Friday, 10 May 2024
ม112

‘ก้าวไกล’ กังวล ‘อานนท์’ โดนคุก 4 ปี ชี้!! ปัญหาเกิดจาก 112 จ่อยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม-สะสางคดีทางการเมืองทั้งหมด

‘ก้าวไกล’ กังวล ‘ทนายอานนท์’ ถูกตัดสินจำคุก 4 ปี ชี้ ปัญหามาจากการใช้ ม.112 ปิดปากประชาชนคนเห็นต่าง เตรียมยื่นร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม-สะสางคดีความทางการเมืองทั้งหมดในห้วงความขัดแย้ง เรียกร้อง ‘เศรษฐา’ เดินหน้าบรรเทาการใช้กฎหมายละเมิดสิทธิเสรีภาพ

(26 ก.ย. 66) พรรคก้าวไกลและนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็น กรณีนายอานนท์ นำภา นักเคลื่อนไหว ถูกศาลอาญาตัดสินจำคุก 4 ปี ในคดีความผิดตามมาตรา 112 จากการปราศรัยหมิ่นเบื้องสูง ว่า…

“คดี 112 ของอานนท์ นำภา สะท้อนปัญหาการใช้กฎหมายละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน ที่รัฐมิอาจเพิกเฉยอีกต่อไป

วันนี้ ศาลอาญา รัชดาฯ ได้พิพากษาจำคุกอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมือง เป็นเวลา 4 ปี ด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการปราศรัยเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563

พรรคก้าวไกลกังวลอย่างยิ่งต่อคำพิพากษานี้ เพราะนี่เป็นอีกครั้งที่พลเมืองไทยถูกตัดสินจำคุกจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อันเป็นเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และการปราศรัยของอานนท์ ก็เป็นการพูดหลักการและเหตุผล ไม่ควรถือเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และไม่ได้เป็นการแสดงความ ‘อาฆาตมาดร้าย’ ต่อองค์พระมหากษัตริย์

ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลทุกรัฐบาลพยายามไม่รับรู้ว่ากฎหมาย 112 มีปัญหา แต่นับวัน ปัญหานี้ยิ่งเด่นชัดขึ้น และการใช้ 112 ปิดปากผู้เห็นต่าง กำจัดศัตรูทางการเมือง กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมเริ่มตั้งคำถามถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงวันนี้ พรรคก้าวไกลเชื่อว่าประชาชนจำนวนมากตระหนักดีว่ากฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง แม้ว่าผู้มีอำนาจจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม

รัฐบาลชุดใหม่บอกว่าจะสร้างความปรองดองในสังคม ซึ่งพรรคก้าวไกลเชื่อว่า สังคมไทยไม่สามารถเดินหน้าไปสู่ความปรองดองได้ โดยปราศจากการสร้างความยุติธรรมและทิ้งปมปัญหานี้ไว้ใต้พรม

ดังนั้น การเสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 จะยังคงเป็นภารกิจของผู้แทนราษฎรก้าวไกล เพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองด้วยกระบวนการทางประชาธิปไตยและกลไกของระบบรัฐสภา และขอยืนยันว่า การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่พรรคเสนอ จะไม่กระทบต่อพระราชสถานะขององค์พระประมุข แต่จะยังส่งเสริมความสัมพันธ์ที่มั่นคงระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนในประเทศไทยอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 จะใช้เวลานาน และไม่ใช่ภารกิจที่จะสำเร็จโดยง่าย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากพรรคการเมืองอื่น และถึงแม้จะแก้ได้สำเร็จ ก็ยังมีประชาชนอีกจำนวนมาก ที่ถูกตัดสินจำคุกไปแล้วจากกฎหมายนี้ รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือกำจัดและปิดปากผู้เห็นต่างกับอำนาจรัฐ เช่น กฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

เพราะฉะนั้น พรรคก้าวไกลจึงเตรียมยื่นร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมคดีการเมือง เพื่อชำระสะสางคดีความทางการเมืองทั้งหมดในห้วงความขัดแย้งตลอดกว่าทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีคณะกรรมการอันประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ทำหน้าที่พิจารณาหลักเกณฑ์การนิรโทษกรรมอย่างเป็นธรรม

สุดท้าย พรรคก้าวไกลขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ว่าสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ทันที เพื่อบรรเทาการใช้กฎหมายละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน คือการออกนโยบายสำหรับคดีการเมืองที่ยังไม่ขึ้นสู่ชั้นศาล ป้องกันไม่ให้มีการฟ้องคดีอย่างมิชอบด้วยกระบวนการและการบังคับใช้โดยใช้กฎหมายที่กลายเป็นการละเมิดเสรีภาพประชาชน ที่ผ่านมา ตำรวจและอัยการมีอำนาจในการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องคดี หากเห็นว่าไม่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย แต่เมื่อเป็นคดีความมั่นคง 112 หรือ 116 ก็มักสั่งฟ้อง ทำให้กลายเป็นภาระของประชาชนที่ต้องเสียทรัพยากรและเวลาต่อสู้ในชั้นศาล

ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่การกระทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือการคืนความเป็นนิติรัฐให้กับประเทศไทย คืนความเชื่อมั่นศรัทธาที่ประชาชนมีต่อระบบตุลาการและทุกสถาบันหลักของประเทศ เพราะความอยุติธรรมต่อคนคนหนึ่ง เท่ากับความอยุติธรรมต่อพลเมืองทุกคน”

'ผศ.ดร.อานนท์' โพสต์!! เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในคดี กรณี 'อานนท์ นำภา' ถูกจำคุก 112 ไม่รอลงอาญา 4 ปี

(27 ก.ย. 66) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก 'Arnond Sakworawich' ระบุว่า...

คดีที่อานนท์ นำภา ถูกศาลพิพากษาจำคุกมาตรา 112 ป.อาญา ไม่รอลงอาญา 4 ปีนั้น อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในคดีนี้เองครับ และทนายอานนท์ นำภา เป็นทนายความว่าความให้ตัวเองด้วยตัวเองด้วยครับ

นอกจากนี้ ผศ.ดร.อานนท์ ยังได้ยกข้อความปราศรัยช่วงหนึ่งของนายอานนท์ นำภา อีกด้วย ระบุว่า…

นอกจากนี้ อัยการยังเห็นว่าอานนท์ปราศรัยเข้าข่ายความ ผิดตามมาตรา 112 โดยกล่าวคำปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงในพื้นที่ชุมนุมว่า "ข้อที่ 3 มาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ข้อเรียกร้องมีสามข้อเท่านั้น วันนี้ จะไม่เหมือนเมื่อวานเพราะพี่น้องที่มาจากต่างจังหวัดทยอยมาสมทบกันเรื่อย ๆ และ นิสิตนักศึกษาก็ทยอยมาเรื่อย ๆ ถ้ามีการสลายการชุมนุมวันนี้ คนที่จะสั่งสลายการชุมนุมมีเพียงคนเดียว คือ ถ้ามีการสลายการชุมนุม ไม่ต้องไปหาคนอื่นใด"

"อย่างที่ผมเรียนไว้ ถ้ามีการสลายการชุมนุม คนอื่นจะสั่งไม่ได้นอกจาก…"

“อย่างที่บอกถ้าวันนี้มีการสลายการชุมนุม คนที่จะสั่งได้คนเดียว คือ…ให้รู้ไว้เช่นนั้น"

ข้อความข้างต้น อัยการเห็นว่าไม่ใช่การกระทำหรือเป็นการแสดงความคิดเห็นและติชมโดยสุจริต เป็นการใส่ร้ายกษัตริย์ ทำให้กษัตริย์เสื่อมเสีย ถูกเกลียดชัง และทำให้ประชาชนหลงเชื่อข้อความที่จำเลยได้พูดออกไป ทำให้ไม่เป็นที่เคารพสักการะต่อกษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

‘หมอระวี’ ชำแหละแผนนิรโทษ ‘ก้าวไกล’ ชง!! 112 แต่ไม่พ่วง 113 เชื่อ!! โดนตีตก

(6 ต.ค. 66) นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ซึ่งเคยยื่นเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม เข้าสภาฯ สมัยที่ผ่านมา เรียกว่า ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. …. โดยมีหลักการคือ ให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน แต่ไม่ทันได้พิจารณาเพราะยุบสภา กล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกลเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ของพรรคก้าวไกล ครอบคลุมถึงให้นิรโทษกรรมผู้กระทำผิดมาตรา 112 ด้วย แต่สิ่งที่หลายคนไม่คาดคิดก็คือ เนื้อหาในร่างดังกล่าว ไม่นิรโทษกรรมคนที่ถูกดำเนินคดี ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 เช่นคนที่โดนดำเนินคดีข้อหากบฏ อย่างกลุ่มแกนนำ กปปส. ที่โดนฟ้องข้อหา 113 ด้วย

สำหรับการเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกลครั้งนี้ มองว่าจะเป็นกดดันทางการเมืองกับพรรคฝ่ายรัฐบาลว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ประกบเข้าสภาฯ หรือไม่ ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลคงต้องคุยกันว่าจะเอาอย่างไร แต่ก่อนหน้านี้ ตนได้เคยไปยื่นร่างนิรโทษกรรมฯ ที่เป็นร่างเดิมที่เคยยื่นตอนสภาฯ สมัยที่ผ่านมา ไปให้วิปรัฐบาลพิจารณาเมื่อ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหานิรโทษกรรมคดีทางการเมืองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทางแพ่งหรืออาญา ยกเว้นคดีทุจริต คดีความผิดอาญาที่รุนแรง และคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112

หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า คาดว่าอาจจะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของฝ่ายปีกรัฐบาล ยื่นไปประกบกับร่างของพรรคก้าวไกล ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้คือ หากฝ่ายค้านเสนอร่าง พ.ร.บ. อะไรที่สำคัญ และจะมีผลใดๆ ตามมา ฝ่ายรัฐบาลจะเสนอร่าง พ.ร.บ. ประกบไปด้วย แต่จะมีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคการเมืองอื่นๆ เสนอไปประกบด้วยหรือไม่ ต้องรอดู เพราะตามหลักฝ่ายรัฐบาลคงไม่เอาด้วยกับการให้นิรโทษกรรมไปถึงคดี 112 จะทำให้ฝ่ายรัฐบาลต้องเสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรมประกบเข้าไป เพื่อไม่ให้ไปถึงนิรโทษกรรมคดี 112 ซึ่งหากจะให้ดี ควรเสนอเข้าสภาฯให้เป็นร่างของรัฐบาล จะดีกว่าที่จะเสนอโดยพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล โดยฝ่ายรัฐบาลต้องไปคิดกันว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่มีเนื้อหาแบบใด จะร่างขึ้นมาใหม่เลย หรือจะใช้ร่างเดิมของตนที่เสนอต่อสภาฯ ซึ่งมีการรับฟังความคิดเห็นมาแล้วก็สามารถทำได้ โดยอาจไปแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อย แต่หลักการของพรรคฝ่ายรัฐบาลน่าจะใกล้เคียงกับร่างที่ตนยื่นไป ซึ่งไม่ให้นิรโทษกรรมคดี 112

นพ.ระวี กล่าวว่า เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของพรรคก้าวไกล ครอบคลุมถึงการนิรโทษกรรมทั้งคดีแพ่งและอาญา ทำให้ก่อนจะบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ จะต้องมีการไปรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องประมาณร่วมสิบหน่วยงาน จะใช้เวลาอีกประมาณ 2 - 3 เดือน จากนั้นเมื่อมีการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมฯ ทางฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศเป็นรัฐบาลปรองดอง คงจะยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประกบกับร่างของพรรคก้าวไกล เข้าไปอีกหนึ่งร่าง

“เมื่อพรรคก้าวไกลเปิดเกม ด้วยการไม่นิรโทษกรรมคดี 113 ก็คาดว่าพรรคร่วมรัฐบาลน่าจะยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ไม่ให้ครอบคลุมถึงคดี 112 ส่วนความผิดมาตรา 113 ก็ให้นิรโทษกรรมตามปกติ สรุปก็คือ จะมีความแตกต่างกันในเรื่อง 112 กับ 113 คือของก้าวไกล ให้นิรโทษกรรม 112 แต่ไม่นิรโทษกรรม 113 แต่ร่างของฝ่ายปีกรัฐบาล คาดว่าจะไม่ให้นิรโทษกรรม 112 แต่คนที่โดนคดี 113 จะได้นิรโทษกรรมด้วย” หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ระบุ

อย่างไรก็ตาม หากสุดท้าย ถ้ามีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าสภาฯ แค่สองร่าง คือร่างของก้าวไกลกับร่างของฝ่ายรัฐบาล โดยไม่มีพรรคการเมืองอื่น ๆ เสนอมาด้วย จะทำให้สภาฯ พิจารณากันแค่สองร่าง ทำให้สองร่างดังกล่าวก็ต้องสู้กันตอนพิจารณาของสภาฯ วาระแรก ต้องรอดูว่าสภาฯ จะโหวตรับหลักการวาระแรก แค่ร่างใดร่างหนึ่งหรือจะให้ผ่านทั้งสองฉบับ คือร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล ก็ผ่านด้วย ถ้าแบบนี้ ตอนพิจารณาในชั้นกรรมาธิการฯ ก็ต้องไปดีเบตกันว่า จะให้นิรโทษกรรมคดี 112 อย่างไร ไม่ให้นิรโทษกรรม 113 อย่างไร เพราะตามหลักกฎหมาย ถ้าร่างฯ ผ่านสภาวาระแรก ก็ต้องพิจารณาภายใต้หลักการที่ผ่านวาระแรกมา

“แต่หากให้ผมประเมิน ก็คิดว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของก้าวไกล จะโดนตีตกในวาระแรก โดยสภาฯ จะรับหลักการแค่ร่างของฝ่ายรัฐบาล อันนี้เป็นการคาดการณ์ แล้วสภาฯ ก็พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของฝ่ายรัฐบาลต่อไปในชั้นกรรมาธิการและวาระสามต่อไป และส่วนตัวมองว่า การที่ก้าวไกล ไม่ให้นิรโทษกรรม 113 คนที่โดนไปเต็ม ๆ ก็คือ แกนนำ กปปส. ที่โดนฟ้องเป็นจำเลยในคดี 113 ข้อหากบฏ”นพ.ระวี กล่าวเชิงวิเคราะห์

‘วารุณี’ ยุติ ‘อดข้าว-น้ำ’ ประท้วง หลังศาลไม่ให้ประกันตัว ยัน!! ไม่ได้ละทิ้งอุดมการณ์ แต่สู้แบบทรมานไม่มีประโยชน์

