Friday, 3 May 2024
สงคราม

‘โปแลนด์’ ประกาศหยุดส่งอาวุธให้ยูเครน เหตุจากปมพิพาทเรื่องการค้าธัญพืช

(21 ก.ย. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รัฐบาลโปแลนด์ตัดสินใจประกาศหยุดจัดส่งอาวุธให้แก่ยูเครนแล้ว สาเหตุเกิดจากปมข้อพิพาทเกี่ยวกับการค้าธัญพืช ทำให้โปแลนด์และยูเครนเริ่มเข้าสู่ความตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ

อีกทั้งรัฐบาลโปแลนด์ไม่พอใจถ้อยแถลงของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ที่กล่าวระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก ว่า มีบางประเทศในยุโรปแสร้งทำเป็นสมานฉันท์กับยูเครน

‘เซเลนสกี’ เยือนวอชิงตันอีกรอบ ขอความช่วยเหลือเพิ่ม แม้ ‘ไบเดน’ หนุน แต่คองเกรสเอือมสงคราม รีพับลิกันเริ่มขวาง

(22 ก.ย. 66) ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำแห่งยูเครน เดินทางถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันพฤหัสบดี (21 ก.ย.) ที่ผ่านมา เพื่อการเยือนเป็นครั้งที่ 2 ของเขาในช่วงเวลาทำสงครามกับรัสเซีย อย่างไรก็ดี นอกจากจะไม่ได้รับการต้อนรับดุจดังวีรบุรุษเหมือนหนที่แล้ว คราวนี้ผู้นำเคียฟยังต้องเผชิญบรรยากาศความเหนื่อยล้า จากสงครามของบรรดาสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ และความเสี่ยงที่แพ็กเกจความช่วยเหลือล็อตใหม่มูลค่ากว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อาจถูกขัดขวาง

เซเลนสกีโพสต์ข้อความทางสื่อสังคมในตอนเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดี (21 ก.ย.) ที่ผ่านมา ว่า เขาและภรรยามาถึงวอชิงตัน ดี.ซี.แล้ว และระบบป้องกันภัยทางอากาศ คือหนึ่งในรายการที่มีลำดับความสำคัญสูงสุด ซึ่งเขาต้องการจะได้รับในเมืองหลวงของสหรัฐฯ แห่งนี้

ผู้นำยูเครนวัย 45 ปีผู้นี้ มีกำหนดพบปะเจรจากับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ทำเนียบขาว และจากนั้นจะไปเยือนกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน)

ทว่านัดหมายที่สำคัญอย่างที่สุดของเขา น่าจะเป็นการพบหารือกับพวกผู้นำของพรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครตในรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งแพ็กเกจความช่วยเหลือยูเครนฉบับใหม่มูลค่า 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่คณะบริหารของไบเดนได้เสนอเข้าไป มีความเสี่ยงที่จะถูกสกัดขัดขวาง

เซเลนสกีเพิ่งออกมาจากการร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชนในนครนิวยอร์ก ซึ่งเขาปราศรัยเรียกร้องให้โลกยืนหยัดสนับสนุนยูเครน ต่อสู้กับสิ่งที่เขากล่าวหาว่าเป็น ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ของรัสเซีย

เขายังร้องขอชาวอเมริกันคงความสนับสนุนที่ให้แก่เคียฟต่อไป หลังจากที่วอชิงตันได้อัดฉีดเงินมากกว่า 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในรูปความช่วยเหลือทางทหารให้แก่ยูเครน นับตั้งแต่ถูกรัสเซียรุกรานในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 โดยที่เขากล่าวอ้างกับโทรทัศน์ข่าวซีเอ็นเอ็นเมื่อวันอังคาร (19 ก.ย.) ที่ผ่านมา ว่า “เรากำลังอยู่ตรงเส้นชัยแล้ว”

ทว่า ทริปเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ของเขาหนนี้ จะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากหนแรกเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยครั้งนั้นเซเลนสกีบินไปอเมริกาแบบไม่มีการออกข่าวล่วงหน้า และได้รับการต้อนรับเยี่ยงวีรบุรุษจากทั้งทำเนียบขาวและที่รัฐสภาสหรัฐฯ

แต่ในครั้งนี้ วอชิงตันอบอวลไปด้วยความสงสัยข้องใจมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับอนาคตการให้ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ โดยที่กลุ่มสมาชิกสายแข็งของรีพับลิกันประกาศว่า จะไม่ยกมือเห็นชอบมาตรการทางการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลต้องหยุดทำการชั่วคราว เพราะหมดงบประมาณ หรือที่เรียกกันว่า ‘ชัตดาวน์’ ถ้าหากมีการพ่วงความช่วยเหลือสำหรับยูเครนเข้าไปด้วย

