Friday, 3 May 2024
สงคราม

‘อ.ปิติ’ กางตำรา ‘สมรภูมิพลิกอำนาจโลก’ ตีแผ่ชนวนรบ ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ การแทรกแซงจากชาติมหาอำนาจ สู่สงครามตัวแทน ‘สหรัฐฯ-มุสลิม’

(8 ต.ค. 66) รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีสถานการณ์ ‘ภาวะสงคราม’ ระหว่างประเทศอิสราเอล ปะทะกับกลุ่มฮามาสในดินแดนปาเลสไตน์ โดยระบุว่า…

“ความขัดแย้งครั้งล่าสุดในดินแดนตะวันออกกลาง ที่กลุ่ม #ฮามาส #Hamas เรียกร้องให้ ชาว #ปาเลสไตน์ ที่ถูกย่ำยีตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาโดย #ชาวยิว ออกมาใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้อง #มัสยิดอัลอักศอ #AlAqsaMosque ในดินแดน #กาซา มีปฐมบทอย่างไร?

ทั้งนี้ เนื่องจาก ได้เห็นข้อความ X (Twitter) ของท่านนายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา ทวีสิน - Srettha Thavisin’ แล้วมีความห่วงกังวลครับ การแสดงออกเรื่องการประณามการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องครับ แต่เนื้อความในส่วนต่อจากนั้นที่ค่อนไปทางอิสราเอล อาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมนัก เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้น เอาเข้าจริงมีเหตุผลมาจากทั้ง 2 ฝ่าย และต้องอย่าลืมว่า เพื่อนบ้านมุสลิมของไทยสนับสนุนปาเลสไตน์อย่างมาก ดังนั้น การเขียนข้อความที่เลือกข้างอิสราเอลอย่างชัดเจน ทั้งที่ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับทั้ง 2 ฝ่าย อาจถูกตีความได้หลายมิติ

ดังนั้น เพื่อให้พวกเราได้เข้าใจสถานการณ์ ขออนุญาตนำเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ ‘Amidst the Geopolitical Conflict #สมรภูมิพลิกอำนาจโลก’ ที่ ผม ปิติ ศรีแสงนาม และ ‘จักรี ไชยพินิจ Chakkri Chaipinit’ ร่วมกับเขียน และจะวางจำหน่ายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 12-23 ตุลาคมนี้ โดย Matichon Book - สำนักพิมพ์มติชน มาเผยแพร่ เพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง สำหรับการติดตามสถานการณ์นะครับ”

“ประเด็นปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่าง #อิสราเอล และ #ปาเลสไตน์ เป็นปัญหาที่มีรากฐานมาอย่างยาวนานหลายช่วงอายุคน โดยเกี่ยวข้องกับประเด็นด้านศาสนา และเป็นปัญหาที่สะท้อนให้เห็นถึงความวุ่นวายจากการที่ชาติมหาอำนาจเข้ามามีบทบาทในดินแดนบริเวณนี้ และการเขียนประวัติศาสตร์ที่มีทั้งรูปแบบเข้าข้างอิสราเอลและเข้าข้างปาเลสไตน์ ความสลับซับซ้อนของเหตุการณ์ความขัดแย้งนี้ จึงทำให้การเมืองในตะวันออกกลางซับซ้อนไปด้วย

หากย้อนไปเมื่อกว่า 2,000 ปีที่แล้ว ดินแดนอิสราเอลหรือพื้นที่เยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นข้อพิพาทในปัจจุบัน เคยอยู่ในการครอบครองของชาวยิวมาก่อน แต่ในฐานะที่อาณาบริเวณแห่งนี้เป็น ‘ทางแยก’ ที่อยู่กลางแผนที่ ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของทั้งศาสนา #ยูดาห์ #คริสต์ และ #อิสลาม จวบจนกระทั่งจักรวรรดิออตโตมันได้เข้ามาปกครองบริเวณแถบนี้ ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงตั้งชื่อ ‘เยรูซาเล็ม’ และบริเวณโดยรอบว่าเป็น ‘ปาเลสไตน์’ โดยชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณแถบนี้ก็ถูกเรียกว่าเป็น ‘ชาวปาเลสไตน์’

จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นเมื่อ สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ปะทุขึ้น อังกฤษได้ให้คำมั่นสัญญากับชาวยิวว่า หากให้ความช่วยเหลือกับอังกฤษจนได้รับชัยชนะในสงคราม พวกเขาจะได้รับดินแดนปาเลสไตน์เป็นการตอบแทน บทสรุปของสงครามทำให้ชาวยิวได้เข้าไปอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ตามสัญญา อย่างไรก็ดี จุดเริ่มต้นของสถานะชาวยิวในดินแดนแถบนี้ก็มาพร้อมกับความขัดแย้งระหว่างยิวและอาหรับอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ความสลับซับซ้อนของสถานการณ์ยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ทำให้ชาวยิวสามารถสถาปนารัฐเอกราชได้สำเร็จในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ.1948 ในชื่อว่า ‘อิสราเอล’ การเกิดขึ้นขององค์การสหประชาชาติเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแบ่งดินแดนออกเป็นของชาวยิวและชาวอาหรับ โดยมีเยรูซาเล็มเป็น ‘#ดินแดนร่วม (common land)’ สำหรับทั้ง 2 ฝ่ายตามมติ ค.ศ.1947

ในสายตาของ ‘องค์การสหประชาชาติ’ การแบ่งแยกดินแดนนี้เป็นการยุติปัญหาอย่างสันติ แต่กลับกลายเป็นว่า ความขัดแย้งระหว่างชาวยิวและชาวอาหรับได้ยกระดับกลายเป็น ‘สงครามระหว่างประเทศ’ ที่มีคู่ขัดแย้งหลักคืออิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยมีพันธมิตรจากโลกตะวันตกและจากโลกมุสลิมเป็นฉากทัศน์ของความขัดแย้งที่ดำเนินไปนี้

ตลอดช่วงสงครามเย็น ความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่ายดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่ผลลัพธ์ของการต่อสู้นั้น ฝ่ายอิสราเอลได้รับประโยชน์โดยได้ดินแดนที่เพิ่มขึ้น ปาเลสไตน์ที่เพลี่ยงพล้ำในการรบ จึงได้จัดตั้ง #องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (#PLO) เพื่อเคลื่อนไหวแบบกองโจรในการขับไล่อิสราเอล กระนั้นก็ตาม ในเหตุการณ์สำคัญอย่าง ‘#สงครามหกวัน’ ใน ค.ศ.1967 อิสราเอลก็สามารถผนวกเอาฉนวนกาซา และเขตเวสต์แบงก์ซึ่งเคยเป็นดินแดนที่ไม่มีเจ้าของ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตนเองได้สำเร็จ

หลังจากนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายก็มีการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง อาทิ #วิกฤติการณ์อินทิฟาดา (#Intifada) ครั้งที่ 1 (ค.ศ.1987-1993) และครั้งที่ 2 (ค.ศ.2000-2005) รวมไปถึงการเกิดขึ้นของกองกำลังฮามาส (Hamas) ซึ่งมีวิธีการรบที่ดุดันมากกว่ากลุ่มองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ ถึงแม้ว่านานาชาติจะพยายามไกล่เกลี่ยผ่านข้อตกลงสำคัญ เช่น #การเจรจาที่แคมป์เดวิด (ค.ศ.1978)  #ข้อตกลงออสโล (ค.ศ.1993 และ 1995) แต่ก็ไม่เป็นผล ทั้ง 2 ฝ่ายมีแนวโน้มการใช้อาวุธหนักมากกว่าเดิม ขณะเดียวกัน จำนวนผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเวลาผ่านไป

ปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ทำหน้าที่เสมือนเป็นสงครามตัวแทนระหว่างสหรัฐฯ และโลกมุสลิมไปโดยปริยาย ความขัดแย้งที่ดำเนินมากว่า 7 ทศวรรษจะคลี่คลายหรือดำเนินไปในลักษณะใด ย่อมส่งผลโดยตรงต่อหน้าตาของภูมิรัฐศาสตร์ใหม่แบบสามก๊กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รูปที่นำมาให้ชมคือ แผนที่แสดงภาพการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ระหว่างปี ค.ศ. 1917-2020 ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจว่าเพราะเหตุใดกลุ่ม Hamas ถึงเรียกร้องว่า ชาวปาเลสไตน์ถูกกดดันย่ำยีตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เพราะบ้านของพวกเขาถูกยึดเอาไปทีละน้อยๆ และพื้นที่ศักสิทธิ์สุดท้ายที่พวกเขาต้องปกป้องคือ ‘มัสยิดอัลอักศอ’ (Al-Aqsa Mosque) 1 ใน 3 สถานที่สำคัญสูงสุดของชาวมุสลิม (ร่วมกับ มัสญิดอัลฮะรอม ในนครมักก๊ะฮฺ ซึ่งเป็นที่ตั้งของก๊ะอฺบ๊ะฮฺ และ มัสญิดนะบะวีย์ หรือ ‘มัสญิดของท่านนบีมุฮัมมัด’ ซึ่งตั้งอยู่ที่นครมะดีนะฮฺ)

และในขณะเดียวกัน ชาวยิวก็เชื่อว่าสถานที่เดียวกันนี้คือที่ตั้งของ Temple Mount ซึ่งคัมภีร์ฮีบรูระบุว่าพระเจ้าโซโลมอน (สุไลมาน) ราชโอรสแห่งกษัตริย์เดวิด โปรดให้สร้างพระวิหารแรก (First Temple) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของศาสนายูดาห์ตามบทบันทึกคัมภีร์ฮีบรู

ถามว่า แล้วพวกเขาจะไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติเลยหรือ?

