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม สมอ. ได้กำหนดและแก้ไขมาตรฐานให้สามารถใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีตต่างๆ แล้วจำนวน 71 มาตรฐาน ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาโลกร้อน ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ จึงขอเชิญชวนให้ภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน นำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมาใช้งานทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนร่วมกัน

‘รัฐบาล’ คาด!! ปี 66 ต่างชาติเข้าไทย 28 ล้านคน สร้างมูลค่าการท่องเที่ยวแตะ 1.44 ล้านล้านบาท

(2 ก.พ. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทยในปี 2566 จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเอง และ นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง 

นายอนุชา กล่าวว่า จากสถิติของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เข้ามาเยือนในประเทศไทย ช่วงเดือนธันวาคม 2565 มีจำนวนมากถึง 2,241,195 คน โดยอันดับ 1 เป็นนักท่องเที่ยวจาก มาเลเซีย จำนวน 398,295 คน โดยจุดมุ่งหมายที่ได้รับความนิยม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี สงขลา และ ภูเก็ต โดยเฉพาะ ภูเก็ต ที่บรรยากาศการท่องเที่ยวคึกคัก ทั้งในส่วนของย่านเมือง ทะเล หรือ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

'หุ้นเจียไต๋' พุ่ง 200% สูงสุดในรอบ 7 ปี หลัง 'เจ้าสัวธนินท์' พบ 'แจ็ค หม่า' ที่ฮ่องกง

เมื่อวานนี้ (1 ก.พ. 66) ราคาหุ้นของบริษัท เจียไต๋ เอ็นเทอร์ไพรส์ อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทในเครือของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งเป็นอภิมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของไทย และเป็นประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ พุ่งขึ้นกว่า 200% หลังมีข่าวว่า 'เจ้าสัวธนินท์' พบ 'แจ็ค หม่า' ที่ฮ่องกง

ทั้งนี้ ราคาหุ้นเจียไต๋ทะยานขึ้น 251.88% ทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 7 ปี หลังฮ่องกง อิโคโนมิก ไทม์ส รายงานว่า นายธนินท์ พร้อมกับบุตรชายทั้งสามได้พบกับ นายแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งบริษัทอาลีบาบา ที่ฮ่องกงในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยคาดว่าทั้งสองฝ่ายมีการหารือเกี่ยวกับการลงทุนทางธุรกิจร่วมกัน

'บิ๊กตู่' หนุนความร่วมมือ 'ไทย-ญี่ปุ่น' ต่อยอดการค้า การลงทุน 'ระดับท้องถิ่น-นิคมฯ'

(1 ก.พ. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ภายหลังกระทรวงอุตสาหกรรมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น โดยเน้นย้ำให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนบูรณาการการทำงานร่วมกัน ผลักดันความร่วมมือด้วยการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในระดับท้องถิ่นไปจนถึงนิคมอุตสาหกรรมเพื่อต่อยอดการค้าการลงทุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในอนาคต

นายอนุชา กล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่น จังหวัดอิชิกาวะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมเส้นใยและสิ่งทอ อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และอุตสาหกรรมเกษตร และถือเป็นรัฐบาลท้องถิ่นแห่งที่ 23 ที่ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นตัวแทนหลักในการประสานความร่วมมือในลักษณะพื้นที่ต่อพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของคู่ค้า

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 23 - 27 ม.ค. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 30 ม.ค - 3 ก.พ.66

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น ท่ามกลางคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกฟื้นตัว จากจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นำเข้าน้ำมันดิบในเดือน พ.ย.65 รวมเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 21.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเฉพาะจีนหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 และเปิดประเทศ โดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) คาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีนในปี 66 จะขยายตัวอยู่ที่ +4.8% จากปีก่อนหน้า

สัปดาห์นี้คาดว่าราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 85 - 90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ด้านปัจจัยเคลื่อนย้ายเงินทุนคาดว่าจะมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้นหลังการประชุมนโยบายการเงิน Federal Open Market Committee (FOMC) ของสหรัฐฯ วันที่ 31 ม.ค. - 1 ก.พ. 66 โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งละ 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.0% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค. - 1 ก.พ. 66 และวันที่ 15 - 16 มี.ค. 66 และจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวจนถึงปลายปี 66

จับตามาตรการกำหนดเพดานราคา (Price Cap) น้ำมันสำเร็จรูปรัสเซียซึ่งขนส่งทางทะเล วันที่ 5 ก.พ. 66 โดยกลุ่มชาติมหาอำนาจ G7 (แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ) และสหภาพยุโรป (EU) เห็นพ้องกำหนดเพดานราคา Diesel ที่ 100-110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ปัจจุบันราคา Diesel รัสเซียอยู่ที่ 115-120 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ต่ำกว่าราคาตลาดยุโรปซึ่งอยู่ที่ประมาณ 125 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) ซึ่งมาตรการดังกล่าวอาจส่งผลต่ออุปสงค์น้ำมันดิบ

‘เสี่ยเฮ้ง’ เผย ครม.เคาะค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ หนุนแรงงานรับค่าจ้างเหมาะสม - เป็นธรรม

(31 ม.ค. 66) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (31 มกราคม 2566) เห็นชอบประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ สำหรับแรงงาน 3 กลุ่มอาชีพ 17 สาขา เพื่อส่งเสริมให้แรงงานที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ในแต่ละสาขาอาชีพและแต่ละระดับได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม เป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และการจ้างงานในตลาดแรงงาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับแรงงาน 3 กลุ่มอาชีพ 17 สาขา ได้แก่ 

>>กลุ่มช่างอุตสาหการ ประกอบด้วย 
-ช่างระบบส่งถ่ายกำลัง ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 495 บาท 
-ช่างระบบปั๊มและวาล์ว ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 515 
-ช่างประกอบโครงสร้างเหล็ก ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 500 
-ช่างปรับ ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 500 บาท 
-ผู้ควบคุมระบบงานเชื่อมมิก - แม็ก ด้วยหุ่นยนต์ ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 520 บาท 
-ช่างเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 545 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 635 บาท และระดับ 3 ไม่ต่ำกว่าวันละ 715 บาท


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top