(16 ต.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ภาพและข้อความแถลงการณ์วารุณี ผู้ต้องการคดี ม.112 ผ่านทวิตเตอร์ (X) ‘ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน’ ระบุว่า

“แถลงการณ์จากวารุณี

หลังจากอดอาหารมาระยะหนึ่ง แต่ศาลก็ยังคงยืนยันคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ตลอดการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทำให้เราได้เห็นผู้ต้องขังหลายคนเสียชีวิตในขณะที่ยังเป็น ‘นักโทษ’ อยู่ แม้แต่ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตพวกเขาก็ยังคงไร้ซึ่งอิสรภาพ

การได้เห็นญาติของคนที่จากไปร้องไห้เสียใจจนใจแทบขาด ทำให้เราคิดได้ว่าถ้าเราตายไปตอนนี้จะเท่ากับว่าเราลาจากครอบครัวและคนที่เรารักไปตลอดกาล สิ่งที่ได้กลับมาคงจะมีแต่ความโศกเศร้าของคนที่รักเรา เราคงจะไม่มีโอกาสได้เห็นประชาธิปไตยเต็มใบ คงหมดโอกาสได้เห็นประเทศพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

เพื่อน ๆ ผู้ต้องขังทางการเมืองหลายคนให้กำลังใจและบอกกับเราว่าไม่ควรเอาชีวิตมาแลกกับสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้ตั้งแต่แรกด้วยซ้ำแบบนี้

…ต่อให้เราสู้ด้วยวิธีไหน มันก็ยากมากที่จะชนะ หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำที่จะชนะ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราไม่มีทางออกเลยซะทีเดียว

เราคิดว่าสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดตอนนี้ คือ ‘ต้องเข้มแข็งและอดทน’ อยู่ในคุกให้มีความสุขที่สุด…ในเดือนแรก ๆ เราทุกข์มาก แต่นี่เดือนที่ 3 ได้ผ่านไปแล้ว ไม่มีประโยชน์ที่จะมานั่งทรมานอีกแล้ว เราจะอยู่ให้มีความสุข กินให้อิ่ม นอนให้หลับ รักษาตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อที่ในวันที่เราได้ออกไปกอดคนที่เรารัก จะได้กอดได้ครบทุกคน

เราขอตัดสินใจอีกครั้ง ขอแจ้งยุติการอดอาหารและจำกัดการดื่มน้ำประท้วง นับตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค. เป็นต้นไป เราขอยืนยันว่าไม่ได้ละทิ้งอุดมการณ์หรือจุดยืนที่เคยมี เพียงแต่เราเลือกที่จะเปลี่ยนไปเล่นเกมนี้อย่างมีความสุขก็เท่านั้น

‘ความสุข’ คือ เกราะป้องกันความชั่วร้ายได้ ยิ่งเรามีความสุขได้มากเท่าไหร่ ความชั่วร้ายก็จะไม่มีวันทำอะไรได้อีก

แล้วพบกันนะ อิสรภาพของฉัน

เหตุผลประกอบการตัดสินใจ

-ศาลยังคงยืนยันคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมา แม้จะยื่นประกันตัวไปถึง 7 ครั้งแล้ว

-สถานการณ์การเมืองไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น ยังคงมีคนต้องเข้าเรือนจำเพราะคดีมาตรา 112 เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อเข้าเรือนจำแล้วก็มีแนวโน้มไม่ได้ประกันตัวเลย

-ครอบครัวเราสูญเสียแม่ไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทุกคนยังบอบช้ำและยังไม่พร้อมกับความสูญเสียอีกครั้ง โดยเฉพาะน้องสาวกับน้องชาย

-เราคิดว่าตอนนี้เราเข้มแข็งมากพอที่จะใช้ชีวิตในเรือนจำได้แล้ว

-ชีวิตคนเราคงจะมีบ้างที่สะดุดล้ม แต่เราจะลุกยืนขึ้นและก้าวเดินต่อไปได้อย่างระมัดระวังอีกครั้งเสมอ

ลุ่มหลง สันดาน อคติ วิธีคิด ความเชื่อ ‘คนใน 14 ล้าน’ VS ‘คนนอก 14 ล้าน’

14 ล้านเสียง ส่วนลึกอาจจะเกลียดสถาบันกษัตริย์ และอยากให้ล้มล้าง ทำลาย เพื่อไปสู่การปกครองแบบอื่น แต่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก ได้แต่แอบๆ แฝงตัวกลมกลืนไปกับสังคมแบบเนียนๆ จึงเลือก ‘พรรคล้ม 112’ ให้มาทำหน้าที่แทน แต่ ‘คนนอก 14 ล้าน’ เขาอยากให้ดำรงสถาบันฯ ไว้ ด้วยความรัก และศรัทธา

