Sunday, 20 April 2025
สุรวัช อริยฐากูร

กลไกภาษีนำเข้า ของ 2 ชาติมหาอำนาจ ไทยจะไปในทิศทางไหน ในโค้งสุดท้าย

(19 เม.ย. 68) เศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว กำลังเผชิญกับความท้าทาย และอุปสรรคใหญ่ ที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ และปีถัดๆ ไป จากการขึ้นภาษี 36% จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแรงกระทบสำคัญ ที่กระทบทั้งภาคส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวม ข้อมูลจากภาคเอกชนชี้ว่าไทยอาจสูญเสียมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ถึง 7-8 แสนล้านบาท ซึ่งอาจทำให้ GDP ไทยลดลงต่ำกว่า 2%

มาตรการกดดันในสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรง ของ 2 ชาติมหาอำนาจ สหรัฐอเมริกา และ จีน กำลังจะผลักให้ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องเลือกข้าง ในการดำเนินกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศ 

ปัจจุบันไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท แต่ไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มียอดเกินดุลการค้า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ประชุมระหว่างหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ทั้งกระทรวงการคลัง ธปท., บีโอไอ สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา เห็นชอบร่วมกันหาแนวทางนำเข้าสินค้าที่จำเป็น เพื่อลดยอดเกินดุลการค้าให้เหมาะสม ผ่านหลายมาตรการ เช่น การนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐเพิ่มเติมบางส่วน แทนนำเข้าจากประเทศอื่น

ทีมเศรษฐกิจ ของรัฐบาล จำเป็นต้องหามาตรการอื่นๆ มาเพิ่มเติมแบบเร่งด่วน เพราะ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่คาดหวังจะให้เกิดพายุทางเศรษฐกิจ กลายเป็นลมแผ่วๆ ที่กระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจแทบจะไม่ได้เลยในช่วงปีที่ผ่านมา มาเจออีกอุปสรรคใหญ่กับนโยบายภาษีนำเข้าของ ‘ทรัมป์’ … รัฐบาลไทย จะไปยังไงต่อ ?

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และ ประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อ ชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 อัตราเงินเพื่อทั่วไปที่เผยแพร่โดยกระทรวงพาณิชย์ของเดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ถึงเดือนมกราคม 2568) อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ซึ่งต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปัจจุบัน ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีข้อตกลงร่วมกัน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง

สถานการณ์ตลาดหุ้นไทย (SET) คงบอกได้ว่า ยังกู่ไม่กลับ หลังหลุด 1,200 จุด ไปต่ำกว่า 1,100 จุด ในวันที่ 8 เมษายน 2568 ที่ 1,074.59 จุด ก่อนที่จะกลับมาป้วนเปี้ยนแถว 1,130-1,150 จุด โดยหุ้นใน SET100 แดงเกือบยกแผง นักลงทุนไม่เชื่อมั่นต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มี กังวลการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ที่จะกระทบต่อการส่งออกสินค้าอีก

ข่าวการปรับ ครม.ของ ‘รัฐบาล’ โดยเฉพาะ ทีมเศรษฐกิจ เริ่มหนาหูขึ้น นอกจากจะเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจ เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ยังดำเนินการไม่ครบทุกเฟส รวมถึงร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่ยังไม่สามารถเดินหน้าต่อได้จากแรงต้านทั้งในและนอกสภา ยังมีกระแสความเห็นต่างภายในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะท่าทีของพรรคภูมิใจไทยต่อกฎหมายคาสิโน 

จะปรับ จะเปลี่ยน ก็รีบทำ เพราะหลายๆ อย่าง เห็นได้ชัดเจนว่า ยังทำได้ไม่ดีพอ..!!

สกัด!! ‘คอลเซ็นเตอร์’ มาช้า ยังดีกว่า ไม่มา แต่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องรีบมา เดี๋ยวนี้

(16 ก.พ.68) ตัดไฟ 5 จุด ชายแดนเมียนมา สกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์-อาชญากรรมข้ามชาติ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สำนักงานใหญ่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กดปุ่มตัดไฟฟ้า 5 จุด ที่พบข้อมูลว่ามีการนำไฟฟ้าไปใช้ไม่เป็นไปตามสัญญา ส่งผลกระทบต่อความเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ 

ปัญหาเรื้อรัง ที่กลุ่มมิจฉาชีพ ที่เราเรียกว่า ‘กลุ่มจีนเทา’ ไปตั้งสำนักงาน หลอกคนไทยไปทำงานเป็นคอลเซ็นเตอร์ และโทรกลับมาหลอกลวงคนในบ้านตนเอง 

ใน ปี 2566 คาดการณ์ว่าสร้างความเสียหายมากกว่า 1.2 แสนล้านบาท ในปี 2567 คาดการณ์ว่า คนไทยสูญเงินให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ มากกว่า 80 ล้านบาท ต่อวัน !! 

