Tuesday, 13 May 2025
Soft News Team

พรุ่งนี้แล้ว!! พร้อมหรือยัง? เปิดแนวปฏิบัติในการเข้าสอบและการใช้พื้นที่สนามสอบ การสอบวัดความพร้อมเพื่อเข้าศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ได้กำหนดการสอบวัดความพร้อมเพื่อเข้าศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ในวันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2564 ณ สนามสอบโรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จึงกำหนดแนวปฏิบัติในการเข้าสอบและการใช้พื้นที่สนามสอบสำหรับผู้เข้าสอบ (นักเรียน) และผู้ปกครองนักเรียน ดังต่อไปนี้

1.) ตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กำหนดให้ผู้เข้าสอบต้องทำแบบสอบถามเพื่อคัดกรองผู้เข้าสอบ โดยสามารถดาวน์โหลดและพิมพ์เอกสารจากเว็บไซต์ของโรงเรียนหรือสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ พร้อมกรอกข้อมูลให้เรียบร้อยล่วงหน้า แล้วนำส่งที่จุดคัดกรองก่อนเข้าสนามสอบ หรือสามารถรับแบบสอบถามได้ที่เจ้าหน้าที่ที่บริเวณจุดคัดกรอง

2.) ผู้เข้าสอบต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ณ จุดคัดกรอง ก่อนเข้าสนามสอบและอาคารสอบ หากมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.3 องศา โรงเรียนจะดำเนินการให้นั่งพักระยะเวลาหนึ่งแล้วตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายอีกครั้ง หากอุณหภูมิร่างกายยังคงสูงอยู่ โรงเรียนจะพิจารณาดำเนินการในลำดับต่อไป

ตำแหน่งจุดคัดกรอง ได้แก่ บริเวณทางเข้าอาคารสาธิตปทุมวัน 1 และประตูทางเข้าบริเวณอาคารสาธิตปทุมวัน 3 โรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน และบริเวณทางเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

3.) ผู้เข้าสอบต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ภายในสนามสอบ ยกเว้นกรณีที่มีเหตุจำเป็น

4.) โรงเรียนไม่อนุญาตให้นำอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดเข้ามาในห้องสอบ จึงขอแนะนำให้ผู้เข้าสอบนัดหมายจุดนับพบกับผู้ปกครองให้เรียบร้อยก่อนเข้าห้องสอบ ทั้งนี้โรงเรียนจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหาย หรือการสูญหายของอุปกรณ์สื่อสารและของมีค่าที่นักเรียนนำติดตัวเข้ามาในสนามสอบไม่ว่ากรณีใด ๆ

5.) ผู้เข้าสอบและผู้ปกครองสามารถดูข้อมูลสถานที่และอาคารสอบได้จากแผนผังสถานที่สอบจากสื่อประชาสัมพันธ์ของโรงเรียน หรือป้ายประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ภายในสนามสอบ และสามารถสแกน QR Code เพื่อแสดงเส้นทางไปยังอาคารสอบต่าง ๆ

ทั้งนี้โรงเรียนมีเจ้าหน้าที่และนักเรียนช่วยปฏิบัติงานที่มีบัตรประจำตัวแสดงตน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานภายในโรงเรียนและบริเวณต่าง ๆ ภายในสนามสอบ ผู้เข้าสอบและผู้ปกครองสามารถสอบถามข้อมูลหรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับสนามสอบ และสถานที่ภายในสนามสอบได้ตามความเหมาะสม

6.) ไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองเข้ามาในบริเวณอาคารสอบและห้องสอบไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งนี้สนามสอบที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีพื้นที่โดยรอบอาคารสอบที่ผู้ปกครองสามารถรอรับหรือนัดพบกับนักเรียนได้โดยการใช้พื้นที่ดังกล่าว ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด

7.) โรงเรียนอนุญาตให้ผู้ปกครองนำรถเข้ามาภายในโรงเรียนได้ ทั้งนี้สนามสอบโรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน ไม่มีที่จอดรถ จึงขอให้หยุดรถเพื่อส่งนักเรียนได้ที่บริเวณจุดที่กำหนดให้เท่านั้น ส่วนสนามสอบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผู้ปกครองสามารถนำรถไปจอดได้บริเวณสนามฟุตบอลและบริเวณถนนโดยรอบอาคารได้ ซึ่งโรงเรียนกำหนดประตูทางเข้า - ออกที่ประตูหน้าโรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน ถนนอังรีดูนังต์ และประตูหน้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ถนนพญาไท จึงขอแนะนำให้ใช้เส้นทางการเดินรถตามความเหมาะสม

หากการใช้พื้นที่จอดรถในสนามสอบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเต็มพื้นที่แล้ว ผู้ปกครองสามารถใช้บริการที่จอดรถที่อาคารจอดรถรถมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เสียค่าบริการจอดรถ) หรือสถานที่อื่นตามความสะดวกของ ผู้ปกครอง

