Sunday, 28 April 2024
ม112

‘อดีตบิ๊กข่าวกรอง’ ลั่น จำชื่อไว้ นักการเมืองพรรคใดเสนอแก้ ม.112 อย่าไปเลือก

อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กดุเดือด ประกาศจำชื่อไว้นักการเมืองพรรคใดเสนอแก้ไข ม.112 อย่าไปเลือกมัน

1 พ.ย. 64 - นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก Nantiwat Samart สั้น ๆ ระบุว่า “จำชื่อไว้นักการเมืองพรรคใดเสนอแก้ไข ม.112 อย่าไปเลือกมัน”

'ดร.นิว' เผย 10 เหตุผล 'ธนาธร' โดน ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ ชี้!! มีเจตนาบิดเบือนข้อมูล-โจมตีกระทบถึงสถาบันฯ 

'ดร.นิว' ยกเหตุ 10 ข้อ ทำไม'ธนาธร'ถึงโดน ม.112-พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ชี้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลโจมตีบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ให้กระทบถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ สอดรับการเคลื่อนไหวเครือข่ายม็อบสามนิ้วล้มล้างการปกครอง

13 เม.ย. 65 ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ “ดร.นิว” นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์รข้อความในเฟซบุ๊ก หัวข้อ ทำไมนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถึงโดน ม.112 พร้อมกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ? มีรายละเอียดดังนี้

1.) หัวข้อการไลฟ์สด "วัคซีนพระราชทาน: ใครได้-ใครเสีย?" ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นการประดิษฐ์วาทกรรม "วัคซีนพระราชทาน" เพื่อเชื่อมโยงและบิดเบือนให้ร้ายพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่วัคซีนดังกล่าวไม่ได้จัดว่าเป็นวัคซีนพระราชทานแต่ประการใด การแอบอ้างใช้คำว่า "พระราชทาน" ของนายธนาธรจึงเป็นข้อความอันเป็นเท็จ และเป็นการกระทำความผิดโดยเจตนา

2.) บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ (Siam Bioscience) เป็นบริษัทเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นฐานในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์รายใหญ่ระดับโลกของประเทศอังกฤษ โดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็น "...บริษัทที่มีในหลวง ร.10 ถือหุ้นอยู่ 100%..." ตามที่นายธนาธรพยายามเชื่อมโยงให้เกิดความเข้าใจผิด แต่ประการใด

(2.1.) บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ที่สามารถรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 จากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าได้

(2.2.) บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ มีโรงงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลหลายรายการ เช่น PIC/S GMP, ISO9001, ISO17025 และ ISO13485

(2.3.) บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ มีกำลังการผลิตที่สูงถึง 200 ล้านโดสต่อปี สอดคล้องกับความต้องการผลิตวัคซีนจำนวนมากของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า

(2.4.) บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ดำเนินการผลิตวัคซีนโดยยึดนโยบาย "ไม่กำไร ไม่ขาดทุน" ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิดนี้ ซึ่งเป็นนโยบายเดียวกันกับของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า

3.) นายธนาธรกล่าวโกหกบิดเบือน "...ตั้งใจตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตยา ไม่ใช่ผลิตวัคซีนนะครับ..."
แม้ว่าบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์จะไม่ได้ผลิตวัคซีนโดยตรง แต่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์มีเทคโนโลยีชั้นสูงที่ก้าวหน้าและทันสมัย สามารถผลิตยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilars) ซึ่งสามารถนำไปใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างกว้างขวาง รวมถึงนำมาใช้ผลิตวัคซีนโควิด-19 แบบไวรัสเวกเตอร์ (Viral vector) ของบริษัทแอสตร้าเซเนก้าได้อีกด้วย

