Saturday, 19 April 2025
สุรวัช อริยฐากูร

‘แบงก์พาณิชย์’ เข้ม!! ปล่อยสินเชื่อ ‘กลุ่ม SME’ สัญญาณอันตราย!! ขวางเศรษฐกิจไทยเติบโต

ถึงแม้ว่าธนาคารพาณิชย์ประกาศผลประกอบการ ประจำปี 2566 ออกมา ว่ามีกำไรมากกว่า 2.26 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 2566 แต่หากพิจารณาจากงบการเงินจะพบอีกประเด็นที่ยังมีความ ‘น่ากังวล’ คือ การตั้งสำรองหนี้เสีย

ในการ ‘ตั้งสำรองหนี้เสีย’ สำหรับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 9 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อแผนธุรกิจ ทิศทางในปี 2567 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แผนธุรกิจของแต่ละธนาคาร เริ่มประกาศออกมา กำหนดเป้าหมายเติบโตของสินเชื่อ ที่ 3-5% กำหนดนโยบายให้สินเชื่ออย่างระมัดระวัง ควบคู่กับการรักษาระดับเงินทุน และคงอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ไม่ต่างจากปี 2566 อยู่ระหว่าง 3.5-3.9% 

แน่นอนว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการจ้างงาน มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ย่อมหนีไม่พ้นจากงบประมาณที่ใช้ในการลงทุน จากภาคเอกชน ที่เป็นกลไกหลักให้ GDP ขยายตัวสูงขึ้น

หากภาคเอกชน จะต้องขยายงาน ขยายการลงทุน แหล่งเงินทุนคงไม่พ้นการใช้บริการสินเชื่อกับธนาคาร แน่นอนว่า หลังผ่านพ้นวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (Covid-19) ธุรกิจขนาดใหญ่ ย่อมฟื้นตัวได้เร็วกว่า มีโอกาสที่จะเริ่มทยอยลงทุน ขยายธุรกิจ สอดคล้องกับ นโยบายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ที่กำหนดสัดส่วนการเติบโตสินเชื่อ ในกลุ่มระดับ Corporate มากกว่า กลุ่มธุรกิจ SME

แต่หัวใจหลักทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ละเลยไม่ได้ คือ กลุ่มธุรกิจ SME หรือ ‘Start Up’ เป็นกลุ่มคนตัวเล็ก ที่สร้างงานในท้องถิ่น การจ้างแรงงาน สร้างการอุปโภคบริโภค หาก SME กลุ่มนี้ ไม่สามารถฟื้นตัวได้ ย่อมกระทบต่อเนื่องกันเป็นวงกว้าง สิ่งที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือ ว่า จะเร่งการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ ย่อมเป็นไปไม่ได้  

และจากข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์ ยังพบว่า มีสัญญาณการปฏิเสธสินเชื่อบ้านทะลุ 70% ในกลุ่มราคา 1-3 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ในกลุ่มสินเชื่อบ้าน เป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งที่ต้องกังวล ที่จะกระทบภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก กระทบผู้รับเหมา การจ้างแรงงาน และที่สำคัญ เป็นสินเชื่อที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน แบงก์ยังคุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อ แล้วกลุ่มธุรกิจ SME ไม่มีหลักประกัน แต่จำเป็นที่ต้องมีทุนหมุนเวียนในกิจการ เพื่อเสริมสภาพคล่องนั้น ธุรกิจเหล่านี้จะเดินหน้าต่ออย่างไร

รวมถึงแบงก์เฉพาะกิจของรัฐ ที่เป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาล ในการส่งผ่านเม็ดเงินสู่ผู้ประกอบการรายย่อย แน่นอนว่าย่อมต้องเข้มงวดในการให้สินเชื่อเช่นเดียวกัน หากรัฐบาลไม่มีการ Subsidize ให้แบงก์รัฐ หรือขยายมาตรการ Soft loan กลุ่ม SME น่าจะมีการปิดตัวลงอีกเป็นจำนวนมาก  

แรงปะทะระหว่างแบงก์ชาติ กับรัฐบาล ในด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังอยู่ในระดับสูง ภาวะเงินเฟ้อที่ยังติดลบต่อเนื่อง ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง กลุ่มธุรกิจ SME ที่จะเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น ในภาวะที่ต้องเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ  

ต่อจากนี้ รอดูว่า รัฐบาลจะเข็นมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ที่ต้องมุ่งเน้นการเติบโตในระยะยาว เพราะหากเพียงแค่นโยบายที่กระตุ้นเพียงช่วงสั้นๆ ปัญหานี้ย่อมแก้ได้ไม่จบ

ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ สวยหรู!! แรงกระเพื่อมสั่น ‘รัฐบาล’ สะเทือน ‘ผู้ว่าธปท.’

