Sunday, 12 May 2024
ฉนวนกาซา

สหรัฐฯ ชื่นชม อิสราเอล ถล่มที่อยู่ชาวปาเลสไตน์ สังหารเด็ก 15 ผู้หญิง 4 ด้วยจรวดที่ทันสมัย

WorldUpdate เปิดเผยกรณีอิสราเอล สั่งกองทัพใช้เครื่องบินล้ำน่านฟ้าฉนวนกาซ่า แล้วยิงจรวดใส่อาคารที่อยู่อาศัยชาวปาเลสไตน์ที่อยู่กันอย่างหนาแน่นและยากจนราว 2 ล้านคน รวมทั้งระดมยิงขีปนาวุธภาคพื้นดินใส่ตามอาคารที่พักอาศัยของพลเรือนเหล่านั้น โดยอ้างดื้อ ๆ ว่าโจมตีสังหารผู้นำกองกำลังปาเลสไตน์ ที่ไม่ใช่พลเรือนอิสราเอล และไม่ใช่ดินแดนอิสราเอล แม้ว่าฝ่ายปาเลสไตน์ที่ด้อยกว่ามากจะยิงจรวดจริงปนจรวดปลอมป้องกันตนเองสวนไปใส่กรุงเทลอาวีฟราวเกือบ 1,000 ลูก แต่จรวดเหล่านั้นถูกสกัดด้วยระบบต่อต้านอากาศยาน Iron  drome ของอิสราเอลราว 70% หลุดรอดไป 30% ใส่กรุงเทลอาวีฟ และสนามบิน ในอิสราเอล แต่โดนส่วนไม่ค่อยสำคัญนัก

ล่าสุดมีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิต 44 คน เป็นเด็กเล็ก 15 คน ผู้หญิง 4 คน ผู้บาดเจ็บสาหัส จำนวน 360 คนเด็กหลายคนถึงต้องตัดขาที่เละทิ้งทั้ง 2 ข้าง แม้อิสราเอล จะรับปากกับอียิปต์ว่าจะหยุดยิง แต่ภายหลังกำหนดก็ยังยิงขีปนาวุธมาลงตามตึกอาคารอีกเป็นระยะ 

>> ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้แถลงชื่นชมรัฐบาลอิสราเอลที่ปกป้องประชาชนอิสราเอลจากชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา 3 วันของการโจมตีได้สังหารชาวปาเลสไตน์หลายสิบคนเสียชีวิตและบาดเจ็บ

"ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ อิสราเอลได้ปกป้องประชาชนของตนจากการโจมตีด้วยจรวดใส่กลุ่มปาเลสไตน์ สหรัฐฯ ภูมิใจที่ได้สนับสนุนระบบ Iron-Dome ของอิสราเอล ซึ่งสามารถสกัดกั้นจรวดหลายร้อยลูกและช่วยชีวิตผู้คนอิสราเอลนับไม่ถ้วน”

>> ส่วนรัฐบาลอังกฤษ และรัฐบาลยูเครน ก็แถลงชื่นชมอิสราเอล แนวทางเดียวกับสหรัฐฯ

ในข้อเท็จจริงแล้ว ชาวปาเลสไตน์บางส่วนเคยออกไปต่อสู้กับพวกกลุ่มก่อการร้าย ISIS ในซีเรีย อิรัก ที่สหรัฐฯ อิสราเอลหนุนหลัง ต่อมากลุ่มก่อการร้ายนี้พ่ายแพ้เหลือน้อยนิดจากการถล่มของรัสเซีย และสลายตัวไปหลบอยู่ตามค่ายทหารเถื่อนสหรัฐในตอนเหนือ ซีเรีย อิรัก

ชาวปาเลสไตน์ จึงไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นนักรบ แต่ทุกคนกลับถูกอิสราเอล สหรัฐฯ อังกฤษ เหมารวมคนหลายล้านคนว่าเป็นผู้ก่อการร้ายภัยคุกคาม เมื่ออยู่ในฉนวนกาซาพวกเขาก็เป็นชาวบ้านทำมาหากินธรรมดา แต่เมื่อใดที่ถูกอิสราเอล นำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดใส่ก่อน และยิงขีปนาวุธใส่ พวกเขาก็ต้องยิงจรวดที่มีไม่มากนักตอบโต้ไปบ้าง จะให้ถูกยิงถล่มฝ่ายเดียวย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่พวกเขากลับถูกเหมารวมว่าเป็นภัยต่อชาวยิวที่สุขสบาย มีอาวุธทันสมัยที่ไล่ล่าและสังหารเด็ก ๆ ที่ไม่สามารถจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้ได้เลย

‘ชาวปาเลสไตน์’ หลายหมื่นคนในฉนวนกาซาแห่อพยพลงใต้ หลัง ‘อิสราเอล’ ขีดเส้น 24 ชม.ให้หนี ก่อนบุกโจมตีฮามาส

(14 ต.ค.66) ชาวปาเลสไตน์หลายหมื่นคนแห่อพยพลงไปยังพื้นที่ตอนใต้ของฉนวนกาซาในวันนี้ หลังกำหนดเส้นตายที่อิสราเอลเตือนให้อพยพภายใน 24 ชั่วโมงเริ่มใกล้เข้ามา ขณะที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าปฏิบัติการโจมตีภาคพื้นดินของอิสราเอลเพื่อแก้แค้นต่อกลุ่มฮามาสน่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า

นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอลเตือนว่า การทิ้งบอมบ์ถล่มทางอากาศต่อฉนวนกาซาตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ‘เป็นแค่จุดเริ่มต้น’ ของปฏิบัติการเช็กบิลกวาดล้างกลุ่มฮามาส ซึ่งบุกจู่โจมพื้นที่ตอนใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. และคร่าชีวิตพลเมืองอิสราเอลไปแล้วกว่า 1,300 คน

ขณะเดียวกัน กองทัพอิสราเอลยืนยันว่าได้มีการส่งทหารราบบุกเข้าไปตรวจค้นพื้นที่บางจุดของฉนวนกาซาในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ‘เพื่อกำจัดพวกผู้ก่อการร้ายและคลังอาวุธ’ รวมถึงติดตามหาตัวประกันที่ยังคงสูญหายด้วย

ผู้ที่ถูกสังหารระหว่างปฏิบัติการบุกแบบสายฟ้าแลบของกลุ่มฮามาสส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ขณะที่บางคนเปรียบเทียบเหตุโจมตีอิสราเอลครั้งนี้ว่าเลวร้ายและน่าตกตะลึงพอๆ กับเหตุวินาศกรรม 9/11

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ระบุว่ากำลังมีการปรึกษาหารือกับรัฐบาลในภูมิภาคเกี่ยวกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา เนื่องจากมีชาวปาเลสไตน์นับล้านๆ คน ที่ต้องติดอยู่ในพื้นที่ในสภาพถูกตัดน้ำไฟ และขาดแคลนอาหาร หลังจากที่อิสราเอลใช้มาตรการปิดล้อมแบบเบ็ดเสร็จ

ชาวปาเลสไตน์กว่า 1.1 ล้านคนทางตอนเหนือของฉนวนกาซาได้รับคำเตือนเมื่อวันศุกร์ (13) ให้รีบอพยพลงใต้ภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนที่อิสราเอลจะเริ่มต้นปฏิบัติการภาคพื้นดิน ขณะที่กลุ่มฮามาสประกาศกร้าวว่าจะขอสู้ ‘จนเลือดหยดสุดท้าย’ และเรียกร้องให้ประชาชนอย่าละทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือน

พล.ร.ต.แดเนียล ฮาการี โฆษกกองทัพอิสราเอล ระบุว่า ทหารราบซึ่งมีหน่วยรถถังให้การสนับสนุนได้บุกเข้าไปในบางพื้นที่ของฉนวนกาซาเพื่อโจมตีกองกำลังจรวดของฝ่ายปาเลสไตน์ และหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวประกันที่ถูกจับไป ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่อิสราเอลออกมายืนยันว่ามีการส่งทหารภาคพื้นดินเข้าไปยังฉนวนกาซา นับตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤตการณ์ขึ้น

“เราได้โจมตีพวกศัตรูด้วยพลังที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน” เนทันยาฮู แถลงผ่านสื่อโทรทัศน์วานนี้ (13 ต.ค.) “ผมขอย้ำว่านี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น”

ชาวปาเลสไตน์หลายหมื่นคนตัดสินใจอพยพหนีไปยังพื้นที่ปลอดภัยหลังได้รับคำเตือนจากอิสราเอล ขณะที่อีกหลายคนประกาศว่าจะไม่ไปไหน

“ตายเสียยังดีกว่าทิ้งที่นี่ไป” โมฮัมหมัด วัย 20 ปี ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่ด้านนอกอาคารหลังหนึ่งที่ถูกอิสราเอลทิ้งระเบิดถล่มจนพังราบ

มัสยิดหลายแห่งในกาซาได้ออกประกาศเรียกร้องให้ชาวปาเลสไตน์ “รักษาบ้านเรือน รักษาดินแดนของพวกท่านไว้”

องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และอีกหลายหน่วยงานออกมาเตือนความเสี่ยงเกิด ‘หายนะ’ ครั้งใหญ่ หากพลเรือนนับล้านๆ ถูกบังคับให้ต้องอพยพหนีตายภายในระยะเวลาอันสั้น พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลอิสราเอลยุติการปิดล้อมกาซาเพื่อเปิดทางให้มีการส่งความช่วยเหลือเข้าไป

“เราจำเป็นต้องส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปให้ถึงทุกพื้นที่ในกาซาทันที เพื่อให้ประชาชนที่นั่นได้มีเชื้อเพลิง น้ำ และอาหาร แม้แต่สงครามก็ต้องมีกฎเกณฑ์ด้วย” อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ แถลงวานนี้ (13 ต.ค.)

ประธานาธิบดี ไบเดน กล่าวสุนทรพจน์ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย โดยยืนยันว่าสหรัฐฯ กำลังทำงานร่วมกับอิสราเอล อียิปต์ จอร์แดน รัฐบาลอาหรับชาติอื่นๆ รวมถึงยูเอ็น เพื่อแก้ไขวิกฤตมนุษยธรรมในฉนวนกาซา พร้อมย้ำว่า “ชาวปาเลสไตน์ส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับพวกฮามาสและการโจมตีอันโหดเหี้ยมป่าเถื่อน พวกเขาเองก็ทุกข์ทรมานจากผลของสงครามเช่นกัน”

สเตฟาน ดูจาร์ริค โฆษกยูเอ็น เตือนว่า “เป็นไปไม่ได้เลย” ที่จะให้ชาวปาเลสไตน์ทางตอนเหนือของกาซาอพยพลงใต้ภายใน 24 ชั่วโมงตามคำสั่งของอิสราเอล โดยที่ไม่เกิด “ผลลัพธ์ร้ายแรงด้านมนุษยธรรม” ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวทำให้รัฐบาลเทลอาวีฟออกมาแสดงความไม่พอใจ และเรียกร้องให้ยูเอ็นหันมาประณามฮามาส และสนับสนุนสิทธิในการป้องกันตนเองของอิสราเอลจะดีกว่า

ประธานาธิบดี มะห์มูด อับบาส ผู้นำองค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) บอกกับ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่จอร์แดนว่า การบังคับให้ชาวปาเลสไตน์ต้องอพยพครั้งนี้ไม่ต่างกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 1948 ที่คนปาเลสไตน์หลายแสนต้องหนีตายหรือถูกขับไล่ออกจากดินแดนที่เรียกว่า ‘อิสราเอล’ ในปัจจุบัน และพลเรือนกาซาส่วนใหญ่ก็คือลูกหลานของผู้ที่ต้องลี้ภัยในวันนั้น

ฉนวนกาซาได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างแออัดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และถูกปิดล้อมเอาไว้ทุกด้าน ซึ่งนอกจากมาตรการปิดล้อมของอิสราเอลแล้ว รัฐบาลอียิปต์ก็ไม่เต็มใจที่จะทำตามเสียงเรียกร้องให้เปิดพรมแดนฝั่งกาซาเพื่อช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ด้วย

ในเขตเวสต์แบงก์ กลุ่มผู้ประท้วงที่สนับสนุนกาซาได้ยิงปะทะกับกองกำลังความมั่นคงอิสราเอลจนเสียชีวิตไป 16 คน ตามรายงานของเจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์ ขณะที่หลายฝ่ายกังวลว่าความขัดแย้งครั้งนี้อาจลุกลามขยายวงกว้าง โดยเฉพาะบริเวณพรมแดนตอนเหนือของอิสราเอลฝั่งที่ติดกับเลบานอนซึ่งเกิดการปะทะอย่างรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าขีปนาวุธที่อิสราเอลยิงข้ามเข้าไปยังตอนใต้ของเลบานอนเมื่อวานนี้ (13 ต.ค.) ส่งผลให้ อิสซาม อับดัลลาห์ (Issam Abdallah) ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ เสียชีวิต และยังมีนักข่าวคนอื่นๆ ได้รับบาดเจ็บอีก 6 คน

‘อิสราเอล’ โจมตีทางอากาศ ทิ้งบอมบ์ใส่ผู้อพยพปาเลสไตน์ในกาซา ดับแล้วอย่างน้อย 70 ราย ช็อก!! พบเหยื่ออายุน้อยสุดเพียง 2 ขวบ

(15 ต.ค. 66) ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเที่ยวหนึ่ง ถล่มใส่คาราวานผู้คนที่กำลังหลบหนี บริเวณทางเหนือของฉนวนกาซา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 70 ราย ในนั้นมีเด็กหลายคน อายุน้อยสุดแค่ 2 ขวบ ความโหดร้ายป่าเถื่อนซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางปฏิบัติการทิ้งบอมบ์ของอิสราเอล แก้แค้นกรณีถูกกลุ่มนักรบฮามาสบุกจู่โจมนองเลือดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อย่างไรก็ตาม รัฐยิวปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้

สำนักข่าวนิวยอร์กโพสต์ รายงานข่าวระบุว่า นอกเหนือจากผู้เสียชีวิตแล้ว ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 200 ราย ในเหตุการณ์นี้ ซึ่งเกิดขึ้นบนเส้นทางที่ปลอดภัยแห่งนี้ บนถนนชาลาห์ อัล-อิน ในกาซา ซิตี ตอนบ่ายวันศุกร์ (13 ต.ค.)

