Friday, 3 May 2024
สงคราม

นายริยาด มันซูร์ เอกอัครราชทูตปาเลสไตน์ ประจำสหประชาชาติ (UN) ได้กล่าวเรียกร้องให้มีการหยุดยิง

เมื่อไม่นานนี้ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) ได้มีการลงมติที่เป็นไปได้ ต่อข้อเรียกร้องให้ ‘หยุดยิงทันที’ ในตะวันออกกลางถูกเลื่อนออกไป เมื่อวันพฤหัสบดี Agencia Brasil รายงาน ร่างดังกล่าวจะกลับมาหารือกันอีกครั้งในวันศุกร์ เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มอิสลามิสต์ฮามาส ซึ่งควบคุมภูมิภาคฉนวนกาซา
.
หลังจากการหยุดชะงักหลายครั้งในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประเทศต่างๆ ที่สนับสนุนการยุติสงครามในตะวันออกกลาง เรียกร้องให้มีการประชุมฉุกเฉินของสมัชชาใหญ่ เพื่อพยายามบรรลุข้อตกลงหยุดยิง
.
แม้ว่าในประเทศต่างๆ ของคณะมนตรีความมั่นคง เช่น สหรัฐอเมริกา หรือรัสเซีย มีอำนาจในการยับยั้งมติต่างๆ ได้ แต่ในสมัชชาใหญ่ การลงคะแนนเสียงข้างมากก็เพียงพอแล้วสำหรับข้อความที่จะได้รับการอนุมัติ
.
นายริยาด มันซูร์ เอกอัครราชทูตปาเลสไตน์ ประจำสหประชาชาติ (UN) ได้กล่าวเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันที เขาพูดถึงชาวปาเลสไตน์มากกว่า 7,000 คนที่ถูกสังหารนับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา และตั้งคำถามถึงความแตกต่างในการรักษาที่มอบให้กับเหยื่อชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์
.
“เหตุใดการเสียชีวิตของชาวอิสราเอลจึงเจ็บปวดมาก แต่ชาวปาเลสไตน์อย่างพวกเรากลับดูเจ็บปวดเพียงเล็กน้อย? อะไรคือปัญหา? เรามีความเชื่อที่ผิดหรือ? หรือผิดที่สีผิว? หรือผิดที่สัญชาติ? หรือผิดที่ที่มาของเรา? ตัวแทนของประเทศต่างๆ จะอธิบายได้อย่างไร ว่าการเสียชีวิตของชาวอิสราเอลนับพันนั้นช่างน่าสยดสยองเพียงใด และไม่รู้สึกแบบเดียวกันกับการตายของชาวปาเลสไตน์จำนวนหนึ่งพันคนที่กำลังจะเสียชีวิตในเวลานี้ทุกวัน”
.
ที่มา : 
https://en.mercopress.com/2023/10/27/un-general-assembly-evaluating-ceasefire-in-middle-east-war
.
https://www.facebook.com/100063765184493/posts/pfbid023pBjYkRYBJ7Fr8Wt8KKdxAhSAFEJVkP5Qqzw3TVuisms9NsVhFsruvtyj1Dh5CaSl/?mibextid=Nif5oz
.
Click on Clear >> 
.
------------------------------------------------
.
ติดตามผลงานอื่นๆ ของ THE STATES TIMES ได้ที่
TikTok > https://www.tiktok.com/@thestatestimes
.
#THESTATESTIMES
#World
#NewsFeed
#UN
#ปาเลสไตน์
#อิสราเอล
#สงคราม

‘FBI’ เตือน 'สหรัฐฯ' เสี่ยงขั้นสูงถูกโจมตี  ผลพวงจากสงคราม 'อิสราเอล-ฮามาส'

(1 พ.ย.66) สงครามอิสราเอล-ฮามาส ทำให้ความเสี่ยงเกิดเหตุโจมตีต่างๆ นานาในสหรัฐฯ พุ่งสูง ท่ามกลางความกังวลเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกับชุมชนชาวยิวและชาวมุสลิม จากคำเตือนของคริสโตเฟอร์ เรย์ อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ)

