Friday, 3 May 2024
สงคราม

‘สวิตเซอร์แลนด์’ ประเทศที่มีความเป็นกลางที่สุดในโลก เหตุใดยังจำเป็นต้องมี ‘ทหาร’ แม้อยู่ในภาวะไร้สงคราม

เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีผู้ใช้ติ๊กต็อกรายหนึ่ง ชื่อ ‘khaekhaitravel’ โพสต์คลิปบอกเล่าสาระความรู้ เกี่ยวกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถึงเรื่องของ ‘ทหาร’ ในประเทศที่มีความเป็นกลางมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยระบุว่า…

“รู้หรือไม่? ผู้ชายชาวสวิตเซอร์แลนด์ทุกคน จำเป็น ‘ต้องเป็นทหาร’ และทหารทุกคนจะมีปืนไรเฟิลไว้ที่บ้าน เพราะที่สวิตเซอร์แลนด์นั้นไม่ได้มีทหารเยอะเหมือนประเทศไทยบ้านเรา ด้วยความที่สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศขนาดเล็กและมีจำนวนประชากรเพียง 8.8 ล้านคน เพราะฉะนั้น ที่สวิตเซอร์แลนด์ส่วนมากจะมีแต่ทหารอาสา ซึ่งก็คือผู้ชายสวิตเซอร์แลนด์ที่ถูกฝึกทหารกันไว้แล้ว หากเกิดสงครามขึ้น คนสวิตฯ ก็พร้อมรบ เพราะมีอาวุธพร้อม และทหารที่พร้อมตลอดเวลา ส่วนใครที่ไม่ได้เป็นทหาร เช่น ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ มีความพิการ หรือเป็นนักกีฬาของประเทศ จะต้องจ่ายภาษี 3% ของรายได้ ซึ่งมีระยะเวลาที่ต้องจ่ายประมาณ 10-12 ปีเลยทีเดียว และหากเป็นผู้ที่ไม่มีรายได้ก็จะจ่ายภาษีส่วนนี้น้อยลง”

ผู้ใช้ติ๊กต็อกยังกล่าวอีกว่า การเป็นทหารที่สวิตเซอร์แลนด์ค่อนข้างมีความยืดหยุ่น เพราะผู้ชายที่สวิตฯ ต้องเป็นทหารกันประมาณ 300 วัน ซึ่งสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นทหารไปเลยเป็นระยะเวลา 1 ปี หรือจะเลือกเป็นทหาร 10 ปีก็ได้ เพราะบางคนก็ไม่สะดวกที่จะหยุดทุกอย่างเพื่อไปเป็นทหาร ที่สวิตเซอร์แลนด์จึงสามารถเลือกเป็นทหารกันประมาณ 10 ปี โดยแต่ละปีผู้ชายชาวสวิตฯ จะต้องมาฝึกทหารเป็นเวลา 2-3 อาทิตย์ เพื่อสะสมชั่วโมงหรือสะสมวันให้ครบนั่นเอง

“จริงๆ เคยมีคำถามจากประชาชนเยอะมาก ว่าเหตุใดประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเป็นกลาง แต่ทำไมถึงต้องใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับทหาร ซึ่งประชาชนบางส่วนก็ไม่เห็นด้วย แต่สวิตเซอร์แลนด์ก็มองว่า ถึงแม้ประเทศเขาจะมีความเป็นกลาง แต่ก็ต้องมีความมั่นคงไปด้วย เช่น เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้ให้ประชาชนร่วมกันโหวต ว่าจะซื้อเครื่องบินรบดีหรือไม่ ปรากฎว่า เสียงข้างมาก หรือคิดเป็นประมาณ 50.1% มีมติเห็นด้วยที่จะอนุมัติการซื้อเรื่องบินรบ” ผู้ใช้ติ๊กต็อก กล่าว

