‘เหมา’ สู่ ‘สี’ ตำนานบทใหม่ที่ไม่เทียบเท่า แต่ยิ่งใหญ่กว่า!!
หากมองการเมืองโลก และสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน คงมิพ้นต้องกล่าวถึงการคัดค้านกันระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่อย่างจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลยุทธ์การเดินเกมของทั้งสองชาติในระยะหลังนั้นเป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์ทั่วโลกจับตามองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทางฝ่ายจีน
ต้องยอมรับว่าตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกตั้งคำถามกับมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาโดยรัฐบาลจีน ภายใต้นโยบาย 共同富裕 (ก้งถงฟู่ยวี่) ของจีน ซึ่งหมายถึงการปฏิรูปสังคม-เศรษฐกิจ (Socio-Economic Reform) แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Common Prosperity” หรือคำที่ใกล้เคียงในภาษาไทยก็คือ “ความเจริญถ้วนหน้า” กล่าวคือ เป็นความเจริญที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนั่นเอง
การบังคับใช้ในหลายมาตรการเป็นสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นการ “หักดิบ” ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิในการเล่นเกมออนไลน์ของเด็ก ๆ และวัยรุ่น ไปจนถึงการออกคำสั่งควบคุมการดำเนินกิจการของโรงเรียนกวดวิชา การออกกฎเกณฑ์ห้ามไม่ให้เด็กนักเรียนชั้น ป.1 และ ป.2 มีการจัดสอบข้อเขียน รวมทั้งบรรจุกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นทักษะทางสังคมและกีฬาเพิ่มเติม สำหรับเหล่าแฟนคลับดารา นักแสดง และคนดังทั้งหลาย พวกเขาถูกจำกัดสิทธิ์ในการซื้อสินค้าและบริการของดาราที่ตนเองชื่นชอบ เนื่องจากทางการมองว่าไม่ควรเสียเงินใช้จ่ายกับ “เรื่องพวกนี้” มากจนเกินไป ทั้งยังมีการสั่งแบนดารา นักร้อง และอินฟลูเอนเซอร์ที่มีพฤติกรรมทางสังคมไม่เหมาะสม (ตามที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเห็นว่าไม่เหมาะสม)
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการสั่งห้ามบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การห้ามกิจการขนาดยักษ์ทำกิจกรรมทางธุรกิจบางอย่าง หรือการออกมารวมกลุ่มของบริษัทขนาดยักษ์ของจีนเพื่อสร้างกองทุนเพื่อการพัฒนาและลดความยากจนของประชาชน
ทั้งหมดนี้ทำให้นักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบันของจีนอย่าง ‘สี จิ้นผิง’ กำลังนำประเทศกลับสู่ยุคของการ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ในยุคของ ‘เหมา เจ๋อตง’ อดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน และประธานาธิบดีคนแรกหลังจากที่จีนเปลี่ยนมาปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์
สื่อมากมายประโคมข่าวยกระดับและเปรียบเทียบ สี จิ้นผิง เทียบเท่ากับ เหมา เจ๋อตง ในยุคหลังปฏิวัติคอมมิวนิสต์ปี 1949 ที่มีอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ ควบคุมและปกครองแบบแยกตัว (isolate) จากโลกภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้วิกฤตกาลโควิด-19 ที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าทางการจีนยังไม่มีนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวและนักศึกษาต่างชาติเข้าประเทศ
สำหรับแง่มุมทางการเมือง จีนได้แสดงท่าทีออกมาอย่างชัดเจนว่าพวกเขาต่อต้านอย่างแข็งกร้าว ไม่ยินยอมให้ผู้นำจากโลกตะวันตกใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” และคำว่า “สิทธิมนุษยชน” เข้ามาแทรกแซงการปกครองภายในประเทศจีน ไม่สนใจคำวิจารณ์ต่าง ๆ และแม้ว่าจะมีการคว่ำบาตรจากทั่วโลกอย่างไร แต่ทางการจีนก็แสดงให้เห็น ว่าประเทศจีนเพียงลำพัง ก็สามารถอยู่ด้วยตัวเอง พึ่งพาตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องง้อโลกตะวันตก
นี่ยังไม่นับเรื่อง “มติครั้งประวัติศาสตร์” ที่จะทำให้ สี จิ้นผิง สามารถเป็นประธานาธิบดีไปเรื่อย ๆ ได้จนกว่าจะสิ้นชีพ นับว่าเป็นครั้งที่ 3 นับแต่มีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยครั้งแรกมีขึ้นในยุคของประธานเหมา และครั้งที่ 2 มีขึ้นในยุคของนายเติ้ง เสี่ยวผิง
ผู้ที่ติดตามประวัติศาสตร์และการเมืองจีนหลายคนคงจะเห็นตรงกันว่า สถานภาพทางอำนาจของนายสี จิ้นผิงในวันนี้ใกล้เคียงกับ เหมา เจ๋อตง เข้าไปทุกที
หากถามตัวผมว่าประธานสี แตกต่างจากประธานเหมาหรือไม่ สำหรับผม ผมว่ายังมีความต่างอยู่บ้าง เพราะหากย้อนกลับไปในยุคประธานเหมา ก็คงต้องพูดถึงผลงานโดดเด่น (ในด้านที่ไม่ดี) ของประธานเหมา ทั้ง “The Great Leap Forward” การสร้างลัทธิบูชาบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วย “ยุวชนแดง” (Red Guard) และการตีพิมพ์ “หนังสือปกแดงเล่มเล็ก” (Little Red Book) ใช่ ช่วงเวลาของการ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ซึ่งคร่าชีวิตชาวจีนไปมากกว่า 30 ล้านชีวิต
