ชาตินิยมจีน : ความรักชาติในแบบจีน ๆ เป็นอย่างไร ?

“ประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ ผ่านยุคป่วยไข้ ไม่นานผ่านไป ทยานไกลสู่อนาคต”

‘ชาตินิยม’ (nationalism) หรืออุดมการณ์รักชาติที่ทำหน้าที่สร้างชาติในรูปแบบมโนทัศน์ รวมถึงแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มมนุษย์ที่เป็นคนในชาติ ไม่ว่าจะเป็นการรักชาติ ภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของชาติ การนำเสนอสิ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะและการชื่นชมความเจริญรุ่งเรืองของชาติ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคุณค่าและพื้นฐานของความเป็นชาตินิยม

หากว่ากันตามทฤษฎีข้างต้นนี้ ประเทศจีนนับว่าครบเครื่องครับ เพราะนับตั้งแต่จีนปฏิรูปเปิดประเทศในปี ค.ศ.1978 จนถึงปัจจุบัน ประเทศจีนได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งยังหลุดพ้นจากกับดักความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างค่ายทุนนิยมและสังคมนิยม

เพราะสำหรับ ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’ ผู้นำจีนรุ่นถัดจาก ‘ประธานเหมา’ แล้ว ‘ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอให้จับหนูได้ก็ถือว่าเป็นแมวที่ดี’ กล่าวคือ สิ่งสำคัญที่สุดนั้นคือชาติ และมันไม่สำคัญว่าจีนจะมีรูปแบบการปกครองแบบไหน (ทุนนิยมหรือสังคมนิยม) ขอแค่เป็นระบบการปกครองที่ทำให้จีนพัฒนาไปข้างหน้าก็ถือว่าเป็นระบบการปกครองที่ดี

หรือกล่าวง่าย ๆ ได้อีกว่า ทำยังไงก็ได้ให้ชาติจีนแข็งแกร่งโดยไม่เกี่ยงเรื่องวิธีการ เพื่อตอบสนองแนวคิดชาตินิยมที่ฝังรากลึกอยู่ในหัวใจชาวจีน กลายเป็นรากฐานความคิดชาตินิยมแบบจีน ๆ ในปัจจุบัน

สำหรับผม แนวคิดชาตินิยมจีนมีพื้นฐานและขั้นตอนแบ่งออกเป็น 3 ส่วนครับ

1.) ความภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ในอดีต

2.) ความอับอายที่เคยถูกชาวต่างชาติกดขี่

3.) ความต้องการก้าวขึ้นเป็นอภิมหาอำนาจบนเวทีโลกในอนาคต

ความภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ในอดีต

จีนเป็นชาติที่มีประวัติศาสตร์และอารยะธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างเนิ่นนานหลายพันปี บรรพบุรุษหลายร้อยช่วงอายุคน ผ่านการปกครองระบบจักรพรรดิและฮ่องเต้มาทั้งหมดสิบราชวงศ์ มีปรมาจารย์นักคิดนักปราชญ์ชื่อดังมากมายไม่ว่าจะเป็นขงจื๊อ เล่าจื๊อ เมิ่งจื๊อ หรือแม้กระทั่งซุนวู ซึ่งความเจริญรุ่งเรืองทางอารยะธรรมในอดีตเป็นสิ่งที่คนจีนภาคภูมิใจน่าดู ก็ดูอย่างชื่อประเทศจีนสิครับ ‘中国 - จงกว๋อ’ แปลตรงตัวได้ว่า ‘ดินแดนที่อยู่ศูนย์กลาง’ คนจีนสมัยก่อนเขาเชื่อจริง ๆ ครับว่าประเทศจีนคือศูนย์กลางของจักรวาล

ความอับอายที่เคยตกต่ำ รวมถึงเคยถูกชาวต่างชาติกดขี่ในอดีต

ถึงแม้จะมีประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็มีช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ถือได้ว่าเป็น ‘ยุคป่วยไข้’ เริ่มตั้งแต่การเข้าสู่ยุคถดถอยของราชวงศ์ชิง การถูกชาวตะวันตกเข้ามา ‘มอมฝิ่น’ จนเกิดเป็น ‘สงครามฝิ่น’ ที่จีนพ่ายแพ้จนต้องเสียเกาะฮ่องกงไปเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เป็นยุคที่เสื่อมโทรม เศรษฐกิจพังทลาย ประชาชนอยู่อย่างอดอยาก จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติประชาธิปไตยโดย ‘ก๊กมินตั๋ง’ หรือพรรคประชาธิปไตย ซึ่งก็ต้องมาขัดแย้งกับพรรคคอมมิวนิสต์ เกิดสงครามกลางเมือง มีการรบพุ่งกันระหว่างคนจีนกันเองอยู่หลายศึกหลายสนามรบ หลังจากนั้นไม่นานก็เข้าสู่ช่วงสงครามโลก จีนที่กำลังแย่อยู่แล้วก็ยิ่งเข้าขั้นโคม่า เมื่อถูกญี่ปุ่นเข้ารุกราน เกิดเหตุการณ์ ‘สังหารหมู่ที่นานกิง’ หรืออีกชื่อที่เรียกว่า ‘การข่มขืนนานกิง’