14 ล้านเสียง บางคนอาจจะรักสถาบันฯ แต่ก็ ‘เบาปัญญา’ และ ‘ตื้นเขิน’ จนดูไม่ออกสักนิดเลยว่าได้เลือกกลุ่มคนที่คิด ‘ล้มล้างสถาบัน’ ที่ตนเองรักเข้ามา ผ่านความปลิ้นปล้อน กะล่อน กลิ้งกลอก และซ่อนเร้น แต่ ‘คนนอก 14 ล้าน’ เขาดูออก วิเคราะห์ขาด และมองว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นอันตรายต่อประชาชน และประเทศชาติของเรา

14 ล้านเสียง อาจจะไม่คิดว่าสถาบันฯ มีความเกี่ยวข้อง และมีคุณค่าต่อคนไทยเราทุกคน แต่ ‘คนนอก 14 ล้าน’ ส่วนใหญ่ เขากลับคิดว่าคนไทยทุกคนต่างเป็น ‘หนี้บุญคุณ’ สถาบันกษัตริย์ จึงรู้สึกซาบซึ้ง และภูมิใจที่ได้เกิดมาบนผืนแผ่นดินไทยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

14 ล้านเสียง ที่เคยบอกรักในหลวง และร้องห่มร้องไห้ตอนปลายปี 2559 แต่ก็เลือก ‘พรรคล้มสถาบัน’ ให้เข้ามา จึงดูเป็นคนย้อนแย้ง ไม่จริงใจ ไม่น่าคบค้าสมาคม แต่ ‘คนนอก 14 ล้าน’ เขาจะไม่มีทางหันมอง หรือสนับสนุน ‘พรรคล้มสถาบัน’ และเห็นแน่ชัดว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่หวังดีต่อสังคมไทย

14 ล้านเสียง อาจจะชอบให้แก้กฎหมายหมิ่นบุคคลธรรมดาให้โทษเบาลง แต่ ‘คนนอก 14 ล้าน’ เขาไม่เห็นด้วย และคิดว่าสังคมไทยจะวุ่นวายมากขึ้น ต่อ ๆ ไปคนเราจะด่ากัน หมิ่นประมาทกันได้รายวัน และรอดพ้นความผิดเพียงแค่มีเงิน

14 ล้านเสียง อาจจะเลือก ‘พรรคล้มสถาบัน’ เพราะเชื่อว่านโยบายต่างๆ จะทำได้จริง แต่ ‘คนนอก 14 ล้าน’ เขาไม่โง่เชื่อแบบนั้น เพราะไม่มีทางที่นโยบายที่ดี ถ้าตกอยู่ในมือของคนที่โกหกเป็นอาชีพ ก็ไม่มีทางที่จะเป็นจริงได้ ดังวลีที่ว่า ‘คนโกหกไม่ทำชั่วนั้นไม่มี’

14 ล้านเสียง จำนวนไม่น้อย อาจจะเลือก ‘พรรคล้มสถาบัน’ เพราะตามเพื่อน ตามลูก ตามผัว หรือตามกระแสสังคมที่ตื่นเต้นไปกับสิ่งใหม่ โดยที่ไม่คิดศึกษา ลงลึก ใส่ใจวิเคราะห์อย่างละเอียด ที่สุดก็ปล่อยให้ ‘พรรคล้มสถาบัน’ เข้ามาสร้างความปั่นป่วนให้กับสังคมไทย และตนเองก็ไม่มาใส่ใจดูแล หรือสำนึกผิด แต่ ‘คนนอก 14 ล้าน’ เขาศึกษามาดี และเสียสละเวลาในชีวิตคอยอยู่รับมือ คอยตั้งรับ คอยปกป้อง คอยต่อสู้ในสิ่งที่เขาไม่ได้เลือกอย่างกล้าหาญ และไม่เคยกลัวว่าชีวิตจะมีปัญหา

14 ล้านเสียง อาจจะชอบให้ ‘พรรคล้ม 112’ ที่ตนเองเลือก ทำการล้างสมองเยาวชนของชาติ ให้ไปขีดเขียนกำแพงวัดพระแก้ว หลอกเด็ก ๆ ให้ไปทำในเรื่องที่ทำลายวัฒนธรรมอันดีงาม ทำสิ่งที่ขัดต่อกติกาสังคม และออกหน้าแทนในที่ชุมนุมเพื่อ ‘ล้ม 112’ แต่ ‘คนนอก14 ล้าน’ เขาสงสาร และเป็นห่วงเด็กๆ ที่ยังอ่อนเดียงสา ด้วยเด็กๆ ไม่มีทางรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของ ‘นักการเมืองใจอำมหิต’ และสุดแสนจะ ‘ขี้ขลาด’ เหล่านี้ จึงถือว่าเป็น ‘กลุ่มนักการเมืองรุ่นใหม่’ ที่มีจิตใจต่ำ และไร้ความจริงใจต่อคนร่วมชาติอย่างไม่น่าให้อภัย

14 ล้านเสียง อาจจะชอบให้ ‘พรรคล้มเจ้า’ รับเงินจากชาติตะวันตก มาทำลายประเทศไทยของตัวเอง แต่ ‘คนนอก 14 ล้าน’ เขารู้เท่าทัน และพร้อมจะปกป้องประเทศไทยของเขาเท่าชีวิต

