Saturday, 10 May 2025
LITE TEAM

พีค of the week EP.13

ข่าวพีค ๆ สัปดาห์ที่ผ่านมา ขอจัดมาเป็นคู่ ๆ เริ่มต้นจาก ‘คู่สู้..คู่อดข้าว’ รุ้ง – ปนัสยา และ เพนกวิน – พริษฐ์ ที่ฝ่ายชายอดข้าวเพื่อเรียกร้องขอประกันตัวมากว่า 15 วัน ส่วนฝ่ายหญิง หลังจากไม่ได้รับการประกัน ก็ประกาศอดข้าวตามเพื่อนเช่นกัน งานนี้อดกันเป็นคู่ ต้องรอดูว่า ศาลจะให้ประกันตัวหรือไม่

อีกคู่ที่มาแรงในรอบสัปดาห์ ชิงพื้นที่ความสนใจของผู้คนได้ไม่น้อย ‘คู่เต้นตู่’ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ จตุพร พรหมพันธุ์ หลังจากที่ฝ่ายแรกพ้นโทษกลับคืนสู่อิสรภาพ ก็จัดแถลงจุดยืน เคียงข้างม็อบเยาวชนทันที ด้านเดอะตู่ อดีตคู่หูแกนนำนปช. ก็จัดหนักไม่ให้น้อยหน้า ประกาศชุมนุม ‘ไล่นายกฯ’ งานนี้มืออาชีพสายม็อบคัมแบ็กคืนเวที จะยืนระยะยาวแค่ไหน ต้องรอดู

ยังมีข่าวพีคอื่น ๆ รออยู่อีกมากมาย ไปติดตาม พีค of the week ep.13 กันได้เลย Let’s go go go!

.

.

วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของชาวไทย โดยเป็นวันคล้ายวันประสูติของ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เจริญพระชันษาครบ 70 ปี

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494 ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นพระโสทรเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงเข้ารับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนจิตรลดา ก่อนจะเสด็จไปประทับ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อทรงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีจนสำเร็จ ณ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เมืองเคมบริดจ์ สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ และลาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ชีวเคมี (Bachelor of Science Degree in Bio-Chemistry) จากนั้น ทรงเข้ารับการศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ (Statistics and Public Health) จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อประชาชนมากมาย ที่ผ่านมา ทรงตั้งมูลนิธิ Miracle of Life เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาต่าง ๆ ทั้งด้านการศึกษา ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านการศาสนา

นอกจากนี้ยังทรงมีโครงการที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง นั่นคือ โครงการ TO BE NUMBER ONE ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาทั่วประเทศ มุ่งหมายให้เยาวชนใช้เวลาว่างมาร่วมกิจกรรม อันเปิดโอกาสให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก ในเรื่องราวอันเป็นประโยชน์ โดยปัจจุบัน โครงการ TO BE NUMBER ONE ยังคงดำเนินงานต่อไป และกลายเป็นแม่แบบในการรณรงค์แก้ปัญหายาเสพติด ให้กับหลายประเทศได้นำไปใช้

ด้วยพระกรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้น ในวาระที่เป็นวันคล้ายวันประสูติครบ 70 ปี ขอพระองค์ทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรงยิ่งยืนนาน ทรงพระเจริญ


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา_สิริวัฒนาพรรณวดี

วันนี้เมื่อ 33 ปีที่แล้ว คณะรัฐมนตรีมีมติระงับการสร้างเขื่อนน้ำโจน ซึ่งถือเป็นข้อพิพาทด้านสิ่งแวดล้อมที่มีประชาชนให้ความสนใจในอดีต รวมทั้งยังเป็นความพยายามของนักอนุรักษ์ฯ ในยุคแรก ๆ ที่สามารถส่งแรงกระเพื่อมเรื่องสิ่งแวดล้อมไปสู่สังคมได้

ย้อนเวลากลับไปราวปี พ.ศ. 2531 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีความพยายามในการผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า โดยมีเป้าหมาย คือการผลิตไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 3.6 ของประมาณการความต้องการพลังงานไฟฟ้าในปี พ.ศ. 2532 ทั้งนี้ เขื่อนดังกล่าวจะถูกสร้างปิดกั้นแม่น้ำแควใหญ่ บริเวณเขาน้ำโจน เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี

ต่อมาโครงการดังกล่าว ถูกฝ่ายนักอนุรักษ์ฯ อาทิ สืบ นาคะเสถียร, นพ.บุญส่ง เลขะกุล ทำการคัดค้าน เนื่องจากการสร้างเขื่อนนี้ จะส่งผลให้มีน้ำท่วมป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ประมาณ 150,000 ไร่ นั่นหมายถึง ระบบนิเวศ ตลอดจนชีวิตสัตว์ป่าที่ต้องสูญเสียไปมากมาย

กลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่นำโดย สืบ นาคะเสถียร จึงได้มีความพยายามรวบรวมข้อมูลทางวิชาการ จัดแสดงนิทรรศการ และอภิปรายให้ความรู้แก่ผู้คน ถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำโจน โดยมุ่งชี้ความสำคัญว่า พื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแห่งนี้ มีสัตว์ป่าหายาก และเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของเมืองไทย

ผลจากการรณรงค์ให้ผู้คนรู้จักกับป่าทุ่งใหญ่นเรศวรมากขึ้น ตลอดจนความพยายามนำเสนอข้อมูลทางวิชาการ จึงนำมาซึ่งมติคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งระงับโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจน เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2531

ในเวลาต่อมา ‘ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร’ ที่ได้ชื่อว่า เป็นผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ก็ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นพื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลกที่มีความสำคัญ และควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้สืบไป


ที่มา: https://www.sarakadee.com/2017/09/01/เขื่อนน้ำโจน

เราได้ยินชื่อ ‘โรงเรียนเสนาธิการทหารบก’ กันมายาวนาน แต่รู้หรือไม่ว่า วันนี้เมื่อ 112 ปีก่อน เป็นวันแรกที่มีการก่อตั้งสถานที่แห่งนี้ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ คือผู้ที่ทรงเล็งเห็นการพัฒนาทางการทหารของประเทศ

เมื่อครั้งที่ จอมพล สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเข้ารับตำแหน่งเสนาธิการทหารบก (ระหว่างปี พ.ศ. 2449 - 2452) ได้ทรงริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ทั้งนี้เพื่อให้การศึกษาแก่นายทหาร ที่จะทำหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการ โดยทรงเป็นผู้จัดการวางแนวทางหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนเสนาธิการ ตลอดจนการคัดเลือกนายทหารที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ให้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก

ในยุคแรกเริ่มนั้น นอกจากการวางรากฐานสำคัญให้กับโรงเรียนเสนาธิการทหารบก สมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ ยังทรงเรียบเรียงตำรา เรื่อง ‘พงศาวดารยุทธศิลปะ’ และเอกสารอื่น ๆ เพื่อใช้เป็นตำราศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกในช่วงเริ่มต้น ซึ่งตำราเหล่านี้ ถือเป็นแนวทางในการพัฒนาของโรงเรียนเสนาธิการทหารบกตราบถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เปิดให้การสอนด้านยุทธวิธีทางการทหาร ให้กับเหล่านายทหารระดับมันสมองของกองทัพ โดยยังมีการสอบคัดเลือกเพื่อเข้ามารับการศึกษา รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัย และเปิดรองรับหลักสูตรมากมาย ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานปรัชญาของโรงเรียนที่ว่า เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้หลักของกองทัพบก ที่เปี่ยมด้วยความรอบรู้ทางทหาร มีลักษณะผู้นำ มีจริยธรรม และมีวิสัยทัศน์


ที่มา:

http://www.cgsc.ac.th/,

https://th.wikipedia.org/wiki/โรงเรียนเสนาธิการทหารบก,

https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระเชษฐาธิราช_เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ_กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

States TOON ep.7

ฉีดวัคซีนครบ ปลอดภัย สบายใจ และ ไม่ต้องกักตัว

รวบรวม ‘คนฮอต’ สู้อุณหภูมิร้อนเดือนเมษายน

ร้อน! ร้อน! ร้อน! เข้าเมษายนกันแล้ว ความร้อนก็ยังระอุต่อไป หันมาดูผู้คน โอ้ว! เดือดไม่เป็นสองรองกัน ช่วงนี้มีใครฮอตพอ ๆ กับอุณหภูมิกันบ้าง ไปดู!