เมื่อฝ่ายอักษะพ่ายแพ้ให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศแพ้สงคราม กองทัพญี่ปุ่นจึงจำต้องถอนทัพกลับประเทศไป ส่วนประเทศจีนก็ยังต้องผ่านการปฏิวัติซ้ำอีกหนึ่งหนโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ซึ่งก็ยังไม่ทำให้อะไรดีขึ้น มิหนำซ้ำยังเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นอีก......

นี่แหละครับ ความขมขื่นของจีนที่เกิดจากการทะเลาะกันเองก็ดี ถูกต่างชาติเข้ามาเอาเปรียบก็ดี มันทำให้ชาวจีนในปัจจุบันจะไม่ค่อยไว้ใจชาวต่างชาติ (ไม่รวมไทย) โดยเฉพาะชาวตะวันตก เพราะมองว่าพวกเขาจ้องจะเข้ามาเอาเปรียบคนจีน ต้องระวังไว้

ความต้องการก้าวขึ้นเป็นอภิมหาอำนาจบนเวทีโลกในอนาคต

จริง ๆ มันก็ย้อนแย้งอยู่นะครับ ภูมิใจในความยิ่งใหญ่ในอดีตและอับอายที่เคยถูกกดขี่ในเวลาเดียวกัน ซึ่งสองข้อข้างต้นที่กล่าวมานั้นทำให้เกิดเป็นข้อที่สาม คือเมื่อผ่านช่วงที่ตกต่ำมาได้ ก็อยากกลับขึ้นสู่จุดสูงสุดอีกครั้งหนึ่ง เป้าหมายของจีนวันนี้ชัดเจนมากครับ จีนต้องการแซงหน้าสหรัฐอเมริกาขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก และมีความเป็นไปได้ว่าความต้องการนั้นจะกลายเป็นจริง

เมื่อไม่นานมานี้ ‘สีจิ้นผิง’ ผู้นำสูงสุดแห่งแดนมังกรเพิ่งประกาศชัยชนะที่มีต่อความยากจน หลังจากคนจีนร่วม 100 ล้านชีวิตพ้นขีดความยากจนขั้นร้ายแรงในช่วง 7 ปีที่มีการวางนโยบายเพื่อต่อสู้กับความยากจนตั้งแต่ปี ค.ศ.2013 และล่าสุดก็เพิ่งมีประกาศโครงการใหม่ที่เรียกว่า 'Made in China 2025' จากที่เคยเป็นโรงงานของโลกสู่การเป็น ‘ศูนย์กลางการผลิตสินค้านวัตกรรมของโลก’ ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของจีนคือการก้าวเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งบนโลกยุคใหม่ภายในปี ค.ศ. 2049 ซึ่งจะเป็นเวลารอบ 100 ปีพอดีหลังจากการประกาศตั้งสาธารณะรัฐ

เห็นได้ชัดครับ ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่คนจีนรุ่นก่อนได้ผ่าน เพิ่มเติมด้วยวิธการประชาสัมพันธ์และโฆษณาชวนเชื่อโดยภาครัฐ ทำให้คนจีนในปัจจุบันยังคงผูกพันกับคำว่า ‘ชาติ’ และพร้อมจะฉะกับใครก็ตามที่มาแหยมกับจีน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี หรือแม้กระทั่งเหล่าพันธมิตรชานมไข่มุกเอง ก็ล้วนเคยถูกชาวเน็ตจีนด่ากราดกันมาแล้วทั้งนั้น

ชาตินิยมแบบจีนนั้นมีลักษณะเฉพาะตัวที่ทั้งชัดเจนและซับซ้อนในเวลาเดียวกัน การจะเข้าใจวิธีคิดแบบจีน ๆ ให้แตกฉานได้นั้นต้องย้อนมองอดีต ศึกษาปัจจุบัน และฝันในอนาคต

แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ คือ แนวคิดชาตินิยมที่หลายคนว่าเป็นแนวคิดที่ล้าหลัง แต่ในตอนนี้มันกำลังพาจีนก้าวไปข้างหน้าใช่หรือไม่?