การโจมตีครั้งนี้ เป็นการโจมตีใส่ถนนสายหนึ่งซึ่งคับคั่งไปด้วยยานพาหนะ ในระหว่างที่ชาวปาเลสไตน์พยายามหลบหนีออกจากกาซา ก่อนถึงเส้นตายที่ทางอิสราเอลขีดไว้ สำหรับให้อพยพออกจากฉนวนแห่งนี้ ก่อนหน้าสิ่งที่คาดหมายว่า อิสราเอลจะเปิดปฏิบัติการโจมตีทางภาคพื้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมอิสราเอล ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีคาราวานผู้อพยพ โดยอ้างว่าไม่พบสิ่งบ่งชี้ว่ากองกำลังของพวกเขาอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว

กระทรวงกลาโหมอิสราเอล ให้ข้อมูลเพียงว่าในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีพลเรือนมากกว่า 1 ล้านคนที่หลบหนีไปทางใต้ของฉนวนกาซา ผ่านถนนสายหลัก 2 สาย ระหว่าง 10.00 น. ถึง 16.00 น. ของวันเสาร์ (14 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น

จากการตรวจสอบของบีบีซี พบว่ามีผู้หญิงและเด็กเป็นหนึ่งในบรรดาผู้เสียชีวิตด้วย

วิดีโอที่เผยแพร่โดยกระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์ พบเห็นเจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉินกำลังเดินทางมาถึงจุดเกิดเหตุที่ถูกโจมตีทางอากาศ และมีเจ้าหน้าที่รถฉุกเฉินคันหนึ่งถูกโจมตี ระหว่างที่พวกเขากำลังพยายามพาตัวเด็กหญิงคนหนึ่งและผู้หญิงอีกคนเข้าไปภายในรถฉุกเฉิน

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางปฏิบัติการโจมตีแก้แค้นของอิสราเอล ต่อเหตุการณ์ที่พวกนักรบฮามาสบุกจู่โจมสายฟ้าแลบเข้าไปยังดินแดนของอิสราเอล เข่นฆ่าหลายครอบครัว กราดยิงใส่เทศกาลดนตรีหนึ่ง ฆาตกรรมทารกและเด็กไปราว 40 ชีวิต รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,300 รายในอิสราเอล

จนถึงตอนนี้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 2,200 คน ในปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ของอิสราเอล ในนั้นเป็นเด็ก 724 คน

ระทึก!! ‘อิหร่าน’ ขู่ชิงโจมตีอิสราเอลก่อน ใน ‘อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า’ หลังรัฐยิวตั้งท่าบุกฉนวนกาซา โหมกระพือความขัดแย้งลุกลามหนัก

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เตือนว่ามีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะชิงโจมตีเล่นงานอิสราเอลก่อน ‘ในอีกไม่ชั่วโมงข้างหน้า’ ส่งสัญญาณแข็งกร้าวถึงอิสราเอล ในขณะที่รัฐยิวเตรียมพร้อม สำหรับเปิดปฏิบัติการจู่โจมทางภาคพื้นบุกเข้าไปยังฉนวนกาซา

เตหะรานส่งเสียงเตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่าการรุกรานทางภาคพื้นฉนวนกาซา ที่ถูกปิดล้อมมาช้านาน จะต้องเจอกับการตอบโต้จากแนวหน้าอื่นๆ โหมกระพือความกังวลว่าความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มนักรบปาเลสไตน์ ฮามาสอาจลุกลามขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น ลากประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมวงด้วย

“ความเป็นไปได้ของปฏิบัติการชิงโจมตีก่อนของเครือข่าย ‘Axis of Resistance’ (กลุ่มซึ่งเป็นการผนึกกำลังกันระหว่างกลุ่มก๊กมุสลิมชีอะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในอิรัก กับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน) คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า” ‘ฮอสเซน อามีร์ อับดอลลาห์เฮียน’ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐ อ้างถึงการประชุมระหว่งเขากับ ‘ฮัสซัน นาสรัลเลาะห์’ ผู้นำฮิซบอลเลาะห์ เมื่อวันเสาร์ (14 ต.ค.)

ก่อนหน้านี้ในวันจันทร์ (16 ต.ค.) ‘ฮอสเซน อามีร์ อับดอลลาห์เฮียน’ และ ‘อิบราฮิม ไรซี’ ประธานาธิบดีอิหร่าน ต่างบอกว่าเวลาสำหรับการหาทางออกทางการเมืองใกล้หมดลงแล้ว และเตือนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสจะลุกลามสู่แนวหน้าอื่นๆ

‘อามีร์ อับดอลลาห์เฮียน’ ประกาศกร้าวว่าพวกผู้นำ Axis of Resistance จะไม่ยอมให้อิสราเอลทำอะไรตามอำเภอใจในฉนวนกาซา “ถ้าเราไม่ปกป้องฉนวนกาซาในวันนี้ วันพรุ่งนี้เราคงจำเป็นต้องป้องกันสกัดระเบิดฟอสฟอรัสเหล่านี้ จากการพุ่งใส่โรงพยาบาลเด็กทั้งหลายในประเทศของเราเอง”

อิสราเอล ประกาศสงครามกับกลุ่มนักรบ ‘ฮามาส’ ในดินแดนปาเลสไตน์หนึ่งวัน หลังจากพวกนักรบส่งสมาชิกระลอกแล้วระลอกเล่าจากฉนวนกาซา บุกฝ่าแนวป้องกันอันหนาแน่นเข้าไปโจมตีภายในอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เข่นฆ่าพลเรือนไปกว่า 1,400 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน

ทางอิสราเอล ตอบโต้กลับด้วยการทิ้งบอมบ์ถล่มฉนวนกาซาเป็นชุดๆ แบบไม่มีหยุด ทั้งจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศและปืนใหญ่ ทำย่านต่างๆ พังราบเป็นหน้ากลอง สังหารชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 2,750 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนเช่นกัน

เบื้องต้น อิหร่านออกมาแสดงความยินดีปรีดาต่อปฏิบัติการจู่โจมของฮามาส แต่ยืนกรานว่าพวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

คำเตือนของอิหร่านในวันจันทร์ (16 ต.ค.) มีขึ้นในขณะที่อิสราเอลได้เตรียมการสำหรับเปิดฉากรุกรานทางภาคพื้นเข้าไปยังฉนวนกาซา ท่ามกลางความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า มีพลเรือนปาเลสไตน์ติดอยู่ในฉนวนที่ถูกทิ้งบอมบ์อย่างหนักแห่งนี้เป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่อิสราเอลเปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ

อนึ่งนับตั้งแต่เหตุการณ์ปฏิวัติอิสลามปี 1979 อิหร่านหยิบยกการสนับสนุนปาเลสไตน์เป็นหนึ่งในเสาหลักของอุดมการณ์ของพวกเขา

ส่องจุดยืนนานาชาติต่อสงคราม ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ ภายใต้เสียงแบ่งขั้ว ที่มองทั่วๆ แล้ว มีมากกว่าปัญหาแก่งแย่งดินแดน

(17 ต.ค. 66) มีคำกล่าวว่า ต่อให้เราไม่ยุ่งกับการเมือง เดี๋ยวการเมืองก็จะมายุ่งกับเราเอง เช่นเดียวกันกับสงคราม ที่ต่อให้เราไม่ได้เป็นคนก่อ และไม่ใช่คู่กรณี แต่สุดท้ายก็จะถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องจนได้ ไม่ทางใด ก็ทางหนึ่ง