คำตอบคือ ได้ครับ และได้มาตลอดหลายร้อยปีด้วย โดยผมมีแผนที่ยืนยัน

ดูจากแผนที่แสดงการแบ่งเขตพื้นที่การอยู่ร่วมกันของพหุวัฒนธรรมในเขตเยรูซาเล็ม ก่อนการเกิดขึ้นของรัฐอิสราเอล นี่คือ ‘การอยู่ร่วมกันอย่างสันติในดินแดนศักดิ์สิทธิ์’ ก่อนที่จะมีการแทรกแซงของมหาอำนาจอย่างอังกฤษและสหรัฐภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

นอกจากดินแดนแห่งนี้แล้ว ในหนังสือเล่มนี้ พวกเรายังพิจารณาว่า ทั่วโลกยังมีจุดปะทุที่คนไทยต้องให้ความสนใจอีก 8 แห่ง ได้แก่ 

1.) NATO vs รัสเซีย : สงครามเย็นที่ไม่สิ้นสุด
2.) เอเชียใต้ : ดินแดนแห่งตัวแปรของภูมิรัฐศาสตร์
3.) แอฟริกา : กาฬทวีปที่ถูกมองข้าม
4.) ตะวันออกกลาง : ทางแยกของแผนที่โลก
5.) คาบสมุทรเกาหลี : ภูมิรัฐศาสตร์เก่าในบริบทใหม่ (บทความพิเศษ โดย Seksan Anantasirikiat)
6.) ช่องแคบไต้หวัน : การช่วงชิงพื้นที่ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา
7.) ทะเลจีนใต้ : เขตอิทธิพลของจีนกับประเด็นพิพาทของอาเซียน
8.) Zomia : จากดินแดนแห่งเทือกเขาสู่พื้นที่ยุทธศาสตร์การเมืองในเมียนมา

‘อดีต นร.ไทยในญี่ปุ่น’ จวก ‘พิธา’ หลังต่อสายตรงทูตอิสราเอลในไทย ชี้!! ไม่ใช่หน้าที่ แถมไร้ความเป็นมืออาชีพ หวั่นทำสื่อสารคาดเคลื่อน

(8 ต.ค. 66) จากกรณีที่อิสราเอลและกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ เปิดฉากโจมตีใส่กัน ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และสถานการณ์เริ่มลุกลามบานปลายมากยิ่งขึ้น เมื่อได้มีการจับกุมตัวแรงงานคนไทยที่ทำงานในอิสราเอลเป็นตัวประกัน ซึ่งทางรัฐบาลไทยก็สั่งการให้เร่งตรวจสอบดูแลแรงงานอย่างใกล้ชิด

ซึ่งต่อมา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ (X) ส่วนตัว ระบุว่า…

“ผมพึ่งวางสายโทรศัพท์จากการพูดคุยกับท่านทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย และพี่น้องแรงงานคนไทยในอิสราเอลจากการประสานของปีกแรงงานพรรคก้าวไกล ได้ทราบมาว่าสถานการณ์มีความรุนแรงต่อเนื่อง และได้รับคำขอร้องว่าครอบครัวของแรงงานที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่สามารถติดต่อญาติที่อิสราเอลได้ และกำลังตกอยู่ในความกังวลอย่างมาก หากท่านมีญาติไปทำงานที่อิสราเอล และบัดนี้ยังติดต่อไม่ได้ ท่านสามารถระบุชื่อของบุคคล เมืองที่พำนัก มาที่ email : [email protected] เพื่อรวบรวมเป็น database ประสานงานกับ สถานทูตอิสราเอล และ/หรือส่งมอบต่อกระทรวงต่างประเทศต่อไปได้”

จากกรณีดังกล่าว ทำให้เกิดการท้วงติงถึงความไม่เหมาะสม และดูไม่เป็นมืออาชีพ ของนายพิธา ในโลกโซเชียลกันเป็นจำนวนมาก

ล่าสุด ‘คุณนฤพันธ์ โชติช่วง’ อดีตนักเรียนวิทยาลัยยามชายฝั่งญี่ปุ่น ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ‘Naruphun Chotechuang’ ให้มุมมองเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวไว้ ระบุว่า…

“ทวิตนี้แสดงถึงความไม่เป็นงาน และต้องการแสงของผู้ทวิต โดยไม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่อาจตามมาในภายหลัง

1.) เหตุการณ์นี้ คนที่ควรโทรคุยควรเป็นทูตไทยในอิสราเอล มิใช่ทูตอิสราเอลในประเทศไทย เพราะถือว่าเป็นคนที่มีหน้าที่โดยตรง และต้องพยายามติดต่อคนไทยที่อาศัยในอิสราเอลตามข้อมูลที่มี เพื่อดำเนินการในขั้นต่อไป

ในทางกลับกันคนไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศควรมีช่องทางติดต่อกับสถานทูตไทยในประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่เช่นเดียวกัน เพราะสถานทูตคงไม่สามารถทราบว่าเราอยู่ที่ใดโดยไม่ได้แจ้ง การไปอยู่ต่างประเทศแบบไม่มีการเตรียมตัวรับสถานการณ์ฉุกเฉินเลย ถือเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดเลย

2.) การใช้อีเมลส่วนตัวเป็นช่องทางรับข้อมูล ถือเป็นการกระทำที่ไร้ความเป็นมืออาชีพ และแสดงให้เห็นว่า อีเมลดังกล่าว ตัวเองไม่ได้จัดการดูแลอีเมลดังกล่าวด้วยตัวเอง มีคนอื่นสามารถเข้าถึงอีเมลของตัวเองได้ เพื่อจัดการข้อมูลที่จะเข้ามา

การสร้างอีเมลใหม่เพื่อใช้ในงานเฉพาะกิจไม่ใช่เรื่องที่ยากอะไรเลย เจ้าหน้าที่ไอทีทั่วไปสามารถทำได้ด้วยเวลาไม่กี่วินาที ทำให้คิดได้ว่า อาจจะไม่ได้คิดหรือต้องการให้ใช้ชื่อตัวเองเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง

3.) เรื่องสำคัญที่สุดคือ คนทวิตไม่ได้มีหน้าที่อะไรเลย แต่สร้างความสับสนในการติดต่อสื่อสารเพื่อแสงที่ตัวเองเคยทำเสมอมา และผมคิดว่าสุดท้ายก็คงไม่ต่างกรณีติดต่อไปยังรุ่นพี่ที่ MIT เพื่อเอาวัคซีนโควิดเข้ามา สุดท้ายแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ปล.ตัวผมเองเคยอยู่ในวิกฤตการณ์ในต่างประเทศอย่างเหตุการณ์สึนามิที่โทโฮคุ ประเทศญี่ปุ่น ตอนนั้นการติดต่อสื่อสารพิการ ทั้งระบบสัญญาณมือถือและอินเตอร์เน็ต เลยต้องติดต่อบอกสถานกงสุลไทยในโอซาก้า ด้วยโทรศัพท์ระบบสาย และค่อยบอกข่าวสารตัวเองไปยังมารดาเมื่อมีโอกาสในภายหลัง

‘แรงงานไทยในอิสราเอล’ เล่านาทีระทึก หลังกลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตี เผย มีกลุ่มก่อการร้ายลักลอบเข้าประเทศ กราดยิง ปชช.-จับเป็นตัวประกัน

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 66 จากกรณีที่ประเทศอิสราเอล ได้ประกาศภาวะสงคราม หลังจากที่กลุ่มฮามาสในดินแดนปาเลสไตน์ ได้ยิงขีปนาวุธจากกาซาประมาณ 5,000 ลูก ถล่มเข้าไปในประเทศอิสราเอล ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันเสาร์ (7 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ นับว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี จนทำให้นายกรัฐมนตรีอิสราเอลต้องประกาศภาวะสงคราม