"เราประเมินว่าการกระทำต่างๆ ของฮามาสและพันธมิตรของพวกเขา จะถูกใช้เป็นแรงบันดาลใจ ในแบบที่เราไม่เคยพบเห็นมาก่อนนับตั้งแต่พวกรัฐอิสลาม (ไอเอส) เริ่มดำเนินการในสิ่งที่เรียกว่าสถาปนาการปกครองแบบกอหลิบเมื่อปลายปีก่อน" เรย์บอกกับคณะกรรมาธิการด้านความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของวุฒิสภา

"มันเป็นเวลาที่ต้องกังวล เราอยู่ในช่วงเวลาที่อันตราย" เขากล่าว "มันไม่ใช่เวลาแห่งความตื่นตระหนก แต่มันเป็นเวลาแห่งการระแวดระวัง"

ผู้อำนวยการเอฟบีไอรายนี้ ระบุว่า พวกเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย "ไม่อาจตัดความเป็นไปได้ที่พวกนักรบฮามาสหรือองค์กรก่อการร้ายต่างชาติอื่นๆ อาจใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งในปัจจุบัน ดำเนินการโจมตีที่นี่ ในแผ่นดินของเรา"

"ความกังวลปัจจุบันทันด่วนที่สุดของเราคือพวกหัวรุนแรง บุคคลหรือกลุ่มต่างๆ อาจได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ต่างๆ ในตะวันออกกลาง และทำการโจมตีเล่นงานชาวอเมริกาที่ออกไปใช้ชีวิตประจำวัน" เขากล่าว "ในนั้นไม่ใช่แค่พวกหัวรุนแรงท้องถิ่นที่ได้แรงบันดาลใจจากองค์กรก่อการร้ายต่างชาติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพวกหัวรุนแรงภายในประเทศ ที่เล็งเป้าเล่นงานประชาคมชาวยิวและชาวมุสลิมด้วย"

เรย์ ได้อ้างถึงเหตุจับกุมชายคนหนึ่งในฮิวสตันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยที่ชายคนนี้ได้ทำการศึกษาวิธีการผลิตระเบิดเป็นอย่างดี และได้โพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการ ‘สังหารยิง’ รวมถึงเหตุเด็กชายชาวมุสลิมวัย 6 ขวบในอิลลินอยส์ ถูกฆ่าโดยเจ้าของห้องเช่า และเวลานี้กำลังถูกสอบสวนโทษฐานก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชัง

"สงครามที่กำลังเกิดขึ้นในตะวันออกกลาง เพิ่มความเสี่ยงเหตุโจมตีเล่นงานพลเมืองอเมริกาในสหรัฐฯ สู่อีกระดับ" เรย์กล่าว

อัลกออิดะห์, รัฐอิสลาม (ไอเอส) และฮิซบอลเลาะห์ ต่างเรียกร้องให้สมุนโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เรย์ บอกว่า เอฟบีไอ ยังไม่ได้พบภัยคุกคามอย่างปัจจุบันทันด่วนที่น่าเชื่อถือ จากองค์กรก่อการร้ายต่างชาติใดๆ

แต่กระนั้นภัยคุกคามที่มีต่อประชาคมชาวยิวในสหรัฐฯ "อยู่ในจุดที่ไม่ไกลจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์" ผู้อำนวยการเอฟบีไอระบุ "ความจริง คือ ประชาคมชาวยิวเป็นเป้าหมายโดยเฉพาะของเกือบทุกๆ องค์กรก่อการร้ายในทุกมิติ" เรย์กล่าว พร้อมบอกว่าชาวยิวมีสัดส่วนคิดเป็นแค่ 2.4% ของประชากรสหรัฐฯ แต่ในบรรดาอาชญากรรมจากความเกลียดชังทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับความศรัทธาในศาสนาเลย มีถึง 60% เลยทีเดียวที่เกี่ยวข้องกับชาวยิว

‘สหรัฐฯ’ ผุดแผนสร้างระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ พลังทำลายล้างสูงกว่าเดิม 24 เท่า!! เติมเต็มแสนยานุภาพให้กองทัพ เสริมแกร่งหลักประกันความสงบสุขของโลก

(1 พ.ย. 66) ‘กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา’ ชงแผนพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ล่าสุด ที่มีอานุภาพทำลายล้างรุนแรงที่สุดที่เคยมีมา รุนแรงกว่ารุ่นที่เคยใช้ถล่มญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 24 เท่า รอเพียงไฟเขียวจากสภาคองเกรซเท่านั้น ก็จะสามารถเดินหน้าโครงการได้ทันที

โดยระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ล่าสุดของสหรัฐฯ นี้ มีชื่อว่า ‘B61-13 Gravity Bomb’ ที่มีน้ำหนักมากถึง 360 กิโลตัน มีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับ ‘Little Boy’ ระเบิดนิวเคลียร์ที่ทิ้งลงในเมืองฮิโรชิมา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1945 ที่มีน้ำหนัก 15 กิโลตัน หรือ ‘Fat Man’ ที่ทิ้งลงในเมืองนางาซากิหลังจากนั้นอีก 3 วัน ก็มีน้ำหนักเพียง 24 กิโลตัน แต่ถึงกระนั้น แรงของระเบิดนิวเคลียร์ทั้ง 2 ลูกในครั้งนั้นก็ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง และทำให้มีพลเมืองชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตมากกว่า 2 แสนคน

ส่วนงบประมาณในการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูล โดยคาดว่าจะผลิตในปริมาณจำกัดไม่เกิน 50 ลูก และจะนำมาใช้แทนหัวรบนิวเคลียร์รุ่นเก่า ‘B61-7’ ที่ผลิตตั้งแต่ช่วงปี 1980 เพื่อให้โควตาคลังอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ยังคงเท่าเดิม

การใช้งานระเบิด B61-13 Gravity Bomb ก็เป็นไปตามชื่อของมัน คือจะต้องบรรจุระเบิดในเครื่องบินขับไล่พาไปสู่เป้าหมาย และทิ้งลงกลางเป้าโดยใช้แรงโน้มถ่วงของโลก แทนการบรรจุลงในขีปนาวุธแล้วยิงออกสู่เป้าหมายในการโจมตี

‘จอห์น พลัมบ์’ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมด้านนโยบายอวกาศ กล่าวในแถลงการณ์ว่า การพัฒนาศักยภาพด้านอาวุธของสหรัฐฯ ในวันนี้ เป็นไปตามสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป จากภัยคุกคามจากศัตรูในรูปแบบใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

โดยสหรัฐอเมริกามีหน้าที่ในการประเมินศักยภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ในการยับยั้งภัยคุกคาม และตอบสนองต่อการโจมตีทางยุทธศาสตร์เมื่อจำเป็น เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรของเรา ซึ่งระเบิดรุ่นใหม่จะช่วยเพิ่มทางเลือกให้แก่ฝ่ายทำเนียบขาว ในการโจมตีเป้าหมายทางทหารในพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นได้

แต่เมื่อมีผู้สนับสนุน ก็ย่อมมีผู้เห็นต่าง โดย ‘เมลิสซา พาร์ก’ ผู้อำนวยการบริหารของการรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ของเพนตากอน ว่าเป็น ‘การเพิ่มขีดความสามารถทางการทหารอย่างไร้ความรับผิดชอบ’ ที่จะนำไปสู่การแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหม่

ทางองค์กรจึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการพัฒนา Gravity Bomb โดยทันที เพราะการใช้อาวุธนิวเคลียร์ เป็นการสังหารเป้าหมายโดยไม่เลือกหน้า ทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของพลเรือน ซึ่งเข้าข่ายอาชญากรรมทางสงคราม

แต่ข้อเรียกร้องนี้ คงไม่อาจหยุดยั้งโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องของสหรัฐอเมริกาได้ เพราะล่าสุดทางรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่งประกาศว่าจะเตรียมทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่ฐานทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ใต้ดินในรัฐเนวาดา หลังจากเกิดเหตุสงครามระหว่างกลุ่มฮามาส และอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์ไม่นานนี้

เพราะในมุมมองของสหรัฐฯ การยกระดับแสนยานุภาพทางทหารของตน เป็นหนทางที่จะรักษาความสงบสุขของโลกได้นั่นเอง

‘ผู้นำสูงสุดอิหร่าน’ ปลุกกลุ่มประเทศมุสลิม ร่วมกันบอยคอต ‘อิสราเอล’ ระงับการค้าทุกด้าน โต้ตอบสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์