8.) สำหรับผู้เข้าสอบหลักสูตรโครงการนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษภาคภาษาอังกฤษ (EPTS) ซึ่งมีตารางการสอบทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โรงเรียนจะจัดอาหารกลางวันพร้อมน้ำดื่มให้แก่ผู้เข้าสอบหลักสูตรโครงการ EPTS (ในกรณีที่ผู้ปกครองมีการจัดเตรียมอาหารกลางวันให้แก่นักเรียน จะต้องดำเนินการมอบให้นักเรียนก่อนเข้าอาคารสอบตั้งแต่ช่วงเช้า) สำหรับผู้เข้าสอบหลักสูตรปกติมีกำหนดการสอบเฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น เมื่อสิ้นสุดการสอบในเวลา 11.45 น. ผู้ปกครองสามารถรับนักเรียนกลับได้ทันที

9.) กรณีที่ผู้เข้าสอบและผู้ปกครองมีข้อสงสัยหรือปัญหาใด ๆ ในวันสอบ ให้ติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานอำนวยการโรงเรียน ชั้น 1 อาคารสาธิตปทุมวัน 1 (สนามสอบโรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน) หรือที่ห้องประชุมหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ตึกเฉลิมพระเกียรติ72 พรรษาฯ (สนามสอบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา) หรือติดต่อสอบถามได้ที่อาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักเรียนช่วยปฏิบัติงาน และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานบริเวณสนามสอบ

อ่านประกาศฉบับเต็ม https://www.satitpatumwan.ac.th/wp-content/uploads/2021/03/แนวปฏิบัติในการสอบ-ม1-2564-1.pdf

รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.satitpatumwan.ac.th/?p=16556

งบประมาณกระทรวงวัฒนธรรมถูกหั่น สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ถูกลดงบประมาณส่วนทุนการศึกษาที่จะให้นักเรียน นักศึกษาของสถาบันในแต่ละปี ตัดเหลือ 50 ทุน จากจำนวน 100 ทุน ซึ่งอาจกระทบความต่อเนื่องที่ได้รับทุน

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้รับงบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 รวมทั้งสิ้น 7,104,347,600 บาท ลดลงจากปี 2564 จำนวน 858,540,900 บาท คิดเป็นร้อยละ 10.78 นั้น

ตนได้แจ้งให้ที่ประชุมผู้บริหารทราบว่า หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณเพิ่มในปีนี้ คือ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้รับ 88,843,000 บาท เพิ่มขึ้น 14,737,500 บาท คิดเป็นร้อยละ 20 โดยส่วนที่เพิ่มเป็นการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศ ในด้านการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม การสร้างค่านิยมให้คนไทย ซึ่งโยกจากที่หน่วยงานอื่นมาให้ศูนย์คุณธรรมดำเนินการ

ทั้งนี้ เนื่องจากศูนย์คุณธรรม มีบุคลากรอยู่จำกัด การดำเนินงานจึงต้องใช้วิธีบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมการศาสนา สำนักงานปลัด วธ.กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

นายอิทธิพลกล่าวอีกว่า ขณะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) ถูกลดงบประมาณมากที่สุด โดยได้รับจำนวน 1,053,641,700 บาท ลงลด จำนวน 248,539,500 บาท โดยถูกตัดจากที่เสนอขอไป ถึงร้อยละ 30

ทั้งนี้ งบประมาณที่ถูกปรับลดอยู่ในส่วนทุนการศึกษาที่จะให้นักเรียน นักศึกษา ของสถาบัน ในแต่ละปี ซึ่งได้มีการมอบให้ จำนวน 100 ทุน ในปีนี้ถูกตัดเหลือ 50 ทุน ซึ่งอาจกระทบต่อความต่อเนื่องที่ได้รับทุน อย่างไรก็ตาม สบศ. จะทำเรื่องเสนอขอแปลงงบประมาณเพิ่มเติม ในชั้นกรรมาธิการ และจะปรับแผนงานในส่วนต่าง ๆ เพิ่มเติม โดยเน้นย้ำว่าให้เรียงลำดับความสำคัญและจำเป็นมากที่สุด

“ในส่วนกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้มอบหมายให้ทบทวนแผนงานจัดกิจกรรมวัฒนธรรม ประเพณี ที่ได้มีการสนับสนุนผ่านเครือข่ายวัฒนธรรมต่าง ๆ รวมถึงการดำเนินงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยย้ำให้เจาะกลุ่มให้แคบลง เนื่องจากงบประมาณต้องใช้อย่างจำกัด ซึ่งส่วนที่ต้องให้ความสำคัญ และขยายผล คือ เรื่องอาหาร และผ้า

ทั้งนี้ ผมยังได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานสร้างความเข้าใจกับเครือข่ายทางวัฒนธรรมทุกภาคส่วนที่เคยร่วมงานกันถึงการได้รับงบประมาณในการดำเนินงาน แผนกิจกรรมต่างๆ ที่ลดลง รวมถึงให้มีการปรับขอบเขตการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ให้เหมาะสมตามสัดส่วน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต” รมว.วัฒนธรรมกล่าว.


ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/local/2053049

คติประจำใจจาก "B.B. King" (นักแต่งเพลง นักกีตาร์ ชาวอเมริกัน)

“The beautiful thing about learning is nobody can take it away from you.”

“สิ่งที่วิเศษสุดสำหรับการเรียนรู้ คือไม่มีใครสามารถเอามันไปจากคุณได้.”


B.B. King (นักแต่งเพลง นักกีตาร์ ชาวอเมริกัน)

ราชกิจจานุเบกษา ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และการชำระเงินคืนกองทุน ใช้บังคับตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป

เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินให้ กู้ยืมเพื่อการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการชำระเงินคืนกองทุน พ.ศ. 2563 ความว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการชำระเงินคืนกองทุน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 (7) และ (17) มาตรา 39 มาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 44 และมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 คณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในการประชุมครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ได้มีมติให้ออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการชำระเงินคืนกองทุน พ.ศ. 2563”

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับกับการดำเนินการให้กู้ยืมเงินตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้ยกเลิก

(1) ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการชำระเงินคืนกองทุน พ.ศ. 2561

(2) ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการชำระเงินคืนกองทุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

ข้อ 4 ในระเบียบนี้

“กองทุน” หมายความว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

“ผู้กู้ยืมเงิน” หมายความว่า นักเรียนหรือนักศึกษาผู้ได้รับเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 และให้หมายความรวมถึงนักเรียนหรือนักศึกษาผู้ได้รับเงินกู้ยืมตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 และนิสิตหรือนักศึกษาผู้รับทุนการศึกษาแบบต้องใช้คืนจากกองทุนเพื่อการศึกษาตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่ออกตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 ด้วย

“เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา” หมายความว่า เงินที่กองทุนจัดสรรให้ผู้กู้ยืมเงินเพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ

“นักเรียนหรือนักศึกษา” หมายความว่า ผู้ซึ่งศึกษาอยู่ในสถานศึกษา และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับการตอบรับให้เข้าศึกษาในสถานศึกษาด้วย

“สถานศึกษา” หมายความว่า โรงเรียน สถาบันอุดมศึกษา หรือสถานศึกษาอื่นของรัฐ โรงเรียนของเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนและสถาบันอุดมศึกษาของเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

“ค่าเล่าเรียน” หมายความว่า เงินค่าเล่าเรียน ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่สถานศึกษาเรียกเก็บจากนักเรียนหรือนักศึกษา

“ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายอื่นที่มิใช่ค่าเล่าเรียนที่สถานศึกษาเรียกเก็บจากนักเรียนหรือนักศึกษาตามระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งของสถานศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา

“ค่าครองชีพ” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพระหว่างศึกษา

“สถาบันการเงิน” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือธนาคารที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

“นิติบุคคล” หมายความว่า นิติบุคคลไทยที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย

“ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

“ผู้จัดการ” หมายความว่า ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

ข้อ 5 ในการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาและการชำระเงินคืนกองทุน ให้กองทุนสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา นักเรียนหรือนักศึกษาผู้ขอกู้ยืมเงิน ผู้กู้ยืมเงิน และผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 และตามระเบียบนี้ รวมทั้ง กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของกองทุน ทั้งที่ออกใช้บังคับอยู่แล้ว และที่จะออกใช้บังคับต่อไปในภายหน้าโดยเคร่งครัด

ข้อ 6 ให้ผู้จัดการเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาในการปฏิบัติตามระเบียบนี้ แล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบ รวมทั้งการออกประกาศกำหนดแนวปฏิบัติเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมแนวทางและวิธีดำเนินการตามระเบียบนี้

หมวด 1 การให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา

ข้อ 7 กองทุนจะสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาด้วยการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ใน 4 ลักษณะ ดังต่อไปนี้

อ่านต่อทั้งหมด http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/058/T_0001.PDF

หลังจากตอนที่แล้ว คุณพ่อแฟรงค์ เล่าเรื่องการรับมือกับลูกวัยรุ่นในแบบของคุณพ่อ วันนี้จะมาแบ่งปันวิธีจัดการกับเวลาและงานอดิเรก รวมถึงการเตรียมพร้อมลูกให้เดินทางไปสู่ความฝันได้

“ความเชื่อทำให้เราไม่ได้ตรวจสอบอะไรทั้งสิ้น”

คำพูดของคุณพ่อแฟรงค์ทำให้ได้ฉุกคิด คุณพ่อแฟรงค์มีลูก 2 คน คนโตก้าวเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว ในช่วงวัยรุ่นคุณพ่อผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก และพ่อแฟรงค์คือผู้ใหญ่ที่เตือนเราให้ไม่ลืมตรวจสอบความเชื่อของเราเอง

