Friday, 3 May 2024
สงคราม

ทัวร์ลง ‘อธิการบดี ม.ฮาร์วาร์ด’ ประเด็น ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ ด้านบอร์ดบริหารลาออก เหตุรับไม่ได้ต่อความนิ่งเฉยของสถาบัน

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 66 อธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ‘คลอดีน เกย์’ ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของสถาบันอันเก่าแก่นี้เมื่อเดือนกรกฎาคม กำลังเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากการที่ฮาร์วาร์ดมีปฏิกิริยาออกมา หลังจากการโจมตีอิสราเอลโดยกลุ่มฮามาส

เศรษฐีพันล้านชาวอิสราเอล ‘ไอดาน โอเฟอร์’ และภรรยา ‘บาเทีย โอเฟอร์’ ลาออกจากตำแหน่งบอร์ดบริหารของคณะบดีแห่ง Harvard Kennedy School

ทั้งคู่กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว ก็เพราะการไร้ความชัดเจนของผู้บริหารมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนชาวอิสราเอล

“ความศรัทธาของเราต่อคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้เเตกสลายลงเเล้ว” คู่สามีภรรยาโอเฟอร์กล่าวในแถลงการณ์

ขณะเดียวกันอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเเห่งนี้ ‘ลาร์รี ซัมเมอร์ส’ กล่าวว่าเขารู้สึก ‘สะอิดสะเอียน’ กับการที่ฮาร์วาร์ดนิ่งเงียบในตอนเเรกหลังจากที่กลุ่มนักศึกษากว่า 30 กลุ่ม ออกเเถลงการณ์กล่าวโทษอิสราเอลเพียงฝ่ายเดียว ว่าเป็นต้นเหตุของความรุนเเรง

มหาเศรษฐีอีกรายหนึ่งที่มีปฏิกิริยาต่อท่าทีของฮาร์วาร์ด คือ ‘บิลล์ อะเคอร์แมน’ นักลงทุนรายใหญ่และศิษย์เก่าของสถาบันแห่งนี้

ต่อมา ‘คลอดีน เกย์’ อธิการคนปัจจุบัน เมื่อเธอมีถ้อยเเถลงที่ชัดเจนถึงการโจมตีในอิสราเอล และซัมเมอร์ลดความร้อนเเรงในคำวิจารณ์ต่อเธอ

เกย์ต้องออกแถลงการณ์หลายฉบับ ในความพยายามลดความตึงเครียด โดยในฉบับที่สามเมื่อวันพฤหัสบดี เธอประณาม “ความโหดร้ายอันป่าเถื่อนที่กระทำโดยฮามาส” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกระบุโดยสหรัฐฯ และยุโรป ว่าเป็น ‘ขบวนการก่อการร้าย’ ขณะเดียวกัน เกย์ยืนยันที่จะปกป้องเสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็น

ในถ้อยเเถลงผ่านคลิปวิดีโอ เกย์กล่าวว่า เธอปฏิเสธ “การคุกคาม หรือการข่มขู่บุคคล บนพื้นฐานความเชื่อของพวกเขา”

‘อิสราเอล’ โจมตีทางอากาศ ทิ้งบอมบ์ใส่ผู้อพยพปาเลสไตน์ในกาซา ดับแล้วอย่างน้อย 70 ราย ช็อก!! พบเหยื่ออายุน้อยสุดเพียง 2 ขวบ

(15 ต.ค. 66) ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเที่ยวหนึ่ง ถล่มใส่คาราวานผู้คนที่กำลังหลบหนี บริเวณทางเหนือของฉนวนกาซา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 70 ราย ในนั้นมีเด็กหลายคน อายุน้อยสุดแค่ 2 ขวบ ความโหดร้ายป่าเถื่อนซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางปฏิบัติการทิ้งบอมบ์ของอิสราเอล แก้แค้นกรณีถูกกลุ่มนักรบฮามาสบุกจู่โจมนองเลือดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อย่างไรก็ตาม รัฐยิวปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้

สำนักข่าวนิวยอร์กโพสต์ รายงานข่าวระบุว่า นอกเหนือจากผู้เสียชีวิตแล้ว ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 200 ราย ในเหตุการณ์นี้ ซึ่งเกิดขึ้นบนเส้นทางที่ปลอดภัยแห่งนี้ บนถนนชาลาห์ อัล-อิน ในกาซา ซิตี ตอนบ่ายวันศุกร์ (13 ต.ค.)

การโจมตีครั้งนี้ เป็นการโจมตีใส่ถนนสายหนึ่งซึ่งคับคั่งไปด้วยยานพาหนะ ในระหว่างที่ชาวปาเลสไตน์พยายามหลบหนีออกจากกาซา ก่อนถึงเส้นตายที่ทางอิสราเอลขีดไว้ สำหรับให้อพยพออกจากฉนวนแห่งนี้ ก่อนหน้าสิ่งที่คาดหมายว่า อิสราเอลจะเปิดปฏิบัติการโจมตีทางภาคพื้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมอิสราเอล ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีคาราวานผู้อพยพ โดยอ้างว่าไม่พบสิ่งบ่งชี้ว่ากองกำลังของพวกเขาอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว

กระทรวงกลาโหมอิสราเอล ให้ข้อมูลเพียงว่าในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีพลเรือนมากกว่า 1 ล้านคนที่หลบหนีไปทางใต้ของฉนวนกาซา ผ่านถนนสายหลัก 2 สาย ระหว่าง 10.00 น. ถึง 16.00 น. ของวันเสาร์ (14 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น

จากการตรวจสอบของบีบีซี พบว่ามีผู้หญิงและเด็กเป็นหนึ่งในบรรดาผู้เสียชีวิตด้วย

วิดีโอที่เผยแพร่โดยกระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์ พบเห็นเจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉินกำลังเดินทางมาถึงจุดเกิดเหตุที่ถูกโจมตีทางอากาศ และมีเจ้าหน้าที่รถฉุกเฉินคันหนึ่งถูกโจมตี ระหว่างที่พวกเขากำลังพยายามพาตัวเด็กหญิงคนหนึ่งและผู้หญิงอีกคนเข้าไปภายในรถฉุกเฉิน

