Friday, 3 May 2024
สงคราม

ชาวอเมริกัน เซ็ง!! ผู้นำละเลยปัญหาในประเทศ หลังเห็น ‘ไบเดน’ โผล่ไป Surprise Visit ที่ยูเครน

เมื่อวันจันทร์ (20 ก.พ. 66) โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้เดินทางไปพบ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนถึงกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน ซึ่งเป็นการเดินทางไปเยือนแบบไม่แจ้งกำหนดการณ์ล่วงหน้า หรือ Surprise Visit และกลายเป็นกระแสฮือฮาไปทั่วโลก ที่เห็นผู้นำสหรัฐสวมหัวใจเด็ด เดินทางไปเยือนประเทศที่กำลังอยู่ในภาวะสงคราม ที่มีขีปนาวุธของรัสเซียล็อกเป้าจ่ออยู่หน้าบ้าน 

ซึ่งการมาเยือนยูเครน ของผู้นำสหรัฐในวันนี้ มีนัยทางการเมืองที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากใกล้วันครบรอบ 1 ปีที่รัสเซียเริ่มแผนปฏิบัติการทหารในยูเครนวันแรก - 24 กุมภาพันธ์ 2565 - โดยฝ่ายกลาโหมของยูเครนเคยออกมารายงานว่า รัสเซียมีแผนที่จะโจมตีครั้งใหญ่อีกครั้งในวันครบรอบ 1 ปีสงครามในยูเครน อ้างอิงจากข้อมูลการเกณฑ์กำลังพลเพิ่มจากทั่วประเทศ และการเร่งยึดครองพื้นที่ในเขตยูเครนตะวันออก  

การมาเยือนของไบเดน จึงเป็นการสื่อสารโดยตรงกับฝ่ายรัสเซีย และพันธมิตรชาติตะวันตกว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ปี 2 สหรัฐอเมริกายังคงอยู่สนับสนุนยูเครนต่ออย่างเปิดเผย และไบเดนยังประกาศอีกด้วยว่า สหรัฐจะอัดฉีดงบประมาณช่วยเหลือยูเครนเพิ่มให้อีก 500 ล้านดอลลาร์ จากงบเดิมที่เคยอนุมัติมาแล้วก่อนหน้า ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นชาติที่ส่งทั้งเงิน และ ยุทโธปกรณ์สนับสนุนฝ่ายยูเครนมากที่สุด และมากกว่ากลุ่มพันธมิตรชาติยุโรปรวมกันเสียอีก 

แต่ทว่า การที่โจ ไบเดน เลือกที่จะมาเยือนยูเครนในวันนี้ ก็มีนัยยะบางอย่างกับชาวอเมริกันเหมือนกัน เนื่องจากว่า วันที่ 20 กุมภาพันธ์ นั้นตรงกับวันสำคัญที่เรียกว่า ‘วันประธานาธิบดี’ ของสหรัฐฯ วันที่ระลึกถึง จอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ผู้นำกองทัพเอาชนะสงครามปฏิวัติอเมริกา และสถาปนาประเทศสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ 

แต่โจ ไบเดน กลับเลือกเอาวันนี้มา Surprise Visit ที่ยูเครนแทน จึงทำให้ชาวอเมริกันบางส่วนมองว่าโจ ไบเดน เลือกให้ความสำคัญกับยูเครนมากกว่าชาวอเมริกันเสียแล้ว 

สมาชิกสภาผู้แทนจากพรรครีพับลิกันหลายคนออกมาโจมตี โจ ไบเดน ว่าผู้นำสหรัฐฯ ละเลยปัญหาที่เกิดขึ้นในเมือง อีสต์ ปาเลสไตน์ ในรัฐโอไฮโอ เมืองที่ได้รับผลกระทบด้านมลภาวะอย่างรุนแรงจากอุบัติเหตุรถไฟบรรทุกสารเคมีตกรางกว่า 10 ขบวน และปัญหาอีกมากมายที่เกิดขึ้นในเขตชายแดนทางตอนใต้ของสหรัฐฯ โดยเลือกที่จะเดินทางไปยูเครนแทน ในวันประธานาธิบดีแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันที่สำคัญกับชาวอเมริกันเช่นกัน

