Friday, 3 May 2024
สงคราม

‘ยูเครน’ ส่งสัญญาณ เปิดทางทหารอียูสู้รบกับรัสเซียแทน ขู่!! หากปล่อยยูเครนพ่ายแพ้ ‘ปูติน’ จะไม่หยุดแค่นั้น

ความขัดแย้งระหว่างมอสโกกับเคียฟอาจไปถึงจุดที่บรรดาชาติสมาชิกอียูจำเป็นต้องประจำการทหารในยูเครน เพื่อต้านทานการรุกคืบของรัสเซีย จากความเห็นของดมิทรี คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนเมื่อช่วงต้นสัปดาห์

ระหว่างให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าวการเมืองสหรัฐฯ ‘โพลิติโก’ เมื่อวันจันทร์ (25 มี.ค.) คูเลบา คร่ำครวญต่อกรณีที่ตะวันตกลดความช่วยเหลือด้านการทหารที่มอบแก่เคียฟในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

"กรุณามอบแพทริออตให้เรา" คูเลบากล่าว อ้างถึงระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศที่ผลิตโดยสหรัฐฯ ซึ่งเขาเน้นย้ำว่ามีความจำเป็นต่อเคียฟ สำหรับเล็งเป้าหมายสกัดฝูงบินขับไล่ของรัสเซีย ที่พึ่งพาระเบิดนำวิถีทางอากาศเป็นหลัก "มอสโกพึ่งพากระสุนอัปเกรดของพวกเขามากยิ่งขึ้น และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมทหารยูเครนถึงสูญเสียฐานที่มั่นต่าง ๆ"

เป็นอีกครั้งที่ คูเลบา แสดงความเสียใจที่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรีพับลิกันยังคงขัดขวางความพยายามของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ผลักดันเงินช่วยเหลือก้อนใหม่ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่จะมอบแก่ยูเครน กระนั้นเขาปฏิเสธตอบคำถามกรณีเยอรมนี อีกชาติพันธมิตรลังเลจัดหาขีปนาวุธพิสัยไกล ‘ทอรัส’ แก่เคียฟ โดยบอกว่าเขา "เหนื่อยหน่ายกับคำถามนี้"

อย่างไรก็ตาม เขาหลีกเลี่ยงวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส หลังจากเมื่อเดือนที่แล้ว ผู้นำแดนน้ำหอมบอกว่าเขาไม่ตัดความเป็นไปได้ของการส่งทหารจากบรรดาชาติสมาชิกนาโตเข้าไปยังยูเครน

"เรายินดีที่ได้เห็นประธานาธิบดีมาครง มีวิวัฒนาการไปในทิศทางนั้น" รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนกล่าว แม้ความเห็นของผู้นำฝรั่งเศส นำมาซึ่งระลอกคลื่นเสียงปฏิเสธจากบรรดาผู้นำรัฐสมาชิกนาโตอื่น ๆ ซึ่งเน้นย้ำว่าไม่มีแผนส่งทหารตะวันตกไปยังยูเครน

"เคียฟไม่เคยร้องขอทหารสู้รบจากยุโรปในภาคสนาม แต่พวกผู้นำอียูอาจจำเป็นต้องรับแนวคิดนี้ เมื่อวันนั้นมาถึง" คูเลบากล่าว "ผมทราบดีว่าเหล่าชาติยุโรปไม่คุ้นเคยกับแนวคิดแห่งสงคราม แต่ยุโรปไม่อาจอยู่ในความประมาท ไม่ว่ากับตัวเองหรือกับเด็ก ๆ ของพวกเขา เพราะว่าหากยูเครนพ่ายแพ้ ปูติน (ประธานาธิบดีรัสเซีย) จะไม่หยุดแค่นั้น"

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ระบุว่าคำกล่าวอ้างของเคียฟและบรรดาผู้สนับสนุนต่างชาติที่บอกว่ารัสเซียจะเล็งเป้าเล่นงานรัฐสมาชิกนาโต เป็นเรื่องไร้สาระ อย่างไรก็ตาม ในการให้สัมภาษณ์อีกครั้ง ผู้นำรายนี้เน้นย้ำว่ามอสโกจะปฏิบัติกับทหารตะวันตกในฐานะ ‘พวกแทรกแซง’ หากพวกเขาเข้าประจำการในยูเครน และจะตอบโต้อย่างสาสม