‘ทหารสหรัฐฯ’ ยอมรับ ‘ยูเครน’ เผชิญความยากลำบากในการสู้รบ ชี้!! สงครามทวงคืนดินแดนครั้งนี้ไม่คุ้มกับราคาที่ต้องจ่าย

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 66 หลังจากเล่นบทป๋าทุ่มทั้งเงินและอาวุธเพียบช่วยยูเครน วันนี้อเมริกาหน้าจ๋อย บรรดาเจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯ ยอมรับว่ายูเครนกำลังเผชิญการสู้รบที่ยากลำบาก ปฏิบัติการทวงคืนดินแดนกลับครั้งนี้ ดูเหมือนว่าจะต้องชดใช้ราคาแพง

คำประเมินของสหรัฐฯ ต่อปฏิบัติการตีโต้กลับของเคียฟ มีขึ้นในขณะที่พวกนักรบเชเชน บอกว่า พวกเขาได้เข้าประจำการในแคว้นเบลโกร็อดของรัสเซีย ที่มีชายแดนติดกับยูเครน เพื่อป้องกันการโจมตีของกลุ่มหัวรุนแรงรัสเซียที่ฝักใฝ่ยูเครน

‘ลอยด์ ออสติน’ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ บอกกับที่ประชุมว่า เคียฟจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และยูเครนต้องการอาวุธมากกว่าเดิม ยูเครนยังเหลือพลานุภาพการโจมตีอีกมากสำหรับปฏิบัติการโจมตีตอบโต้กลับ แม้ประสบความสูญเสียในเบื้องต้นจากฝีมือของรัสเซีย

มอสโกเผยแพร่วิดีโอเป็นภาพรถถังเลพเพิร์ดของเยอรมนี และยานต่อสู้แบรนด์ลีย์ ที่บริจาคโดยสหรัฐฯ หลายคัน อ้างว่าสามารถยึดมาได้ ทั้งที่ปฏิบัติการตีโต้ทวงคืนดินแดนจากรัสเซียของยูเครนเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น พ.อ.โอเล็กซี ฮโรมอฟ แห่งกองทัพยูเครนว่าจนถึงตอนนี้ยูเครนสามารถทวงคืนถิ่นพักอาศัยทางภาคใต้มาได้ 7 แห่ง และรุกคืบยึดดินแดนคืนมาได้ 100 ตารางกิโลเมตร

บททดสอบสำคัญของปฏิบัติการโจมตีตอบโต้กลับของยูเครนยังคงรออยู่เบื้องหน้า ในขณะที่ทหารเคียฟยังบุกไปไม่ถึงป้อมปราการป้องกันตนเองที่หนาแน่นที่สุดของรัสเซีย เคียฟเชื่อว่าจำเป็นต้องตระเตรียมกองกำลังโจมตีราว 12 กองพัน แต่ละกองพันมีทหารหลายพันนาย และใช้ยานยนต์หุ้มกราะของตะวันตกที่เพิ่งมาถึงล่าสุด

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ยืนยันเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ ว่า กองกำลังยูเครนประสบความสูญเสียมากกว่ารัสเซียถึง 10 เท่า และบอกว่าปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ของยูเครนล้มเหลว

โชว์แสนยานุภาพ!! ‘ผู้นำคิม’ เปิดคลังแสง อวดโฉมอาวุธ ‘รมว.กห.รัสเซีย’ ยัน!! โสมแดงพร้อมหนุนมอสโก ร่วมต่อสู้เพื่อความยุติธรรม

(27 ก.ค. 66) สำนักข่าวกลางเกาหลีเหนือ (เคซีเอ็นเอ) รายงานว่า นายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ พานายเซอร์เกย์ ซอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ที่อยู่ระหว่างเดินทางเยือนเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการ ชมการแสดงแสนยานุภาพทางการทหารของเกาหลีเหนือ

ซอยกูเยือนเกาหลีเหนือเพื่อร่วมงานฉลองครบรอบ 70 ปีของการสิ้นสุดสงครามเกาหลี ที่เกาหลีเหนือเฉลิมฉลองในชื่อ “วันแห่งชัยชนะ” การเยือนของซอยกูถือเป็นการเยือนเกาหลีเหนือครั้งแรกโดยรัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย นับตั้งแต่การล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต

ผู้นำคิมนำซอยกูเยี่ยมชมนิทรรศการอาวุธและยุทโธปกรณ์ทางทหารชนิดใหม่ ที่มีการจัดแสดงขีปนาวุธหลายชนิด รวมถึงเครื่องยิงแบบหลายเพลา ทั้งยังมีภาพที่นักวิเคราะห์ระบุว่าดูเหมือนจะเป็นโดรนชนิดใหม่อีกด้วย ทั้งยังบอกด้วยว่า การชมขีปนาวุธของเกาหลีเหนือของซอยกูเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า รัสเซียยอมรับโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

เคซีเอ็นเอรายงานว่า ซอยกูได้มอบจดหมายจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ให้กับผู้นำคิม ขณะที่คิมได้ขอบคุณปูตินที่ส่งคณะผู้แทนทหารมาเยือนเกาหลีเหนือ ซึ่งถือเป็นการเปิดบ้านต้อนรับคณะผู้แทนต่างประเทศครั้งแรก นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

“ผู้นำคิมได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นข้อห่วงกังวลร่วมกัน ในการต่อสู้เพื่อปกป้องอธิปไตย การพัฒนา และผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ จากการปฎิบัติโดยพลการตามอำเภอใจของพวกจักรวรรดินิยม เพื่อการบรรลุซึ่งความยุติธรรมและสันติภาพระหว่างประเทศ” เคซีเอ็นเอระบุ

เคซีเอ็นเอยังรายงานด้วยว่า ผู้นำคิมได้แสดงความเชื่อของเขาซ้ำว่า กองทัพและประชาชนรัสเซียจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ในการต่อสู้เพื่อสร้างประเทศที่ทรงพลัง

ขณะเดียวกันมีรายงานว่า นายคัง ซุน นัม รัฐมนตรีกลาโหมเกาหลีเหนือ กล่าวว่า เกาหลีเหนือสนับสนุนการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของรัสเซียอย่างเต็มที่ เพื่อปกป้องอธิปไตยของตน

‘รัสเซีย’ ยิงขีปนาวุธถล่มเมืองทางตะวันออกของ ‘ยูเครน’ อาคาร-บ้านเรือนพังยับ พบผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 5 ราย

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 66 สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า รัสเซียยิงขีปนาวุธถล่มอาคาร 2 แห่ง ในเมืองดนีโปรซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของยูเครน ส่งผลให้อาคารดังกล่าวเสียหายอย่างหนัก และมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 5 คน

นักข่าวภาคสนามของบีบีซียืนยันว่า ชั้นบนสุดของอาคารพักอาศัยขนาดใหญ่ถูกทำลายเกือบจนย่อยยับจากการโจมตีของรัสเซียเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 28 กรกฎาคม

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวด้วยว่า อาคารแห่งหนึ่งของหน่วยงานด้านความมั่นคง (SBU) ของยูเครนก็ถูกโจมตีเช่นกัน ซึ่งเขาได้กล่าวโทษรัสเซียที่ยิงขีปนาวุธจนทำให้อาคารทั้ง 2 เสียหาย

นอกจากนี้ เซเลนสกีกล่าวว่า ตนได้มีการประชุมฉุกเฉินกับ SBU กระทรวงกิจการภายใน หน่วยบริการฉุกเฉิน และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

‘เซอร์ฮีย์ ไลซัก’ (Serhiy Lysak) ผู้ว่าการภูมิภาคดนีโปรแปตร็อวสก์ กล่าวว่า มีเด็กสองคนอายุ 14 ปี และ 17 ปี อยู่ในกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งกำลังได้รับการรักษาที่บ้าน และว่า ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการยิงขีปนาวุธของรัสเซียครั้งนี้ ที่เกิดขึ้นเมื่อเวลา 20.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น