“ผมจะบอกกับลูกว่า ฟังพ่อนะลูก แต่อย่าเชื่อพ่อทั้งหมด มีอะไรที่พ่อไม่รู้ ให้บอกพ่อด้วย เด็กรุ่นนี้ถูกต่อว่าว่ารอไม่เป็น แต่มองอีกอย่าง เค้าเกิดมารองรับความรวดเร็วของเทคโนโลยีสมัยที่คนรุ่นเราเริ่มตามไม่ทัน ผมเคยคุยกับลูก เวลาเราเห็นคนนุ่งจีวร เราเห็นเค้าเป็นอะไร เห็นเป็นพระ ลองให้ลูกจินตนาการว่าให้คนเดิมที่นุ่งจีวรมาใส่ชุดแนวฮิปฮอป เราจะเห็นเค้าเป็นแบบไหน ผมกับลูกก็หัวเราะกัน บางทีรูปลักษณ์ภายนอกหรือเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็ส่งผลต่อความเชื่อของเราที่มีต่อเค้าได้ ผมไม่ได้ให้ปฏิเสธความเชื่อ แต่ให้ตรวจสอบความเชื่อ”

ตอนที่แล้วคุณพ่อแฟรงค์พูดถึงการรับมือกับลูกวัยรุ่นในแบบของคุณพ่อ วันนี้เรามาต่อกันว่า คุณพ่อแฟรงใช้วิธีใดจัดการกับเวลาและงานอดิเรก รวมถึงการเตรียมพร้อมลูกให้เดินทางไปสู่ความฝันได้

จากที่พ่อแฟรงค์เล่า พ่อแฟรงค์ไม่ได้ทำอะไรแตกต่างไปจากพ่อแม่คนอื่น ๆ ส่งลูกไปเรียนดนตรี เล่นกีฬา หรือกิจกรรมที่เป็นที่นิยม แต่สิ่งที่พ่อแฟรงค์น่าจะทำได้ดีเป็นพิเศษกว่าพ่อแม่หลายคน คือคุณพ่อแฟรงค์เลือกที่จะใช้เวลากับลูกให้มากที่สุด

“ครั้งหนึ่งผมส่งลูกไปเรียนดนตรีเป็นปกติ แล้วหลังจากเค้าเรียนเสร็จ ก็ให้ลูกเดินเล่นในห้างรอพ่อไปรับ ผมรู้สึกว่าทำไมเราปล่อยให้เค้าเดินเรื่อยเปื่อยในห้างรอเราอยู่คนเดียว หลังจากนั้นผมตั้งใจว่าจะใช้เวลาอยู่กับลูกให้มากที่สุด แล้วพอเราใช้เวลากับเค้า เราจะรู้ว่าลูกชอบอะไร เก่งอะไร พิเศษเรื่องไหน เราก็จัดเวลา จัดลำดับความสำคัญให้ลูกได้ จัดลำดับความสำคัญของงานอดิเรก อันไหนหาเงินได้ หาได้เท่าไหร่ เราจะทำอันไหนก่อนหลัง จัดตารางแต่ละวัน เด็กสมัยนี้ทำงานอดิเรกได้หลายอย่างต่อวัน อันไหนเร่งด่วนและมีประโยชน์ก็ทำก่อน การบ้านยังถึงเวลาส่ง ก็ทำทีหลังได้ งานไหนได้ประโยชน์ ได้ความรู้ได้ทักษะ ก็แบ่งเวลาไปทำ และเมื่อเราทำแล้ว ก็ให้ทำงานอดิเรกนั้นให้ดี”

ความฝันมีให้เรารู้ว่าเราไปไหน แค่ระหว่างเดินทางไปเรามีความสุขก็เพียงพอแล้ว

“จะทำตามความฝัน ต้องเตรียมตัวเราให้เราไปสู่เป้าหมายได้ สุขภาพต้องพร้อมด้วย อาหารการกินสำคัญ ทานอาหารเช้า ออกกำลังกาย พยายามนอนช่วง 4 ทุ่มถึงตี 5 นอนเวลาอื่นยังไงก็ไม่เพียงพอเหมือนช่วงนี้ เพราะไม่ใช่ช่วงที่ Growth Hormones หลั่ง”

เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ให้ลูกหา skill ของเค้าเอง แล้วสนับสนุนเค้า

“เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนพูดได้ก่อน บางคนวิ่งได้ก่อน ให้ลูกหา skill ของเค้าเอง แล้วสนับสนุนเค้า ถ้าเรากดเค้าไว้ นอกจากสิ่งนั้นจะไม่เบิกบานแล้ว เราจะสูญเสียอัจฉริยะบุคคลแน่นอน ความฝันมีไว้ให้เรารู้ว่าเราเดินไปไหน เราก็เดินสบาย ๆ เดินของเราไปเรื่อย ๆ อย่างมีความสุข สำคัญคือ อย่าผลักลูกไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม”