วันที่ 7 ม.ค. 68 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภค ปี 2567 ได้รับเรื่องร้องเรียนและให้คำปรึกษา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2567 จำนวน 1,361 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท สถิติการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหาย อันดับ 1 คือ ภัยทางการเงินและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (เสียหายกว่า 70 ล้านบาท) 

ผู้เสียหายอีกเป็นจำนวนมาก ที่ไม่ได้ร้องเรียนไปยังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีการแจ้งความ ลงบันทึกประจำวัน และคงมีอีกหลาย ๆ คน ที่ไม่ไปแจ้งความ ด้วยอาจเพราะอับอาย ถ้ามีคนอื่นรับรู้ว่าตนถูกหลอกลวง

เศรษฐกิจไทย เสียหายไปเท่าไหร่ กับภัยจากมิจฉาชีพ ทั้งความเสียหายโดยตรงของผู้ถูกหลอกลวง และความเสียหายทางอ้อม ต่อธุรกิจต่างๆ ที่ติดต่อประสานงาน สมัครงานผ่านทาง Social 

ราคาทองคำพุ่งทะยานขึ้น 5.3% หลัง 'โดนัลด์ ทรัมป์' รับตำแหน่งปธน.สหรัฐฯ สมัยที่ 2 และธนาคารกลางทั่วโลกเร่งสะสมทองคำ จีนซื้อเพิ่ม 10.26 ตัน เพื่อกระจายความเสี่ยงจากดอลลาร์ 

นโยบายรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ภายใต้การบริหารของ 'โดนัลด์ ทรัมป์' สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก และทุกอุตสาหกรรม ล่าสุด อุตสาหกรรมเหล็ก กำลังจะโดนกำแพงภาษี รอบ 2 จะขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมทั้งหมด 25% ซึ่ง นายบัณฑูรย์ จุ้ยเจริญ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเหล็กจีนได้รับผลกระทบตั้งแต่นโยบายทรัมป์ 1.0 ซึ่งทำให้สินค้าจีนที่ผลิตปริมาณมากและราคาถูกเข้ามาแย่งตลาดในไทยและอาเซียนมากขึ้น โดยจีนผลิตเหล็กสัดส่วนสูงกว่า 50% ของการผลิตเหล็กของทั้งโลกรวมกัน

หากจีนส่งออกเหล็กไปยังสหรัฐไม่ได้ ย่อมต้องเบนเป้าหมายการขยายตลาดไปยังภูมิภาคอื่นๆ อุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทย อาจโดนดัพท์ราคาอีกรอบ จะมีโรงงานเหล็ก ต้องปิดตัวลงอีกกี่แห่ง!! บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น Nissan หลังดีลควบรวมกับ Honda ยุติไปแล้ว ปรับแผนควบรวมไลน์การผลิต เพื่อลดต้นทุน โรงงานในไทย จะควบรวมการผลิตโรงงาน 2 แห่ง โรงงานแห่งที่ 1 จะมีการปรับเปลี่ยนไปเป็นโรงงานขึ้นรูปและประกอบตัวถังและโลจิสติกส์ และนำเอาไลน์ผลิตรถยนต์ไปรวมกับโรงงานแห่งที่ 2 

ธุรกิจของอดีตยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมหลักของโลก ดิ้นปรับตัว ลดการจ้างแรงงาน ลดต้นทุนการผลิต หนีตายกันอย่างเร่งด่วน แล้วธุรกิจน้องเล็กในไทย เหล่าผู้ประกอบการ SME ที่มีกำลังน้อย จะล้มหายไปอีกกี่แห่ง รัฐบาลไทย รีบคลอดนโยบายทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมสักทีเถอะ ก่อนปัญหาจะลุกลามมากไปกว่านี้

Vat 15% เศรษฐกิจถึงทางตัน หรือรัฐบาลถังแตก กระแสต่อต้านรุนแรง นายกฯ แจง!! แค่กำลังศึกษา

(7 ธ.ค. 67) เป็นเรื่อง !!! หลัง รมว.คลัง ขึ้นเวทีกล่าวถึงแผนงานเตรียมปรับโครงสร้างภาษี ขึ้นภาษี VAT 15% ลดอัตราภาษีนิติบุคคลเหลือ15% จาก 20% เพื่อดึงดูดนักลงทุน และแข่งขันกับชาวโลกได้ เพิ่มจัดเก็บรายได้เข้ารัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Sustainability Forum 2025 : Synergizing for Driving Business ว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เร่งพิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสนับสนุนเรื่องการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล

เรียกเสียงฮือฮาจากผู้คนในแวดวงเศรษฐกิจ และกระแสโจมตีจากประชาชนกับนโยบายดังกล่าว เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังคงซบเซา รอคอยพายุหมุนทางเศรษฐกิจทั้ง 4 ลูก มากระตุ้นเศรษฐกิจ ถึงแม้เงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต (โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท) จะคลอดออกมาแล้วก็ตาม

คล้อยหลังไม่กี่วัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์กล่าวชี้แจงแนวความคิดการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของรัฐบาล ยืนยันไม่ปรับ VAT 15% กระทรวงการคลังกำลังศึกษาปรับโครงสร้างภาษีให้ครบทุกมิติ ฟังทุกภาคส่วน นโยบายของรัฐบาลมุ่งเน้นลดรายจ่ายประชาชน

สำทับด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาชี้แจงแนวคิดขึ้น ภาษี VAT จาก 7% เป็น 15% ยังไม่มีข้อสรุป กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ยืนยันไม่ได้มาจากปัญหารัฐบาลถังแตก และไม่เกี่ยวกับการแจกเงินหมื่น เป็นแผนปรับภาษีเพื่อความยุติธรรม

เหมือนปล่อยลอยคอ รมว.คลัง ให้โดดเดี่ยวเดียวดายกลางทะเล...

