Wednesday, 14 May 2025
LITE TEAM

20 มิถุนายน พ.ศ. 2309 รำลึกวีรกรรมชาวบ้าน ‘ค่ายบางระจัน’ ถูกกองทัพพม่าตีแตก ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2

วันนี้ เมื่อ 256 ปี ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 ‘ค่ายบางระจัน’ ของชาวบ้านถูกตีแตกโดยกองทัพพม่า หลังต้านทานการเข้าตีได้หลายครั้ง 

‘ค่ายบางระจัน’ เป็นค่ายป้องกันตัวเองของชาวบ้านเมืองสิงห์บุรีและเมืองต่าง ๆ ที่พากันมาหลบภัยจากกองทัพพม่าที่บางระจัน ก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 สามารถต้านทานการเข้าตีของกองทัพพม่าได้หลายครั้ง และมีกิตติศัพท์เลื่องลือในด้านวีรกรรมความกล้าหาญในประวัติศาสตร์ไทย

ปี 2307 กองทัพพม่าภายใต้การนำของเนเมียวสีหบดียกเข้ามาในขอบคัณธสีมาด้านด่านระแหงแขวงเมืองตาก โดยกวาดต้อนผู้คนตัดกำลังของกรุงศรีอยุธยาทางหัวเมืองเหนือ ในขณะที่มังมหานรธา ตีเข้ามาทางหัวเมืองใต้ สกัดกำลังจากชายทะเลทิศใต้ โดยหมายใจบรรจบเข้าที่กรุงศรีอยุธยา

ต้นเดือนมกราคม 2308 กองทัพของเนเมียวสีหบดีได้มาหยุดอยู่ที่เมืองวิเศษชัยชาญ และจัดให้ทหารพม่ากองหนึ่งเที่ยวกวาดต้อนทรัพย์สินและผู้คนทางเมืองวิเศษชัยชาญ ราษฎรต่างพากันโกรธแค้นต่อการกดขี่ข่มเหงของทหารพม่า จึงแอบคบคิดกันเพื่อลุกขึ้นต่อสู้

ในเดือน 3 พวกชาวเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรคบุรี และชาวบ้านใกล้เคียงพากันคบคิดอุบายเพื่อล่อลวงทหารพม่า ทั้งรวบรวมผู้คนไว้เพื่อทำการต่อไป ในบรรดาชาวบ้านที่ร่วมกันอยู่นี้มีหัวหน้าที่สำคัญคือ นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมือง ซึ่งได้หลอกลวงทหารพม่านำไปหาทรัพย์สิ่งของที่ต้องการ ทหารพม่าหลงเชื่อตามไป ก็ถูกนายโชติและพรรคพวกซุ่มอยู่บุกเข้ามาฆ่าฟันพม่าตายประมาณ 20 คน แล้วจึงพากันหนีไปยังบางระจัน

19 มิถุนายน พ.ศ. 2446 ในหลวง ร.5 เสด็จฯ ทรงเปิดการเดินรถไฟ เส้นทาง ‘สถานีบางกอกน้อย-เพชรบุรี เป็นครั้งแรก

วันนี้ในอดีต วันที่ (19 มิถุนายน พ.ศ. 2446) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงเปิดการเดินรถไฟ ในเส้นทางสายใต้ เป็นครั้งแรก ระหว่างสถานีบางกอกน้อย - เพชรบุรี ระยะทาง 150.49 กิโลเมตร

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง และขยายกิจการรถไฟ เพิ่มเติม โดยทรงมีพระราชดำริ ให้กระทรวงโยธาธิการ และกรมรถไฟ วางแผนงาน เพื่อสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดเพชรบุรี เมื่อปี พ.ศ.2441 ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ (8 กรกฏาคม 2442) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟสายนี้ เริ่มตั้งแต่ ปากคลองบางกอกน้อย ถึงเพชรบุรี เป็นทางกว้าง 1 เมตร ระยะทาง 150 กิโลเมตร แล้วเสร็จเปิดเดินรถได้ เมื่อวันที่ (19 มิถุนายน 2446)

ดังปรากฏในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 20 ร.ศ. 122  “ด้วยการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมรถไฟจัดสร้างทางรถไฟหลวงตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยไปเมืองเพชรบุรีนั้น บัดนี้การสร้างทางรถไฟสายนี้สำเร็จตลอดถึงเมืองเพชรบุรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการเปิดรถไฟสายนี้ เพื่อให้มหาชนโดยสารไปได้สะดวกต่อไป….”

