Saturday, 11 May 2024
ปาเลสไตน์

อิสราเอล เบรก!! สหรัฐฯ ตั้งสถานกงสุลที่เยรูซาเลม ชี้!! ให้ไปตั้งในเขตเวสต์แบงก์แทน

รัฐบาลอิสราเอลยืนกรานคัดค้าน การที่สหรัฐต้องการกลับมาตั้งสถานกงสุลที่นครเยรูซาเลม เพื่อใช้เป็นช่องทางติดต่อกับปาเลสไตน์ โดยบอกให้ไปตั้งที่เขตเวสต์แบงก์แทน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ว่า นายกรัฐมนตรีนาฟตาลี เบนเนตต์ กล่าวถึงการที่รัฐบาลสหรัฐชุดปัจจุบันของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมกลับมาเปิดสถานกงสุลสหรัฐประจำนครเยรูซาเลม เพื่อใช้เป็นช่องทางหลัก ด้านการประสานงานกับปาเลสไตน์ ว่าจุดยืนของอิสราเอลในเรื่องนี้หนักแน่น และรัฐบาลเทลอาวีฟแสดงออกชัดเจนกับรัฐบาลวอชิงตันมาตลอด ว่า “ไม่มีพื้นที่สำหรับสำนักงานการทูตของสหรัฐ” ในนครศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ “ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลเท่านั้น”

ขณะที่นายยาอีร์ ลาพิด รมว.การต่างประเทศของอิสราเอล กล่าวเสริมว่า หากไบเดนยังคงมุ่งมั่นในเรื่องนี้ และต้องการผลักดันให้มีสถานกงสุลของสหรัฐสำหรับปาเลสไตน์ อิสราเอลขอเสนอให้รัฐบาลวอชิงตันไปตั้งสถานกงสุลที่เมืองรามัลเลาะห์ ซึ่งเป็นเมืองเอกของเขตเวสต์แบงก์
 

Al Jazeera ชี้!! นักข่าวถูกทหารอิสราเอลยิงดับ ระหว่างทำข่าวบุกค่ายผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์

สำนักข่าว Al Jazeera และ กระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์ ยืนยันว่า นางไชรีน อาบู อักเลห์ วัย 51 ปี นักข่าวอาวุโสหญิงของสำนักข่าว Al Jazeera ถูกทหารอิสราเอลยิงเสียชีวิต ระหว่างทำข่าวในเขตเวสต์แบงค์ โดยเธอกำลังติดตามทำข่าวการส่งทหารบุกค่ายผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ของกองทัพอิสราเอล ในเขตเวสต์แบงค์ 

ทั้งนี้ ทางกองทัพอิสราเอล ยืนยันว่า ได้ดำเนินปฏิบัติการดังกล่าวจริง ที่ค่ายผู้ลี้ภัยเจนิน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่ทางเหนือของเขตเวสต์แบงค์ พร้อมแจงอีกว่า ได้เกิดการยิงต่อสู้ระหว่างทหารกับกลุ่มติดอาวุธ 

อย่างไรก็ตาม ทางกองทัพฯ โต้ว่า นักข่าว Al Jazeera บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการถูกนักรบปาเลสไตน์ยิงไม่ใช่จากทหารอิสราเอล

สหรัฐฯ ชื่นชม อิสราเอล ถล่มที่อยู่ชาวปาเลสไตน์ สังหารเด็ก 15 ผู้หญิง 4 ด้วยจรวดที่ทันสมัย

WorldUpdate เปิดเผยกรณีอิสราเอล สั่งกองทัพใช้เครื่องบินล้ำน่านฟ้าฉนวนกาซ่า แล้วยิงจรวดใส่อาคารที่อยู่อาศัยชาวปาเลสไตน์ที่อยู่กันอย่างหนาแน่นและยากจนราว 2 ล้านคน รวมทั้งระดมยิงขีปนาวุธภาคพื้นดินใส่ตามอาคารที่พักอาศัยของพลเรือนเหล่านั้น โดยอ้างดื้อ ๆ ว่าโจมตีสังหารผู้นำกองกำลังปาเลสไตน์ ที่ไม่ใช่พลเรือนอิสราเอล และไม่ใช่ดินแดนอิสราเอล แม้ว่าฝ่ายปาเลสไตน์ที่ด้อยกว่ามากจะยิงจรวดจริงปนจรวดปลอมป้องกันตนเองสวนไปใส่กรุงเทลอาวีฟราวเกือบ 1,000 ลูก แต่จรวดเหล่านั้นถูกสกัดด้วยระบบต่อต้านอากาศยาน Iron  drome ของอิสราเอลราว 70% หลุดรอดไป 30% ใส่กรุงเทลอาวีฟ และสนามบิน ในอิสราเอล แต่โดนส่วนไม่ค่อยสำคัญนัก