‘เซเลนสกี’ ผู้นำยูเครน เผย อยากพบ ‘สี จิ้นผิง’ หารือช่วยเจราสงบศึก หวัง จีนไม่ส่งอาวุธช่วย ‘รัสเซีย’

(25 ก.พ. 66) ‘ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี’ แห่งยูเครนประกาศวานนี้ (24 ก.พ.) ว่า อยากจะพบ’ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง’ ของจีน หลังปักกิ่งออกมาเสนอ ‘แผนสันติภาพ 12 ข้อ’ เพื่อนำไปสู่การยุติสงครามยูเครนโดยด่วน

“ผมมีแผนที่จะพบกับ สี จิ้นผิง” เขาให้สัมภาษณ์สื่อที่กรุงเคียฟในวาระครบรอบ 1 ปีที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน พร้อมย้ำว่าที่ผ่านมาตนพยายามอย่างยิ่ง ที่จะขัดขวางไม่ให้จีนส่งอาวุธช่วยรัสเซีย เพราะอาจนำไปสู่ ‘สงครามโลกครั้งที่ 3’ ได้

“มันสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของโลก” เซเลนสกี กล่าว

ผู้นำยูเครนไม่ได้เอ่ยชัดเจนว่าจะพบกับ สี ที่ไหนและเมื่อไหร่ แต่แสดงความคาดหวังให้ปักกิ่งช่วยสนับสนุนยูเครน และ ‘สันติภาพที่เป็นธรรม’ (just peace)

“ผมอยากจะเชื่อจริง ๆ ว่า จีนจะไม่ส่งอาวุธให้รัสเซีย นี่เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผม” เขากล่าว

เซเลนสกี ยังระบุด้วยว่า ตนเชื่อว่าประเทศที่ถูกรุกรานเท่านั้นที่มีสิทธิ ‘เสนอแผนริเริ่มเพื่อสันติภาพ’

กระทรวงการต่างประเทศจีนได้เผยแพร่แผน 12 ข้อ เพื่อยุติสงครามและฟื้นฟูสันติภาพในยูเครน แต่ปรากฏว่า โดนชาติตะวันตกวิจารณ์แหลก ว่าเป็นข้อเสนอที่เอื้อประโยชน์ให้รัสเซียมากกว่า แถมยังส่งสัญญาณปรามปักกิ่งว่า อย่าได้ส่งอาวุธให้มอสโกเป็นอันขาด

สำหรับแผนสันติภาพที่กระทรวงการต่างประเทศจีน เผยแพร่เมื่อเช้าวันศุกร์ (24 ก.พ.) มีใจความสำคัญเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหยุดกระพือความขัดแย้งและความตึงเครียด เพื่อไม่ให้สงครามยูเครนทวีความรุนแรงหรือลุกลามจนไม่อาจควบคุมได้ โดยรายละเอียดของแผนทั้ง 12 ประการ มีดังต่อไปนี้

'สื่อออสเตรเลีย' ปลุกระดมขั้นสูงสุด รับมือสงครามที่ยากจะเลี่ยง จี้!! รัฐบาลออสฯ เตรียมพร้อมรบจีนเต็มรูปแบบภายใน 3 ปี

สื่อยักษ์ใหญ่ของออสเตรเลียสร้างเรื่องซะแล้ว เมื่อหนังสือพิมพ์ Sydney Morning Herald และ The Age ได้ตีพิมพ์บทความวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงของออสเตรเลียถึง 5 คน ที่ถกกันในหัวข้อ 'Red Alert' - ภัยคุกคามจากจีนแดง 

ซึ่งทั้ง 5 มองเห็นตรงกันว่า แสนยานุภาพด้านการทหารของออสเตรเลียในวันนี้ ห่างไกลจากคำว่าพร้อมรบมาก ไม่สามารถรับมือกับสงครามที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้แล้วระหว่าง จีน และ ไต้หวัน ได้เลย พร้อมทั้งจี้ให้รัฐบาลกลางออสเตรเลียต้องเร่งยกระดับศักยภาพกองทัพขั้นสุดเพื่อรบกับกองทัพจีนอย่างเต็มรูปแบบให้ได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า

รายชื่อนักวิเคราะห์ที่สื่อออสเตรเลียภูมิใจนำเสนอ ได้แก่...