รองประธานรัฐสภารัสเซีย ปิออตร์ ตอลสตอย เตือนมาครง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ต่อการสู้รบโดยตรงกับรัสเซียในสนามรบว่า "เราจะสังหารทหารฝรั่งเศสทุกรายที่ย่างเท้าเข้าสู่แผ่นดินยูเครน"

ความผิดพลาดครั้งใหญ่ของ ‘อิสราเอล’ หลังลาก ‘อิหร่าน’ เข้ามาอยู่ในวงสงคราม


ถ้อยแถลงประณามการโจมตีอันโหดร้ายของอิสราเอลต่อสถานเอกอัครรัฐทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ณ กรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย ของกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน

กลายเป็นประเด็นลุกลามขึ้นมาในโลกทันที หลังจากกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ได้ประณามการโจมตีด้วยขีปนาวุธของ ‘รัฐบาลอิสราเอล’ อย่างผิดกฎหมายที่อาคารส่วนกงสุลของสถานทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านในกรุงดามัสกัส ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงที่สุด ในตอนเย็นของวันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2024

นั่นก็เพราะการโจมตีแบบกำหนดเป้าหมายในสถานที่ทางการทูตแห่งนี้ ซึ่งมีที่ปรึกษาทางทหารด้านต่อต้านการก่อการร้ายของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านหลายคนพักอาศัยอยู่ โดยทุกคนนั้นยังได้รับความคุ้มครองทางการทูต ภายหลังกำลังเข้าร่วมพิธีละศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์อยู่ในอาคารดังกล่าว

ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การโจมตีที่น่ารังเกียจและน่าอับอายนี้ จะเป็นการละเมิดเอกสิทธิและความคุ้มกันของเจ้าหน้าที่ทางการทูตและสถานที่ โดยเฉพาะสถานทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านในกรุงดามัสกัส และละเมิดกฎระเบียบระหว่างประเทศอย่างชัดเจน รวมถึงอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961 อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม ค.ศ. 1973 การลงโทษอาชญากรรมที่กระทำต่อบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองระหว่างประเทศ รวมถึงตัวแทนทางการทูต และกฎบัตรสหประชาชาติ 

ฉะนั้น รัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศทั้งหลาย จึงสมควรต้องออกแสดงความไม่พอใจและประณามการกระทำอันชั่วร้ายที่เป็นการรุกรานและการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศครั้งนี้ โดยคาดหวังว่าสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและเลขาธิการสหประชาชาติ ที่น่าจะต้องรีบออกมาตอบสนองอย่างรวดเร็วกับการกระทำของอิสราเอล ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์การโจมตีของอิสราเอลในครั้งนี้ กำลังสะท้อนให้เห็นถึงความสิ้นหวัง ทำอะไรไม่ถูก และความงุนงงทางยุทธศาสตร์ของอิสราเอล อันเป็นผลจากความล้มเหลวทางการทหาร การเมือง และศีลธรรมในฉนวนกาซา หลังจากหกเดือนของสงครามอาชญากรรมอันโหดร้าย ล้วนล้มเหลวในการบรรลุชัยชนะใดๆ ต่อขบวนการต่อต้าน ตลอดจนประเทศปาเลสไตน์ที่อดทนและยืดหยุ่น

ย้อนกลับไป อิสราเอล ล้มเหลวในการยุติความกล้าหาญของชาวปาเลสไตน์ และเริ่มหันไปใช้กลยุทธ์ที่น่าอับอาย อย่างการสังหารหมู่ สตรี เด็ก และพลเรือนชาวปาเลสไตน์ ที่ถูกปลิดชีพไปแล้วหลายหมื่นคน ภายใต้ความล้มเหลวในการพยายามขยายขอบเขตสงครามที่อันตรายและไม่ฉลาด จนเริ่มกลายเป็นการทำลายสันติภาพในภูมิภาค โดยมีประเทศอื่นร่วมเป็นเหยื่อ 