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางปฏิบัติการโจมตีแก้แค้นของอิสราเอล ต่อเหตุการณ์ที่พวกนักรบฮามาสบุกจู่โจมสายฟ้าแลบเข้าไปยังดินแดนของอิสราเอล เข่นฆ่าหลายครอบครัว กราดยิงใส่เทศกาลดนตรีหนึ่ง ฆาตกรรมทารกและเด็กไปราว 40 ชีวิต รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,300 รายในอิสราเอล

จนถึงตอนนี้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 2,200 คน ในปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ของอิสราเอล ในนั้นเป็นเด็ก 724 คน

‘พี่แจ๋ม’ ยอมเสี่ยง!! ขับรถฝ่าแนวทหารในอิสราเอล ช่วยแรงงานไทยหลายชีวิตที่ติดอยู่ในแคมป์คนงาน

(16 ต.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถานการณ์การสู้รบในประเทศอิสราเอล หลังกลุ่มฮามาสบุกโจมตี ทำให้แรงงานไทยหลายพันชีวิตได้รับความเดือดร้อน ซึ่งล่าสุดเสียชีวิตแล้ว 29 คน ถูกจับเป็นตัวประกัน 18 คน ขณะที่แรงงานไทยบางส่วนได้รับการช่วยเหลือ อพยพไปในที่ปลอดภัยรวมทั้งเดินทางกลับประเทศไทยบ้างแล้ว

ขณะเดียวกัน สมาชิก TikTok @daphan383 ได้เผยแพร่คลิปของหญิง 2 รายที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอิสราเอล ยอมเสี่ยงชีวิตเข้าไปช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับความเดือดร้อนในแคมป์ต่าง ๆ คือพี่แจ๋มและพี่น้อง โดยมีคลิปของทั้ง 2 คน ขับรถฝ่าแนวของทหารเข้าไปช่วยเหลือคนไทยที่ติดอยู่ในแคมป์ไม่สามารถออกมาได้

โดยในคลิปพี่แจ๋มและพี่น้องอยู่ในอาการตื่นตระหนก ขณะกำลังขับรถเข้าไปในแคมป์ที่มีแรงงานไทยอยู่เพื่อช่วยเหลือออกมา และมีรถถังและกลุ่มทหารของอิสราเอลเฝ้าประจำการอยู่ ซึ่งทั้งคู่นั้นได้รับการประสานจากแรงงานไทยและญาติให้เข้าไปช่วยเหลือ

นอกจากนี้ยังมีแรงงานไทยถูกระเบิดและถูกยิงได้รับบาดเจ็บแต่กลับถูกนายจ้างบังคับให้ทำงาน ก่อนเข้าไปช่วยเหลือพาส่งโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย และยังมีคลิปที่พี่แจ๋มประสานทางการช่วยพาคนไทยจำนวน 32 คนออกมาจากแคมป์แล้วพาไปอยู่ในที่ปลอดภัย

ขณะที่ชาวเน็ตหลังเห็นวีรกรรมความกล้าของทั้ง 2 คน ต่างก็ยกย่องให้เป็นวีรสตรี เพราะยอมเสี่ยงตายช่วยเหลือพี่น้องคนชาติเดียวกัน โดยไม่กลัวว่าตัวเองจะได้รับอันตรายแต่อย่างใด และพากันชื่นชมในความกล้า โดยล่าสุดพบว่าพี่แจ๋มได้เดินทางกลับมายังประเทศไทยแล้ว

ระทึก!! ‘อิหร่าน’ ขู่ชิงโจมตีอิสราเอลก่อน ใน ‘อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า’ หลังรัฐยิวตั้งท่าบุกฉนวนกาซา โหมกระพือความขัดแย้งลุกลามหนัก

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เตือนว่ามีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะชิงโจมตีเล่นงานอิสราเอลก่อน ‘ในอีกไม่ชั่วโมงข้างหน้า’ ส่งสัญญาณแข็งกร้าวถึงอิสราเอล ในขณะที่รัฐยิวเตรียมพร้อม สำหรับเปิดปฏิบัติการจู่โจมทางภาคพื้นบุกเข้าไปยังฉนวนกาซา

เตหะรานส่งเสียงเตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่าการรุกรานทางภาคพื้นฉนวนกาซา ที่ถูกปิดล้อมมาช้านาน จะต้องเจอกับการตอบโต้จากแนวหน้าอื่นๆ โหมกระพือความกังวลว่าความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มนักรบปาเลสไตน์ ฮามาสอาจลุกลามขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น ลากประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมวงด้วย

“ความเป็นไปได้ของปฏิบัติการชิงโจมตีก่อนของเครือข่าย ‘Axis of Resistance’ (กลุ่มซึ่งเป็นการผนึกกำลังกันระหว่างกลุ่มก๊กมุสลิมชีอะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในอิรัก กับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน) คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า” ‘ฮอสเซน อามีร์ อับดอลลาห์เฮียน’ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐ อ้างถึงการประชุมระหว่งเขากับ ‘ฮัสซัน นาสรัลเลาะห์’ ผู้นำฮิซบอลเลาะห์ เมื่อวันเสาร์ (14 ต.ค.)