ล่าสุดมีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิต 44 คน เป็นเด็กเล็ก 15 คน ผู้หญิง 4 คน ผู้บาดเจ็บสาหัส จำนวน 360 คนเด็กหลายคนถึงต้องตัดขาที่เละทิ้งทั้ง 2 ข้าง แม้อิสราเอล จะรับปากกับอียิปต์ว่าจะหยุดยิง แต่ภายหลังกำหนดก็ยังยิงขีปนาวุธมาลงตามตึกอาคารอีกเป็นระยะ 

>> ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้แถลงชื่นชมรัฐบาลอิสราเอลที่ปกป้องประชาชนอิสราเอลจากชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา 3 วันของการโจมตีได้สังหารชาวปาเลสไตน์หลายสิบคนเสียชีวิตและบาดเจ็บ

"ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ อิสราเอลได้ปกป้องประชาชนของตนจากการโจมตีด้วยจรวดใส่กลุ่มปาเลสไตน์ สหรัฐฯ ภูมิใจที่ได้สนับสนุนระบบ Iron-Dome ของอิสราเอล ซึ่งสามารถสกัดกั้นจรวดหลายร้อยลูกและช่วยชีวิตผู้คนอิสราเอลนับไม่ถ้วน”

>> ส่วนรัฐบาลอังกฤษ และรัฐบาลยูเครน ก็แถลงชื่นชมอิสราเอล แนวทางเดียวกับสหรัฐฯ

ในข้อเท็จจริงแล้ว ชาวปาเลสไตน์บางส่วนเคยออกไปต่อสู้กับพวกกลุ่มก่อการร้าย ISIS ในซีเรีย อิรัก ที่สหรัฐฯ อิสราเอลหนุนหลัง ต่อมากลุ่มก่อการร้ายนี้พ่ายแพ้เหลือน้อยนิดจากการถล่มของรัสเซีย และสลายตัวไปหลบอยู่ตามค่ายทหารเถื่อนสหรัฐในตอนเหนือ ซีเรีย อิรัก

ชาวปาเลสไตน์ จึงไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นนักรบ แต่ทุกคนกลับถูกอิสราเอล สหรัฐฯ อังกฤษ เหมารวมคนหลายล้านคนว่าเป็นผู้ก่อการร้ายภัยคุกคาม เมื่ออยู่ในฉนวนกาซาพวกเขาก็เป็นชาวบ้านทำมาหากินธรรมดา แต่เมื่อใดที่ถูกอิสราเอล นำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดใส่ก่อน และยิงขีปนาวุธใส่ พวกเขาก็ต้องยิงจรวดที่มีไม่มากนักตอบโต้ไปบ้าง จะให้ถูกยิงถล่มฝ่ายเดียวย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่พวกเขากลับถูกเหมารวมว่าเป็นภัยต่อชาวยิวที่สุขสบาย มีอาวุธทันสมัยที่ไล่ล่าและสังหารเด็ก ๆ ที่ไม่สามารถจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้ได้เลย

'ออสเตรเลีย' กลับลำ!! ขอแยกทางจากสหรัฐฯ ยกเลิกรับรองเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงให้อิสราเอล

รัฐบาลออสเตรเลียได้ออกมายืนยันอย่างเป็นทางการแล้วว่า ได้ยกเลิกการรับรองกรุงเยรูซาเล็มฝั่งตะวันตกว่าเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลแล้ว ซึ่งเป็นการถอนคำสั่งของ อดีตนายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน (Scott John Morrison) ที่ได้ประกาศรับรองเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงให้อิสราเอลไว้ในปี 2018

สาเหตุเบื้องหลังเกิดจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ได้ประกาศรับรองให้กรุงเยรูซาเล็ม เป็นเมืองหลวงอย่างเป็นทางการ (ตามความเห็นของผู้นำสหรัฐฯ) ให้กับอิสราเอล พร้อมทั้งย้ายสถานทูตสหรัฐฯ ไปตั้งในเขตเยรูซาเล็ม อย่างเป็นนัยสำคัญให้กับฝ่ายอิสราเอล ท่ามกลางการประท้วงคัดค้านอย่างหนักของชาวปาเลสไตน์ และ ผู้นำหลายชาติทั่วโลก 

แต่ทั้งนี้ ด้านออสเตรเลีย ที่ถือว่าเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดมากที่สุดชาติหนึ่งของสหรัฐฯ อีกทั้ง สกอตต์ มอร์ริสัน ก็เป็นนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ที่มีแนวคิดคล้าย ๆ กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ตัดสินใจเดินตามรอยเท้าลูกพี่ใหญ่อย่างไม่ลังเล ออกมาประกาศรับรองการอ้างสิทธิ์เหนือกรุงเยรูซาเล็มของอิสราเอลเช่นกัน เมื่อปี 2018 และกำลังรอเวลาที่จะย้ายสถานทูตออสเตรเลียจากกรุง เทล อาวีฟ ไปตั้งในเขตเยรูซาเล็ม ตามสหรัฐอเมริกาไปติด ๆ