อย่างไรก็ตาม สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน คงไม่เหมือนปาเลสไตน์ และมีความเป็นไปได้ที่ต่อจากนี้จะทำให้ผู้รุกราน (อิสราเอล) กลายเป็นเป็ดง่อยและต้องเสียใจกับอาชญากรรมครั้งล่าสุดอย่างถึงที่สุด เพื่อตอบโต้อาชญากรรมที่ชั่วร้ายนี้

นั่นก็เพราะการกระทำของผู้นำแห่งอิสราเอลในครั้งนี้ กำลังกระตุกปฏิบัติการพายุอัลอักซอ และความแน่วแน่อย่างกล้าหาญของประเทศปาเลสไตน์ที่ถูกกดขี่แต่ทรงอำนาจในฉนวนกาซาในช่วงหกปีที่ผ่านมา ภายใต้แรงหนุนแห่งสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ที่อาจทำให้ปาเลสไตน์ไม่มีวันถอยแม้แต่ก้าวเดียวต่อจากนี้...ซวยแล้ว!!

‘อิสราเอล’ สั่งปิดสัญญาณ GPS - ห้ามทหารลาหยุด หวังเสริมการป้องกัน หลังเพิ่งโจมตีสถานกงสุล ‘อิหร่าน’ มา

(5 เม.ย. 67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อิสราเอลปิดใช้งานระบบ GPS ทั่วประเทศเพื่อขัดขวางการใช้งานของขีปนาวุธและโดรน ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นกับอิหร่าน ซึ่งประกาศคำมั่นว่าจะตอบโต้ หลังอิสราเอลโจมตีอาคารของแผนกกงสุลในสถานทูตอิหร่านที่ซีเรียเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 ราย รวมถึงนายพลอิหร่านจากหน่วยรบพิเศษคุดส์

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา มีการรบกวนการทำงานของระบบ GPS ในพื้นที่ตอนกลางของอิสราเอล ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันที่ออกแบบมาเพื่อขัดขวางการใช้อาวุธที่สามารถระบุตำแหน่งได้ โดยพลเมืองอิสราเอลระบุว่า พวกเขาไม่สามารถใช้บริการแอปในการระบุสถานที่ในเมืองใหญ่ ๆ เช่น เทลอาวีฟและเยรูซาเลม ซึ่งอยู่ห่างไกลจากพื้นที่สู้รบได้

นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ไทม์ออฟอิสราเอล รายงานว่า ได้มีการร้องขอให้ชาวอิสราเอลตั้งค่าตำแหน่งบนแอปด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้มีการส่งการแจ้งเตือนเกี่ยวกับการโจมตีด้วยจรวด เพื่อให้แน่ใจว่าตำแหน่งของพวกเขายังคงแม่นยำ แม้ว่าจะมีการรบกวนสัญญาณ GPS อยู่ก็ตาม

ด้าน ดาเนียล ฮาการี โฆษกกองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอล (ไอดีเอฟ) ยืนยันว่า อิสราเอลกำลังทำการบล็อคการใช้งาน GPS ซึ่งบางครั้งถูกเรียกว่าเป็นการปลอมแปลง

ดาเนียล ฮาการี ยังเรียกร้องให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนกด้วยการกักตุนซื้อสินค้า โดยเขาโพสต์บน X ว่า ไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องปั่นไฟ กักตุนอาหาร หรือถอนเงินจากตู้เอทีเอ็ม ทำตัวเหมือนปกติอย่างที่เคยทำมา และเราแจ้งให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทันที หากมีอะไรที่เป็นทางการ

ขณะเดียวกันไอดีเอฟยังประกาศว่าจะระงับการขอลาพักของทหารทั้งหมดที่อยู่ในหน่วยรบ โดยคำประกาศดังกล่าวมีขึ้นหนึ่งวันหลังจากที่ทหารกองหนุนอิสราเอลเพิ่งถูกเรียกเข้าเสริมกำลังในหน่วยป้องกันภัยทางอากาศ

ดูเหมือนไอดีเอฟจะเชื่อว่าการตอบโต้ของอิหร่านใกล้จะเกิดขึ้น และอาจเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดในวันศุกร์ที่ 5 เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันศุกร์สุดท้ายในเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม

นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล กล่าวหลังมีข่าวเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมรับความเป็นไปได้ของการโจมตีตอบโต้ของอิหร่านว่า อิสราเอลจะทำร้ายใครก็ตามที่ทำร้ายเรา หรือวางแผนที่จะทำร้ายเรา