ไม่ต่างจากสงครามระหว่างอิสราเอล และ กองกำลังฮามาส ณ ขณะนี้ ที่ทั่วโลกกำลังจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และ กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างร้อนแรงในหลายประเทศ แม้ไม่ได้อยู่เขตพื้นที่สงครามแต่อย่างใด

ซึ่งต้องยอมรับว่าการโจมตีของกลุ่มฮามาส เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมเป็นต้นมา ถือเป็นการโจมตีชุมชนชาวอิสราเอลที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังถือเป็นหนึ่งในเหตุก่อการร้ายช็อกโลกที่สุดครั้งหนึ่งเช่นกัน และทำให้ ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ ผู้นำอิสราเอลประกาศภาวะสงครามในอิสราเอลเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี และใช้ปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบ โจมตีฉนวนกาซาอย่างหนัก ทำลายอาคาร บ้านเรือนย่อยยับ และทำให้ชาวปาเลสไตน์นับล้านพลัดถิ่นกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย

ท่ามกลางวิกฤติสงครามในฉนวนกาซา โลกก็ได้แบ่งขั้วเป็น 2 ฝั่ง โดยชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และอีกกว่า 40 ประเทศออกมาประณามกลุ่มก่อการร้ายฮามาส และสนับสนุนฝ่ายอิสราเอล โดยมองว่าอิสราเอลมีความชอบธรรมตามกฎหมายในการป้องกันตนเอง

แต่ในขณะเดียวกัน โลกมุสลิมในตะวันออกกลาง นำโดย อิหร่าน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต ซีเรีย และอิรัก มองว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีต้นเหตุเกิดจากอิสราเอล ที่สร้างความขัดแย้ง และความรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์ ในเขตเวสต์แบงก์ และฉนวนกาซา มานานนับ 10 ปี รวมถึงการก่อเหตุรุนแรงของทางการอิสราเอลในมัสยิดศักดิ์สิทธิ์ ‘อัล-อัคซอร์’ และการโจมตีทางอากาศในฉนวนกาซาที่ผ่านมา ได้สังหารชีวิตพลเรือนชาวปาเลสไตน์ไปเป็นจำนวนมาก และต้องไม่ลืมว่า การรุกไล่ที่ดิน และครอบครองดินแดนปาเลสไตน์ของรัฐบาลอิสราเอลเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แต่ทั้งนี้ ก็มีหลายชาติมหาอำนาจที่พยายามชูนโยบายสายกลาง โดยมองว่า ไม่ใช่เวลาที่จะออกมาเลือกข้าง หรือประณามการกระทำของใครว่าเป็นฝ่ายผิดทั้งหมด ซึ่งกลุ่มพันธมิตรสายกลาง นำโดย จีน รัสเซีย ตุรกี กลุ่มประเทศสหภาพแอฟริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายลดความรุนแรงลง เพื่อสามารถถอยกลับไปสู่จุดที่สามารถเปิดโต๊ะเจรจาสันติภาพได้ และยังเชื่อว่า ‘การแก้ปัญหาแบบสองรัฐ’ (Two-state Solution) สามารถยุติความขัดแย้งได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้ก็ต่อต้านการใช้ความรุนแรงกับพลเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม

แต่หากมองมาทางฟากฝั่งเอเชียแปซิฟิก ก็จะพบว่าประเทศที่เป็นพันธมิตรอันดีกับสหรัฐอเมริกา มักแสดงท่าทีออกมาประณามกลุ่มฮามาส หรือสนับสนุนอิสราเอลอย่างชัดเจน อาทิ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมทั้งไทยด้วย แต่ประเทศที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ มักเลือกที่จะสนับสนุนปาเลสไตน์ หรือ เลือกนโยบายเป็นกลางที่ประณามความรุนแรงจากทุกฝ่าย อาทิ เกาหลีเหนือ จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น

ในขณะที่ ประเทศในโซนอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก แสดงท่าทีไปในทางสนับสนุนอิสราเอลอย่างชัดเจน แต่โซนอเมริกาใต้กลับเสียงแตก มีทั้งสนับสนุนอิสราเอล และขอยืนเป็นกลาง หรือประณามความรุนแรงจากทั้งสองฝ่าย ส่วนกลุ่มทวีปแอฟริกาค่อนข้างชัดเจนว่า ส่วนใหญ่ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความรุนแรงในกาซา และไม่ขอออกตัวประณามกลุ่มฮามาสแต่เพียงฝ่ายเดียวด้วยเช่นกัน

เมื่อทั่วโลกมีความเห็นที่แตกต่างกันชัดเจน 2 กลุ่ม ความรุนแรงในกาซา จะยกระดับไปสู่สงครามตัวแทน หรือสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้หรือไม่?

‘เจเรมี โบเวน’ ผู้สื่อข่าวนานาชาติ ของสำนักข่าว BBC มีความเห็นว่า สงครามครั้งนี้จะทวีความรุนแรงขึ้นหากมีการแทรกแซงจากองค์กรภายนอก อาทิ อิหร่าน กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ในเลบานอน รวมถึง กองทัพสหรัฐฯ เช่นกัน และจำนำความเสียหายใหญ่หลวงมาสู่ภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลของชาติในตะวันออกกลางรู้ดี และเชื่อว่าไม่น่าจะชาติใดกล้าแบกรับความเสี่ยงนี้  ดังนั้น การสู้รบในฉนวนกาซาน่าจะถูกจำกัดวงไม่ให้กระจายออกไปสู่พื้นที่อื่นๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ กลุ่มฮามาส ต้องการบรรลุเป้าหมายใดจากการใช้กำลังทหารโจมตีอิสราเอล แม้จะรู้ว่าเป็นการสงครามแบบอสมมาตร

เรื่องนี้ ‘โมฮัมเหม็ด อัล-เดอิฟ’ โฆษกกลุ่มฮามาส เคยออกมาประกาศว่า “ความอดทนสิ้นสุดแล้ว” ดังนั้น เหตุผลหลักของการขับเคลื่อนยุทธวิธีของกลุ่มฮามาส คือ ตอบโต้นโยบายกดขี่ของรัฐบาลอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ ที่สั่งสมเป็นปัญหามานานหลายสิบปี

แต่ทั้งนี้ ‘อับดุลาซิส เซเกอร์’ หัวหน้าศูนย์วิจัย Gulf Research Center แห่งซาอุดีอาระเบีย มองว่า สิ่งที่ถือว่าฮามาสบรรลุเป้าหมายจากสถานการณ์นี้ คือ สามารถเปิดเผยจุดอ่อนด้านความมั่นคงของอิสราเอล และทัศนคติของรัฐบาลอิสราเอลที่มีต่อปาเลสไตน์อย่างหมดเปลือก

อีกทั้งยังทำให้ทั่วโลกหันกลับมามองปัญหาในดินแดนปาเลสไตน์ และถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก แทนที่จะถูกมองเป็นประเด็นรองๆ หรือ ถูกลดทอนความสำคัญโดยสื่อตะวันตกอย่างที่แล้วมา ซึ่งนั่นทำให้ปัญหาด้านสันติภาพในดินแดนแห่งนี้ถูกซุกไว้ใต้พรมที่เขียนด้วยคำสวยหรูว่า “แผนสันติภาพ” มาโดยตลอด