แต่พอจบรัฐบาลของสกอตต์ มอร์ริสัน ไปแล้ว แอนโทนี แอลบานีส นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เชื้อสายอิตาลีคนใหม่จากพรรคแรงงาน ก็ได้กลับมาทบทวนนโยบายการรับรองกรุงเยรูซาเล็มอีกครั้ง และตัดสินใจคว่ำแผนการย้ายสถานทูตทิ้งแบบไม่ใยดีเช่นกัน

ตอนแรกทางรัฐบาลออสเตรเลียตั้งใจจะกลับลำแบบเงียบ ๆ ด้วยการแอบไปลบแผนนโยบายต่างประเทศเก่า ๆ ในสมัยของสกอตต์ มอร์ริสัน ที่โพสต์อยู่บนเว็บไซต์ของรัฐบาลทิ้ง โดย 2 ประโยคเด็ดที่ถูกลบออกไป คือช่วงที่มีการเขียนรับรองว่ากรุงเยรูซาเล็ม ให้อิสราเอล รวมถึงแผนการย้ายสถานทูต ดังนี้...

“Consistent with this longstanding policy, in December 2018, Australia recognised West Jerusalem as the capital of Israel, being the seat of the Knesset and many of the institutions of the Israeli government.

“Australia looks forward to moving its embassy to West Jerusalem when practical, in support of, and after the final status determination of, a two-state solution.”

แต่ทว่า ทุกประเทศล้วนมีทีม 'แคปทัน' เสมอ หูตาไวเวอร์ ที่สังเกตว่า อ้าว! นโยบายเรื่องเกี่ยวกับอิสราเอลหายไปแล้วนิหน่า หมายความว่ารัฐบาลออสเตรเลียชุดใหม่ จะทิ้งขบวน ไม่ตามสหรัฐฯ ไปกรุงเยรูซาเล็มแล้วใช่หรือไม่?

เมื่อวันที่ (18 ต.ค. 65) เพนนี หว่อง รัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรเลีย จึงออกมาแถลงข่าวยืนยันว่า รัฐบาลออสเตรเลียได้ตัดสินใจใหม่แล้วว่า จะไม่รับรองกรุงเยรูซาเล็ม ฝั่งตะวันตก เป็นเมืองหลวงของอิสราเอลอีกต่อไป เพื่อรักษาบรรยากาศแห่งความสันติสุขระหว่าง อิสราเอล และ ปาเลสไตน์ ให้เข้าสู่กระบวนการเจรจาหาทางออกในแนวสันติวิธี และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ 

ทั้งนี้ออสเตรเลีย ยังสนับสนุนนโยบาย Two-state solution และสถานทูตออสเตรเลีย ก็จะยังคงอยู่ที่กรุง เทล อาวีฟ เช่นเดิม ไม่ย้ายไปไหนด้วย

เพนนี หว่อง ยังกล่าวถึงรัฐบาลอิสราเอลว่า "ทางออสเตรเลียยังเป็นมิตรประเทศกับอิสราเอลอยู่นะ และต้องไม่ลืมว่า ออสเตรเลียคือชาติแรก ๆ ที่รับรองเอกราชให้กับชาติอิสราเอล เพียงแต่การยกเลิกนโยบายเก่าไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ดูแลชุมชนชาวยิวในออสเตรเลีย แต่ทั้งนี้ ออสเตรเลียก็มีหน้าที่ดูแลชุมชนชาวปาเลสไตน์ของเราด้วยอย่างเสมอภาค รวมถึงการสนับสนุนด้านมนุษยธรรมให้กับทุกชุมชน"

เมื่อรัฐบาลชุดใหม่ของออสเตรเลียออกมากลับคำ จากสิ่งที่เคยให้สัญญาไว้ย่อมสะเทือนถึงรัฐบาลอิสราเอลเป็นธรรมดา 

โดยด้าน ยาอีร์ ลาปิด นายกรัฐมนตรีอิสราเอลออกมาตอบโต้ทางออสเตรเลียอย่างเผ็ดร้อน ทำนองว่าเหยาะแหยะเป็นไม้หลักปักขี้เลนที่พูดแล้ว คืนคำ และยังวิจารณ์ว่า "เราได้แต่หวังว่ารัฐบาลออสเตรเลียจะบริหารนโยบายที่ลั่นวาจาไว้อย่างจริงจัง และเป็นมืออาชีพกว่านี้" 

ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศของอิสราเอล ก็ได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำอิสราเอล ให้มาอธิบายถึงสาเหตุการกลับลำ 360 องศาของรัฐบาลชุดใหม่ของออสเตรเลียว่า มีปัญหาอะไร?? 

