Friday, 10 May 2024
ม112

'เจี๊ยบ-ก้าวไกล' โวยศาลจำคุก 'นิว จตุพร' ถาม ‘ล้อเลียน-ไม่เคารพ’ ผิดมาตราไหน

(14 ก.ย. 65) ที่ห้องแถลงข่าวอาคารรัฐสภา นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชน ร่วมแถลงข่าว

นางอมรัตน์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย. มีคำตัดสินจากศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งให้จำคุกน.ส.จตุพร แซ่อึง หรือนิว เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ข้อหาการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยการแต่งชุดไทยไปเดินในกิจกรรมทางการเมืองที่หน้าวัดแขกสีลม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 รู้สึกว่าการตัดสินคดีนี้อันเป็นปฐมบทเบื้องต้นที่น่ากลัวของการตัดสินคดีมาตรา 112 ที่มีจำนวนมากถึง 210 คดีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีประชาชนตั้งคำถามถึงความไม่สมเหตุสมผลและทำให้สั่นคลอนทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากกฎหมายไทย ‘ไม่มีมาตราไหนที่ระบุความผิดในข้อหาล้อเลียน’ เนื้อหาสาระสำคัญของมาตราดังกล่าวคือ การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ห้ามด้อยค่าสถาบัน ไม่มีข้อใดที่ครอบคลุมไปถึงการล้อเลียนหรือห้ามไม่ให้ไม่เคารพ

“ขอตั้งคำถามว่าการตีความเช่นนี้ถือเป็นการตีความที่เกินขอบเขตตามรัฐธรรมนูญมาตรา 188 หรือไม่ อย่างไร เพราะมาตรา 188 ระบุไว้เพียงให้อิสระในการแสดงความเห็นเท่านั้น แต่ไม่ได้ให้อำนาจในการคุมขังที่ไม่ชอบธรรม รวมถึงต้องตัดสินโดยปราศจากอคติและความลำเอียง ขอตั้งคำถามไปถึงการตีความกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่มีการรับรองสิทธิในการแสดงออกโดยสุจริต และการให้ประกันตัวโดยไม่มีมาตรฐานในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ถึงเวลาแล้วที่เราจะตระหนักถึงปัญหาของกฎหมายมาตรา 112 ที่มีไว้เพื่อกลั่นแกล้งรังแกผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง และไม่สอดคล้องกับการใช้มาตรานี้ในระดับสากล

“ในประเทศอื่นที่มีระบอบการเมืองเดียวกับเรา ก็ไม่ได้มีโทษสูงเหมือนกับเราด้วย ขอเรียกร้องไปยังประชาชนทั่วประเทศให้มองเห็นถึงปัญหาการใช้มาตรา 112 ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่เราจะพิจารณาปรับแก้ไขและลดโทษ หรือมีการระบุว่าผู้ที่จะฟ้องร้องควรจะเป็นหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพื่อป้องกันการฟ้องร้องกลั่นแกล้งกันทางการเมืองเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” นางอมรัตน์ กล่าว

นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตอบคำถาม ทุกหน่วยงานระบุว่า มีคณะกรรมการกลั่นกรองว่าอะไรที่จะเข้าเงื่อนไขฟ้องหรือไม่ฟ้อง เมื่อขอรายชื่อ ขอรายงานการประชุม รายชื่อนักโทษในมาตรา 112 ก็ไม่ได้ ในขณะที่เราตรวจสอบเอกสารด้วยความยากลำบาก ขณะนี้ได้เรียกหน่วยงานมาเกือบครบแล้ว ก่อนที่จะมีการรวบรวมเอกสารทั้งหมดและข้อสังเกตของกมธ.ยื่นต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ยังไม่เคยมีท่าทีใดๆ ที่ชัดเจนในเรื่องนี้ รวมถึงองค์กรคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ไทยได้ลงนามไว้ในองค์กรนานาชาติ

'ก้าวไกล' เปิดชุดนโยบายแรก 'การเมืองก้าวหน้า' ชูโรง!! 'นิรโทษกรรมคดีการเมือง - แก้ ม.112'

ก้าวไกลเปิดชุดนโยบายแรก 'การเมืองก้าวหน้า' นิรโทษกรรมคดีการเมือง / แก้ 112 / ลงนามศาลอาญาระหว่างประเทศ / พระเลือกตั้งได้ / ลาคลอด 180 วัน / คำนำหน้านามตามสมัครใจ 