‘บอริส ฟิลาทอฟ’ (Boris Filatov) นายกเทศมนตรีเมืองดนีโปร กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งล่าสุดถือเป็นการโจมตีครั้งที่สามที่อาคารของหน่วยงาน SBU ตกเป็นเป้าหมายของรัสเซีย ส่วนอาคารที่อยู่อาศัยที่ถูกขีปนาวุธทำลายนั้นเพิ่งสร้างเสร็จและกำลังปล่อยขายห้องว่าง อย่างไรก็ดี ขณะเกิดเหตุไม่ค่อยมีผู้คนอยู่ด้านในอาคารทั้ง 2 แห่ง

ทั้งนี้ การโจมตีในเมืองดนีโปรมีขึ้นหลังจากที่รัสเซียกล่าวเมื่อวันศุกร์ (28 ก.ค.) ว่าได้ยิงสกัดกั้นขีปนาวุธยูเครนจำนวน 2 ลูก เหนือภูมิภาครอสตอฟทางตอนใต้ซึ่งมีพรมแดนติดกับยูเครน มอสโกกล่าวว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 15 คน จากซากปรักหักพังที่ร่วงลงมาในเมืองท่าทางทาแกนร็อก (Taganrog)

กระทรวงกลาโหมรัสเซียกล่าวว่า ขีปนาวุธเอส-200 (S-200) ลูกแรกมีเป้าหมายโจมตีโครงสร้างพื้นฐานทางที่อยู่อาศัยในเมืองทาแกนร็อก ที่มีประชากรประมาณ 250,000 คน หลังจากนั้นไม่นาน มอสโกกล่าวว่า ได้ยิงขีปนาวุธ S-200 ลูกที่สองตกใกล้กับเมืองอซอฟ (Azov) โดยมีเศษชิ้นส่วนตกลงในพื้นที่ที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย

‘ปูติน’ เผย รัสเซียไม่ปฏิเสธแนวคิดเจรจาสันติภาพยูเครน แม้ถูกถล่มสะพานไครเมีย ลั่น!! พร้อมโต้ตอบทุกเมื่อ

(30 ก.ค. 66) ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กล่าวว่า เขาไม่ปฏิเสธแนวคิดเกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพกับยูเครน ทั้งนี้ ผู้นำรัสเซียพูดถึงเรื่องดังกล่าวระหว่างแถลงข่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดรัสเซีย-แอฟริกา ผ่านระบบออนไลน์กับผู้นำแอฟริกาในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

ปูตินระบุว่า ความคิดริเริ่มของแอฟริกาและจีนสามารถใช้เป็นพื้นฐานในการแสวงหาสันติภาพ และยังบอกว่า เป็นการยากที่จะทำการหยุดยิง เมื่อกองทัพยูเครนกำลังอยู่ในการตอบโต้กลับ

ปูตินกล่าวอีกว่า ขณะนี้รัสเซียยังไม่มีแผนที่จะกระชับปฏิบัติการในแนวรบยูเครน ทั้งยังปกป้องการจับกุมกลุ่มผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยอ้างว่ามีบางคนที่ทำร้ายรัสเซียจากภายในประเทศ

ผู้นำรัสเซียกล่าวด้วยว่า มอสโกได้ทำการป้องกันการโจมตีหลังเกิดเหตุระเบิดสะพานไครเมียเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งปูตินสาบานว่าจะทำการตอบโต้การกระทำของผู้ก่อการร้ายโดยยูเครน แม้ว่าเคียฟจะไม่ออกมารับว่าเป็นผู้ลงมือก่อเหตุดังกล่าวอย่างเป็นทางการก็ตาม