เนทันยาฮูกล่าวก่อนเริ่มประชุมคณะรัฐมนตรีความมั่นคงเมื่อค่ำวันที่ 4 เม.ย.ว่า หลายปีมาแล้วที่อิหร่านดำเนินการต่อต้านเราทั้งโดยตรงและผ่านตัวแทน ดังนั้นอิสราเอลจึงจะดำเนินการต่อต้านอิหร่านและตัวแทนของอิหร่านทั้งในเชิงรับและเชิงรุก

“เรารู้วิธีที่จะป้องกันตนเอง และเราจะปฏิบัติตามหลักการง่าย ๆ ว่าใครก็ตามที่ทำร้ายเรา หรือวางแผนจะทำร้ายเรา เราก็จะทำร้ายพวกเขากลับ” เนทันยาฮู กล่าว

'เพจดัง' ชี้!! สถานการณ์เมียนมาวันนี้ ไทยต้องเป็นกลางขั้นสุด ดูแลด้านมนุษยธรรม พร้อมกันพื้นที่สู้รบไม่ขยายเข้ามาไทย

(10 เม.ย. 67) จากเพจ 'สานต่อเจตนารมณ์ อาจารย์สมเกียรติ โอสถสภา' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

วันนี้มีเรื่องสำคัญหลายเรื่อง:

1. จะฟ้อง ไม่ฟ้อง หรือเลื่อนคดี 112 ของโทนี่ มีนัยสำคัญไม่ว่าจะออกมารูปไหน

2. กนง. จะเริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ด้วยเหตุผลอะไร

3. เรื่องเมียนมาที่ไทยเกี่ยวข้องอยู่หลายด้าน

เรื่องที่ 1 กับ 2 บ่าย ๆ ก็รู้เรื่อง

ส่วนเรื่องที่ 3 จะบอกสั้น ๆ ว่าประเทศไทยตอนนี้ถูกมหาอำนาจฝ่ายต่าง ๆ ใช้เป็นทางผ่านส่งอะไรก็ไม่รู้เข้าเมียนมา และถูกใช้เป็นฐานมอนิเตอร์ ประสานงาน 

เข้าใจว่าไม่น่าจะเลือกอะไรได้ มหาอำนาจจะเอา ต้องเป็นทางผ่านจำยอม 

รัฐบาลเมียนมาก็คงรู้ แต่เราก็ยังต้องรักษาสัมพันธ์กันไว้ และเขายังไว้ใจเราในระดับหนึ่งที่ค่อนข้างมาก มีผลประโยชน์ร่วมกันมาก

ดูเหมือนรัฐบาลเมียนมาต้องการยันพื้นที่ที่เป็นของชาวเมียนมาแท้เอาไว้ให้แน่น (พื้นที่สีเหลืองในรูป) พื้นที่ที่เป็นของชนกลุ่มต่าง ๆ ปล่อยไปก่อน 

อาจไปตีคืนทีหลัง หรือถ้าไม่ตีคืนก็อยู่กันไปแบบซีเรีย คือรัฐบาลกลางยังอยู่แต่ไม่สามารถปกครองพื้นที่ได้ทั้งประเทศ

ถ้าเป็นโมเดลซีเรียเมื่อไหร่ กลุ่มต่าง ๆ จะเร่งผลิตยาเสพติดออกขายทำทุน เนื่องจากระบบเศรษฐกิจหลายส่วนเลี้ยงตัวเองไม่ได้

แนวทางสำคัญของไทยตอนนี้คือ:

1. เป็นกลาง รักษาสัมพันธ์ทุกฝ่าย บางทีต้องยอมตามคำขอพิเศษของแต่ละฝ่ายบ้าง แล้วแต่กรณี

2. ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ

3. ทหารดูแลให้พื้นที่สู้รบไม่ขยายเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทยโดยบังเอิญ หรือโดยความตั้งใจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

4. อันนี้เรื่องใหญ่ ตกลงจะได้เล่นน้ำวันไหน ใครบอกได้แล้วยัง

บทสรุปราคาน้ำมันอาเซียน ใต้ ‘อุณหภูมิโลก-ตะวันออกกลาง’ เดือด ราคาเบนซินไทยเกาะกลุ่มกลางตาราง ส่วนดีเซลราคายังรั้งท้าย