‘พิพัฒน์’ กำชับทูตฯ ดูแลแรงงานไทยในอิสราเอลใกล้ชิด หลังเกิดภาวะสงคราม เผย คนไทยถูกยิงบาดเจ็บ 1 ราย-ถูกจับตัวไว้ 2 ราย เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 66 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีเกิดเหตุจรวดโจมตีจากฉนวนกาซาไปยังหลายพื้นที่ในอิสราเอลเมื่อช่วงเช้าตรู่วันนี้ว่า ตามที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ประกาศเตือนคนไทยในอิสราเอลให้อยู่ในที่ปลอดภัย เนื่องจากเกิดการโจมตีด้วยจรวดจากฉนวนกาซานั้น ทันทีที่ทราบข่าวผมมีความห่วงใยต่อแรงงานไทยที่ไปทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอลจากผลกระทบของเหตุการณ์ดังกล่าว จึงได้สั่งการให้อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอลเร่งตรวจสอบและดูแลแรงงานอย่างใกล้ชิดทันที

จากรายงานของนายกิตติ์ธนา ศรีสุริยะ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เบื้องต้นพบว่า มีแรงงานไทยถูกยิงที่ขาได้รับบาดเจ็บแล้ว 1 ราย ทราบชื่อคือ นายชาตรี ชาศรี อายุ 38 ปี เดินทางโดยกรมการจัดหางานจัดส่งไปทำงานเกษตรมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่จังหวัดนครพนม จากการตรวจสอบของกรมการจัดหางาน พบว่า เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศด้วย

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีแรงงานไทยอีก 2 ราย ซึ่งเป็นสามีภรรยาถูกจับตัวไว้ ทราบชื่อคือ นายบุญถม พันธ์ฆ้อง อายุ 39 ปี และ น.ส.ศศิวรรณ พันธ์ฆ้อง อายุ 36 ปี ทั้งคู่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี ส่วนรายละเอียดอื่นๆ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการดำเนินการที่ประเทศไทยผมได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดนครพนม และจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นภูมิลำเนาของแรงงานไทยที่บาดเจ็บ 1 ราย และแรงงานไทยที่ถูกจับตัวไว้ 2 ราย ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารสร้างขวัญกำลังใจพร้อมชี้แจงการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมายให้แก่ญาติทราบในทันที อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอลรวมทั้งสิ้นประมาณ 29,900 คน โดยเป็นแรงงานที่อยู่อาศัยบริเวณเมือง Netivot , Sderot, Ashkelo และพื้นที่ใกล้เคียง ประมาณ 5,000 คน

“ขอให้ญาติของแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศอิสราเอล อย่าเพิ่งตื่นตระหนก ขอให้มั่นใจว่า รัฐบาลไทยทั้งสถานทูตและกระทรวงแรงงานจะให้การคุ้มครอง ดูแล อย่างดีที่สุด และจะเร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอให้แรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในอิสราเอลที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ปฏิบัติตามมาตรการของทางการอิสราเอลอย่างเคร่งครัด และแจ้งข้อมูลมายังฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เพื่อจะได้วางแผนในการให้ความช่วยเหลือต่อไป” นายพิพัฒน์ กล่าวท้ายสุด

ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ออกประกาศเตือนคนไทยในอิสราเอล โดยขอให้คนไทยเข้าห้องหลบภัยทันทีที่ได้ยินเสียงไซเรน หากไม่ทัน ให้หมอบราบลงกับพื้น ไม่ถ่ายรูป ไม่วิ่งไปที่โล่ง ปฏิบัติตามมาตรการของทางการอิสราเอลอย่างเคร่งครัด และขอให้ทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยในเขตภาคใต้ใกล้เคียงฉนวนกาซา และภาคกลาง รวมถึงกรุงเทลอาวีฟ ไม่ออกจากที่พักอาศัย

สำหรับคนไทยที่ได้รับผลกระทบโปรดติดต่อได้ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ หมายเลขโทรศัพท์ (+972) 5 4636 8150 กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ หมายเลข 0 2575 1047-51 ฝ่ายแรงงานไทย ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ โทร : +972 544693476 What app ID : 0544693476 Line ID : 0544693476 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

‘เพจดัง’ ชี้!! สถานการณ์ ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ ซับซ้อนมายาวนาน แนะ ‘ไทย’ วางตัวเป็นกลาง-รับชมอยู่ห่างๆ ปล่อยทุกฝ่ายทำหน้าที่ตัวเอง

จากกรณีที่ประเทศอิสราเอล ได้ประกาศภาวะสงคราม หลังจากที่กลุ่มฮามาสในดินแดนปาเลสไตน์ ได้ยิงขีปนาวุธจากกาซาประมาณ 5,000 ลูก ถล่มเข้าไปในประเทศอิสราเอล ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันเสาร์ (7 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น หรือประมาณช่วงเที่ยงตามเวลาประเทศไทย ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ นับว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี จนทำให้นายกรัฐมนตรีอิสราเอลต้องประกาศภาวะสงคราม

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คนไทยในอิสราเอลได้รับผลกระทบอย่างยิ่ง ทำให้มีนักการเมืองบางท่าน ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โดยได้ติดต่อไปยังทางสถานฑูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย และกระทรวงแรงงานของไทย เพื่อมอบหมายให้ทำการช่วยเหลือคนไทยที่ตกค้างอยู่ในประเทศให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างปลอดภัย

