Sunday, 11 May 2025
Soft News Team

คุณบุ๋น พิมพ์บุญ สถิตมั่นในธรรม | THE STUDY TIMES STORY EP.19

บทสัมภาษณ์ คุณบุ๋น พิมพ์บุญ สถิตมั่นในธรรม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ Peking University, สาธารณรัฐประชาชนจีน 
เตรียมตัวอย่างไร? พิชิตทุนรัฐบาลจีนเต็มจำนวน

คุณบุ๋นถือเป็นเด็กที่มีผลการเรียนดีมาตลอด ทุกคนเชียร์ให้เข้าสายวิทย์ ตอนนั้นตนก็คิดว่าสายวิทย์จะทำให้มีทางเลือกในอนาคตมากกว่า แต่ช่วงม.ต้น โรงเรียนมีกิจกรรมให้ค้นหาตัวเอง บวกกับได้เริ่มเรียนพิเศษวิชาต่าง ๆ และพบว่าตัวเองไม่ได้อินเท่าที่ควร เมื่อเรียนชั้นม.3 สังเกตตัวเองว่าเรียนได้กับเรียนอย่างมีความสุขไม่เหมือนกัน ค้นพบว่าตัวเองมีความสนใจด้านภาษา จึงขอคุณพ่อไปเรียนพิเศษที่เน้นวิชาที่สนใจจริง ๆ และหาข้อมูล จนตัดสินใจสอบเข้าสายศิลป์ภาษาที่เตรียมอุดมฯ
 
เหตุผลที่เลือกเรียนศิลป์ภาษาจีนของคุณบุ๋นนั้นมาจากเทรนด์ของสังคม ที่ในปัจจุบันพบว่าจีนเข้ามามีบทบาทมาก และด้วยความที่ตนเคยเรียนมาในช่วงวัยเด็ก อาจจะมีความรู้หลงเหลืออยู่ จนสุดท้ายคุณบุ๋นสามารถสอบเข้าศิลป์ภาษาจีน เตรียมอุดมศึกษา ได้ลำดับที่ 1 ซึ่งพอรู้ผลก็ช็อคมาก 

จนถึงวันนี้คุณบุ๋นก็ยังมั่นใจว่าถ้าตัวเองเลือกเรียนสายวิทย์ก็เรียนรอด แต่เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบดีกว่า และไม่เห็นด้วยว่าคนที่เรียนสายวิทย์หรือสายศิลป์ คนไหนจะเก่งกว่ากัน คุณบุ๋นมองว่า อยู่ที่ความถนัดส่วนบุคคล และเรื่องที่เขาเลือกจะทำมากกว่า 

เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาทุกคน มีความรู้สึกเหมือนกัน คือ  ไม่ใช่ทุกวิชาที่เราจะชอบ จะอยากเรียน แต่ด้วยระบบการศึกษา ทำให้จำเป็นต้องเรียนทุกวิชาที่อยู่ในหลักสูตร เพราะฉะนั้นจึงมีทั้งวิชาที่ตอบโจทย์ และวิชาที่ไม่อยากเรียน 

นอกจากเรียนเก่งแล้ว เรื่องกิจกรรมก็ไม่น้อยหน้า เพราะช่วงที่เรียนอยู่เตรียมอุดมฯ คุณบุ๋นได้ทำกิจกรรมหลายอย่าง อาทิ เข้ากิฟต์ไทย ทำคณะกรรมการตึก ไปแข่งขันเล่านิทานภาษาจีน สุนทรพจน์ภาษาอังกฤษ คุณบุ๋นเล่าว่า แต่ก่อนคุณบุ๋นไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเอง ไม่ชอบทำงานเบื้องหน้า ชอบงานเบื้องหลังมากกว่า โดยกิจกรรมที่ชอบที่สุดคือการเป็นกรรมการตึก มีหน้าที่ดูแลกิจกรรมต่าง ๆ ของตึก เช่น งานกีฬาสี งานวันสำคัญต่าง ๆ ทำให้ได้ฝึกทักษะประสานงาน ได้เจอเพื่อนที่หลากหลาย

แรงบันดาลใจเลือกเรียนต่อนิติศาสตร์ 
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนต่อนิติศาสตร์ของคุณบุ๋ม มาจากความชื่นชอบดูหนังที่เกี่ยวกับนักกฎหมาย ทนายความ หนังสืบสวนสอบสวน รู้สึกอิน ทำให้เลือกนิติฯ ในทุกสนามที่ไปสอบ

ทุนรัฐบาลจีนเต็มจำนวน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง 
คุณบุ๋นเล่าว่า จุดเริ่มต้นในการสมัครทุนเพราะมีครูมาแนะนำให้รู้จัก สิ่งที่ใช้สอบด่านแรก คือ การสอบข้อเขียน โดยมีศูนย์สอบที่ภาคต่าง ๆ จะทำการคัดเลือกเด็กที่สอบผ่านข้อเขียนจากทั่วประเทศ 40 คน ไปสอบสัมภาษณ์ต่อ 

ตอนแรกที่เดินทางไป คุณบุ๋นไม่ได้ไปด้วยทุนรัฐบาลจีน แต่ไปด้วยทุนโดยตรงของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง โดยมหาวิทยาลัยมาตามหาเด็กแลกเปลี่ยนที่มีศักยภาพพอที่จะไปเรียนได้ เป็นที่รู้กันดีว่ามหาวิทยาลัยในจีนมีการแข่งขันที่สูงมาก 

สำหรับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง นักเรียนต่างชาติสามารถเข้ามาได้หลายวิธี หนึ่งคือ นักเรียนต่างชาติที่เรียนจบม.ปลายที่จีน โดยกลุ่มนี้จะได้รับข้อสอบอีกชุดที่ต่างจากคนจีน ใช้อัตราแข่งขันแยกกัน อีกกลุ่มคือแบบคุณบุ๋น เป็นเด็กที่ถูกคัดมาจากประเทศต่าง ๆ ต้องไปเรียน Pre-University ก่อนหนึ่งปี ซึ่งถ้าสามารถเรียนผ่าน สอบผ่าน ถึงจะได้ขึ้นมหาวิทยาลัย แต่หากไม่ผ่านก็ต้องไปตามทางของตัวเอง ซึ่งมีอัตราแข่งขันครึ่งต่อครึ่ง สอบร้อยคน ได้ขึ้นไปเรียนมหาลัยไม่เกิน 50 คน 

คุณบุ๋นเล่าประสบการณ์การเรียน Pre-University ว่าเป็นปีที่ลำบากที่สุด เป็นปีแห่งการปรับตัว ทั้งในเรื่องการใช้ชีวิต การเรียนที่หนักหน่วง การที่จะไปเรียนร่วมกับคนจีนได้ ต้องมีทักษะภาษาและความรู้พื้นฐานที่เพียงพอ โดยทักษะที่สำคัญคือต้องเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมาย ในเวลาจำกัดให้ได้

สิ่งที่คุณบุ๋นพบคือ ถึงแม้จะเรียนจบศิลป์จีนมา และมีความมั่นใจว่าภาษาจีนพัฒนาขึ้นมาก สอบ PAT7 ได้คะแนนดี มั่นใจว่าระดับนี้ไปจีนก็น่าจะสามารถสื่อสารได้แล้ว แต่ความจริงคือ ต่อให้ได้คะแนนสอบ HSK ได้ระดับ 5-6 แต่การไปใช้ชีวิตในจีนสุดท้ายก็ไม่สามารถสื่อสารได้อย่างที่คิด วิธีเดียวที่ทำได้คือต้องขยัน ทริคในการพัฒนาด้านภาษาของคุณบุ๋น คือ ทำทุกอย่างทั้งอ่าน เขียน พูด ฟัง ท่องเที่ยว การอยู่ในประเทศของเจ้าของภาษาช่วยทำให้เรียนรู้ได้ง่าย 

ประสบการณ์เรียนต่อ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศจีน 
คุณบุ๋นเล่าว่า ในเรื่องของตัววิชานิติศาสตร์ทั้งไทยและจีนไม่ได้ต่างกันมาก มีทั้งที่จีนทำได้ดีกว่า หรือไทยพัฒนาได้ดีกว่า ขึ้นอยู่กับแง่มุมที่ศึกษา แต่สุดท้ายสามารถเชื่อมโยงกันได้ ด้วยหลักทางกฎหมายที่ไม่ได้ต่างกันมาก สิ่งที่ท้าทายคือ การเรียนกฎหมายต้องอ่านและเขียนเยอะมาก ซึ่งคุณบุ๋นกังวลเพราะไม่สามารถทำได้เร็วเท่าคนจีน แต่คุณบุ๋นเชื่อว่า การที่เราเป็นคนที่ไม่ได้เก่งมาก ในกลุ่มคนที่เก่งมาก จะทำให้เราพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ

คุณบุ๋นเองก็เคยผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาเหมือนกับทุก ๆ คน ช่วงที่ขึ้นปี 1 เข้าไปอยู่ในคณะนิติที่มีเด็กต่างชาติน้อยมาก แค่อ่านกฎหมายภาษาไทยก็เหนื่อยแล้ว ยิ่งต้องอ่านเป็นภาษาจีนให้ทันที่จะสอบก็เกิดแรงกดดันตัวเองเป็นเรื่องปกติ แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้ด้วยการร้องไห้ แล้วตั้งใจทำต่อ

ปัจจุบัน คุณบุ๋นกำลังศึกษาอยู่ชั้นปี 3 แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ยังไม่สามารถเดินทางกลับไปประเทศจีนได้ ได้สมัครเรียนควบนิติรามคำแหงอีกหนึ่งปริญญา ส่วนในอนาคตต้องวางแผนอีกที ว่าจะเลือกเรียนต่อหรือทำงาน 

.