พรรคก้าวไกลเปิดชุดนโยบายแรก ประเดิมนโยบายการเมืองชุดใหญ่ สังคายนาทหาร-ศาล-รัฐธรรมนูญ ชูจุดยืนคนเท่ากัน ผลักดันหลายนโยบายก้าวหน้า นิรโทษกรรมคดีการเมือง แก้ 112 และลงนามศาลอาญาระหว่างประเทศ หวังสร้างการเมืองก้าวหน้า ประชาธิปไตยเต็มใบ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวเปิดงานแถลงนโยบายชุดแรกของพรรค ได้แก่ 'การเมืองไทยก้าวหน้า' โดยระบุว่าชุดนโยบายของก้าวไกล เป็นบ้านนโยบายที่ชื่อว่า 'ไทยก้าวหน้า' มีเป้าหมายคือการสร้างประเทศไทยที่ก้าวหน้าใน 9 ประเด็น คือ การเมืองไทยก้าวหน้า / ราชการไทยก้าวหน้า / ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า / เศรษฐกิจไทยก้าวหน้า / เกษตรไทยก้าวหน้า / สวัสดิการไทยก้าวหน้า / การศึกษาไทยก้าวหน้า / สุขภาพไทยก้าวหน้า และสิ่งแวดล้อมไทยก้าวหน้า โดยทั้งหมดอยู่บนฐานคิดเดียวกัน คือประเทศไทยเป็นของประชาชน 

“เหตุที่ต้องเปิดนโยบายการเมืองเป็นอันดับแรก เพราะหากการเมืองไม่ดี ยากที่เศรษฐกิจ สังคม ปัญหาอื่นๆ จะถูกแก้ไขได้ เพราะการเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรอำนาจ และทรัพยากร ใครจะได้บริหารประเทศ ใครจะเอาภาษี เอางบประมาณไปใช้ทำอะไร จะนำพาประเทศไปในทางไหน หากการเมืองไม่ดี เราจะไม่มีวันได้เห็นประเทศที่ก้าวหน้ากว่านี้” พิธากล่าว

สำหรับนโยบายการเมืองไทยก้าวหน้าที่พรรคก้าวไกลแถลงในวันนี้ ประกอบด้วย 4 หัวข้อหลัก คือ ทหารของประชาชน ศาลของประชาชน คนเท่ากัน และรัฐธรรมนูญใหม่ปลดล็อกประเทศไทย

>> ทหารของประชาชน เอาทหารออกจากการเมือง แจกใบแดงนายพล ลดจำนวนนายพล เพิ่มสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย

พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงถึงนโยบายปฏิรูปกองทัพ โดยเริ่มจากการ 'แจกใบแดงนายพล' ห้ามนายพลเกษียณอายุเป็นรัฐมนตรีจนกว่าจะเกษียณครบ 7 ปี เพื่อตัดวงจรการใช้อำนาจเส้นสายระบบอุปถัมภ์ของกองทัพมาสู่อำนาจทางการเมือง นอกจากนี้พรรคก้าวไกลยังมีนโยบาย ยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใช้อำนาจล้นเกิน ก้าวก่ายกิจการราชการพลเรือน และในขณะเดียวกันก็ยกเลิกกฎอัยการศึกในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งนำไปสู่การซ้อมทรมานในค่ายทหาร สร้างบาดแผล ความไม่ไว้วางใจให้กับคนในพื้นที่ ขัดขวางการสร้างสันติภาพในชายแดนใต้ 

พิจารณ์ ยังระบุว่า จะมีการปรับโครงสร้างกองทัพให้กระชับ คล่องตัว ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร ลดจำนวนนายพล เพิ่มสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย ยกเลิกระบบทหารรับใช้ ทหารต้องมีศักดิ์ศรีและปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพ นอกจากนี้พรรคก้าวไกลยังจะจัดการให้กองทัพคืนธุรกิจของกองทัพ ทั้งสนามกอล์ฟ โรงแรม ม้า มวย ให้กับรัฐบาล รวมถึงคืนที่ดินของกองทัพที่มีอยู่มากมายทั่วประเทศ ให้มาเป็นที่ทำกินของประชาชน แลัวให้ท้องถิ่นนำมาใช้ประโยชน์ เช่น ทำสนามกีฬาหรือลานเอนกประสงค์ 

>> ศาลของประชาชน ปฏิรูปศาล นิรโทษกรรมคดีการเมือง แก้ 112 ลงนามศาลอาญาระหว่างประเทศ

รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล แถลงนโยบายการเมืองไทยก้าวหน้า ในหมวดศาลและกระบวนการยุติธรรม เริ่มจากการปฏิรูปศาลให้ยึดโยงรับใข้ประชาชน ให้ผู้พิพากษาต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน และแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้แก่ กฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116, พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ซึ่งพรรคก้าวไกลได้เสนอแก้ไขไปแล้ว และขณะนี้ร่างแก้ไขชุดกฎหมายเหล่านี้ ได้ถูกบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาแล้ว ยกเว้นร่างแก้ไขกฎหมาย 112 ที่สภาไม่ยอมบรรจุเข้าวาระ โดยอ้างว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่พรรคก้าวไกลยืนยันจะเดินหน้าผลักดันต่อไปหากได้เป็นรัฐบาล และย้ำว่าการแก้ 112 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ได้กระทบต่อพระราชสถานะองพระมหากษัตริย์ ในฐานะประมุขของประเทศ 

รังสิมันต์ยังเปิดนโยบายการนำรัฐบาลไทยให้สัตยาบันรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC เพื่อชำระสะสางคดีอาชญากรรมที่รัฐกระทำต่อประชาชน เช่นเหตุการณ์สังหารหมู่คนเสื้อแดงในปี 2553 รวมถึงโศกนาฏกรรมตากใบ และป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมเช่นนี้อีกในอนาคต ยุติวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลที่เกาะกินประเทศไทย