1. ปีเตอร์ เจนนิงส์ อดีตเจ้าหน้าระดับสูงของกระทรวงกลาโหม

2. ลาวินา ลี  ศาตราจารย์ภาควิชายุทธศาสตร์ และ อาชญาวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยแมคควอรีย์ 

3. อลัน ฟินเคิล อดีตหัวหน้าทีมวิทยาศาสตร์แห่งออสเตรเลีย

4. เลสลีย์ ซีเบค ประธานสถาบันยุทธศาสตร์แห่งชาติ

5. มิค ไรอัน อดีตผู้บัญชาการกองพันทหารแห่งกองทัพบกออสเตรเลีย

โดยสื่อออสเตรเลียเคลมว่า ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 5 คนนี้ ได้ร่วมประชุม ถกเถียงถึงสถานการณ์ และความเป็นไปได้ที่ออสเตรเลียต้องกระโจนเข้าสู่สงครามมานานถึง 2 ปีแล้ว โดยประเมินจากนโยบายของ สี จิ้นผิง ผู้นำจีนที่เพิ่งขึ้นรับตำแหน่งต่ออย่างเป็นทางการในเทอม 3 ที่ได้สั่งเพิ่มงบประมาณด้านการทหารขึ้นอีกถึง 7.2% และแสดงท่าที่แข็งกร้าวชัดเจนต่อข้อพิพาทในเขตปกครองไต้หวัน ทั้งหมดได้ฟันธงว่า ภายในระยะเวลา 3 ปีต่อจากนี้ (2027) จีนจะสามารถยกระดับแสนยานุภาพด้านการทหารได้เทียบเท่ากับสหรัฐฯ

และนั่นก็เป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ยอมไม่ได้ สงครามที่ช่องแคบไต้หวันจะระเบิดขึ้นอย่างแน่นอน ส่วนออสเตรเลียที่ยืนอยู่ฝั่งเดียวกับสหรัฐฯ ก็จำเป็นต้องเข้าร่วมสงครามรบกับจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

นักวิเคราะห์มองเห็นภาพออสเตรเลียที่จะถูกใช้เป็นฐานทัพให้กับกองทัพสหรัฐฯ กว่า 2 แสนนายเพื่อมาประจำพร้อมรบ และออสเตรเลียก็จะกลายเป็นเป้าหมายการโจมตีด้วยขีปนาวุธของกองทัพจีน รวมถึงการโจมตีทางไซเบอร์อย่างรุนแรงในระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานจนปั่นป่วนไปทั้งประเทศ

นักวิเคราะห์ย้ำเตือนถึงชาวออสเตรเลียว่า ทุกคนควรต้องรีบเตรียมใจรับสงครามกันได้แล้ว ความสงบสุขที่มีมายาวนานหลายสิบปีในออสเตรเลียมันสิ้นสุดลงแล้ว และจี้ให้รัฐบาลออสเตรเลียเร่งยกระดับกองทัพ และอาวุธคงคลังอย่างเร่งด่วนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะนี่คือสถานการณ์ฉุกเฉิน 

ความตึงเครียดในย่านทะเลจีนใต้ทวีความรุนแรงขึ้นแบบเร่งสปีดจากสงครามในยูเครน ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียเองก็ถูกกดดันไม่น้อยให้รีบเตรียมพร้อมรับศึกสงครามในภูมิภาคอินโดจีน

และล่าสุด ออสเตรเลีย เพิ่งลงนามตกลงที่จะซื้อเรือดำน้ำนิวเคลียร์จากสหรัฐจำนวน 5 ลำ ที่เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลง AUKUS ที่เคยเป็นเหตุให้ทางออสเตรเลียจำเป็นต้องเทดีลเรือดำน้ำของฝรั่งเศส เพื่อมาซื้อของสหรัฐในวันนี้ สร้างความขุ่นเคืองให้กับทางฝรั่งเศสมาแล้ว ก็พอจะเห็นได้ว่ารัฐบาลออสเตรเลียเองก็กำลังเร่งเตรียมกองทัพตามแผนการรบของสหรัฐฯ อยู่