.

.

นักเรียนชายแฝด 3 สอบติดหมอมหิดล พร้อมกัน เผยเคล็ดลับ เรียนห้องเดียวกัน ปรึกษาเรื่องเรียนกันเสมอ

กลายเป็นที่ฮือฮาในจังหวัดเพชรบุรี และเป็นเรื่องที่น่ายินดี เมื่อนักเรียนชายแฝด 3 คน โรงเรียนชื่อดัง สอบติดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมกัน ขณะที่พ่อโล่งอก ดีใจ เพราะเกรงหากคนใดคนหนึ่งสอบไม่ติดแล้วจะคิดมาก

หลังมีการแชร์ข้อมูล นักเรียนชาย 3 คน ที่เป็นพี่น้องฝาแฝด โรงเรียนพรหมานุสรณ์ จังหวัดเพชรบุรี สร้างประวัติศาสตร์ สอบติดโควตาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พร้อมกันทั้ง 3 คน จนเป็นที่ฮือฮาในจังหวัดเพชรบุรี และมีการนำเรื่องดังกล่าวไปแชร์ในโซเชียล ซึ่งชาวเน็ตพากันแสดงความยินดีกับครอบครัวของนักเรียนทั้ง 3 คน จำนวนมาก 

โดยนักเรียนทั้ง 3 คน คือ น้องปอนด์ นายธนรัตน์ เข็มกลัด พี่ชายคนโต, น้องดอลลาร์ นายธนารักษ์ เข็มกลัด คนกลาง และ น้องมาร์ค นาย ธนพัฒน์ เข็มกลัด น้องคนเล็ก ทั้ง 3 คน อายุ 18 ปี เกิดเวลาไล่เลี่ยกัน 

นายไพโรจน์ เข็มกลัด หรือ เฮียดำ อายุ 65 ปี พ่อของแฝดสาม เผยว่า ครอบครัวภูมิใจที่ลูกชายฝาแฝดทั้ง 3 คน ทำได้สำเร็จ เพราะที่ผ่านมาสนับสนุนลูกมาตลอด โดยเฉพาะด้านการเรียน ได้เรียนห้องเดียวกัน และแต่ละคนมีอุปนิสัยคล้ายกัน มักปรึกษาเรื่องเรียนกันเสมอ เนื่องจากอาจจะถนัดและเก่งคนละวิชา จึงนำมาแชร์กันได้ ทำให้ผลการเรียนดีทุกคน แต่ก็ยอมรับก่อนหน้านี้หนักใจมาก กังวลมาก เพราะหากลูกคนใดคนหนึ่งสอบไม่ติด จะเสียใจและคิดมาก แต่เมื่อประกาศผลก็ทำให้โล่งอก


ที่มา: https://news.ch7.com/detail/485262
 

คุณอ๋อง พชรพล ชัฎอนันต์ | THE STUDY TIMES STORY EP.18

บทสัมภาษณ์ คุณอ๋อง พชรพล ชัฎอนันต์ Victoria Secondary School, St Andrew’s Junior College, สิงคโปร์
Computer Engineering, Nanyang Technological University, สิงคโปร์ 
เทคนิคเรียนอย่างไรให้ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ภายใน 3 ปีครึ่ง มหาวิทยาลัยชั้นนำสิงคโปร์

ปัจจุบันคุณอ๋องทำงานอยู่บริษัท Garena บริษัทเกมยักษ์ใหญ่ของสิงคโปร์ ตำแหน่งปัจจุบันคือ Management Associate

ก่อนไปเรียนต่อที่สิงคโปร์ คุณอ๋องศึกษาระดับชั้นมัธยมต้น ณ โรงเรียนสาธิตปทุมวัน ภาคไทย เป็นเด็กเรียนดีปกติ ทำเกรดได้ 4.00 ไม่ได้เป็นเด็กแข่งขันทางวิชาการ แต่ที่บ้านสนับสนุน ทั้งการเรียนและกิจกรรม อาทิ ดนตรี เล่นเปียโน กีฬา ถ่ายภาพ 

จนกระทั่งครูประจำชั้น น้องสาวและคุณแม่ แนะนำให้ลองสมัครทุนที่ชื่อว่า ASEAN Scholarship เป็นทุนที่รัฐบาลไทยมอบให้กับเด็กนักเรียนในประเทศอาเซียน วิธีการสมัครคือ ให้ส่งใบสมัครเป็นโปรไฟล์ไปพิจารณาก่อน หากผ่านรอบโปรไฟล์จะต้องไปสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ สำหรับทุนนี้ ไม่ได้มองหาเฉพาะเด็กที่เก่งทางด้านวิชาการเท่านั้น แต่ต้องทำได้ดีทั้งการเรียน กิจกรรม จิตอาสา มีความเป็นผู้นำ และมีศักยภาพ

จากนั้นคุณอ๋องได้รับเลือกเข้าไปสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ ตอนนั้นภาษาอังกฤษไม่ได้แข็งแรง เพราะเรียนภาคไทยมาตลอด แต่คิดว่ากรรมการน่าจะเห็นบางอย่างจากการตอบคำถาม มีคำถามข้อหนึ่งถามว่า คิดว่าเด็กนักเรียนที่เรียนภาคไทย หรือภาค EP ใครจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้มากกว่ากัน? ซึ่งคุณอ๋องตอบในเชิงว่า ขึ้นอยู่กับ individual มากกว่า ว่านักเรียนคนนั้นมีความตั้งใจมากน้อยแค่ไหน กรรมการน่าจะเห็นการมี Critical Thinking จากคำตอบที่ไม่ได้ตัดสิน

ปีแรกที่สิงคโปร์ คุณอ๋องเริ่มเรียนในระดับชั้น ม.3 และ ม.4 ที่เรียนโรงเรียนชายล้วน Victoria Secondary School, St Andrew’s Junior College เป็นช่วงชีวิตการเรียนที่ยากลำบากที่สุด เพราะต้องปรับตัวทั้งภาษา วัฒนธรรม การออกจาก Comfort Zone และ อื่น ๆ 

คุณอ๋องเล่าว่า ปีแรกที่ไป สิ่งที่ยากที่สุดคือ วิชาภาษาอังกฤษและสังคม เพราะวิชาภาษาอังกฤษที่สิงคโปร์ ไม่โฟกัสกันที่ Vocab หรือ Grammar เหมือนตอนเรียนที่ไทยแล้ว แต่จะสอนเกี่ยวกับ Writing และ Content ภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ เป็นการ discuss เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ตอนนั้นเรียนหนักมาก ซึ่งช่วงพักกลางวันหรือหลังเลิกเรียน คุณอ๋องต้องไปอ่านหนังสือภาษาอังกฤษที่ห้องสมุด ท่องคำศัพท์ทุกวัน 

คุณอ๋องเคยเครียดมาก เพราะสอบตกในวิชาภาษาอังกฤษและสังคมตั้งแต่ครั้งแรก จากเคยเรียนที่ไทยได้ 4.00 มาตลอด เครียดมากจนร้องไห้ แต่โชคดีที่พ่อแม่ไม่กดดันและคอยช่วยเหลือ หาวิธีแก้ไข เมื่อแรงกดดันน้อยลง ความเครียดก็ลดลง ทำอะไรได้ดีขึ้นเป็นลำดับ