ต้อนรับปีมังกร 9 ธนาคารพาณิชย์ประกาศผลประกอบการออกมา มีกำไรมากกว่า 2.26 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 2566 

9 ธนาคารพาณิชย์ มีผลประกอบการดีทุกธนาคาร ไล่จาก ‘SCB’ ทำกำไรได้สูงสุด รองลงมา เป็น ‘KBANK’ และอันดับที่ 3 ‘BBL’ และ มีถึง 3 ธนาคาร ที่สามารถทำกำไรได้สูงสุดในรอบ 10 ปี นำโดย BBL, KTB และ TTB ซึ่งหากดูกำไรสุทธิโดยรวมทั้ง 9 ธนาคาร สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 226,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.44% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 192,578 ล้านบาท 

รวมทั้งธนาคารขนาดกลาง ‘TISCO’ ปีนี้มีกำไรขึ้นมาอยู่ที่ 7,302 ล้านบาท เป็นผลงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน

กำไรกลุ่ม ‘ธนาคาร’ เลยกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอย่างมาก หลังมีการหยิบยกประเด็น ‘กำไร’ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือ ‘NIM’ ว่า สูงเกินไปหรือไม่? โดยที่ประชาชนเป็นเสมือนผู้รับ ‘ภาระดอกเบี้ย’ ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์บางธนาคารสามารถทำกำไรสุทธิได้เติบโตสูงสุดในปีนี้ 

หากมาดูถึงปัจจัยที่ทำให้หลายธนาคารมีกำไรสุทธิสูงสุด ส่วนหนึ่งย่อมมาจาก ‘รายได้ดอกเบี้ย’ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดอกเบี้ยนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในปัจจุบันที่ 2.50% ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลประกอบการปีนี้อย่างมาก

ในปี 2566 มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จำนวน 5 ครั้ง จากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทั้งหมด 6 ครั้ง เพิ่มจาก 1.25% ในปี 2565 มาอยู่ที่ 2.50% หรือปรับสูงขึ้นเท่าตัว

อีกด้านของงบการเงิน ในการ ‘ตั้งสำรองหนี้เสีย’ สำหรับธนาคารทั้ง 9 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยธนาคารที่มีการตั้งสำรองสูงที่สุด คือ KBANK ตั้งสำรองสูงถึง 5.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่ KTB ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นถึง 52% หรือ 3.7 หมื่นล้านบาทหากเทียบกับปีก่อนหน้า, BAY ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 33.64%, TTB เพิ่มขึ้น 21% ส่งผลให้สำรองโดยรวมทั้ง 9 แบงก์ เพิ่มมาอยู่ที่ 229,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.03% จากปีก่อน ที่สำรองอยู่ที่ 193,104 ล้านบาท 

ในส่วน ‘หนี้เสีย’ หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ ‘NPL’ พบว่า โดยรวมปรับลดลง มาอยู่ที่ 498,720 ล้านบาท ลดลง 0.13% จาก 499,358 ล้านบาท แต่บางธนาคาร หนี้เสียยังปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับคุณภาพหนี้ที่อาจตกชั้นในระยะข้างหน้า เช่น SCB หนี้เสียเพิ่มขึ้นที่ 1.58%, KBANK 1.84%, BAY เพิ่มขึ้น 14.2%, TISCO เพิ่มขึ้น 14.2%, LHFG เพิ่มขึ้น 20% และ CIMBT เพิ่มขึ้นเกือบ 6%

ประเด็นดังกล่าวเริ่มกลายเป็นแรงกระเพื่อมต่อรัฐบาล เพราะในมุมมองของประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ รู้สึกถึงความเดือดร้อนจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง โดยช่วงค่ำวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทวีตข้อความว่า…

“จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SMEs อีกด้วย

ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจจะต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชน ไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อนะครับ”

และวันที่ 8 มกราคม 2567 นายกฯ เศรษฐา ก็ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ออกมาติงเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจว่า “ความจริงแล้วเราพูดคุยกันตลอดอยู่แล้วในเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย ตนมีจุดยืนชัดเจนว่า ‘ผมไม่เห็นด้วย’ แต่ท่าน (แบงก์ชาติ) ก็มีอำนาจในการขึ้น”

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ปัจจุบันเงินเฟ้อต่ำมาก ดังนั้น อาจจะต้องฝากให้พิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ย และระบุว่าหลังจากนี้จะมีการพูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 มกราคม 2567 ถึงกรณีที่เอกชนเริ่มเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ที่ครบกำหนด ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างไรหรือไม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 10 มกราคม 2567 ได้มีการพูดคุยกับ รมช.คลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในเวลา 13.30 น. โดยมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญและนำข้อมูลมาหยิบยกกัน

และคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องว่า แรงกระเพื่อมนี้ จะส่งผลอย่างไรกับความสัมพันธ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย กับรัฐบาลที่นำโดย นายกฯ เศรษฐา ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทย ในภาวะที่โครงการ Digital Wallet ที่ก็ยังคงไม่สามารถหาจุดลงตัวในการดำเนินการได้

เรื่อง : The PALM

งบประมาณ 3.48 ลลบ. ใต้ ‘รัฐบาลเศรษฐา’ กับภารกิจกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปีมังกร 

ต้อนรับศักราชใหม่ ปี 2567 เริ่มต้นปี กับการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จะผลักดันในเศรษฐกิจไทยใน ‘ปีมังกร’ ที่น่าจะได้เห็นฝีมือทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่รับบทบาท เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อีก 1 ตำแหน่ง ว่าจะมีศักยภาพในการจัดการเศรษฐกิจของไทย หลังผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ ทั้ง วิกฤติ Covid-19 ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนมาถึงสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ทีมเศรษฐกิจชุดนี้ จะมีประสิทธิภาพมากน้อย เพียงใด

การลงมติร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ในวาระรับหลักการ มีผู้เห็นด้วย 311 เสียงไม่เห็นด้วย 177 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียงนั้น ก็เป็นไปตามคาดการณ์ ที่จะต้องรับร่างงบประมาณ เพื่อผลักดันการใช้จ่ายเงินตามโครงการต่าง ๆ ของแต่ละกระทรวงอย่างเร่งด่วน เนื่องจาก การทำงบประมาณปี 2567 ล่าช้าจากเหตุกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งหากไม่มีอะไรคลาดเคลื่อน กว่าจะได้เบิกจ่ายเงินงบประมาณ ก็คงเริ่มเบิกจ่ายได้ เมษายน - พฤษภาคม 2567 ถือว่าล่าช้าไปกว่าครึ่งปี

มาดูกันต่อกับวงเงินงบประมาณ ในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา เป็นอย่างไรบ้าง…

ปี 2567 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.480 ล้านล้านบาท : รัฐบาล เศรษฐา

ปี 2566 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.185 ล้านล้านบาท : รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ปี 2565 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.100 ล้านล้านบาท : รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ปี 2564 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.285 ล้านล้านบาท : รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ปี 2563 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.200 ล้านล้านบาท : รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

กลับกลายเป็นว่า วงเงินงบประมาณ 2567 ถือเป็นประวัติการณ์กับวงเงินที่สูงถึง 3.480 ล้านล้านบาท เป็นวงเงินงบประมาณที่มากที่สุดเท่าที่รัฐบาลที่ผ่านมาเคยได้จัดทำ และยังมีอัตราส่วนที่สูงขึ้นกว่าปีงบประมาณที่แล้ว กว่า 9.3% และถือว่าเป็นการเพิ่มวงเงินในสัดส่วนที่มากที่สุดในรอบ 5 ปี อีกด้วย 

อีกประเด็นที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมา ของ พล.อ.ประยุทธ์ เคยถูกพิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องว่า ได้ตั้งงบกลางสูงมากเกินไป เพราะงบกลาง จะไม่มีรายละเอียดในการใช้งบประมาณ มีเพียงหัวข้อ และวงเงินของแต่ละโครงการ แต่เมื่อดูงบกลางของรัฐบาล เศรษฐา จะพบว่า วงเงินงบกลางกลับเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2.8% โดยตั้งงบกลางไว้ที่ 6.06 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 16,295 ล้านบาท จากปีงบประมาณ 2566

ปี 2567 วงเงินงบกลาง 6.067 แสนล้านบาท 

ปี 2566 วงเงินงบกลาง 5.904 แสนล้านบาท งบค่าใช้จ่ายบรรเทา เยียวยาโควิด 3,000 ล้านบาท

ปี 2565 วงเงินงบกลาง 5.874 แสนล้านบาท งบค่าใช้จ่ายบรรเทา เยียวยาโควิด 16,362 ล้านบาท

ปี 2564 วงเงินงบกลาง 6.146 แสนล้านบาท งบค่าใช้จ่ายบรรเทา เยียวยาโควิด 40,326 ล้านบาท