ก่อนหน้านี้ในวันจันทร์ (16 ต.ค.) ‘ฮอสเซน อามีร์ อับดอลลาห์เฮียน’ และ ‘อิบราฮิม ไรซี’ ประธานาธิบดีอิหร่าน ต่างบอกว่าเวลาสำหรับการหาทางออกทางการเมืองใกล้หมดลงแล้ว และเตือนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสจะลุกลามสู่แนวหน้าอื่นๆ

‘อามีร์ อับดอลลาห์เฮียน’ ประกาศกร้าวว่าพวกผู้นำ Axis of Resistance จะไม่ยอมให้อิสราเอลทำอะไรตามอำเภอใจในฉนวนกาซา “ถ้าเราไม่ปกป้องฉนวนกาซาในวันนี้ วันพรุ่งนี้เราคงจำเป็นต้องป้องกันสกัดระเบิดฟอสฟอรัสเหล่านี้ จากการพุ่งใส่โรงพยาบาลเด็กทั้งหลายในประเทศของเราเอง”

อิสราเอล ประกาศสงครามกับกลุ่มนักรบ ‘ฮามาส’ ในดินแดนปาเลสไตน์หนึ่งวัน หลังจากพวกนักรบส่งสมาชิกระลอกแล้วระลอกเล่าจากฉนวนกาซา บุกฝ่าแนวป้องกันอันหนาแน่นเข้าไปโจมตีภายในอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เข่นฆ่าพลเรือนไปกว่า 1,400 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน

ทางอิสราเอล ตอบโต้กลับด้วยการทิ้งบอมบ์ถล่มฉนวนกาซาเป็นชุดๆ แบบไม่มีหยุด ทั้งจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศและปืนใหญ่ ทำย่านต่างๆ พังราบเป็นหน้ากลอง สังหารชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 2,750 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนเช่นกัน

เบื้องต้น อิหร่านออกมาแสดงความยินดีปรีดาต่อปฏิบัติการจู่โจมของฮามาส แต่ยืนกรานว่าพวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

คำเตือนของอิหร่านในวันจันทร์ (16 ต.ค.) มีขึ้นในขณะที่อิสราเอลได้เตรียมการสำหรับเปิดฉากรุกรานทางภาคพื้นเข้าไปยังฉนวนกาซา ท่ามกลางความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า มีพลเรือนปาเลสไตน์ติดอยู่ในฉนวนที่ถูกทิ้งบอมบ์อย่างหนักแห่งนี้เป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่อิสราเอลเปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ

อนึ่งนับตั้งแต่เหตุการณ์ปฏิวัติอิสลามปี 1979 อิหร่านหยิบยกการสนับสนุนปาเลสไตน์เป็นหนึ่งในเสาหลักของอุดมการณ์ของพวกเขา

‘UNSC’ ตีตกข้อเสนอ ‘รัสเซีย’ ไม่ผ่านมติหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรม หลังเรียกร้องให้ ‘อิสราเอล-ฮามาส’ ปล่อยตัวประกัน-อพยพ ปชช.

(17 ต.ค. 66) จากกรณีที่รัสเซียยื่นร่างข้อเสนอ เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 66 ซึ่งเรียกร้องให้ปล่อยตัวตัวประกัน การเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการอพยพพลเรือนที่ต้องการอย่างปลอดภัย ในพื้นที่ฉนวนกาซา ระหว่างการสู้รบของกองทัพอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาส เข้าสู่ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) นั้น ล่าสุด มติดังกล่าวไม่ผ่านการรับรองจากที่ประชุม

รายงานข่าว Russia push for UN Security Council action on Israel, Gaza fails จากสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ในการประชุม UNSC เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา มติซึ่งต้องการคะแนนเสียงขั้นต่ำ 9 จากกลุ่มสมาชิก 15 ชาติ ได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบเพียง 5 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง

ส่องจุดยืนนานาชาติต่อสงคราม ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ ภายใต้เสียงแบ่งขั้ว ที่มองทั่วๆ แล้ว มีมากกว่าปัญหาแก่งแย่งดินแดน

(17 ต.ค. 66) มีคำกล่าวว่า ต่อให้เราไม่ยุ่งกับการเมือง เดี๋ยวการเมืองก็จะมายุ่งกับเราเอง เช่นเดียวกันกับสงคราม ที่ต่อให้เราไม่ได้เป็นคนก่อ และไม่ใช่คู่กรณี แต่สุดท้ายก็จะถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องจนได้ ไม่ทางใด ก็ทางหนึ่ง

ไม่ต่างจากสงครามระหว่างอิสราเอล และ กองกำลังฮามาส ณ ขณะนี้ ที่ทั่วโลกกำลังจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และ กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างร้อนแรงในหลายประเทศ แม้ไม่ได้อยู่เขตพื้นที่สงครามแต่อย่างใด

ซึ่งต้องยอมรับว่าการโจมตีของกลุ่มฮามาส เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมเป็นต้นมา ถือเป็นการโจมตีชุมชนชาวอิสราเอลที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังถือเป็นหนึ่งในเหตุก่อการร้ายช็อกโลกที่สุดครั้งหนึ่งเช่นกัน และทำให้ ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ ผู้นำอิสราเอลประกาศภาวะสงครามในอิสราเอลเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี และใช้ปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบ โจมตีฉนวนกาซาอย่างหนัก ทำลายอาคาร บ้านเรือนย่อยยับ และทำให้ชาวปาเลสไตน์นับล้านพลัดถิ่นกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย

ท่ามกลางวิกฤติสงครามในฉนวนกาซา โลกก็ได้แบ่งขั้วเป็น 2 ฝั่ง โดยชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และอีกกว่า 40 ประเทศออกมาประณามกลุ่มก่อการร้ายฮามาส และสนับสนุนฝ่ายอิสราเอล โดยมองว่าอิสราเอลมีความชอบธรรมตามกฎหมายในการป้องกันตนเอง