น้องเฟียนที่นั่งอยู่เคียงข้างพ่อ ดูเป็นตัวของตัวเองเหมือนวัยรุ่นทั่วไป และเมื่อเค้าเดินไปจับเปียโน น้องเฟียนก็ฉายแสงของศิลปินออกมาทันที ความสัมพันธ์ที่ดีของลูกชายศิลปินวัยรุ่นกับพ่อที่ทุ่มเทเวลาให้กับลูกเปล่งประกายตลอดการสัมภาษณ์

เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่และคุณลูกทุกคนค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ รับมือกับลูกวัยรุ่น เพื่อไปต่อให้ถึงเป้าหมาย

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/249307613299909

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

ศึกษาธิการ ประชุมปรับนโยบาย ป้อนนักวิทยาศาสตร์สู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ตอบโจทย์กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต พร้อมขยายฐานส่งนักวิจัย/นักวิทยาศาสตร์ทุน พสวท. ชดใช้ทุนในหน่วยงานวิจัยเอกชน

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ รักษาราชการแทน รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 38-1/2564 ณ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายฐานหน่วยงานเอกชนที่มีหน่วยปฏิบัติงานวิจัยและพัฒนาสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ให้ผู้สำเร็จการศึกษาทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ทุน พสวท.) สามารถปฏิบัติงานตอบแทนทุนได้ในเบื้องต้น 46 แห่ง

โดยมีผู้สำเร็จการศึกษาจากทุน พสวท. เข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานเอกชนเป็นกรณีนำร่องแล้ว เช่น บริษัท เอสบีซี อบาคัส จำกัด สถาบันวิทยสิริเมธี บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นต้น ทั้งนี้ผู้สำเร็จการศึกษา จะต้องรายงานความก้าวหน้าการทำวิจัยทุก 6 เดือน และในการประชุมครั้งนี้ได้มีมติให้เพิ่มหน่วยงานเอกชนอีก 1 แห่ง คือ บริษัท ฮอทิเจนเนติคส์ รีเสิร์ช (เอส.อี.เอเซีย) รวมเป็น 47 แห่ง

การที่นักวิจัยเป็นผู้สำเร็จการศึกษาทุน พสวท. ได้เข้าร่วมในหน่วยปฏิบัติงานวิจัยและพัฒนาที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในหน่วยงานเอกชน ตามที่มีแผนพัฒนาร่วมกัน นับว่าเป็นการขยายฐานการวิจัยเพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศได้ตรงจุด

รวมทั้งทำให้นักวิจัยได้รับการสนับสนุนในด้านเทคโนโลยีและทรัพยากรที่เหมาะสม ทันสมัยจากภาคเอกชน ส่งผลให้เกิดขวัญกำลังใจที่จะสร้างงานวิจัยตอบแทนประเทศ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์แรกเริ่มของการให้ทุน พสวท. คือ ต้องการสร้างนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ศักยภาพสูงมาร่วมพัฒนาประเทศ

“นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติให้ปรับเพิ่มสาขาวิชาที่สามารถเลือกศึกษาในระดับปริญญาตรีสู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล เพื่อตอบโจทย์กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ภายใต้แนวคิดที่ว่า ประเทศไทยสามารถผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใน 2 รูปแบบ ได้แก่ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต”

“5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (FIRST S-CURVE) คือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร

5 อุตสาหกรรมอนาคต (NEWS - CURVE) คือ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ ดิจิทัล เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และการแพทย์ครบวงจร”

จากเดิมการรับทุน พสวท. ระดับปริญญาตรี สามารถเลือกศึกษาได้เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ 6 สาขาวิชา (คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ธรณีวิทยา และพฤกษศาสตร์) จึงได้ปรับเพิ่มให้สามารถเลือกศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ได้ โดยให้พิจารณาสัดส่วนระหว่างวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์กับวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ อีก 42 หลักสูตร

เช่น จุลชีววิทยา เคมีบูรณาการ เคมีอุตสาหกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ วัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์การกีฬา วิทยาการข้อมูล วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ วิทยาศาสตร์ชีวภาพรังสี วิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ เป็นต้น

ศาสตราจารย์ ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาทุน พสวท. 1,732 คน เข้าปฏิบัติงานตอบแทนทุนตามหน่วยงานต่าง ๆ 1,692 คน อยู่ระหว่างรอบรรจุเข้าตอบแทนทุน 40 คน

ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาได้สร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมจำนวนมาก และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ 19 คน ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติในระดับชาติและนานาชาติ และทุนวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ 62 รางวัล

และยังมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติจนเป็นที่ยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์ ขณะที่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ผู้สำเร็จการศึกษาจำนวนหนึ่งได้สร้างนวัตกรรม งานวิจัย พัฒนา และสื่อสารข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ COVID-19 ที่ถูกต้อง

ในส่วนของการดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ตลอดระยะเวลา 24 ปีที่ผ่านมา มีผู้สำเร็จการศึกษาทุน สควค. และเข้าปฏิบัติงานในโรงเรียนและหน่วยงานทางการศึกษา 5,397 คน ซึ่งนอกจากได้ปฏิบัติงานสอน พัฒนาและส่งเสริมนักเรียนให้ได้รับรางวัลในเวทีการประกวดต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว

ยังมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเรียนการสอนของประเทศ โดยร่วมเป็นวิทยากรแกนนำในโครงการต่าง ๆ ของ สสวท. ร่วมเป็นคณะทำงานในโครงการต่าง ๆ ของ สพฐ. ตลอดจนได้รับรางวัลหนึ่งครูแสนดี 44 คน รางวัลครูสอนดี ครูดีเด่น ครูดีเยี่ยม ครูดีในดวงใจ 94 คน รางวัล OBEC AWARDS 18 คน รางวัลวิจัยคุรุสภา 9 คน รางวัลครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น 4 คน และรางวัลอื่น ๆ อีกจำนวนมาก และบางส่วนได้รับเชิญเป็นกรรมการระดับนานาชาติ

ทั้งนี้ สสวท.ได้เสนอขออนุมัติการดำเนินงานโครงการ สควค. ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2564-2567) โดยมุ่งเน้นพัฒนาทักษะสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้าน Digital Literacy การทำวิจัยในชั้นเรียน และการนำการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ หรือใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี


ที่มา: https://moe360.blog/2021/03/17/new-engine-of-growth/?fbclid=IwAR0sOF03nwgjp4N7QP684Q-jXmi4p9iT4d26ZdYz7W41cZHenZtPrNGJZw4

ข่าวดี! โอกาสมาแล้วสำหรับผู้ที่กำลังรอสอบบรรจุข้าราชการ มาเตรียมตัว เช็คความพร้อมกับการสมัครสอบบรรจุเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ประจำปี 2564 จำนวน 4,000 กว่าอัตรา ใครที่รอสอบอยู่ตอนนี้ รีบไปสมัครเลย!

เงื่อนไข คุณสมบัติ

- ช - ญ สัญชาติไทย อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ทั่วประเทศ

- เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วยความบริสุทธิ์ใจ

- ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

- ไม่เป็นผู้มีการทุพพลภาพจนไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้

- เริ่มสมัครออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 9 - 31 มี.ค. 2564

- รับสมัครผ่านเว็บไซต์เท่านั้นที่ http://www.dlaapplicant2564.com

ดาวน์โหลด!! ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2564

http://27.254.40.48/Docs/2564-02-09/enroll-notice/ประกาศรับสมัครสอบแข่งขัน%20ปี%2064.pdf

สรุปเนื้อหาจาก Webinar “เด็กโรงเรียนไทยจะฝึกภาษาอังกฤษยังไงให้ปัง?” โดยครูหญิง (Applied Linguistics จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย) ครูเต้ (TESOL จากมหาวิทยาลัยยอร์ค) และติวเตอร์พริม (อักษร จุฬาฯ ภาคอินเตอร์) จาก Edsy

จากที่ครูหญิง ครูเต้ และพี่พริม ได้แชร์ผ่าน Zoom Webinar เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทีมงาน Edsy ขอสรุปใจความมาแบ่งปันดังนี้...

เราควรเริ่มจากการหาแรงบันดาลใจก่อน อะไรคือสิ่งที่เราชอบ? อะไรคือสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุข? เป็นธรรมชาติ ไม่รู้สึกฝืน เช่น ถ้าเราชอบดูหนังหรือฟังเพลง ก็อาจจะเริ่มหัดเรียนภาษาอังกฤษ ฟังภาษาอังกฤษจากสิ่งเหล่านั้นก่อน พี่พริมแชร์ว่าเขาชอบฟังเพลงของ Taylor Swift จึงเริ่มดูและพยายามทำความเข้าใจกับเนื้อร้อง เป็นการฝึกอ่านทำความเข้าใจ (reading comprehension) ไปในตัว ด้วยการพยายามโยงหลักการใช้ภาษากับ context ต่างๆ ในเนื้อร้อง เมื่อเริ่มเข้าใจเนื้อเพลง พี่พริมก็เริ่มสนใจในตัวคำศัพท์ (vocabulary) มากขึ้น ทำให้เริ่มรู้คำศัพท์ที่หลากหลาย ทั้งคำที่คล้ายคลึง คำที่มีความหมายตรงกันข้าม คำขยายความ และในขณะเดียวกันก็เริ่มซึมซับหลักไวยากรณ์ไปทีละเล็กน้อย

เมื่อไปเรียนที่อักษร จุฬาฯ ภาคอินเตอร์ (BALAC – Bachelors of Art in Language and Culture) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่สอนภาษา 50% สอนวัฒนธรรมอีก 50% พี่พริมจึงได้แรงบันดาลใจและเข้าใจในตัวภาษามากยิ่งขึ้นอีก เช่น คำว่า “เกรงใจ” ไม่มีคำที่ตรงตัวเช่นเดียวกันในภาษาอังกฤษ เนื่องจากความเกรงใจเป็นวัฒนธรรมของคนไทยหรือคนเอเชียมากกว่า