และข้อเสนอใหญ่ที่สุดของพรรคก้าวไกล คือการนิรโทษกรรมคดีการเมือง โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เพื่อคืนความเป็นธรรมและอนาคตให้กับประชาชนที่ต้องคดีการเมืองเพียงเพราะแสดงความเห็นต่าง และวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์

>> คนเท่ากัน คำนำหน้านามตามสมัครใจ ลาคลอด 180 วัน พระเลือกตั้งได้ จ้างงานผู้พิการ

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล เขตสายไหม แถลงชุดนโยบายการเมืองไทยก้าวหน้า ในหมวด 'คนเท่ากัน' ซึ่งว่าด้วยการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เริ่มจากการจ้างงานคนพิการ 20,000 ตำแหน่ง เพื่อให้ดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี รวมถึงการเสนอนโยบาย 'อัตลักษณ์ทางเพศก้าวหน้า' คือการรับรองความหลายหลายทางเพศอย่างเท่าเทียมกัน บุคคลเลือกคำนำหน้าได้ตามความสมัครใจ และมีการเพิ่มตำรวจหญิงทุกสถานี เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีล่วงละเมิดทางเพศ เอื้ออำนวยให้ผู้เสียหายสะดวกใจที่จะเข้าแจ้งความ ไม่กระทบกระเทือนจิตใจซ้ำจากกระบวนการสอบสวน นำไปสู่การอำนวยความยุติธรรมในคดีทางเพศอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

อีกนโยบายที่ส่งเสริมสิทธิผู้หญิง คือการเพิ่มวันลาคลอดเป็น 180 วัน และพ่อแม่สามารถแบ่งกันใช้ได้ เพื่อให้หน้าที่เลี้ยงลูกในวัยแรกเกิดเป็นของทั้งพ่อและแม่ ไม่เป็นภาระของแม่แต่เพียงฝ่ายเดียว นโยบายนี้จะยังเป็นการส่งเสริมสถาบันครอบครัว ให้เด็กได้เติบโตมาอย่างอบอุ่น ได้รับการดูแลโอบอุ้มจากพ่อแม่อย่างใกล้ชิดในวัยเริ่มต้นของชีวิต 

นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังจะเสนอให้พระสามารถเลือกตั้งได้เช่นเดียวกับนักบวชศาสนาอื่น เนื่องจากพระก็ยังต้องไปเกณฑ์ทหาร ยังต้องอยู่ใต้กฎหมาย แต่กลับต้องถูกยกเว้นไม่ได้รับสิทธิ์ในการเลือกตั้ง 