หากมองย้อนกลับไปในอดีต สมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เคยประกาศนโยบายเตรียมขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม คล้าย ๆ กับการโยนหินถามทาง หยั่งกระแสจากประชาชน เมื่อส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ก็ยกเลิกนโยบายดังกล่าว

รวมทั้งสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีความคิดขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 1 % จาก 7% เป็น 8% กลับโดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะจากกลุ่มคนของรัฐบาลในปัจจุบัน ที่ก่นด่า และโจมตีมากที่สุด

แต่คราวนี้ เมื่อได้เป็นรัฐบาลเอง กลับมีแนวคิดจะปรับขึ้น 8% จาก 7% เป็น 15% มากกว่าเท่าตัวจากอัตราเดิม

บางทีคงต้องบอกว่า หากนโยบายยังไม่สะเด็ดน้ำ แนวทางยังไม่ชัดเจน การโยนหินถามทางแบบนี้ แทบจะสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ในการทำงานของรัฐบาล รวมทั้งการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่น่าจะถึงทางตัน คำปราศรัยที่เคยหาเสียงช่วงก่อนเลือกตั้ง การกล่าวโจมตีรัฐบาลชุดที่ผ่านมา กลายเป็นดาบที่ย้อนกลับมาทิ่มแทงตัวเอง

ประชาชนคงต้องแบกภาระหนักกันต่อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้เสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ที่ต้องร่วมแบกหนี้ทางภาษีจากนโยบายประชานิยมของนักการเมือง ลากยาวไปอีกหลาย 10 ปี หนักหนาเอาการอยู่นะ รัฐบาลประชาธิปไตย

เศรษฐกิจไทย ช่วงปลายปี เลิกจ้างงาน เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ลุ้น!! ให้มีงานทำในปีหน้า ดีกว่า ลุ้น!! โบนัสที่จะได้

(24 พ.ย. 67) โค้งสุดท้าย ปลายปี 2567 กับภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทย ที่ยังเข็นไม่ขึ้น ยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา ถึงแม้จะคลอดโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ (ปี 2567) 10,000 บาท ออกมาได้ก็ตาม

เม็ดเงินที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจตามโครงการนี้ เบิกจ่ายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 140,500 ล้านบาท แต่ผลสำรวจร้านค้าปลีก ยอดขายปรับเพิ่มขึ้นไม่เกิน 5% !!!! 

พร้อมข่าวการปิดกิจการ เลิกจ้างแรงงานในไทย ที่ยังมีมาต่อเนื่อง วันที่ 22 พ.ย. สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า นิสสัน (Nissan) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่น จะตัดลดพนักงานในโรงงานผลิตในไทยลงราว 1,000 คน หรือทำการโอนย้ายไปอีกแห่งในไทย เนื่องจากจะลดกำลังการผลิตลงในประเทศไทย 

บริษัท ฟูไน (ไทยแลนด์) จำกัด จ.นครราชสีมา สำนักงานใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นล้มละลาย ทำให้ บริษัท ฟูไน (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตเครื่องรับวิทยุ เครื่องบันทึกและทำสำเนาเสียงและภาพ ต้องปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด โดยบริษัทมีลูกจ้างทั้งสิ้น 862 คน แบ่งเป็นเพศชาย 310 คน และหญิง 552 คน

ข้อมูลจาก ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ค่าเฉลี่ยยอดปิดโรงงานปี 66 เทียบกับครึ่งปีแรกของปี 67 พบอัตราเร่งการปิดกิจการสูงกว่า 86% คาดปีนี้ เอสเอ็มอีทยอยปิดเหมือน 'ใบไม้ร่วง' ส่วนโรงงานไหนที่ยังพยุงไปต้องลดจำนวนทำงานเหลือ 3 วันต่อสัปดาห์ ไม่มีแม้แต่ OT

นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นเวที Forbes CEO เมื่อวันที่ 21 พ.ย. เพื่อโชว์วิสัยทัศน์ เชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศ มาลงทุนในประเทศไทย สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน ลองไปหาฟังกันดู

งาน Thailand International Motor Expo 2024 ครั้งที่ 41 (มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 41) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 29 พ.ย. 67 – 10 ธ.ค. 67 ณ อิมแพค ชาเลนเจอร์ 1 - 3 เมืองทองธานี วัดภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงท้าย กำลังซื้อจะเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ท่ามกลางสงครามรถ EV ที่หั่นราคา อัดโปรโมชั่น กระตุ้นยอดจอง รถสันดาป จะยอมแพ้หรือไม่ ค่ายแบรนด์จีน ญี่ปุ่น เกาหลี วัดอนาคตกันในศึกนี้ ท่ามกลางราคารถยนต์มือสองที่ตกลงอย่างน่าใจหาย ยอดปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) สินเชื่อรถยนต์ เพิ่มขึ้นตามภาระหนี้ครัวเรือนของคนไทย ที่ยังอยู่ในระดับสูง

หนี้ครัวเรือนไทยยังสูง 16.32 ล้านล้านบาท การฟื้นตัวเศรษฐกิจแทบไม่ขยับ ข้อมูลจากเครดิตบูโร ภาวะหนี้เสียเพิ่มขึ้นตามคาดการณ์ แตะ 1.2 ล้านล้านบาท สัดส่วนวิ่งจาก 7.7% สู่ 8.8% ด้านสินเชื่อแบงก์หดตัว 2 ไตรมาสติด เหตุเข้มปล่อยกู้ กังวลระดับหนี้เพิ่ม แถมคุณภาพสินเชื่อเสื่อมด้อยลง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แล้ว และเตรียมมาตรการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ที่ร่วมมือกับกระทรวงการคลัง และสมาคมธนาคารไทย เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นเชิงรุกมากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะมีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากขึ้น