ปี 2563 วงเงินงบกลาง 5.187 แสนล้านบาท 

และหากพิจารณาในหัวข้อรายการใช้จ่ายงบกลาง 5 ปี ย้อนหลัง (ปี 2563-2567) ก็พบว่า งบกลางที่มีการตั้งวงเงินที่สูงที่สุด ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีการตั้งงบกลาง ในปี 2564 อยู่ที่ 6.146 แสนล้านบาท แต่สาเหตุที่ตั้งงบกลางไว้สูง เนื่องจาก มีหัวข้อค่าใช้จ่ายในการบรรเทา เยียวยา ผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 40,326 ล้านบาท หากไม่นับหัวข้อนี้มารวมในงบกลาง วงเงินงบกลางจะอยู่ที่ 5.74 แสนล้านบาท ซึ่งงบกลาง ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ไม่มีหัวข้อค่าใช้จ่ายด้านนี้ 

คงเริ่มเห็นภาพบางอย่าง ในยุคที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ที่บริหารจัดการโดย ‘นักการเมือง’ และภาพที่คนบางกลุ่มชอบเรียกว่า ‘รัฐบาลประชาธิปไตย’ กับเม็ดเงินงบประมาณ ที่จะใช้ในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับรายได้ ของประชาชนคนไทย 

เศรษฐกิจไทย 66 เติบโตไม่เป็นไปตามคาดการณ์  สะท้อนจากผลงานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ย้อนกลับไปในปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี ซึ่งในช่วงต้นปี 2566 หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแล กำกับเศรษฐกิจ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันการเงินต่างๆ คาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0 ต่อปี ซึ่งแนวโน้มจากบทวิเคราะห์ต่างๆ ล้วนเป็นทิศทางเดียวกันว่า ปี 2566 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว

แต่ในปัจจุบัน ตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ออกมาอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี ไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี ภาพจริงเริ่มสะท้อนว่าเศรษฐกิจชักไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

เมื่อผ่านพ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 เศรษฐกิจไทย ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี รวม 9 เดือนแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 1.9 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้จากเมื่อต้นปีมากพอสมควร

กลับกลายเป็นว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของสถาบันการเงินหลายๆ แห่ง ปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจคงเหลือไม่เกินร้อยละ 3.0 ต่อปี กลายเป็นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 เผชิญความไม่แน่นอนสูง ถึงแม้ปัจจัยสำคัญที่ทุกคนมองกันในช่วงต้นปี 2566 คือ ผ่านพ้นช่วงวิกฤติ Covid-19 และมีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ เครื่องมือที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่หาเสียงไว้ น่าจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทย สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย

อาจมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจโลกเอง ที่ยังไม่ฟื้นตัว ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ลากยาว จนมาถึงสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ที่ทำให้เศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ มีแต่ 'ทรง' กับ 'ทรุด' และเมื่อเศรษฐกิจโลก ไม่สามารถที่จะฟื้นตัวได้ ก็ส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทย ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ ตัวเลข 'การส่งออก'

ไตรมาสที่ 1 ตัวเลขมูลค่าการส่งออกสินค้า -4.5, ไตรมาสที่ 2 หนักกว่าเดิม -5.6 และไตรมาสที่ 3 ตัวเลขที่ออกมา -2.0 ซึ่งข้อมูลจาก สภาพัฒน์ ระบุว่า ประมาณการภาพรวมตัวเลขมูลค่าส่งออกสินค้า ในปีนี้ -2.0 (ร้อยละต่อปี) ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย ประมาณการตัวเลขไว้ที่ -1.7 ซึ่งในไตรมาส ที่ 2 ธปท.เคยประมาณการเดิมไว้ ร้อยละ -0.1 ต่อปี ซึ่งเป็นการประมาณการตัวเลขติดลบมากกว่าเดิม

ในปี 2567 ทุกหน่วยงานได้คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีแนวโน้มอยู่ระหว่าง 4.4 - 4.6 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูง ส่วนหนึ่งอาจมาจากที่ในปีนี้ ตัวเลขการเติบโตไม่เป็นไปตามคาด แถมตัวเลขปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ติดลบไปมากพอสมควร ซึ่งความเห็นของผู้เขียน มองว่า 3 ปัจจัยหลัก ที่จะเกื้อหนุนให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นไปตามที่ประมาณการไว้ ได้แก่ การขยายตัวของการส่งออก, การลงทุนของภาคเอกชน และการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ 

แน่นอนว่ามาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ที่จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน ส่งเสริมการบริโภคอุปโภค และสานสัมพันธ์การค้ากับต่างประเทศ จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ปีหน้า คงจะเห็นภาพที่ชัดเจน ถึงฝีมือในด้านการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล และอาจเห็นภาพการปรับเปลี่ยนบางอย่างสำหรับทีมเศรษฐกิจ ก็เป็นได้