ในเรื่องของกิจกรรม ที่สิงคโปร์นักเรียนทุกคนจะต้องเลือกชมรมของตัวเอง คุณอ๋องมีทั้งชมรมหลักและชมรมรอง ชมรมหลัก คือ เป็นสมาชิกวงขับร้องประสานเสียงของโรงเรียน เคยเข้าร่วมการแข่งขัน Singapore Youth Festival ได้รับ Gold with Distinction สิ่งที่ได้จากการอยู่ชมรมนี้คือ ความรับผิดชอบ ความเป็นผู้นำ และความพยายาม และมีชมรมรองคือ ชมรมคณิตศาสตร์ 

ความแตกต่างของระบบการศึกษาสิงคโปร์และไทย ที่แตกต่างกันชัดเจนคือ สิงคโปร์จะมีแผนการสอนที่ชัดเจนกว่า ข้อสอบเป็นไปตามแผน ไม่ยากเกินไป ไม่ง่ายเกินไป สามารถแยกความแตกต่างของนักเรียนได้อย่างชัดเจน แต่เท่าที่คุณอ๋องเคยเรียนในระบบการศึกษาไทย พบว่า ข้อสอบในการสอบเข้าโรงเรียนแต่ละที่ยากเกินไป จนไม่สามารถประเมินนักเรียนได้ แยกนักเรียนเก่งออกไปจากนักเรียนที่ทำข้อสอบไม่ได้ เป็นเครื่องมือในการตรวจวัดนักเรียนที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ
 
ผ่านไป 2 ปี คุณอ๋องต้องไปสอบ O level ซึ่งเป็น National exam ของสิงคโปร์เพื่อเข้าเรียน Pre University หรือ Junior College ระดับชั้น ม.5-ม.6 ได้เข้าโรงเรียนที่ชื่อว่า St Andrew’s Junior College โดยได้อยู่ห้อง Talent Development Program การเรียนที่นี่จะลดวิชาเรียนลงไปเยอะมาก เช่น วิทยาศาสตร์จะบังคับเรียนเคมี และให้เลือกอีกหนึ่งตัวระหว่างชีววิทยาและฟิสิกส์ 

หลังจากเรียนจบ 4 ปี มีการสอบ A level เป็น National exam เช่นกัน ใช้คะแนนยื่นสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่สิงคโปร์  โดยคุณอ๋องได้รับ Offer พร้อมทุน จาก Nanyang Technological University คณะ Computer Engineering

เทคนิคเรียนจบภายใน 3.5 ปี เกียรตินิยมอันดับ 1 
สิ่งที่ทำให้คุณอ๋องเรียนจบภายใน 3.5 ปี เพราะที่สิงคโปร์นักเรียนทุกคนจะมีโอกาสได้ไปเรียนแลกเปลี่ยนต่างประเทศครึ่งปี แต่คุณอ๋องเลือกที่จะไม่ไป ทำให้เรียนจบได้ไว อีกสิ่งหนึ่งคือการรู้จักตัวเอง รู้ความสามารถของตัวเอง 

คุณอ๋องเชื่อว่า เวลาในมหาวิทยาลัยไม่ได้มีไว้เรียนอย่างเดียว มหาวิทยาลัยเป็นสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ที่จะทดลองสิ่งต่าง ๆ และทำข้อผิดพลาด เวลาส่วนใหญ่สามารถไปทดลองทำนู่นทำนี่ได้เยอะพอสมควร ซึ่งในช่วงปี 3 คุณอ๋องก็ได้มีโอกาสทำ Internship เป็น Full time developer ที่บริษัท Autodesk กว่า 6 เดือน

ปัจจุบันคุณอ๋องทำงานอยู่บริษัท Garena โดย base ที่สิงคโปร์ ทำอยู่สิงคโปร์ 3 เดือน ก่อนจะถูกส่งตัวมาช่วยงานที่สาขาในประเทศไทย คุณอ๋องเผยว่า สิ่งที่ Garena มองหาคือ ความฉลาด ความพยายาม และความสนใจในเกม

เป้าหมายในอนาคต
คุณอ๋องมีความสนใจในด้านการศึกษา นอกเหนือจากการทำงาน Full-time แล้ว เวลาว่างเสาร์อาทิตย์ยังรับสอนพิเศษให้น้อง ๆ ที่จะเตรียมไปสอบทุนอาเซียน ในอนาคตอยากจะเปิดเป็นเซนเตอร์ที่จะซัพพอร์ตน้อง ๆ ที่ต้องการหาทุน หรือหาโอกาสเพื่อไปต่อยอด ดึงศักยภาพของน้อง ๆ ออกมา

.

.

.

‘ร.ต.ท.ปรฉัตร รักษาวงษ์’ จากเด็กกศน. สามารถจบปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต ตั้งแต่อายุ 19 ปี นอกจากนี้ยังสอบติดตำรวจตั้งแต่ครั้งแรกด้วยวัยดังกล่าว จากนั้นสอบตำรวจชั้นสัญญาบัตรได้คะแนนอันดับ 1 ของรุ่น

การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการที่เรามีวุฒิการศึกษาสูงเพียงใดก็ยิ่งเปรียบเสมือนใบผ่านทาง หรือเรียกได้ว่าเป็นกุญแจด่านแรกของการดำเนินชีวิตด้วยตนเองเลยก็ว่าได้

เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของครอบครัว หลังจากเฟซบุ๊ก Manunya Ruksawong คุณแม่ท่านหนึ่งได้เผยการเรียนของลูกชาย ที่ตัดสินใจไม่เรียนตามระบบ แต่ขอออกมาศึกษาด้วยตัวเองที่บ้าน พร้อมกับสอบเทียบวุฒิกับ กศน. แทน ทำให้ผู้เป็นแม่รู้สึกกังวลกับอนาคตของลูกชายเป็นอย่างมากตลอดช่วงที่ผ่านมา

แต่เรื่องราวกลับเกินกว่าที่ผู้เป็นแม่คิดไว้ เพราะแม้จะเรียน กศน. แต่ลูกก็จบปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต ตั้งแต่อายุ 19 ปีนอกจากนี้ยังสอบติดตำรวจตั้งแต่ครั้งแรกด้วยวัยดังกล่าว จากนั้นสอบตำรวจชั้นสัญญาบัตรได้คะแนนอันดับ 1 ของรุ่น และในวัย 22 ปี ลูกชายก็จบเนติบัณฑิต และปริญญาโทอีกด้วย

โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้ลูกชายตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะเรียน กศน. ทำเอาคนเป็นแม่หัวใจสลาย คิดไปว่าลูกหลงเดินทางผิด แล้วจะมีชีวิตรอดได้อย่างไร เปรียบเสมือนเดินบนเส้นด้ายอันน่าหวาดเสียว แต่ก็ห้ามไม่ได้

จนผู้เป็นแม่ได้แต่ร้องไห้ และเศร้าใจ ซึ่งก็มีพี่สาวเพื่อนที่คอยปลอบใจเท่านั้น พร้อมให้แนวคิดว่า เราจะให้ลูกมีความสุข หรือแม่มีความสุข การเรียน HOME SCHOOL นั้น เป็นทางเลือกลูก ให้ลูกเรียนไปเถอะ

ซึ่งแม่เองนั้นก็คิดว่าลูกเดินทางผิดแน่นอน เพราะไม่เข้าใจ ไม่มีเหตุผลอื่นนอกจากลูกเป็นคนขี้เกียจ เกเร

เด็กหลายคนเขามีเหตุผลส่วนตัวที่หลาย ๆ คนก็ไม่เข้าใจ แต่แล้วเด็ก กศน. คนนี้กลับทำให้แม่ภูมิใจ

จบปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต เพียงอายุ 19 ปี จบเนติบัณฑิต อายุ 22 ปี จบปริญญาโท อายุ 22 ปี แล้วสอบ กพ.ครั้งแรกก็ผ่านฉลุย

สอบตำรวจครั้งแรก ก็ผ่านฉลุย (ตำรวจรับวุฒิ ป.ตรี อายุ 19 ปี อายุน้อยที่สุดในรุ่น ทำงานตำรวจชั้นประทวนได้ 2 ปีมีสิทธิ์สอบตำรวจชั้นสัญญาบัตร ผลปรากฏว่า สอบได้ที่ 1 ของรุ่นทั่วประเทศ ได้คะแนน 137 เต็ม 150)

จึงอยากให้ผู้ปกครองทั้งหลายได้เข้าใจและให้กำลังใจลูก เพราะเด็กบางคนเขามีเหตุผลในการเลือกเรียนนอกระบบ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้แบบนี้ นายแน่มาก ร.ต.ท.ปรฉัตร รักษาวงษ์

หลังจากเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปได้มีผู้แชร์ออกไปเป็นจำนวนมากในโลกโซเชียล พร้อมทั้งชื่นชมกับความตั้งใจของหนุ่มคนนี้ที่ทำให้ผู้เป็นแม่ภาคภูมิใจ