และทำให้วันนี้ มีการขุดคุ้ย ตีแผ่ ไล่เรียง ประวัติศาสตร์เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างชาวอิสราเอล และชาวปาเลสไตน์ กันอย่างกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา และมองสถานการณ์ครั้งนี้ด้วยใจที่เป็นธรรมมากขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกข้าง หรือกล่าวประณามฝ่ายใด

ระเบิด 'โรงพยาบาลฉนวนกาซา' ดับครึ่งพัน ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก 'ฮามาส' ชี้!! นี่คืออาชญากรรมสงคราม ฟากอิสราเอลปัดเอี่ยว

(18 ต.ค. 66) เกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่โรงพยาบาลในฉนวนกาซาซึ่งเต็มไปด้วยผู้ได้รับบาดเจ็บรวมถึงชาวปาเลสไตน์อื่น ๆ ที่หาพี่พักพิงเพื่อหลบหนีความรุนแรง เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขกาซา ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 500 ราย

เหตุระเบิดโรงพยาบาลที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงครั้งนี้ เกิดขึ้นที่อัล-อะห์ลี ซึ่งมีสภาพไม่ต่างจากโรงพยาบาลอื่น ๆ ในฉนวนกาซาในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ที่เต็มไปด้วยชาวปาเลสไตน์จำนวนมากซึ่งพากันลี้ภัยไปอยู่ในโรงพยาบาล โดยหวังว่าพวกเขาจะรอดพ้นจากการทิ้งระเบิด หลังจากอิสราเอลได้สั่งให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองทั้งหมดรวมถึงพื้นที่โดยรอบทางตอนเหนืออพยพลงไปยังพื้นที่ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา

ภาพวิดีโอที่ได้รับการยืนยันว่า มาจากโรงพยาบาลที่เกิดเหตุแสดงให้เห็นเพลิงไหม้ลุกท่วมอาคาร ขณะที่บริเวณโรงพยาบาลเต็มไปด้วยศพผู้คนที่ฉีกขาดจากแรงระเบิด ผู้เสียชีวิตจำนวนมากเป็นเพียงเด็กเล็ก ซึ่งรอบศพของพวกเขาที่อยู่บนพื้นหญ้ามีผ้าห่ม เป้สะพายหลังของโรงเรียน และข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ กระจัดกระจายอยู่

หลังเกิดเหตุระเบิดทั้งรถพยาบาลและรถยนต์ส่วนตัวได้เร่งนำผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 350 คนไปยังโรงพยาบาลอัล-ชิฟา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลหลักในฉนวนกาซาที่เต็มไปด้วยผู้บาดเจ็บจากการโจมตีจากที่อื่นๆ อยู่แล้ว โดยสภาพภายในโรงพยาบาลผู้บาดเจ็บต่างนอนจมกองเลือดบนพื้นและกรีดร้องด้วยความเจ็บปวด

ด้าน อิสราเอลและปาเลสไตน์ ต่างกล่าวโทษกันและกันว่าเป็นฝ่ายยิงจรวดใส่โรงพยาบาลดังกล่าว โดยฮามาสอ้างว่าเป็นการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล และเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นการสังหารหมู่ที่น่าสยดสยอง

ขณะที่ กองทัพอิสราเอล ก็กล่าวโทษว่าโรงพยาบาลถูกโจมตีจากจรวดที่ยิงพลาดเป้าของกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตล์ ที่ได้ทำการยิงจรวดจำนวนมากใกล้กับโรงพยาบาลในขณะนั้น โดยอ้างข่าวกรองจากหลายแหล่งที่อิสราเอลมีในมือซึ่งบ่งชี้ว่า กลุ่มญิฮาดอิสลามเป็นผู้รับผิดชอบต่อการยิงจรวดที่ล้มเหลวครั้งนี้

ในเวลาต่อมาฝ่ายสื่อของรัฐบาลฮามาสได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า การโจมตีโรงพยาบาลในฉนวนกาซาถือเป็นอาชญากรรมสงคราม เพราะโรงพยาบาลเป็นที่พักพิงของผู้ป่วยและผู้ได้รับบาดเจ็บหลายร้อยคน รวมถึงผู้ที่ถูกบังคับให้ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากบ้านเรือนของตนเอง และขณะนี้มีเหยื่อหลายร้อยคนยังคงติดอยู่ภายใต้ซากปรักหักพังของโรงพยาบาลดังกล่าว

ขณะที่โฆษกของกองทัพอิสราเอลไม่สามารถยืนยันได้ว่าพวกเขาเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุที่เกิดขึ้น หรือไม่โดยบอกเพียงว่ากำลังตรวจสอบอยู่

นอกจากเหตุโจมตีโรงพยาบาลแล้ว องค์กรบรรเทาทุกข์และจัดหางานแห่งสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยสำหรับขาวปาเลสไตน์ของยูเอ็นยังระบุด้วยว่า รถถังของอิสราเอลได้ยิงจรวดโจมตีโรงเรียนของยูเอ็นในตอนกลางของฉนวนกาซา ซึ่งมีชาวปาเลสไตน์ลี้ภัยอยู่ราว 4,000 คน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 รายและได้รับบาดเจ็บอีกหลายสิบคน

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานของยูเอ็นในพื้นที่ฉนวนกาซาอย่างน้อย 24 แห่งที่ถูกโจมตีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีเจ้าหน้าที่ของยูเอ็นเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 14 ราย

‘โมฮาเหม็ด ซาลาห์’ ดาวเตะลิเวอร์พูล วอนเหล่าผู้นำโลกเห็นแก่สันติภาพ เร่งช่วยเหลือคนในฉนวนกาซา ลั่น!! ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ควรได้รับการปกป้อง

เมื่อไม่นานนี้ ‘มุฮัมมัด เศาะลาห์ ฮามิด มะห์รูส ฆอลี’ หรือ ‘โมฮาเหม็ด ซาลาห์’ เป็นนักฟุตบอลชาวอียิปต์ ปัจจุบันเล่นในตำแหน่งกองหน้าให้แก่ลิเวอร์พูลสโมสรยักษ์ใหญ่แห่งศึก พรีเมียร์ลีก อังกฤษ และทีมชาติอียิปต์ ได้โพสต์คลิปวิดีโอออกมาเรียกร้องให้เหล่าผู้นำของโลกส่งความช่วยเหลือไปยังผู้คนในฉนวนกาซาโดยด่วน

ในช่วงหลายวันที่ผ่านมาเกิดการสู้รบกันอย่างหนักระหว่าง ‘อิสราเอล’ กับ ‘กลุ่มฮามาส’ ซึ่งเป็นกลุ่มกองกำลังติดอาวุธในปาเลสไตน์ จนทำให้มียอดผู้เสียชีวิตหลายคนจากทั้ง 2 ฝ่าย ขณะที่สิ่งก่อสร้างของทั้ง 2 ฝั่งก็ได้รับความเสียหายอย่างมากเช่นกัน

ทั้งนี้ ไม่นานมานี้มีเหตุระเบิดเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลอัล-อะห์ลี อัล-อาระบี แบปทิสต์ ในฉนวนกาซาจนทำให้เป็นที่เชื่อกันว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 500 คน ซึ่งฝั่งปาเลสไตน์ อ้างว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล ขณะที่อิสราเอล อ้างว่ามันเกิดความผิดพลาดจากฝั่งปาเลสไตน์เอง โดยเรื่องดังกล่าวทำให้สถานการณ์โดยรวมบานปลายขึ้นไปอีก