4.) นายธนาธร กล่าวด้อยค่าโจมตี "...บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์และบริษัทในเครือ ตั้งแต่ตั้งขึ้นมา เมื่อปี 2552 ยังไม่เห็นบริษัทไหนเลยที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างชัดเจน ทุกบริษัทมียอดขาดทุนสะสมเกือบทั้งหมด..."
การขาดทุนของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์มาจากการลงทุนในเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อผลิตยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilars) ซึ่งมีกำลังการผลิตที่สูงถึงหลายร้อยล้านโดสต่อปี จึงไม่แปลกที่จะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะก่อตั้งขึ้นใน ปี พ.ศ. 2552 โดยเริ่มการผลิตและการขายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2559 อีกทั้งยังมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะให้ประชาชนชาวไทยสามารถได้รับยาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงในราคาที่ถูกลง

นอกจากวัคซีนโควิด-19 แบบไวรัสเวกเตอร์ (Viral vector) ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilars) สำคัญที่ทางบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ได้รับการรับรองและผลิตอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ยาฮอร์โมนอีริโทโพอิติน (Erythropoietin) สำหรับกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง รักษาภาวะโลหิตจางจากไตวายเรื้อรัง และยาฟิลกราสทิม (Filgrastim) สำหรับกระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดขาวควบคู่กับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งล้วนแล้วแต่มีส่วนช่วยให้ประชาชนชาวไทยสามารถได้เข้าถึงยาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงในราคาที่ถูกลง สร้างความมั่นคงทางยา และดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

'ศักดิ์เจียม' ด้อยค่า 'คำผกา' รับจ้างหากินไปวันๆ หลังพิธีกรสาวแหกปากเชียร์แม้ว แต่ไม่แตะ 112

วานนี้ (30 เม.ย. 65) นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ปัจจุบันลี้ภัยที่ประเทศฝรั่งเศส โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ว่า "ผมไม่อยากเล่นงานคุณคำผกา เพราะบอกตรงๆ ว่าคุณคำผกาก็เหมือนพวกรับจ้างหากินไปวันๆ น่ะครับ เป็นพวกไม่มีน้ำหนักเท่าไร เหมือนรับจ้างเขาก็ต้องพูดแบบที่เขาชอบ แต่คุณคำผกาก็เบาๆ ไว้หน่อยก็ดีครับ น่าเสียดายที่ลดคุณค่าตัวเองลงทุกวัน"

โพสต์ของนายสมศักดิ์ สืบเนื่องจาก นางสาวลักขณา ปันวิชัย หรือ แขก คำ ผกา พิธีกรในสถานีวอยซ์ทีวี ออกมาเคลื่อนไหวในโซเชียลฯ ปกป้องนายทักษิณ ชินวัตร และสนับสนุนพรรคเพื่อไทย หลังมีผู้วิจารรณ์นายทักษิณ และพรรคเพื่อไทย ว่า "ฐานเสียงเพื่อไทยที่แกล้งมองไม่เห็นปัญหาของ 112 และไม่เคยแตะหรือพูดถึงมันเลย ก็ไม่ต่างอะไรกับสลิ่มถ้ามีเลือกตั้งรอบนี้ก็เหมือนแอบเข้าคูหากาเพื่อไทยด้วยใจจำยอม"

กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ถกใช้ ม.112 ไร้มาตรฐาน เป็นเครื่องมือการเมือง หยิบใช้อย่างไม่เป็นธรรม

กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ถกกรณีการทำโพลเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และการรับเสด็จ โดยกลุ่มราษฎรและกลุ่มมังกรปฏิวัติ ชี้ หลักเกณฑ์ดำเนินคดี-ประกันตัวไม่มีมาตรฐาน ยืนยัน การตั้งคำถามและแสดงความเห็นต่อสถาบันกษัตริย์เป็นสิทธิ ไม่ใช่ความผิด “หมออ๋อง” ชี้ ยิ่งใช้กฎหมายไม่เป็นธรรมยิ่งส่งผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์และประเทศในทางลบ

คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เชิญหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือในญัตติซึ่งเสนอ โดย อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะกรรมาธิการ เกี่ยวกับการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นกษัตริย์ฯ) ต่อกลุ่มเยาวชนที่จัดกิจกรรมทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และกรณีจัดกิจกรรมร่วมรับขบวนเสด็จ รวมถึงกรณีของ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมซึ่งถูกดำเนินคดีและปฏิเสธสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวในขณะนี้

โดยมีการเชิญตัวแทนจากทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 และ สน.นางเลิ้ง), สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานอัยการสูงสุด, ผู้แทนเครือข่ายสิทธิมนุษยชน, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ตัวแทนกลุ่มราษฎร กลุ่มมังกรปฏิวัติ และกลุ่มทะลุวัง 

ในการประชุมมีการซักถามและตอบข้อซักถามชี้แจงในหลายประเด็น โดยเฉพาะในเรื่องของเกณฑ์ที่เจ้าหนัาที่ตำรวจ อัยการ และศาล ใช้ในการพิจารณาว่าเรื่องใดเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 และหลักเกณฑ์ในการให้หรือไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว ว่ามีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเช่นไร

เนื่องจากในปัจจุบันนี้ กระบวนการดำเนินคดีตามมาตรา 112 มีปัญหาการกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว เช่น การกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา ทั้งที่ยังไม่ถูกพิจารณาคดีว่าเป็นความผิด, การใช้กำไลควบคุมผู้ถูกกล่าวหาไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาไปใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ทั้งที่เป็นคดีเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพ, การไม่สามารถพูดหรือวิจารณ์ใดๆ เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดี

รวมทั้งการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ปัจจุบันนี้ไม่ว่าการเคลื่อนไหวใดๆ เมื่อพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ จะถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทันที อย่างเช่น กรณี สมบัติ ทองย้อย ที่โพสต์ข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ถูกพิพากษาว่าผิดมาตรา 112 ซึ่งความจริงแล้วไม่ควรถูกพิจารณาว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

ในฝ่ายของผู้บังคับใช้กฎหมาย มีการชี้แจงจากทั้งตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อัยการ และสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่าในทางปฏิบัติ เมื่อมีการกล่าวหาตามมาตรา 112 เกณฑ์ในการพิจารณาจะต้องดูที่เจตนาของผู้ถูกกล่าวหา ว่ามีเจตนาอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันกษัตริย์หรือไม่

ขณะที่การพิจารณาเงื่อนไขการให้หรือไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว ตัวแทนจากสำนักงานศาลยุติธรรมระบุว่าโดยหลัก เมื่อมีการขอฝากขัง ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไข รวมทั้งการติดกำไล EM ในแต่ละกรณีเป็นอำนาจของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนแต่ละคน โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงและรายละเอียดพฤติการณ์ในแต่ละกรณีไป

พร้อมยืนยันว่าการติดกำไล EM ไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัย ที่ศาลกำหนดเพื่อไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อตัวคดี อีกทั้งการติด EM ยังเป็นหลักประกันให้ผู้ถูกกล่าวหาได้กลับบ้านโดยไม่ต้องมาอยู่ในเรือนจำ

ส่วนการเพิกถอนสิทธิประกันตัว เป็นคนละส่วนกับการสืบว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ซึ่งการถอนประกันอาจเป็นเพราะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ตีความว่ามีการกระทำที่ผิดเงื่อนไขประกันที่ได้กำหนดไว้ได้ โดยการใช้ดุลพินิจ อาศัยเกณฑ์ตามแนวทางคำแนะนำของประธานศาลฎีกา แต่ก็ไม่ได้เป็นกรอบที่ตายตัวมีความยืดหยุ่น ให้ผู้ต้องหาแต่ละคนให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวที่เหมาะสม

ตลอดการชี้แจง มีการโต้แย้งซักถามโดยตัวแทนของกลุ่มสิทธิมนุษยชนและกลุ่มเยาวชน ที่ตั้งคำถามถึงเกณฑ์ต่างๆ โดยระบุว่าจากที่มีการชี้แจงมาทั้งหมด ก็ยังไม่เห็นสิ่งที่เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาทั้งการบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินคดี ตลอดจนการให้หรือไม่ให้ประกันตัวในแต่ละคดีคืออะไรกันแน่ และในหลายกรณียังเต็มไปด้วยความไม่ได้สัดส่วนอีกด้วย