‘IMF-ยูเครน’ บรรลุข้อตกลง กู้ 1.56 หมื่นล้านดอลลาร์ ช่วยฟื้นประเทศ หลังตกอยู่ในภาวะสงครามกว่า 1 ปีเต็ม

(22 มี.ค. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ (IMF) บรรลุข้อตกลงกับยูเครนแล้ว เรื่องสินเชื่อมูลค่า 15,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 538,566 ล้านบาท) เพื่อนำไปช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจยูเครนที่ตกอยูในภาวะสงครามมานานกว่า 1 ปี

นายแกวิน เกรย์ หัวหน้าทีมภารกิจยูเครนของไอเอ็มเอฟ แถลงว่า…

“นอกเหนือจากความสูญเสียด้านมนุษยธรรมอย่างน่ากลัวแล้ว การที่รัสเซียรุกรานยูเครนยังคงส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของยูเครน สินเชื่อระยะ 4 ปีนี้จะช่วยการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่อย่างช้า ๆ และส่งเสริมการเติบโตระยะยาวในการบูรณะประเทศหลังสงคราม รวมถึงการที่ยูเครนกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู (EU) คณะกรรมการไอเอ็มเอฟจะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวในอีกไม่กี่สัปดาห์” นายเกรย์ กล่าว

นายเกรย์ระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของยูเครนลดลงถึงร้อยละ 30 ในปี 2565 มีคนยากจนเพิ่มขึ้น และสูญเสียเงินทุนจำนวนมาก ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยูเครนจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ใน 2-3 ไตรมาสนี้ เนื่องจากมีการดำเนินกิจกรรมอีกครั้ง หลังจากโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเสียหายหนัก แต่ความท้าทายฉับพลันด้านเศรษฐกิจมหภาคยังคงมีอยู่ เนื่องจากมียอดขาดดุลการคลังที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันและกินวงกว้าง


ที่มา : https://www.naewna.com/inter/719095

‘รัสเซีย’ ฉะ ‘UK’ กรณีส่งกระสุนยูเรเนียมให้ ‘ยูเครน’ ชี้ อาจส่งผลให้สงครามบานปลายและร้ายแรงกว่าเดิม

(24 มี.ค. 66) เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ในวันพฤหัสบดี (23 มี.ค.) ปฏิเสธเสียงคร่ำครวญของรัสเซีย เกี่ยวกับคำแถลงของสหราชอาณาจักร ที่บอกว่าจะส่งกระสุนที่มียูเรเนียมด้อยสมรรถนะเป็นส่วนประกอบให้แก่ยูเครน ยัน เป็นไปตามกฎระเบียบและกฎหมายระหว่างประเทศ

รัสเซียเมื่อวันพุธ (22 มี.ค.) ออกมาเตือนเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ลุกลามบานปลายอย่างร้ายแรงในวิกฤตยูเครน หากว่าลอนดอนมอบกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะที่มีประสิทธิภาพเจาะเกราะให้แก่เคียฟ

เมื่อถูกถามเกี่ยวกับแผนของสหราชอาณาจักรและเสียงโวยวายจากรัสเซีย ทางสโตลเทนเบิร์ก ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี ว่า “บรรดาพันธมิตรนาโต้กำลังปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และกฎหมายระหว่างประเทศในทุก ๆ อย่างที่พวกเขาทำในการสนับสนุนยูเครน”

“สิ่งอันตรายที่สุดคือสงคราม ซึ่งกำลังเข่นฆ่าหลายพันชีวิต” เขากล่าว ณ พิธีเปิดปฏิบัติการฝูงบินเครื่องเติมเชื้อเพลิงทางอากาศ กองบินใหม่ของนาโต้-อียู ที่ฐานทัพอากาศแห่งหนึ่งในเนเธอร์แลนด์ “สำหรับประธานาธิบดีปูติน การหยุดสงครามคือสิ่งสำคัญที่สุดที่สามารถทำได้เพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ”