(2 พ.ย. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ว่า ‘อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี’ ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน กล่าวเมื่อวันพุธ (1 พ.ย.) ที่ผ่านมา เรียกร้องความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของรัฐบาลในโลกมุสลิม ในการร่วมมือกันระงับการค้าขายกับ ‘รัฐไซออนิสต์’ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิง อาหารและสินค้าจำเป็นอื่น

ขณะเดียวกัน คาเมเนอี กล่าวอย่างตรงไปตรงมาถึงสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ว่าเป็นประเทศ ‘ที่มีรัฐบาลต่อต้านปาเลสไตน์’

ด้าน พล.จ.เรซา การาอี อัชเตียนี รมว.กลาโหมอิหร่าน กล่าวว่า “บางประเทศในยุโรปที่ช่วยเหลืออิสราเอล ควรขับเคลื่อนนโยบายอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้สร้างความโกรธเคืองแก่ชาวมุสลิม”

ทั้งนี้ นายนาสเซอร์ คานานี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน กล่าวเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น ถึงการที่ทหารอเมริกันในอิรักและซีเรีย ตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีทางทหารโดยกองกำลังหลายกลุ่มบ่อยครั้งขึ้น เป็นผลจาก ‘นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลวอชิงตันที่ผิดพลาด’ หนึ่งในนั้น คือ การสนับสนุนอิสราเอลในการทำสงครามกับกลุ่มฮามาส

‘แอมเนสตี้ฯ’ อัด ‘อิสราเอล’ ใช้อาวุธ ‘ฟอสฟอรัสขาว' ในกาซา ควรถูกสืบสวนตามข้อกล่าวหา ‘ก่ออาชญากรรมสงคราม’

(3 พ.ย. 66) ‘โดนาเทลลา โรเวรา’ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการรับมือภาวะวิกฤตของ ‘แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล’ (Amnesty International หรือ Amnesty หรือ AI) เปิดเผยว่า ผลการสืบสวน 4 เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 และ 16-17 ตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งในฉนวนกาซาและเลบานอน พบว่าอิสราเอลใช้ ‘ฟอสฟอรัสขาว’ เป็นอาวุธในพื้นที่ชุมชน

“เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ก่อความกังวลอย่างยิ่ง สืบเนื่องจากฟอสฟอรัสขาวเคยถูกใช้โดยกองกำลังอิสราเอลในอดีต ซึ่งก่อผลกระทบเลวร้ายแก่ประชากรที่เป็นพลเรือน” โรเวราระบุ “มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรใช้ในพื้นที่ที่มีพลเรือน มันไม่ใช่อาวุธต้องห้าม มันสามารถใช้ในสมรภูมิและกับกองกำลังต่างๆ สามารถใช้มันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่มันไม่ควรถูกใช้ในที่ที่มีพลเรือน” เธอบอกกับอัลจาซีราห์ “เราพบเห็นมีการใช้มันในกาซาและเลบานอน และมันไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำอีก”

ก่อนหน้านี้ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ ‘องค์การนิรโทษกรรมสากล’ เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (31 ต.ค.) ที่ผ่านมา ว่ามีพลเรือนในทางภาคใต้ของเลบานอน ได้รับบาดเจ็บในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา หลังกองทัพอิสราเอลใช้กระสุนปืนใหญ่ที่บรรจุฟอสฟอรัส กระสุนอันเป็นที่ถกเถียง ยิงเข้าใส่หมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ตามแนวชายแดน

องค์กรแห่งนี้เปิดเผยว่าด้วยว่า มีการสืบสวนตรวจสอบกรณีตัวอย่างอื่นๆ ของความเป็นไปได้ที่กองทัพอิสราเอลทิ้งระเบิดฟอสฟอรัสขาวใส่พื้นที่ต่างๆ ตามแนวชายแดนเลบานอนในเดือนที่แล้ว แต่นิรโทษกรรมสากลบอกว่า ในกรณีเหล่านั้นไม่พบว่ามันก่ออันตรายแก่พลเรือน

ฟากทนายความด้านสิทธิมนุษยชน บอกว่า การใช้ฟอสฟอรัสขาวเป็นเรื่องผิดกฎหมายภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ หากว่ามีการใช้สารเคมีร้อนสีขาวชนิดนี้ยิงเข้าสู่พื้นที่ชุมนุม มันสามารถทำให้อาคารต่างๆ ไฟลุกไหม้และเผาไหม้ผิวหนังมนุษย์เหลือแต่กระดูก นอกจากนี้ พวกผู้รอดชีวิตก็อาจเสี่ยงติดเชื้อ อวัยวะหรือระบบทางเดินหายใจล้มเหลว แม้ว่าถูกเผาไหม้เพียงแค่จุดเล็กๆ ก็ตาม