เริ่มต้นจาก ส.ส.เจี๊ยบ นครปฐม ‘อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล’ เมื่อมีนาคมเธอก็ว่าร้อนแล้ว เข้าสู่เมษายน เธอก็ยังร้อนต่อไป! หลังจากดุเดือดจากเรื่องแบนร้านสุกี้กันไปแล้ว ยังมีก็อกสองตามมา กับการถูกร้องเรียน เรื่องไปร่วมชุมนุมม็อบ REDEM เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ซึ่งจะเข้าข่ายผิดจริยธรรมความเป็นส.ส. หรือไม่ หากตรวจสอบพบว่ามีความผิดทางจริยธรรมจริง จะถูกส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อส่งต่อศาลฎีกา พิจารณาความผิดต่อไป ซี้ดดดดด!

มาถึงคู่แม่ยก & พ่อยกม็อบ เอ้ย! หน่วยสนับสนุนการชุมนุมของเยาวชน นั่นคือ พี่ทราย เจริญปุระ และ พี่บุ๊ง - ปกรณ์ พรชีวางกูร ล่าสุดเจอปมร้อน ๆ กำลังถูกยื่นให้ตรวจสอบภาษี สืบเนื่องจากที่ทั้งคู่ เปิดรับบริจาคเงิน ในการชุมนุมเมื่อเดือนกันยายน 2563 ซึ่งอาจเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย งานนี้จึงต้องตามดูผลว่า จะรอด หรือจะร่วง!

ด้านรุ่นพี่คนนี้ เขากลับมาแล้ว ณัฐวุฒิคัมแบ็ค! หลังจากครบกำหนดวันต้องโทษ ถอดกำไลอีเอ็มเรียบร้อย เต้น - ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็ออกแถลงข่าวทันที ไม่มีให้เรตติ้งตกแต่อย่างใด งานนี้เพิ่มดีกรีร้อน ๆ ด้วยการประกาศจะร่วมต่อสู้กับ ‘ม็อบน้อง ๆ’ ด้วยแน่นอน ส่วนจะสร้างตำนาน ‘เผาไปเลยครับพี่น้อง ผมรับผิดชอบเอง’ อีกหรือไม่ ต้องติดตาม!

อีกหนึ่งรุ่นพี่ที่มาตามนัดเช่นกัน ตู่ - จตุพร พรหมพันธุ์ หลังเต้นฟุตเวิร์ก วิพากษ์วิจารณ์การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่วงนอกมาพักใหญ่ ล่าสุดประกาศช่วยสุมไฟ เอ้ย! ประกาศชุมนุม ‘ไล่นายกฯ’ ในวันที่ 4 เดือน 4 นี้ เอาล่ะ! เมื่อตู่ออกมาไล่ตู่ งานนี้มีเดือด!

ปิดท้ายที่รุ่นน้องสายร้อนแรง ‘รังสิมันต์ โรม’ ได้ออกมาขอให้เชิญประธานศาลฎีกา มาชี้แจงเรื่องการไม่ให้ประกันตัวบรรดาแกนนำม็อบ งานนี้เป็นประเด็นร้อนทันที เพราะเชิญมาได้หรือไม่ และขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งเป็นการแทรกแซงการทำงานและการตัดสินของศาลหรือไม่ สังคมต่างจดจ้องการร้องขอนี้ของทั่น ส.ส.โรม กันแบบตาไม่กระพริบเลยทีเดียว

เริ่มต้นเมษายนร้อนได้ใจขนาดนี้ เห็นทีจะเดือดกันยาว ๆ ทั้งเดือนแน่นอน!

ทุกวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี ถูกยกให้เป็น ‘วันมหาเจษฎาบดินทร์’ หรือวันคล้ายวันพระราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐมหาเจษฎาบดินทรฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ แรม 10 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม หรือตรงกับวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุลาลัย

แต่เดิมพระองค์มีสกุลยศชั้นหม่อมเจ้า พระนามว่า หม่อมเจ้าชายทับ กระทั่งเมื่อสมเด็จพระราชชนกได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 2 ใน พ.ศ. 2352 พระองค์จึงได้เลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าชั้นเอก ออกพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับ จนปี พ.ศ. 2356 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