แอนนาเบล โกลดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักร ยืนยันเมื่อวันจันทร์ (20 มี.ค.) ว่าสหราชอาณาจักรจะมอบกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะแก่ยูเครน โลหะหนักที่จะช่วยให้กระสุนสามารถเจาะทะลวงเหล็กได้ง่ายกว่าเดิม

มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุสปุตนิกในวันพุธ (22 มี.ค.) เน้นย้ำว่าถ้อยแถลงของลอนดอน คือสัญญาณแห่ง ‘การขาดความยั้งคิด ไร้ความรับผิดชอบ และลอยนวลพ้นผิด’ ของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรในเรื่องของกิจการระหว่างประเทศต่าง ๆ

เธอเน้นย้ำว่า กระสุนที่มียูเรเนียมด้อยสมรรถนะเป็นส่วนประกอบไม่ใช่แค่ทรงพลานุภาพมากกว่าและศักยภาพในการเจาะทะลุทะลวงมากกว่า แต่มันยังก่อการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีในดิน สร้างความเสียหายระยะยาวแก่สิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวไปอีกหลายชั่วอายุคน

ส่วน เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย กล่าวว่า การใช้กระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ จะเป็นการก้าวสู่สถานการณ์ที่ลุกลามบานปลายอีกก้าวและเป็นย่างก้าวที่ร้ายแรง พร้อมระบุมันจะลดศักยภาพของยูเครนในการผลิตอาหารคุณภาพสูงที่ไร้การปนเปื้อน

‘อียู’ ให้คำมั่น พร้อมช่วยเหลือเด็กยูเครนนับหมื่นคน ให้ได้กลับบ้านเกิด หลังถูกรัสเซียลักพาตัวในภาวะสงคราม

(25 มี.ค. 66) สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค.66 นางอัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป แถลงว่า จะจัดการประชุมเพื่อรับประกันการส่งคืนเด็ก ๆ ชาวยูเครนที่ถูกรัสเซียลักพาตัวไปประเทศในระหว่างที่สงครามการรุกรานอธิปไตยยูเครนยังดำเนินอยู่

“สิ่งนี้เป็นเครื่องเตือนใจที่น่ากลัวถึงช่วงเวลามืดมนที่สุดในประวัติศาสตร์ของเรา เกิดอะไรขึ้นที่นั่นในการพาตัวเด็ก ๆ ไป นี่เป็นอาชญากรรมสงคราม” นางไลเอินกล่าวหลังการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) 

ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ออกหมายจับ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เมื่อวันที่ 17 มี.ค.66 ในข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงคราม จากกรณีส่งเด็กยูเครนมากกว่า 16,000 คน ออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งทางการยูเครนระบุว่า มีเด็กจำนวนมากถูกส่งไปอยู่ในสถานสงเคราะห์และบ้านอุปถัมภ์

นางไลเอินกล่าวอีกว่า จะทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาแตอุช ยากุป มอราวีแยตสกี ผู้นำโปแลนด์ เพื่อระดมความช่วยเหลือจากนานาชาติสำหรับพาเด็ก ๆ ชาวยูเครนกลับประเทศบ้านเกิด

‘เซเลนสกี’ เอ่ยปากเชิญ ‘สี จิ้นผิง’ ผู้นำจีน เยือนยูเครน เย้ย ‘ปูติน’ ไร้พันธมิตร - สูญเสียทุกอย่างเพราะสิ่งที่ตัวเองก่อ

(29 มี.ค. 66) ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ออกปากเชื้อเชิญประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนไปเยือนกรุงเคียฟเพื่อร่วมหาทางออกให้กับสงครามรัสเซีย-ยูเครน หลังจากที่ผู้นำจีนเพิ่งจะเดินทางไปเยือนมอสโกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ระหว่างให้สัมภาษณ์พิเศษกับผู้สื่อข่าว AP บนขบวนรถไฟจากเมืองซูมี (Sumy) ‘เซเลนสกี’ ผู้นำยูเครน ได้เอ่ยย้ำคำเชิญไปยัง ‘สี จิ้นผิง’ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำชาติมหาอำนาจที่ยังไม่เคยไปเยือนกรุงเคียฟ นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานเมื่อเดือน ก.พ. ปีที่แล้ว