ผงะ!! ความจริงในโลกโซเชียล กว่า 90% ปั่นกระแส 'ไล่นายกฯ-เลิก112' มาจากต่างประเทศ

(22 ต.ค.65) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยข้อมูลโลกออนไลน์ เรื่อง ความจริงในโลกโซเชียล กรณีศึกษาข้อมูลในโลกโซเชียล ผ่านเทคโนโลยีที่ประยุกต์ใช้กรอบการปฏิบัติการข้อมูลขั้นสุทธิ (Net Assessment) และระเบียบวิธีวิทยาการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity Methodology) จากแหล่งข้อมูลพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของกลุ่มบัญชีผู้ใช้สื่อออนไลน์ในประเทศและต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 10 กันยายน ถึง 21 ตุลาคม พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา
.
ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ความจริงในโลกโซเชียลทางการเมืองในการศึกษาครั้งนี้คือ การปลุกปั่นกระแสกระทบเสถียรภาพของรัฐบาลมีจำนวนตัวอย่างที่เก็บรวบรวมมาจากโลกโซเชียลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศทั้งสิ้น 27,065 ตัวอย่าง พบว่า จำนวน 24,868 ตัวอย่างหรือร้อยละ 91.88 เป็นการปั่นมาจากต่างประเทศ เพื่อกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลเช่น ไล่ประยุทธ์ ประยุทธ์ออกไป ในขณะที่ จำนวน 2,197 ตัวอย่างหรือร้อยละ 8.12 ปั่นภายในประเทศโดยมีค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งของการปั่นจำนวน 621.7 ครั้งในช่วงระยะเวลาประมาณ 30 กว่าวันที่ผ่านมา ตามภาพประกอบ
.
แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งภายในและภายนอกโลกโซเชียลที่มีจุดยืนทางการเมืองสนับสนุนบุคคลสำคัญในรัฐบาล พบว่า เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 53.3 ยังคงสนับสนุนบุคคลสำคัญฝ่ายรัฐบาล ในขณะที่ ร้อยละ 33.5 ไม่สนับสนุนบุคคลสำคัญฝ่ายรัฐบาล และร้อยละ 13.2 ยังคงเปลี่ยนใจได้หรือเป็นกลุ่มคนกลาง ๆ ตามลำดับ จะพบว่า กระแสที่ถูกปั่นในโซเชียลสูงกว่าความเป็นจริงหลายเท่าตัวและมาจากคนเพียงคนเดียวที่ปั่นกระแสให้เห็นว่ามีจำนวนมากเป็นหลักหมื่น หลักแสนขึ้นไป
.
นอกจากนี้ เมื่อนำประเด็น ความจริงในโลกโซเชียลที่กระทบต่อความมั่นคงชาติ เช่น การยกเลิก ม. 112 การปลุกปั่นประเด็นที่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายมาพิจารณา ได้พบแนวโน้มของการปลุกปั่นกระแสกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เช่น ยกเลิก ม.112 และการปฏิรูปสถาบัน และอื่น ๆ พบว่า การปลุกปั่นกระแสกระทบความมั่นคงของชาติมีจำนวนตัวอย่างที่เก็บรวบรวมมาจากโลกโซเชียลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศทั้งสิ้น 42,008 ตัวอย่าง พบว่า จำนวน 38,170 ตัวอย่างหรือร้อยละ 90.86 เป็นการปั่นมาจากต่างประเทศ เพื่อกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ในขณะที่ จำนวน 3,838 ตัวอย่างหรือร้อยละ 9.14 ปั่นภายในประเทศโดยมีค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งของการปั่นจำนวน 95.95 ครั้งในช่วงระยะเวลาประมาณ 30 กว่าวันที่ผ่านมา ตามภาพประกอบ
.
เมื่อเจาะลึกข้อมูลไปยังฐานข้อมูลกลุ่มผู้ปั่นกระแสกระทบต่อความมั่นคงชาติทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ พบว่า เกือบร้อยละ 100 ที่เป็นการใช้ชื่อบัญชีอวตาร หรือ บัญชีทิพย์ ไม่มีตัวตนแท้จริง เช่น Mxxxxboobxx1 และกลุ่มที่ใช้สัญลักษณ์อักขระเชิงรูปภาพ การ์ตูน ที่คอยปั่นกระแสยกเลิก ม.112 และปลุกปั่นมาจากต่างประเทศที่มีการใช้ VPN เพื่อซ่อนและปกปิด บิดเบือนที่อยู่ของตนเองให้เข้าใจผิดเรื่องแหล่งที่มาของการปลุกปั่นกระแสกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เช่น ระบุว่ามาจาก แอฟริกาใต้ แต่จริง ๆ อยู่ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ เช่น ตุรกี สิงคโปร์ อเมริกา เกาหลี และประเทศเพื่อนบ้านของไทย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เครื่องมือที่ใช้ยืนยันได้อย่างแน่นอนว่า มีการปลุกปั่นกระแสกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและความมั่นคงของชาติมาจากต่างประเทศอย่างชัดเจนที่ยืนยันได้จากข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ โดยที่ประชาชนในประเทศจะหลงกระแสไปกับภาพจำว่ากระแสต่อต้านรัฐบาลและความมั่นคงของชาติเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และคิดกันไปว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ
.
เมื่อสอบถามถึงหน่วยงานรัฐที่ประชาชนวางใจมากที่สุดในการปกป้องรักษาความมั่นคงของชาติและควบคุมการชุมนุมไม่ให้เกิดความรุนแรงบานปลาย พบว่า ร้อยละ 36.1 ระบุตำรวจ รองลงมาคือร้อยละ 22.4 ระบุทหาร ร้อยละ 21.9 ระบุ มหาดไทย ร้อยละ 10.1 ระบุกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 8.3 ระบุ ปกครองส่วนท้องถิ่น และร้อยละ 1.2 ระบุอื่น ๆ
.
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ยังพบด้วยว่า ขบวนการปลุกปั่นกระแสในโซเชียลมีเดียใช้ปมละเอียดอ่อนของสถานการณ์ข่าวที่เกิดขึ้นจากนั้น พ่วงด้วยการติด hashtag (#) ข้อความปลุกปั่นกระแส ทั้ง ๆ ที่ในเนื้อหาข่าวที่นำมาใช้เป็นหัวจรวดปลุกกระแสไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันหลักของชาติและความมั่นคงเลย จึงน่าจะเป็นประโยชน์ให้หน่วยงานความมั่นคงและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาปัจจัยสำคัญต่อไปนี้ เช่น เหตุการณ์สถานการณ์ข่าวที่เกิดขึ้น ปฏิกิริยา และความคงทนยาวนานของความรู้สึกนึกคิดที่ตกค้างในใจของประชาชน หรือจริง ๆ แล้วมันเกิดขึ้นและเป็นไปตามผลลัพธ์ของอิทธิพลโซเชียลมีเดียและการผลักดันกลุ่มประชาชนไปสู่การแบ่งขั้ว เลือกข้าง อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายในหมู่ประชาชน

'ซูเปอร์โพล' เผยผลสำรวจคนไทยคงไว้ซึ่ง ม.112 ไว้ใจ 'ตู่-ป้อม-หนู' ปกป้องรักษาสถาบันหลักของชาติ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง ความจำเป็นของ ม.112 กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่านกระบวนการวิจัยเชิงทดลอง(Experimental Survey) เพื่อลดความคลาดเคลื่อนแก้ปัญหาแหล่งความคลาดเคลื่อนจากผู้ถาม ผู้ตอบและเครื่องมือวัด จำนวน 2,007 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20 – 22 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากการกำหนดขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ผลสำรวจพบว่า...