แต่ในขณะเดียวกัน โลกมุสลิมในตะวันออกกลาง นำโดย อิหร่าน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต ซีเรีย และอิรัก มองว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีต้นเหตุเกิดจากอิสราเอล ที่สร้างความขัดแย้ง และความรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์ ในเขตเวสต์แบงก์ และฉนวนกาซา มานานนับ 10 ปี รวมถึงการก่อเหตุรุนแรงของทางการอิสราเอลในมัสยิดศักดิ์สิทธิ์ ‘อัล-อัคซอร์’ และการโจมตีทางอากาศในฉนวนกาซาที่ผ่านมา ได้สังหารชีวิตพลเรือนชาวปาเลสไตน์ไปเป็นจำนวนมาก และต้องไม่ลืมว่า การรุกไล่ที่ดิน และครอบครองดินแดนปาเลสไตน์ของรัฐบาลอิสราเอลเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แต่ทั้งนี้ ก็มีหลายชาติมหาอำนาจที่พยายามชูนโยบายสายกลาง โดยมองว่า ไม่ใช่เวลาที่จะออกมาเลือกข้าง หรือประณามการกระทำของใครว่าเป็นฝ่ายผิดทั้งหมด ซึ่งกลุ่มพันธมิตรสายกลาง นำโดย จีน รัสเซีย ตุรกี กลุ่มประเทศสหภาพแอฟริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายลดความรุนแรงลง เพื่อสามารถถอยกลับไปสู่จุดที่สามารถเปิดโต๊ะเจรจาสันติภาพได้ และยังเชื่อว่า ‘การแก้ปัญหาแบบสองรัฐ’ (Two-state Solution) สามารถยุติความขัดแย้งได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้ก็ต่อต้านการใช้ความรุนแรงกับพลเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม

แต่หากมองมาทางฟากฝั่งเอเชียแปซิฟิก ก็จะพบว่าประเทศที่เป็นพันธมิตรอันดีกับสหรัฐอเมริกา มักแสดงท่าทีออกมาประณามกลุ่มฮามาส หรือสนับสนุนอิสราเอลอย่างชัดเจน อาทิ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมทั้งไทยด้วย แต่ประเทศที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ มักเลือกที่จะสนับสนุนปาเลสไตน์ หรือ เลือกนโยบายเป็นกลางที่ประณามความรุนแรงจากทุกฝ่าย อาทิ เกาหลีเหนือ จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น

ในขณะที่ ประเทศในโซนอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก แสดงท่าทีไปในทางสนับสนุนอิสราเอลอย่างชัดเจน แต่โซนอเมริกาใต้กลับเสียงแตก มีทั้งสนับสนุนอิสราเอล และขอยืนเป็นกลาง หรือประณามความรุนแรงจากทั้งสองฝ่าย ส่วนกลุ่มทวีปแอฟริกาค่อนข้างชัดเจนว่า ส่วนใหญ่ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความรุนแรงในกาซา และไม่ขอออกตัวประณามกลุ่มฮามาสแต่เพียงฝ่ายเดียวด้วยเช่นกัน

เมื่อทั่วโลกมีความเห็นที่แตกต่างกันชัดเจน 2 กลุ่ม ความรุนแรงในกาซา จะยกระดับไปสู่สงครามตัวแทน หรือสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้หรือไม่?

‘เจเรมี โบเวน’ ผู้สื่อข่าวนานาชาติ ของสำนักข่าว BBC มีความเห็นว่า สงครามครั้งนี้จะทวีความรุนแรงขึ้นหากมีการแทรกแซงจากองค์กรภายนอก อาทิ อิหร่าน กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ในเลบานอน รวมถึง กองทัพสหรัฐฯ เช่นกัน และจำนำความเสียหายใหญ่หลวงมาสู่ภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลของชาติในตะวันออกกลางรู้ดี และเชื่อว่าไม่น่าจะชาติใดกล้าแบกรับความเสี่ยงนี้  ดังนั้น การสู้รบในฉนวนกาซาน่าจะถูกจำกัดวงไม่ให้กระจายออกไปสู่พื้นที่อื่นๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ กลุ่มฮามาส ต้องการบรรลุเป้าหมายใดจากการใช้กำลังทหารโจมตีอิสราเอล แม้จะรู้ว่าเป็นการสงครามแบบอสมมาตร

เรื่องนี้ ‘โมฮัมเหม็ด อัล-เดอิฟ’ โฆษกกลุ่มฮามาส เคยออกมาประกาศว่า “ความอดทนสิ้นสุดแล้ว” ดังนั้น เหตุผลหลักของการขับเคลื่อนยุทธวิธีของกลุ่มฮามาส คือ ตอบโต้นโยบายกดขี่ของรัฐบาลอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ ที่สั่งสมเป็นปัญหามานานหลายสิบปี

แต่ทั้งนี้ ‘อับดุลาซิส เซเกอร์’ หัวหน้าศูนย์วิจัย Gulf Research Center แห่งซาอุดีอาระเบีย มองว่า สิ่งที่ถือว่าฮามาสบรรลุเป้าหมายจากสถานการณ์นี้ คือ สามารถเปิดเผยจุดอ่อนด้านความมั่นคงของอิสราเอล และทัศนคติของรัฐบาลอิสราเอลที่มีต่อปาเลสไตน์อย่างหมดเปลือก

อีกทั้งยังทำให้ทั่วโลกหันกลับมามองปัญหาในดินแดนปาเลสไตน์ และถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก แทนที่จะถูกมองเป็นประเด็นรองๆ หรือ ถูกลดทอนความสำคัญโดยสื่อตะวันตกอย่างที่แล้วมา ซึ่งนั่นทำให้ปัญหาด้านสันติภาพในดินแดนแห่งนี้ถูกซุกไว้ใต้พรมที่เขียนด้วยคำสวยหรูว่า “แผนสันติภาพ” มาโดยตลอด

และทำให้วันนี้ มีการขุดคุ้ย ตีแผ่ ไล่เรียง ประวัติศาสตร์เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างชาวอิสราเอล และชาวปาเลสไตน์ กันอย่างกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา และมองสถานการณ์ครั้งนี้ด้วยใจที่เป็นธรรมมากขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกข้าง หรือกล่าวประณามฝ่ายใด

เมื่อการทำสงครามถล่มกาซาของอิสราเอล ทำให้เศรษฐกิจพัง วันละ 1.33 พันล้านบาท

(25 ต.ค. 66) อินโฟเควสท์ รายงานถึงสถานการณ์ในอิสราเอลภายใต้หัวข้อ 'ราคาของการแก้แค้น เมื่อการทำสงครามถล่มกาซาต้องแลกมาด้วยเศรษฐกิจของอิสราเอล' ระบุว่า...

สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสในฉนวนกาซาไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของแสนยานุภาพทางการทหารและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของผลสะเทือนทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวอิสราเอลด้วย”

เหตุการณ์ที่กลุ่มฮามาสซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์ เปิดฉากโจมตีอิสราเอลแบบไม่ทันตั้งตัวเมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 7 ต.ค. จนมีพลเรือนเสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิสราเอลนั้น ทำให้อิสราเอลต้องการล้างแค้นและประกาศลั่นกลองรบโดยทิ้งระเบิดถล่มกาซาตลอด 2 สัปดาห์นับแต่นั้นมา อย่างไรก็ดี ราคาของการล้างแค้นต้องแลกมาด้วยความเสียหายทางเศรษฐกิจของอิสราเอล ซึ่งมีมูลค่าสูงอย่างที่อิสราเอลไม่ได้ประสบมาในรอบหลายทศวรรษ

>> ภาคธุรกิจหยุดชะงัก แรงงานโดนเกณฑ์ไปรบ
ขอบฟ้าของกรุงเทลอาวีฟที่มักจอแจไปด้วยเสียงรถเครนและกิจกรรมการก่อสร้างต้องเงียบสงัดอยู่หลายวันหลังจากที่เมืองสั่งปิดไซต์ก่อสร้าง โดยแม้จะเพิ่งกลับมาเปิดทำการอีกครั้งในสัปดาห์นี้ภายใต้มาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น แต่การหยุดชะงักของภาคการก่อสร้างในช่วงที่ผ่านมาคาดว่าสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้อิสราเอลถึง 150 ล้านเชเกล (1.33 พันล้านบาท) ต่อวัน

นายราอูล ซารูโก ประธานสมาคมผู้รับเหมาก่อสร้างของอิสราเอลกล่าวว่า “นี่ไม่ใช่แค่กระทบกับผู้รับเหมาหรือนักอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังกระทบต่อทุกครัวเรือนในอิสราเอลด้วย”

นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ยังส่งผลให้แรงงานหายไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากทหารกองหนุนนับแสนรายถูกเรียกตัวเข้าประจำการ ส่วนแรงงานชาวปาเลสไตน์นับพันที่ทำงานให้อิสราเอลก็ไม่สามารถเดินทางข้ามพรมแดนจากฉนวนกาซากับเขตเวสต์แบงก์มาได้ ทำให้ภาคธุรกิจขาดแคลนกำลังคนและสร้างความปั่นป่วนต่อห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ท่าเรือไปจนถึงซูเปอร์มาร์เก็ต ในขณะที่ผู้ค้าปลีกก็ต้องให้พนักงานหยุดงานเนื่องจากไม่มีงานให้ทำ

โรงแรมต่าง ๆ มีชาวอิสราเอลที่อพยพจากพื้นที่ชายแดนมาพักอยู่ราว ๆ ครึ่งหนึ่ง ส่วนห้องที่เหลือส่วนใหญ่ไม่มีใครเข้าพัก โรงงานหลายแห่งแม้กระทั่งโรงที่ตั้งอยู่ใกล้กาซายังคงดำเนินงานต่อไป แต่ขาดแคลนคนขับรถบรรทุกจนไม่สามารถขนส่งสินค้าได้มากเท่าปกติ

บันไดเลื่อนและทางเดินในห้างสรรพสินค้าหลักของเมืองเยรูซาเลมร้างผู้คนในช่วงสองสัปดาห์แรกของสงคราม แม้ว่าช่วงหลังจะเริ่มมีลูกค้าทยอยเข้าห้างบ้างก็ตาม แต่นายเนทาเนล ชรากา ผู้จัดการร้านชุดกีฬาโคลัมเบียในห้างดังกล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า “จำนวนคนเดินผ่านไปผ่านมาลดลงไปมาก”

นายชรากากล่าวว่า พนักงานของเขาบางคนถูกเรียกตัวเข้ากองทัพ บางคนก็กลัวเกินกว่าจะมาทำงาน

อุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งคิดเป็น 18% ของ GDP อิสราเอล ก็กำลังประสบความยากลำบาก โดยนายดรอร์ บิน ซีอีโอของสำนักงานนวัตกรรมอิสราเอลคาดว่า แรงงานในภาคไอทีประมาณ 10-15% ถูกเรียกตัวเข้าประจำการกองหนุน

“เราได้ติดต่อกับบริษัทเทคฯ หลายร้อยราย โดยเฉพาะพวกบริษัทสตาร์ตอัป” นายบินกล่าว พร้อมเสริมว่า หลายบริษัทกำลังจะหมดเงินทุนในการทำธุรกิจต่อไป

ด้านนายบารัค ไคลน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินจากบริษัทฟินเทคทีตาเรย์กล่าวว่า “ผลิตภาพลดลงไปมาก เพราะเป็นเรื่องยากที่จะจดจ่ออยู่กับงานในแต่ละวันเมื่อในหัวคุณกังวลแต่เรื่องความเป็นความตาย”

>> 'วิกฤตทางจิตใจ' คนอิสราเอลพากันรัดเข็มขัด
ด้วยแนวโน้มที่อิสราเอลจะส่งทหารบุกภาคพื้นดินเข้าฉนวนกาซาและความเป็นไปได้ที่สงครามจะลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งในภูมิภาค ชาวอิสราเอลต่างพากันรัดเข็มขัด พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลดลง 12% ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการใช้จ่ายลดฮวบฮาบในเกือบทุกด้าน ยกเว้นการซื้ออาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต

เมื่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคคิดเป็นมากกว่าครึ่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของอิสราเอล ความเสียหายทางเศรษฐกิจย่อมมีมหาศาล

ลีโอ ไลเดอร์แมน หัวหน้าที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของแบงก์ฮาโปอาลิม (Bank Hapoalim) หนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของอิสราเอลกล่าวว่า มี “วิกฤตทางจิตใจ” ในหมู่ประชาชนชาวอิสราเอล