ในขณะที่พี่พริมและครูหญิงเริ่มสนใจภาษาอังกฤษจากรายการเพลง รายการทีวี ครูเต้ได้รับแรงบันดาลใจจากอาจารย์เมื่อสมัยมัธยมต้นที่มีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีมาก สื่อสารได้เหมือนชาวต่างชาติ กลายเป็นต้นแบบหรือ Role model ที่ครูเต้อยากดำเนินรอยตาม ครูเต้เชื่อว่าหากครูผู้สอนภาษาอังกฤษสามารถนำความรักชอบในภาษาและความสามารถ ทักษะที่มีออกมาถ่ายทอด สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน เด็กนักเรียนไทยจะมีความสนใจและโอกาสที่จะพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษมากขึ้น ด้วยการ “put oneself in the language”

ดังนั้น หากน้องๆนักเรียนโรงเรียนไทยรู้สึกไม่สนุก ไม่เอ็นจอยกับการเรียนเน้นหลักไวยากรณ์และท่องศัพท์ในห้องเรียน ก็ควรลองออกไปค้นหาดูว่ามีความชอบอะไรของเราที่เกี่ยวโยงกับภาษาอังกฤษบ้างมั้ย หรือมีใครที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้เราได้เลียนแบบ เพื่อที่จะได้ทำให้ตัวเอง immerse ไปกับภาษาและรู้สึกชอบหรือมีความสุขกับการเรียน การใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น

ในการพัฒนาทักษะ โดยเฉพาะการพูด คุณครูทั้งสามท่านย้ำว่าเราต้องมีทัศคติที่ถูกต้อง อย่าไปกลัวที่จะลองผิดลองถูก ถึงแม้ว่าสถานการณ์ในห้องเรียน (หรือในที่อื่นๆ) บ่อยครั้งที่คนไทยกันเองมักจะจ้องจับผิดสำเนียงหรือความถูกต้องในการพูดของผู้พูด เราต้องจำไว้ว่าเราจะไม่สามารถพัฒนาได้ ถ้าเราไม่เริ่มมีความกล้าที่จะลอง “ยิ่งฝึกเยอะ ยิ่งผิดเยอะ ยิ่งเก่งนะ” ครูหญิงย้ำ

จากมุมมอง Applied Linguist ครูหญิงจะบอกผู้ปกครองและน้องๆ เสมอว่าเมื่อเริ่มเรียนภาษาอังกฤษ “อย่าเริ่มจากแกรมม่าค่ะ วางมันไว้ข้างๆ ไว้ไกลๆก่อนเลยก็ได้” เราควรจะเริ่มจากการหากิจกรรมที่สนุก ที่จะสร้างทัศนคติและความรักชอบในตัวภาษาให้กับน้องๆ ก่อน “ปัจจุบันมีแนวคิดที่แพร่หลายในเรื่องการใช้กิจกรรม Integrated skills เพื่อสอดแทรกภาษาอังกฤษ เช่น ให้น้องๆ ไปปั้นดินน้ำมันแล้วพูดเป็นภาษาอังกฤษ ให้ทำกิจกรรมอะไรก็ตามที่จะทำให้เด็กๆ เขาเชื่อมโยงว่า เมื่อใช้ภาษาอังกฤษ เขาจะได้ทำอะไรสนุกๆ เช่นนั้น” ควรสนใจทุกทักษะพูด ฟัง อ่าน เขียน อาจจะเริ่มจากการพูดก่อน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเริ่มจากการสร้างทัศนคติที่ดี

ครูเต้เสริมว่าเด็กไทยถูกบังคับให้เรียนด้วยการเริ่มจำกฏเกณฑ์ (เช่น หลักไวยากรณ์) เร็วเกินไป ทำให้ขาดความสนุกกับการเรียนภาษาอังกฤษ และไม่ได้เป็นการเรียนอย่างเป็นธรรมชาติ การสอนโดนเน้นหลักไวยากรณ์ คำศัพท์ เป็นรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ซึ่งต้องการโอกาสที่จะได้สนุกสนานกับการเรียน ได้เริ่มพัฒนาความกล้าและความมั่นใจในการใช้ภาษา

โดยสรุปแล้ว ทั้งสามท่านแนะนำให้เริ่มจากสิ่งที่เราชอบก่อน “เริ่มจากสิ่งที่สามารถทำให้เราเปิดใจได้ แล้วทุกอย่างมันจะง่ายขึ้นเอง ทุกคนมีความกลัว แต่ทุกความผิดพลาดจะทำให้เราได้เรียนรู้จากมันและพัฒนากลายเป็นความชำนาญและความมั่นใจ”

ครูหญิงฝากไว้ว่า “มันเป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกเหนื่อย เมื่อตั้งใจแล้วแต่ยังไม่เห็นผลหรือถึงจุด plateau stage พี่หญิงจะบอกเสมอว่าให้พัก แล้วค่อยสู้ต่อ ทักษะภาษาอังกฤษเหมือนทักษะ ความสามารถอื่นๆ เราพักได้ แล้วค่อยเริ่มใหม่”