ทั้งนี้ในหัวข้อที่น่าพิจารณา คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.4 ระบุ จำเป็นที่จะต้องรักษากฎหมาย มาตรา 112 เอาไว้เช่นเดิม เพราะการมีอยู่ไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตปกติ สิทธิส่วนบุคคล และยังช่วยรักษาความมั่นคงของชาติเอาไว้ ในขณะที่ร้อยละ 4.6 ไม่จำเป็น นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.6 ระบุจำเป็นที่ ประมุขของทุกประเทศต้องมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีและมีกฎหมายคุ้มครอง ในขณะที่ ร้อยละ 2.4 ระบุไม่จำเป็น ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.0 ระบุ จำเป็นต้องมีกฎหมายป้องกัน การล้มล้างสถาบันหลักของชาติ จากกลุ่มผู้ไม่หวังดี บิดเบือน ใส่ร้าย และจาบจ้วง ในขณะที่ร้อยละ 3.0 ระบุไม่จำเป็น นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.2 เห็นด้วยว่า ความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน ช่วยหลอมรวมใจของ คนในชาติ ไม่ว่าเชื้อชาติใดก็ตาม ช่วยกันปกป้องผลประโยชน์ชาติและผลประโยชน์ของทุกคนเป็นส่วนรวมตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ ร้อยละ 2.8 ระบุไม่เห็นด้วย

เมื่อถามถึง นักการเมืองที่ประชาชนเชื่อมั่นวางใจ ปกป้องรักษาสถาบันหลักของชาติพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.0 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองลงมาคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 79.6 และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ร้อยละ 75.6 ตามลำดับ

โดยผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนเกือบร้อยละร้อยเห็นความสำคัญของสถาบันหลักของชาติได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และประชาชนที่สามารถหลอมรวมจิตใจของประชาชนภายในประเทศไม่ว่าเชื้อชาติใดก็ตามเพื่อความมั่นคงผาสุกของทุกคนและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ในผลการศึกษาที่ผ่านมาเคยพบว่าประชาชนเกือบร้อยละร้อยเช่นกันที่ระบุว่า สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของชาติมีส่วนช่วยดูแลบำรุงสุข บำบัดทุกข์ของราษฎร และทุกครั้งที่เกิดวิกฤตขึ้นในชาติและในหมู่ประชาชนสถาบันพระมหากษัตริย์มีความรวดเร็วฉับไวเข้าช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟูให้วิกฤตการณ์ต่าง ๆ กลับเข้าสู่สภาวะปกติและพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมก่อนเกิดวิกฤตการณ์อีกด้วย

'ไอติม' ย้ำ!! ข้อเสนอแก้ ม.112 ของก้าวไกล ช่วยรักษาความสัมพันธ์ 'ประชาชน-สถาบันฯ'

'ไอติม' ย้ำ ข้อเสนอแก้ ม.112 ของก้าวไกลทำให้ประเทศมีกฎหมายคุ้มครองประมุข ที่ทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้นในการพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 

พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการรณรงค์สื่อสารนโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่หลายพรรคการเมืองออกมาคัดค้านการแก้กฎหมาย ม.112 หรือกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ของพรรคก้าวไกลว่า พรรคก้าวไกลเราเคารพสิทธิของทุกพรรค ที่จะเห็นด้วยหรือเห็นต่างกับนโยบายของพรรคก้าวไกล แต่ที่ตนจำเป็นต้องชี้แจง เพราะเหตุผลที่หลายพรรคใช้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรืออาจเป็นความจงใจที่จะบิดเบือน เนื้อหาสาระของนโยบายของพรรคก้าวไกล เพราะในเชิงข้อเท็จจริง ข้อเสนอในการแก้ไข 112 ของพรรคก้าวไกล ไม่ได้ทำให้ประเทศเราไม่มีกฎหมายคุ้มครองประมุข แต่เป็นข้อเสนอในการทำให้กฎหมายคุ้มครองประมุขในประเทศเราทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น ในการพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์

พริษฐ์กล่าวว่า กฎหมายมาตรา 112 มี 3 จุดสำคัญที่อาจเป็นปัญหาที่เราเสนอให้แก้ไข

ข้อที่หนึ่ง คือการลดความหนักของโทษ ปัจจุบัน มาตรา 112 กำหนดโทษของการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไว้อยู่ที่จำคุก 3-15 ปี ซึ่งนับเป็นโทษที่หนักเท่ากับการฆ่าคนโดยไม่เจตนา และสูงกว่าโทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในประเทศอื่นที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้ลดโทษการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จากโทษจำคุก 3-15 ปี เป็นโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งยังคงเป็นโทษที่สูงกว่าโทษหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาที่พรรคก้าวไกลเสนอให้ลดลงจากโทษจำคุก 0-2 ปี มาเหลือแค่โทษปรับ