“ประชาชนจะลดการใช้จ่ายด้านการบริโภค เพราะสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและบรรยากาศที่ไม่เป็นใจ” นายไลเดอร์แมนกล่าว

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่อาวุโสในกระทรวงการคลังของอิสราเอลเปิดเผยกับทางรอยเตอร์ว่า “อิสราเอลฟื้นตัวได้ดีอย่างน่าทึ่งจากการสู้รบครั้งที่ผ่าน ๆ มา แต่เหตุการณ์ครั้งนี้มีความรุนแรงมากกว่าที่เคย แม้ตอนนี้ยังเร็วเกินกว่าที่จะบอกได้ก็ตาม”

>> เศรษฐกิจหด เครดิตลด หนี้เพิ่ม เงินอ่อนค่า แม้แบงก์ชาติมั่นใจว่าจะฟื้นตัว
เมื่อวันจันทร์ (23 ต.ค.) ธนาคารกลางอิสราเอลปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2566 เหลือ 2.3% จาก 3% และลดเหลือ 2.8% จาก 3.0% ในปี 2567 โดยตั้งสมมติฐานว่าสงครามจะถูกจำกัดวงไว้อยู่ในกาซาเท่านั้น

รัฐบาลอิสราเอลได้ให้สัญญาว่าจะใช้จ่ายในการทำสงครามครั้งนี้แบบ “ไม่จำกัด” นั่นหมายความว่างบประมาณจะยิ่งขาดดุลมากขึ้นและประเทศมีหนี้มากขึ้น โดยธนาคารกลางคาดการณ์ว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP จะพุ่งแตะระดับ 62% ในปี 2566 และ 65% ในปี 2567 จากเดิมที่อยู่ระดับ 60.5% ในปี 2565

ขณะเดียวกัน นายอามีร์ ยารอน ผู้ว่าการธนาคารกลางอิสราเอล ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในไม่ช้านี้ หลังจากธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันในการประชุม 3 ครั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพในระบบการเงิน พร้อมกับกล่าวว่า ธนาคารกลางยังไม่ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากการลดดอกเบี้ยจะส่งผลให้เงินเชเกลอ่อนค่าลงอีก และจะยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มสงคราม สกุลเงินเชเกลของอิสราเอลอ่อนค่าลง 5% และหากนับตั้งแต่ต้นปี 2566 ก็ร่วงลงไปแล้ว 15.5%

แม้ว่าธนาคารกลางอิสราเอลยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ แต่มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอล โดยมีแนวโน้มที่จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ A1 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส

“ความขัดแย้งทางทหารในครั้งนี้กำลังทำให้อิสราเอลมีความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์เพิ่มขึ้นอีก จากเดิมที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเป็นเวลานานและส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของอิสราเอลอย่างเป็นรูปธรรม”

“ต่อให้ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ ก็ยังจะส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอล ดังนั้นหากความขัดแย้งยืดเยื้อเป็นเวลานานขึ้น รุนแรงมากขึ้น และลุกลามเป็นวงกว้างมากขึ้น ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบาย การคลังสาธารณะ (public finance) และเศรษฐกิจของอิสราเอล” มูดี้ส์กล่าว

มูดี้ส์ระบุว่า อิสราเอลได้ใช้จ่ายเงินด้านกลาโหมประมาณ 4.5% ของ GDP ซึ่งมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และคาดว่าอิสราเอลจะเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมเมื่อพิจารณาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้

นอกจากมูดี้ส์แล้ว เมื่อวานนี้ (24 ต.ค.) เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P) ประกาศลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของอิสราเอลลงสู่ “เชิงลบ” จาก “มีเสถียรภาพ” และคงอันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอลไว้ที่ระดับ AA- โดยระบุว่า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสมีแนวโน้มที่จะบานปลาย และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับที่รุนแรงมากขึ้น

เอสแอนด์พีคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอิสราเอลจะหดตัวลง 5% ในไตรมาส 4 ปีนี้เมื่อเทียบกับในไตรมาส 3 เนื่องจากสงครามในครั้งนี้ส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันและทำให้กิจกรรมทางธุรกิจอ่อนแอลง นอกจากนี้ ภาวะสงครามยังทำให้รัฐบาลอิสราเอลต้องเกณฑ์ทหารกองหนุนจำนวนมาก อีกทั้งทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถูกชัตดาวน์ และบั่นทอนความเชื่อมั่นเป็นวงกว้าง

>> สิ่งที่ต้องแลกมาเพื่อ 'ตาต่อตา ฟันต่อฟัน'
เศรษฐกิจอิสราเอลในอดีตฟื้นตัวมาได้หลายต่อหลายครั้ง เช่นเมื่อปี 2549 ในการทำสงคราม 34 วันกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอนที่มีอิหร่านหนุนหลัง GDP ของอิสราเอลลดลงถึง 0.5% แต่ก็ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจากนั้น

อย่างไรก็ดี สงครามในปัจจุบันส่งผลสะเทือนทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างมากยิ่งกว่าที่เคย ราคาของการล้างแค้นครั้งนี้ไม่เพียงต้องจ่ายด้วยชีวิตคนและความไร้เสถียรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังสร้างภาระหนักต่อเศรษฐกิจของอิสราเอลเองอีกด้วย

'พิพัฒน์' เตรียมชง 'ครม.' ช่วยเหลือแรงงานไทยกลับจากอิสราเอล เล็ง 'ค้ำประกันหนี้ - เพิ่มเงินเยียวยา' รอ 'นายกฯ' ไฟเขียว!!