ทั้งนี้ หลังจากอิสราเอลโจมตีหมู่บ้านดูไฮรา เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ทำบ้านเรือนและรถเกิดไฟลุกไหม้ มีพลเรือน 9 คน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ในอาการหายใจติดขัด องค์กรนิรโทษกรรมสากลระบุว่า พวกเขามีภาพถ่ายที่ผ่านการยืนยันความถูกต้องแล้ว เป็นภาพที่กระสุนฟอสฟอรัสถูกวางเรียงอยู่ใกล้กับปืนใหญ่ของอิสราเอล ใกล้แนวชายแดนเลบานอน-อิสราเอล

องค์การนิรโทษกรรมสากลประณามเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการ “โจมตีแบบไม่เลือกหน้า” ที่ทำร้ายพลเรือน และควรถูกสืบสวนตามข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงคราม

‘รัฐบาลไทย’ มอบเงินช่วยเหลือ 3 ล้านบาท แก่ ‘UNRWA’ บรรเทาทุกข์ฉนวนกาซา-ผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกกลาง

(3 พ.ย. 66) นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยมอบเงินบริจาคเป็นกรณีพิเศษ แก่สำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติ สำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกกลาง (United Nations Relief and Works Agency for Palestine Refugees in the Near East : UNRWA) จำนวน 3 ล้านบาท หรือ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีนาย Giuseppe De Vincentiis รักษาการ UN Resident Coordinator เป็นผู้แทนรับมอบ เพื่อตอบสนองต่อการร้องขอฉุกเฉิน (flash appeal) ต่อเหตุความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นในฉนวนกาซาของ UNRWA ในเดือนตุลาคม 2566

‘อิสราเอล’ ถล่มโรงเรียนในกาซา ปชช.ทั้งเด็ก-ผู้หญิง หนีตายระทึก พบผู้เสียชีวิตแล้ว 20 ราย อ้าง!! เป็นฐานปฏิบัติการลับของกลุ่มฮามาส

(4 พ.ย. 66) จากเหตุโจมตีโดยอิสราเอล ที่เล็งเป้าหมายเล่นงานโรงเรียนแห่งหนึ่งทางเหนือของกาซา เบื้องต้นพบว่า มีผู้เสียชีวิต 20 ราย และบาดเจ็บหลายสิบคน จากการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุขที่บริหารงานโดยฮามาส ในดินแดนปาเลสไตน์แห่งนี้ ในตอนเช้าวันเสาร์ (4 พ.ย.) แต่ฝ่ายอิสราเอลอ้างว่าโรงเรียนดังกล่าวถูกใช้เป็นฐานปฏิบัติการของพวกนักรบ

“พบผู้เสียชีวิต 20 คน และบาดเจ็บหลายสิบคน ที่ถูกส่งมาโรงพยาบาลอัล-ชิฟา ในกาซา ซิตี หลังมีการเล็งเป้าหมายโดยตรงใส่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกเปลี่ยนเป็นค่ายพักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ในพื้นที่อัล-ซาฟตาวี ทางเหนือของกาซา” กระทรวงสาธารณสุขกาซาแถลง “กระสุนปืนครกยิงจากรถถัง ตกใส่โรงเรียนซึ่งเป็นเป้าหมายโดยตรง”

สำนักข่าวสกายนิวส์ ได้ตรวจสอบวิดีโอ เป็นภาพที่เผยให้เห็นว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากในโรงเรียน แต่ไม่สามารถระบุถึงต้นเหตุได้ และเวลานี้กำลังรอถ้อยแถลงชี้แจงจากกองทัพอิสราเอล

ภาพในวิดีโอพบเห็นความตื่นตระหนกเกิดขึ้นทั่วจุดเกิดเหตุ บางส่วนพยายามวิ่งหนี ทั้งนี้พบเห็นชายคนหนึ่งเอามือกุมศีรษะในอารมณ์ช็อกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนผู้หญิงอีกคนพบเห็นกำลังคลุ้มคลั่งมอบไปรอบๆ เอามือปิดปากไม่อยากเชื่อสายตาตัวเอง

สำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติ ระบุว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น หลังจากมีการยิงระเบิดทิ้งบอมบ์ถล่มพื้นที่บริเวณดังกล่าวอย่างหนักในช่วง 2 วันก่อนหน้านั้น

“ในวันเดียวกัน ค่ายพักพิงอีกแห่ง Beach Refugee Cam ก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน มีรายงานเด็กเสียชีวิต 1 ราย ทั้ง 2 จุดต่างตั้งอยู่ในทางเหนือของฉนวนกาซา” ถ้อยแถลงระบุว่า “ลงไปทางใต้ โรงเรียน 2 แห่งที่ถูกปรับเปลี่ยนเป็นค่ายพักพิงชั่วคราวก็ถูกโจมตีเช่นกัน มีรายงานผู้เสียชีวิต 2 คนและบาดเจ็บ 31 ราย”

ที่ผ่านมา กองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอล อ้างความชอบธรรมในการโจมตีอาคารต่างๆ อย่างเช่นโรงพยาบาล โรงเรียนและสุเหร่าในกาซา โดยอ้างว่า ฮามาสใช้สถานที่แห่งนี้สำหรับจุดประสงค์ในด้านปฏิบัติการ

เหตุการณ์โจมตีโรงเรียนในวันเสาร์ (4 พ.ย.) เกิดขึ้นไม่นาน หลังจากปฏิบัติการทางอากาศของอิสราเอลโจมตีใส่รถฉุกเฉินคันหนึ่ง ซึ่งกำลังอพยพผู้ได้รับบาดเจ็บออกจากทางเหนือของกาซาที่ถูกปิดล้อม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย และบาดเจ็บ 60 คนในวันศุกร์ (3 พ.ย.)

กองทัพอิสราเอลรุดชี้แจงว่า พวกเขาตรวจพบและโจมตีเข้าใส่รถฉุกเฉินคันหนึ่ง ซึ่งถูกใช้งานโดยเครือข่ายก่อการร้ายฮามาสในเขตสู้รบ กองทัพบอกว่าพวกนักรบฮามาสถูกปลิดชีพในเหตุโจมตีดังกล่าว พร้อมกับกล่าวหาว่ากลุ่มนักรบกำลังใช้รถฉุกเฉินคันดังกล่าว ลำเลียงกำลังพลและอาวุธ

นอกจากนี้ เหตุการณ์โจมตีโรงเรียนยังเกิดขึ้นไม่กี่วัน หลังจากอิสราเอลปฏิบัติการโจมตีทางอากาศใส่ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งในเมืองจาบาเลีย ทางเหนือของกาซา ซิตี สังหารผู้คนไปอย่างน้อย 195 ราย ขณะที่เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ออกมาเตือนว่า การกระทำของกองทัพอิสราเอลครั้งนี้อาจเข้าข่ายเป็น ‘อาชญากรรมสงคราม’

‘ฮามาส’ เผย ยอดดับฉนวนกาซาทะลุหมื่น บาดเจ็บอีกนับ 2.5 หมื่นราย หลังเกิดสงครามครบ 1 เดือน ด้าน ‘ไบเดน’ ตั้งข้อสงสัยตัวเลขถูกหรือไม่

(7 พ.ย. 66) กระทรวงสาธารณสุขของฮามาสในฉนวนกาซา ออกมาระบุตัวเลขความสูญเสีย หลังสงครามอิสราเอล-ฮามาสเกิดขึ้นครบ 1 เดือน ว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซาล่าสุดอยู่ที่ 10,022 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กปาเลสไตน์ 4,104 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 25,408 คน

ขณะที่ตัวเลขความสูญเสียในฝั่งอิสราเอล มีผู้เสียชีวิต 1,400 ราย โดยเป็นเด็ก 31 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5,400 คน และมีผู้ถูกจับไปเป็นตัวประกันอีกมากกว่า 200 คน

ด้านนักการเมืองบางคนรวมถึง ‘ประธานาธิบดีโจ ไบเดน’ ของสหรัฐฯ ตั้งคำถามถึงความถูกต้องของตัวเลขผู้เสียชีวิตในส่วนของฮามาส เช่นเดียวกับ ‘กองกำลังป้องกันอิสราเอล’ (IDF) ที่ระบุว่า ข้อมูลใดๆ ที่องค์กรก่อการร้ายแจ้ง ควรพิจารณาด้วยความระมัดระวัง