“เมนู” สุพิชฌาย์ ชัยลอม ตัวแทนจากกลุ่มทะลุวัง ระบุว่า ตามหลักของกระบวนการยุติธรรมในคดีอาญา จะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยที่ยังไม่ถูกพิพากษาจนถึงที่สุดเป็นผู้ที่ไม่มีความผิด จะปฏิบัติเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้ กิจกรรมที่ตัวเองและเพื่อนทำจนถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 คือการทำโพล ซึ่งเป็นการตั้งคำถาม สร้างพื้นที่ให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นโดยการติดสติ๊กเกอร์ เป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตัวเองยืนยันและพร้อมต่อสู้คดีว่าไม่ใช่ความผิด การกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ ตามที่ถูกกล่าวหา จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล

‘รุ้ง’ ถาม คิดยังไงเรื่องยกเลิกมาตรา 112 ‘ชัชชาติ’ ตอบ อย่านำความโกรธแค้นเป็นตัวนำ

รุ้ง-ปนัสยา แกนนำม็อบราษฎรโพสต์ทวิตเตอร์ แจงที่ถามชัชชาติเรื่องยกเลิกมาตรา 112 ถามอย่างซื่อๆ แค่อยากรู้ว่าคิดยังไง ไม่คาดหวังคำตอบและไม่ได้โจมตีใคร ด้านชัชชาติบอกดีใจที่ได้เจอ ถามได้ทุกคำถาม

(30 พ.ค.65) จากกรณีที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในงานตลาด (นัด) ราษฎร ที่สวนครูองุ่น ซอยทองหล่อ 3 เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ตอบคำถามที่ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าม็อบราษฎร ถึงประเด็นการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งนายชัชชาติตอบว่า ต้องมีความละมุนละม่อม โดยเริ่มจากการไม่เอามาตรา 112 มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง แม้จะอดทนตั้งแต่ปฏิวัติมา แต่ต้องมียุทธศาสตร์ในการเดิน การแก้แค้นจะดีที่สุดเมื่อตอนที่มันเย็นแล้ว อย่าไปเอาความโกรธความแค้นมาทำ เชื่อว่ามียุทธศาสตร์ในการเดิน แล้วเวลาก็อยู่ข้างพวกเรา

'สุวินัย' มองการโดนคดีม.112ของ 'ปิยบุตร' เป็นโอกาสทองพิสูจน์ความเป็น 'คนจริง'

'สุวินัย' มองอีกมุมการโดนคดีม.112ของ 'ปิยบุตร' คือโอกาสทองที่จะได้พิสูจน์ความเป็น'คนจริง'ชี้ต้องรับผิดชอบในความคิดและการกระทำของตนเอง เหน็บคิดเป็นนักปฏิวัติได้มิใช่เรื่องแปลกแต่อย่าลวงโลกเป็นวิญญูชนจอมปลอม

(17 มิ.ย.65) ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กภายหลังนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เรื่อง "เมื่อผมกลายเป็นผู้ต้องหาในความผิด 112 " มีเนื้อหาดังนี้

ผมว่าคนแต่ละคนมีจุดพีคในชีวิตไม่เหมือนกันนะ

ในกรณีของอาจารย์ปิยบุตร จุดพีคของเขาน่าจะเป็นช่วงปี 2018-9

ในฐานะเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และผู้นำทางความคิดเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศสเพื่อเปลี่ยนแปลงสถาบันกษัตริย์ไทย ที่ทรงอิทธิพลที่สุดต่อคนรุ่นใหม่ในตอนนั้น ... จนเป็นที่มาของขบวนการ"ชูสามนิ้ว(เพื่อล้มเจ้า)" ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตในวันที่ 10 สิงหาคม 2020