(27 ต.ค. 66) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงเรื่องมาตรการช่วยเหลือแรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในอิสราเอล ว่า คนที่กลับมาในช่วงนี้ทางกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานเราจะไม่ส่งกลับไปเด็ดขาด จนกว่าสงครามจะยุติ เราได้เชิญชวนให้เพื่อนๆผู้ใช้แรงงาน กลับมาสู่ประเทศไทย กลับมาสู่อ้อมกอดของครอบครัว เมื่อท่านปลอดภัยแล้วก็ขอให้ท่านได้อยู่กับครอบครัวสักช่วงหนึ่งก่อน เมื่อสงครามยังไม่สงบ และเมื่อสงครามสงบแล้ว ทางกรมการจัดหางาน จะเจรจาผ่านไปถึงทางประเทศอิสราเอล ว่าเมื่อเหตุการณ์ทุกอย่างยุติอยู่ในความสงบเรียบร้อย เราจะขอส่งแรงงานดังกล่าวกลับไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลอีกครั้งหนึ่ง

“เขายินดีที่จะให้พวกเรากลับไปทำงานปกติคนที่ทำงานครบ 5 ปี 3 เดือน ตามสัญญาและไม่สามารถกลับไปได้นะ แต่ในเหตุการณ์ที่เกิดความไม่สงบในครั้งนี้ คนที่ทำงานครบ 5 ปี 3 เดือน สามารถกลับไปทำงานต่อได้อีก 1ปี นี่คือสิทธิ์ที่ทางการอิสราเอลให้กับทางกระทรวงแรงงานของเรา” นายพิพัฒน์ กล่าว

รมว.แรงงาน กล่าวว่า ส่วนเพื่อนๆที่กลับมาจากประเทศอิสราเอลขณะนี้ทางกระทรวงแรงงานเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ กำลังหางานในประเทศไทย และหางานในประเทศอื่น ที่มีความประสงค์ จะรับคนงานที่มีความเชี่ยวชาญ ทางด้านการเกษตรกลับไปทำงานในประเทศนั้นๆ ที่มีการลงนามในเอ็มโอยูไปแล้ว คือประเทศเกาหลีใต้ เราพยายามที่จะเจาะตลาดประเทศอื่นๆ ที่มีการพัฒนาในด้านการเกษตร และต้องการผู้ที่มีทักษะในเรื่องของการเกษตรโดยเฉพาะคนไทยอีกหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นในประเทศแถบยุโรป หรือในออสเตรเลีย

ทั้งนี้ ในขณะนี้ก็มีการแจ้งความจำนงมาที่กระทรวงแรงงาน ว่าต้องการแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านเกษตรโดยเฉพาะการเก็บผลไม้ การปลูกผัก การปลูกผลไม้เพื่อไปทำงานในประเทศเขา ซึ่งเขากำลังประสาน และจะลงนามในเอ็มโอยูในการที่จะส่งแรงงานไปในต่างประเทศ มีการประสานไปทางท่านนายกรัฐมนตรีว่าเป็นไปได้ว่าจะมีข้อไหนบ้าง  2 กรณี คือ คนที่กู้หนี้ยืมสินไปทำงานในอิสราเอลและยังทำงานไม่ครบ 5 ปี 3 เดือน ตรงนี้เมื่อกลับมาก่อนเว้นระยะเวลาในสัญญา ยังมีที่หนี้สินค้างอยู่ ทางกระทรวงก็จะขออนุมัติให้ท่านนายกรัฐมนตรีช่วยกรุณาเอาแบงก์รัฐมาค้ำประกันต่อ หรือปล่อยเงินกู้ตามที่แรงงานแต่ละท่านในระบบ หรือนอกระบบ ถ้าหากว่าแรงงานของเราคนใดคนหนึ่ง

“สำหรับคนที่กลับจากประเทศอิสราเอล โดยเฉพาะเรื่องของภัยสงครามในครั้งนี้ ได้เยียวยาให้คนละ 15,000 บาท และทางกระทรวงแรงงานจะขอหารือนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่าถ้านายกฯ มีการพูด หรือมีการให้สัมภาษณ์ออกมาว่าจะขอให้ช่วยเยียวยาเพิ่มเติม ผมเองก็จะทำเรื่องของบกลางซึ่งก็พยายามจะทำให้ได้ภายในการประชุม ครม.สัปดาห์หน้า ว่าทางรัฐบาลจะเติมงบกลางมาให้กับแรงงานที่กลับมาคนละเท่าไร” นายพิพัฒน์ กล่าว

‘อิสราเอล’ ส่งหน่วยรบภาคพื้นดิน พร้อมด้วยโดรน-เครื่องบินขับไล่ บุกโจมตีตอนกลางของฉนวนกาซา สังหาร ผบ.ระดับสูงฮามาสดับ

(27 ต.ค. 66) สำนักข่าวบีบีซีและเอเอฟพีรายงานว่า ใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา กองกำลังภาคพื้นดินของอิสราเอล สนับสนุนด้วยเครื่องบินขับไล่และโดรนหลายลำ ได้บุกเข้าไปโจมตีในพื้นที่ตอนกลางของฉนวนกาซา ซึ่งโจมตีถูกเป้าหมายของฮามาสหลายสิบแห่ง

“ในส่วนหนึ่งของปฏิบัติการดังกล่าว เครื่องบินขับไล่และโดรนของกองกำลังป้องกันอิสราเอล (ดีไอเอฟ) ได้โจมตีหลายเป้าหมายในพื้นที่ชูจาอียาและที่อื่นๆ ในฉนวนกาซา” แถลงการณ์ของไอดีเอฟระบุ และกล่าวว่า เป้าหมายเหล่านั้นรวมถึงฐานยิงจรวดต่อต้านรถถัง กองบัญชาการและศูนย์ควบคุมทางทหารตลอดจนนักรบฮามาส โดยหลังเสร็จสิ้นภารกิจ ทหารอิสราเอลได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ดังกล่าวโดยไม่มีกำลังพลคนใดได้รับบาดเจ็บ

ก่อนหน้านั้น ไอดีเอฟแถลงอ้างว่า เครื่องบินขับไล่ของกองทัพอิสราเอลได้สังหาร ‘ชาดี บารุด’ รองหัวหน้าหน่วยข่าวกรองของกลุ่มฮามาส ที่มีส่วนร่วมกับ ‘ยาห์ยา ซินวาร์’ หัวกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ในการวางแผนบุกโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา

พร้อมกันนี้ ไอดีเอฟยังเผยแพร่คลิปวิดีโอโจมตีทางอากาศที่อ้างว่าได้สังหารนายบารุดเป็นการยืนยันอีกด้วย

‘ไบเดน’ กร้าว!! ปฏิบัติการทิ้งบอมบ์ถล่มซีเรีย ‘จำเป็น-สมน้ำสมเนื้อ’ เพื่อตอบโต้หลังกำลังพลสหรัฐฯ ถูกโจมตีด้วยโดรน-จรวดหลายครั้ง

(29 ต.ค. 66) ‘ประธานาธิบดีโจ ไบเดน’ ยืนยันว่า ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ถล่มภาคตะวันออกของซีเรียในสัปดาห์นี้มีความชอบธรรมทางกฎหมาย ระบุปฏิบัติการต่างๆ เหล่านั้นเป็นการตอบโต้ที่เหมาะสมต่อเหตุใช้โดรนและจรวดเล่นงานกำลังพลสหรัฐฯ รอบแล้วรอบเล่าในภูมิภาคแถบนี้

ในหนังสือที่ส่งถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (27 ต.ค.) ที่ผ่านมา ทางทำเนียบขาวระบุว่า ปฏิบัติการทางอากาศเป็นไปตามกรอบอำนาจทำสงครามของประธานาธิบดี และมีขึ้นตามหลังเหตุโจมตีกำลังพลและที่ตั้งทางทหารของสหรัฐฯ ในซีเรียและอิรักซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดเดือนที่ผ่านมา

“ตามคำสั่งของผม ในค่ำคืนวันที่ 26 ตุลาคม 2023 กองกำลังสหรัฐฯ ปฏิบัติการโจมตีเป้าหมาย เล่นงานที่ตั้งต่างๆ ทางภาคตะวันออกของซีเรีย” ไบเดนกล่าว พร้อมระบุว่า โกดังทั้งหลายที่ถูกโจมตีนี้ถูกใช้งานโดยกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน และกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

“การโจมตีมีเจตนาเพื่อตั้งมั่นป้องกันตนเองและดำเนินการในแนวทางที่จำกัดความเสี่ยงของสถานการณ์ลุกลามบานปลาย และหลีกเลี่ยงไม่ให้พลเรือนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต” หนังสือระบุ พร้อมบอกว่าปฏิบัติการนี้ “เป็นสิ่งจำเป็นและสมน้ำสมเนื้อ”

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) แถลงปฏิบัติการทางทหารดังกล่าวครั้งแรกเมื่อคืนวันพฤหัสบดี (26 ต.ค.) โดยบอกว่ามันเป็นภารกิจป้องกันตนเองและมีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวเพื่อปกป้องและคุ้มกันบุคลากรของสหรัฐฯ ในอิรักและซีเรีย

ทั้งนี้ ทาง ‘พลจัตวา แพท ไรเดอร์’ แห่งกองทัพอากาศ บอกในเวลาต่อมา ว่า เครื่องบินรบของอเมริกาโจมตีโกดังเก็บอาวุธและกระสุน ใกล้เมืองอัล-บูคามาล ตามแนวชายแดน พร้อมอ้างว่าโกดังทั้ง 2 ถูกทำลายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

‘จอห์น เคอร์บี’ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เน้นว่า พวกเจ้าหน้าที่ยังคงอยู่ระหว่างประเมินปฏฺิบัติการ และเตือนว่ากองกำลังอเมริกาจะไม่ลังเลที่จะใช้มาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมในการป้องกันตนเอง

ฐานทัพต่างๆ ของสหรัฐฯ ในอิรักและซีเรียถูกโจมตีมาแล้วอย่างน้อย 16 รอบ นับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคมเป็นต้นมา จากข้อมูลของกองบัญชาการสหรัฐฯ มีทหารหลายนายได้รับบาดเจ็บจากเหตุโจมตีเหล่านั้น นอกจากนี้ ยังมีพนักงานสัญญาจ้างที่เป็นพลเรือนรายหนึ่งเสียชีวิต สืบเนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลว ระหว่างที่ถูกโจมตี

ปัจจุบันมีทหารสหรัฐฯ ราว 1,000 นาย ประจำการอยู่ในซีเรีย ยึดครองบ่อน้ำมันสำคัญๆ และทางข้ามแม่น้ำยูเฟรทีสหลายแห่ง ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มติดอาวุธที่นำโดยพวกเคิร์ด แม้ว่ารัฐบาลในดามัสกัส ส่งเสียงประท้วงซ้ำๆ ว่า การปรากฏตัวของทหารสหรัฐฯ ถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

เหตุโจมตีด้วยจรวดและโดรนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่สถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับนักรบปาเลสไตน์เป็นไปอย่างดุเดือด เข่นฆ่าชีวิตในทั้ง 2 ฟากฝั่งแล้วมากกว่า 9,000 ราย

วอชิงตันตอบสนองสถานการณ์ความตึงเครียดที่พุ่งสูง ด้วยการประจำการทหารอย่างมีนัยสำคัญ ในนั้นรวมถึงกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี 2 กอง ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เช่นเดียวกับเรือยกพลขึ้นบกจู่โจม ที่บรรทุกกำลังพล 2,000 นาย ใกล้กับชายฝั่งอิสราเอล

นอกจากนี้ ยังมีทหารสหรัฐฯ อื่นๆ อีก 900 นาย ถูกส่งเข้าไปประจำการในจุดต่างๆ ที่ไม่มีการเปิดเผยในตะวันออกกลาง เจ้าหน้าที่อเมริกาอ้างว่าความเคลื่อนไหวนี้มีเจตนาเสริมการป้องกันกองกำลังของตนเองในภูมิภาค และป้องปรามไม่ให้ตัวละครภายนอกเข้าเกี่ยวพันในสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top