18 มิถุนายน พ.ศ.2507 วันเปิดเรียนวันแรกของ ‘มหาวิทยาลัยเชียงใหม่’ มหาวิทยาลัยแห่งแรกในส่วนภูมิภาคของไทย

วันนี้เมื่อปีพ.ศ. 2507  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเรียนวันแรก โดยมี 3 คณะเริ่มต้น ได้แก่ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ตามโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค พ.ศ.2501 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งอยู่ ณ ดินแดนล้านนา อันเป็นแหล่งสะสมวัฒนธรรมอันล้ำค่ามานานกว่า 700 ปี มีสภาพภูมิประเทศงดงามท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันเป็นธรรมชาติ บริเวณเชิงดอยสุเทพ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

นับตั้งแต่มีการเรียกร้องให้ขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาออกสู่ภูมิภาค โดยขอให้รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 ในที่สุดการเรียกร้องก็สัมฤทธิ์ผลก่อให้เกิดความภูมิใจและดีใจเป็นอย่างยิ่งแก่ชาวล้านนา

วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้น โดยกำหนดให้เปิดสอนในปีการศึกษา 2507 และให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการเตรียมการจัดตั้ง

17 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ในหลวง ร.9 - สมเด็จพระพันปีหลวง เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีรับขวัญ ‘เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ’

วันนี้ เมื่อ 17 ปีที่แล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 - สมเด็จพระพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ ‘เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ’ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระราชวังดุสิต 

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2548 เวลา 14.30 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9, สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน (ในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศที่ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’), สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ และท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี (ในขณะนั้นดำรงอิสริยยศที่ ‘พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ’) ไปในการพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ หรือ พระราชพิธีรับขวัญ ‘สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร’ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระราชวังดุสิต

16 มิถุนายน พ.ศ. 2451 วันเกิด ‘จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์’ นายกรัฐมนตรี คนที่ 11 ของไทย

16 มิถุนายน พ.ศ. 2451 วันเกิดจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 11 และผู้นำจอมเผด็จการของไทย เจ้าของวลีเด็ด ‘ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว’

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกิดที่ย่านพาหุรัด กรุงเทพฯ จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก เริ่มประจำการที่กองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ในปี 2484 ได้เข้าร่วมสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) ได้เลื่อนยศเป็นพันเอกในปี 2495 และได้รับพระราชทานยศเป็นจอมพลในเวลาต่อมา 

จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารยึดอำนาจ จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 (ซึ่งได้ตกลงกันไว้แล้ว) และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502 ในช่วงที่บริหารประเทศได้สร้างผลงานไว้มากมายได้แก่ การออกกฎหมายเลิกการเสพและจำหน่ายฝิ่นโดยเด็ดขาด, กฎหมายปราบปรามนักเลง อันธพาล, กฎหมายปรามการค้าประเวณี จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศฉบับที่ 1และเป็นผู้ที่รื้อฟื้นกิจกรรมที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น จัดงานเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพ, การสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ และการประดับไฟบนถนนราชดำเนินในวันฉลองพระชนม์พรรษา 

15 มิถุนายน พ.ศ.2505 ปราสาทเขาพระวิหาร ตกเป็นของกัมพูชา หลังศาลโลกตัดสินให้ไทยเป็นฝ่ายแพ้คดี

15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ครบ 60 ปี ไทยสูญเสียกรรมสิทธิ์ในปราสาทเขาพระวิหารให้กับกัมพูชา

15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลโลก หรือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ พิพากษาชี้ขาด คดีปราสาทเขาพระวิหาร ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศกัมพูชา 

ปราสาทหินแห่งนี้เป็นศิลปะขอม สร้างขึ้นเพื่อถวายพระศิวะ ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ราวปี 1545-1593 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ของขอม ภาษาเขมรเรียกว่า "เปรี๊ยะ วิเฮียร์" (Phrea vihear) ตัวปราสาทสูง 657 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่บนทิวเขาพมนดงรักซึ่งกั้นระหว่างประเทศกัมพูชากับไทย ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศเหนือ ด้านหน้าและทางขึ้นอยู่ในเขตประเทศไทย แต่ตัวปราสาทส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกัมพูชา 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ค้นพบปราสาทแห่งนี้เมื่อปี 2442 แล้วทรงจารึกพระนามของพระองค์และปีที่ค้นพบไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดีว่า “118 สรรพสิทธิ์” เนื่องจากเขาพระวิหารตั้งอยู่ตรงรอยต่อของไทยกับกัมพูชา ซึ่งผลัดกันยึดครองดินแดนแถบนี้

14 มิถุนายน พ.ศ. 2130 ‘พระเจ้าตาก’ เปิดยุทธการทุบหม้อข้าว นำทัพบุกตีเมืองจันทบูร

วันนี้เมื่อ 255 ปีก่อน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สั่งทุบหม้อข้าวก่อนบุกตีเมืองจันทบูร นับเป็นยุทธการที่ลือลั่นจวบจนถึงทุกวันนี้