วันนี้ อาจารย์ปิยบุตรถูกตั้งข้อหาคดี ม.112 ผมคิดว่าเป็นเรื่องดีที่อาจารย์ปิยบุตรจะยืดอกไปพิสูจน์ตัวเองในศาล เคียงบ่าเคียงไหล่กับพวกลูกศิษย์สาวกจำนวนหนึ่งที่โดนคดี ม.112 ไปก่อนแล้ว ... เพราะอย่างน้อยนี่คือความรับผิดชอบเชิงจริยธรรมของคนที่เคยเป็นครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัย

‘โรม’ เรียกร้อง หยุดใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือทางการเมือง พร้อมถามนายกฯ มีเหตุผลอะไรไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ พรรคก้าวไกล รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีที่มีการแจ้งดำเนินคดีอาญาตาม มาตรา 112 ต่อบุคคลสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มฟลูเอนเซอร์ กรณีที่มีการโฆษณาสินค้าในแอปพลิเคชั่นลาซาด้า รวมกรณี ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการอดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายนี้เป็นรายล่าสุด

รังสิมันต์ กล่าวว่า การตีความประกอบคดี โดยเฉพาะคดีตามมาตรา 112 ยิ่งจำเป็นต้องตีความอย่างเคร่งครัดและต้องชี้ให้ชัดว่ากรณีแบบไหนมีความผิด เพราะสิ่งที่บุคคลเหล่านี้แสดงออกหรือสะท้อนความคิดเห็นผ่านสื่อต่างๆ ไม่มีทางเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 ได้เลย

“ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษคิดเกินเลยมาก ไปใช้จิตนาการมากกว่าพื้นฐานความเป็นจริง กรณีแบบนี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำปัญหาของการใช้มาตรา 112 ที่ทำให้สังคมไทยอยู่ในความหวาดกลัว ซึ่งสังคมที่หวาดกลัวแบบนี้เป็นสังคมที่ไม่ก้าวหน้า ไม่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้สร้างสรรค์เพื่อนำพาประเทศให้ก้าวหน้าไปได้ และยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า การใช้กฎหมาย มาตรา 112 ในการดำเนินคดีโดยไม่ไตร่ตรองเช่นนี้ จะยิ่งทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกตั้งคำถามมากขึ้น”

รังสิมันต์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีของ ปิยบุตร ซึ่งเป็นนักวิชาการกฎหมายมาหลายสิบปี ไม่เคยถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 แต่เมื่อเข้าสู่แวดวงการเมืองกลับมีคดีติดตัว จึงเป็นข้อสังเกตว่า สรุปแล้วการดำเนินคดีตามมาตรา 112 เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองใช่หรือไม่ จึงอยากใช้โอกาสนี้ในการเตือนสติผู้มีอำนาจว่า หากปล่อยให้ใช้ มาตรา 112 แบบนี้ต่อไปจะไม่ยิ่งส่งผลดีต่อพระมหากษัตริย์ ขอวิงวอนให้หยุดใช้ มาตรา 112 เป็นเครื่องมือในการจัดการผู้เห็นต่าง

ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์ทนายสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีการใช้ มาตรา 112 ไปแล้ว 216 คดี ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ประเทศไทยบนเวทีโลกมากมาย เพราะทุกครั้งที่มีวาระด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ประเทศไทยมักจะถูกตั้งคำถามถึงเรื่องนี้อยู่เสมอ หากรัฐบาลมีหัวใจและมีความจริงใจจะบริหารประเทศจริงต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ได้

พิษคอนเทนต์ตีกลับ 'นารา เครปกระเทย' ชีวิตพัง!! ไม่มีงาน ต้องเตรียมเงินสู้คดี112

จากกรณี 'นารา เครปกะเทย' หรือ นายอนิวัต ประทุมถิ่น เน็ตไอดอลชื่อดัง ได้ทำคลิปวิดีโอ และภาพนิ่งโปรโมตแคมเปญลดราคาสินค้าพิเศษ ซึ่งมีลักษณะล้อเลียนผู้พิการและพาดพิงสถาบันเบื้องสูง จนสร้างความไม่พอใจกันอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งบริษัทชื่อดัง ได้ออกแถลงการณ์น้อมรับผิดและเร่งดำเนินระงับการเผยแพร่คลิปทันทีนั้น

โดยล่าสุด นารา เครปกระเทย ได้โพสต์คลิปโปรโมตสินค้า พร้อมทั้งระบายกับมรสุมที่กำลังพบเจอในช่วงนี้ ว่า...