แม้ว่าไบเดนยังคงให้สัญญาจะยืนหยัดเคียงข้างเคียฟไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดยที่การรณรงค์หาเสียงเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งอีกสมัยในปีหน้าของเขา มีการวาดภาพเรื่องเขาสนับสนุนยูเครน ว่าเป็นการสาธิตถึงความเป็นผู้นำโลกของเขา

‘จอห์น เคอร์บี้’ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ แถลงว่า ไบเดนรอรับฟังสถานการณ์ในสนามรบจากเซเลนสกี ที่เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของยูเครนโดยตรง รวมทั้งจะหารือเกี่ยวกับสิ่งที่เซเลนสกีต้องการ และวิธีที่อเมริกาจะตอบสนองความต้องการเหล่านั้นต่อไปในอนาคต

สำหรับข่าวที่ว่า เซเลนสกีจะร้องขอขีปนาวุธทางยุทธวิธี ATACMS ซึ่งมีพิสัยทำการ 300 กิโลเมตร ไกลขึ้นกว่าเดิมเมื่อเทียบกับขีปนาวุธอื่นๆ ที่ยูเครนได้รับอยู่ในปัจจุบัน เคอร์บี้บอกว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้ถูกปัดตกไป แต่ก็ยังไม่มีการตัดสินใจในเวลานี้

อย่างไรก็ตาม เห็นกันดีเรื่องน่าหนักใจที่สุดของผู้นำยูเครน คือการโน้มน้าวรัฐสภาสหรัฐฯ ในเมื่อความหวังที่จะได้ความช่วยเหลือเพิ่มก้อนใหญ่อีกก้อนหนึ่งของยูเครน ถูกนำไปผูกโยงกับดรามาการต่อรองกันระหว่างพรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครต

ไม่เพียงฝ่ายขวาจัดของรีพับลิกันในรัฐสภา แสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่า ถ้ารัฐบาลขืนผลักดันให้ผ่านงบช่วยเหลือเคียฟ ก็จะไม่ยอมตกลงเรื่องมาตรการหลีกเลี่ยงการชัตดาวน์ กระทั่งสมาชิกรีพับลิกันสายกลางก็แสดงความข้องใจมากขึ้น กับการยังคงช่วยเหลือยูเครนต่อไป

เป็นต้นว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร ‘เควิน แมคคาร์ธีย์’ ให้สัมภาษณ์เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า เขาคิดว่า คนอเมริกันอยากทราบว่ายูเครนมีแผนอย่างไร ที่จะทำให้ตัวเองรบชนะรัสเซีย

มี ส.ส.บางคนเห็นว่า น่าจะเอาเงินไปใช้ในการรักษาความปลอดภัยพรมแดนสหรัฐฯ มากกว่า ท่ามกลางความกังวลสงสัยที่การปฏิบัติการตอบโต้ของเคียฟมีความคืบหน้าน้อยมาก แถมยังมีข่าวการทุจริตหนักหน่วงในยูเครน จนเกิดคำถามว่า “หรือความช่วยเหลือที่ทุ่มเทให้ไปจะสูญเปล่า?”

อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เป็นตัวเก็งของรีพับลิกันท้าชิงทำเนียบขาวจากไบเดนในปีหน้า บอกว่า ควรเอาเงินที่จะให้ยูเครนมาใช้กับกิจการในประเทศมากกว่า ซ้ำทำนายว่า ที่สุดแล้วชัยชนะจะเป็นของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำแห่งรัสเซีย

‘รัสเซีย’ ยกระดับเอาคืน!! ขู่ขึ้นบัญชีดำหมายหัว ‘ปธ.ศาลโลก’ ปม ‘ไอซีซี’ ออกหมายจับ ‘ปูติน’ ฐานก่ออาชญากรรมสงคราม

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 66 ‘รัสเซีย’ ได้เปิดเผยว่าได้ใส่ชื่อ ‘ปิโอเตอร์ ฮอฟมันสกี’ (udge Piotr Hofmański) ประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ในบัญชีต้องการตัว ความเคลื่อนไหวตอบโต้กรณีที่ศาลแห่งนี้ออกหมายจับ ‘ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน’ ตามข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงคราม

‘ฮอฟมันสกี ปิโอเตอร์ โจเซฟ’ ชาวโปแลนด์ เป็นที่ต้องการตัวภายใต้มาตรการหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญาแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ตามประกาศฉบับหนึ่งที่ปรากฏในฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทยรัสเซียไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับคำกล่าวหาที่มีต่อ ฮอฟมันสกี