ล่าสุด ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘สานต่อเจตนารมณ์ อาจารย์สมเกียรติ โอสถสภา’ ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า…

“เรื่องของอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ใครไม่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ศึกษามาจริง ไม่ต้องหาซีนไม่ต้องออกความเห็นนะครับ โดยเฉพาะนักการเมืองไทยสายโปรอเมริกัน

สรุปให้แบบสั้นๆ คือแถวนั้น ‘เขาไม่ปลื้มอเมริกัน’

เรื่องราวประวัติศาสตร์และการเมืองแถวนั้นซับซ้อน ย้อนกลับไปยาวนาน และในปัจจุบันแต่ละฝ่ายล้วนแต่มีแบ็กใหญ่ๆ ทั้งนั้น

ของปาเลสไตน์ระดับกาตาร์ ตุรกี อิหร่าน หนุนหลังนะครับ ไม่ใช่ธรรมดานะ ยิงจรวดปูพรมทีละ 5,000 ลูก นี่เล่นแบบรัสเซียเลยนะครับ จะมีสต๊อกโดรนพิฆาตมาเล่นซ่อนแอบแบบในยูเครนกันอีกรึเปล่าก็ไม่รู้

ผลประโยชน์ของประเทศไทยก็คือ ‘วางตัวเป็นกลาง’ และช่วยเหลือคนไทยในพื้นที่ให้ปลอดภัย แค่นั้นเองนะ

เรื่องช่วยเหลือคนไทยกระทรวงแรงงานกับต่างประเทศทำอยู่แล้ว ฐานข้อมูลแรงงาน ฐานข้อมูลคนไทยในประเทศที่เกี่ยวข้องเขามีอยู่แล้ว

นอกจากนั้นแล้ว เรามีหน้าที่รับชมเท่านั้นครับ”

‘อ.ปิติ’ กางตำรา ‘สมรภูมิพลิกอำนาจโลก’ ตีแผ่ชนวนรบ ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ การแทรกแซงจากชาติมหาอำนาจ สู่สงครามตัวแทน ‘สหรัฐฯ-มุสลิม’

(8 ต.ค. 66) รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีสถานการณ์ ‘ภาวะสงคราม’ ระหว่างประเทศอิสราเอล ปะทะกับกลุ่มฮามาสในดินแดนปาเลสไตน์ โดยระบุว่า…

“ความขัดแย้งครั้งล่าสุดในดินแดนตะวันออกกลาง ที่กลุ่ม #ฮามาส #Hamas เรียกร้องให้ ชาว #ปาเลสไตน์ ที่ถูกย่ำยีตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาโดย #ชาวยิว ออกมาใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้อง #มัสยิดอัลอักศอ #AlAqsaMosque ในดินแดน #กาซา มีปฐมบทอย่างไร?

ทั้งนี้ เนื่องจาก ได้เห็นข้อความ X (Twitter) ของท่านนายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา ทวีสิน - Srettha Thavisin’ แล้วมีความห่วงกังวลครับ การแสดงออกเรื่องการประณามการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องครับ แต่เนื้อความในส่วนต่อจากนั้นที่ค่อนไปทางอิสราเอล อาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมนัก เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้น เอาเข้าจริงมีเหตุผลมาจากทั้ง 2 ฝ่าย และต้องอย่าลืมว่า เพื่อนบ้านมุสลิมของไทยสนับสนุนปาเลสไตน์อย่างมาก ดังนั้น การเขียนข้อความที่เลือกข้างอิสราเอลอย่างชัดเจน ทั้งที่ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับทั้ง 2 ฝ่าย อาจถูกตีความได้หลายมิติ

ดังนั้น เพื่อให้พวกเราได้เข้าใจสถานการณ์ ขออนุญาตนำเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ ‘Amidst the Geopolitical Conflict #สมรภูมิพลิกอำนาจโลก’ ที่ ผม ปิติ ศรีแสงนาม และ ‘จักรี ไชยพินิจ Chakkri Chaipinit’ ร่วมกับเขียน และจะวางจำหน่ายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 12-23 ตุลาคมนี้ โดย Matichon Book - สำนักพิมพ์มติชน มาเผยแพร่ เพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง สำหรับการติดตามสถานการณ์นะครับ”

“ประเด็นปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่าง #อิสราเอล และ #ปาเลสไตน์ เป็นปัญหาที่มีรากฐานมาอย่างยาวนานหลายช่วงอายุคน โดยเกี่ยวข้องกับประเด็นด้านศาสนา และเป็นปัญหาที่สะท้อนให้เห็นถึงความวุ่นวายจากการที่ชาติมหาอำนาจเข้ามามีบทบาทในดินแดนบริเวณนี้ และการเขียนประวัติศาสตร์ที่มีทั้งรูปแบบเข้าข้างอิสราเอลและเข้าข้างปาเลสไตน์ ความสลับซับซ้อนของเหตุการณ์ความขัดแย้งนี้ จึงทำให้การเมืองในตะวันออกกลางซับซ้อนไปด้วย