"ขอบคุณทุกกำลังใจ ขอบคุณทุกคนที่บอกใหัสู้  มันเหนื่อยเหลือเกินที่เด็กคนนี้ที่จะรับได้

ตั้งแต่เกิดเรื่องมา นาราไม่มีงานไม่มีเงิน นาราพูดไม่อายหลอก ใครที่ต้องการให้นาราแย่ลง สาปแช่งนารา ด่าว่านารา ตั้งแต่เกิดเรื่องวันนี้ประสบความสำเร็จแล้วนะ หัวเราะได้เต็มที่เลย นาราโดนหมายศาล 7 ทั้งค่าประกัน ทั้งค่าที่ต้องรับผิดชอบคนอื่น และไหน ค่าทนาย นาราไม่เหลือเพื่อนรอบข้าง นาราไม่ได้รับความช่วยเหลือจากใคร แต่สิ่งสุดท้ายที่นาราจะทำ คือ ช่วยตัวเอง นาราขอขายของนารา สุดท้ายเพื่อไปช่วยเหลือสังคมอีก 3 ที่ และเตรียมเงินสู้คดี 112 ก่อนที่หนูคนนี้จะกลับไปขายเครปเหมือนเดิม วันที่เราไม่เหลือใคร หันไปไม่เจอใคร ทุกคนรู้ไหมมันโครตเจ็บใจ โครตเสียใจที่สุด แต่เราหมดค่าแล้ว ใครเขาอยากจะมีเรา ทุกอย่างที่สร้างมามันไปหมดแล้ว หวังว่า ผู้ใหญ่ทุกคนที่ต้องการให้ นาราเป็นแบบไหน สะใจแล้วนะ โอเคแล้วนะ ปล่อยให้หนูไปทำมาหากินเถอะ..."

เรื่องวุ่นๆ กรุงเทพกลางแปลง หลังคนคลองเตยไล่กลุ่มยกเลิก 112 ที่เตรียมเปิดบูทรำลึก 'วัฒน์ วรรลยางกูร’ ผู้เขียนนิยายมนต์รักทรานซิสเตอร์

กลายเป็นเรื่องวุ่นๆ ในการจัดงานกรุงเทพกลางแปลงที่ศูนย์เยาวชนคลองเตย หลังกลุ่มเคลื่อนไหวยกเลิกมาตรา 112 ถูกปฏิเสธตั้งบูทรำลึกผู้เขียนนิยายมนต์รักทรานซิสเตอร์ เหตุนำลูกโป่งข้อความ 'วัฒน์ วรรลยางกูร ยกเลิก 112' เข้ามา ฟากคนคลองเตยขับไล่ ถามสรุปให้ฉายหนังหรือมาการเมือง ขณะที่ 'ปิยบุตร-เจี๊ยบ คลองถม' ได้ทีขยี้ เปรียบเหมือนตัวละครถูกไล่ ส่วน 'จอม ไฟเย็น' เผยเบื้องหลังจะเปิดตัววงดนตรี 'กิโยติน' เตรียมเพลงไว้แล้ว แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้น

วันนี้ (16 ก.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า จากกรณีที่กรุงเทพมหานครได้จัดกิจกรรม "กรุงเทพกลางแปลง" ฉายหนังกลางแปลงทั่วกรุงเทพฯ ตามนโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความสุขให้คนกรุงเทพฯ และกระตุ้นเศรษฐกิจ ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ศูนย์เยาวชนคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ ได้มีการจัดงานฉายหนังกลางแปลง เรื่อง 'มนต์รักทรานซิสเตอร์' แต่ปรากฏว่าในช่วงเย็นได้มีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า 'กลุ่มนาดสินปฏิวัติ' นำโดย น.ส.กัลยมน สุนันท์รัตน์ หรือมิ้นท์ ฉายาเจ๊เขียว นำลูกโป่งข้อความ 'วัฒน์ วรรลยางกูร ยกเลิก 112' เข้ามาในพื้นที่งาน แต่ทางผู้จัดงานที่ได้รับมอบหมายจากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยไม่อนุญาตให้เข้ามาทำกิจกรรม จึงเกิดการโต้เถียงกัน