ล่าสุด ได้มีแรงงานคนไทยในอิสราเอล ออกมาโพสต์คลิปวิดีโอผ่านช่องติ๊กต็อก ‘dobung’ บอกเล่าเหตุการณ์สุดระทึกที่ต้องหนีเอาชีวิตรอดจากเหตุการณ์ยิงขีปนาวุธกลุ่มฮามาส ใส่ประเทศอิสราเอล โดยระบุว่า…

“เช้าวันนี้ (7 ต.ค.) ผมไม่ได้ตื่นขึ้นมาเพราะเสียงนาฬิกาปลุก แต่ผมตื่นเพราะเสียงระเบิด และเสียงฝ้าภายในห้องพักที่ถูกแรงระเบิดปะทะจนสั่นสะเทือน เกิดเป็นเสียงอึกทึกครึกโครม เพราะวันนี้ที่ประเทศอิสราเอลได้เกิดการรบกันขึ้น ซึ่งจริงๆ อาจจะเรียกได้ว่าที่นี่มีการรบกันจนแทบจะเป็นเรื่องปกติเลยก็ว่าได้

สิ่งที่จะสามารถปกป้องผมได้คือ ระบบป้องกันจรวดของอิสราเอล หรือ ‘Iron Dome’ ซึ่งเป็นตัวต่อต้านจรวดที่ฝ่ายตรงข้ามยิงมา และอาจจะป้องกันได้ไม่เต็ม 100% หากจำนวนจรวดที่ฝ่ายตรงข้ามยิงมามีมากเกินจนสกัดไม่ทัน”

เจ้าของช่อง ยังได้กล่าวต่อว่า เหตุการณ์รบที่อิสราเอลครั้งนี้ ค่อนข้างมีความรุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มาเป็นอย่างมาก จนถึงขั้นทำให้นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลประกาศ ‘ภาวะสงคราม’ อีกทั้งช่วงที่เกิดเหตุชุลมุนขณะที่ได้มีจรวดถูกยิงเข้ามาเป็นพันๆ ลูก ก็ได้มีกลุ่มก่อการร้ายแทรกซึมเข้ามาในประเทศอิสราเอล โดยแทรกซึมเข้ามาทั้งทางรถยนต์และเครื่องร่อน

โดยหลังจากที่กลุ่มก่อการร้ายได้แทรกซึมเข้ามายังอิสราเอล ก็ได้ทำการกราดยิงประชาชน รวมถึงจับกุมตัวประชาชนไปเป็นตัวประกัน เพื่อใช้ในการเจรจาต่อรองอีกด้วย

“ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ กลุ่มพี่น้องแรงงานคนไทยที่อยู่ใกล้กับฉนวนกาซา ซึ่งเป็นพื้นที่ภาคใต้ของอิสราเอล… ผมขอให้ทุกคนอยู่รอดปลอดภัยนะครับ” เจ้าของช่อง กล่าวทิ้งท้าย

‘สหรัฐฯ’ เคลื่อนเรือรบประชิดชายฝั่งเมดิเตอร์ฯ หนุน ‘อิสราเอล’ ด้าน ‘กลุ่มชีอะห์’ เตือน!! พร้อมลุยฐานทัพสหรัฐฯ หากจุ้นกาซา

(9 ต.ค. 66) ‘ลอยด์ ออสติน’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ออกคำสั่งให้เคลื่อนพลกองเรือรบ เรือบรรทุกเครื่องบินรบ และอากาศยานอื่นๆ เข้าประชิดชายฝั่งด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแล้ว เพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มติดอาวุธฮามาสในอิสราเอล อันเป็นเหตุให้มีชาวอเมริกัน อย่างน้อย 4 คนเสียชีวิต

‘ลอยด์ ออสติน’ ได้กล่าวผ่านสื่อสหรัฐฯ ว่า ได้หารือกับ ‘โจ ไบเดน’ ผู้นำสหรัฐฯ ถึงสถานการณ์ในอิสราเอล และขั้นตอนการยกระดับบทบาทด้านการทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ และในวันนี้ก็มีคำสั่งให้เคลื่อนเรือบรรทุกเครื่องบินรบ USS Gerald R. Ford ที่ได้ชื่อว่าเป็นเรือรบที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงเรือรบติดขีปนาวุธ USS Normandy, USS Thomas Hudner, USS Ramage, USS Carney และ USS Roosevelt เข้าประชิดชายฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งใกล้เขตน่านน้ำของอิสราเอล และบริเวณฉนวนกาซา

ด้านฝ่ายกลาโหมสหรัฐฯ ได้พูดคุยกับ ‘โยอาฟ แกลลันต์’ รัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอลว่า สหรัฐอเมริกาพร้อมจะสนับสนุนชาวอิสราเอลจากการโจมตีของกลุ่มฮามาส เพื่อคืนความมั่นคง ปลอดภัยให้แก่อิสราเอล ส่วนยุทโธปกรณ์ด้านการรบ จะมีการขนส่งด่วนมาทางเครื่องบินในอีกไม่กี่วันข้างหน้าอย่างแน่นอน

การเคลื่อนไหวของกลาโหมสหรัฐฯ เกิดขึ้นหลังจากที่โจ ไบเดน ได้พูดคุยกับ ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เมื่อวันอาทิตย์ (8 ตุลาคม 66) ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นสัญญากับผู้นำอิสราเอลว่า จะส่งความช่วยเหลือถึงกองทัพอิสราเอลในเร็ววันนี้ และเน้นย้ำว่าสหรัฐฯ จะไม่รับฟังข้ออ้างใดๆ สำหรับการก่อการร้าย และทุกประเทศทั่วโลกต้องแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการต่อต้านการใช้อำนาจนิยมที่โหดร้ายเช่นนี้ อีกทั้งจะยกระดับการติดต่อทางการทูตอย่างเข้มข้นระหว่าง 2 ชาติตลอด 24 ชั่วโมง 

‘สหรัฐอเมริกา’ และ ‘อิสราเอล’ ถือเป็นประเทศพันธมิตรที่แน่นแฟ้นกันมายาวนาน ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งงบประมาณช่วยเหลือด้านการทหารแก่อิสราเอลหลายพันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี นับเป็นประเทศที่ได้รับงบประมาณจากสหรัฐอเมริกามากที่สุดประเทศหนึ่ง 

จึงไม่แปลกใจที่สหรัฐอเมริกาจะแสดงจุดยืนสนับสนุนฝ่ายอิสราเอลอย่างชัดเจน และเตรียมความพร้อมที่จะแทรกแซง หากสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ขยายวงความรุนแรงจนเกินควบคุม 

แต่ทว่า ด้านกลุ่ม ‘Kata'ib Sayyid al-Shuhada’ กองกำลังติดอาวุธกลุ่มชีอะห์ ในอิรัก ออกมาเตือนว่า หากสหรัฐอเมริกาแทรกแซงสงครามในกาซาเมื่อใด ฐานทัพสหรัฐฯ ทุกแห่งในภูมิภาคแถบตะวันออกกลาง มีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีโดยกองกำลังพันธมิตรของปาเลสไตน์ทันที เพราะปาเลสไตน์ ไม่ใช่ยูเครน ที่สหรัฐอเมริกาจะเข้าแทรกแซงได้ตามอำเภอใจ เพราะความขัดแย้งในดินแดนปาเลสไตน์ และระบอบไซออนนิสต์ มีความละเอียดอ่อนสูงกว่ามาก 

และการแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังทหาร และการเมืองตามแนวทางของสหรัฐอเมริกา ก็อาจไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นมากนัก และเกรงว่าจะยิ่งทับถมปมความขัดแย้งที่ยาวนานมากกว่า 75 ปี ให้ฝังลึกในดินแดนแถบนี้ลงไปอีกนั่นเอง

‘ไทย’ โล่ง!! ผลกระทบการโจมตีอิสราเอลน้อย เชื่อ!! ไม่สะเทือน ‘ส่งออก-ท่องเที่ยว-แรงงาน’

(9 ต.ค.66) ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ประเมินผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม หลัง ‘อิสราเอล’ และ ‘ปาเลสไตน์’ ได้เปิดฉากการโจมตีใส่กันจนเข้าสู่ภาวะสงคราม โดยระบุว่า…

ประเมินผลกระทบการโจมตีอิสราเอล

หลังจากที่ฮามาสโจมตีอิสราเอล​ และมีการตอบโต้จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก​ อีกทั้งสถานการณ์​ยังเสี่ยงรุนแรงและยืดเยื้อออกไป​ ผมมองว่าผลกระทบต่อไปมีทั้งทางตรงและทางอ้อม