บีบีซีได้เผยขั้นตอนที่นำมาสู่การประกาศตัวเลขผู้เสียชีวิตโดยกระทรวงสาธารณสุขฮามาส ซึ่งระบุว่า เมื่อมีผู้เสียชีวิตอันเป็นผลจากการโจมตีของอิสราเอล โรงพยาบาลจะบันทึกรายละเอียดต่างๆ อาทิ ชื่อ นามสกุล อายุ เพศ และหมายเลขประจำตัวประชาชนลงในคอมพิวเตอร์ จากนั้นจะมีการถ่ายโอนข้อมูลจากโรงพยาบาลแต่ละแห่งไปยังระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลาง เมื่อกระทรวงทำการประมวลผลแล้วจะมีการส่งข้อมูลไปยังสำนักงานสถิติกลางปาเลสไตน์ (PCBS)

อย่างไรก็ดี PCBS บอกกับบีบีซีว่า ตัวเลขดังกล่าวจะครอบคลุมเฉพาะผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ไม่ครอบคลุมถึงผู้เสียชีวิตใต้ซากอาคารหรือผู้ที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ ปกติแล้วจะมีการบันทึกสาเหตุการเสียชีวิตแบบเฉพาะเจาะจงไว้ด้วย แต่ขณะนี้ไม่สามารถทำได้เนื่องจากจำนวนตัวเลขการเสียชีวิตที่สูงมาก

ด้าน ‘ริชาร์ด เบรนเนน’ โฆษกองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า เขาเชื่อว่าตัวเลขความสูญเสียในฉนวนกาซานั้นเชื่อถือได้ เพราะมั่นใจว่าระบบการจัดการข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุขในกาซาได้ดำเนินการตลอดหลายปีที่ผ่านมา สามารถที่จะรับมือกับการวิเคราะห์ข้อมูลได้ และฐานข้อมูลในช่วงหลายปีที่ผ่านมาถือว่ามีความแข็งแกร่ง

‘WHO’ เผย 'เด็กในฉนวนกาซา' เสียชีวิต 160 รายต่อวัน ความชอบธรรมแก่พลเรือนในกาซา ที่ไม่มีใครหยิบยื่น

(9 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา คริสเตียน ลินด์ไมเออร์ โฆษกองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าผู้คนในฉนวนกาซาถูกสังหารแล้วกว่า 11,000 ราย หรือราวร้อยละ 0.5 ของประชากรทั้งหมด โดยพบเด็กเสียชีวิตเฉลี่ย 160 รายต่อวัน

ลินด์ไมเออร์ แถลงว่า ปัจจุบันมีบุคลากรการแพทย์เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่แล้ว 16 ราย โดยองค์การฯ กำลังทำงานเพื่อสนับสนุนบุคลากรการแพทย์ในกาซา พร้อมเรียกร้องการรับรองความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้อีกครั้ง

ลินด์ไมเออร์ กล่าวว่า มีการโจมตีสถานพยาบาลในกาซา 102 ครั้ง ในเขตเวสต์แบงก์ 121 ครั้ง และในอิสราเอล 25 ครั้ง ขณะโรงพยาบาลในกาซา 14 แห่ง ไม่สามารถให้บริการได้เนื่องจากขาดแคลนเชื้อเพลิงและได้รับความเสียหาย

เมื่อวันอังคาร (7 พ.ย.) ถือเป็นวันครบรอบหนึ่งเดือนที่กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. โดยลินด์ไมเออร์เผยว่า ผู้คนในอิสราเอลหวาดกลัวและกังวลเรื่องตัวประกันมากกว่า 200 คน พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวประกันทั้งหมดทันที ซึ่งหลายคนในจำนวนนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน

นอกจากนั้น ลินด์ไมเออร์ ย้ำว่า ไม่มีสิ่งใดสามารถสร้างความชอบธรรมให้แก่ความหวาดกลัวที่พลเรือนในกาซาต้องเผชิญ พวกเขาต้องการน้ำ อาหาร และการรักษาพยาบาล ขณะระดับความอันตรายถึงชีวิตและความทุกข์ทรมานที่พวกเขาเผชิญอยู่นั้นยากจะหยั่งรู้ได้