หากย้อนไปเมื่อกว่า 2,000 ปีที่แล้ว ดินแดนอิสราเอลหรือพื้นที่เยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นข้อพิพาทในปัจจุบัน เคยอยู่ในการครอบครองของชาวยิวมาก่อน แต่ในฐานะที่อาณาบริเวณแห่งนี้เป็น ‘ทางแยก’ ที่อยู่กลางแผนที่ ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของทั้งศาสนา #ยูดาห์ #คริสต์ และ #อิสลาม จวบจนกระทั่งจักรวรรดิออตโตมันได้เข้ามาปกครองบริเวณแถบนี้ ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงตั้งชื่อ ‘เยรูซาเล็ม’ และบริเวณโดยรอบว่าเป็น ‘ปาเลสไตน์’ โดยชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณแถบนี้ก็ถูกเรียกว่าเป็น ‘ชาวปาเลสไตน์’

จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นเมื่อ สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ปะทุขึ้น อังกฤษได้ให้คำมั่นสัญญากับชาวยิวว่า หากให้ความช่วยเหลือกับอังกฤษจนได้รับชัยชนะในสงคราม พวกเขาจะได้รับดินแดนปาเลสไตน์เป็นการตอบแทน บทสรุปของสงครามทำให้ชาวยิวได้เข้าไปอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ตามสัญญา อย่างไรก็ดี จุดเริ่มต้นของสถานะชาวยิวในดินแดนแถบนี้ก็มาพร้อมกับความขัดแย้งระหว่างยิวและอาหรับอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ความสลับซับซ้อนของสถานการณ์ยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ทำให้ชาวยิวสามารถสถาปนารัฐเอกราชได้สำเร็จในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ.1948 ในชื่อว่า ‘อิสราเอล’ การเกิดขึ้นขององค์การสหประชาชาติเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแบ่งดินแดนออกเป็นของชาวยิวและชาวอาหรับ โดยมีเยรูซาเล็มเป็น ‘#ดินแดนร่วม (common land)’ สำหรับทั้ง 2 ฝ่ายตามมติ ค.ศ.1947

ในสายตาของ ‘องค์การสหประชาชาติ’ การแบ่งแยกดินแดนนี้เป็นการยุติปัญหาอย่างสันติ แต่กลับกลายเป็นว่า ความขัดแย้งระหว่างชาวยิวและชาวอาหรับได้ยกระดับกลายเป็น ‘สงครามระหว่างประเทศ’ ที่มีคู่ขัดแย้งหลักคืออิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยมีพันธมิตรจากโลกตะวันตกและจากโลกมุสลิมเป็นฉากทัศน์ของความขัดแย้งที่ดำเนินไปนี้

ตลอดช่วงสงครามเย็น ความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่ายดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่ผลลัพธ์ของการต่อสู้นั้น ฝ่ายอิสราเอลได้รับประโยชน์โดยได้ดินแดนที่เพิ่มขึ้น ปาเลสไตน์ที่เพลี่ยงพล้ำในการรบ จึงได้จัดตั้ง #องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (#PLO) เพื่อเคลื่อนไหวแบบกองโจรในการขับไล่อิสราเอล กระนั้นก็ตาม ในเหตุการณ์สำคัญอย่าง ‘#สงครามหกวัน’ ใน ค.ศ.1967 อิสราเอลก็สามารถผนวกเอาฉนวนกาซา และเขตเวสต์แบงก์ซึ่งเคยเป็นดินแดนที่ไม่มีเจ้าของ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตนเองได้สำเร็จ

หลังจากนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายก็มีการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง อาทิ #วิกฤติการณ์อินทิฟาดา (#Intifada) ครั้งที่ 1 (ค.ศ.1987-1993) และครั้งที่ 2 (ค.ศ.2000-2005) รวมไปถึงการเกิดขึ้นของกองกำลังฮามาส (Hamas) ซึ่งมีวิธีการรบที่ดุดันมากกว่ากลุ่มองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ ถึงแม้ว่านานาชาติจะพยายามไกล่เกลี่ยผ่านข้อตกลงสำคัญ เช่น #การเจรจาที่แคมป์เดวิด (ค.ศ.1978)  #ข้อตกลงออสโล (ค.ศ.1993 และ 1995) แต่ก็ไม่เป็นผล ทั้ง 2 ฝ่ายมีแนวโน้มการใช้อาวุธหนักมากกว่าเดิม ขณะเดียวกัน จำนวนผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเวลาผ่านไป

ปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ทำหน้าที่เสมือนเป็นสงครามตัวแทนระหว่างสหรัฐฯ และโลกมุสลิมไปโดยปริยาย ความขัดแย้งที่ดำเนินมากว่า 7 ทศวรรษจะคลี่คลายหรือดำเนินไปในลักษณะใด ย่อมส่งผลโดยตรงต่อหน้าตาของภูมิรัฐศาสตร์ใหม่แบบสามก๊กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รูปที่นำมาให้ชมคือ แผนที่แสดงภาพการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ระหว่างปี ค.ศ. 1917-2020 ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจว่าเพราะเหตุใดกลุ่ม Hamas ถึงเรียกร้องว่า ชาวปาเลสไตน์ถูกกดดันย่ำยีตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เพราะบ้านของพวกเขาถูกยึดเอาไปทีละน้อยๆ และพื้นที่ศักสิทธิ์สุดท้ายที่พวกเขาต้องปกป้องคือ ‘มัสยิดอัลอักศอ’ (Al-Aqsa Mosque) 1 ใน 3 สถานที่สำคัญสูงสุดของชาวมุสลิม (ร่วมกับ มัสญิดอัลฮะรอม ในนครมักก๊ะฮฺ ซึ่งเป็นที่ตั้งของก๊ะอฺบ๊ะฮฺ และ มัสญิดนะบะวีย์ หรือ ‘มัสญิดของท่านนบีมุฮัมมัด’ ซึ่งตั้งอยู่ที่นครมะดีนะฮฺ)

และในขณะเดียวกัน ชาวยิวก็เชื่อว่าสถานที่เดียวกันนี้คือที่ตั้งของ Temple Mount ซึ่งคัมภีร์ฮีบรูระบุว่าพระเจ้าโซโลมอน (สุไลมาน) ราชโอรสแห่งกษัตริย์เดวิด โปรดให้สร้างพระวิหารแรก (First Temple) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของศาสนายูดาห์ตามบทบันทึกคัมภีร์ฮีบรู

ถามว่า แล้วพวกเขาจะไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติเลยหรือ?

คำตอบคือ ได้ครับ และได้มาตลอดหลายร้อยปีด้วย โดยผมมีแผนที่ยืนยัน

ดูจากแผนที่แสดงการแบ่งเขตพื้นที่การอยู่ร่วมกันของพหุวัฒนธรรมในเขตเยรูซาเล็ม ก่อนการเกิดขึ้นของรัฐอิสราเอล นี่คือ ‘การอยู่ร่วมกันอย่างสันติในดินแดนศักดิ์สิทธิ์’ ก่อนที่จะมีการแทรกแซงของมหาอำนาจอย่างอังกฤษและสหรัฐภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

นอกจากดินแดนแห่งนี้แล้ว ในหนังสือเล่มนี้ พวกเรายังพิจารณาว่า ทั่วโลกยังมีจุดปะทุที่คนไทยต้องให้ความสนใจอีก 8 แห่ง ได้แก่ 

1.) NATO vs รัสเซีย : สงครามเย็นที่ไม่สิ้นสุด
2.) เอเชียใต้ : ดินแดนแห่งตัวแปรของภูมิรัฐศาสตร์
3.) แอฟริกา : กาฬทวีปที่ถูกมองข้าม
4.) ตะวันออกกลาง : ทางแยกของแผนที่โลก
5.) คาบสมุทรเกาหลี : ภูมิรัฐศาสตร์เก่าในบริบทใหม่ (บทความพิเศษ โดย Seksan Anantasirikiat)
6.) ช่องแคบไต้หวัน : การช่วงชิงพื้นที่ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา
7.) ทะเลจีนใต้ : เขตอิทธิพลของจีนกับประเด็นพิพาทของอาเซียน
8.) Zomia : จากดินแดนแห่งเทือกเขาสู่พื้นที่ยุทธศาสตร์การเมืองในเมียนมา

‘อดีต นร.ไทยในญี่ปุ่น’ จวก ‘พิธา’ หลังต่อสายตรงทูตอิสราเอลในไทย ชี้!! ไม่ใช่หน้าที่ แถมไร้ความเป็นมืออาชีพ หวั่นทำสื่อสารคาดเคลื่อน

(8 ต.ค. 66) จากกรณีที่อิสราเอลและกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ เปิดฉากโจมตีใส่กัน ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และสถานการณ์เริ่มลุกลามบานปลายมากยิ่งขึ้น เมื่อได้มีการจับกุมตัวแรงงานคนไทยที่ทำงานในอิสราเอลเป็นตัวประกัน ซึ่งทางรัฐบาลไทยก็สั่งการให้เร่งตรวจสอบดูแลแรงงานอย่างใกล้ชิด

ซึ่งต่อมา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ (X) ส่วนตัว ระบุว่า…