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ‘ภาคเหนือ-ใต้’ ลดลง สะท้อน ‘นโยบายประชานิยม’ ใช้ไม่ได้ผลเสมอไป

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พฤศจิกายน 2566 ในภาพรวมนั้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เท่ากับ 55.0 ปรับลดจาก 55.8 ในเดือนตุลาคม 2566

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายภาค เปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 พบว่า

- กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 55.9 มาอยู่ที่ระดับ 57.4

- ภาคกลาง ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 55.3 มาอยู่ที่ระดับ 55.7

- ภาคเหนือ ดัชนีปรับตัวลดลงจากระดับ 57.3 มาอยู่ที่ระดับ 53.4

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 56.3 มาอยู่ที่ระดับ 57.0

- ภาคใต้ ดัชนีปรับตัวลดลงจากระดับ 53.1 มาอยู่ที่ระดับ 51.8

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่สำคัญที่สุด คือ ‘เศรษฐกิจไทย’ คิดเป็นร้อยละ 44.12 รองลงมา คือ ‘มาตรการภาครัฐ’ คิดเป็นร้อยละ 14.93 ลำดับ 3 เป็น ‘ราคาสินค้าเกษตร’ คิดเป็นร้อยละ 11.48 

ถึงแม้ว่า หากเทียบกับดัชนีความเชื่อมั่น ในปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 43.0 และ ปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 46.2 จะพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ส่วนหนึ่ง เกิดจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) และ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และ เศรษฐกิจไทย เป็นอย่างมาก ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ต่ำกว่าระดับ 50.0 หมายถึง ผู้บริโภคมีความไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ (อยู่ในช่วงไม่เชื่อมั่น) 

ซึ่งในปี 2566 ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม อยู่เกินระดับ 50.0 ในทุกเดือน สะท้อนให้เห็นถึง สถานการณ์ปัจจุบัน หลังผ่านเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ปรับตัวดีขึ้นมาก รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น สิ่งหนึ่งที่ต้องชื่นชมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือ มาตรการของรัฐ ที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงภาวะวิกฤต ของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา 

แต่หากพิจารณาเฉพาะข้อมูลส่วนนี้ จะพบประเด็นที่น่าสนใจ ว่า พื้นที่ ภาคเหนือ และ ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลง โดยเฉพาะภาคเหนือ มีอัตราการลดลง มากที่สุด อยู่ที่ 3.9 และ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่น ของพื้นที่ภาคเหนือ ลำดับที่ 2 อยู่ที่ ‘มาตรการภาครัฐ’ สัญญาณเล็กๆ นี้ ที่รัฐบาลชุดปัจจุบัน อาจต้องให้ความสนใจพอสมควร เพราะสิ่งที่ต้องไม่ลืม ในทางการเมือง พื้นที่นี้ เดิม เป็นพื้นที่ฐานเสียงหลักของรัฐบาลปัจจุบัน และการเลือกตั้งที่ผ่านมา หลายพื้นที่ ได้เสียฐานคะแนนเสียงให้กับคู่แข่ง มากพอสมควร

ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ มีดัชนีความเชื่อมั่นลดต่ำลง และ ปัจจัยสำคัญ คือ มาตรการภาครัฐ ที่จะใช้เพื่อการประชานิยม เพิ่มคะแนนเสียง และมาตรการสำคัญที่กำลังถูกจับตา คือ นโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท หรือโครงการ Digital wallet ที่อาจจะยังมองไม่เห็นทางออกในการดำเนินการโครงการนี้ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไข ลดกลุ่มเป้าหมายที่จะแจกเงินดิจิทัล ลงอย่างต่อเนื่อง

สุดท้าย พื้นที่สำคัญนี้ ของรัฐบาล จะรักษาไว้ได้ หรือ เสียคะแนนเพิ่ม ดัชนี้ผู้บริโภค อาจเป็นคำตอบได้เป็นอย่างดี

นโยบายพัฒนาคุณภาพข้าว หรือแค่แจกเพื่อรักษาฐานเสียง

หลังมีข่าวจากการประชุมของ คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุม ซึ่งในที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ในโครงการชดเชยดอกเบี้ยผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 780 ล้านบาท เฉพาะผู้ประกอบการโรงสีชดเชยดอกเบี้ย 4% เป้าหมาย 4 ล้านตัน ระยะเวลาการรับซื้อ ตั้งแต่ ครม.อนุมัติ - 30 มีนาคม 2567 ส่วนภาคใต้ วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2567 กรอบระยะเวลาโครงการ ครม.อนุมัติ ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2568

นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้สอบถามถึงความคืบหน้าในการจ่าย 'เงินช่วยเหลือชาวนา' ตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 เกษตรกรเป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน ช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ โดยผู้แทน ธ.ก.ส. แจ้งว่า จะมีการโอนเงินตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. 2566 โดยจะจ่าย 5 วันต่อเนื่องพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันแรกจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกดปุ่มโอนจ่ายเงินคิกออฟที่ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับ โครงการ 'เงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท' ใช้วงเงินงบประมาณจ่ายขาดทั้งสิ้น 56,321.07 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณจ่ายขาดให้เกษตรกร โดยใช้แหล่งเงินทุน ธ.ก.ส. วงเงิน 54,336.14 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายดำเนินการ ธ.ก.ส. วงเงิน 1,984.93 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปในช่วง 8 ปีก่อนหน้านี้ (ปี 2557-2565) หรือในช่วงรัฐบาล คสช. และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ รวมถึงปีที่ 1 ของรัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ พบว่า ครม.อนุมัติมาตรการช่วยเหลือชาวนา โดยมีวิธีการ ‘แจกเงิน' 9 ปีการผลิต รวมงบประมาณที่ใช้มากถึง 485,497 ล้านบาท ได้แก่...

>> รัฐบาล คสช. (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ)

- ปีการผลิต 2557/58 ครม.อนุมัติโครงการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้ชาวนา 3.63 ล้านครัวเรือน งบจ่ายขาด 39,506 ล้านบาท

- ปีการผลิต 2559/60 ครม.อนุมัติโครงการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ช่วยเหลือชาวนา 3.7 ล้านราย งบจ่ายขาด 37,860.25 ล้านบาท

- และมาตรการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 ให้แก่ผู้ปลูกข้าวเปลือกหอมมะลิ และผู้ปลูกข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 1 งบจ่ายขาด 32,541.58 ล้านบาท

- ปีการผลิต 2560/61 ครม. อนุมัติโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 37,898.11 ล้านบาท

- ปีการผลิต 2561/62 ครม. อนุมัติโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี งบจ่ายขาด 62,791.35 ล้านบาท (อนุมัติ กรอบวงเงินงบประมาณ 2 ครั้ง)

>> รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

- ปีการผลิต 2562/63 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตฯ ไร่ละ 500 บาท งบจ่ายขาด 28,054.83 ล้านบาท และโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวฯ ไร่ละ 500 บาท งบจ่ายขาด 26,458.89 ล้านบาท หรือใช้งบจ่ายขาดรวม 54,553.72 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์รวม 4.57 ล้านครัวเรือน

- ปีการผลิต 2563/64 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 56,093.63 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.56 ล้านครัวเรือน

- ปีการผลิต 2564/65 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 55,567.36 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.69 ล้านครัวเรือน

- ปีการผลิต 2565/66 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 55,364.75 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.68 ล้านครัวเรือน

>> รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

- ปีการผลิต 2566/67 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 56,321.07 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.68 ล้านครัวเรือน

งบประมาณที่ใช้ไปมากกว่า 485,497 ล้านบาท ในรอบ 9 ปี ไม่ได้ทำให้คุณภาพข้าวของไทย มีคุณภาพมากขึ้น ไม่ได้สร้างให้เกิด Productivity ในการพัฒนาคุณภาพการผลิต จึงเป็นคำถามที่ว่า สิ่งที่ทุกรัฐบาลทำอยู่ เพียงเพื่อเป็นการรักษาฐานเสียง เพราะไม่ได้จูงใจให้เกษตรกรมีการพัฒนาคุณภาพข้าว ตามชื่อของโครงการ 'พัฒนาคุณภาพผลผลิต' ได้อย่างแท้จริง

เมื่อเทียบกับ ประเทศเวียดนาม ที่มีการยกระดับการปลูกข้าวให้มีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งในแง่ปริมาณผลผลิตต่อไร่ โดยการจัดสรรงบประมาณภาครัฐลงไปในส่วนการวิจัย การพัฒนาสายพันธุ์ ที่เห็นได้ชัดในปี 2565 การวิจัยพันธุ์ข้าวหอมพื้นนุ่มสายพันธุ์ ST25 ในพื้นที่เพาะปลูกบริเวณดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงของเวียดนาม ซึ่งเป็นข้าวสายพันธุ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในจีน และให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงถึง 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ (ข้าวเปลือก 1,600 กิโลกรัมต่อไร่) ซึ่งมากกว่าผลผลิตต่อไร่ของข้าวหอมมะลิของไทย 

นอกจากนี้ ยังมีการอนุมัติแผนงาน การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมข้าวของเวียดนาม ระหว่างปี พ.ศ. 2568 - 2573 วางนโยบายที่มุ่งเน้นการส่งออกข้าวที่มีมูลค่าสูงทดแทนการส่งออกที่เน้นปริมาณเป็นหลัก