ดูคลิปวิดีโอเต็มได้ที่ https://fb.watch/4hoOLSGfOA/

อยากฝึกภาษาอังกฤษแต่ไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นอย่างไร...? หาแรงบันดาลใจจากที่ไหน...? ควร focus อะไรก่อน...? แล้วเมื่อไหร่จะเห็นผล...? ลงทะเบียนเพื่อทดลองเรียนฟรีวันนี้กับ Edsy! ที่ https://bit.ly/3q2kQyU


เขียนโดย : ทีมงาน Edsy สตาร์ทอัพด้านการศึกษา

Line ID : @edsy.th

การสำรวจความเห็นเด็กนักเรียนมัธยมปลายอเมริกัน พบว่า พวกเขามีความสนใจที่จะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยน้อยลง เพื่อให้ได้งานการที่ดีในอนาคต และเผยว่าผลจากโควิด-19 กระทบแนวคิดเรื่องการเรียนต่อของพวกเขาอย่างมาก

การสำรวจความเห็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมปลายชาวอเมริกัน 3,202 คน โดย ECMC Group ร่วมกับ VICE Media ที่ถามว่า มหาวิทยาลัยคือหนทางสำหรับเส้นทางอาชีพที่ดีหรือไม่? ปรากฏว่ามีเพียง 1 ใน 4 ของนักเรียนอเมริกันในการสำรวจ ที่คิดเห็นเช่นนั้น

วัยรุ่นอเมริกันครึ่งหนึ่งในการสำรวจ บอกว่า พวกเขาสามารถประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ในระยะ 3 ปีข้างหน้าได้ หรือเชื่อว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องเรียนได้วุฒิสูงๆ ขณะที่ส่วนใหญ่ในการสำรวจบอกว่า พวกเขาต้องการจะเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง แม้ว่าจะไม่แน่ใจนักว่าจะเริ่มต้นอย่างไรและชีวิตจะไปในเส้นทางไหนก็ตาม

ระดับความสนใจในการเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่ลดลงของวัยรุ่นอเมริกัน เกิดขึ้นหลังจากการปิดการเรียนการสอนช่วงการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส โควิด-19 ประเด็นการเมือง เหตุการณ์การใช้ความรุนแรงกับคนต่างเชื้อชาติสีผิว ที่สะท้อนการแบ่งแยกในสังคมอเมริกันที่ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งค่าเล่าเรียนที่สูงสำหรับระดับอุดมศึกษาในอเมริกา

เมื่อจัดอันดับปัจจัยที่นักเรียนม.ปลายอเมริกันในยุคนี้กังวล อันดับแรก คือ ค่าเล่าเรียนระดับอุดมศึกษาที่สูงลิ่ว อันดับ 2 คือเส้นทางชีวิตที่ไม่แน่นอนหลังจบม.ปลาย อันดับ 3 คือ รู้สึกว่าเตรียมตัวไม่พร้อมสำหรับการประกอบอาชีพหลังจบการศึกษา

กว่าครึ่งหนึ่งในการสำรวจ ยอมรับว่า โควิด-19 ทำให้พวกเขากังวลถึงอนาคตอย่างยิ่ง และไม่พร้อมสำหรับชีวิตในก้าวต่อไป และผลกระทบทางการเงินจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้พวกเขาไม่อยากเรียนมหาวิทยาลัยอีก 4 ปีต่อจากนี้ และไม่อยากจะเรียนต่อในระดับอุดมศึกษามากขึ้น

เจเรมี วีตัน ซีอีโอของ ECMC Group องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งเน้นเรื่องการศึกษาในระดับอุดมศึกษา บอกว่า นักเรียนมัธยมปลายและพ่อแม่ผู้ปกครองของพวกเขา เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตเมื่อปีก่อน จากการระบาดของโควิด-19 นั่นหมายถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นกับอาชีพของพวกเขา

ซีอีโอของ ECMC Group ระบุว่า การเปลี่ยนแนวคิดด้านการศึกษาต่อไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร และเป็นโจทย์สำหรับครูอาจารย์นักการศึกษาที่จะมอบโอกาสในอนาคตให้พวกเขาอย่างเหมาะสม ซึ่งรวมถึงการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเส้นทางการศึกษาต่อที่หลากหลายในปัจจุบัน

นักเรียนม.ปลายในการสำรวจนี้ ระบุว่า พวกเขาต้องการให้โรงเรียนให้ข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกหลังจบมัธยมปลายที่หลากหลายกว่านี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลและภาคเอกชน จัดเตรียมระบบการศึกษา เงินทุนการศึกษา และยกเว้นผ่อนผันเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาด้วย


ที่มา : https://www.voathai.com/a/fewer-us-high-schoolers-plan-to-attend-university-03162021/5817072.html


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top