หนังสือปกแดงเล่มเล็ก (Little Red Book)
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้การปกครองที่เป็นลัทธิบูชาบุคคล (Cult of Personality) ซึ่งลัทธิบูชาประธานเหมานั้น หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วเรื่องนี้ไม่ได้เป็นไอเดียของประธานเหมาเพียงลำพัง แต่มีกลุ่มผู้ที่ส่งเสริม ยุยง และสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็คือ “แก๊ง 4 คน / แก๊งออฟโฟร์” (Gang of Four) นำโดย เจียงชิง (江青) ภรรยาของประธานเหมา และ หลินเปียว (林彪) ผู้มีส่วนสำคัญในชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์
ในช่วงเริ่มต้นของการปฏิวัติวัฒนธรรมนั้น คำว่า “ปฏิวัติวัฒนธรรม” เป็นเพียงแค่แนวคิดและแบบแผนของประธานเหมาในการจะนำสังคมจีนไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ที่ก้าวหน้าสมบูรณ์แบบ ซึ่งก็คือการ Reset ประเทศใหม่แบบหักดิบ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามภาพประเทศในฝันของเหล่าผู้นำพรรค
ท้ายที่สุด การประกาศปฏิวัติวัฒนธรรมนั้นได้กลายเป็นเครื่องมือในการกำจัดศัตรูทางการเมืองของทั้งตัวประธานเหมาเอง รวมไปถึงแก๊งออฟโฟร์ ส่งผลให้ผู้มีความสามารถ นักการเมือง ปัญญาชน และนายทุนมากมายที่ไม่ได้ให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ ต้องถูกกำจัดด้วยวิธีต่าง ๆ ด้วยกลไกที่มียุวชนแดงในการขับเคลื่อน และเนื้อหาของกฎเกณฑ์ในหนังสือปกแดงเล่มเล็ก ส่งผลให้ประเทศจีนเสียหายอย่างหนักหน่วง
หากจะกล่าวว่า สี จิ้นผิง กำลังจะกลายร่างกลายเป็น เหมา เจ๋อตง นั้น ตัวผมมองว่าคงจะเป็นการด่วนสรุปจนเกินไป เพราะถึงแม้ว่ารัฐบาลจีนภายใต้ สี จิ้นผิง กำลังขับเคลื่อนประเทศด้วยการปฏิรูป ที่หลายคนมองว่าคือการปฏิวัติวัฒนธรรมภาค 2 แต่ในอีกมุมหนึ่ง จีนกำลังพิสูจน์ และแสดงให้โลกเห็นเป็นตัวอย่างว่าความศิวิไลซ์ (civilization) ไม่จำเป็นต้องเจริญแบบตะวันตก (westernization) แต่เพียงอย่างเดียว ประเทศไหน ๆ ก็สามารถเติบโตในแบบของตัวเองได้
นับตั้งแต่หมดยุคประธานเหมา เข้าสู่ยุคผู้นำ ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’ ประเทศจีนได้ดำเนินนโยบายที่แตกต่างออกไปโดยลดความเป็นคอมมิวนิสต์สุดโต่ง เปิดใจค้าขายกับต่างชาติอย่างเสรีมากขึ้น มีการใช้ระบบตลาดแบบทุนนิยม ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก จนถึงยุคสมัยของประธานสี ที่มีการใช้นโยบายขยายการแลกเปลี่ยนทางการค้า เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมด้วยการใช้ Soft Power ภายใต้นโยบาย “หนึ่งเข็มขัดเศรษฐกิจ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) ซึ่งปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์การเป็นประเทศด้อยพัฒนาของจีน นักวิเคราะห์ทั่วโลกถึงกับเห็นตรงกันว่าจีนจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกใหม่
ในตอนนั้นเอง ที่คำว่า “สงครามการค้าระหว่างจีน-อเมริกา” ได้ถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น นักวิเคราะห์บางคนมองว่าเป็น “สงครามเทคโนโลยี” บ้างก็ว่าเป็น “สงครามความมั่นคง” ซึ่งจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ โดยภาพรวมแล้วมันคือความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาในการช่วงชิงการเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก
ในช่วงหลังมานี้ ฝ่ายจีนได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ดุดันยิ่งขึ้นโดยหันมาเดินเกมด้วย Hard Power ในการจัดระเบียบภายในประเทศด้วยนโยบาย Common Prosperity และในขณะเดียวกัน ก็จัดการกับเสี้ยนหนามทางการเมืองที่จีนมองว่าเป็นเครื่องมือของฝ่ายสหรัฐฯ ในการทิ่มแทงจีนจากรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น ไต้หวัน หรือฮ่องกง ซึ่งนอกเหนือจากสองเกาะนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ ยังรวบรวมพันธมิตรจากทั่วโลก ทั้งในโซนยุโรป อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น รวมถึงกลุ่มองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ในการกดดันประเทศจีน โดยใช้ประเด็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในซินเจียง ทิเบต และฮ่องกง ซึ่งล่าสุดก็มีประเด็นร้อนไปเมื่อ ‘โจ ไบเดน’ จัดการประชุม “ซัมมิตประชาธิปไตย” (Summit for Democracy) โดยไม่มีจีนอยู่ในรายชื่อประเทศที่ถูกรับเชิญ