เดือดปุดทั้งอาเซียน สมกับเป็นหน้าร้อนจริง ๆ เมื่อราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเร็วและแรงไปทั่วโลก จากความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ผสานเข้ากับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่พุ่งไม่แพ้กัน จากโลกที่ร้อนเข้าขั้นเดือด เพราะดวงอาทิตย์มาอยู่แถวนี้พอดี ซึ่งโดยรวม ๆ แล้วทั้งโลก และหมายรวมถึงอาเซียนบ้านเรา ก็คงได้รับผลกระทบจากราคาที่ปรับขึ้นนี้ไปตาม ๆ กัน

ว่าแล้ว วันนี้เลยขอถือโอกาสมาเช็กราคาน้ำมันเชิงเปรียบเทียบ เอาแค่ในประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนดูกันสักเล็กน้อย ว่า ณ ตอนนี้ ที่ไหน ถูก- แพง กันบ้าง? เผื่อคนไทยเราจะสบายใจกันขึ้นเล็ก ๆ

อย่างไรก็ตาม อยากให้เข้าใจก่อนว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันถูกหรือแพงนั้น จะขึ้นอยู่กับ…

1. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประเทศไหนสามารถผลิตเองได้ ก็นับว่าโชคดีไป ที่บรรพบุรุษหามาให้เป็นทรัพย์สมบัติ
2. ค่าขนส่งน้ำมัน ถ้าประเทศที่ต้องนำเข้าคงไม่ต่างกันมากนัก แต่ประเทศที่ผลิตเองได้ ก็จะทำให้ค่าขนส่งถูกลง
3. ประเทศที่มีโรงกลั่นน้ำมันเอง ซึ่งในอาเซียน มีอยู่ 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์, ไทย, มาเลเซีย และ เวียดนาม 
4. ภาษีต่าง ๆ ที่ในแต่ละประเทศเรียกเก็บ

ทั้งนี้ หากในส่วนของอาเซียน ก็มีประเทศที่สามารถขุดน้ำมันมาใช้เองได้ โดยแทบไม่ต้องนำเข้าด้วย ได้แก่... 
1. มาเลเซีย
2. บรูไน
3. อินโดนีเซีย

ส่วน ประเทศไทย และ เวียดนาม ผลิตใช้เองได้เล็กน้อย คิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของปริมาณความต้องการเท่านั้น

คราวนี้ ก็ได้เวลาพามาดูราคาน้ำมันสำเร็จรูป ในกลุ่มอาเซียน ที่รายงานอยู่บนเว็บไซต์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 พบว่า…

>> ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน ในสิงคโปร์ แพงที่สุด คือ 80.29 บาทต่อลิตร ตามมาด้วย ลาว 57.57 บาทต่อลิตร, กัมพูชา 48.33 บาทต่อลิตร, เมียนมา 43.32 บาทต่อลิตร, ไทย 40.35 บาทต่อลิตร, ฟิลิปปินส์ 40.23 บาทต่อลิตร, เวียดนาม 36.61 บาทต่อลิตร, อินโดนีเซีย 33.23 บาทต่อลิตร, มาเลเซีย 15.79 บาทต่อลิตร และ บรูไน 14.33 บาทต่อลิตร

>> ส่วนราคาน้ำมันดีเซล แพงสุดก็ยังเป็น สิงคโปร์ 72.99 บาทต่อลิตร, กัมพูชา 45.59 บาทต่อลิตร, เมียนมา 43.32 บาทต่อลิตร, ลาว 36.62 บาทต่อลิตร, ฟิลิปปินส์ 36.61 บาทต่อลิตร, อินโดนีเซีย 35.85 บาทต่อลิตร, เวียดนาม 31.11 บาทต่อลิตร, ไทย 30.94 บาทต่อลิตร, มาเลเซีย 16.56 บาทต่อลิตร และ บรูไน 8.38 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้ ต้องบอกให้ทราบกันก่อนว่า ราคาจากประเทศที่มีเห็นว่าน้ำมันถูกนั้น ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลแต่ละประเทศจะมีการอุดหนุนทั้งสิ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มาเลเซียและบรูไน ที่แม้จะเป็นประเทศที่สามารถผลิตน้ำมันใช้เองได้ก็ตาม