โดยผลกระทบทางตรง ได้แก่
1.) การส่งออก
2.) การท่องเที่ยว
3.) รายได้แรงงาน

ผลกระทบทางตรงน่าจะจำกัด​ อิสราเอลไม่ใช่คู่ค้าหลักของไทย​ (ส่งออกเน้นสินค้าเกษตร/อาหาร)​ ไม่ใช่กลุ่ม​ท่องเที่ยวสำคัญ​ แต่ให้ระวังด้านการขนส่งทางอากาศ ที่อาจต้องเปลี่ยนเส้นทางในตะวันออกกลางจนกระทบการท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ อีกทั้งแรงงานไทยที่ไปทำงานที่อิสราเอลเพื่อส่งรายได้เข้าประเทศ​ ยังมีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 รองจากไต้หวัน​ (ตรงนี้ต้องไปเช็กต่อที่กระทรวง​แรงงาน​กันดูครับ​ ไม่คอนเฟิร์ม) หรืออาจจะต้องขอดูจำนวนเทียบเกาหลีใต้ หรือประเทศในตะวันออกกลางอื่นๆ (และขอแสดงความเสียใจ​กับครอบครัว​แรงงานไทยที่เสียชีวิตด้วยครับ) ส่วนด้านการลงทุนก็ยังไม่มาก

โดยผลกระทบทางอ้อม
1.) ราคาน้ำมันพุ่ง
2.) เงินวิ่งสู่สินทรัพย์​ปลอดภัย​ (ดอลลาร์​สหรัฐฯ)
3.) ราคาทองคำขึ้น

ผมยังมองว่าผลทางอ้อมไม่น่ารุนแรง​ อิสราเอล​ไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมัน​ อีกทั้งประเทศรอบข้าง​อย่างจอร์แดน​ก็ไม่ได้มีน้ำมันมาก​นัก น่าจะห่วงการขยายวงกว้างไป​อิหร่านหรือซาอุดีอาระเบีย​มากกว่า​ (ตอนนี้ยังไม่มีท่าทีไปไกล)​ หรือจะกระทบการขนส่งน้ำมันดิบผ่านทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน​ไปยุโรป​ แต่ก็ทำได้หลายช่องทาง​ (ระวังกระทบการขนส่งสินค้าทางเรือผ่านช่องแคบเช่นคลอง​ Suez และ​ Supply Chain Disruption กลุ่ม​ยานยนต์​ อิเล็กทรอนิกส์)

ผมจึงมองว่าราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นไม่น่าไปไกล​ เว้นแต่ประเทศอื่นเข้าร่วมสงครามนี้​ ส่วนพอน้ำมันพุ่ง​ ทองก็ขึ้นตาม​ ดอลลาร์​สหรัฐฯ ​กลับมาแข็ง เพราะเป็น​ Safe Haven

ที่ผมกังวลต่อตลาดทุน น่าจะมาจากบอนด์ยิลด์​พันธบัตร​รัฐบาลสหรัฐ​ฯ ที่ยังขึ้น​จนเกิดการเทขายสินทรัพย์​เสี่ยง​ บาทเลยอ่อนได้อีก​ และที่ยิลด์ขึ้นน่าจะมาจากข่าวเมื่อวันศุกร์ (6 ต.ค.) ที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาค​เกษตร​ของ​สหรัฐฯ ยังเพิ่ม​ แม้อัตราว่างงานจะคงที่​ 3.8% และอัตราเพิ่มของค่าจ้างจะเริ่มชะลอที่​ +0.2% จากเดือนก่อน​

แต่ยังห่วงว่า ‘เฟด’ อาจขึ้นดอกเบี้ยได้อีกในต้นเดือนพฤศจิ​กายนนี้​ CME​ Fedwatch มองโอกาสขึ้นเพิ่มไปมากกว่า​ 20%แล้ว​ และหากราคาน้ำมันเพิ่มยาว​ ความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงก็มี

สรุป​ ผมห่วงปัญหาสงครามในอิสราเอล​จะยืดเยื้อ และลามไปกระทบประเทศอื่นในตะวันออกกลาง​ ที่จะทำให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจนไทยขาดดุลการค้า​ ตลาดการเงินเสียเสถียรภาพ​ บาทอ่อน​ ห่วงการคุมราคาน้ำมันยิ่งทำให้รัฐบาลขาดทุนในกองทุนน้ำมัน​ หนี้เพิ่มไปอีก​ น่าหาทางใช้พลังงาน​ให้มีประสิทธิภาพ​ และอุดหนุนเฉพาะที่จำเป็น​ ผมยังเชื่อว่าสงครามจะจบในไม่ช้า​ แต่ก็ไม่มีใครรู้​ อย่าง ‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ ที่ลากมาเป็นปีก็ยังทำได้​ เราคงต้องหาทางลดผลกระทบกันดูครับ

‘ฉนวน Gaza’ เขตกักกันอันแสนสิ้นหวัง-ไร้มนุษยธรรม ที่ทั่วโลกมองข้าม ชนวนเหตุในการโต้ตอบด้วยความรุนแรงจากกลุ่มฮามาสต่ออิสราเอล

ฉนวน Gaza เขตกักกันที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ทำไมกลุ่ม ‘Hamas’ จึงกล้าโจมตีอิสราเอลอย่างบ้าเลือด ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าจะต้องถูกอิสราเอลตอบโต้เอาคืนอย่างรุนแรง เมื่อได้พยายามหาข้อมูลที่เขียนจากแหล่งข้อมูลที่มีความเป็นกลางที่สุด ก็ทำให้ได้บทความนี้มา ซึ่งเป็นบทความที่เขียนโดย ‘War Child International’ องค์กรเอกชนที่ไม่หวังผลกำไร (NGO) ที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยสงครามจากความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธในที่ต่าง ๆ บนโลกนี้

คำเตือนที่สิ้นหวัง 
ชาว Gaza เรียกบ้านของพวกเขาว่าเป็น ‘เขตกักกัน’ ที่เสมือนกับเป็น ‘เรือนจำกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก’ ด้วยจำนวนผู้คนร่วม 2 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ที่นี่ บนพื้นที่เพียง 365 ตารางกิโลเมตร ประชากรในฉนวน Gaza สองในสามอายุน้อยกว่า 25 ปี อาศัยอยู่ในสถานที่ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ‘António Guterres’ เลขาธิการสหประชาชาติ ได้เตือนว่า ฉนวน Gaza จะไม่สามารถอยู่อาศัยได้ภายในปี 2020 เว้นแต่จะมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อปรับปรุงบริการและโครงสร้างพื้นฐาน

ด้วยผลจากการปิดล้อม ชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza ต้องดิ้นรนกับสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ อันเนื่องมาจากอัตราความยากจนและการว่างงานที่สูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ฉนวน Gaza มีความหนาแน่นของประชากรสูงมาก สำนักงานสถิติกลางกาซา ระบุว่า มีผู้คนอาศัยอยู่ประมาณ 5,453 คนต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งมากกว่าความหนาแน่นของประชากร 13 เท่าในพื้นที่ที่ถูกอิสราเอลยึดครอง คือ 400 คนต่อตารางกิโลเมตร ความยาวของฉนวน Gaza ไม่เกิน 41 กม. และความกว้างระหว่าง 6 ถึง 12 กม. สถิติท้องถิ่นแสดงให้เห็นว่า อัตราการว่างงานในฉนวน Gaza เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยแตะระดับ 50.2% และเนื่องจากการปิดล้อมฉนวน Gaza อย่างต่อเนื่องและยาวนาน การโจมตีของอิสราเอล ทำให้ประชากรชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza ประมาณ 85% อยู่ในระดับที่ ‘ต่ำกว่าเส้นของความยากจน’

สงครามใหญ่ 4 ครั้งในรอบ 16 ปี

เด็ก ๆ และผู้ปกครองในฉนวน Gaza ไม่รู้อะไรเลยนอกจากชีวิตภายใต้การปิดล้อม และไม่สามารถออกไปไหนได้ แม้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวก็ตาม หนึ่งทศวรรษหลังจากที่กลุ่ม Hamas ยึดครองดินแดนที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ผู้อยู่อาศัยต้องมีชีวิตที่ต้องผ่านการสู้รบครั้งใหญ่ถึง 4 ครั้ง ในปี 2008-2009, 2012, 2014 และ 2021 และตอนนี้กำลังอยู่ในครั้งที่ 5

ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 2018 มีประชากรในฉนวน Gaza ได้รับบาดเจ็บแล้วกว่า 23,500 ราย มากกว่า 5,500 รายถูกยิงโดยกองกำลังความมั่นคงของอิสราเอล ผลการประท้วงตามแนวชายแดนส่งผลให้มีเด็กได้รับบาดเจ็บ 4,250 ราย และมีผู้เสียชีวิต 31 ราย (ไม่นับรวบเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในห้วงเวลานี้)

การจัดการกับความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า
หลายปีมานี้ สถานการณ์ในฉนวน Gaza ย่ำแย่ลงจนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ระบบการดูแลสุขภาพและการศึกษาในท้องถิ่นจวนเจียนที่จะล่มสลาย และการเผชิญกับความรุนแรงในระยะยาวยังคงส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ ทั้งทางสุขภาพกายและสุขภาพทางใจของเด็ก ๆ และเยาวชน พ่อแม่ ผู้ดูแล และนักสังคมสงเคราะห์ต้องดิ้นรน เพื่อรับมือกับความเครียดในระดับที่ท่วมท้นและหันไปใช้วิธีทุก ๆ รูปแบบเพื่อเอาชีวิตรอด พวกเขาไม่สามารถให้การสนับสนุนแก่เด็ก ๆ ตามที่ต้องการได้

การวิจัยแสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่มีอัตราสูงในฉนวน Gaza ทำให้เกิดภาวะทางจิตซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมมากมาย รวมถึงโรคความเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า อาการเหล่านี้มีความรุนแรงในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เด็กกว่าครึ่งหนึ่งในฉนวน Gaza กล่าวว่า “พวกเขาไม่มีความหวังอะไรเลยสำหรับอนาคตของพวกเขา”

‘Rami’ เด็กชายชาวปาเลสไตน์วัย 10 ขวบ เติบโตภายใต้การปิดล้อมฉนวน Gaza ของอิสราเอล

เรื่องราวของ ‘Rami’ (10 ขวบ) ผู้ซึ่งเติบโตภายใต้การปิดล้อมฉนวน Gaza ของอิสราเอล
‘Rami’ เป็นเด็กชายชาวปาเลสไตน์วัย 10 ขวบ เขาและน้องชายอีก 3 คน ต้องใช้ชีวิตในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกอิสราเอลยึดครองมาทั้งชีวิต ‘Haifa’ แม่ของเด็ก ๆ พยายามดิ้นรนเพื่อปกป้องลูก ๆ ของเธอจากความทุกข์ทรมานตลอดกาล และการถูกคุกคามจากความรุนแรง

“พื้นที่ที่เราอาศัยอยู่นั้นอันตรายมากในช่วงสงคราม มีการโจมตีด้วยขีปนาวุธเป็นประจำ” เธอกล่าว

ครอบครัวนี้ต้องอพยพออกจากบ้านหลายครั้งหลายหน เพื่อหลบหนีการโจมตีด้วยรถถังและระเบิดของอิสราเอล “หลายปีแห่งความหวาดกลัว มันหมายความว่า เราไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้ ไม่ใช่เพียงแค่ด้านจิตใจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงด้านการเงินด้วย” เธอกล่าวเสริม โดยอ้างถึงนโยบายการปิดล้อมและการปิดเมืองอย่างถาวรที่บังคับใช้ในฉนวน Gaza

เพื่อเรียนรู้วิธีจัดการกับประสบการณ์ของเธอและช่วยเหลือลูก ๆ Haifa จึงเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการของ ‘War Child’ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กในสภาวะสงคราม ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจการให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตของสังคมในฉนวน Gaza โดยเจ้าหน้าที่ของ War Child ได้สัมภาษณ์พวกเขาเกี่ยวกับเวลาที่พวกเขาเข้ามาร่วมโครงการ Haifa กล่าวว่า “ฉันรู้สึกสบายใจมากที่ได้อยู่กับกลุ่มนี้ ฉันสามารถปรับตัวได้ในเวลาไม่นาน และรู้สึกว่าได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนเป็นอย่างดี ฉันยังคงต้องฝึกหัดจินตนาการและผ่อนคลายมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งช่วยให้ฉันมีทัศนคติเชิงบวกมากขึ้น”

ก่อนที่จะเข้าร่วมกลุ่มที่รับการดูแลของ War Child ทำให้ Haifa พบว่า การแสดงความรู้สึกของเธอออกมานั้นเป็นเรื่องยาก เธอไม่อยากสร้างภาระให้คนรอบข้าง ในระหว่างการประชุม เธอเรียนรู้ที่จะเปิดใจอย่างช้า ๆ แต่แน่นอน สิ่งนี้ได้ช่วยให้ Haifa สร้างความผูกพันอันแน่นแฟ้นกับแม่ของเธอ และเรียนรู้ที่จะพึ่งพาผู้อื่นเพื่อรับการสนับสนุน Haifa พบว่า แม่ของเธอสามารถให้ที่หลบภัยแก่เธอได้อย่างแท้จริง “ฉันกลัวมากในระหว่างการสู้รบ และลูก ๆ ของฉันก็ได้รับความหวาดกลัวนั้นไปด้วย”

Rami กับแม่และน้องชาย

ความฝันแรกของ Rami คือการเป็นศัลยแพทย์เพื่อที่เขาจะสามารถช่วยเหลือผู้คนได้ Haifa ได้เรียนรู้มากมายเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก ๆ ของเธอ เมื่อก่อนบางครั้งเธอก็อารมณ์เสีย แต่ตอนนี้เธอต้องนับหนึ่งถึงสิบเพื่อสงบสติอารมณ์ เธอยังสอนวิธีนี้ให้สามีของเธอและเตือนเขาเสมอเมื่อเขาโกรธลูก ๆ พ่อ-แม่ทั้งสองกลายเป็นผู้รับฟังที่ดีและพยายามให้กำลังใจลูกให้มากที่สุด Rami ได้เห็นความแตกต่างซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในตัวแม่ของเขา เธอไม่ดุเขาและน้อง ๆ ของเขาอีกแล้ว แต่กลับเล่นกับพวกเขาแทน นอกจากนั้นเธอยังแบ่งปันแบบฝึกหัดการผ่อนคลายกับพวกเขาอีกด้วย Rami กล่าวเสริมว่า “ตอนนี้ผมรู้สึกว่า มันง่ายขึ้นที่จะบอกแม่เกี่ยวกับความรู้สึกและปัญหาของตัวผมเอง หลังจากนั้นไม่นาน ผมก็รู้สึกอายน้อยลง และตอนนี้ผมก็กล้าที่จะแสดงรู้สึกมากขึ้น” Rami บอก

กล้าที่จะฝัน
Rami มีความสุขมากที่ได้มีส่วนร่วมกับโปรแกรมของ War Child ในฉนวน Gaza “มันช่วยให้ผมได้รู้จักเพื่อนใหม่ หลังจากนั้นไม่นาน ผมก็รู้สึกเขินอายน้อยลง และทุกวันนี้ผมก็กล้าที่จะแสดงรู้สึกมากขึ้น” ตอนนี้เขาตั้งตารอถึงอนาคตและสิ่งที่เขาต้องการจะบรรลุในปีต่อ ๆ ไป “ความฝันแรกของผมคือ การเป็นศัลยแพทย์เพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้คนได้ เป็นคุณหมอมีความรัก ความฝันที่สองของผมคือ การสร้างครอบครัวและมีลูกเป็นของตัวเอง”

*ชื่อทั้งหมดในบทความนี้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความปลอดภัยของเด็ก ๆ ที่เข้าร่วมในโครงการของ War Child

ที่มา : https://www.warchildholland.org/stories-of-children/Rami/

ทางเข้าออกฉนวน Gaza ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของอิสราเอล

บทความนี้เป็นเรื่องราวอีกด้านที่เกิดขึ้นในฉนวน Gaza ภายใต้การปิดล้อมของอิสราเอล อันเป็นสาเหตุในการโจมตีอิสราเอลของกลุ่ม Hamas ส่วนตัวแล้วไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงใด ๆ ในการแก้ไขปัญหา เพราะประวัติศาสตร์ของโลก ไม่เคยมีครั้งใดที่สามารถการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งสำเร็จลงได้ ด้วยการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นประหัตประหารกัน แม้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นลักษณะเลือดเข้าตาหรือจนตรอกของชาวปาเลสไตน์ก็ตาม สิ่งที่ประเทศตะวันตกปล่อยให้อิสราเอลกระทำต่อชาวปาเลสไตน์ เป็นเรื่องราวที่ไม่ปรากฏในสื่อหลักของโลกตะวันตก ไม่ว่าการปิดล้อมฉนวน Gaza การให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza มีไฟฟ้าใช้ได้เพียงวันละ 4 ชั่วโมง การขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภคอย่างหนักในฉนวน Gaza และการปิดล้อมไม่ให้นำอาหารและเวชภัณฑ์เข้าไปในฉนวน Gaza ของอิสราเอล ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น