ด้าน เจนส์ ลาร์เคอ โฆษกประจำสำนักงานเพื่อการประสานงานกิจการด้านมนุษยธรรมขององค์การสหประชาชาติ (UN) กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่ารถบรรทุกจำนวน 561 คันได้เข้าไปในกาซาตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. แต่ไม่มีรถบรรทุกคันใดบรรจุเชื้อเพลิงเนื่องจากคำสั่งห้ามของทางการอิสราเอล

ส่วนอเลสซานดรา เวลลุชชี ผู้อำนวยการฝ่ายบริการข้อมูลขององค์การฯ ในเจนีวา กล่าวว่าผู้คนในกาซามากกว่า 1.5 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น โดยเกือบครึ่งหนึ่งลี้ภัยอยู่ในค่ายพักพิงขององค์การฯ

'อ.พงษ์ภาณุ' มอง!! พิษสงคราม สั่นคลอนระบบการเงินโลก เสนอใช้ Local Currencies แทนดอลลาร์ 'ชำระเงิน-ค้าขาย' แบบทวิภาคี

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ...ถึงเวลาแล้วหรือยัง ใครได้ใครเสีย?' เมื่อวันที่ 12 พ.ย.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

สงครามสั่นคลอนระบบการเงินโลก เสนอใช้ local currencies แทนดอลลาร์

ผลพวงจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดความผันผวนทางการเงินอย่างไม่เคยมีมาก่อน 

อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เคยอยู่ที่ระดับ 0% กระโดดขึ้นมาอยู่ที่ 5.5% และไม่มีแนวโน้มจะกลับสู่ระดับเดิมในเร็ววัน 

แม้ว่าจะไม่มีสัญญาณใดๆ จากตลาดเงินตลาดทุนว่าสงครามที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จะลุกลามไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 แต่เชื่อว่าความผันผวนทางเศรษฐกิจจะยังคงมีอยู่ต่อไปและอาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มที่จะใช้เงินดอลลาร์เป็นอาวุธในการคว่ำบาตรประเทศที่เป็นศัตรูเป็นครั้งคราว ซึ่งเป็นการทำลายความเชื่อมั่นในระบบการเงินอีกด้วย

ขณะนี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะร่วมกันผลักดันและสนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่น (Local Currencies) ในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น ดังเช่นที่ประเทศไทยเคยมีบทบาทนำในการผลักดัน Asian Bond Market Initiative สมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 20 ปีที่แล้ว 

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ธนาคารกลางของ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็ได้เซ็น MOU ที่จะสนับสนุนการใช้เงินบาท, ริงกิต และรูเปียะ ในการชำระเงินการค้าขายแบบทวิภาคี ซึ่งถือเป็นความพยายามที่ดีและน่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง

แน่นอนว่า การผลักดันให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่น คงไม่ใช่เรื่องง่าย และดูจะฝืนธรรมชาติด้วยซ้ำ เพราะมีความเสี่ยงสูง และต้นทุน (Transaction Costs) ต่อผู้ประกอบการ โดยวัดจาก Spread ของธนาคารก็สูงกว่ามาก 

แต่สถานภาพปัจจุบันที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงเป็นเงิน Reserve Currency สกุลเดียวของโลกมาเป็นเวลากว่า 80 ปี และมีสัดส่วนกว่า 80% ในการชำระเงินและในทุนสำรองระหว่างประเทศ จนมีพลังต่อรองในเวทีเศรษฐกิจโลกเสมอมานั้น คงถึงเวลาที่ภาครัฐของทุกประเทศ โดยเฉพาะกระทรวงการคลังและธนาคารกลาง จะต้องร่วมมือกันอย่างเข้มข้น ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น 

ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินท้องถิ่น เครื่องมือบริหารความเสี่ยง ตลาดเงินตลาดทุน รวมทั้งในระยะปานกลาง/ยาว ต้องจัดตั้งกลไกเชื่อมโยงอัตราแลกเปลี่ยนทำนองเดียวกับ European Monetary System (EMS) และการมุ่งไปสู่เงินสกุลเดียวทำนองเดียวกับเงินยูโร ต้องคิดไว้ได้บ้างแล้ว...


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top