เมื่อเดือนมีนาคม ศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่มีสำนักงานใหญ่ในเมืองเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ออกหมายจับ ‘ปูติน’ ฐานก่ออาชญากรรมสงคราม ตามข้อกล่าวหาบังคับเนรเทศเด็กๆ ชาวยูเครนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ ศาลอาญาระหว่างประเทศยังออกหมายจับ ‘มาเรีย ลโววา-เลโบวา’ คณะกรรมาธิการด้านสิทธิเด็กประจำทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย ในข้อหาเดียวกัน

รัฐบาลเคียฟกล่าวอ้างว่า เด็กยูเครนหลายหมื่นคนถูกนำตัวไปรัสเซียนับตั้งแต่เริ่มการสู้รบ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว โดยมีข้อมูลว่าเด็กจำนวนมากถูกส่งไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ และบ้านอุปถัมภ์ ภายใต้ความพยายามล้างสมองเด็กเหล่านั้นให้ฝักใฝ่สหพันธรัฐรัสเซีย

ก่อนหน้านี้ รัสเซียเคยออกหมายจับ ‘คาริม ข่าน’ อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศและผู้พิพากษาหลายคน

มอสโกตอบโต้ว่า ไอซีซีไม่มีอำนาจหรือความชอบธรรมในการออกหมายจับ เพราะว่ารัสเซียไม่ได้เป็นสมาชิกและไม่เคยให้การรับรองธรรมนูญกรุงโรมปี 1998 ที่จัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศแห่งนี้

ในเดือนกันยายน ศาลอาญาระหว่างประเทศเปิดทำการสำนักงานสนามแห่งหนึ่งในยูเครน ส่วนหนึ่งในพยายามหาทางลงโทษกองกำลังรัสเซีย ต่อปฏิบัติการรุกรานยูเครนที่ได้รับการหนุนหลังจากตะวันตก

‘เยอรมนี’ แจงปม ‘ยูเครน’ ปฏิเสธรับรถถังรุ่นเก่าล้าสมัยที่ส่งไปให้ เหตุเพราะขาดช่างซ่อมชำนาญ เนื่องจากประเทศไม่มีสงครามมานาน

(27 ก.ย. 66) สำนักข่าวอาร์ทีนิวส์/ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า อาวุธบางส่วนที่เบอร์ลินมอบให้แก่เคียฟ ส่วนหนึ่งในการมอบความช่วยเหลือยูเครนสู้รบกับรัสเซีย อยู่ในสภาพที่แย่ๆ หรือไม่ก็เก่าเก็บล้าสมัย จากการยอมรับของ ‘อันนาเลนา แบร์บ็อค’ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี

ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (25 ก.ย.) แบร์บ็อค ยอมรับว่าอาวุธที่ส่งมอบแก่ยูเครนนั้นมีประเด็นปัญหาทางเทคนิคสำคัญๆ และบอกด้วยว่าความพยายามจัดหาอาวุธป้อนแก่เคียฟนั้นยังประสบปัญหาล่าช้าต่างๆ อีกต่างหาก

แบร์บ็อค ยอมรับว่ายูเครนจะไม่ได้รับประโยชน์จากคำสัญญาจัดหาอาวุธ เนื่องจากยังคงดำเนินการไม่ลุล่วง หรือไม่ก็ยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ส่งมอบไปนั้นไม่สามารถใช้งานได้ “ระบบของเราบางส่วนเป็นรุ่นที่เก่ามากๆ และเราเคยบอกตั้งแต่ตอนแรกว่าบางส่วนใช้งานไม่ได้” เธอกล่าว พร้อมอธิบายว่าประเด็นปัญหาดังกล่าวมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า เยอรมนีไม่ได้สู้รบในสงครามหลักๆ หนึ่งใดมานานหลายทศวรรษแล้ว

“ครั้งที่เราส่งมอบบางอย่าง มันจำเป็นต้องใช้งานได้ในภาคสนาม” เธอเน้นย้ำ พร้อมระบุว่านี่คือเหตุผลว่าทำไมเยอรมนีถึงไม่มอบขีปนาวุธพิสัยไกล Taurus แก่ยูเครน อาวุธที่เธอให้คำจำกัดความว่าล้ำสมัยอย่างที่สุด “มันคืออาวุธใหม่ที่สุดที่เรามี ดังนั้น เราจำเป็นต้องชัดเจนทุกรายละเอียด วิธีการทำงานของมัน ใครที่สามารถใช้งานมันได้ ใช่ มันต้องใช้เวลาสักพัก แต่ครั้งที่เราส่งมอบมัน มันจำเป็นต้องทำงานอย่างได้ผล” เธอกล่าว พร้อมบอกว่าจะใช้การพิจารณาแบบเดียวกันกับอาวุธอื่นๆ ที่ผลิตโดยเยอรมนี