ข้อที่สอง คือการกำหนดผู้ฟ้องให้ชัดเจน ปัจจุบัน มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ใคร ๆ ก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษคนอื่นได้ ซึ่งอาจส่งผลอันไม่พึงประสงค์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตัวอย่างเช่น คนบางกลุ่มอาจตัดสินใจฟ้องคนอื่นด้วยมาตรา 112 ไม่ว่าจะด้วยเจตนาที่ต้องการปกป้องสถาบันฯ หรือด้วยความต้องการจะกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แต่หากจำเลยถูกดำเนินคดีหรือตัดสินว่าผิด ความรู้สึกไม่พอใจก็อาจไปตกอยู่ที่สถาบันฯ ส่งผลให้สถาบันฯ กลายเป็นคู่กรณีโดยอัตโนมัติ แม้สถาบันฯ อาจไม่ได้รับรู้ถึงกรณีดังกล่าว

เคลียร์ความจริง!! จาก 10 ข้อบิดเบือนเรื่อง ม.112 หากไม่อยากเฉียดคุก อย่าหลงเชื่อการปั่นแบบผิดๆ

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ‘ม.112’ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะในม็อบ ในสภา หรือแม้แต่ในโลกโซเชียลก็ตาม

ทว่า…สิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง ม.112 นั้น ดูจะผิดทางไปเยอะเลย เพราะบางคนเอาแต่คิดว่าเป็นกฎหมายไม่ยุติธรรม บางคนถึงขั้นสาปแช่ง ด่าทอเสีย ๆ หาย ๆ ทั้งที่ตัวเองยังไม่เข้าใจกฎหมายมาตรานี้อย่างถ่องแท้ด้วยซ้ำ

ย้อนไปเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 65 ช่องยูทูบ ‘Lue History’ ได้โพสต์คลิปความยาว 4.52 นาที อธิบายเรื่อง ม.112 โดยใช้ชื่อคลิปว่า ‘เคลียร์ชัดๆ กับ 10 ข้อบิดเบือนเรื่อง ม.112’ ซึ่งเป็นการนำคลิปที่พูดถึงม.112 ในทางบิดเบือนและเผยแพร่ในโลกออนไลน์ มาเป็นตัวอย่างประกอบ โดยเนื้อหาในคลิปทั้งหมดระบุว่า…

1.) ใครจะแจ้งความก็ได้ เพราะมาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคง เป็นอาญาแผ่นดินไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายก็ฟ้องได้ จากสถิติครึ่งหนึ่งก็เป็นประชาชนนี่แหละ ที่ฟ้องกันเอง 
>> Lue History อธิบายว่า ถูกต้องแล้ว ใครก็แจ้งความได้ ใจคอจะให้ในหลวงมาแจ้งความด้วยตัวเองเลยหรือไง? แล้วที่มาบอกว่าอยากจะแจ้ง ก็เดินไปแจ้งที่สน. ได้เลยเนี่ย อันนี้ไม่ถูก เพราะการจะแจ้งความในมาตรานี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ เพราะต้องไปพร้อมเอกสารที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นตำรวจไม่รับแจ้งความ

2.) คดีออนไลน์จะแจ้งความจากที่ไหนก็ได้ เพราะอำนวยความสะดวกให้ผู้ฟ้อง 
>> Lue History อธิบายว่า คดีออนไลน์ ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ฟ้อง ไม่ใช่ผู้กระทำผิด ส่วนหากกังวลเรื่องการกลั่นแกล้งนั้น ก็เกี่ยวโยงกับข้อแรกเต็มๆ เพราะหากไม่ได้กระทำผิด แล้วไปฟ้องแจ้งความเพื่อกลั่นแกล้งกัน ก็จะโดนข้อหา แจ้งความเท็จ ติดคุก 5 ปี ฉะนั้นหากไม่ได้ทำผิด ไม่ต้องกลัว!!

3.) ตามกฎหมายแล้วตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษาที่รับคดีมาจะไม่มีอำนาจตัดสินใจเอง เพราะต้องผ่านคณะกรรมการกลางที่มีตำรวจระดับสูง และผู้พิพากษาระดับสูงก่อน 
>> Lue History อธิบายว่า นี่คือเหตุผลว่า การฟ้องมาตรา 112 ไม่ได้ทำกันง่ายๆ ไม่ได้กลั่นแกล้งกันง่ายๆ เพราะว่ามีขั้นตอนการกลั่นกรองตรวจสอบ 

4.) คดี 112 เป็นคดีนโยบาย รัฐบาลจะสั่งให้หยุดใช้เมื่อใดก็ได้ และที่ผ่านมาก็มีการบังคับใช้เป็นระลอก ตามช่วงเวลาสำคัญทางการเมือง
>> Lue History อธิบายว่า ไม่มีหรอกคดีนโยบาย และรัฐบาลจะสั่งให้ใช้หรือไม่ให้ใช้ไม่ได้ เพราะ ม.112 เป็นมาตราหนึ่งในรัฐธรรมนูญ (กฎหมายสูงสุด) แม้แต่ในหลวงก็สั่งไม่ได้ เพราะในหลวงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และเช่นกันถ้ามีใครมาร้องเรียนแล้วมีหลักฐานเพียงพอ ถ้าภาครัฐไม่ปฏิบัติตาม ถือว่ามีความผิดมาตรา 157 