ทางเข้าออกฉนวน Gaza ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของอิสราเอล

โดยอิสราเอลได้เพิ่มแรงกดดันต่อชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza นับตั้งแต่ปี 2007 ด้วยการสร้างกำแพงรักษาความปลอดภัยรอบฉนวน Gaza อันเป็นส่วนสำคัญของการลงโทษของอิสราเอลต่อประชาชนชาวปาเลสไตน์ หลังจากชัยชนะของกลุ่ม Hamas ในการเลือกตั้งรัฐสภาปาเลสไตน์เมื่อต้นปี ค.ศ. 2006 และการยึดครองฉนวน Gaza ของกลุ่ม Hamas ในกลางปี 2007 กำแพงล้อมรอบฉนวน Gaza จากตะวันออกไปเหนือมีระยะทางประมาณ 65 กม. และสร้างอาคารสถานีคอนกรีต 6 แห่งตามแนวพรมแดนติดกับฉนวน Gaza ซึ่งอิสราเอลได้มีการควบคุมฉนวน Gaza ทั้งน่านน้ำและน่านฟ้าของตน และมีกำหนดข้อจำกัดที่เข้มงวดในการเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้าเข้าออกฉนวน Gaza ทั้งมีการปิดกั้นห้ามเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้าเข้าออกอยู่บ่อยครั้ง

เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza มีทางเลือกเพียง 2 ทาง คือ 1.) การต่อสู้กับผู้ปิดล้อม หรือ 2.) ขอให้อิสราเอลยอมผ่อนปรนมาตรการลดการปิดล้อม และยอมปล่อยให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza ใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรีตามปกติ

เพราะท้ายที่สุดแล้ว เหตุการณ์ความรุนแรงก็ต้องเกิดขึ้น เป็นเพราะกลุ่ม Hamas มองว่าเป็นความชอบธรรมในการเปิดฉากโจมตีอิสราเอล ด้วยเรื่องราวต่าง ๆ ที่อิสราเอลเป็นผู้กระทำต่อชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza และทำให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza โดยกลุ่ม Hamas จึงต้องตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ 1 คือ การสู้รบกับอิสราเอลที่ปิดล้อมนั่นเอง

ซึ่งอันที่จริงแล้วสิ่งที่ประชาคมโลกควรจะทำ นอกจากการประณามต่อการใช้ความรุนแรงของกลุ่ม Hamas แล้ว ก็คือการกดดันให้อิสราเอลปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza ด้วยความมีมนุษยธรรม เพื่อไม่ให้กลุ่ม Hamas มีเหตุผลอ้างในการโจมตีอิสราเอลอีกต่อไป

‘สหรัฐฯ’ เร่งส่ง ‘เรือรบ-เครื่องบินรบ’ ครบชุดให้อิสราเอล หนุนตอบโต้การโจมตีของกลุ่มฮามาสในดินแดนปาเลสไตน์

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, วอชิงตัน รายงานว่า ‘ลอยด์ ออสติน’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ หรือ ‘เพนตากอน’ (Pentagon) ระบุว่า กระทรวงฯ กำลังส่งมอบเรือรบและเครื่องบินขับไล่ไปยังภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก เพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนอิสราเอล ท่ามกลางความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น ระหว่างกองกำลังอิสราเอลและกลุ่มฮามาส (Hamas)

ออสติน กล่าวในแถลงการณ์ว่า เขาได้สั่งการการเคลื่อนไหวของกองเรือบรรทุกเครื่องบินรบยูเอสเอส เจอร์รัลด์ อาร์. ฟอร์ด แคร์ริเออร์ สไตรก์ กรุ๊ป (USS Gerald R. Ford Carrier Strike Group) ซึ่งประกอบไปด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน เรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธ และเรือพิฆาตติดอาวุธปล่อยนำวิถี 4 ลำ ไปยังภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกแล้ว

ออสติน เผยว่า กระทรวงฯ ยังได้ดำเนินการเพื่อเพิ่มฝูงเครื่องบินรบเอฟ-35 (F-35) เอฟ-15 (F-15) เอฟ-16 (F-16) และเอ-10 (A-10) ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในภูมิภาคดังกล่าว พร้อมเสริมว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะจัดหาอุปกรณ์และทรัพยากรเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้แก่กองกำลังป้องกันอิสราเอลอย่างรวดเร็ว โดยความช่วยเหลือด้านความมั่นคงรอบแรกของสหรัฐฯ ไปยังอิสราเอล เริ่มส่งมอบเมื่อวันอาทิตย์ (8 ต.ค.) และจะถูกส่งถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

สื่อท้องถิ่นอิสราเอล อ้างอิงเจ้าหน้าที่รัฐบาล รายงานว่า มติข้างต้นของกระทรวงฯ มีขึ้นขณะความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ทวีความรุนแรง เมื่อวันเสาร์ (7 ต.ค.) หลังจากที่กลุ่มฮามาสยิงขีปนาวุธหลายพันลูกไปยังอิสราเอล ซึ่งคร่าชีวิตชาวอิสราเอลอย่างน้อย 600 ราย เมื่อนับถึงวันอาทิตย์ (8 ต.ค.)

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์ในกาซา เผยว่ากองทัพอิสราเอลตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศในกาซา ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมโดยกลุ่มฮามาส ส่งผลให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตอย่างน้อย 313 ราย

เมื่อวันอาทิตย์ (8 ต.ค.) คณะรัฐมนตรีด้านความมั่นคงของอิสราเอล ประกาศอย่างเป็นทางการว่า “อิสราเอลอยู่ในภาวะสงคราม” โดยระบุในแถลงการณ์ว่าจะดำเนิน ‘ปฏิบัติการทางทหารที่มีนัยสำคัญ’ ในกาซาอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ระบบสกัดกั้นขีปนาวุธอัจฉริยะ เกราะป้องกันภัยหมื่นล้านของ ‘อิสราเอล’ ตรวจจับอันตรายด้วยเรดาร์ พร้อมหน่วยยิง Tamir คล่องตัว-แม่นยำสูง

‘Iron Dome’ เกราะป้องกันขีปนาวุธของอิสราเอล… ทำงานอย่างไร?

ในท้องฟ้ายามค่ำคืนมองเห็นจรวดที่ยิงจาก Beit Lahiya ทางตอนเหนือของฉนวน Gaza ไปยังอิสราเอล เส้นแสงที่โค้งไปมาคือ ‘ระบบสกัดกั้น’ (Iron Dome)

ความรุนแรงที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายปี ระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่ปกครองฉนวน Gaza ทำให้เกิดการเผชิญหน้าอันน่าตื่นตะลึง โดยฮามาสและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์อื่น ๆ ยิงจรวดถล่มใส่อิสราเอลมากกว่า 5,000 ลูก ในช่วงไม่กี่วันผ่านมา แต่จรวดของฮามาสและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์อื่น ๆ ยิงประมาณ 90% ถูกสกัดกั้นโดย ‘ระบบป้องกันขีปนาวุธ’ (Iron Dome) จากแถลงการณ์ของกองทัพอิสราเอล 

‘ระบบป้องกันขีปนาวุธ’ (Iron Dome) ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากจรวดและปืนใหญ่ ในระยะตั้งแต่ 4 กม. ถึง 70 กม. (2.5 ไมล์ ถึง 43 ไมล์) ซึ่งกำลังได้รับการพัฒนาเพื่อขยายระยะไปถึง 250 กม.