ยูเครนร้องขอขีปนาวุธ Taurus นานหลายเดือนแล้ว ในขณะที่มันมีพิสัยทำการ 500 กิโลเมตรและบรรทุกหัวรบหนัก 500 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม แม้สื่อมวลชนรายงานว่า เยอรมนีกำลังวางรอบการทำงานสำหรับการส่งมอบ แต่แบร์บ็อคแสดงความคิดเห็นอย่างระมัดระวังเมื่อช่วงกลางเดือน ว่า การส่งมอบคงจะยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะว่า “จำเป็นต้องทำงานในทุกรายละเอียดก่อนหน้านั้นเสียก่อน”

เยอรมนีลังเลที่จะจัดหาขีปนาวุธแก่ยูเครน เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ลุกลามบานปลาย หากว่าเคียฟใช้มันโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หนังสือพิมพ์ Der Spiege รายงานอ้างแหล่งข่าววงในระบุว่า ยูเครน ปฏิเสธที่จะรับรถถังรุ่นเก่าล้าสมัย เลพเพิร์ด 1 จำนวน 10 คัน เนื่องจากพวกมันอยู่ในสภาพขาดการบำรุงรักษา ในรายงานข่าวบอกด้วยว่า พวกเจ้าหน้าที่ยูเครนแจ้งกับฝ่ายเยอรมนี ว่ารถถังเหล่านั้น ซึ่งเดินทางถึงโปแลนด์แล้ว จำเป็นต้องผ่านการซ่อมบำรุงเสียก่อน แล้วถึงจะสามารถส่งเข้าประจำการในแนวหน้า ทว่าพวกเขาไม่มีทั้งบุคลากรซ่อมบำรุงและอะไหล่ที่จะทำเช่นนั้น

รัสเซียกล่าวเตือนตะวันตกซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อการจัดหาอาวุธป้อนแก่ยูเครน โดยชี้ว่ามันรังแต่จะทำให้ความขัดแย้งลากยาว โดยไม่เปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ในท้ายที่สุดใดๆ

‘ปูติน’ ประกาศฉลองครบรอบ 1 ปี ผนวก 4 ดินแดนของ ‘ยูเครน’ ยกเป็น ‘วันรวมชาติ’ อ้าง ปชช.ในแคว้นอยากเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 66 สำนักข่าวเอพี รายงานว่า นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้กล่าวเน้นย้ำว่า ประชาชนใน 4 ดินแดนของยูเครนที่ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเมื่อปีที่แล้ว ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย ในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่มีขึ้นก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายน

ในวิดีโอนาน 4 นาทีที่เผยแพร่เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีการที่รัสเซียได้ผนวกรวม 4 ดินแดนของยูเครน ได้แก่ โดเนตสค์ ลูฮานสค์ ซาปอริซเซีย และเคอร์ซอน เมื่อวันที่ 30 กันยายนปีที่แล้วหลังมีการทำประชามติ ประธานาธิบดีปูตินกล่าวยืนยันว่าการผนวกรวม 4 ดินแดนของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียนั้นตรงตามแนวปฏิบัติสากลทั้งหมด และอ้างว่าประชาชนใน 4 ดินแดนดังกล่าว ได้แสดงถึงความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอีกครั้งในการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ทางคณะกรรมการกลางการเลือกตั้งของรัสเซียระบุว่า พรรครัฐบาลของรัสเซียได้คะแนนเสียงมากที่สุด

“เช่นเดียวกับในการทำประชามติครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปีที่แล้ว ผู้คนได้แสดงออกและยืนยันอีกครั้งถึงความต้องการที่จะอยู่กับรัสเซียและสนับสนุนเพื่อนร่วมชาติของพวกเขา ที่พิสูจน์แล้วว่าคู่ควรที่จะได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน ผ่านการลงมือทำงานอย่างจริงจัง” ประธานาธิบดีปูติน กล่าว

อย่างไรก็ดี ชาติตะวันตกได้ประณามการทำประชามติผนวก 4 ดินแดนของยูเครนเมื่อปีที่แล้ว และการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้ว่า เป็นการเลือกตั้งอย่างปลอมๆ ซึ่งมีขึ้นขณะที่ทางการรัสเซียพยายามที่จะกระชับอำนาจในดินแดนดังกล่าว ที่รัสเซียผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งอย่างผิดกฎหมาย และถึงตอนนี้รัสเซียก็ยังไม่สามารถควบคุมพื้นที่ทั้งหมดของดินแดน 4 แห่งดังกล่าว