ก่อนหน้านี้ ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างระบุว่า พวกเขาจะไม่เข้าร่วมโต๊ะเจรจาหากไม่มีการตั้งเงื่อนไขล่วงหน้าบางอย่าง โดยยูเครนต้องการให้พรมแดนของประเทศกลับมาอยู่ในสถานะเดิมในปี 1991 ซึ่งเป็นสิ่งที่รัสเซียไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง อีกทั้งยังโต้แย้งว่า หากจะให้เกิดการเจรจาขึ้น ยูเครนต้องยอมรับความเป็นจริงเกี่ยวกับเขตแดนใหม่ของตนเสียก่อน

‘ยูเครน’ ส่งโดรนโจมตี ‘ฐานทัพเรือรัสเซีย’ เบื้องต้นเรือรบ 1 ลำ เสียหายหนัก

(4 ส.ค. 66) ยูเครนส่งโดรนทางทะเล 2 ลำเข้าไปโจมตีฐานทัพเรือที่เมืองโนโวรอสซิสก์ (Novorossiysk) ริมทะเลดำ ประเทศรัสเซีย เมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ขณะที่แหล่งข่าวเผยว่าปฏิบัติการดังกล่าวส่งผลให้เรือรบรัสเซีย 1 ลำเสียหายอย่างหนัก

เหตุโจมตีครั้งนี้ ยังส่งผลให้ท่าเรือพลเรือน ซึ่งใช้ในการส่งออกธัญพืชรัสเซีย และขนส่งน้ำมันราว 2% ของโลก ต้องหยุดการขนถ่ายสินค้าชั่วคราว ก่อนจะกลับมาเปิดทำการได้ตามปกติ ตามข้อมูลจากบริษัท Caspian Pipeline Consortium ซึ่งเป็นผู้บริหารท่าเรือน้ำมันในเมืองนี้

กระทรวงกลาโหมรัสเซียแถลงสั้นๆ วันนี้ (4 ส.ค.) ว่า กองทัพสามารถสกัดการจู่โจมของโดรนยูเครนในน่านน้ำนอกฐานทัพเรือ และโดรนทางทะเลทั้ง 2 ลำถูกยิงทำลาย ทว่าไม่ได้ให้รายละเอียดความเสียหายในฝั่งของรัสเซียเอง

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวกรองในยูเครนให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า ‘เรือ Olenegorsky Gornyak’ ซึ่งเป็นเรือยกพลขึ้นบกของกองทัพรัสเซียถูกโดรนโจมตีจนเสียหายหนัก และไม่สามารถออกปฏิบัติภารกิจได้ 

แหล่งข่าวผู้นี้เผยด้วยว่า ปฏิบัติการโดรนกามิกาเซ่ครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือยูเครน และหน่วยข่าวกรอง SBU

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวซึ่งทราบข้อมูลเกี่ยวกับปฏิบัติการของท่าเรือแห่งนี้ยืนยันว่า เรือรบรัสเซียขนาดใหญ่ 1 ลำต้องถูกลากจูงเข้าฝั่ง เพราะไม่สามารถใช้พลังงานขับเคลื่อนตัวเองหลังจากที่ได้รับความเสียหาย

จากคลิปวิดีโอซึ่งเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียจะเห็นได้ว่า เรือรบรัสเซียได้รับความเสียหายอย่างหนักบริเวณลำตัวเรือด้านซ้าย แม้ อันเดร คราฟเชนโก เจ้าหน้าที่ประจำเมืองโนโวรอสซิสก์ จะยืนยันผ่านเทเลแกรมว่า เรือ Olenegorsky Gornyak เป็นหนึ่งในเรือรบ 2 ลำ ซึ่งถูกส่งออกไป ‘ตอบสนองอย่างทันทีทันใด’ เพื่อสกัดกั้นการโจมตีของโดรนยูเครนก็ตาม

‘SBU’ จับกุมหญิงยูเครน ฐานเป็นสปายส่งข้อมูลให้รัสเซีย พร้อมวางแผนลอบสังหาร ‘เซเลนสกี’ จ่อโดนโทษจำคุก 12 ปี