เดือนสุดท้าย ปี 2567 คนไทยเรา ก็คงต้องร่วมเทศกาลฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2568 พร้อมกับลุ้นให้คอยฟังข่าว ว่าจะมีโรงงาน บริษัทฯ ไหนบ้างที่จะปิดกิจการ หลังปีใหม่ ยังจะมีงานทำต่อไหม ส่วนเรื่องโบนัส คงไม่น่าลุ้นแล้วล่ะ ให้มีงานทำต่อ ก็พอแล้ว

‘ภาวะเศรษฐกิจไทย’ เร่งไม่ขึ้น รอลุ้นโค้งสุดท้ายปลายปี หลังพายุหมุนทางเศรษฐกิจยังไม่ก่อตัว แม้อัดฉีดแล้ว 1.4 แสนล้าน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (RSI) เดือนตุลาคม ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน และอยู่สูงกว่าระดับ 50 ทั้งความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิม (SSSG) การใช้จ่ายต่อใบเสร็จ (Spending per bill) และความถี่ของผู้ใช้บริการ (Frequency) รวมทั้งความเชื่อมั่นฯ ปรับดีขึ้นในทุกประเภทร้านค้าและทุกภูมิภาค โดยส่วนหนึ่งจากผลงานของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ (ปี 2567) 10,000 บาท สำหรับความเชื่อมั่นฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเป็นสำคัญ 

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้สำรวจ โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจผลของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ (ปี 2567) 10,000 บาท ราว 60% ของธุรกิจค้าปลีก ประเมินว่า โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ นี้ ส่งผลให้ยอดขายปรับเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นไม่เกิน 5% เมื่อเทียบกับช่วงปกติที่ไม่มีมาตรการ และมีถึง 41% ที่ตอบแบบสำรวจว่า ยอดขายใกล้เคียงเดิม

ยอดสะสมของการโอนเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่วันที่ 25-30 กันยายน 2567 สั่งจ่ายเงิน 14.44 ล้านคน โอนสำเร็จแล้วรวมทั้งสิ้น 14.05 ล้านคน และการโอนเงินไม่สำเร็จจำนวน 381,287 คน โดยจะมีรอบการโอนเงินซ้ำให้กลุ่มที่โอนไม่สำเร็จ 22 ตุลาคม , 22 พฤศจิกายน และ 22 ธันวาคม 2567

หากเทียบเม็ดเงินที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจตามโครงการนี้ เบิกจ่ายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 140,500 ล้านบาท แต่ผลสำรวจร้านค้าปลีก ยอดขายปรับเพิ่มขึ้นไม่เกิน 5% !!!!

พายุหมุนทางเศรษฐกิจ จะเริ่มเมื่อไหร่? คงรอกิจกรรมส่งเสริมการขายช่วงท้ายปี จากผู้ค้าปลีก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ก็ยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง การจำหน่ายวัสดุก่อสร้างก็ลดลงเป็นเงาตามตัว ซึ่งส่วนสำคัญคือ สินเชื่อบ้านในทุกระดับราคา ยังคงถูกสถาบันการเงินปฏิเสธการให้สินเชื่อ 

ภาวะเศรษฐกิจไทย คงยังเร่งไม่ขึ้น ได้กระแสข่าวทางหน้าสื่อส่วนใหญ่ ไปกับข่าวทนายตั้ม กลบประเด็นทางเศรษฐกิจไปหมด ทั้งข่าวโรงงานผลิตรถยนต์ทยอยลดเวลางาน เพื่อลดต้นทุนค่าจ้าง ลามไปถึงโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังเป็นกระแส ผู้คนสนใจรถประหยัดพลังงาน ยังเร่งยอดขายไม่ขึ้น เลิกจ้างพนักงานไปอีก 600 คน ที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา 

มารอดูกันว่า ปลายปีนี้ รัฐบาลจะงัดใช้มาตรการอะไร มาส่งท้ายในการใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่คงไม่กระเตื้องมากขึ้นนัก กับเวลาที่เหลือไม่ถึง 2 เดือน ลุ้นกันดีกว่า ว่า ภาคเอกชน จะมีโปรโมชั่นอะไรมาจูงใจให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งท้าย...ปี มังกรทอง

Reference : ธนาคารแห่งประเทศไทย :
https://www.facebook.com/share/p/1DGYmhUHxK/

จับภาวะเศรษฐกิจไทย ในจังหวะ 'ต้นทุนแพง แข่งขันลำบาก' โจทย์ใหญ่สุดหินของรัฐบาล ส่วนฝ่ายค้านก็ค้านแต่เรื่องผิดๆ ถูกๆ

ข่าวปิดกิจการ ของห้างสรรพสินค้า ‘ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี’ พร้อมการยุติการจ่ายกระแสไฟฟ้า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 กระทบต่อผู้ประกอบการร้านค้า ที่เช่าพื้นที่ขาย บนอาคาร 12 ชั้น ทั้งหมด ร้านอาหารที่ใช้ตู้แช่เย็น เพื่อเก็บวัตถุดิบ หากไม่สามารถขาย หรือขนย้ายได้ทัน ก็คงเสียหายไปอีกไม่น้อย