ขอบคุณที่มา welovedantruat

ที่มา: https://thaisiamnews.info/2021/05/09/

คุณกิต กิตติพงษ์ ลุยวิกกัย | THE STUDY TIMES STORY EP.17

บทสัมภาษณ์ คุณกิต กิตติพงษ์ ลุยวิกกัย เรียนภาษาจีน Qingdao University, สาธารณรัฐประชาชนจีน

ปริญญาโท Computer Science & Software Engineering, Monash University, ออสเตรเลีย

จากนักการเงินสู่เจ้าของธุรกิจศูนย์แนะแนวศึกษาต่อจีน ไต้หวัน เกาหลี OREN

ปัจจุบันคุณกิตทำงานอยู่ในศูนย์แนะแนวศึกษาต่อจีน ไต้หวัน เกาหลี OREN ซึ่งคุณกิตไม่ได้จบทางด้านการศึกษามาโดยตรง ก่อนหน้านี้ทำงานในเรื่องของการเงิน การธนาคาร และคอมพิวเตอร์

จุดเริ่มต้นทำงานด้านการศึกษา ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อจีน ไต้หวัน เกาหลี OREN

หลังจากจบมา คุณกิตได้ทำงานด้านการเงินการธนาคารอยู่สักพัก จากนั้นได้ไปเรียนต่อปริญญาโท ด้าน Computer Science & Software Engineering ที่ออสเตรเลีย เพราะส่วนตัวมีความชอบเรื่องคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่ยังเด็ก หลังจบปริญญาโท อยากเพิ่มสกิลภาษาขึ้นมา ซึ่งภาษาที่เลือกคือ ภาษาจีน จึงได้เลือกไปศึกษาต่อด้านภาษาที่ประเทศจีน ได้เจอกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง พบว่าระบบการรับนักศึกษาต่างชาติที่จีนยังไม่เฟื่องฟู การติดต่อค่อนข้างยาก ไม่มีบริษัทหรือศูนย์แนะแนวอย่างในปัจจุบัน จึงร่วมกับเพื่อนเปิดศูนย์แนะแนวเรียนต่อจีน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเด็กที่ไป

นักเรียนไทยคนแรกของเมืองชิงเต่า Qingdao University

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คุณกิตได้ข้อมูลเมืองชิงเต่ามาและมีศูนย์แนะนำอยากให้เด็กไทยไปเรียน ตอนแรกคิดว่าเป็นเมืองที่อยู่บนเกาะ เมืองนี้มีความน่าสนใจคือคนไทยอาจไม่เยอะมากเท่าเมืองอื่น เป็นเมืองท่าที่สำคัญ มีบริษัทยักษ์ใหญ่มาตั้ง พอไปถึงวันแรก ต่อเครื่องบินที่ปักกิ่งเข้าชิงเต่า พบว่าทั้งลำไม่มีคนต่างชาติเลย เป็นคนจีนทั้งหมด พอเครื่องลงจอดทุกคนสลายตัว เหลือคุณกิตอยู่ที่สนามบินคนเดียว นั่งรออยู่สนามบินหลายชั่วโมงกว่าที่รถมหาลัยจะมารับ

วันแรกที่นั่งเรียน คุณกิตเป็นคนไทยคนเดียวในมหาวิทยาลัย พอเอาตัวรอดได้เพราะได้ภาษาจีนนิดหน่อย นักเรียนในโรงเรียนเกิน 50% เป็นคนเกาหลี เนื่องจากชิงเต่าใกล้กับเกาหลี มีชาวญี่ปุ่น เยอรมัน ซึ่งชิงเต่าเคยเป็นอาณานิคมของเยอรมันมาก่อน คนเยอรมันเลยมาเรียนกัน

Culture Shock ที่พบคือ คำศัพท์ของจีนแทนคำศัพท์ต่างประเทศแทบทุกอย่าง ทุกคำศัพท์จากต่างประเทศถูกแปลงเป็นภาษาจีนทั้งหมด รวมทั้งชื่อคนไทยที่ไม่มีภาษาจีนก็จะถูกแปลงด้วย สิ่งที่งงที่สุดสำหรับคนต่างชาติ ณ ตอนนั้น คือการเปิดบัญชีธนาคาร เพราะคนจีนที่เมืองชิงเต่าไม่ค่อยได้เจอกับคนต่างชาติ คุณกิตเองใช้เวลาถึง 3 วันในการเปิดบัญชี

ประสบการณ์ที่ได้จากการไปเรียนภาษาจีนที่ชิงเต่า

ถ้าพูดถึงชิงเต่าแล้ว ในสมัยก่อนคนจะคิดว่าเป็นเมืองขนาดเล็ก แต่ตอนที่ปักกิ่งจัดโอลิมปิกครั้งแรก ได้เลือกเมืองชิงเต่าในการจัดโอลิมปิกทางน้ำ ชิงเต่าเป็นเมืองท่าที่สำคัญของจีน ในการขนถ่ายสินค้าจากฝั่งทางเหนือ รวมทั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์ มีกองเรือดำน้ำที่สำคัญ บริษัทสำคัญมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ชิงเต่า รวมทั้งเป็นเมืองทางเศรษฐกิจที่สำคัญของมณฑล

การใช้ชีวิตที่ชิงเต่า ในเทอมแรกด้วยความเป็นนักเรียนไทยคนเดียว คุณกิตรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นตัวแทนของประเทศไทย หากเรามีพฤติกรรมอย่างไร คนจะตัดสินว่าคนไทยเป็นคนแบบนั้น คุณกิตจึงเป็นตัวแทนในการทำกิจกรรมทุกอย่าง เพราะทำให้ได้เรียนรู้ ได้แสดงออก ที่สำคัญคือมีโอกาสในการใช้ภาษาเยอะมาก ทำให้ภาษาจีนพัฒนาโดยอัตโนมัติ

ประสบการณ์เรียนต่อออสเตรเลีย ปริญญาโท ด้าน Computer Science & Software Engineering, Monash University Australia
คุณกิตไปเรียนต่อปริญญาโท ด้าน Computer Science & Software Engineering, Monash University ที่ออสเตรเลีย  ได้อยู่กับ Host Family ที่เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ซึ่งคุณกิตเดินทางไปก่อนล่วงหน้าสามเดือนเพื่อไปเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม ปรับพื้นฐาน เลือกไปอยู่กับแฟมิลี่เพราะอยากรู้วัฒนธรรมของคนออสเตรเลีย แฟมิลี่พยายามให้พูด ทำการบ้าน เขียนไดอารี่ทุกวัน เพื่อฝึกภาษาอังกฤษ อีกทั้งลูกของแฟมิลี่กำลังเรียนคอมพิวเตอร์พอดี คุณกิตเลยมีโอกาสช่วยสอน 
 
คุณกิตไปทำงานในร้านอาหารไทย และด้วยความที่คุณกิตเรียนมาทางด้านคอมพิวเตอร์ จึงมีโอกาสไปทำงานออฟฟิศ ช่วยแผนกคอมพิวเตอร์ในบริษัทเล็ก ๆ 

คุณกิตแนะนำสำหรับคนที่อยากไปเรียนต่อทางฝั่งตะวันตก หรือฝั่งจีน ไว้ว่า ฝั่งตะวันตกมีความเป็นระบบในการรับนักศึกษาต่างชาติมากกว่า ทั้งระบบโฮส การจัดการจองห้องพัก การเปิดบัญชี การติดต่อกับมหาวิทยาลัยค่อนข้างสะดวก สิ่งที่อยากแนะนำคือ น้องที่อยากไปทำงานพาร์ทไทม์ ถ้ามีความรู้เฉพาะในส่วนของงานที่จะไปทำ หรือมีประสบการณ์มาก่อน จะทำให้ได้เปรียบกว่าคนอื่น ได้งานที่ดีกว่าคนอื่น เช่น การทำขนม บาริสต้า จะสามารถหางานได้ง่ายกว่าคนที่ไม่มีประสบการณ์เลย และพยายามคลุกคลีกับชาวต่างชาติ เพราะจะได้เรียนรู้ ได้ฝึกภาษา ได้ประสบการณ์ที่มากกว่า

ขณะที่ทางฝั่งจีน การติดต่ออาจจะมีการใช้ภาษาท้องถิ่น ทำให้มีความติดขัดอยู่บ้าง อย่างการเปิดบัญชีธนาคาร การเข้าใจข้อกำหนด กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น จีนห้ามเล่นโซเชียลมีเดียของต่างชาติ 

สำหรับใครที่สนใจไปเรียนต่อในประเทศจีน ไต้หวัน เกาหลี  สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อจีน ไต้หวัน เกาหลี OREN ไลน์ @OREN

.

.