(8 ส.ค. 66) สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ‘หน่วยงานความมั่นคงยูเครน’ (SBU) กล่าวว่า ได้ทำการจับกุมตัวหญิงชาวยูเครนคนหนึ่ง โดยกล่าวหาว่าเธอเป็นหน่วยสอดแนมรัสเซียและมีส่วนร่วมในการวางแผนลอบสังหารประธานาธิบดี ‘โวโลดีมีร์ เซเลนสกี’ ของยูเครน ขณะลงเดินทางไปยังพื้นที่ประสบภัยในช่วงที่ผ่านมา

SBU ระบุผ่านแถลงการณ์ว่า ผู้หญิงคนนี้ถูกจับได้คาหนังคาเขา ขณะที่เธอพยายามส่งข่าวกรองไปยังรัสเซีย โดยหน่วยงานกล่าวว่า เธอได้พยายามรวบรวมข้อมูลข่าวกรองเกี่ยวกับการเดินทางของเซเลนสกี ก่อนที่เขาจะไปเยือนมิโคลายิฟ ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งประสบอุทกภัยในเดือนมิถุนายน

SBU ยังเผยแพร่ภาพเบลอของผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมในห้องครัว โดยเจ้าหน้าที่ SBU ที่สวมหน้ากาก โดยผู้ต้องหารายนี้อาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆ ชื่อ ‘โอชาคิฟ’ (Ochakiv) ซึ่งเซเลนสกีเคยเดินทางไปเมื่อเดือนกรกฎาคม ซึ่งเธอทำงานอยู่ในร้านค้าที่ฐานทัพทหารในเมืองดังกล่าว

ด้านเซเลนสกียืนยันว่า เขาได้รับแจ้งเกี่ยวกับการจับกุมครั้งนี้ โดยกล่าวว่าหัวหน้า SBU ได้แจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับการต่อสู้กับกลุ่มกบฏ

ก่อนหน้านี้ในช่วงที่ผ่านมา เซเลนสกีเดินทางไปยังเมืองมิโคลายิฟในเดือนมิถุนายน เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายที่เกิดจากเหตุเขื่อนแตกในคอฟคา และในเดือนกรกฎาคมหลังจากที่รัสเซียถล่มโจมตีเมืองดังกล่าว

SBU กล่าวว่า หน่วยงานรับรู้แผนการลอบสังหารล่วงหน้า ก่อนที่เซเลนสกีจะเดินทางไปยังมิโคลายิฟ จึงได้วางมาตรการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม และกล่าวหาว่ารัสเซียวางแผนโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ในภูมิภาคมิโคลายิฟ ขณะที่ผู้ต้องหาพยายามที่จะส่งข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้งของระบบไฟฟ้าและคลังกระสุนของยูเครน ซึ่งอาจตกเป็นเป้าหมายของกองทัพรัสเซีย

อย่างไรก็ดี เป็นที่เข้าใจกันว่า SBU ไม่ได้จับกุมผู้ต้องหาในช่วงเวลาที่เซเลนสกีเยือนมิโคลายิฟ และใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม เพื่อป้องกันการโจมตีประธานาธิบดียูเครนแทน ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ติดตามเธอต่อหลังจากนั้น และพบแผนการต่างๆ ของผู้ต้องหาเพิ่มเติม รวมถึงการมอบหมายที่ได้รับจากรัสเซีย

ด้วยเหตุนี้ จึงคาดว่าเธอจะถูกตั้งข้อหาเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายอาวุธและกองทหารยูเครนโดยไม่ได้รับอนุญาต และหากมีการตัดสินว่ามีความผิดจริง เธออาจรับโทษจำคุกสูงสุด 12 ปี

ทั้งนี้ ยูเครนมักกล่าวโทษประชาชนในท้องถิ่นที่สนับสนุนรัสเซียว่าเป็น ‘ไส้ศึก’ ส่งข้อมูลไปช่วยเหลือกองทัพมอสโก

เปิด 5 ความเป็นไปได้...ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น!! ชนวนชัด!! 'สหรัฐฯ' รบ 'รัสเซีย' ปีหน้า?