'ปิยุบตร' จวกยับ 'ก้าวไกล' ไม่ทำอะไรกับม.112 เลย ชูไว้แค่เป็นนโยบาย หวังโกยคะแนนจากคนรุ่นใหม่

(26 พ.ย. 65)​ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กโดยมีรายละเอียดดังนี้

พรรคก้าวไกลกับการแก้ 112

ผมได้แสดงความเห็นกรณีพรรคก้าวไกลกับการแก้ 112 ไปในไลฟ์ เมื่อสองวันก่อน

เผื่อท่านใดไม่ถนัดกดฟังคลิปยาวๆ ผมจึงขอสรุปสั้นๆ ในโพสต์เดียวจบ ดังนี้

พรรคก้าวไกลเสนอแก้ 112 แต่ประธานสภาวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 เพราะมีเหตุยกเว้นความผิด จึงไม่บรรจุเข้าสภา เรื่องนี้ผ่านมาหลายเดือนแล้ว แต่พรรคก้าวไกลไม่ทำอะไรต่อ นอกจากเอาไปเป็นนโยบายพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้า

การไม่ทำอะไรเลยในช่วงเวลาเกือบปี แล้วป่าวประกาศว่าพรรคก้าวไกลเสนอร่างแก้ 112 แล้วนะ แต่ติดที่ประธานสภา เอาเข้าจริง จะไม่ต่างอะไรกับการไม่ทำอะไรเลย และจะทำให้สังคมและพรรคอื่นๆ คิดไปว่าพรรคก้าวไกลเสนอแก้ 112 โดยไม่หวังผลสำเร็จ แต่ทำไปเพื่อรักษาคะแนนคนรุ่นใหม่ ให้ได้ชื่อว่า “กูทำแล้วนะ”

สุดท้าย การเสนอร่าง พรบ แก้ 112 ของพรรคก้าวไกล หวังผลสำเร็จ หวังการผลักดันเข้าสภาจริงๆ หรือ หวัง ‘ได้แต้ม’ ทางการเมืองกันแน่? ณ เวลานี้ ข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่า ไม่ว่าจะยกเลิก 112 หรือแก้ใหญ่ 112 อย่างไรก็ติดล็อกที่ประธานสภา ในขณะที่ไม่มีพรรคใดที่จะเสนอแก้ 112 เลย นอกจากพรรคก้าวไกล แล้วทำไมพรรคก้าวไกลไม่คิดทำอะไรต่อ

ในเมื่อร่างยกเลิก 112 หรือร่างแก้ใหญ่ 112 แบบที่พรรคก้าวไกลเสนอ ไม่มีทางได้เข้าสภา (เว้นแต่ในอนาคต พรรคก้าวไกลเป็นเสียงข้างมาก เป็นประธานสภา ซึ่งไม่รู้เมื่อไร) ทำไมพรรคก้าวไกลไม่ยอมเสนอร่างแก้ 112 ใหม่เข้าไป ปรับแก้ตามที่ประธานสภาวินิจฉัย (ตัดเหตุยกเว้นความผิดออก) ให้เป็นร่างที่พอจะเข้าสภาได้ เพื่อเปิดประตูสภาแห่งนี้ให้พิจารณาเรื่อง 112 สักที แล้วชี้แจงประชาชนให้เข้าใจว่าทำไปเพราะอะไร

‘คณะราษฎร’ บุกเพื่อไทย ทวงจุดยืนยกเลิก ม.112 จี้ พาผู้ลี้ภัยกลับไทย ไม่ใช่แค่ ‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์’

แลนด์สไลด์เพื่อไทยสะดุด เจอกดดันจากคณะราษฎร์ยกเลิกม.112 ให้พิจารณาแก้ไขมาตรา 112 และนำผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่มีกว่าร้อยคน กลับประเทศ ไม่ใช่แค่นายทักษิณ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ให้นึกถึงคนเสื้อแดงที่ร่วมต่อสู้กันมา กลุ่มเตรียมเดินหน้าไปทุกพรรคให้แก้ไข มาตรา112

(31 ม.ค. 66) เมื่อเวลา 11.20 น. ที่พรรคเพื่อไทย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มคณะราษฎรยกเลิก ม.112 เดินทางมาที่พรรคเพื่อไทยเพื่อสอบถามความชัดเจนในแนวทางการแก้ไขมาตรา 112 และมาตรา 116 ว่าพรรคเพื่อไทยจะดำเนินการอย่างไร โดยเรียกร้องมายังนางสาวแพทองธาร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมไปถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ตกเป็นเหยื่อในคดีทางศาล จะดำเนินการอย่างไรในเรื่องดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกลุ่มได้มีการเคลื่อนไหวลงชื่อจำนวน 3 แสนรายชื่อ เพื่อสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องคือให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงออกต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจ นำปกครอง สิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี ปล่อยนักโทษการเมืองทุกคนที่ถูกคุมขัง ผลักดันต่อศาลอาญาให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไขให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560  