คุณนูป อัครพัชร์ ภัทรศิริภาณิน | THE STUDY TIMES STORY EP.16

บทสัมภาษณ์ คุณนูป อัครพัชร์ ภัทรศิริภาณิน นักศึกษาแพทย์ Medical University of Lublin, สาธารณรัฐโปแลนด์ 
นักเรียนแพทย์สายคอนเทนต์ เรียนที่โปแลนด์ให้อะไรมากกว่าที่คิด

ปัจจุบัน คุณนูปเป็นนักศึกษาแพทย์ อยู่ที่ Medical University of Lublin ประเทศโปแลนด์ 

จุดเริ่มต้นเรียนแพทย์ที่โปแลนด์ มหาวิทยาลัย Medical University of Lublin
คุณนูปมีความสนใจอยากเรียนหมออยู่แล้ว เพราะมีความฝันอยากเป็นหมอในค่ายผู้อพยพ จนได้พบเอเจนซี่ที่ส่งนักศึกษาไปเรียนที่โปแลนด์ จึงได้ตัดสินใจ ด้วยความที่ค่าเทอมไม่แพง และค่าครองชีพไม่สูง ที่คุณนูปเคยศึกษาเปรียบเทียบค่าเทอมเรียนหมอ 6 ปี พบว่า โปแลนด์มีค่าใช้จ่ายประมาณ 2.4 ล้านบาท ขณะที่เอกชนที่ประเทศไทยประมาณ 3 ล้านบาท 

การเรียนที่โปแลนด์จะเรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ช่วง 4 เทอมแรกมีเรียนภาษาโปลิชด้วย ในคลาสเรียนมีทั้งนักเรียนจากไต้หวัน อเมริกัน ตะวันออกกลาง สแกนดิเนเวีย

คุณนูปสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยวิชาทางวิทยาศาสตร์และใช้คะแนน IELTS ปัจจุบันนักเรียนไทยที่มาเรียนแพทย์ที่ Lublin มีประมาณ 100 กว่าคน จุดเด่นที่ทุกคนเลือกมาเพราะค่าเทอมที่ถูก และค่าครองชีพที่ไม่แพง 

การเรียนที่โปแลนด์มีสอบทุกสัปดาห์ ต้องทำคะแนนสอบให้ได้มากกว่า 50% ขึ้นไป จึงจะมีสิทธิ์สอบไฟนอล ต้องอ่านหนังสืออยู่เรื่อย ๆ  ปีแรกที่มาปรับตัวยากมาก เพราะคนไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษ ทำให้สื่อสารยาก

ด้วยความที่คนที่นี่ไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก สำเนียงจะฟังยากมาก ทำให้มีอุปสรรคด้านการสื่อสาร เวลาเครียดคุณนูปก็จะมีออกไปกินข้าว ท่องเที่ยวกับเพื่อน หรือแม้กระทั่งไปหานักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยที่มีให้บริการ

วิถีชีวิตนักเรียนไทยในโปแลนด์ ส่วนใหญ่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ทำกิจกรรมร่วมกัน ไปเตะฟุตบอล ทานข้าวด้วยกัน แต่ด้วยความที่สอบเยอะมากก็จะไม่ค่อยมีเวลา วิธีที่ทำให้คุณนูปผ่านช่วงเวลายากลำบากมาได้ คือ การจดไดอารี่ไว้ 

สิ่งที่น่าสนใจในโปแลนด์ คุณนูปแนะว่า ถ้าชอบมิวเซียม ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ ดนตรีคลาสสิก โปแลนด์เป็นอีกตัวเลือกที่น่ามาเที่ยวมาก ด้วยความที่เป็นพื้นที่ของสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก่อน และมีอุทยานแห่งชาติกว่า 100 แห่ง

คุณนูปเป็นนักกิจกรรมตัวยง ทั้งเล่นดนตรี กีฬา ท่องเที่ยว ปีนผา คุณนูปเล่าว่า กิจกรรมปีนผา เริ่มทำช่วงกลับไทยเมื่อปีที่แล้วตอนสถานการณ์โควิดระบาดหนัก เจ้าของสำนักพิมพ์ที่คุณนูปเป็นนักเขียนอยู่ได้ชวนไปปีนผา ไปแล้วเกิดติดใจ เมื่อกลับมาโปแลนด์ก็ยังสนใจและทำต่อมาเรื่อย ๆ 

คุณนูปมีอุดมการณ์ คือ อยากเป็นแพทย์ที่ดูแลผู้ลี้ภัย เพราะมีอาจารย์ที่เป็นต้นแบบ แล้วรู้สึกว่าเท่ดี ตอนย้ายมาอยู่โปแลนด์มีช่วงหนึ่งที่เขวไปบ้าง แต่มีโอกาสได้ทำเรื่องเกี่ยวกับอาหารกลางวันให้เด็กที่เคนย่า เลยสามารถดึงตัวเองกลับมาในความฝันที่เคยตั้งไว้ 

จุดเริ่มต้นอาชีพนักเขียน 
จุดเริ่มต้นการเป็นนักเขียนของคุณนูปเริ่มมาจากเป็นแฟนของสำนักพิมพ์ชี้ดาบ รู้จักกับพี่ที่เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ ช่วงที่โปแลนด์มีโควิดระบาดหนักทำให้ออกไปไหนไม่ได้ เลยตัดสินใจทักไปคุยกับรุ่นพี่เจ้าของสำนักพิมพ์ พี่เลยได้ชวนมาเขียนหนังสือรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับคนไทยที่เจอโควิดจากทั่วโลก คุณนูปจึงตัดสินใจเขียนหนังสือที่มีชื่อว่า พังเรนเจอร์ : AGE OF CORONA

อีกเล่มมีชื่อว่า อยุติธรรม เจนเนอร์เรชั่น | พังเรนเจอร์ จูเนียร์ ซึ่งรวบรวมประสบการณ์ที่เจอมาแล้วรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมกับตัวเรา 

การเขียนสำหรับคุณนูปเหมือนการปลดปล่อยอีกรูปแบบหนึ่ง ด้วยความที่กิจกรรมบางอย่างที่เคยทำเพื่อปลดปล่อยความเครียด อาจจะทำไม่ได้ในช่วงโควิด จึงต้องหาวิธีอื่นในการปลดปล่อยออกมา
 
คุณนูปคิดว่า 'นักศึกษาแพทย์' และ 'นักเขียน' มีทั้งส่วนที่เหมือนและต่างกัน เช่น เรื่องเรียนทำให้ต้องอ่านหนังสือทุกวัน ส่วนการเขียนเป็นสิ่งที่เจอทุกวัน เป็นสิ่งที่สะสมทุกวันทั้งคู่ แต่ความต่าง คือ การเขียนเป็นประสบการณ์ตรงที่เราเจอเองจริง ๆ แต่การเรียนไม่ใช่สิ่งที่เราเจอมาด้วยตัวเอง แต่เป็นเรื่องที่เราอ่านความรู้ที่คนอื่นเตรียมไว้แล้ว

แผนในอนาคตเมื่อเรียนจบของคุณนูป คือ กลับไทยเพื่อสอบใบประกอบเก็บไว้ ก่อนจะออกเดินทางไปตามค่ายผู้ลี้ภัยแล้วค่อยกลับมาเมืองไทย 

สุดท้ายคุณนูปฝากสำหรับคนที่อยากเรียนแพทย์ในโปแลนด์ไว้ว่า ข้อสอบเข้ายากขึ้นมาก ให้อ่านหนังสือเยอะ ๆ ทำภาษาอังกฤษไว้ให้ดี


.

.


.