ระบบนี้เกิดจากการที่อิสราเอลสู้รบกับ ‘ขบวนการฮิซบอลเลาะห์’ (Hezbollah) กลุ่มติดอาวุธในเลบานอนในปี 2006 มีการยิงจรวดหลายพันลูกเข้าสู่อิสราเอล ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง มีการอพยพผู้คนจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย หลังจากนั้น อิสราเอลจึงเริ่มการพัฒนาเกราะป้องกันจรวดขึ้น

‘Iron Dome’ ซึ่งสร้างขึ้นโดย ‘Rafael Advanced Defense Systems’ บริษัทอิสราเอล ร่วมกับ ‘Israel Aerospace Industries’ โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินและทางเทคนิคจากสหรัฐฯ เริ่มประจำการในปี 2011 Iron Dome ถือเป็นระบบป้องกันจรวดที่ทันสมัยที่สุดในโลก ใช้เรดาร์เพื่อตรวจจับ ประเมิน และสกัดกั้นเป้าหมายระยะสั้นที่หลากหลาย เช่น จรวด ปืนใหญ่ และปืนครก รวมถึงภัยคุกคามที่เข้ามาก่อนที่จะสร้างความเสียหาย เช่น จรวดที่ยิงจากฉนวน Gaza ระบบป้องกันขีปนาวุธ Iron Dome ใช้งานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ตลอดจนถึงในทุกสภาพอากาศ รวมถึงเมฆต่ำ ฝน พายุฝุ่น และหมอก 

‘Iron Dome’ ใช้งบประมาณในการพัฒนาสูงมาก แต่ผู้ผลิตกล่าวว่ามีความคุ้มค่า เนื่องจากเทคโนโลยีที่ใช้มีความสามารถในการแยกความแตกต่างระหว่าง จรวดที่มีแนวโน้มที่จะโจมตีพื้นที่ที่จะสร้างความเสียหาย และไม่สกัดกั้นจรวดที่จะตกในพื้นที่ที่ไม่สร้างความเสียหาย ขีปนาวุธจะถูกยิงเพื่อสกัดกั้นสิ่งใดก็ตามที่ถูกระบุความว่า ‘สร้างความเสียหายจนเป็นอันตราย’ เท่านั้น

Iron Dome มีส่วนประกอบหลัก 3 อย่าง :
1.) เรดาร์ตรวจจับและติดตาม : ระบบเรดาร์สร้างโดย Elta ของอิสราเอล และบริษัทในเครือของ Israel Aerospace Industries และ IDF

2.) การจัดการการรบและการควบคุมอาวุธ (BMC) : ศูนย์ควบคุมถูกสร้างขึ้นสำหรับ Rafael โดย mPrest Systems ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ของอิสราเอล

3. ) หน่วยยิงขีปนาวุธ : หน่วยยิงขีปนาวุธสกัดกั้น Tamir ซึ่งติดตั้งเซ็นเซอร์ไฟฟ้าออปติกและครีบบังคับเลี้ยวหลายอันเพื่อความคล่องตัวสูง ขีปนาวุธนี้สร้างโดย Rafael โดย EL/M-2084 เรดาร์ของระบบจะตรวจจับการปล่อยจรวดและติดตามวิถีของมัน BMC จะคำนวณจุดผลกระทบตามข้อมูลที่รายงาน และใช้ข้อมูลนี้เพื่อพิจารณาว่าเป้าหมายถือเป็นภัยคุกคามต่อพื้นที่ที่กำหนดหรือไม่ เฉพาะเมื่อมีการระบุภัยคุกคามแล้ว ขีปนาวุธสกัดกั้นจะถูกยิงเพื่อทำลายจรวดที่เข้ามาก่อนที่จะถึงพื้นที่ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะชน

กว่าหนึ่งทศวรรษนับตั้งแต่ Iron Dome เข้าประจำการ ปัจจุบันอิสราเอลมีชุดยิงของ Iron Dome 10 ชุดที่ประจำการอยู่ทั่วประเทศ โดยแต่ละชุดยิงของ Iron Dome ประกอบด้วย 20 ท่อยิงขีปนาวุธ ซึ่งสามารถสกัดกั้นจรวดได้ราว 1 ต่อ 5 โดยมีความแม่นยำราว 96.5% ระบบ Iron Dome สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวกมากและใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงในการติดตั้ง และขีปนาวุธสกัดกั้น Tamir มีความคล่องตัวสูง มีความยาว 3 เมตร (เกือบ 10 ฟุต) มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 นิ้ว (15 ซม.) และมีน้ำหนัก 90 กิโลกรัม (198 ปอนด์) แต่ค่าใช้จ่ายในการใช้งาน Iron Dome อาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในขณะที่จรวดของฮามาสแม้ว่าจะดูหยาบและไม่มีระบบนำทาง แต่จำนวนที่แท้จริงและต้นทุนที่ต่ำของจรวดเหล่านี้ก็เป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับ Iron Drome ด้วยจรวดของฮามาสอาจมีราคาเพียงไม่กี่ร้อยดอลลาร์ แต่ราคาขีปนาวุธที่ใช้ในระบบ Iron Drome แต่ละลูกมีราคาประมาณ 40,000 เหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น การสกัดกั้นจรวดที่เข้ามานับพันลูก อิสราเอลจึงมีค่าใช้จ่ายมหาศาล ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทุ่มเงินกว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์ให้แก่อิสราเอล เพื่อสนับสนุนโครงการ Iron Dome มาแล้ว

เวอร์ชันกองทัพสหรัฐฯ ในปี 2019 กองทัพสหรัฐฯ ได้ประกาศความตั้งใจที่จะซื้อระบบ Iron Dome 2 ชุดยิง เพื่อเติมเต็มความต้องการความสามารถในการป้องกันจรวด ด้วยความสนใจในความสามารถเฉพาะตัวของ Iron Dome ของสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ ‘Raytheon’ จึงได้เปิดตัวระบบ SkyHunter โดยความร่วมมือกับ ‘Rafael’ ด้วยพื้นฐานจาก Iron Dome ทำให้ SkyHunter สามารถผลิตได้ในสหรัฐอเมริกา เพื่อขยายความพร้อมใช้งานและขีดความสามารถสำหรับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร ระบบเหล่านี้ป้องกันระดับพื้นฐาน โดย Raytheon ยังร่วมมือกับ Rafael ในระบบ David's Sling System ซึ่งป้องกันในระดับที่มีความก้าวหน้ากว่า

สงครามอิสราเอล สถานการณ์วัดใจ ‘นายกฯ-รมว.ต่างประเทศ’ มือใหม่ ต้องผนึกพลังร่วมกันทำงาน ประสานทุกฝ่ายเร่งดูแลคนไทยให้ปลอดภัย

(13 ต.ค. 66) ผู้ซึ่งคร่ำหวอดในวงการแรงงานไทยได้บอกว่า การอพยพแรงไทยกลับออกจากอิสราเอลนั้น ทั้งวิธีคิดและวิธีปฏิบัติไม่ถูกต้อง เพราะทันทีที่แรงไทยออกจากอิสราเอลนั้น เท่ากับแรงงานไทยรายนั้น ๆ ต้องจากประเทศอิสราเอลแล้วทันที กระบวนการกลับไปทำงานต้องเริ่มต้นโดยการนับหนึ่งใหม่ แรงงานไทยรายไหนที่สัญญาจ้างเปิดกว้างและเอื้อประโยชน์ต่อแรงงานไทยรายนั้น ถือว่าโชคดีไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักไม่เป็นเช่นนั้น

สิ่งที่นายกรัฐมนตรีควรทำ คือให้รัฐมนตรีต่างประเทศสั่งการสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทอาวิฟ อิสราเอล ประสานกับทางการอิสราเอลให้หาพื้นที่หลบภัยให้กับแรงงานไทยในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ แล้วอพยพแรงงานไทยดังกล่าวไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย จนกว่าเหตุการณ์จะกลับสู่สภาวะปกติ ซึ่งแรงงานไทยดังกล่าวก็จะสามารถกลับไปทำงานได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่เสียสิทธิในการจ้างงานตามสัญญาจ้าง

สิ่งที่รัฐบาลไทยควรดูแลใส่ใจ นอกจากการจัดตั้งศูนย์อพยพแรงงานไทยในพื้นที่ปลอดภัยแล้วคือ อาหารการกิน ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานไทยทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ โดยจัดทีมดูแลเฉพาะทางจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ไปดำเนินการจนกว่าเหตุการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

สิ่งหนึ่งที่สังคมไทยไม่รู้ คือ ความเห็นแก่ตัวของนายจ้างชาวอิสราเอลที่ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจต่อสวัสดิภาพของแรงงานไทยผู้เป็นลูกจ้าง เช่น การสั่งให้ลูกจ้างทำงานทั้งที่มีการยิงจรวดจากกลุ่ม Hamas สิ่งแรกที่นายจ้างชาวอิสราเอลควรจะสนใจและใส่ใจ ต่อสวัสดิภาพของแรงงานไทยผู้เป็นลูกจ้าง คือให้เข้าที่หลบภัย เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสีย เช่นกรณีนี้ ‘หัวใจสลาย แม่-พี่สาวร่ำไห้ หนุ่มอุดรฯ ถูกบังคับทำงานในไร่ซูกินี โดนระเบิดดับพร้อมเพื่อน หลังวิดีโอคอลวางสายไม่ถึง 10 นาที’ https://mgronline.com/local/detail/9660000091973