ในยุคนี้ ใครๆ ก็ว่ากันว่าเป็นการสู้รบบนสมรภูมิเศรษฐกิจที่ต้องใช้มันสมองเป็นอาวุธ การจะปาระเบิด ยิงถล่มใส่กันก็คงไม่มีแล้ว แต่ทว่า สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนก็เป็นคำตอบได้อย่างดีกว่า…สงคราม ยังสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อเกิดความขัดแย้งที่ไม่อาจหาทางออกได้

วันนี้ THE STATES TIMES จะพาไปดู 5 ความเป็นไปได้...ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น!! ชนวนชี้ชัด ‘สหรัฐฯ’ สู้รบ ‘รัสเซีย’ ในปีหน้า…

'อังกฤษ' เปิดฉาก!! กล่าวหารัสเซียยิงขีปนาวุธเป็นชุด  โจมตีเรือสินค้าในทะเลดำ พังธัญพืชหล่อเลี้ยงชีวิตชาวยูเครน

(12 ก.ย. 66) กองทัพรัสเซียเล็งเป้าหมายโจมตีเรือสินค้าพลเรือนลำหนึ่งในทะเลดำ ด้วย ‘ขีปนาวุธหลายลูก’ เมื่อเดือนที่แล้ว แต่กองกำลังยูเครนประสบความสำเร็จในการยิงสกัด จากคำกล่าวหาเมื่อวันจันทร์ (11 ก.ย.) ของสหราชอาณาจักรที่อ้างข้อมูลข่าวกรอง

จากคำกล่าวอ้างของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ระบุว่าเรือลำหนึ่งในกองเรือทะเลดำของรัสเซีย ยิงขีปนาวุธหลายลูก ในนั้นรวมถึงขีปนาวุธร่อนคาลิเบอร์ มุ่งหน้าสู่โอเดสซา เมืองท่าทางใต้ของยูเครน เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม

กระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของสหราชอาณาจักร (Foreign, Commonwealth & Development Office - FCDO) ระบุว่าข้อมูลข่าวกรองชั้นไม่เป็นความลับ เผยว่าเป้าหมายโดยเจตนาของการโจมตีดังกล่าวคือเรือสินค้าประดับธงลิเบียลำหนึ่ง ซึ่งเทียบท่าอยู่ที่นั่น

นอกจากนี้แล้วกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของสหราชอาณาจักร ยังบอกอีกว่าระบบป้องกันภัยทางอากาศของยูเครนสามารถทลายการโจมตีที่มุ่งเป้าเล่นงานเรือพลเรือน โดยที่ไม่มีขีปนาวุธคาลิเบอร์ใดๆ ที่พุ่งโดนเป้าหมาย "แม้ประสบความล้มเหลว แต่มันพิสูจน์อย่างชัดเจนว่า รัสเซียยังคงพยายามบีบรัดเศรษฐกิจของยูเครน" FCDO กล่าวในถ้อยแถลง

ในถ้อยแถลงยังกล่าวหาด้วยว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ไม่แยแสต่อชีวิตพลเรือน และพยายามใช้อาหารและการค้าอันบริสุทธิ์เป็นอาวุธ ที่ทั่วทั้งโลกต้องเป็นฝ่ายชดใช้

ทะเลดำ กลายเป็นสมรภูมิที่มีการต่อสู้กันอย่างดุเดือดมากขึ้น หลังจากรัสเซียถอนตัวจากข้อตกลงส่งออกธัญพืชที่มีสหประชาชาติและตุรกีเป็นคนกลางเมื่อเดือนกรกฏาคม ในขณะที่ข้อตกลงดังกล่าวมีเป้าหมายรับประกันความปลอดภัยในการล่องเรือของเรือสินค้า

นับตั้งแต่นั้น มอสโกโจมตีโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือของยูเครนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในสิ่งที่เคียฟกล่าวหาว่าเป็นความพยายามก่อความเสียหายแก่การส่งออกของพวกเขา และบ่อนทำลายความมั่นคงทางอาหารโลก