นอกจากนั้นแล้ว รัสเซียยังได้จัดคอนเสิร์ตที่จัตุรัสแดง ในกรุงมอสโก เมื่อวันที่ 29 กันยายน เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 1 ปีการผนวกดินแดน 4 แห่งเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย โดยมีประชาชนเข้าร่วมในคอนเสิร์ตดังกล่าวจำนวนมาก และถึงแม้ประธานาธิบดีปูตินจะไม่ได้เข้าร่วมในคอนเสิร์ตดังกล่าว แต่ก็ได้ประกาศให้วันที่ 30 กันยายนเป็น ‘วันรวมชาติ’

‘ยูเครน’ สร้างโรงเรียนใต้ดิน ดึงการศึกษาคืนเยาวชน กลายเป็นห้องเรียนในหลุมหลบภัยที่แรกของประเทศ

(3 ต.ค. 66) สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กินเวลายาวนานเกือบ 3 ปี ทำวิถีชีวิตของชาวยูเครนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด หนีไม่พ้นกลุ่มเด็กเล็กวัยเรียนของยูเครน ที่หลายโรงเรียนจำเป็นต้องหยุดการเรียน การสอน เพราะอยู่ในเขตสู้รบ ในขณะที่อีกหลายแห่งจำเป็นต้องเปิดการสอนผ่านทางออนไลน์เท่านั้น

จึงเป็นเรื่องน่าเศร้า ที่เด็กๆ ยูเครนต้องจำใจจากบรรยากาศห้องเรียน เสียงกระดาน และฝุ่นชอล์ก เพียงเพราะความขัดแย้งรุนแรงในโลกของผู้ใหญ่

วันนี้ รัฐบาลท้องถิ่นเมืองคาร์คีฟจึงตัดสินใจสร้างโรงเรียนใต้ดิน ที่เปิดการเรียน การสอนแบบชั้นเรียนเต็มรูปแบบ ที่มีห้องเรียนมากกว่า 60 ห้อง ที่สามารถรองรับนักเรียนได้ถึง 1,000 คน นับเป็นโรงเรียนใต้ดินแห่งแรกของยูเครนอย่างเป็นทางการ

โดยทางการเมืองคาร์คีฟได้ดัดแปลงพื้นที่ภายในสถานีรถไฟใต้ดิน มาปรับสร้างเป็นโรงเรียนที่นักเรียนสามารถเข้ามานั่งเรียนได้อย่างปลอดภัย แม้จะมีสัญญาณเตือนภัยการโจมตีทางอากาศบนภาคพื้นดินก็ตาม 

‘อิฮอร์ เทเลคอฟ’ นายกเทศมนตรีเมืองคาร์คีฟ ได้โพสต์ข้อความลงใน Telegram กล่าวว่า มั่นใจในความปลอดภัยของโรงเรียนใต้ดินแห่งแรกในคาร์คีฟมาก และโรงเรียนในหลุมหลบภัยแห่งนี้จะช่วยให้เด็กๆ นับพันคน มีโอกาสเรียนหนังสือในบรรยากาศที่มีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับเพื่อนร่วมชั้น และ ครู ได้อีกครั้งหนึ่ง

‘คาร์คีฟ’ เป็นเมืองทางภาคตะวันออกที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในยูเครน และตั้งอยู่ห่างจากพรมแดนรัสเซียเพียง 35 กิโลเมตรเท่านั้น เมืองนี้เคยมีประชากรถึง 1.4 ล้านคน ก่อนเกิดสงครามระหว่าง 2 ชาติ อีกทั้งยังเคยเป็นเป้าหมายสำคัญของกองกำลังรัสเซีย ถึงแม้วันนี้คาร์คีฟจะสงบลงมากแล้ว แต่ยังมีสัญญาณเตือนภัย และการโจมตีทางอากาศเกิดขึ้นไม่เว้นในแต่ละวัน

ส่วนระบบขนส่งทางรถไฟใต้ดินของเมืองนี้ เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 1975 นับเป็นเมืองที่ 2 ของยูเครนถัดจากกรุงเคียฟ ที่มีระบบรถไฟใต้ดินใช้ ปัจจุบันมีสายรถไฟ 3 สาย เปิดบริการ 30 สถานี โดยสถิติผู้ใช้งานรถไฟใต้ดินเมืองคาร์คีฟในปี 2018 มีมากถึง 223 ล้านคน

ต่อมาในปี 2022 ระหว่างที่เกิดการสู้รบระหว่างกองทัพยูเครน และรัสเซีย ในเมืองคาร์คีฟอย่างหนัก รถไฟใต้ดินถูกนำมาใช้เป็นหลุมหลบภัยของชาวเมืองนับแสนคน ทำให้ อิฮอร์ เทเลคอฟ นายกเทศมนตรี เกิดความคิดที่จะปรับเอาพื้นที่สถานีรถไฟใต้ดินบางส่วนมาเปิดสอนเด็กๆ ระหว่างหลบภัย