ธุรกิจเอสเอ็มอีไทย 8 เดือนแรกปีนี้ 'ปิดกิจการ' 10,000 ราย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า ข้อมูลการปิดกิจการของธุรกิจ SMEs ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 มีอยู่ประมาณ 10,000 ราย (อ้างอิงข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) โดยภาคอีสานและภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่มีความเปราะบางสูงสุด สะท้อนจากสัดส่วนธุรกิจที่ปิดกิจการเทียบกับธุรกิจที่มีอยู่

ไม่ใช่แค่ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจที่กระทบต่อเอสเอ็มอีไทย แต่พบว่ายังมีความท้าทายจากปัจจัยภายในที่เผชิญ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจที่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็เผชิญร่วมกัน โดย 95% ของกลุ่มตัวอย่างพบว่า 3 เรื่องที่มีความกังวลและกดดันศักยภาพในการทำธุรกิจมากที่สุดคือ 

1.ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการดำเนินงาน ต้นทุนวัตถุดิบที่สูง 

2.พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป 

3.กลยุทธ์การผลิตและการตลาดที่ล้าสมัย ทำให้เอสเอ็มอีไทยอาจมีแนวโน้มฟื้นช้ากว่าคาด

ทั้งนี้มองในระยะข้างหน้าปัญหาเหล่านี้อาจจะมีความรุนแรง แก้ไขและควบคุมได้ยาก พบ 4 ประเด็นจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามาซ้ำเติมปัญหาเหล่านี้คือ 

1.ต้นทุนพลังงานที่น่าจะผันผวน 

2.ต้นทุนค่าแรงที่กำลังจะปรับสูงขึ้น 

3.สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ 

และ 4.ปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขยายเข้าไปในท้องถิ่นต่าง ๆ ทำให้เอสเอ็มอีแข่งขันได้ยากขึ้น รวมถึงยังเน้นแข่งขันด้านราคา ที่ทำให้สภาพคล่องของธุรกิจด้อยลงอย่างต่อเนื่อง

ต้นทุนเป็นปัญหาหลัก ที่ส่งผลให้ SMEs ปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาล เตรียมประกาศปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ !! ซึ่งก็ต้องรอดูว่า มาตรการที่จะมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ต้องแบกรับต้นทุนค่าแรงงาน ที่สูงขึ้น จะออกมาในรูปแบบใด หากมาตรการไม่สามารถช่วยเหลือได้ จำนวนตัวเลขการปิดกิจการ ก็คงเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวหน้า และแรงงาน ก็คงตกงานกันอีกเป็นจำนวนมาก

ฝ่ายค้าน ที่จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมการบริหารของรัฐบาลให้เป็นไปโดยชอบตามทำนองคลองธรรม จากการอภิปรายล่าสุด ก็ยังไม่พบว่า มีข้อแนะนำในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จากแกนนำฝ่ายค้าน อ่านตัวเลขงบประมาณ ยังผิด ๆ ถูก ๆ มีแต่ข่าวคราว การหาเสียงเลือกตั้งซ่อม เลือกตั้งท้องถิ่น ผลักดันสุราเสรี จัดสัมมนาเรื่อง Sex Tourism และเพศพาณิชย์ ที่ยังมองไม่เห็นว่า จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจได้อย่างไร เมื่อเทียบกับโครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการแลนด์บริจด์ 

ม.หอการค้าไทย เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนสิงหาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 57.7 เป็น 56.5 เป็นการปรับตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือนนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 

เดือนมีนาคม 2567 'ดนันท์ สุภัทรพันธุ์' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เคยกล่าวถึงกรณีการแข่งขันอันดุเดือดท่ามกลางสมรภูมิขนส่งไว้ว่า 'ไปรษณีย์ไทย' กำลังเจอปัญหาการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเพราะโดนกีดกันจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากร้านค้าและลูกค้าไม่สามารถเลือกขนส่งเองได้ เขาเสนอว่า ต้องมี 'Regulator' หรือหน่วยงานที่เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลเป็นผู้กำหนดกติกาการแข่งขัน เพื่อความเป็นธรรมและชัดเจนมากขึ้น 

เท่านั้นยังไม่พอ เพราะตอนนี้ต้องเจอศึกหนักจาก ‘Temu’ ที่มีความยากกว่าหลายเท่า เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่มีสำนักงานในไทย แม้แต่กรมสรรพากรก็ตรวจสอบไม่ได้ ทำให้ต้นทุนของ Temu ต่ำกว่าเดิม จากที่ส่วนแบ่งในตลาดถูก 'Shopee' และ 'Lazada' ปันส่วนไป 

ถ้าคนขายตาย ผู้ประกอบการตาย ขนส่งก็ไม่รอด ‘GDP’ ไหลออกนอกประเทศ แล้วรัฐบาลจะหารายได้จากแหล่งใด มากระตุ้นเศรษฐกิจ สุดท้าย ผู้ประกอบการ ธุรกิจ SMEs ในประเทศต้องปิดตัวลง ถ้ายังไม่แก้ สุดท้ายก็ตายกันหมด

เคราะห์ซ้ำ น้ำซัด!! 'เศรษฐกิจไทย' กำลังปรับตัวดี แต่เจอน้ำท่วมสกัด โจทย์สุดหินต้อนรับ 'นายกฯ หญิง' ที่ต้องพา ศก.-คนไทย รอดไปพร้อมๆ กัน

(8 ก.ย. 67) "ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหมวดอาหารสด และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน โดยหมวดอาหารสดเพิ่มขึ้นจากผลของฐานต่ำในปีก่อนและจากราคาผลไม้ที่เพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ลดลง...

"ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากหมวดอาหารสำเร็จรูป สำหรับอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานลดลงจากผลของฐานราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่สูงในปีก่อน...

"ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นสะท้อนจากการจ้างงานในระบบประกันสังคมทั้งในภาคการผลิตและบริการ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับเพิ่มขึ้น...

"สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจากดุลการค้า ตามมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน..."

นี่คือแถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงิน เดือนกรกฎาคม 2567 จากธนาคารแห่งประเทศไทย เหมือนมีข่าวดีเล็ก ๆ จากการจ้างงานที่มีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังคงมีแรงงานที่แจ้งขอรับสิทธิว่างงานเพิ่มขึ้นอยู่บ้าง ซึ่งเศรษฐกิจไทยโดยรวมปรับดีขึ้นหลังชะลอลงในเดือนก่อน

แต่เหมือน ‘เคราะห์ซ้ำ น้ำซัด’ ปลายเดือนสิงหาคม กับข่าวน้ำท่วมใหญ่ ไล่จากภาคเหนือ ตั้งแต่ จังหวัดเชียงราย พะเยา ลงมาเรื่อย สถานการณ์ปัจจุบันฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง จังหวัดอ่างทอง อยุธยา แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มสูงขึ้น เขตปริมณฑล นนทบุรี แถบ บางบาล-ตลาดขวัญ ต้องเฝ้าระวัง 

ข้ามไปทาง พัทยา ก็เจอพายุฝนถล่มหนัก น้ำท่วมในบางพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ไม่น้อยหน้า แถบร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ เจอพายุฝนกระหน่ำ ลำน้ำชี น้ำขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ก็ต้องคอยเฝ้าระวัง

เหมือนพายุฝนเตรียมต้อนรับ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ของนายกรัฐมนตรีหญิง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หลังปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 พร้อมงานใหญ่ ที่ต้องช่วยผู้ประสบอุทกภัย โดยอย่างยิ่งในพื้นที่ฐานเสียงหลัก ถึงแม้หลายฝ่ายจะคาดการณ์ว่า น้ำคงไม่ท่วมหนักเหมือนช่วงปี 2554 แต่ในสถานการณ์ตอนนี้ ที่สภาพเศรษฐกิจไทย 'ยังคงย่ำแย่' เจอน้ำท่วมในหลายจังหวัด การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ คงเป็นงานหินพอสมควร

มาตรการสินเชื่อโครงการ Financing the Transition มุ่งหน้าสู่การปรับตัวอย่างยั่งยืนของภาคธุรกิจ (Soft Loan) ที่ออกมาช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เหมือนจะยังไม่ตอบโจทย์ ตรงประเด็นเท่าใดนัก เพราะจำกัดประเภทของธุรกิจที่สามารถเข้าถึงสินเชื่อนี้ ที่ต้องการให้ภาคธุรกิจเอกชน ปรับตัวเป็นธุรกิจสีเขียว เพื่อความยั่งยืน แต่ตอนนี้ SME หลาย ๆ ราย คงขอเอาตัวรอดให้ได้ก่อน

ตอนนี้ คงต้องเอาใจช่วยไปก่อน เพราะเศรษฐกิจไทย กำลังโดนโจมตีหลายด้าน ภาวะการอุปโภคบริโภคของประชาชนยังไม่ฟื้นตัว ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ที่จะเข้ามาโกยรายได้จากคนไทย และไปกระทบต่อกับธุรกิจคนไทยด้วยกัน พร้อมผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยน้ำท่วม เอาใจช่วยคนไทย เป็นกำลังใจให้ผู้ประสบภัย ทั้งน้ำท่วม และเศรษฐกิจ...

4 โจทย์ใหญ่เศรษฐกิจไทย ที่ตกถึงมือ 'นายกฯ หญิงคนใหม่' 'โรงงานปิด-อสังหาฯ ชะลอตัว-ทุนจีนบุกหนัก-เงินหมื่นรอทบทวน'

เมื่อวันที่ (14 ส.ค.67) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะสิ้นสุดลง รวมไปถึงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ที่นายกฯแต่งตั้ง ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วยทั้งหมด    

คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยไม่เรียกว่ารักษาการ ยังคงสามารถบริหารราชการได้หมดทุกเรื่อง ทุกประการ จนกว่าจะแต่งตั้งใหม่

แต่...โครงการใหญ่ ยังไงก็คงต้องรอ มติ ครม. ชุดใหม่ โดยเฉพาะ 'โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท' ซึ่ง นายวิษณุ เครืองาม อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงในวันที่ 15 สิงหาคม 2567 

การเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ อาจสะดุดเล็กน้อย ซึ่งการแต่งตั้ง ครม.ชุดใหม่ ก็น่าจะยังคงรูปเดิม เกือบทุกกระทรวง เพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรค ต่อความร่วมมือของพรรคร่วมรัฐบาล

18 สิงหาคม 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย 38 ปี (เกิด 21 สิงหาคม 2529) แถลงข่าวภายหลังรับสนองพระราชโองการฯ เล็งกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยผลักดันโครงการซอฟต์พาวเวอร์ แต่โครงการสำคัญ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' จะไปหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้ง...ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความกังวลในการเดินหน้าโครงการนี้