ขณะที่นางวรวรรณ แซ่อั้ง หรือ 'ป้าเป้า' ผู้สูงวัยที่เป็นขวัญใจผู้ชุมนุมกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าราษฎร ได้มีปากเสียงกับชายชาวคลองเตยรายหนึ่ง ต่อมาชาวคลองเตยหลายรายรวมตัวกันไล่กลุ่มนาดสินปฏิวัติ และป้าเป้าออกจากพื้นที่ โดยชาวคลองเตยคนหนึ่งตะโกนว่า "สรุปแล้วนี่มาฉายหนังให้ดูหรือมาการเมือง" ขณะที่ตำรวจ สน.ท่าเรือได้ยึดลูกโป่งดังกล่าว ก่อนที่แกนนำจะตามไปรับคืน

ทันทีที่เรื่องนี้เกิดขึ้น เฟซบุ๊ก 'Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล' ของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ก็ได้โพสต์ข้อความ เราต่างมีโอกาสกลายเป็น “แผน” และ “บักเสี่ยว” โดยระบุว่า ในภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ซึ่งนำมาจากนวนิยายของนายวัฒน์ วรรลยางกูร มีฉากหนึ่งที่ “แผน” และ “บักเสี่ยว” หลบหนีออกจากงานตัดอ้อยได้ “บักเสี่ยว” มีเรื่องทะเลาะกับเจ้าของไร่อ้อย “แผน” เข้าไปช่วย “บักเสี่ยว” จนเกิดการมะรุมมะตุ้มกัน แผนและบักเสี่ยววิ่งหนีออกจากไร่อ้อย หลบขึ้นรถบรรทุกเข้าไปถึงในเมือง เร่ร่อน นอนข้างทาง คุ้ยหาของในขยะ จนได้เข้าไปในงานเลี้ยงไฮโซที่ให้ผู้ร่วมงานแต่งชุดแฟนซี และจัดระดมทุนให้คนบริจาคทำบุญช่วยเหลือผู้ยากไร้

ด้วยสภาพการแต่งกายของแผนและบักเสี่ยว ที่มอมแมม สกปรก เสื้อขาด อันเนื่องมาจากการทำงานในไร่อ้อยและหลบหนีออกมา นอนข้างถนน ทำให้คนที่มาร่วมงานเลี้ยงเข้าใจว่าทั้งสองคือแขกที่ได้รับเชิญมาร่วมงาน และเลือกแต่งแฟนซีสไตล์คนจน ไร้บ้าน เมื่อเป็นเช่นนั้น แผนและบักเสี่ยวเลยทำเนียนอยู่ในงาน มีผู้รากมากดี ไฮโซ เข้ามาคุยกับเขามากมาย ยกยอปอปั้น แนะนำตัวตามประสางานปาร์ตี้ไฮโซ ทั้งสองคนกินอาหารด้วยความหิวโหย ในที่สุด พวกเขาก็ถูกจับได้ เลยโดนคนจัดงานหิ้วตัวโยนออกมา จากเสียงอ่อนหวานแนะนำตัวโอภาปราศรัยตามสำเนียงผู้รากมากดีของบรรดาแขกเหรื่อ ก็กลายเป็นเสียงก่นด่าสาปส่งใส่แผนและบักเสี่ยวแทน จากงานบุญให้ “คนรวย” สำลักความดีด้วยการช่วย “คนจน” ก็กลายเป็น งานบุญที่ให้ “คนรวย” ไล่ “คนจน” ออกจากงาน