คุณหนึ่ง จีระศักดิ์ ป้อมสุวรรณ | THE STUDY TIMES STORY EP.11

บทสัมภาษณ์ คุณหนึ่ง จีระศักดิ์ ป้อมสุวรรณ Minister Counsellor อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ, ประเทศโปแลนด์ เส้นทางและชีวิตของนักการทูต ที่ต้องรอบรู้เรื่องราวข่าวสารรอบโลก

คุณหนึ่งเล่าว่า การจะเป็นนักการทูตได้ ต้องเป็นข้าราชการของกระทรวงการต่างประเทศก่อน การจะเข้ามาในกระทรวงการต่างประเทศ สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจ ไม่จำเป็นต้องจบรัฐศาสตร์การทูตเท่านั้น ตัวคุณหนึ่งเองจบสายเศรษฐศาสตร์มา คนส่วนใหญ่ในกระทรวงเป็นสายสังคมวิทยา เพราะในทางการทูตต้องหาความหลากหลาย ต้องการองค์ความรู้จำนวนมาก 

หน้าที่ของนักการทูตคือส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ในโลกนี้มีหลากหลายประเด็นที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ หรือแต่ละประเทศมาร่วมมือกัน ผลประโยชน์ของชาติมีหลายมิติ จึงต้องการนักการทูตที่มีความรู้ในหลายมิติเช่นเดียวกัน 

ชีวิตนักการทูตนั้น การมาอยู่ต่างประเทศต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายมาก คุณหนึ่งเล่าว่า โดยปกติคนที่เข้ามาจะต้องใช้เวลาเรียนรู้งานที่เมืองไทยก่อนเฉลี่ยประมาณ 3-4 ปี เมื่อมาอยู่ต่างประเทศได้นำประสบการณ์ในเมืองไทยมาใช้ในการเป็นนักการทูต ขณะเดียวกันก็มาเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพิ่มเติมจากการประจำการในต่างประเทศ เมื่อครบวาระ 4 ปี จึงนำประสบการณ์กลับไปใช้ในเมืองไทย อยู่ประมาณสามปี ก็เดินทางไปอีกประเทศหนึ่ง ชีวิตนักการทูตจะกลับไปกลับมา ควรมีการวางแผนชีวิตที่ดี โดยเฉพาะเรื่องของครอบครัว

คุณหนึ่งเผยว่า การทำงานของนักการทูตรุ่นใหม่ในประเทศ ปัจจุบันผู้บริหารกระทรวงเห็นความสำคัญของการรู้งานที่หลากหลายมากขึ้น เพราะฉะนั้นทางกระทรวงจึงให้ข้าราชการรุ่นใหม่ เวียนงาน ไม่เฉพาะเวียนกรม แต่เวียนข้ามกลุ่มงานด้วย นอกจากนี้ยังมีงานด้านบริหาร งานด้านการคลัง งานบริหารบุคคล เป็นทักษะที่จำเป็นของนักการทูต

ด้านการทำงาน ในกรมจะแบ่งเป็นกองเพื่อดูแลงานต่าง ๆ ในแต่ละกองมีคนเฉลี่ย 8-10 คน ข้อด้อยคือเมื่อคนน้อย งานปริมาณเยอะ ข้อดีคือ นักการทูตแต่ละคน ไม่ว่าจะเด็กขนาดไหน มีโอกาสได้ดูงานในเชิงลึก หลากหลาย และมีความรับผิดชอบในส่วนงานของตัวเอง 

นักการทูตควรมีบุคลิกอย่างไรนั้น คุณหนึ่งให้คำนิยามไว้คำเดียวว่า ‘ครบเครื่อง’ เนื่องจากต้องเจอคนหลากหลายประเภท เพราะฉะนั้นความรู้ที่หลากหลายเป็นเรื่องสำคัญ หากต้องการจะสื่อสาร มีบทสนทนากับผู้คน ก็จำเป็นต้องรู้ในเรื่องนั้น ๆ พอประมาณ ความรู้ที่หลากหลาย จึงเป็นสิ่งที่นักการทูตควรจะต้องมี

หากอยากเป็นนักการทูต ควรเติมองค์ความรู้ หรือพัฒนาตัวเองอย่างไร คุณหนึ่งแนะนำว่า หนังสือที่ดีที่สุดที่จะใช้ในการสอบ ในการอ่านและทำความเข้าใจ คือ หนังสือพิมพ์ เพราะเป็นความหลากหลาย เป็นความรู้รอบตัว อ่านหนังสือพิมพ์ในไทย จะรู้ว่าเมืองไทยเกิดอะไรขึ้น ขณะเดียวกันอ่านหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ เพื่อให้รู้ว่าตอนนี้โลกไปทิศทางไหนแล้ว ศึกษาประเด็นต่าง ๆ รอบโลก เรื่องที่คนให้ความสนใจ           

ชีวิตนักการทูตสำหรับตัวคุณหนึ่งเองนั้น ประเทศแรกที่ได้ไปประจำการ คือแอฟริกาใต้ กรุงวิคตอเรีย (Victoria) ยุคนั้นในแอฟริกามีสถานทูตอยู่ 4-5 แห่ง นอกจากประเทศที่ดูแลแล้ว ยังดูแลประเทศใกล้เคียงที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย ซึ่งนอกจากแอฟริกาใต้แล้วได้ดูแลอีก 10 ประเทศรอบ ๆ ของแอฟริกาตอนใต้ 

สำหรับคนที่เป็นนักการทูตตอนออกต่างประเทศครั้งแรก แน่นอนว่ายังหนุ่มยังสาว มีข้อจำกัดในชีวิตน้อย ยังมีพลังงานเยอะ การออกต่างประเทศครั้งแรกมักจะพูดกันว่าเป็นเหมือนกับ ‘รักแรกพบ’ ได้ไปประจำการที่ไหนมักจะมีความรัก ความประทับใจให้กับประเทศนั้น ๆ คุณหนึ่งไปแอฟริกาใต้ก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน แอฟริกาเป็นทวีปที่มีสีสัน คนไทยไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ มีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่น่าสนใจ เป็น 4 ปีที่มีประสบการณ์ที่ดีมาก และในแอฟริกาใต้ พบว่ามีชุมชนคนไทยอยู่มากกว่าที่คิด จากนั้นกลับมาเมืองไทยได้ 2 ปีครึ่ง ก่อนเดินทางต่อไปยัง ซิดนีย์ ออสเตรเลีย

คุณหนึ่งเล่าประสบการณ์ในแอฟริกาใต้ ให้ฟังว่า กลุ่มคนผิวสีทั้งหมด จะแยกเป็นเผ่าเล็ก ๆ แต่ละเผ่าจะมีการเมืองระหว่างเผ่า  และมีประวัติของเผ่าที่ไม่เหมือนกัน เช่น เผ่าซูลู ในแอฟริกาใต้ ที่ถือว่าเป็นเผ่าของนักรบ รูปร่างกำยำ อีกเผ่า คือ เผ่าคอร์ซา เป็นเผ่าของคนมีการศึกษา กลุ่มผู้บริหาร ลักษณะของแต่ละเผ่าจะไม่เหมือนกันเลย อีกทั้งวัฒนธรรม การเต้นระบำ ภาษาก็ไม่เหมือนกัน

คุณหนึ่งให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ในหนึ่งประเทศมีสถานทูตได้เพียงแห่งเดียว แต่มีสถานกงสุลใหญ่ได้หลายที่ตามความจำเป็นและตามผลประโยชน์ เช่น ในสหัรัฐอเมริกามีหลายแห่ง ในออสเตรเลียมีสองแห่ง คือ แคนเบอร์รา และซิดนีย์

การทำงานเป็นอัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ, ประเทศโปแลนด์ ในตอนนี้ คุณหนึ่งเล่าว่า ในสถานทูตมีสมาชิก 5 ท่าน คือ ท่านทูต คุณหนึ่ง เจ้าหน้าที่ 2 ท่าน และเจ้าหน้าที่ทางด้านการคลังอีก 1 ท่าน นอกจากนี้ยังมี เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ที่เป็นคนท้องถิ่นที่ถูกจ้างมา ในกรณีของโปแลนด์ ต้องการคนท้องถิ่นเพื่อมาติดต่อประสานกับงานท้องถิ่น เนื่องจากคนที่นี่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ จะใช้ภาษาโปลิชเป็นส่วนใหญ่ ตัวคุณหนึ่งเองมีหน้าที่ช่วยสนับสนุนท่านทูตในการดูแลงาน กรองงานจากเจ้าหน้าที่ที่เสนอขึ้นมา ดูงานบริหาร การเงิน การบริหารภายในต่าง ๆ 

คุณหนึ่งกล่าวว่า หน้าที่ของสถานทูตไทยที่ไปอยู่ในแต่ละประเทศ มีหน้าที่เดียว คือ การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยเรากับประเทศนั้นให้ดีขึ้น แต่หน้าที่เดียวนี้จะแตกแขนงออกไปตามกรอบบริบทของประเทศนั้น ๆ ยกตัวอย่างกรณีของโปแลนด์ ต้องมีการหาว่าความสัมพันธ์หรือความสำคัญของโปแลนด์ต่อไทยอยู่ตรงไหน จะทำให้โปแลนด์ตอบโจทย์ผลประโยชน์ของไทยได้อย่างไร 

