‘พักชำระหนี้เกษตรกร’ นโยบายฮิตใช้โกยคะแนน ชนวนเหตุทำลาย ‘วินัยทางการเงิน’ ของลูกหนี้

หลัง ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้เกษตรกรรายย่อย ตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 1 ย่อมมีเสียงทั้งการสนับสนุน และคัดค้าน ในนโยบายดังกล่าว ว่าจะเป็น ‘การช่วยเหลือ’ อย่างแท้จริง หรือเป็น ‘การซ้ำเติม’ เกษตรกรมากกว่าเดิมกันแน่

มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร ภายใต้หลักการ ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ กำหนดให้มีการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรระยะเวลา 3 ปี โดยมีรายละเอียดมาตรการ ดังนี้

1. มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล โดยเกษตรกรลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. จำนวน 2.698 ล้านคน ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 ก.ย.2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติและ/หรือเป็นหนี้ค้างชำระ (หนี้ 0-3 เดือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs) ได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ระยะแรกดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2567

เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ถึงวันที่ 31 ม.ค.2567 สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส.แล้ว

2. การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวภายใต้หลักการ ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระหนี้สินเกษตรกรอย่างบูรณาการ ธ.ก.ส. ร่วมกับส่วนงานราชการและหน่วยงานภายนอกดำเนินการอบรมเกษตรกรคู่ขนานไปกับมาตรการพักชำระหนี้ที่ได้เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรในการนำเงินไปลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพ โดยการอบรมอาชีพเกษตรกรจะช่วยฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต พร้อมทั้งเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมวินัยการเงินซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว

นอกจากนี้ เพื่อให้การกำหนดมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs เป็นไปอย่างบูรณาการและให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เป็นประธาน โดยคณะทำงานมีอำนาจและหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดมาตรการในการพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขสถานการณ์หนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ‘นโยบายพักชำระหนี้’ จะมีประกาศเป็นนโยบายจากพรรคการเมืองหลาย ๆ พรรค เพื่อที่จะหาเสียงจากกลุ่มเกษตรกร ลูกหนี้รายย่อย ซึ่งนักวิชาการหลาย ๆ ท่าน ก็ได้ให้ความเห็นคล้ายกันว่า นโยบายนี้ จะทำลายวินัยทางการเงินของลูกหนี้ ในวันข้างหน้า และมันก็ค่อย ๆ ปรากฏให้เห็นเป็นระยะ ๆ มาตลอด

การพักชำระหนี้ ถ้าในแง่เพื่อการส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจ การนำเงินที่จะต้องมาชำระหนี้ มาใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ ลงทุนในกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ ย่อมจะเป็นประโยชน์ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

โครงการพักชำระหนี้ ‘ไม่ได้ห้ามส่งหนี้’ !! หากลูกหนี้ ที่เข้าร่วมโครงการนี้ สามารถที่จะบริการจัดการการเงินอย่างมีวินัยได้ ย่อมจะส่งผลดี และเกิดประโยชน์กับตัวลูกหนี้ได้ ดอกเบี้ยไม่เดิน จัดสรรเงินที่ไม่ต้องส่งชำระหนี้ มาลงทุนให้เกิดรายได้ แล้วแบ่งชำระหนี้บางส่วน จัดสรรใช้จ่าย อย่างเข้มงวด 3 ปี ย่อมบรรเทาภาระ แต่...จากอดีตที่ผ่านมา หากไม่มีอคติ ย่อมมองเห็นได้ว่า ปัจจุบัน มันเริ่มกลายเป็นการเสพติดพักหนี้ ที่ลูกหนี้ เฝ้ารอคอย ในทุกการเลือกตั้ง


ที่มา: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/72637

เรื่อง: The PALM