14 ล้านเสียง อาจจะชอบให้มีการแบ่งแยกดินแดนไทย และอาจจะหลงลืมเลือดเนื้อของบรรพบุรุษที่สละแลกเพื่อมาให้แผ่นดินไทยดำรงอยู่ แต่ ‘คนนอก 14 ล้าน’ เขามีสามัญสำนึก เขาไม่เคยลืม ยังคงเดินหน้าปกป้อง รักษาไว้ดังเดิม ไม่ปล่อยให้คนโฉดชั่วมากัดเซาะทำลาย ด้วยเขารักแผ่นดินชาติ เกินกว่าจะแยกขาดออกจากกันได้

คนใน 14 ล้าน กับ เรา จึงต่างใจกันมาก

ส่วนตัวผมจึงไม่ศรัทธา ‘คนไทยหัวใจอุบาทว์’ เช่นนี้

‘ธนกร’ เห็นด้วย ‘ชัยธวัช’ คุยฝ่ายเห็นต่างนำไปสู่ความปรองดอง แต่ กม.นิรโทษกรรม ต้องไม่เหมารวม คดี ม.112 ลั่น!! ค้านถึงที่สุด

(26 พ.ย. 66) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินสายไปพบและรับฟังความเห็น ฝ่ายต่างๆ ทั้งคนเสื้อแดง กลุ่มพันธมิตรฯ กปปส. ว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีที่นายชัยธวัช ไปรับฟังทุกฝ่าย ก่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ระหว่างรอเปิดสมัยประชุมสภา ซึ่งจะทำให้แต่ละฝ่ายเข้าใจเนื้อหาเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมคดีทางการเมืองดีมากขึ้น หากมีวัตถุประสงต์หวังให้เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดกระบวนการปรองดองทางการเมือง จะต้องเป็นการดำเนินการเพื่อคนทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ไม่ใช่มีผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มตัวเองแอบแฝง ควรทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ

เมื่อถามว่า แต่ดูเหมือนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล จะมุ่งปลดล็อกคดีมาตรา 112 นายธนกร กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวหากจะสร้างความปรองดองแก่ทุกฝ่ายทางการเมือง ที่เห็นต่างถือว่ายอมรับได้ แต่ต้องไม่ใช่ความผิดจากการกระทำที่ความรุนแรง และต้องไม่ละเมิดกฎหมายความมั่นคงแห่งรัฐ โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีไว้เพื่อปกป้องประมุขแห่งรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องการเมือง ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งหากจะมีการนิรโทษความผิดในมาตรา112

“หากพรรคก้าวไกลจะผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อช่วยกลุ่มผู้สนับสนุนให้พ้นความผิดในมาตรา112 นั้น ผมขอคัดค้าน เพราะเป็นการเหยียบย่ำจิตใจคนไทยทั้งชาติที่รัก เทิดทูนสถาบันฯ การเดินสายรับฟังความเห็นคนทุกสีเสื้อ ทุกกลุ่มของก้าวไกล แต่จะนำมาอ้างว่าทุกฝ่ายเห็นด้วยคงไม่ใช่ ผมเชื่อว่า สภาก็จะไม่เห็นด้วย จึงขอให้พรรคก้าวไกลพูดให้ชัดในเรื่องนี้ หากรวมคดีม.112 ด้วย ผมรับไม่ได้และขอคัดค้านแน่นอน” นายธนกร กล่าว

‘ชัยธวัช’ อ้าง!! นิรโทษกรรมคดี ม.112 นำไปสู่ความปรองดอง พร้อมธำรงรักษาให้พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ

(1 ธ.ค. 66) นายธชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง ‘นิรโทษกรรม 112’ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ข้อเสนอการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อนำไปสู่การสร้างความปรองดอง หรือการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อถกเถียงสำคัญสำหรับการนิรโทษกรรมคดีการเมืองในปัจจุบันคือ เราควรนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกดำเนินคดีในความผิดตามกฎหมายอาญา ม.112 ด้วยหรือไม่

เหตุผลของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งเราควรนำมาพิจารณาร่วมกันคือ หากเรานิรโทษกรรมคดี 112 ไปแล้ว จะเป็นการไม่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ หรือจะเป็นการปล่อยให้เกิดการแสดงความคิดเห็น หรือการแสดงออกทางการเมืองที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไปอีกหรือไม่

สำหรับประเด็นนี้ ผมยังเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า สถาบันพระมหากษัตริย์จะสามารถดำรงอยู่อย่างมั่นคงในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ได้ ก็ด้วยความรักความศรัทธาหรือความยินยอมพร้อมใจของประชาชน ไม่ใช่ด้วยการใช้อำนาจกดบังคับหรือการสร้างความกลัว ดังนั้น การบังคับใช้ ม.112 อย่างรุนแรงดังที่เป็นอยู่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงไม่ใช่การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างยั่งยืน ซ้ำร้ายยังจะส่งผลบ่อนทำลายสายใยความสัมพันธ์อันดี ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนในระยะยาวอีกด้วย