โดยโปแลนด์เป็นประเทศที่มีประชากรประมาณ 38 ล้านคน แต่เป็นประเทศหนึ่งที่สามารถเป็นอู่ข้าวอู่น้ำในยุโรปกลาง สิ่งหนึ่งที่โปแลนด์มีแต่เราคิดไม่ถึง คือ เขามีเทคโนโลยี มีกลุ่มสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่ากลุ่ม Start-Up ที่มีความสามารถ มี ecosystem ที่เหมาะกับการเติบโตของ Start-Up โปแลนด์มีชายแดนติดกับเยอรมัน แต่ค่าแรงโปแลนด์ถูกกว่าเยอรมัน 3 เท่า โดยมากนักลงทุนในกลุ่มยุโรปตะวันตกจะมาสร้างโรงงาน ใช้ทรัพยากรบุคคลของโปแลนด์ เพื่อผลิตและส่งของไปขายในยุโรปตะวันตก ด้วยบริบทของโปแลนด์นี้เอง สถานทูตของไทยจึงมีบทบาทในการผลักดันผลประโยชน์ระหว่างไทยและโปแลนด์ในหลากหลายมิติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม 

คุณหนึ่งทิ้งท้ายไว้ว่า อาชีพอะไรก็ตาม เราทำประโยชน์ให้ชาติได้ทั้งนั้น แต่ถ้าใครที่อยากทำประโยชน์ให้ประเทศชาติด้วยการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้ไทยกับประเทศต่าง ๆ ได้มีบทบาทที่ดีต่อกันมากขึ้น มีความร่วมมือต่อกันมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ สนใจในการใฝ่รู้ เตรียมตัวให้สอดคล้องกับสิ่งกระทรวงต้องการ กระทรวงยังต้องการความคิดใหม่ ๆ มุมมองใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงและประเทศชาติ 


.

.

Resilience Skill จะช่วยให้เรามองอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต เป็นเรื่องธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตมนุษย์ และมองว่าอุปสรรคเหล่านี้ จะเป็นตัวช่วยในการพัฒนาตัวเอง ให้เข้มแข็งขึ้น

Resilience Skill หมายถึง ความสามารถในการฟื้นตัว เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีความกดดันสูงและมีความยากลำบาก โดยที่ยังสามารถกลับมาเป็นคนที่มีความมั่นคงดังเดิม มีความมั่นใจ มองโลกในแง่ดี และสามารถกลับมาดำเนินชีวิตอย่างเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม 

Resilience สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว ครอบครัว และการทำงาน

ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า อนาคตจะเกิดและไม่เกิดอะไรขึ้นบ้าง การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และทักษะที่ทุกคนต้องมีเพื่อติดสปริงตัวเอง ในการดีดตัวออกมาจากหลุมพราง และสามารถฟื้นคืนชีพให้ได้เร็วที่สุด ทักษะหนึ่งเดียวที่คนทุก Generation ต้องมี คือ ทักษะ Resilience เป็น How to ที่มีความมีความยืดหยุ่นสูง สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวคุณ คนในครอบครัว อาชีพ และธุรกิจของคุณ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Resilience Skill จะช่วยให้เรามองอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต เป็นเรื่องธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตมนุษย์ และมองว่าอุปสรรคเหล่านี้ จะเป็นตัวช่วยในการพัฒนาตัวเอง ให้เข้มแข็งขึ้น ไม่ว่าจะเจอเรื่องราวที่ยากลำบากแค่ไหนก็ตาม

Resilience ทักษะที่สามารถสร้างได้ โดยอาศัยปัจจัย หลัก 6 ประการ ดังนี้

1.) การนับถือตัวเอง  ความเคารพตัวเอง รู้สึกถึงคุณค่าภายในตัวเอง ไม่ต้องรอพึ่งพาใคร หรือสิ่งใด เริ่มต้นที่ตัวเอง การควบคุมอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองให้กลับมาเป็นปกติให้เร็วที่สุด ก่อนแก้ไขปัญหานั่นเอง

2.) ความทะเยอทะยาน คนที่มี Resilience มีเป้าหมายชัดเจน และมุ่งความสนใจไปที่การลงมือทำ มากกว่าสิ่งอื่น เป็นนักต่อสู้ ล้มแล้วลุก มีความอดทนสูง รู้จักการรอคอยความสำเร็จ และสิ่งแวดล้อมภายนอกไม่มีผลต่อชีวิตของพวกเขา

3.) การเลือกคบคน คนที่เลือกเข้ามาในชีวิต คนที่ต้องใช้เวลาดีๆ ร่วมกัน ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความสุขและความสำเร็จ พวกเขาให้ความสำคัญมาก พวกเขาจะหลีกเลี่ยงคนประเภทบุคคลเป็นพิษ (Toxic Person) เช่น คนคิดลบ อีโก้ เย่อหยิ่ง และเห็นแก่ตัว พวกเขาจะพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการคบคน พวกเขาจะเข้าใจในการสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาว ว่าต้องมี 2 ทาง คือทั้งให้ และรับ กำหนดความสัมพันธ์ด้วยการ ชนะ ชนะ ไปด้วยกัน

4.) รู้จักการวางตัวให้เหมาะสม พวก Resilience จะฉลาดในการวางตัว มีผลงานและการกระทำเป็นที่ประจักษ์ เพื่ออธิบายความเป็นตัวตน หรือเรียกว่าเป็นคนอยู่เป็น พวกเขาจะรู้จักพูดให้เกียรติผู้อื่น พูดดี มีมารยาทเสมอ ในขณะเดียวกัน พวกเขายังคงความเป็นตัวเองอย่างชัดเจน เพราะพวกเขาเข้าใจว่าคนมีความมั่นใจในตัวเอง อย่างแท้จริง คือ การที่รู้และเข้าใจตัวเอง ว่าตัวเองกำลังทำอะไร เพื่ออะไร โดยไม่ต้องพยายามเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น

5.) รู้จักดูแลตัวเองและคนที่รักเป็นอย่างดี พวก Resilience จะฉลาดในการใช้ชีวิตมาก จะบริหารจัดการเวลาได้เก่ง สามารถสร้างสมดุลของชีวิต และการทำงานได้เป็นอย่างดี รู้เวลาว่าตื่นเช้ามาต้องทำทานอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ต้องออกกำลังกายแบบไหนให้เหมาะกับช่วงเวลา มีวิธีขจัดความเครียดออกไปได้อย่างง่ายดาย รวมถึงเอาใจใส่คนที่เขารักด้วย และที่สำคัญไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิต พวกเขายังคงลุกขึ้นมาทำหน้าที่และรับผิดชอบได้เป็นอย่างดี

6.) ชื่นชมยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่นอย่างจริงใจ พวกเขาไม่ตัดสินคนอื่น แต่จะมองเห็นข้อดี และฉลาดในการเรียนรู้จากจุดแข็งของคนอื่น พวกเขายินดีกับความสำเร็จของผู้อื่นด้วยความซาบซึ้งเสมือนว่าเป็นความสำเร็จของตัวเอง พวกเขาไม่ชอบการแย่งชิง เพราะเขารู้ว่าตัวเขาเองก็มีดีมากพอ และในโลกใบนี้มีโอกาสและมีทรัพยากรมากพอที่เอื้ออำนวยต่อความสำเร็จของเขา จึงทำให้เขาชื่นชมคนอื่นด้วยความจริงใจเสมอ

เป็นธรรมดาที่มนุษย์ มีความรู้สึกผิดหวัง เสียใจ ไม่พอใจ ท้อแท้ สิ้นหวัง และหมดกำลังใจไปบ้าง ซึ่งก็เป็นกลไกในการทำงานที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ก็อย่าให้ความคิดลบๆ เหล่านี้ดึงเราจมดิ่งอยู่กับความรู้สึกเหล่านั้นนานเกินไป จงหมั่นพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ก้าวเดินต่อไปทีละขั้นๆ ผิดตรงไหนแก้ตรงนั้น เรียนรู้จากข้อผิดพลาด ทำให้ดีกว่าเดิม และทบทวนตัวเองอย่าให้พลาดซ้ำ เพราะทุกก้าวของชีวิต มีพลังงานชีวิตซ่อนเร้น คนที่มีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิตต่างรู้กฎเหล่านี้ดี

.