เพราะระบบป้องกัน Iron dome มีการคำนวณเพื่อเลือกเป้าหมายที่จะทำการสกัดกั้น ในกรณีที่จรวดที่กลุ่ม Hamas ยิงมาแล้วตกในเขตชุมชน Iron dome จะยิงสกัดกั้น เมื่อแรงงานไทยถูกสั่งให้ออกไปเก็บผักในไร่ซึ่งไม่ใช่เขตชุมชน ระบบป้องกัน Iron dome จึงไม่ทำการสกัดกั้น และทำให้จรวดตกใส่แรงงานไทยผู้เคราะห์ร้ายไป เหตุที่ Iron dome ไม่สกัดกั้นนั้น เพราะราคา Tamir ขีปนาวุธที่ใช้ในการสกัดกั้นจรวด ราคาสูงถึงลูกละ US $40,000 หรือราว 1,500,000 บาท

‘Dr. Husam Zomlot’ หัวหน้าคณะผู้แทนปาเลสไตน์ประจำสหราชอาณาจักร ผู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้ชาวปาเลสไตน์ และการต่อสู้กับอคติของสื่อตะวันตก

‘Dr. Husam Zomlot’ หัวหน้าคณะผู้แทนปาเลสไตน์ประจำสหราชอาณาจักร
ตอบโต้คำถามและการสัมภาษณ์ที่มีอคติของ BBC สื่อตะวันตกอย่างดุเดือด

‘Dr. Husam Zomlot’ หัวหน้าคณะผู้แทนปาเลสไตน์ประจำสหราชอาณาจักร ต้องเผชิญหน้ากับคำถามและการสัมภาษณ์อย่างมีอคติจากสื่อตะวันตก โดยเฉพาะ BBC โดยพยายามให้ความกระจ่างเกี่ยวกับความโหดร้ายที่บีบคั้นหัวใจ ซึ่งเกิดขึ้นโดยกองทัพอิสราเอลต่อพลเรือนชาวปาเลสไตน์ผู้บริสุทธิ์

Dr. Zomlot ได้ตอกย้ำความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ของชาวปาเลสไตน์ในการยุติการยึดครองอันโหดร้ายที่คุกคามชีวิตของพวกเขามายาวนานเกินไป อิสราเอลซึ่งแต่เดิมตั้งใจที่จะยุติการขยายถิ่นฐานและการยึดครอง แต่กลับวนเวียนอยู่ในวงจรแห่งความทุกข์ทรมานของชาวปาเลสไตน์

เขาท้าทายความพยายามของผู้สัมภาษณ์ที่จะถือข้างผู้ครอบครอง โดยเน้นว่านี่ไม่ใช่สงครามระหว่างความเท่าเทียมกัน หลักการทางการทหารที่มีมายาวนานของอิสราเอลมุ่งเป้าไปที่พลเรือน ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายอย่างนับไม่ถ้วน Dr. Zomlot เรียกร้องอย่างกระตือรือร้นให้ยุติวงจรแห่งความตายนี้ การเผชิญหน้ากับความหน้าซื่อใจคดของผู้สัมภาษณ์ โดยเน้นย้ำถึงการขาดความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามของอิสราเอลในการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ เขาตั้งคำถามว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่อิสราเอลจึงไม่ถูกกดดันให้ประณามตนเอง โดยเน้นย้ำถึงอคติที่มักสร้างความเสียหายให้ปาเลสไตน์จากการรายงานข่าวของสื่อตะวันตก

Dr. Zomlot ปฏิเสธที่จะเล่าเรื่องที่บิดเบือน โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดการที่ต้นตอของความขัดแย้ง แทนที่จะคาดหวังให้ชาวปาเลสไตน์ประณามตนเองอย่างต่อเนื่อง เขาตั้งคำถามกับการรายงานแบบเลือกข้างของสื่อ โดยถามว่าพวกเขาเคยเชิญให้ Dr. Zomlot ออกมาพูดเมื่อชาวปาเลสไตน์ถูกสังหารหรือเมื่อมีการยั่วยุจากฝั่งอิสราเอลหรือไม่? เนื่องจากประชากรในฉนวนกาซาถูกจับเป็นตัวประกันโดยอิสราเอล Dr. Zomlot จึงเรียกร้องให้เปลี่ยนจากการใช้วาทกรรมและให้ยอมรับความจริงอันน่ารังเกียจนี้

เมื่อถามถึงแนวทางแก้ไข เขาเน้นย้ำถึงการใช้กฎหมายระหว่างประเทศอย่างเท่าเทียมกัน กฎของสันนิบาตแห่งชาติ และมติของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นหลักการที่ขาดหายไปอย่างเห็นได้ชัดเมื่อพูดถึงการกระทำของอิสราเอลในฐานะกองกำลังผู้ยึดครอง

Dr. Zomlot เปิดเผยความจริงอันโหดร้ายที่พลเรือนปาเลสไตน์ต้องเผชิญอย่างเด็ดเดี่ยว และเรียกร้องความยุติธรรม และความรับผิดชอบต่อความอยุติธรรมนับครั้งไม่ถ้วนที่ชาวปาเลสไตน์ต้องเผชิญ Dr. Zomlot ได้โต้ตอบผู้สื่อข่าวของ BBC อย่างไม่เกรงใจ เนื่องจากความมีอคติของผู้สัมภาษณ์ที่ชัดเจนต่อชาวปาเลสไตน์อิสราเอล โดยเปิดเผยถึงความโหดร้ายอันน่าสยดสยองที่กองทัพอิสราเอลกระทำต่อพลเรือนชาวปาเลสไตน์ผู้บริสุทธิ์

อย่างไรก็ตาม กลุ่มฮามาสไม่ใช่รัฐบาลหรือกองทัพอย่างเป็นทางการของชาวปาเลสไตน์ จึงไม่สามารถถือเอากลุ่มฮามาสเป็นตัวแทนของชาวปาเลสไตน์ได้ Dr. Zomlot เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นแน่วแน่ของชาวปาเลสไตน์ที่จะหลุดพ้นจากพันธนาการแห่งการยึดครองที่ยืดเยื้อยาวนาน เขาเน้นย้ำว่า จุดประสงค์เดิมของอิสราเอล คือการยุติการขยายตัวของการตั้งถิ่นฐานและการยึดครอง แต่อิสราเอลได้หลงไปไกลจากเส้นทางนี้ และทิ้งร่องรอยแห่งความทุกข์ทรมานไว้

ด้วยการท้าทายความพยายามของผู้สัมภาษณ์ที่จะเปรียบเทียบผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่ Dr. Zomlot โต้แย้งอย่างกระตือรือร้นว่านี่ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างความเท่าเทียมกัน เขากล่าวหาอิสราเอลว่าปฏิบัติตามหลักคำการทางทหารที่น่ากังวลซึ่งมุ่งเป้าไปที่พลเรือน ซึ่งสร้างความเจ็บปวดแก่ชาวปาเลสไตน์อย่างไม่สามารถประเมินได้ Dr. Zomlot เรียกร้องให้ยุติวงจรความรุนแรงซึ่งมีแต่การทำลายล้างนี้

Dr. Zomlot ขอให้ผู้สัมภาษณ์ตอบข้อกล่าวหาว่ามีอคติ โดยตั้งคำถามตรง ๆ ไปว่า ทำไมเจ้าหน้าที่อิสราเอลจึงไม่รับผิดชอบต่อการกระทำของพวกเขาในรายการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ เขาท้าทายความล้มเหลวของสื่อในการเรียกร้องให้อิสราเอลประณามตัวเอง โดยแสดงให้เห็นถึงการมีสองมาตรฐานโดยสิ้นเชิง

Dr. Zomlot ยืนกรานที่จะต้องจัดการกับสาเหตุที่แท้จริงของความขัดแย้ง เขาตั้งคำถามที่ถูกต้องเกี่ยวกับการรายงานข่าวของสื่อ โดยถามว่าพวกเขาส่งคำเชิญถึงตัวเขาเมื่อชาวปาเลสไตน์ถูกสังหารหรือเมื่อมีการยั่วยุของอิสราเอล เพราะว่ามีชาวปาเลสไตน์กว่าสองล้านคนถูกอิสราเอลจับเป็นตัวประกันในฉนวนกาซา

Dr. Zomlot จึงเรียกร้องให้ละทิ้งวาทกรรมที่ปั้นแต่งขึ้น เพื่อเผชิญหน้ากับความจริงของสถานการณ์ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อถามถึงแนวทางแก้ไข เขาเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้กฎหมายระหว่างประเทศอย่างเท่าเทียมกัน ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎของสันนิบาตแห่งชาติและมติของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นหลักการที่อิสราเอลดูเหมือนได้เคยยอมรับและนำมาปฏิบัติมานานหลายทศวรรษ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top