ในการพาดพิงคำกล่าวหาเกี่ยวกับเหตุโจมตีเรือพลเรือนเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ใช้โอกาสแถลงต่อรัฐสภา เกี่ยวกับการประชุมซัมมิตจี 20 เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่ามันแสดงให้เห็นว่า ปูติน กำลังจนตรอกอย่างหนัก

เขาบอกด้วยว่าการโจมตีของรัสเซียที่เล่นงานสถานที่ต่างๆ ของยูเครน ได้ทำลายธัญพืชไปมากกว่า 270,000 ตัน ซึ่งมันเพียงพอสำหรับเลี้ยงดูประชาชน 1 ล้านคนเป็นเวลา 1 ปีเลยทีเดียว "ยูเครนมีสิทธ์ส่งออกสินค้าของพวกเขาผ่านน่านน้ำสากล และพวกเขามีสิทธิทางศีลธรรมที่จะส่งออกธัญพืชไปช่วยหล่อเลี้ยงคนทั้งโลก" ซูแน็ก กล่าว

‘ยูเอ็น’ ชี้!! สงครามซูดาน ทำการแพทย์วิกฤต ขาดแคลนยา-จนท. หลังยอดเด็กเสียชีวิตจากโรคหัด-ขาดสารอาหาร ทะลุ 1,200 ราย

(20 ก.ย. 66) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ดร.อัลเลน ไมนา ผู้อำนวยการด้านสาธารณสุขของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้กล่าวในการประชุมขององค์การสหประชาชาติที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ว่า มีเด็กมากกว่า 1,200 คนที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบได้เสียชีวิตลงจากโรคหัดและภาวะทุพโภชนาการในค่ายลี้ภัยที่ประเทศซูดาน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมแสดงความกังวลว่าตัวเลขดังกล่าวอาจเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้

การสู้รบระหว่างกองทัพซูดานและกองกำลัง Rapid Support Forces (อาร์เอสเอฟ) ซึ่งเป็นกองกำลังกึ่งทหารที่ขณะนี้กินเวลาไปแล้วเกือบ 6 เดือน นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน ได้ทำให้ภาคสาธารณสุขในประเทศซูดานล่มสลายลง จากการโจมตีกันโดยตรงของทั้งสองฝ่าย รวมถึงเกิดปัญหาขาดแคลนเจ้าหน้าที่และยารักษาโรค

ด้านองค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) กังวลว่าทารกแรกเกิดจำนวนหลายพันคนจากทารกทั้งหมด 333,000 คนที่มีกำหนดจะคลอดลืมตาดูโลกก่อนสิ้นปีนี้จะเสียชีวิตลง

นายเจมส์ เอลเดอร์ โฆษกของ UNICEF กล่าวให้เหตุผลในที่ประชุมว่า “ทารกแรกเกิดและแม่ต้องการการดูแลที่มีทักษะในการคลอดบุตร อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่ประชากรหลายล้านคนต้องติดอยู่ท่ามกลางสมรภูมิรบหรือต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น รวมถึงมีการขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์อย่างหนัก การดูแลดังกล่าวนับวันจะยิ่งลดน้อยลง”

นายเอลเดอร์ยังกล่าวด้วยว่า ทุกๆ เดือนเด็กจำนวนราว 55,000 คนในประเทศซูดาน ต้องเข้ารับการรักษาจากภาวะทุพโภชนาการขั้นร้ายแรงที่สุด แต่กลับมีศูนย์โภชนาการที่ยังคงเปิดให้บริการในกรุงคาร์ทูมอยู่เพียงไม่ถึง 1 ใน 50 แห่ง ขณะที่เหลือศูนย์โภชนาการที่ยังคงเปิดให้บริการในภูมิภาคดาร์ฟูร์ตะวันตกเหลืออยู่เพียง 1 ใน 10 แห่ง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top