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2310 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ คือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ยกทัพ บุกตีเมืองจันทบูร และได้ปลุกขวัญกำลังใจเหล่าทหารด้วยการ ทุบหม้อข้าว หมายจะได้กินข้าวเช้าในเมืองจันทบูร หากตีเอาเมืองไม่ได้ ก็ให้ตายด้วยกันเสียให้หมด ถือว่าเป็นกลศึกที่ปลุกขวัญกำลังใจแก่ทหารกล้าเป็นอย่างมาก และเป็นยุทธวิธีอันลือลั่นมาจนถึงทุกวันนี้

จากเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว 2 เดือนเจ้าตากเดินทัพจากระยองผ่านแกลงเข้าบางกระจะ มุ่งยึดจันทบุรี เจ้าเมืองจันทบุรีไม่ยอมสวามิภักดิ์ เจ้าตากต้องการยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นที่มั่นเพื่อรวบรวมกำลังมาตีพม่า จึงสั่งทหารทุกคนว่า

"เราจะตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้ เมื่อกองทัพหุงข้าวเสร็จแล้ว ทั้งนายไพร่ให้เททิ้งอาหารที่เหลือและต่อยหม้อเสียให้หมด หมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันที่ในเมืองเอาพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ ก็จะให้ได้ตายเสียด้วยกันให้หมดทีเดียว"

ในวันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2310 ครั้นถึงเวลา 19.00 น. เจ้าตากจึงได้สั่งให้ทหารไทยและจีนลอบเข้าไปอยู่ตามสถานที่ที่ได้วางแผนไว้แล้ว ให้คอยฟังสัญญาณเข้าตีเมืองพร้อมกัน จึงให้โห่ขึ้นให้พวกอื่นรู้ เมื่อเวลา 03.00 น. เจ้าตากก็ขึ้นคอช้างพังคีรีบัญชร ให้ยิงปืนสัญญาณพร้อมกับบอกพวกทหารเข้าตีเมืองพร้อมกันส่วนเจ้าตากก็ไสช้างเข้าพังประตูเมืองจนทำให้บานประตูเมืองพังลง ทหารเจ้าตากจึงกรูกันเข้าเมืองได้ พวกชาวเมืองต่างพากันละทิ้งหน้าที่หนีไป ส่วนพระยาจันทบุรีก็พาครอบครัวลงเรือหนีไปยังเมืองบันทายมาศ เจ้าตากตีเมืองจันทบุรีได้ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 7 แรม 3 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เพลา 3 ยามเศษ ตรงกับวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 03.00 น. หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว 2 เดือน

13 มิถุนายน 2535 สิ้น 'พุ่มพวง ดวงจันทร์' ราชินีลุกทุ่ง ผู้ขับกล่อมบทเพลงอมตะข้ามกาลเวลา

“เมื่อสุริยนย่ำสนธยา จะกลับบ้านนาตอนชื่อเสียงเรามี จะยากจะจน ถึงอดจะทนเต็มที่ นักร้องบ้านนอก คนนี้จะกล่อมน้องพี่ และแฟนเพลง…”

อีกท่อนจำข้ามกาลเวลาจากบทเพลง 'นักร้องบ้านนอก' ที่เชื่อว่าคนไทยในยุค 'เกิดทัน' ยังคงตราตรึงจิตอยู่ร่ำไป

หากบรรจบครบวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ก็จะเท่ากับ 30 ปี แห่งการจากไปของราชินีลูกทุ่ง 'พุ่มพวง ดวงจันทร์'

พุ่มพวง ดวงจันทร์ (4 สิงหาคม พ.ศ. 2504 – 13 มิถุนายน 2535) ชื่อจริงว่า 'รำพึง จิตรหาญ' (ชื่อเล่น ผึ้ง) ผู้ชอบร้องเพลงเป็นชีวิตใจ และเธอก็เหมือนนักร้องคนอื่นที่ใช้เวทีประกวดร้องเพลงงานวัดเป็นหนทางเข้าสู่วงการ โดยใช้ชื่อว่า ผึ้ง สองพี่น้อง, ผึ้ง ณ ไร่อ้อย

พ.ศ. 2518 ขณะมีอายุได้ 15 พุ่มพวงร้องเพลง 'สาวสวนแตง' ของผ่องศรี วรนุช และชนะเลิศนักร้องฝ่ายหญิงที่งานวัดท่าเรือ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี รำพึง จิตรหาญ-พ่อของพุ่มพวง จึงพาเธอไปฝากเป็น 'หางเครื่อง' ในวงดนตรีของ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ที่มาทำแสดงที่วัดท่ามะกาในเวลานั้น