แต่จากภาวะสงครามความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้แต่ละประเทศเริ่มอุ้มไม่ไหวแล้ว จะเริ่มลอยตัวราคาน้ำมันตามกลไกตลาดกันแล้ว เพราะการอุ้มนาน ๆ จะทำให้เศรษฐกิจส่วนอื่นไม่รู้ต้นทุนจริง สุดท้ายประเทศจะไม่มีความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

อย่างเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายราฟิซี รามลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจมาเลเซีย ก็ได้ออกมาระบุว่า มาเลเซียเตรียม ‘ลดการอุดหนุน’ ราคาน้ำมันเบนซินในปีนี้ เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งสาเหตุที่รัฐบาลมาเลเซีย เตรียมลดการอุ้มราคาน้ำมันนั้น เป็นเพราะผลจากการอุ้ม ทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณประเทศที่มีตัวเลขพุ่งไปแตะ 5% ของ GDP ในปี 2566 จนกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน และไม่เพียงเท่านั้น ยังส่งผลให้สกุลเงินริงกิตของมาเลเซียใกล้แตะระดับต่ำสุดในรอบ 26 ปี ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินในเอเชียเมื่อปี 2541 อีกด้วย

ดังนั้น รัฐบาลมาเลเซีย จึงตั้งเป้าหมายในปีนี้ว่า จะลดภาวะขาดดุลงบประมาณจาก 5% ของ GDP ลงเหลือ 4.3% ของ GDP โดยเริ่มจากลดการอุดหนุนน้ำมันเบนซิน RON95 ซึ่งเป็นประเภทเบนซินราคาถูกที่สุด และชาวมาเลเซียใช้มากที่สุดด้วย โดยในปีที่แล้วรัฐบาลใช้งบประมาณไปกับการอุดหนุนเหล่านี้มากถึง 81,000 ล้านริงกิต หรือราว 622,000 ล้านบาท

*** ขนาดประเทศที่ผลิตน้ำมันใช้ได้เองอย่างมาเลเซียยังวิกฤต ก็เลยไม่อยากให้คิดว่าเมืองไทยไม่ทำอะไร ปล่อยแพงเอา ๆ

เพราะถ้าลองหันกลับมาดูประเทศไทยเราดี ๆ จะพบว่าราคาน้ำมันของไทย อยู่ในระดับกลาง ๆ ค่อนไปทางราคาถูกด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล เพราะมีการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเข้าไปอุ้มอยู่ แต่ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป หรืออุ้มน้ำมันดีเซลนาน ๆ ประเทศก็จะสูญเสียการแข่งขันเช่นกัน 

เนื่องจากตอนนี้ กองทุนน้ำมันบ้านเรา ได้เข้าอุ้มน้ำมันดีเซลอย่างเดียวก็ร่วม 60,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งถ้าจะให้พูดเชิงสำนึกกันสักหน่อย ก็น่าจะหมายถึงว่า “เวลาที่ภาคประชาชนต้องช่วยกันประหยัดน้ำมันกัน มันมาถึงแล้ว” เพราะต้องตระหนักรู้ด้วยว่า ประชาชนทุกคนที่ไม่ได้ใช้น้ำมันดีเซลก็มีเยอะ และเขาก็ต้องมาช่วยอุ้มน้ำมันดีเซลด้วยเช่นกันในตอนนี้

อย่างไรก็ดี ยังมีอีกสาเหตุที่ประเทศไทย ราคาน้ำมันไม่แพงพุ่งกระฉูด เพราะเรามีโรงกลั่นน้ำมันของเราเอง อยู่ที่จังหวัดระยอง, ชลบุรี และกรุงเทพฯ ที่มีความสามารถในการกลั่นเองมาใช้เองภายในประเทศได้หมด แถมส่งออกได้อีกต่างหาก เรียกว่าประเทศไทยแทบไม่ต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป แต่ทว่าก็ยังต้องนำเข้าน้ำมันดิบอยู่

อีกเรื่องที่จะมองข้ามไม่ได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ราคาน้ำมันพุ่งหรือไม่ คือ สงครามในภูมิภาคตะวันออกกลาง อันมีจุดเริ่มต้นจาก ‘อิสราเอล’ กับ ‘กลุ่มฮามาส’ ที่กำลังลุกลามยกระดับไปเป็น ‘อิสราเอล’ กับ ‘อิหร่าน’ แล้วนั่นเอง!!