ถึงเวลาหรือยัง ที่จะต้องกลับมาทบทวนนโยบายการ ‘แจกเงิน’ กับโครงการในลักษณะนี้ ว่าหากจะต้องแจกต่อควรมีเงื่อนไขอย่างไร ในการที่จะควบคุมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพข้าว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างแท้จริง

เรื่อง: The PALM

‘พักชำระหนี้เกษตรกร’ นโยบายฮิตใช้โกยคะแนน ชนวนเหตุทำลาย ‘วินัยทางการเงิน’ ของลูกหนี้

หลัง ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้เกษตรกรรายย่อย ตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 1 ย่อมมีเสียงทั้งการสนับสนุน และคัดค้าน ในนโยบายดังกล่าว ว่าจะเป็น ‘การช่วยเหลือ’ อย่างแท้จริง หรือเป็น ‘การซ้ำเติม’ เกษตรกรมากกว่าเดิมกันแน่

มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร ภายใต้หลักการ ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ กำหนดให้มีการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรระยะเวลา 3 ปี โดยมีรายละเอียดมาตรการ ดังนี้

1. มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล โดยเกษตรกรลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. จำนวน 2.698 ล้านคน ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 ก.ย.2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติและ/หรือเป็นหนี้ค้างชำระ (หนี้ 0-3 เดือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs) ได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ระยะแรกดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2567

เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ถึงวันที่ 31 ม.ค.2567 สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส.แล้ว

2. การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวภายใต้หลักการ ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระหนี้สินเกษตรกรอย่างบูรณาการ ธ.ก.ส. ร่วมกับส่วนงานราชการและหน่วยงานภายนอกดำเนินการอบรมเกษตรกรคู่ขนานไปกับมาตรการพักชำระหนี้ที่ได้เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรในการนำเงินไปลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพ โดยการอบรมอาชีพเกษตรกรจะช่วยฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต พร้อมทั้งเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมวินัยการเงินซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว

นอกจากนี้ เพื่อให้การกำหนดมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs เป็นไปอย่างบูรณาการและให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เป็นประธาน โดยคณะทำงานมีอำนาจและหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดมาตรการในการพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขสถานการณ์หนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ‘นโยบายพักชำระหนี้’ จะมีประกาศเป็นนโยบายจากพรรคการเมืองหลาย ๆ พรรค เพื่อที่จะหาเสียงจากกลุ่มเกษตรกร ลูกหนี้รายย่อย ซึ่งนักวิชาการหลาย ๆ ท่าน ก็ได้ให้ความเห็นคล้ายกันว่า นโยบายนี้ จะทำลายวินัยทางการเงินของลูกหนี้ ในวันข้างหน้า และมันก็ค่อย ๆ ปรากฏให้เห็นเป็นระยะ ๆ มาตลอด

การพักชำระหนี้ ถ้าในแง่เพื่อการส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจ การนำเงินที่จะต้องมาชำระหนี้ มาใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ ลงทุนในกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ ย่อมจะเป็นประโยชน์ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

โครงการพักชำระหนี้ ‘ไม่ได้ห้ามส่งหนี้’ !! หากลูกหนี้ ที่เข้าร่วมโครงการนี้ สามารถที่จะบริการจัดการการเงินอย่างมีวินัยได้ ย่อมจะส่งผลดี และเกิดประโยชน์กับตัวลูกหนี้ได้ ดอกเบี้ยไม่เดิน จัดสรรเงินที่ไม่ต้องส่งชำระหนี้ มาลงทุนให้เกิดรายได้ แล้วแบ่งชำระหนี้บางส่วน จัดสรรใช้จ่าย อย่างเข้มงวด 3 ปี ย่อมบรรเทาภาระ แต่...จากอดีตที่ผ่านมา หากไม่มีอคติ ย่อมมองเห็นได้ว่า ปัจจุบัน มันเริ่มกลายเป็นการเสพติดพักหนี้ ที่ลูกหนี้ เฝ้ารอคอย ในทุกการเลือกตั้ง

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคบริการ ในพื้นที่อีสานพุ่ง อานิสงส์จากรัฐ-เอกชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อเนื่อง

จากบทความก่อนหน้านี้ ที่กล่าวถึง ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง ได้ให้ความเห็นไว้ว่า "ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม 2566 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากเกิดจากปัจจัยสนับสนุนในภาคบริการเป็นสำคัญ” 