ระหว่างที่อยู่วงดนตรีของไวพจน์ พุ่มพวงทดลองร้องเพลงหน้าเวที ครั้งแรกในงานประจำปี ที่ตลาดลำนารายณ์ อำเภอไชยบาดาลจังหวัดลพบุรี ต่อมาไวพจน์แต่งเพลง 'แก้วรอพี่' ให้พุ่มพวงร้องบันทึกเสียงเป็นครั้งแรกโดยใช้ชื่อว่า “น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ” และที่นี้อีกเช่นกันที่พุ่มพวงได้พบรักกับ ธีระพล แสนสุข-สามีคนแรกซึ่งเป็นนักดนตรีอยู่ในวง

ต่อมา รุ่ง โพธาราม-นักร้องรุ่นพี่ชักชวนให้แยกมาตั้งวงดนตรีเอง ด้วยการสนับสนุนของมนต์ เมืองเหนือ และมีการเปลี่ยนชื่อจาก น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ เป็น 'พุ่มพวง ดวงจันทร์' แต่กิจการวงดนตรีไม่ประสบความสำเร็จและต้องเลิกไปในที่สุด แต่พุ่มพวงไม่ถอดใจ เธอตั้งวงดนตรีอีกเป็นครั้งที่ 2 แต่ก็ขาดทุนจนเลิกกิจการไป พุ่มพวงจึงหันมาเป็นนักร้องประจำวงของ ศรเพชร ศรสุพรรณ และขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด

12 มิถุนายน ของทุกปี วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากล ร่วมป้องกันและขจัดการใช้แรงงานเด็กที่เลวร้าย

12 มิถุนายนของทุกปี องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Orginazation: ILO) กำหนดให้เป็นวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก เริ่มตั้งแต่ปี 2542

จากที่ได้ร่วมประชุมข้อตกลงร่วมกันระหว่างนานาประเทศ เพื่อให้ประเทศสมาชิกดำเนินการป้องกันและขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายให้หมดไปอย่างเร่งด่วน จนถึงขณะนี้มีประเทศสมาชิกร่วมลงนามแล้วจำนวน 178 ประเทศ
 

คอบอลชาวไทยเฮ!! 'โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ' ทุ่มร้อยล้าน คว้าสิทธิ์ 'ยูโร 2020' ยิงสดให้ชมครบทุกนัดแบบฟรี ๆ

เชียร์ยูโร Aerosoft เชียร์ยูโร ! เชียร์ยูโร Aerosoft เชียร์ยูโร ! เชียร์ยูโร Aerosoft เชียร์ยูโร ! 

เชื่อว่าหลายคนคงยังไม่ลืมเพลง 'เชียร์ยูโร Aerosoft 2020' อีกเพลงฮิตติดหูฉบับเร่งด่วน ที่ 'ณัฐภูมิ รัฐชยากร' เนรมิตขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งถูกนำมาใช้ประกอบกับลิขสิทธิ์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือยูโร 2020 กันไม่มากก็น้อย

โดยวันนี้เมื่อปีที่แล้ว คอบอลชาวไทยได้เฮ!! หลังแบรนด์ 'รองเท้าแอร์โร่ซอฟ' ทุ่ม 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คว้าลิขสิทธิ์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือยูโร 2020 ยิงสด NBT2HD SPORT ครบ 51 นัด โดยเริ่มคิกออฟคู่แรก อิตาลี VS ตุรกี ช่วงคืนวันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน 2564

ย้อนกลับไปก่อนวันที่ 11 มิ.ย.64 มีคำถามกันหนาหูในหมู่คนไทยว่า จะมี 'ยูโร 2020' มาให้รับทางฟรีทีวีหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีการประกาศอย่างชัดเจนจากหน่วยงานใดๆ ว่าจะมีการนำลิขสิทธิ์สัญญาณการถ่ายทอดสด 'ฟุตบอลยูโร 2020' มาเผยแพร่ในช่วงนั้น

เหตุผลที่ทำให้เรื่องนี้ดูนิ่งๆ ไป เพราะต้องยอมรับว่า สถานการณ์ในตอนนั้น ทางภาครัฐบาลไม่สามารถนำงบภาษีที่เก็บจากประชาชนมาคืนความสุข ด้วยการไปร่วมประมูลซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ (ทีวีพูล) หรือผ่านช่องทางอื่นได้ ต้องเป็นช่องทีวีเอกชนเท่านั้น ถึงจะสามารถประมูลฟุตบอลยูโร มาถ่ายทอดสดให้คนไทยได้ดูกัน เพียงแต่ในช่วงที่ผ่านมาก็ยังไม่มีเอกชนรายใดขอซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาถ่ายทอด จนคนไทยส่วนใหญ่น่าจะไปหวังพึ่งลิงก์เถื่อนที่ดูไปสะดุดไป อย่างไร้อรรถรส


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top