ต่อมา เมื่อพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญพัฒนาในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านความมั่นคง การศึกษา โดยในยุคสมัยของพระองค์ มีการพิมพ์หนังสือภาษาไทยเป็นครั้งแรก รวมทั้งมีหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของประเทศ โดยหมอบรัดเลย์ได้ออกหนังสือพิมพ์รายปักษ์ชื่อ บางกอกรีคอร์เดอร์ (Bangkok Recorder) นอกจากนี้ยังมีหนังสือบทกลอนที่ชื่อ นิราศลอนดอน ที่ถูกตีพิมพ์ขายเป็นครั้งแรกอีกด้วย

ในด้านกิจการค้า ที่ถือว่าเป็นยุคทองของประเทศ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนการค้าขาย ทั้งกับกับชาวเอเชียและชาวยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การค้ากับชาวจีน โดยมีการแต่งสำเภาทั้งของข้าราชการ เจ้านาย ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ และพ่อค้าชาวจีน ไปค้าขายยังเมืองจีนและประเทศใกล้เคียง รวมทั้งเปิดการค้ากับมหาอำนาจตะวันตก ส่งผลให้พระคลังสินค้าตลอดรัชสมัยของพระองค์ มีรายได้เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงทำเพื่อประเทศชาติ ในเวลาต่อมา คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ วันที่ 31 มีนาคมของทุกปี เป็น ‘วันระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า’ หรือ ‘วันเจษฎาบดินทร์’ ซึ่งถือเป็นวันสำคัญของชาติ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ ทั้งนี้ พระราชสมัญญาว่า ‘พระมหาเจษฎาราชเจ้า’ มีความหมายว่า ‘พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่’


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันนี้มีความสำคัญทางการแพทย์ และกับประชาชนทั่วไป เนื่องจากถูกยกให้เป็น ‘วันไบโพลาร์โลก’ โรคที่ผู้คนในยุคสมัยใหม่หลายราย กำลังประสบอยู่ ซึ่งนับวันจะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น วันนี้จึงมีความสำคัญ เพื่อให้ผู้คนได้ตื่นรู้กับอาการผิดปกติทางอารมณ์

‘ไบโพลาร์’ จัดว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง เรียกอีกอย่างว่า ‘โรคอารมณ์สองขั้ว’ เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีการแสดงออกของความผิดปกติทางอารมณ์ กล่าวคือ ประเดี๋ยวมีอารมณ์พลุ่งพล่าน ประเดี๋ยวมีอารมณ์ซึมเศร้า เรียกว่ามีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว

มีตัวเลขรายงานผู้ป่วยในประเทศไทย นับจากปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา พบว่า มีผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ มีจำนวนที่สูงขึ้นทุกปี โดยเมื่อปี พ.ศ. 2558 พบมากถึงกว่า 9,000 ราย ทั้งนี้พบในเพศหญิงและชายในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน

สาเหตุสำคัญของการเกิดอาการของโรค คือ มีสารเคมีในสมองที่ผิดปกติไป จนเกิดการควบคุมอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ และมีอาการแปรผันทางอารมณ์อย่างสุดขั้ว

อันตรายจากการเกิดโรคไบโพลาร์ อาจนำซึ่งภาวะการฆ่าตัวตายได้ ดังนั้น จึงควรดูแลผู้ที่กำลังป่วยด้วยอาการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด มากไปกว่านั้น คือการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะร้ายแรงนี้ โดยเฉพาะในยุคที่เต็มไปด้วยข่าวสาร การแข่งขัน ความรวดเร็ว ควรใช้ชีวิตให้ผ่อนคลาย เดินทางสายกลาง ไม่มากไป ไม่น้อยไป ควบคุมเวลานอนหลับให้เพียงพอ พยายามหาวิธีแก้ปัญหาให้กับตัวเอง ลดความเครียดที่มีอยู่

สำหรับวันนี้ที่เป็นวันไบโพลาร์โลก คงไม่มีใครอยากมีปัญหาทางสุขภาพจิต แต่ชีวิตของแต่ละคนก็พบเจอกับปัญหาไม่เหมือนกัน สิ่งที่ทำได้ คือความเชื่อมั่นในตนเอง และรู้จักปล่อยวางกับปัญหา คิดเสียว่า ไม่มีปัญหาใดที่จะอยู่กับเราไปตลอด เริ่มต้นฝึกวิธีคิดเสียตั้งแต่วันนี้ เมื่อจิตใจดี ชีวิตก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน

.