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคเกษตร อยู่ที่ระดับ 76.4 
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 75.9 
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 83.5 
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการจ้างงาน อยู่ที่ระดับ 74.5
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการลงทุน อยู่ที่ระดับ 74.8

แน่นอนว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในภาคบริการ เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในหลายจังหวัดของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ธุรกิจหลักที่จะได้รับอานิสงจากความเชื่อมั่นนี้ คงไม่พ้นกลุ่มธุรกิจโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ที่เริ่มฟื้นตัวหลังสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) ซึ่งจากข้อมูลกองสถิติเศรษฐกิจ (สศ.) มีจำนวนของสถานประกอบการที่พักแรม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 4,977 แห่ง น่าจะช่วยให้การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจของธุรกิจภาคบริการ ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

รวมถึงการได้รัฐบาลใหม่ มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง ของกระทรวงต่าง ๆ พร้อมประกาศนโยบายสำคัญ ‘พักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี’ ย่อมส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ การอุปโภค บริโภค การจับจ่ายใช้สอย ที่จะถูกกระตุ้นมากยิ่งขึ้น และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พื้นที่ที่ได้รับอานิสงจากโครงการนี้ค่อนข้างมาก ย่อมเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร เป็นจำนวนมาก
แต่ก็ยังมีความกังวล ต่อการเกิดหนี้สาธารณะ ที่อาจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีการอนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 เฉพาะในส่วนที่ ครม. ได้มีมติอนุมัติแล้ว ประกอบด้วย 

แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 194,434.53 ล้านบาท 
แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,621,135.22 ล้านบาท
แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 390,538.63 ล้านบาท

ซึ่งแน่นอนว่า การดำเนินโครงการ พักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี ย่อมจะต้องตั้งงบประมาณ เพื่อชดเชยดอกเบี้ยให้กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เจ้าภาพหลักของโครงการ

บทความหน้า กับมุมมองเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่ามีธุรกิจอะไรที่น่าสนใจ ประเด็นสำคัญจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ จะส่งผลอย่างไร กับ พื้นที่นี้ รอติดตามมุมมอง จาก ‘The PALM - คนตัวเล็ก’ กันนะครับ

จับจังหวะเศรษฐกิจ ‘อีสานใต้’ หลังดัชนีความเชื่อมั่น ศก.เพิ่มสูง

รากฐานทางเศรษฐกิจ ชาวอีสานใต้ ศักยภาพคนตัวเล็ก ที่ขับเคลื่อนภาคการเกษตร อุตสาหกรรม การบริการ ในพื้นที่นี้ เป็นอย่างไร มาร่วมเปิดมุมมองใหม่ ๆ ในหลาย ๆ ด้าน กันครับ

ก่อนอื่น คงต้องแนะนำตัวก่อน กับ บทความแรก ของคอลัมน์ ‘คนตัวเล็ก’ ที่เราจะนำพาท่าน ไปลองดูมุมมองต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรือ อีสานใต้ ว่าการใช้ชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณีของท้องถิ่น กับ กลไกทางเศรษฐกิจ ที่ขับเคลื่อนจังหวัดต่าง ๆ การสร้างงาน สร้างอาชีพ หลังสภาวะการระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) กลับมาพลิกฟื้นในด้านไหนบ้าง หรือยังมีกลุ่มธุรกิจอะไร ที่ยังคงได้รับผลกระทบอยู่ 

คงต้องเริ่มต้นกับภาพใหญ่ก่อน ในส่วนของ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ‘ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม 2566 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะภาคตะวันออก, ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากปัจจัยสนับสนุนในภาคบริการเป็นสำคัญ’

- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 80.2 
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 77.2 
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 77.0 
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตของภาคตะวันตก อยู่ที่ระดับ 73.0
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 72.3
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 70.4
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 69.1

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก
ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในภาคบริการ เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในหลายจังหวัดของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคเกษตรในอนาคตที่ดีขึ้น เนื่องจากคาดว่าราคาผลผลิตทางการเกษตรจะปรับตัวขึ้น ประกอบกับการมีปริมาณน้ำที่เพียงพอ 

ซึ่งแน่นอนว่า ทั้งด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก หลายพื้นที่ จึงมีความน่าสนใจจากกลุ่มผู้ประกอบการที่จะเริ่มการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ในอนาคตอันใกล้นี้

บทความต่อไป เราจะค่อย ๆ ย่อยลงมาในกลุ่มภาคธุรกิจต่าง ๆ ว่าภาคธุรกิจใด มีดัชนีความเชื่อมั่นในระดับใด ทิศทางการเติบโตมีความน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน รอติดตามกันนะครับ

เรื่อง: The PALM


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top