ก่อนจะพัฒนากลายเป็นชั้นเรียนทดลอง ที่นำหลักสูตรในโรงเรียนมาสอนอย่างจริงจังซึ่งนอกจากวิชาหลักที่ใช้สอนอย่าง คณิตศาสตร์ ภาษายูเครน ภาษาอังกฤษ และกิจกรรมสันทนาการเสริมแล้ว ยังเพิ่มทักษะการป้องกันตัวด้วยการเชิญตำรวจเข้ามาอธิบายวิธีการหาที่หลบอย่างปลอดภัย เมื่อได้ยินสัญญาณเตือนภัยการโจมตีทางอากาศอีกด้วย

‘โอฮา เดเมนโก’ ผู้อำนวยการสำนักงานด้านการศึกษาของเมืองคาร์คีฟ กล่าวว่า การที่เด็กเล็กๆ ขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนวัยเดียวกัน หรือกับบรรดาครูอาจารย์ที่โรงเรียนนานๆ อาจส่งผลต่อทักษะทางสังคมของเด็ก นอกจากนี้ เด็กๆ ยังมีภาวะเครียด จากผลกระทบของสงคราม จึงมีความจำเป็นที่ต้องดึงเด็กๆ กลับสู่ชั้นเรียนแบบปกติให้เร็วที่สุด

หลังจากที่ทดสอบห้องเรียนในหลุมหลบภัยมาแล้วหลายเดือน วันนี้ทางการเมืองคาร์คีฟจึงตัดสินใจเดินหน้า ขยายชั้นเรียนนำร่องโรงเรียนแห่งนี้ เป็นโรงเรียนใต้ดินเต็มรูปแบบแห่งแรกของประเทศ และจะนำหลักสูตรที่ทันสมัยที่สุดมาใช้ในโรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งนายกเทศมนตรีให้คำมั่นสัญญาว่า จะไม่ตัดงบประมาณด้านการพัฒนาโรงเรียนแม้แต่เหรียญเดียว อีกทั้งยังตั้งเป้าผลักดันให้คาร์คีฟเป็นเมืองอัจฉริยะที่สุดในยูเครนอีกด้วย

แม้เสียงสงคราม และ สนามรบยังไม่จบ แต่อนาคตของเด็กๆ ชาวยูเครนยังต้องดำเนินต่อไป ที่ไม่อาจรอจนถึงวันสิ้นสงครามได้ แต่การศึกษาของเด็กๆ ในวันนี้สำคัญเสมอ

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

‘ยูเครน’ เละ!! หลังเปิดฉากทำสงครามกับ ‘รัสเซีย’ โครงสร้างพื้นฐานเสียหายกว่า 1.51 แสนล้านดอลลาร์ฯ

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 66 สำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์-ยูเครน อ้างอิงผลการศึกษาล่าสุดจากสถาบันเคียฟ สคูล ออฟ อีโคนิมิกส์ (Kyiv School of Economics) เผยว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งกำลังดำเนินอยู่ได้สร้างความเสียหายทางตรงต่อโครงสร้างพื้นฐานของยูเครน คิดเป็นมูลค่า 1.51 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.59 ล้านล้านบาท) เมื่อนับถึงสิ้นเดือนกันยายน 2023

การศึกษาพบว่าภาคส่วนที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบมากที่สุดจากความขัดแย้งครั้งนี้ โดยมีบ้านส่วนบุคคล อาคารอะพาร์ตเมนต์ และหอพักประมาณ 167,200 หลังถูกทำลายหรือเสียหายจากสงคราม

นับตั้งแต่เริ่มมีการเผชิญหน้า สนามบินและสนามบินพลเรือน 18 แห่ง รวมถึงสะพานและสะพานลอย 344 แห่งในยูเครนได้รับความเสียหาย ขณะกลุ่มสถานประกอบการขนาดใหญ่และขนาดกลางอย่างน้อย 426 แห่งได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

‘อิสราเอล’ เดือด ประกาศภาวะสงคราม หลัง ‘ฮามาส’ ยิงจรวดกว่า 5,000 ลูกถล่ม

(7 ต.ค.66) กลุ่มฮามาส ซึ่งปกครองฉนวนกาซา ปฏิบัติการยิงจรวดถล่มอิสราเอลอย่างต่อเนื่องจำนวนกว่า 5,000 ลูก ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่น ส่งผลให้กองกำลังป้องกันอิสราเอล (ไอดีเอฟ) ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของกลุ่มฮามาสว่าเป็นการจุดชนวนนำไปสู่การทำสงครามกับอิสราเอล 

ทั้งนี้ การยิงจรวดโจมตีอิสราเอลครั้งนี้มาจากรอบทิศทาง ส่งผลให้เบื้องต้น มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นหญิงอายุอยู่ในช่วงวัย 60 ปี และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 15 คน