ภาคอสังหาริมทรัพย์ ปีนี้ 'หนัก' ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ (REIC) ปรับลดคาดการณ์ปี 2567 โอนติดลบ 4.4% หวังมีปัจจัยบวกฉุดภาพทั้งปี ติดลบน้อยลง ระบุภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ครึ่งแรกของปี 67 ชะลอตัวแรงกว่าช่วงโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนพื้นที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างไตรมาส 2/67 มีจำนวนลดลง 19% ต่ำสุดในรอบ 26 ไตรมาส

การปิดกิจการของโรงงาน และผู้ประกอบการ SMEs ที่ปิดตัวมากขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา กับข่าวเปิดตัวผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน จากธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ทั้ง 8 แห่ง ที่ร่วมกันสนับสนุนการปรับตัวของธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในงาน 'Financing the Transition: การเงินเพื่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ' หวังว่า ผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่ปิดกิจการ จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้

อีกด้านประเด็นสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ การอุปโภคบริโภคของประชาชน ท่ามกลางทะเลเดือดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ที่กลายเป็นแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ที่จะเข้ามาโกยรายได้จากคนไทย และจะไปกระทบต่อกับธุรกิจคนไทยด้วยกัน ที่ไม่สามารถขายสินค้าแข่งได้...จะล้มไปอีกเท่าไหร่ ถ้ายังไม่อุดช่องว่างที่เราจะเสียเปรียบในการนำรายได้เข้าประเทศ

ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เดินเครื่องไม่ได้เต็มสูบ และต้องรอดูกันต่อว่า หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จะถูกปรับเปลี่ยนอีกหรือไม่ กับความหวังจะให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ 4 ลูก คงลุ้นยิ่งกว่าลุ้นรางวัลที่ 1 สักงวดในปี 2567 นี้

อ้างอิง: ธนาคารแห่งประเทศไทย (https://www.facebook.com/share/p/g7A1x6aLiwUi2MfQ/)

THAI PUBLICA (https://thaipublica.org/2024/08/cabinet-holds-special-meeting-to-appoint-bhumtham-to-act-as-prime-minister/)

น่าคิด!! 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ใช้จ่ายได้จริงเดือนสุดท้าย ปี 67 เป็น 'พายุหมุนเคลื่อน ศก.' หรือแค่ 'ต่อลมหายใจรัฐบาล'

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นวันที่รัฐบาลเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนสิทธิโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน หรือแอปฯ 'ทางรัฐ' และปิดการลงทะเบียนในวันที่ 15 กันยายน 2567 โดยไม่มีการจำกัดจำนวนประชาชนที่จะเข้าร่วมใช้สิทธิฯ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศเมื่อครั้งแถลงข่าวใหญ่ 'ดิจิทัลวอลเล็ต โครงการเพื่อประชาชน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ววันนี้' เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมาว่า การเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะช่วยทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ 4 ลูก คือ 

1.ระหว่างร้านค้าขนาดเล็กกับประชาชน 
2.ร้านค้าเล็กกับร้านค้าใหญ่ 
3.ร้านค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าขนาดใหญ่ 
และ 4.เกิดการซื้อขายโปร่งใสกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยประชาชน 

สถานการณ์ของประเทศไทย ในขณะนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว และถดถอย GDP โตต่ำกว่า 2.0 % สาเหตุสำคัญคือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานน้อยมาก ด้วยความล่าช้าในการจัดตั้งงบประมาณ เพราะต้องรอการจัดสรรเม็ดเงินไปยังโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หน่วยงานต่าง ๆ จึงแทบจะไม่มีการเบิกจ่ายงบประมาณ กอปรกับการส่งออก ที่ยังคงติดลบ และขาดดุล การค้า ด้วยการส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลง จำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนมิถุนายน เริ่มลดลงจากเดือนที่ผ่านมา การบริโภคภาคเอกชนก็ติดลบจากเดือนก่อน 

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาในช่วงต้นปี ทั้งมาตรการ Easy e-Receipt แพ็คเกจกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ มาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวเมืองรอง มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน แทบจะขยับได้เพียงเล็กน้อย ด้วยประชาชนเองก็ต้องควบคุมการใช้จ่ายโรงงานต่างๆ ปิดลงเป็นจำนวนมาก การเข้าถึงสินเชื่อแทบจะเป็นไปได้ยาก ดูได้จากอัตราการปฏิเสธสินเชื่อทั้งบ้าน รถ ที่สูง การจำหน่ายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ลดลงทุกเดือน

การลดราคาของรถยนต์ไฟฟ้า เหมือนจะเป็นข่าวดีที่มีสินค้าลดราคา เพื่อเพิ่มกำลังซื้อ แต่กลับส่งผลบางด้านต่อการแข่งขัน โรงงานผลิตรถยนต์สันดาป ประกาศปิดโรงงาน ไปหลายแบรนด์ ปั๊มแก๊ส ทยอยปิดตัว ด้วยราคา NGV-LPG ที่ปรับราคาแพงขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศผ่อนปรนขยายระยะเวลาการชำระหนี้บัตรเครดิต ขั้นต่ำ 8% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2568 จากเดิมที่จะขยับเป็น 10% ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 ถึงแม้จะกำหนดเงื่อนไขลูกหนี้ที่ชำระหนี้ขั้นต่ำได้มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 8 จะได้รับเครดิตเงินคืนทุก 3 เดือน แต่จะมีลูกหนี้มากน้อยแค่ไหน ที่จะชำระได้มากขึ้น ในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ 

ความหวังสุดท้ายของรัฐบาล จึงแทบจะฝากไว้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่หากสามารถโอนเม็ดเงินให้ประชาชนใช้จ่ายได้จริง ก็ไม่น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ได้ เพราะกำหนดการเริ่มใช้จ่าย ก็เป็นเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีแล้ว 

จะสร้างพายุหมุนเศรษฐกิจ 4 ลูก เพื่อขยับจีดีพีประเทศให้ขยายตัวไปข้างหน้า? หรือเพียงแค่ต่อลมหายใจให้รัฐบาล ได้อยู่ต่อไปอีกระยะ ความหวังเฮือกสุดท้าย ของทั้งรัฐบาล และ ประชาชนคนไทย... 