ทำไมต้องจับตามอง? เพราะนอกจากจะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบพุ่งแล้ว โดยภูมิศาสตร์ภูมิภาคแถบนั้น การขนส่งน้ำมัน 30 %ของโลกต้องผ่านช่องแคบฮอร์มุซ ของอิหร่านทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าเกิดสงครามลุกลามขึ้นมา แล้วอิหร่านคิดจะกดดันด้วยการปิดช่องแคบฮอร์มุซแบบเบ็ดเสร็จ ก็ต้องมีการขนอ้อมไปทางอื่น ซึ่งจะทำให้ค่าขนส่งพุ่งกระฉูดอีกทางหนึ่ง เมื่อถึงตอนนั้นคงไม่ต้องคิดว่าคนไทยและชาวโลกจะเดือดร้อนขนาดไหน

อย่างไรก็ตาม เห็นข่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กำลังเร่งจัดทำระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SPR เพื่อสำรองน้ำมัน เตรียมไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เป็นเวลา 90 วัน ซึ่งจะทำให้ราคาในประเทศไม่ผันผวนตามตลาดโลกแม้มีภาวะสงคราม ซึ่งเรื่องนี้อยากให้ได้รับความสนใจจากทุกหน้าสื่อสักหน่อย 

ส่วน THE STATES TIMES เองก็สนใจเรื่องนี้พอสมควร ไว้ขอไปศึกษาและคราวหน้าจะเอารายละเอียดมาฝาก...

เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES

เมื่อ ‘ราคาน้ำมันโลก’ พุ่ง!! แต่ ‘ค่าเงินบาท’ อ่อน ‘ระบบน้ำมันสำรอง 90 วัน’ คือหนึ่งทางเลือกของไทย

ปัจจุบันพี่น้องชาวไทยต่างได้รับผลกระทบจาก ‘ราคาน้ำมันดิบโลก’ ที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบพุ่งถึง 84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อันเป็นผลมาจากปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปริมาณน้ำมันที่เก็บสะสมไว้ในสหรัฐ มีการบริโภคน้ำมันเพิ่มมากขึ้น หรือแรงกดดันจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่าง OPEC ซึ่งนำโดยซาอุดีอาระเบีย ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 1 ของโลก และการบอยคอตผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่างอิหร่านและรัสเซีย รวมถึงความตึงเครียดของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

ด้วยปัจจัยทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก และมีแนวโน้มว่า อาจทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ในอนาคตไม่ไกล ตลอดจนมีส่วนกดดันให้เงินบาทไทยอ่อนค่าลงอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา โดยค่าเงินบาทไทยวันนี้ (26 เม.ย.67) อัตราขายถัวเฉลี่ยอยู่ที่ 37.2588 บาทต่อดอลลาร์ ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉะนั้นเหตุผลเมื่อน้ำมันปรับตัวขึ้น เงินบาทจึงอ่อนค่าลง จึงพอสรุปได้ว่า…

1.  เมื่อราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้นจึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูง ดังนั้นธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อเป็นการสกัดการเกิดเงินเฟ้อ จนนักลงทุนพากันเทขายสินทรัพย์เสี่ยง จนกระทั่งทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง กลายเป็นผลกระทบต่อเนื่องไปทั่วโลก รวมถึงนักลงทุนไทยต้องปิดรับความเสี่ยงจากตลาดหุ้นด้วยเช่นกัน จึงเกิดเป็นแรงกดดันทำให้เงินบาทอ่อนต้องค่าลงตามไปด้วย

2.  ไทยต้องนำเข้าน้ำมัน ดังนั้นหากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น หมายความว่า คนไทยก็ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อน้ำมันน้ำเข้าในราคาที่แพงขึ้น