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์

#Talktonitima


อ้างอิงข้อมูล

https://thestandard.co/podcast/thesecretsauce239/

https://www.mreport.co.th/experts/business-and-management/038-Mental-Resilience-Skill-Future-%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B9%88

เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่น่าชื่นชม "ณัฐ ศักดาทร" หรือ ณัฐ AF4 เพราะนอกจากจะมีความสามารถทางด้านดนตรี การร้องเพลงแล้ว ณัฐยังเป็นดารานักร้องที่เรียนเก่งตั้งแต่เด็ก

"ณัฐ ศักดาทร" เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ เข้าศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ก่อนไปศึกษาต่อจนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่ Peddie School ประเทศสหรัฐอเมริกา และเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จากนั้นศึกษาด้านดนตรีต่อที่ Berklee College of Music อีก 1 เทอม

สมัยเรียนอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ชั้นประถม ณัฐเรียนได้ 4.00 ทุกเทอม ระดับมัธยมต้นก็เรียนได้เกรดเฉลี่ยถึง 3.97 และตอนที่ไปเรียนมหาวิทยาลัยดังระดับโลกอย่าง ฮาร์วาร์ด ในคณะเศรษฐศาสตร์ ก็ได้เกรดเฉลี่ยสูงถึง 3.69 สามารถคว้ารางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 มาได้


ที่มา:

https://www.sanook.com/campus/1370710/

https://th.wikipedia.org/wiki/ณัฐ_ศักดาทร

คุณต้น รัฐพล ปั้นทองพันธุ์ | THE STUDY TIMES STORY EP.15

บทสัมภาษณ์ คุณต้น รัฐพล ปั้นทองพันธุ์ ได้รับทุนมูลนิธิ มหิธร กลีบ ไกรฤกษ์

ปริญญาโทกฎหมายธุรกิจ Cambridge University, สหราชอาณาจักร

ฝันเป็นจริงเพราะฝึกฝนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง ได้ทุนเรียนต่อต่างประเทศ มหาวิทยาลัย TOP ของโลก

ปัจจุบันคุณต้นดำรงตำแหน่ง Vice President ดูแลด้านกฎหมายในบริษัทเอกชน เพิ่งเรียนจบกลับมาจากประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ไปเรียน Corporate Law เน้นที่กฎหมายบริษัท เกี่ยวกับธุรกิจและการค้าโดยตรง จาก University of Cambridge

กฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจ หรือ Corporate Law ถือว่าเป็นหัวใจ จากการไปเรียนมาทำให้คุณต้นทราบว่าทางอังกฤษสามารถพัฒนาและแก้ปัญหาทางธุรกิจได้ดีกว่าประเทศไทย

ย้อนกลับไป คุณต้นเรียนในโรงเรียนไทยมาโดยตลอด เรื่องของภาษาอังกฤษเรียกว่าไม่ได้เลย จากนั้นได้เรียนต่อเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเรียนควบนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงไปด้วย ในชั้นปี 3 เป็นช่วงที่เริ่มเรียนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง ได้ไปเรียนที่สถาบันพัฒนาภาษา Fast English อยู่ 2 ปีครึ่ง ต้องปูพื้นใหม่ทั้งหมด หลังจากนั้นได้ไปฝึกงานที่ Law Firm 4 ปี กว่าจะคล่องในการใช้ภาษาอังกฤษ

คุณต้นเชื่อว่า หากไม่ได้เรียนอินเตอร์ การพัฒนาภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยค่อนข้างลำบาก เพราะไม่ได้มีการรวมข้อมูลที่ต้องรู้จริง ๆ เกี่ยวกับภาษาอังกฤษไว้ สิ่งนี้ถือเป็นจุดอ่อน

คุณต้นเริ่มจุดประกายเรื่องของภาษาอังกฤษช่วงปี 3 เพราะฝันอยากไปเรียนเมืองนอก การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของคุณต้นทั้งหมดเรียกว่ามาจากการเรียนที่ Fast English บวกกับความตั้งใจท่องคำศัพท์ มีวินัยในตัวเอง สิ่งสำคัญคือการฝึกฝนด้วยตัวเองต่อ

ทุนมูลนิธิ มหิธร กลีบ ไกรฤกษ์

ก่อนที่จะได้ทุนมูลนิธิ มหิธร กลีบ ไกรฤกษ์ คุณต้นได้ทุนสหภาพยุโรปก่อน รวมทั้งยื่นสมัครที่ LSE ประเทศอังกฤษ แต่เนื่องจากทางเนติบัณฑิตเปิดรับสมัครสอบแข่งขันทุน โดยทุนนี้ไม่ได้กำหนดว่าต้องไปมหาวิทยาลัยไหน เพียงแต่กำหนดให้ไปมหาวิทยาลัยที่ประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย หรือญี่ปุ่น ซึ่งคุณต้นเองได้ใบตอบรับจาก Cambridge พอดี เมื่อสอบแข่งขันผ่าน จึงแจ้งกับทางทุน ไปเรียนต่อได้เลย

จุดอ่อนของคนไทยที่อยากไปเรียนต่อต่างประเทศ คุณต้นมองว่า อยู่ที่ภาษาอังกฤษ ภาษาต้องได้ก่อน ใครจะไปเรียนไม่ต้องรีบ เตรียมตัวให้พร้อม ศึกษามหาวิทยาลัยดี ๆ จากมุมมองส่วนตัว คุณต้นคิดว่าที่ตนเองได้ ไม่ใช่เพราะความเรียนเก่ง แต่เพราะความหลากหลาย และมีประสบการณ์ทำงานที่เยอะพอสมควร รวมทั้งมีความก้าวหน้าในการทำงาน สิ่งนี้เป็นจุดที่นักเรียนมักจะมองข้าม

สำหรับคนที่จะสอบทุนมูลนิธิ มหิธร กลีบ ไกรฤกษ์ ต้องมีคุณสมบัติ คือ จบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ สอบเนผ่าน และมีอายุไม่เกิน 35 ปี โดยทุนนี้ไม่ได้เปิดทุกปี แต่ 4 ปีเปิดครั้ง ต้องสอบแข่งขัน เขียน Essay ภาษาอังกฤษสามข้อ รอบสุดท้ายสอบสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ ข้อดีของทุนนี้คือเป็นทุนฟรี ไม่มีภาระผูกพัน สำหรับคนที่จะได้ทุนนี้ คุณต้นมองว่า ต้องรู้จักขายตัวเองให้เป็น ก่อนที่จะไปขายของให้คนอื่น ต้องรู้ว่าตัวเองมีจุดแข็ง จุดอ่อนอะไร ทุกอย่างต้องวางแผนล่วงหน้า สำหรับสายกฎหมาย การทำงานเป็นอีกสิ่งที่ทำให้โตขึ้นและเข้าใจ  

ตอนสัมภาษณ์ คุณต้นเล่าว่า เจอคำถามที่ไม่ใช่คำถามกฎหมายมากนัก เช่น เรื่องอาเซียน คำตอบจึงเป็นสหสาขาวิชา เด็กจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์อาจจะยังตอบคำถามได้ไม่ค่อยดี 

Cambridge University
คุณต้นมีความประทับใจในการไปเรียนที่ Cambridge University มาก เนื่องจากอากาศดี สภาพแวดล้อมเหมือนโรงเรียนประจำ มีแยกออกเป็นบ้านเหมือนแฮร์รี่ พอตเตอร์ มีกิจกรรมในบ้าน ทั้งกีฬา ดนตรี บอร์ดเกม เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการศึกษา ที่แท้จริง มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้ 

ในเรื่องการใช้ชีวิตคุณต้นไม่มีปัญหา ช่วงสองอาทิตย์แรก อาจจะมีเรื่องของความเกร็งในการใช้ภาษาอยู่บ้าง เพราะไม่ชินสำเนียงคนอังกฤษ ทำให้ฟังไม่ค่อยออก แต่เมื่อผ่านไปทุกอย่างก็ลงตัว ส่วนการเข้าหาอาจารย์ไม่มีปัญหา เพราะอาจารย์พูดช้าและมีความเข้าใจนักเรียนต่างชาติ

ข้อแตกต่างการศึกษาไทยและอังกฤษ
คุณต้นมองว่า ระบบการศึกษาไทยต้องรื้อใหม่ หัวใจของการไปเรียนอาจารย์ต้องเก่ง ในการเรียนเรื่องหนึ่งไม่ได้มีเพียงศาสตร์เดียว แต่มีปัญหาหลากหลายประเด็น ต้องนำมาประยุกต์กันเพื่อแก้ปัญหาให้ได้ แต่ของไทยยังเรียนศาสตร์เดียว นี่คือข้อแตกต่าง อีกสิ่งคือระบบการยอมรับฟังความเห็นต่าง และสุดท้ายคือเรื่องของฮาร์ดแวร์ที่ยังมีปัญหา เช่น จะให้เรียนออนไลน์แต่ไม่มี WiFi เพราะฉะนั้นต้องมีการรื้อทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

สุดท้ายนี้ คุณต้นฝากถึงคนที่อยากไปเรียนต่อต่างประเทศหรืออยากพัฒนาตนเองไว้ว่า ถ้ามีความฝัน เก็บความฝันไว้ในใจ อย่าเอาความฝันนั้นออกไปที่อื่น ถ้าคุณไม่ล้มเลิก ยังไงวันหนึ่งคุณก็สำเร็จในสิ่งที่คุณตั้งใจแน่นอน


.

.


 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top