พลิกฟื้น 'เศรษฐกิจไทย' เริ่มได้หรือยัง?  ในจังหวะที่ยังมีศักยภาพพอให้ทำได้

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยระบุว่า การปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง จะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และการลงทุนในประเทศไทย

นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ในฐานะที่ดูเศรษฐกิจต่างจังหวัดต้องบอกว่า ขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศแย่มาก ทุกคนต่างบ่นกันหมด ต่างจังหวัดเงียบมาก กรุงเทพก็เงียบ ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย เนื่องจากภายในก็แย่ ขณะที่ผลกระทบจากต่างประเทศก็กดดันสูง โดยเฉพาะกับจีน 

ที่สำคัญ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. แสดงจุดยืนชัดเจน คัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ หากยังยืนยันจะปรับขึ้นในวันที่ 1 ต.ค.นี้ จะได้เห็นสัญญาณอันตรายยิ่งกว่านี้ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการรายเล็ก หรือเอสเอ็มอี (SMEs) อาจได้เห็นการปิดตัวเพิ่มขึ้น

เสียงสะท้อน สัญญาณอันตราย กับ ภาวะเศรษฐกิจประเทศไทย ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับที่โฆษกรัฐบาล เคยออกมาชี้แจง สินค้าอุปโภคไม่แพง แหล่งท่องเที่ยวยังคึกคัก...ไม่แน่ใจว่า สำรวจพื้นที่ไหนบ้าง?
ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจของทุกประเทศสามารถเขียนเป็นสมการ ได้ว่า ‘GDP = C + I + G + NX’

I = Investment คือ การลงทุนของภาคเอกชน
G = Government Spending คือ งบประมาณรัฐบาล
NX = Net Export คือ การส่งออกสุทธิ

C – ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ มีรายได้ มีกำลังซื้อจำกัด แต่ใช้จ่ายกับสิ่งที่ไม่ควรใช้ ไม่อยู่ในระบบเศรษฐกิจเช่น หวยใต้ดิน ยาเสพติด บ่อนออนไลน์ สิ่งเหล่านี้ผิดกฎหมาย หากกระตุ้นให้ประชาชนสามารถใช้จ่ายกับการซื้อบ้าน ปลูกบ้าน ซื้อรถคันใหม่ ซื้อของกินของใช้มากขึ้น จับจ่ายใช้สอย กินข้าวนอกบ้าน ท่องเที่ยวในประเทศ หรือมีเงินลงทุนค้าขายซึ่งยิ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจมากขึ้น 

แต่ปัจจุบัน อัตราการปฏิเสธสินเชื่อบ้าน พุ่งเกือบ 70% ยอดจำหน่ายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจรายย่อย โรงงาน ปิดกิจการเป็นจำนวนมาก

I - การลงทุน ต้องเข้าใจและฉกฉวยประโยชน์จากสถานการณ์การเมืองของโลกที่ขั้วอำนาจกำลังมีปัญหาระหว่างกัน ประเทศไทยมีแรงงานที่นักลงทุนจากต่างประเทศต้องการ ที่ค่าจ้างไม่แพงเกินไป มีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานด้านโลจิสติกส์ มีตลาดเงินตลาดทั้งสินค้าและทุน อาจขาดเพียงทักษะของแรงงานด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ยังมีจำนวนน้อย สิ่งเหล่านี้ ยังพอดึงดูดทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมที่เราต้องการ และมีประโยชน์ระยะยาวต่อประเทศชาติ

G - ใช้เงินงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ สร้างระบบชลประทาน สร้างไซโล/คลังเก็บผลผลิตทางการเกษตร สร้างอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมากกว่าสิบล้านคนได้ประโยชน์ ได้มีรายได้มากขึ้น หรือทุ่มงบประมาณให้กับการศึกษา สายวิทยาศาสตร์ สายวิศวกรรม สายอาชีพ ผลิตคนที่มีความรู้ ความสามารถที่เป็นที่ต้องการของธุรกิจอุตสาหกรรม

ที่สำคัญ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพราะความล่าช้าของงบประมาณแผ่นดิน เป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจ

NX - สนับสนุนการส่งออกสินค้าที่เราผลิตได้เองแล้วทั้งอุตสาหกรรมและเกษตร รวมถึงภาคบริการ(การท่องเที่ยว) ให้มีประสิทธิภาพ การระบายข้าวเปลือกจำนำสิบปี ไม่ควรประโคมข่าว จะทำลายชื่อเสียงความน่าเชื่อถือของข้าวไทย

ทั้งหมดนี้ในปัจจุบัน เหมือนจะเริ่มเป็นเรื่องยาก ที่ผ่านมาเกือบ 1 ปี ไม่มีวี่แววว่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ ศักยภาพทางเศรษฐกิจไทยย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ถึงเวลาหรือยัง ที่จะพุ่งเป้าไปผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต มีความมั่นคง ทั้งที่ประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่ทำได้ ... ถึงเวลาหรือยัง?


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top