ปัจจัยจากราคาน้ำมันจึงส่งผลทำให้มูลค่าการนำเข้าของประเทศไทยขยายตัว โดยที่การส่งออกอาจจะยังอยู่ในระดับเดิม จึงทำให้เกิดการขาดดุลทางการค้า (Trade Deficit) จากการที่มูลค่าของการนำเข้าสูงกว่ามูลค่าการส่งออก และหากตัวแปรทั้งหมดเหมือนเดิมแต่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น คนไทยจึงต้องใช้เงินบาทมากขึ้นในการแลกเปลี่ยนเป็นดอลลาร์เพื่อซื้อน้ำมันจากต่างประเทศ จำนวนเงินที่ใช้จ่ายเพื่อการนำเข้าสูงกว่าจำนวนเงินที่ได้รับจากการส่งออก และส่งผลต่อเนื่องจนทำให้เกิดการขาดดุลทางการค้า

แน่นอนปัจจัยที่เกิดจากราคาน้ำมันโดยตรงเป็นสิ่งที่รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากการหาแหล่งผู้ขายรายใหม่ ๆ การเพิ่มกลไกเพื่อทำให้ผู้ค้าน้ำมันจำหน่ายน้ำมันในราคาที่สะท้อนต้นทุนตามความเป็นจริง ณ เวลาที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการปรับขึ้นหรือลง ดังเช่นที่รองฯ พีระพันธุ์ ได้ให้กระทรวงพลังงานออกประกาศและได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา และการจัดทำระบบการสำรองน้ำมัน 90 วัน เป็นต้น

แต่ปัจจัยในส่วนของค่าเงินบาทเป็นปัจจัยที่รัฐบาลสามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่ง ด้วยค่าเงินตราของประเทศต่าง ๆ นั้นจะมีเสถียรภาพคงที่ อ่อนค่า หรือ แข็งค่า เกิดจาก…

1. อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ
2. การค้าและการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ
3. นโยบายการเงินของธนาคารกลาง
4. สถานการณ์ในประเทศและปัจจัยระหว่างประเทศ

โดยข้อ 1 และ 3 เป็นบทบาทหน้าของธนาคารแห่งประเทศไทยโดยตรง รัฐบาลอาจจะเข้าไปเกี่ยวข้องได้ในกรณีฉุกเฉินและจำเป็น สำหรับข้อ 2 และ 4 เป็นเรื่องที่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของรัฐบาล

แต่สิ่งที่สังคมไทยไม่ได้คำนึงถึงคือ เรื่องของ Digital wallet ซึ่งต้องใช้เงินกว่าหกแสนล้านบาท อันจะเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงต่อความเชื่อถือในระดับนานาชาติต่อเรื่องของวินัยทางการเงินและการคลังของประเทศ แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งย่อมส่งผลกระทบทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะเมื่อประเทศมีปัญหาเรื่องวินัยทางการเงินและการคลังเกิดขึ้นจะทำให้ระดับความน่าเชื่อถือของประเทศที่ถูกประเมินโดยสถาบันการประเมินระดับโลกต่าง ๆ ลดลงอย่างแน่นอน แล้วส่งผลทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงตามไปด้วย แม้รัฐบาลปัจจุบันจะอ้างว่า การใช้ Application ‘ทางรัฐ’ ที่ในอนาคตคนไทยทุกคนจะต้องใช้ เพื่อให้สังคมสามารถก้าวย่างสู่ Digital Economy หรือ Digital World ในอนาคต จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องใช้งบประมาณกว่าหกแสนล้านบาทเพื่อให้ไปถึงจุดนั้น ทั้ง ๆ มี Application ‘เป๋าตัง’ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันใช้อยู่แล้ว การพัฒนา Application ที่มีอยู่น่าจะประหยัดกว่าและรวดเร็วกว่าการออกแบบและพัฒนา Application ใหม่ขึ้นมา แม้จะมีการอ้างว่า Application ‘เป๋าตัง’ เป็นของธนาคารกรุงไทย แต่ต้องไม่ลืมว่า ธนาคารกรุงไทยเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง ย่อมสามารถดำเนินการทุกอย่างที่ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายอยู่แล้ว หากมีปัญหาข้อผิดพลาดใด ๆ เกิดขึ้นจากกรณีนี้ย่อมกระทบต่อค่าเงินบาทอย่างแน่นอน และจะกลายเป็นผลกระทบในวงกว้างซึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทยไม่เคยมีนักการเมืองและพรรคการเมืองใดที่แสดงความรับผิดชอบเลย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top