เมื่อเย็นวันที่ 15 ก.ค. กรุงเทพมหานครจัดฉาย “หนังกลางแปลง” ที่คลองเตย ตามแนวนโยบายการเปิดพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพมหานครของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้คนกรุงเทพฯ ได้พักผ่อนหย่อนใจและได้เสพงานศิลปวัฒนธรรม กำหนดการฉาย เป็นภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” มีผู้กำกับ ดารานำชาย หญิง ร่วมสนทนา ก่อนเริ่มงาน มีนักกิจกรรมถือลูกโป่งรูป วัฒน์ วรรลยางกูร พร้อมข้อความยกเลิกมาตรา 112 พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้างาน ส่วนในโลกออนไลน์ ความเห็นที่ปรากฏในไลฟ์ และรายงานข่าวมีคนมากมายบอกว่า…พวกนี้ไม่รู้จักกาลเทศะ ไม่รู้หรือไงว่าเขาฉายหนังไม่ใช่งานการเมือง อยากรณรงค์ยกเลิก 112 ไปทำที่อื่น บางคนไปไกลขนาดว่า เดี๋ยวผู้ว่าฯ ของเราจะเดือดร้อน … เราทุกคนต่างก็มีโอกาสกลายเป็นแผนและบักเสี่ยว

'อัษฎางค์' เปิดถ้อยคำทูตสหรัฐฯ คนใหม่ "สหรัฐฯ เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย"

(19 ก.ค. 2565) อัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค ระบุว่า “ความพยายามในการทำให้การละเมิดกฎหมาย เป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ของฝ่ายที่เรียกตนเองว่า ฝ่ายปฏิรูป

ข่าวที่นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค Robert F. Godec เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนใหม่ ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภาสหรัฐ

ไม่มีประเด็น ม.112 แต่อย่างใด

แต่ที่เกิดประเด็นขึ้นนั้น เกิดมาจากการตีไข่ใส่ซีอิ๊วน้ำปลาของพวกที่ต่อต้าน ม.112 และเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น

อย่าตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดี ที่ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว

กล่าวคือ ฝ่ายที่ต่อต้าน 112 และสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ตีปีกฮึกเหิมว่าอเมริกาแสดงท่าทีเข้าข้างพวกตน ส่วนฝ่ายที่จงรักภักดีก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ว่าสหรัฐฯ ก้าวก่าย

ซึ่งข่าวนี้ได้รับการยืนยันจากวงในว่า ไม่มีอะไรในกอไผ่ มีแต่การบิดเบือนสาระสำคัญจากถ้อยคำของเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ของฝ่ายปฏิกษัตริย์นิยมเท่านั้น

ท่านทูตโกเดคกล่าวเพียงว่า

“The United States respects the institution of the Thai monarchy and we understand the esteem with which the Thai people hold the royal family.

สหรัฐฯ เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย และเรา (สหรัฐฯ) เข้าใจดีว่าคนไทยเทิดทูนราชวงศ์

Freedom of expression is critical.

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นเรื่องสำคัญ

and I would emphasize both publicly and privately the importance of allowing people to freely express their ideas without threat of arrest.”

และผมเน้นย้ำทั้งต่อสาธารณะและโดยส่วนตัวถึงความสำคัญในการให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี โดยปราศจากการข่มขู่ว่าจะจับกุม

จะเห็นได้ว่า ท่านทูต เกริ่นมาตั้งแต่ต้นว่า

สหรัฐฯ เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย และสหรัฐฯ เข้าใจดีว่าคนไทยเทิดทูนราชวงศ์

ดังนั้น ในเมื่อคนไทยเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วจะมีเหตุผลใดที่คนไทยจะใช้ความมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

ในทางเดียวกัน จะมีเหตุผลใดที่รัฐหรือสถาบันพระมหากษัตริย์จะข่มขู่ว่าจะจับกุมคนไทยซึ่งเทิดทูนสถาบันฯ

ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐอเมริกาได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้นำของโลกเสรีนิยม ซึ่งสนับสนุนให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี “ภายใต้กรอบของกฎหมาย” โดยปราศจากการข่มขู่ว่าจะจับกุม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top