ขณะที่กลุ่มฮามาสปลุกระดมกลุ่มนักรบแห่งการต่อต้านในเขตเวสต์แบงก์ และพันธมิตรอาหรับให้ร่วมกันลุกฮือต่อต้านอิสราเอล โดยมีแนวโน้มว่า การสู้รบครั้งนี้อาจรุนแรงที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่อิสราเอลและกลุ่มฮามาสสู้รบกัน นับตั้งแต่อิสราเอลใช้มาตรการปิดล้อมฉนวนกาซา เมื่อปี 2550 

ชนวนเหตุของความขัดแย้งครั้งนี้ มาจากการที่อิสราเอลปิดจุดผ่านแดนในฉนวนกาซานาน 2 สัปดาห์ เมื่อเดือนก.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการจลาจลของชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่ และอิสราเอลยอมเปิดจุดผ่านแดนอีกครั้ง เมื่อวันที่ 28 ก.ย.

ผู้เห็นเหตุการณ์ เปิดเผยว่า มีเสียงไซเรนเตือนภัยจากการยิงจรวดดังนานหลายนาทีในภาคใต้และภาคกลางของอิสราเอลในช่วงเช้าของวันนี้ (7 ต.ค.) และประชาชนในฉนวนกาซาก็ได้ยินเสียงการยิงจรวด

ชาวบ้านในฉนวนกาซา เปิดเผยว่า พวกเขาได้ยินเสียงการปะทะกันด้วยอาวุธตามแนวรั้วกั้นระหว่างอิสราเอล ใกล้กับเมืองข่าน ยูนิสทางตอนใต้ และได้เห็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักรบติดอาวุธจำนวนมาก ขณะที่กองทัพอิสราเอลยังไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

หน่วยรถพยาบาลของอิสราเอลระบุว่า ทีมต่าง ๆ ได้ถูกส่งไปยังพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอล ใกล้กับฉนวนกาซา และประชาชนได้รับคำเตือนให้อยู่ภายในบ้าน แต่ยังไม่มีรายละเอียดในทันทีเกี่ยวกับการบาดเจ็บและเสียชีวิตที่อาจเกิดขึ้น

ด้านสำนักงานของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลกล่าวว่า เขาจะเข้าพบเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงระดับสูงในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้ 

‘พิพัฒน์’ กำชับทูตฯ ดูแลแรงงานไทยในอิสราเอลใกล้ชิด หลังเกิดภาวะสงคราม เผย คนไทยถูกยิงบาดเจ็บ 1 ราย-ถูกจับตัวไว้ 2 ราย เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 66 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีเกิดเหตุจรวดโจมตีจากฉนวนกาซาไปยังหลายพื้นที่ในอิสราเอลเมื่อช่วงเช้าตรู่วันนี้ว่า ตามที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ประกาศเตือนคนไทยในอิสราเอลให้อยู่ในที่ปลอดภัย เนื่องจากเกิดการโจมตีด้วยจรวดจากฉนวนกาซานั้น ทันทีที่ทราบข่าวผมมีความห่วงใยต่อแรงงานไทยที่ไปทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอลจากผลกระทบของเหตุการณ์ดังกล่าว จึงได้สั่งการให้อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอลเร่งตรวจสอบและดูแลแรงงานอย่างใกล้ชิดทันที

จากรายงานของนายกิตติ์ธนา ศรีสุริยะ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เบื้องต้นพบว่า มีแรงงานไทยถูกยิงที่ขาได้รับบาดเจ็บแล้ว 1 ราย ทราบชื่อคือ นายชาตรี ชาศรี อายุ 38 ปี เดินทางโดยกรมการจัดหางานจัดส่งไปทำงานเกษตรมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่จังหวัดนครพนม จากการตรวจสอบของกรมการจัดหางาน พบว่า เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศด้วย

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีแรงงานไทยอีก 2 ราย ซึ่งเป็นสามีภรรยาถูกจับตัวไว้ ทราบชื่อคือ นายบุญถม พันธ์ฆ้อง อายุ 39 ปี และ น.ส.ศศิวรรณ พันธ์ฆ้อง อายุ 36 ปี ทั้งคู่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี ส่วนรายละเอียดอื่นๆ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการดำเนินการที่ประเทศไทยผมได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดนครพนม และจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นภูมิลำเนาของแรงงานไทยที่บาดเจ็บ 1 ราย และแรงงานไทยที่ถูกจับตัวไว้ 2 ราย ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารสร้างขวัญกำลังใจพร้อมชี้แจงการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมายให้แก่ญาติทราบในทันที อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอลรวมทั้งสิ้นประมาณ 29,900 คน โดยเป็นแรงงานที่อยู่อาศัยบริเวณเมือง Netivot , Sderot, Ashkelo และพื้นที่ใกล้เคียง ประมาณ 5,000 คน