“เราพร้อมที่จะพบกับท่านที่นี่” เซเลนสกี กล่าว

“ผมอยากจะพูดคุยกับท่าน ผมเคยติดต่อท่านก่อนที่สงครามจะปะทุอย่างเต็มรูปแบบ แต่ตลอดช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมา ผมยังไม่มีโอกาสเช่นนั้นเลย”

จีนมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับรัสเซีย ทั้งในทางเศรษฐกิจการเมืองมานานหลายสิบปี และแม้รัฐบาล สี จิ้นผิง จะประกาศจุดยืน ‘เป็นกลาง’ ในสงครามครั้งนี้ ทว่าในทางปฏิบัติก็ยังคงให้การสนับสนุนทางการทูตต่อประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำของรัสเซีย

การเยือนมอสโกของ สี จิ้นผิง ระหว่างวันที่ 20-22 มี.ค. ที่ผ่านมานั้น ทำให้ชาติตะวันตกหวาดระแวง ว่าจีนอาจตัดสินใจส่งอาวุธและเครื่องกระสุนไปช่วยเติมเต็มคลังแสงของรัสเซีย ที่ร่อยหรอลงไปเรื่อย ๆ ทว่าสุดท้ายแล้วการเยือนก็จบลงแบบไม่มีคำแถลงใด ๆ ที่มีนัยสำคัญ

หลายวันต่อมา ปูติน ประกาศจะส่งขีปนาวุธทางยุทธวิธีไปประจำการที่เบลารุส ซึ่งเท่ากับว่า ‘คลังแสงนิวเคลียร์’ ของรัสเซียกำลังจะถูกลำเลียงเข้าใกล้แผ่นดิน ‘นาโต’ มากขึ้นอีก

เซเลนสกี มองว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ ปูติน น่าจะเป็นความพยายาม ‘แก้เก้อ’ จากการที่ผู้นำจีนไม่ได้รับปากมอบความช่วยเหลือทางทหารอย่างเป็นรูปธรรม และอาจเป็นการตอบโต้ที่อังกฤษจะส่งกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ (depleted uranium ammunition) ให้กับยูเครนด้วย

สถานทูตฯ ให้คนไทยในซูดานลงทะเบียน เพื่อเตรียมอพยพและให้ความช่วยเหลือ

จากกรณีเกิดการสู้รบกันระหว่างกองทัพซูดานกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่กรุงคาร์ทูมของสาธารณรัฐซูดาน 

ล่าสุดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ขอให้คนไทยในซูดานลงทะเบียน เพื่อเตรียมอพยพและให้ความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน

ต่างชาติแห่หนีตายจาก 'ซูดาน' หลังเมืองหลวงกลายเป็นมิคสัญญี ฟาก 2 กองทัพระเบิดสงครามกลางเมือง เข้าสู่วันที่ 10

รัฐบาลต่างชาติ ทั้งสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ฝรั่งเศส ซาอุดีอาระเบีย ฯลฯ ประกาศอพยพเจ้าหน้าที่สถานทูต และพลเมืองของตนออกจากซูดานอย่างเร่งด่วน หลังเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงด้วยอาวุธสงคราม และการโจมตีทางอากาศระหว่าง 2 กองกำลังแห่งชาติ ได้แก่ กองทัพซูดาน ที่นำโดย พลเอก อับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮานและ กองกำลังกึ่งทหาร Rapid Support Forces (RSF) ที่มี โมฮาเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล เป็นผู้นำ ณ ใจกลางกรุงคาร์ทูม เมืองหลวงของซูดาน

โดยการสู้รบเปิดฉากขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2566 เป็นต้นมาแบบไม่มีสัญญาณการแจ้งเตือนล่วงหน้า จนถึงวันนี้ก็เข้าสู่วันที่ 10 แล้ว สถานการณ์ก็ยังคงรุนแรง และไม่มีฝ่ายใดหยุดยิง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วไม่น้อยกว่า 400 คน ขณะที่ชาวซูดานผู้ติดอยู่ในเมืองกำลังประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร และน้ำ สาธารณูปโภคทั้งประปา และ ไฟฟ้า ถูกตัดขาด ไม่นับรวมปัญหาการปล้นสดมภ์ และการถูกลูกหลงจากการโจมตีทางทหาร

