ส่องจุดยืนนานาชาติต่อสงคราม ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ ภายใต้เสียงแบ่งขั้ว ที่มองทั่วๆ แล้ว มีมากกว่าปัญหาแก่งแย่งดินแดน

(17 ต.ค. 66) มีคำกล่าวว่า ต่อให้เราไม่ยุ่งกับการเมือง เดี๋ยวการเมืองก็จะมายุ่งกับเราเอง เช่นเดียวกันกับสงคราม ที่ต่อให้เราไม่ได้เป็นคนก่อ และไม่ใช่คู่กรณี แต่สุดท้ายก็จะถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องจนได้ ไม่ทางใด ก็ทางหนึ่ง

ไม่ต่างจากสงครามระหว่างอิสราเอล และ กองกำลังฮามาส ณ ขณะนี้ ที่ทั่วโลกกำลังจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และ กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างร้อนแรงในหลายประเทศ แม้ไม่ได้อยู่เขตพื้นที่สงครามแต่อย่างใด

ซึ่งต้องยอมรับว่าการโจมตีของกลุ่มฮามาส เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมเป็นต้นมา ถือเป็นการโจมตีชุมชนชาวอิสราเอลที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังถือเป็นหนึ่งในเหตุก่อการร้ายช็อกโลกที่สุดครั้งหนึ่งเช่นกัน และทำให้ ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ ผู้นำอิสราเอลประกาศภาวะสงครามในอิสราเอลเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี และใช้ปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบ โจมตีฉนวนกาซาอย่างหนัก ทำลายอาคาร บ้านเรือนย่อยยับ และทำให้ชาวปาเลสไตน์นับล้านพลัดถิ่นกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย

ท่ามกลางวิกฤติสงครามในฉนวนกาซา โลกก็ได้แบ่งขั้วเป็น 2 ฝั่ง โดยชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และอีกกว่า 40 ประเทศออกมาประณามกลุ่มก่อการร้ายฮามาส และสนับสนุนฝ่ายอิสราเอล โดยมองว่าอิสราเอลมีความชอบธรรมตามกฎหมายในการป้องกันตนเอง

แต่ในขณะเดียวกัน โลกมุสลิมในตะวันออกกลาง นำโดย อิหร่าน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต ซีเรีย และอิรัก มองว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีต้นเหตุเกิดจากอิสราเอล ที่สร้างความขัดแย้ง และความรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์ ในเขตเวสต์แบงก์ และฉนวนกาซา มานานนับ 10 ปี รวมถึงการก่อเหตุรุนแรงของทางการอิสราเอลในมัสยิดศักดิ์สิทธิ์ ‘อัล-อัคซอร์’ และการโจมตีทางอากาศในฉนวนกาซาที่ผ่านมา ได้สังหารชีวิตพลเรือนชาวปาเลสไตน์ไปเป็นจำนวนมาก และต้องไม่ลืมว่า การรุกไล่ที่ดิน และครอบครองดินแดนปาเลสไตน์ของรัฐบาลอิสราเอลเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แต่ทั้งนี้ ก็มีหลายชาติมหาอำนาจที่พยายามชูนโยบายสายกลาง โดยมองว่า ไม่ใช่เวลาที่จะออกมาเลือกข้าง หรือประณามการกระทำของใครว่าเป็นฝ่ายผิดทั้งหมด ซึ่งกลุ่มพันธมิตรสายกลาง นำโดย จีน รัสเซีย ตุรกี กลุ่มประเทศสหภาพแอฟริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายลดความรุนแรงลง เพื่อสามารถถอยกลับไปสู่จุดที่สามารถเปิดโต๊ะเจรจาสันติภาพได้ และยังเชื่อว่า ‘การแก้ปัญหาแบบสองรัฐ’ (Two-state Solution) สามารถยุติความขัดแย้งได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้ก็ต่อต้านการใช้ความรุนแรงกับพลเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม

แต่หากมองมาทางฟากฝั่งเอเชียแปซิฟิก ก็จะพบว่าประเทศที่เป็นพันธมิตรอันดีกับสหรัฐอเมริกา มักแสดงท่าทีออกมาประณามกลุ่มฮามาส หรือสนับสนุนอิสราเอลอย่างชัดเจน อาทิ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมทั้งไทยด้วย แต่ประเทศที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ มักเลือกที่จะสนับสนุนปาเลสไตน์ หรือ เลือกนโยบายเป็นกลางที่ประณามความรุนแรงจากทุกฝ่าย อาทิ เกาหลีเหนือ จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น