“ขอให้ญาติของแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศอิสราเอล อย่าเพิ่งตื่นตระหนก ขอให้มั่นใจว่า รัฐบาลไทยทั้งสถานทูตและกระทรวงแรงงานจะให้การคุ้มครอง ดูแล อย่างดีที่สุด และจะเร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอให้แรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในอิสราเอลที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ปฏิบัติตามมาตรการของทางการอิสราเอลอย่างเคร่งครัด และแจ้งข้อมูลมายังฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เพื่อจะได้วางแผนในการให้ความช่วยเหลือต่อไป” นายพิพัฒน์ กล่าวท้ายสุด

ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ออกประกาศเตือนคนไทยในอิสราเอล โดยขอให้คนไทยเข้าห้องหลบภัยทันทีที่ได้ยินเสียงไซเรน หากไม่ทัน ให้หมอบราบลงกับพื้น ไม่ถ่ายรูป ไม่วิ่งไปที่โล่ง ปฏิบัติตามมาตรการของทางการอิสราเอลอย่างเคร่งครัด และขอให้ทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยในเขตภาคใต้ใกล้เคียงฉนวนกาซา และภาคกลาง รวมถึงกรุงเทลอาวีฟ ไม่ออกจากที่พักอาศัย

สำหรับคนไทยที่ได้รับผลกระทบโปรดติดต่อได้ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ หมายเลขโทรศัพท์ (+972) 5 4636 8150 กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ หมายเลข 0 2575 1047-51 ฝ่ายแรงงานไทย ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ โทร : +972 544693476 What app ID : 0544693476 Line ID : 0544693476 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

‘เพจดัง’ ชี้!! สถานการณ์ ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ ซับซ้อนมายาวนาน แนะ ‘ไทย’ วางตัวเป็นกลาง-รับชมอยู่ห่างๆ ปล่อยทุกฝ่ายทำหน้าที่ตัวเอง

จากกรณีที่ประเทศอิสราเอล ได้ประกาศภาวะสงคราม หลังจากที่กลุ่มฮามาสในดินแดนปาเลสไตน์ ได้ยิงขีปนาวุธจากกาซาประมาณ 5,000 ลูก ถล่มเข้าไปในประเทศอิสราเอล ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันเสาร์ (7 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น หรือประมาณช่วงเที่ยงตามเวลาประเทศไทย ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ นับว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี จนทำให้นายกรัฐมนตรีอิสราเอลต้องประกาศภาวะสงคราม

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คนไทยในอิสราเอลได้รับผลกระทบอย่างยิ่ง ทำให้มีนักการเมืองบางท่าน ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โดยได้ติดต่อไปยังทางสถานฑูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย และกระทรวงแรงงานของไทย เพื่อมอบหมายให้ทำการช่วยเหลือคนไทยที่ตกค้างอยู่ในประเทศให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างปลอดภัย

ล่าสุด ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘สานต่อเจตนารมณ์ อาจารย์สมเกียรติ โอสถสภา’ ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า…

“เรื่องของอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ใครไม่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ศึกษามาจริง ไม่ต้องหาซีนไม่ต้องออกความเห็นนะครับ โดยเฉพาะนักการเมืองไทยสายโปรอเมริกัน

สรุปให้แบบสั้นๆ คือแถวนั้น ‘เขาไม่ปลื้มอเมริกัน’

เรื่องราวประวัติศาสตร์และการเมืองแถวนั้นซับซ้อน ย้อนกลับไปยาวนาน และในปัจจุบันแต่ละฝ่ายล้วนแต่มีแบ็กใหญ่ๆ ทั้งนั้น

ของปาเลสไตน์ระดับกาตาร์ ตุรกี อิหร่าน หนุนหลังนะครับ ไม่ใช่ธรรมดานะ ยิงจรวดปูพรมทีละ 5,000 ลูก นี่เล่นแบบรัสเซียเลยนะครับ จะมีสต๊อกโดรนพิฆาตมาเล่นซ่อนแอบแบบในยูเครนกันอีกรึเปล่าก็ไม่รู้

ผลประโยชน์ของประเทศไทยก็คือ ‘วางตัวเป็นกลาง’ และช่วยเหลือคนไทยในพื้นที่ให้ปลอดภัย แค่นั้นเองนะ

เรื่องช่วยเหลือคนไทยกระทรวงแรงงานกับต่างประเทศทำอยู่แล้ว ฐานข้อมูลแรงงาน ฐานข้อมูลคนไทยในประเทศที่เกี่ยวข้องเขามีอยู่แล้ว

นอกจากนั้นแล้ว เรามีหน้าที่รับชมเท่านั้นครับ”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top