นอกจากนี้ กองกำลังซูดาน ต่างพยายามแย่งชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ อาทิ ทำเนียบประธานาธิบดี, รัฐสภา, สนามบิน, สถานีโทรทัศน์, สถานีเครือข่ายโทรคมนาคม ทำให้การอพยพชาวต่างชาติเต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะไม่สามารถเข้าถึงสนามบินนานาชาติได้

ล่าสุดมีการประสานงานให้สามารถอพยพชาวต่างชาติออกจากกรุงคาร์ทูมได้ทางรถยนต์ ทางเรือ หรือทางอากาศ โดยรัฐบาลต่างชาติสามารถส่งเครื่องบินมารับพลเมืองของตนได้ที่ท่าเรือซูดาน ทางชายฝั่งทะเลดำ ซึ่งห่างจากกรุงคาร์ทูมถึง 850 กิโลเมตร

โดยซาอุดีอาระเบีย เป็นชาติแรกที่สามารถอพยพพลเมืองกว่า 150 คนออกจากซูดานได้ และเดินทางมาถึงเมืองเจดดาห์อย่างปลอดภัยเมื่อวันเสาร์ 22 เมษายนที่ผ่านมา และยังช่วยเหลือพลเมืองของชาติอื่นๆ เช่น คูเวต, UAE, ตูนิเซีย, ปากีสถาน, อินเดีย, ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ออกจากซูดานด้วย

ด้านกองทัพสหรัฐฯ ได้จัดส่ง Chinook เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงขนาดใหญ่จำนวน 3 ลำ พร้อมกองกำลังอีก 100 นายไปรับพลเมืองอเมริกัน คณะทูตและครอบครัวแล้วเช่นกัน โดยนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐประกาศยุติปฏิบัติการด้านการทูตในซูดานอย่างไม่มีกำหนด แต่ยังมีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นประจำอยู่คอยช่วยเหลือพลเมืองอเมริกัน ที่คาดว่ายังติดอยู่ในซูดานนับพันคน 

ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีอังกฤษส่งกองกำลังติดอาวุธ รุดหน้าไปช่วยอพยพคณะทูตอังกฤษพร้อมครอบครัวออกมาทั้งหมดแล้ว อีกทั้งยอมรับว่ามีการคุกคามเจ้าหน้าที่สถานทูตอังกฤษ ที่นับวันความรุนแรงก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

'นักวิชาการ' ชี้!! สงครามพันทางของสหรัฐฯ เอี่ยวหนุนรัฐประหารอย่างมีนัยในซูดาน

จากที่เหตุการณ์ในซูดาน ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนมีการอพยพประชาชนในหลายประเทศ ขณะเดียวกันก็มีรายงานถึงเบื้องหลัง หรือ ผู้ที่สนับสนุนการรัฐประหารอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยมีชื่อสหรัฐอเมริกาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น ด้าน ดร.ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ นักวิชาการทางบูรพคดีศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้โพสต์ผ่าน Blockdit ถึงสถานการณ์ของซูดานต่อเนื่องไปยังสหรัฐฯ ว่า...

'อเมริกาเล่นบทเมริกุ๊ยโลกที่ซูดาน'

กรณีประเทศซูดาน สื่อมวลชนไทยควรนำเสนอข่าวให้ชัดเจนว่าอเมริกาอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหาร เพราะซูดานกำลังทิ้งดอลลาร์ หันไปทางรัสเซียและจีน รัฐบาลอเมริกาทนไม่ได้ จึงต้องให้ทหารซูดานที่เป็นหุ่นเชิดตนทำรัฐประหารขึ้นมา

ประเทศที่สร้างภาพว่าประชาธิปไตยมาตลอดอย่างอเมริกา ที่แท้ก็ลวงคนทั้งโลก เบื้องหลังคือ จอมเผด็จการโลกโดยแท้ 

ทูตอเมริกาในไทย หรือในที่ไหนๆ ไม่ควรจะมีสิทธิ์สอนประเทศอื่นในเรื่องระบอบประชาธิปไตย เพราะตนเองก็ยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top