ที่มา: คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการและดูแลโรคอารมณ์สองขั้ว โรงพยาบาลศรีธัญญา, https://th.rajanukul.go.th/preview-3181.html


สนับสนุนข่าวโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

วันนี้เมื่อ 71 ปีก่อน เป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมัน เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

เมื่อทรงพระเยาว์ได้ตามเสด็จสมเด็จพระราชชนกและสมเด็จพระราชชนนีไปยังประเทศต่าง ๆ ทั้งประเทศฝรั่งเศส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งสมเด็จพระราชชนกทรงเข้าทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐฯ ในระหว่างปี พ.ศ. 2469 - 2471 แล้วจึงเสด็จกลับประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อพระชนมายุได้ 3 พรรษา ในระหว่างนั้นสมเด็จพระราชชนกทรงพระประชวรและสิ้นพระชนม์ พระองค์จึงอยู่ในความดูแลของสมเด็จพระราชชนนีเพียงพระองค์เดียว

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 ขณะที่มีพระชนมพรรษา 9 พรรษา และยังทรงประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จนิวัตพระนครครั้งแรกภายหลังทรงราชย์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 โดยระหว่างเวลานั้น ทรงตั้งพระทัยจะทรงศึกษาปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนเรียบร้อยแล้ว จึงจะเสด็จนิวัตพระนครเป็นการถาวร และจะทรงรับการบรมราชาภิเษกในภายหลัง แต่ก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน พระองค์ได้เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489

หลังจากเสด็จสวรรคต ได้อัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง และจัดให้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในระหว่างวันที่ 28 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2493 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล_พระอัฐมรามาธิบดินทร

วันนี้เป็นวันคล้ายวันประสูติของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ หรือที่คนไทยรู้จักกันในพระนาม ‘พระองค์จุล’ เจ้านายชั้นสูงที่ทรงมีเชื้อสายชาวต่างชาติ เป็นพระองค์แรกในพระบรมราชวงศ์จักรี

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 กับ หม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก ชายาชาวรัสเซีย

เมื่อยังทรงพระเยาว์ ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (ระดับประถม) จนพระชันษาครบ 13 ปี ได้เสด็จไปทรงศึกษาที่โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ จากนั้นทรงศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่วิทยาลัยตรินิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้านประวัติศาสตร์ และทรงได้รับปริญญาตรี เมื่อปี พ.ศ. 2473 และปริญญาโท ในปี พ.ศ. 2477

เมื่อสำเร็จการศึกษา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเข้ารับราชการเป็นนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ในกรุงลอนดอน ต่อมา ทรงค้นพบว่า มีความสนพระทัยในงานประพันธ์และประวัติศาสตร์ จึงทรงพระนิพนธ์หนังสือ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 13 เล่ม โดยเล่มที่ยังถูกกล่าวถึงมาจนปัจจุบัน ได้แก่ เกิดวังปารุสก์, เจ้าชีวิต, ดาราทอง และไทยชนะ

ตลอดพระชนม์ชีพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงประกอบกิจต่าง ๆ มากมาย โดยทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายพระองค์ ในงานพระราชพิธีต่าง ๆ อาทิ ทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอัลแบร์ที่ 1 พระเจ้าแผ่นดินเบลเยี่ยม ในปี พ.ศ. 2477 ทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ในงานพระบรมศพพระเจ้าจอร์จที่ 5 และงานพระบรมราชาภิเษก พระเจ้าจอร์จที่ 6 รวมถึงทรงเป็นผู้แทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในงานพระบรมราชาภิเษก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร

นอกจากนี้ ยังทรงมีกิจด้านการศุลมากมาย ตลอดจนบริจาคทรัพย์เพื่อการกุศล โดยเฉพาะในโรงพยาบาลต่าง ๆ เนื่องจากทรงเล็งเห็นในความสำคัญของงานสาธารณสุข กระทั่งช่วงท้ายพระชนมชีพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงประชวรเป็นเนื้องอกที่หลอดอาหารส่วนบน โดยพำนักรักษาพระองค์อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนที่ในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2506 จะทรงสิ้นพระชนม์อย่างสงบ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเป็นเจ้านายชั้นสูงที่ทรงประกอบกิจเพื่อแผ่นดิน ตลอดจนมีผลงานทรงพระนิพนธ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษามากมาย ควรค่าแก่การยกย่องเป็นอย่างสูง


ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระเจ้าวรวงศ์เธอ_พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top