ซาลาห์ พูดผ่านคลิปที่เขาโพสต์ลงโซเชียลมีเดียของตัวเองว่า “มันไม่เคยเป็นเรื่องง่ายกับการออกมาพูดในเวลาแบบนี้ แต่ทุกวันนี้มันมีความรุนแรงและความอำมหิตมากเกินไป สถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ทนดูไม่ได้ ทุกชีวิตต่างก็มีค่าและควรจะต้องได้รับการปกป้อง”

“มันจำเป็นต้องมีการหยุดการสังหารหมู่ และการทำให้ครอบครัวต้องถูกแยกห่างออกจากกันได้แล้ว สิ่งที่ชัดเจนในตอนนี้ก็คือ มันควรจะต้องอนุญาตให้มีการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยชาติไปยังฉนวนกาซาในทันที ผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่นกำลังเจอกับสถานการณ์ที่เลวร้าย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลเมื่อคืนนี้มันเป็นภาพที่น่าสยดสยองอย่างมาก”

“ผู้คนในฉนวนกาซาต้องการอาหาร, น้ำ และอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน ผมขอเรียกร้องให้เหล่าผู้นำของโลกรวมพลังกัน และช่วยกันหยุดยั้งการเข่นฆ่าวิญญาณอันบริสุทธิ์ มนุษยชาติต้องได้รับชัยชนะ”

เปิดแผน ‘อิสราเอล’ หลังสู้รบจบ จะปิดกั้นจุดผ่านแดนทั้งหมด  พร้อม ‘ตัดแหล่งรายได้-สร้างความมั่นคงใหม่’ ในฉนวนกาซา

(22 ต.ค. 66) ‘อาวี ดิชเตอร์’ รัฐมนตรีเกตรกรรมของอิสราเอล แถลงว่าอิสราเอลจะบังคับใช้เขตกันชนในฉนวนกาซา เมื่อสงครามสิ้นสุดลง โดยจะตัด ‘สายสะดือ’ (Umbilical cord) ที่หล่อเลี้ยงฉนวนกาซา เพื่อสร้าง ‘ความมั่นคงที่แท้จริงใหม่’ (New security reality) และจะปิดจุดผ่านแดนทั้งหมด หลังจากฮามาสถูกถอนรากถอนโคนในปฏิบัติการบุกภาคพื้นดิน

ดิชเตอร์ บอกด้วยว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ที่โครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคงชายแดนส่วนใหญ่ของอิสราเอล อยู่ห่างจากดินแดนของอิสราเอลหลายร้อยเมตร ไม่สามารถแก้ไขได้อีกต่อไป

“ไม่ใช่ว่าคุณจะเริ่มตั้งเขตกันชนในฉนวนกาซาก่อน แต่คุณต้องเริ่มจากฝั่งอิสราเอลก่อนในพื้นที่ 50-100 เมตร เรารู้ว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้เป็นข้อผิดพลาด ที่ต้องได้รับการแก้ไข” ดิชเตอร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การตั้งเขตกันชน ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยถูกพูดถึงมาแล้วโดย ‘เอลี โคเฮน’ รัฐมนตรีต่างประเทศ ที่บอกว่า “เมื่อสิ้นสุดสงครามนี้ กลุ่มฮามาสจะไม่เพียงแต่ไม่อยู่ในฉนวนกาซาอีกต่อไป แต่ดินแดนของฉนวนกาซาจะลดลงด้วย”

ปัจจุบัน ปราการที่กั้นระหว่างอิสราเอลกับฉนวนกาซา คือ รั้วอัจริยะยาว 100 หลา สนับสนุนโดยเรดาร์และเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว รากฐานของรั้วคอนกรีตที่อยู่ใต้ดินนั้นลึกมาก เพื่อป้องกันการขุดอุโมงค์ลอดเข้าไปและหอสังเกตการณ์ ซึ่งรั้วอัจริยะถูกสร้างหลังปี 2559 และเสร็จเมื่อปี 2564

แต่เมื่อวันที่ 7 ต.ค. กลุ่มติดอาวุธของฮามาส ได้บุกจากกาซาเจาะทะลุผ่านรั้วเข้าไปในพรมแดนอิราเอล และกระจายกำลังเข้าไล่ล่าสังหารพลเรือนและทหาร ซึ่งเหตุการณ์สะเทือนขวัญในครั้งนั้น ทำให้รัฐมนตรีเกษตรกรรมของอิสราเอลประกาศว่า ต่อไปจะไม่อนุญาตให้คนที่กาซาเข้าใกล้รั้วได้อีกต่อไป ที่ถือเป็นการบีบฉนวนกาซาอย่างมีประสิทธิภาพ

ในความเป็นจริง อิสราเอลได้ตั้งเขตกันชนในฉนวนกาซา หลังถอนกำลังออกเมื่อปี 2548 ทำให้แนวกั้นนี้ถูกกัดเซาะนับตั้งแต่นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเจรจาทางอ้อมระหว่างอิสราเอลกับฮามาส เพื่อบรรเทาการปิดล้อมฉนวนกาซาที่มีชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่ 2.3 ล้านคน ซึ่งดิชเตอร์ บอกว่า จะต้องมีการตัดสินใจเกี่ยวกับความกว้างของเขตกันชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“เราจะทำสิ่งเหล่านี้ ตามพื้นที่ ตามความต้องการของกองทัพ ตามระยะห่างของกองทัพอิสราเอล หรือการตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอล” ดิชเตอร์ ระบุ

'อิสราเอล' กดดัน 'เลขาฯ ยูเอ็น' ลาออก ถาม "คุณอาศัยอยู่ในโลกใด?" หลัง 'กุแตเรซ' บอก มีการละเมิด กม.มนุษยชน ชัดเจนในกาซา

(25 ต.ค. 66) นายอันโตนิอู กุแตเรซ เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ว่า การโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม โดยกลุ่มฮามาส ไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ

“ชาวปาเลสไตน์อยู่ภายใต้การยึดครองที่ทำให้พวกเขาหายใจไม่ออกมานานถึง 56 ปี พวกเขาได้เห็นดินแดนของตนถูกทำลายลงอย่างต่อเนื่องจากการตั้งถิ่นฐาน และถูกรบกวนจากความรุนแรง เศรษฐกิจของพวกเขาหยุดชะงัก ผู้คนต้องพลัดถิ่น และบ้านเรือนของพวกเขาต้องพังยับเยิน ความหวังของพวกเขาที่จะหาทางแก้ไขปัญหาทางการเมืองต่อชะตากรรมที่พวกเขาเผชิญก็สลายหายไปแล้วเช่นกัน” กุแตเรซกล่าว

อย่างไรก็ดี กุแตเรซย้ำว่า ความคับข้องใจของชาวปาเลสไตน์ไม่อาจนำมาเป็นเหตุผลสำหรับการโจมตีที่น่าตกใจของฮามาสได้ และการโจมตีที่น่าตกใจเหล่านั้นก็ไม่สามารถเป็นเหตุผลให้มีการลงโทษแบบเหมารวมต่อชาวปาเลสไตน์ได้ด้วยเช่นกัน

เลขาธิการยูเอ็นกล่าวด้วยว่า มีการละเมิดกฎหมายด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา การคุ้มครองพลเรือนเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการสู้รบใด ๆ