รวมทั้งให้พรรคการเมืองทุกพรรคเสนอแนวนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนโดยยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116 และกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพการรวมกลุ่มการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมหรือการแสดงออกทางการเมืองเพื่อคืนความยุติธรรมนำผู้ลี้ภัยการเมืองกลับมาประเทศไทย

'ท่านใหม่' กางกฎหมาย ม.32 จี้เอาผิด 3 นิ้วพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว

(29 มี.ค.66) จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจเข้าจับกุมตัว นายศุทธวีร์ สร้อยคำ หรือบังเอิญ อายุ 24 ปี ชาว จ.ขอนแก่น โดยจับกุมตัวได้ขณะที่ผู้ต้องหา กำลังพ่นสีสเปรย์สีดำใส่กำแพงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กทม.นั้น

ล่าสุด  หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล หรือ “ท่านใหม่” ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก  ระบุว่า ไม่ต้องใช้ ม 112 ให้แปดเปื้อนถึงพระองค์ท่านหรอกครับ

มาตรา 32 ผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน หรือทําให้เสียหาย ทําลายทําให้เสื่อมค่าหรือทําให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินเจ็ดปีหรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ม.จ. จุลเจิม ยุคล

อยากจะดูว่า อัยการ และ ศาลท่านจะว่าอย่างไร

‘บิ๊กบี้’ รับ!! คาดไม่ถึง ‘พ่นกำแพงยกเลิก ม.112’ โผล่วัดพระแก้ว ลั่น!! บ้านเมืองมีขื่อมีแป ใครดี-ไม่ดี คนส่วนใหญ่ตัดสินได้

(29 มี.ค.66) พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงเหตุการณ์พ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว เพื่อแสดงออกถึงการยกเลิกมาตรา 112 ว่า ใครทำผิดก็ว่าไปตามกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะกฎหมายใดก็ตาม เช่น กฎหมายโบราณสถาน

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบหรือไม่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวว่า ก็แล้วแต่ ความคิดเราห้ามกันไม่ได้ แต่ทุกอย่างก็เป็นไปตามกฎหมาย บ้านเมืองมีขื่อมีแป ก็เหมือนกับแต่ก่อน ที่ผมพูดไง ที่จะถืออะไรไป เพื่อไปที่พระบรมมหาราชวังให้ได้ ก็บอกแล้ว สถานที่นั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถ้าไปทำก็ต้องสนใจความรู้สึก หรือความศรัทธา ความรักของคนไทยที่มีต่อสถานที่นั้นด้วย เป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ที่ต้องคิดว่าใครดี ใครไม่ดี ใครถูกใครผิด

ถามย้ำว่าแต่ดูเหมือนว่าจะเป็นการปลุกกระแส ยกเลิกมาตรา 112 พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวว่า ก็แล้วแต่ ใครทำผิด หรือไม่ทำผิด คนส่วนใหญ่ก็ต้องคิดเอง ใครดี ใครไม่ดี เท่านั้นเอง 

เมื่อถามต่อว่าในฐานะที่เป็นทหารของพระราชาและปกป้องสถาบัน รู้สึกอย่างไรบ้าง พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ เรามีสถาบันหลักอยู่แล้ว ตามกฎหมายเรามี เราก็ต้องปกป้องคุ้มครองสถาบันหลักอยู่แล้ว ส่วนอยู่ในอำนาจหน้าที่ขอบเขตแค่ไหน เราก็ทำตามขอบเขตหน้าที่นั้น

ซักว่าจะต้องมีการดูแลรอบพื้นที่พระบรมมหาราชวังเพิ่มขึ้นหรือไม่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวว่า ก็มีการดูแลอยู่แล้ว แต่ทุกฝ่ายก็ต้องช่วยกันระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ที่มีความเคารพรัก ศรัทธา ในสิ่งที่บรรพชนสร้างขึ้นมา โดยเฉพาะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนก็ต้องช่วยกันด้วย

ถามอีกว่าในบริเวณดังกล่าวเป็นเขตพระราชฐาน จะต้องมีทหารไปช่วยดูแลหรือไม่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวว่า ทหารมีอยู่แล้ว ทหารดูแลอยู่แล้ว เรารักษาความปลอดภัยในพระบรมมหาราชวังอยู่แล้ว เรามีกองรักษาการอยู่แล้วในสถานที่สำคัญต่างๆ

เมื่อถามว่าคาดไม่ถึงใช่หรือไม่ ที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวว่า “ก็คงไม่มีใครคาดคิด เพราะถ้าคนดี คนปกติคงไม่ทำ” 

เมื่อถามว่าได้ดูการดีเบตของพรรคการเมืองต่าง ๆ ในเรื่องนี้หรือไม่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องนโยบายของพรรคการเมือง ตนเป็นข้าราชการทหาร ก็ทำหน้าที่ของตน ทหารก็ทำหน้าที่ของตัวเอง ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top