ในสภาพการณ์เช่นนี้ ผู้ที่ปรารถนาดีหรือจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างจริงใจ ควรต้องร่วมกันตั้งหลักในการพิจารณากุศโลบาย ที่สอดคล้องกับสถานการณ์และพลวัตของสังคมไทย เราต้องช่วยกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ เข้าไปเกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองได้ จัดวางพระราชสถานะอย่างประณีตภายใต้รัฐธรรมนูญ ระมัดระวังอย่าให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างพระราชอำนาจกับหลักการ ‘ปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง’ ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ผมเชื่อมั่นว่า มีแต่หนทางนี้เท่านั้น ที่จะธำรงรักษาให้องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะตามรัฐธรรมนูญอย่างมั่นคง สังคมไทยในห้วงยามนี้ต้องการทุกคนมาร่วมกันคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมีสติ มิใช่การอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์และ ม.112 มาคุ้มครองผลประโยชน์หรืออำนาจของตนเอง

‘ไอซ์ รักชนก’ ลุ้น!! 13 ธ.ค.นี้ วันชี้ชะตาฟังคำพิพากษาคดี ม.112 ชี้ ออกได้ 2 ทาง หนักสุดจำคุก-ไม่ให้ประกันตัวจะพ้นสภาพสส.ทันที

(2 ธ.ค.66) นางสาวรักชนก ศรีนอก สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กว่า นับถอยหลัง 13 วัน ฟังคำพิพากษา เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

หลายคนคงทราบข่าวเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำร้องที่ไอซ์ฟ้องว่ากฎหมาย พรบ.คอมพิวเตอร์ขัดรัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่าถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ ศาลอาญารัชดา ก็จะอ่านคำพิพากษาคดี 112 ของไอซ์

คดีหมายเลขดำที่ อ 683/2565 โจทย์ที่ยื่นฟ้อง มาตรา 112 พรบ.คอมพิวเตอร์คดีก็ดำเนินมาจนถึงวันนี้ นับถอยหลัง 13 วัน ฟังคำพิพากษา ในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 เนื่องจากวันนั้นเป็นวันแรกของการเปิดสมัยประชุมสภา โดยจะมีการประชุมสภา ไอซ์จึงทำหนังสือเพื่อขอเลื่อนฟังคำพิพากษา เนื่องจากติดประชุมสภา ซึ่งต้องแล้วแต่ดุลยพินิจของศาล ว่าจะให้เลื่อนหรือไม่

สส.รักชนก ระบุว่าโดยคดีนี้สามารถมีคำพิพากษาออกได้ 2 แนวทาง คือ

1.หากศาลตัดสินว่าไอซ์ไม่มีความผิด ทุกอย่างก็จะจบลง (ถ้าอัยการไม่อุทธรณ์)
2.หากศาลตัดสินว่ามีความผิด ซึ่งก็แบ่งออกเป็น 2 แนวทางย่อย คือ
2.1 ศาลตัดสินว่ามีความผิด โดยให้รอลงอาญา (คดีนี้ก็จะสิ้นสุดเหมือนกันถ้าไม่มีการอุทธรณ์)
2.2 ศาลตัดสินว่ามีความผิด โดยตัดสินจำคุกระหว่าง 3-15 ปี หลังจากศาลตัดสินแล้วตามหลักการ จำเลยสามารถประกันตัวได้ในศาลชั้นต้น เพื่ออุทธรณ์คดีและสู้คดีต่อได้ในชั้นอุทธรณ์

ถ้าศาลให้ประกันตัวตามสิทธิ์ที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ไอซ์ก็จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ จนกว่าคดีจะถึงที่สิ้นสุด (ในมาตรา 29 ที่ระบุไว้ว่า "บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญาเว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้ ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”)

แต่ปัญหาจะเกิดขึ้น ถ้าศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวและส่งตัวไอซ์เข้าเรือนจำ แม้แต่นาทีเดียวก็หมายความว่าสถานะ สส.ที่ได้รับการเลือกตั้งมาเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ด้วยคะแนนเสียงจากประชาชน 47,592 ก็จะสิ้นสุดลง และ กกต. จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง

ในฐานะประชาชน แน่นอนว่าไอซ์ยินดีที่จะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในการพิจารณาคดี 112 ถึงแม้ว่าจะเห็นว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นมีปัญหาทั้งข้อกฎหมายและการบังคับใช้ก็ตาม และ ไอซ์ก็เป็นหนึ่งเสียงที่สนับสนุนนโยบายของพรรคก้าวไกลในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย

ในฐานะสส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตระหนักดีว่าการทำหน้าที่เป็นปากเสียงของประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งไอซ์จะพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะรักษาสถานภาพที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามสิทธิ์ที่พึงมี ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของไอซ์หรือพรรคก้าวไกล แต่เป็นการยืนยันเจตจำนงของประชาชนที่ลงคะแนนให้ไอซ์ในฐานะตัวแทนของพรรคก้าวไกล ไอซ์ไม่ร้องขออะไรมากไปกว่าสิทธิ์ที่พึงได้รับตามรัฐธรรมนูญ

ขั้นต้น ไอซ์จะทำจดหมายขอให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไป ให้ไม่กระทบกับภารกิจในฐานะผู้แทนราษฎรที่กินภาษีประชาชน เพื่อให้การทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชนในสมัยประชุมไม่ว่าจะการพิจารณากฎหมาย การตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี การอภิปรายในโอกาสวาระต่างๆ รวมทั้งร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 หรือแม้กระทั่งร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 500,000 ล้านบาทที่รัฐบาลจะเสนอเข้าสู่ การพิจารณาของรัฐสภา พ.ร.บ. อีก 31 ฉบับ ที่พรรคก้าวไกลยื่นและการทำหน้าที่โฆษก คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ไม่ติดขัด

พร้อมกันนั้นไอซ์ก็จะใช้ทุกวันวินาทีที่มีค่าสำหรับการเป็นปากเสียงของพ่อแม่พี่น้องในพื้นที่พร้อมกับทีมรังนก อาสาสมัครในพื้นที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันไอซ์ก็ต้องรักษาสิทธิ์ที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก็ ถ้ามีการพิพากษาว่ากระทำผิด ขอให้ผู้พิพากษาไม่ว่าจะเป็นศาลอาญาหรือผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ พิจารณาให้สิทธิ์ประกันตัวมาสู้คดีในขั้นตอนต่อไป เพื่อไม่ให้เป็นเหตุในการตัดสิทธิ์และหลุดจากสภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อไม่ให้ผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ถูกถอดลงด้วยคดีทางการเมืองหรือการเทคนิคทางกฎหมาย

เปิดจดหมาย ‘ลูกสาวทนายอานนท์’ เขียนถึงพ่อ เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ พร้อมถาม “พ่อทำไมถึงอยู่ในคุก?” ขณะเจ้าตัวต้องโทษมาแล้ว 70 วัน

(5 ธ.ค. 66) นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ‘ลูกเขียนจดหมายถึงพ่อ’

โดยภายในภาพเป็นรูปเด็กกำลังกอด นายอานนท์ พร้อมมีข้อความที่เขียนด้วยมือว่า…

“พ่อทำไมถึงอยู่ในคุก แล้วพ่ออยู่ที่ห้องไหนของเรือนจำ แล้วหนูต้องรออีก 10 ปีใช่ไหม?”

สำหรับ นายอานนท์ อยู่ระหว่างถูกจับคุกในเรือนจำเป็นเวลา 4 ปี หลังจากศาลอาญาพิพากษา ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ขณะนี้ต้องโทษอยู่ในเรือนจำมา 70 วัน

ศาลฯ ตัดสิน ‘ไบรท์ ชินวัตร’ คดี ม.112 จำคุก 3 ปี แต่สารภาพ-เกิดดวงตาเห็นธรรม ให้รอลงอาญา 2 ปี

(7 ธ.ค. 66) นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือ ไบรท์ ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า เช้าวันนี้ ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ในคดี 112 แต่ศาลแจ้งว่าผมได้กลับตัวกลับใจ และได้ทำงานบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม จึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปีและอยู่ในการดูแลของคุมประพฤติ

ส่วนคดีพรบ.ฉุกเฉินให้ปรับ 200 บาท ลดเหลือ 100 บาท อามีนได้มีโอกาสทำความดีแท้ ๆ เป็นคนแผ่นดินต่อไปครับ

นายชินวัตร ระบุว่า ศาลอาญากรุงเทพฯ ใต้นัดฟังคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 เป็นคดีแรกที่ผมทำการสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ที่ผ่านมาผมเคยหลงผิด "บัดนี้ดวงตาผมได้เห็นธรรมแล้ว"

ขอพระบารมีพระองค์ท่านทรงปกปักรักษาให้กระผมได้มีโอกาสทดแทนบุญคุณแผ่นดินในการทำหน้าที่เป็นผู้นำชุมชน เพื่อความผาสุขของพี่น้องในชุมชน ตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระองค์ท่าน

อามีนน น้อมรับคำตัดสินของศาลไม่ว่าจะออกมารูปแบบใดก็ตาม

หากศาลตัดสินจำคุกกระผมก็น้อมรับคำตัดสิน ส่วนหน้าที่ในการพัฒนาชุมชนทีมงานคณะกรรมการชุมชนที่เหลืออยู่ก็จะดำเนินการทำตามปณิธานที่ตั้งไว้ต่อไป

หากศาลตัดสินให้รอลงอาญา ผมก็จะทำหน้าที่ที่พี่น้องประชาชนได้มอบหมายให้กับผมได้ทำการพัฒนาชุมชนอย่างเต็มที่แน่นอน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top