“แต่การปกป้องพลเรือนไม่ได้หมายความถึงการใช้พวกเขาเป็นโล่มนุษย์ ไม่ได้หมายถึงการสั่งให้ผู้คนมากกว่าหนึ่งล้านคนอพยพไปทางใต้ ซึ่งไม่มีที่พักพิง ไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำ ไม่มียารักษาโรค และไม่มีเชื้อเพลิง แล้วจึงทิ้งระเบิดใส่ทางตอนใต้ต่อไป” กุแตเรซกล่าว

กุแตเรซกล่าวว่า เขารู้สึกกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมอย่างชัดเจนที่เราได้เห็นในฉนวนกาซา พร้อมกับย้ำให้ชัดเจนว่า ไม่มีฝ่ายใดในการขัดแย้งด้วยอาวุธที่อยู่เหนือกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี เขาไม่ได้เอ่ยชื่ออิสราเอลหรือฮามาสแต่อย่างใด

คำกล่าวกุแตเรซได้รับการตอบโต้กลับอย่างดุเดือดจากนายกิลาด เออร์ดาน เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรอิสราเอลประจำยูเอ็น ที่เรียกร้องให้นายกุแตเรซลาออก หลังคำกล่าวที่ว่า การโจมตีของฮามาสไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ

เออร์ดานกล่าวว่า ไม่มีเหตุผลหรือประเด็นใด ๆ ในการที่จะพูดคุยกับพวกที่แสดงความเข้าใจต่อการกระทำอันเลวร้ายที่สุดต่อพลเมืองอิสราเอล ซึ่งไม่ต่างไปจากที่องค์กรก่อการร้ายได้ประกาศไป

เออร์ดานยังโพสต์ข้อความบน X ว่า “ผมขอเรียกร้องให้กุแตเรซลาออกทันที”

ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอลตั้งคำถามกับกุแตเรซว่า “คุณอาศัยอยู่ในโลกใด?”

ลิออร์ ฮายัต โฆษกรัฐบาลอิสราเอลให้สัมภาษณ์ในรายการ The World Tonight ทางสถานีวิทยุ BBC Radio 4 ว่า เนื้อหาคำกล่าวของกุแตเรซเป็นเพียงคำพูดไร้สาระหนึ่งนาทีเกี่ยวกับความโหดร้ายของกลุ่มผู้ก่อการร้ายฮามาส และให้เหตุผลสำหรับการก่อการร้าย

“แทนที่จะยืนเคียงข้างเหยื่อ เขากลับกล่วโทษเหยื่อสำหรับความโหดร้ายที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนนับตั้งแต่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แทนที่จะยืนขึ้นพร้อมข้อความว่ามันต้องไม่เกิดขึ้นอีก เขากลับพูดกับผู้ก่อการร้ายว่า คุณได้รับอนุญาตให้ทำเช่นนั้น เรายอมรับการก่อการร้ายอันโหดร้ายของคุณ เพราะอิสราเอลเป็นฝ่ายที่ต้องถูกตำหนิ” ฮายัตกล่าว

เมื่อการทำสงครามถล่มกาซาของอิสราเอล ทำให้เศรษฐกิจพัง วันละ 1.33 พันล้านบาท

(25 ต.ค. 66) อินโฟเควสท์ รายงานถึงสถานการณ์ในอิสราเอลภายใต้หัวข้อ 'ราคาของการแก้แค้น เมื่อการทำสงครามถล่มกาซาต้องแลกมาด้วยเศรษฐกิจของอิสราเอล' ระบุว่า...

สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสในฉนวนกาซาไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของแสนยานุภาพทางการทหารและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของผลสะเทือนทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวอิสราเอลด้วย”

เหตุการณ์ที่กลุ่มฮามาสซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์ เปิดฉากโจมตีอิสราเอลแบบไม่ทันตั้งตัวเมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 7 ต.ค. จนมีพลเรือนเสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิสราเอลนั้น ทำให้อิสราเอลต้องการล้างแค้นและประกาศลั่นกลองรบโดยทิ้งระเบิดถล่มกาซาตลอด 2 สัปดาห์นับแต่นั้นมา อย่างไรก็ดี ราคาของการล้างแค้นต้องแลกมาด้วยความเสียหายทางเศรษฐกิจของอิสราเอล ซึ่งมีมูลค่าสูงอย่างที่อิสราเอลไม่ได้ประสบมาในรอบหลายทศวรรษ

>> ภาคธุรกิจหยุดชะงัก แรงงานโดนเกณฑ์ไปรบ
ขอบฟ้าของกรุงเทลอาวีฟที่มักจอแจไปด้วยเสียงรถเครนและกิจกรรมการก่อสร้างต้องเงียบสงัดอยู่หลายวันหลังจากที่เมืองสั่งปิดไซต์ก่อสร้าง โดยแม้จะเพิ่งกลับมาเปิดทำการอีกครั้งในสัปดาห์นี้ภายใต้มาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น แต่การหยุดชะงักของภาคการก่อสร้างในช่วงที่ผ่านมาคาดว่าสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้อิสราเอลถึง 150 ล้านเชเกล (1.33 พันล้านบาท) ต่อวัน

นายราอูล ซารูโก ประธานสมาคมผู้รับเหมาก่อสร้างของอิสราเอลกล่าวว่า “นี่ไม่ใช่แค่กระทบกับผู้รับเหมาหรือนักอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังกระทบต่อทุกครัวเรือนในอิสราเอลด้วย”

นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ยังส่งผลให้แรงงานหายไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากทหารกองหนุนนับแสนรายถูกเรียกตัวเข้าประจำการ ส่วนแรงงานชาวปาเลสไตน์นับพันที่ทำงานให้อิสราเอลก็ไม่สามารถเดินทางข้ามพรมแดนจากฉนวนกาซากับเขตเวสต์แบงก์มาได้ ทำให้ภาคธุรกิจขาดแคลนกำลังคนและสร้างความปั่นป่วนต่อห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ท่าเรือไปจนถึงซูเปอร์มาร์เก็ต ในขณะที่ผู้ค้าปลีกก็ต้องให้พนักงานหยุดงานเนื่องจากไม่มีงานให้ทำ

โรงแรมต่าง ๆ มีชาวอิสราเอลที่อพยพจากพื้นที่ชายแดนมาพักอยู่ราว ๆ ครึ่งหนึ่ง ส่วนห้องที่เหลือส่วนใหญ่ไม่มีใครเข้าพัก โรงงานหลายแห่งแม้กระทั่งโรงที่ตั้งอยู่ใกล้กาซายังคงดำเนินงานต่อไป แต่ขาดแคลนคนขับรถบรรทุกจนไม่สามารถขนส่งสินค้าได้มากเท่าปกติ

บันไดเลื่อนและทางเดินในห้างสรรพสินค้าหลักของเมืองเยรูซาเลมร้างผู้คนในช่วงสองสัปดาห์แรกของสงคราม แม้ว่าช่วงหลังจะเริ่มมีลูกค้าทยอยเข้าห้างบ้างก็ตาม แต่นายเนทาเนล ชรากา ผู้จัดการร้านชุดกีฬาโคลัมเบียในห้างดังกล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า “จำนวนคนเดินผ่านไปผ่านมาลดลงไปมาก”