ในขณะที่ ประเทศในโซนอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก แสดงท่าทีไปในทางสนับสนุนอิสราเอลอย่างชัดเจน แต่โซนอเมริกาใต้กลับเสียงแตก มีทั้งสนับสนุนอิสราเอล และขอยืนเป็นกลาง หรือประณามความรุนแรงจากทั้งสองฝ่าย ส่วนกลุ่มทวีปแอฟริกาค่อนข้างชัดเจนว่า ส่วนใหญ่ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความรุนแรงในกาซา และไม่ขอออกตัวประณามกลุ่มฮามาสแต่เพียงฝ่ายเดียวด้วยเช่นกัน

เมื่อทั่วโลกมีความเห็นที่แตกต่างกันชัดเจน 2 กลุ่ม ความรุนแรงในกาซา จะยกระดับไปสู่สงครามตัวแทน หรือสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้หรือไม่?

‘เจเรมี โบเวน’ ผู้สื่อข่าวนานาชาติ ของสำนักข่าว BBC มีความเห็นว่า สงครามครั้งนี้จะทวีความรุนแรงขึ้นหากมีการแทรกแซงจากองค์กรภายนอก อาทิ อิหร่าน กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ในเลบานอน รวมถึง กองทัพสหรัฐฯ เช่นกัน และจำนำความเสียหายใหญ่หลวงมาสู่ภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลของชาติในตะวันออกกลางรู้ดี และเชื่อว่าไม่น่าจะชาติใดกล้าแบกรับความเสี่ยงนี้  ดังนั้น การสู้รบในฉนวนกาซาน่าจะถูกจำกัดวงไม่ให้กระจายออกไปสู่พื้นที่อื่นๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ กลุ่มฮามาส ต้องการบรรลุเป้าหมายใดจากการใช้กำลังทหารโจมตีอิสราเอล แม้จะรู้ว่าเป็นการสงครามแบบอสมมาตร

เรื่องนี้ ‘โมฮัมเหม็ด อัล-เดอิฟ’ โฆษกกลุ่มฮามาส เคยออกมาประกาศว่า “ความอดทนสิ้นสุดแล้ว” ดังนั้น เหตุผลหลักของการขับเคลื่อนยุทธวิธีของกลุ่มฮามาส คือ ตอบโต้นโยบายกดขี่ของรัฐบาลอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ ที่สั่งสมเป็นปัญหามานานหลายสิบปี

แต่ทั้งนี้ ‘อับดุลาซิส เซเกอร์’ หัวหน้าศูนย์วิจัย Gulf Research Center แห่งซาอุดีอาระเบีย มองว่า สิ่งที่ถือว่าฮามาสบรรลุเป้าหมายจากสถานการณ์นี้ คือ สามารถเปิดเผยจุดอ่อนด้านความมั่นคงของอิสราเอล และทัศนคติของรัฐบาลอิสราเอลที่มีต่อปาเลสไตน์อย่างหมดเปลือก

อีกทั้งยังทำให้ทั่วโลกหันกลับมามองปัญหาในดินแดนปาเลสไตน์ และถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก แทนที่จะถูกมองเป็นประเด็นรองๆ หรือ ถูกลดทอนความสำคัญโดยสื่อตะวันตกอย่างที่แล้วมา ซึ่งนั่นทำให้ปัญหาด้านสันติภาพในดินแดนแห่งนี้ถูกซุกไว้ใต้พรมที่เขียนด้วยคำสวยหรูว่า “แผนสันติภาพ” มาโดยตลอด

และทำให้วันนี้ มีการขุดคุ้ย ตีแผ่ ไล่เรียง ประวัติศาสตร์เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างชาวอิสราเอล และชาวปาเลสไตน์ กันอย่างกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา และมองสถานการณ์ครั้งนี้ด้วยใจที่เป็นธรรมมากขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกข้าง หรือกล่าวประณามฝ่ายใด


เรื่อง : ยีนส์​ อรุณรัตน์

อ้างอิง : The Washington Institute / Council on Foreign Relations / BBC / Euro News