นายชรากากล่าวว่า พนักงานของเขาบางคนถูกเรียกตัวเข้ากองทัพ บางคนก็กลัวเกินกว่าจะมาทำงาน

อุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งคิดเป็น 18% ของ GDP อิสราเอล ก็กำลังประสบความยากลำบาก โดยนายดรอร์ บิน ซีอีโอของสำนักงานนวัตกรรมอิสราเอลคาดว่า แรงงานในภาคไอทีประมาณ 10-15% ถูกเรียกตัวเข้าประจำการกองหนุน

“เราได้ติดต่อกับบริษัทเทคฯ หลายร้อยราย โดยเฉพาะพวกบริษัทสตาร์ตอัป” นายบินกล่าว พร้อมเสริมว่า หลายบริษัทกำลังจะหมดเงินทุนในการทำธุรกิจต่อไป

ด้านนายบารัค ไคลน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินจากบริษัทฟินเทคทีตาเรย์กล่าวว่า “ผลิตภาพลดลงไปมาก เพราะเป็นเรื่องยากที่จะจดจ่ออยู่กับงานในแต่ละวันเมื่อในหัวคุณกังวลแต่เรื่องความเป็นความตาย”

>> 'วิกฤตทางจิตใจ' คนอิสราเอลพากันรัดเข็มขัด
ด้วยแนวโน้มที่อิสราเอลจะส่งทหารบุกภาคพื้นดินเข้าฉนวนกาซาและความเป็นไปได้ที่สงครามจะลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งในภูมิภาค ชาวอิสราเอลต่างพากันรัดเข็มขัด พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลดลง 12% ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการใช้จ่ายลดฮวบฮาบในเกือบทุกด้าน ยกเว้นการซื้ออาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต

เมื่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคคิดเป็นมากกว่าครึ่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของอิสราเอล ความเสียหายทางเศรษฐกิจย่อมมีมหาศาล

ลีโอ ไลเดอร์แมน หัวหน้าที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของแบงก์ฮาโปอาลิม (Bank Hapoalim) หนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของอิสราเอลกล่าวว่า มี “วิกฤตทางจิตใจ” ในหมู่ประชาชนชาวอิสราเอล

“ประชาชนจะลดการใช้จ่ายด้านการบริโภค เพราะสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและบรรยากาศที่ไม่เป็นใจ” นายไลเดอร์แมนกล่าว

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่อาวุโสในกระทรวงการคลังของอิสราเอลเปิดเผยกับทางรอยเตอร์ว่า “อิสราเอลฟื้นตัวได้ดีอย่างน่าทึ่งจากการสู้รบครั้งที่ผ่าน ๆ มา แต่เหตุการณ์ครั้งนี้มีความรุนแรงมากกว่าที่เคย แม้ตอนนี้ยังเร็วเกินกว่าที่จะบอกได้ก็ตาม”

>> เศรษฐกิจหด เครดิตลด หนี้เพิ่ม เงินอ่อนค่า แม้แบงก์ชาติมั่นใจว่าจะฟื้นตัว
เมื่อวันจันทร์ (23 ต.ค.) ธนาคารกลางอิสราเอลปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2566 เหลือ 2.3% จาก 3% และลดเหลือ 2.8% จาก 3.0% ในปี 2567 โดยตั้งสมมติฐานว่าสงครามจะถูกจำกัดวงไว้อยู่ในกาซาเท่านั้น

รัฐบาลอิสราเอลได้ให้สัญญาว่าจะใช้จ่ายในการทำสงครามครั้งนี้แบบ “ไม่จำกัด” นั่นหมายความว่างบประมาณจะยิ่งขาดดุลมากขึ้นและประเทศมีหนี้มากขึ้น โดยธนาคารกลางคาดการณ์ว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP จะพุ่งแตะระดับ 62% ในปี 2566 และ 65% ในปี 2567 จากเดิมที่อยู่ระดับ 60.5% ในปี 2565

ขณะเดียวกัน นายอามีร์ ยารอน ผู้ว่าการธนาคารกลางอิสราเอล ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในไม่ช้านี้ หลังจากธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันในการประชุม 3 ครั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพในระบบการเงิน พร้อมกับกล่าวว่า ธนาคารกลางยังไม่ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากการลดดอกเบี้ยจะส่งผลให้เงินเชเกลอ่อนค่าลงอีก และจะยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มสงคราม สกุลเงินเชเกลของอิสราเอลอ่อนค่าลง 5% และหากนับตั้งแต่ต้นปี 2566 ก็ร่วงลงไปแล้ว 15.5%

แม้ว่าธนาคารกลางอิสราเอลยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ แต่มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอล โดยมีแนวโน้มที่จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ A1 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส

“ความขัดแย้งทางทหารในครั้งนี้กำลังทำให้อิสราเอลมีความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์เพิ่มขึ้นอีก จากเดิมที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเป็นเวลานานและส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของอิสราเอลอย่างเป็นรูปธรรม”

“ต่อให้ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ ก็ยังจะส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอล ดังนั้นหากความขัดแย้งยืดเยื้อเป็นเวลานานขึ้น รุนแรงมากขึ้น และลุกลามเป็นวงกว้างมากขึ้น ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบาย การคลังสาธารณะ (public finance) และเศรษฐกิจของอิสราเอล” มูดี้ส์กล่าว

มูดี้ส์ระบุว่า อิสราเอลได้ใช้จ่ายเงินด้านกลาโหมประมาณ 4.5% ของ GDP ซึ่งมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และคาดว่าอิสราเอลจะเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมเมื่อพิจารณาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้

นอกจากมูดี้ส์แล้ว เมื่อวานนี้ (24 ต.ค.) เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P) ประกาศลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของอิสราเอลลงสู่ “เชิงลบ” จาก “มีเสถียรภาพ” และคงอันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอลไว้ที่ระดับ AA- โดยระบุว่า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสมีแนวโน้มที่จะบานปลาย และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับที่รุนแรงมากขึ้น

เอสแอนด์พีคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอิสราเอลจะหดตัวลง 5% ในไตรมาส 4 ปีนี้เมื่อเทียบกับในไตรมาส 3 เนื่องจากสงครามในครั้งนี้ส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันและทำให้กิจกรรมทางธุรกิจอ่อนแอลง นอกจากนี้ ภาวะสงครามยังทำให้รัฐบาลอิสราเอลต้องเกณฑ์ทหารกองหนุนจำนวนมาก อีกทั้งทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถูกชัตดาวน์ และบั่นทอนความเชื่อมั่นเป็นวงกว้าง

>> สิ่งที่ต้องแลกมาเพื่อ 'ตาต่อตา ฟันต่อฟัน'
เศรษฐกิจอิสราเอลในอดีตฟื้นตัวมาได้หลายต่อหลายครั้ง เช่นเมื่อปี 2549 ในการทำสงคราม 34 วันกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอนที่มีอิหร่านหนุนหลัง GDP ของอิสราเอลลดลงถึง 0.5% แต่ก็ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจากนั้น

อย่างไรก็ดี สงครามในปัจจุบันส่งผลสะเทือนทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างมากยิ่งกว่าที่เคย ราคาของการล้างแค้นครั้งนี้ไม่เพียงต้องจ่ายด้วยชีวิตคนและความไร้เสถียรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังสร้างภาระหนักต่อเศรษฐกิจของอิสราเอลเองอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top