“ผมพึ่งวางสายโทรศัพท์จากการพูดคุยกับท่านทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย และพี่น้องแรงงานคนไทยในอิสราเอลจากการประสานของปีกแรงงานพรรคก้าวไกล ได้ทราบมาว่าสถานการณ์มีความรุนแรงต่อเนื่อง และได้รับคำขอร้องว่าครอบครัวของแรงงานที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่สามารถติดต่อญาติที่อิสราเอลได้ และกำลังตกอยู่ในความกังวลอย่างมาก หากท่านมีญาติไปทำงานที่อิสราเอล และบัดนี้ยังติดต่อไม่ได้ ท่านสามารถระบุชื่อของบุคคล เมืองที่พำนัก มาที่ email : [email protected] เพื่อรวบรวมเป็น database ประสานงานกับ สถานทูตอิสราเอล และ/หรือส่งมอบต่อกระทรวงต่างประเทศต่อไปได้”

จากกรณีดังกล่าว ทำให้เกิดการท้วงติงถึงความไม่เหมาะสม และดูไม่เป็นมืออาชีพ ของนายพิธา ในโลกโซเชียลกันเป็นจำนวนมาก

ล่าสุด ‘คุณนฤพันธ์ โชติช่วง’ อดีตนักเรียนวิทยาลัยยามชายฝั่งญี่ปุ่น ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ‘Naruphun Chotechuang’ ให้มุมมองเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวไว้ ระบุว่า…

“ทวิตนี้แสดงถึงความไม่เป็นงาน และต้องการแสงของผู้ทวิต โดยไม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่อาจตามมาในภายหลัง

1.) เหตุการณ์นี้ คนที่ควรโทรคุยควรเป็นทูตไทยในอิสราเอล มิใช่ทูตอิสราเอลในประเทศไทย เพราะถือว่าเป็นคนที่มีหน้าที่โดยตรง และต้องพยายามติดต่อคนไทยที่อาศัยในอิสราเอลตามข้อมูลที่มี เพื่อดำเนินการในขั้นต่อไป

ในทางกลับกันคนไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศควรมีช่องทางติดต่อกับสถานทูตไทยในประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่เช่นเดียวกัน เพราะสถานทูตคงไม่สามารถทราบว่าเราอยู่ที่ใดโดยไม่ได้แจ้ง การไปอยู่ต่างประเทศแบบไม่มีการเตรียมตัวรับสถานการณ์ฉุกเฉินเลย ถือเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดเลย

2.) การใช้อีเมลส่วนตัวเป็นช่องทางรับข้อมูล ถือเป็นการกระทำที่ไร้ความเป็นมืออาชีพ และแสดงให้เห็นว่า อีเมลดังกล่าว ตัวเองไม่ได้จัดการดูแลอีเมลดังกล่าวด้วยตัวเอง มีคนอื่นสามารถเข้าถึงอีเมลของตัวเองได้ เพื่อจัดการข้อมูลที่จะเข้ามา

การสร้างอีเมลใหม่เพื่อใช้ในงานเฉพาะกิจไม่ใช่เรื่องที่ยากอะไรเลย เจ้าหน้าที่ไอทีทั่วไปสามารถทำได้ด้วยเวลาไม่กี่วินาที ทำให้คิดได้ว่า อาจจะไม่ได้คิดหรือต้องการให้ใช้ชื่อตัวเองเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง

3.) เรื่องสำคัญที่สุดคือ คนทวิตไม่ได้มีหน้าที่อะไรเลย แต่สร้างความสับสนในการติดต่อสื่อสารเพื่อแสงที่ตัวเองเคยทำเสมอมา และผมคิดว่าสุดท้ายก็คงไม่ต่างกรณีติดต่อไปยังรุ่นพี่ที่ MIT เพื่อเอาวัคซีนโควิดเข้ามา สุดท้ายแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ปล.ตัวผมเองเคยอยู่ในวิกฤตการณ์ในต่างประเทศอย่างเหตุการณ์สึนามิที่โทโฮคุ ประเทศญี่ปุ่น ตอนนั้นการติดต่อสื่อสารพิการ ทั้งระบบสัญญาณมือถือและอินเตอร์เน็ต เลยต้องติดต่อบอกสถานกงสุลไทยในโอซาก้า ด้วยโทรศัพท์ระบบสาย และค่อยบอกข่าวสารตัวเองไปยังมารดาเมื่อมีโอกาสในภายหลัง

‘แรงงานไทยในอิสราเอล’ เล่านาทีระทึก หลังกลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตี เผย มีกลุ่มก่อการร้ายลักลอบเข้าประเทศ กราดยิง ปชช.-จับเป็นตัวประกัน

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 66 จากกรณีที่ประเทศอิสราเอล ได้ประกาศภาวะสงคราม หลังจากที่กลุ่มฮามาสในดินแดนปาเลสไตน์ ได้ยิงขีปนาวุธจากกาซาประมาณ 5,000 ลูก ถล่มเข้าไปในประเทศอิสราเอล ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันเสาร์ (7 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ นับว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี จนทำให้นายกรัฐมนตรีอิสราเอลต้องประกาศภาวะสงคราม

ล่าสุด ได้มีแรงงานคนไทยในอิสราเอล ออกมาโพสต์คลิปวิดีโอผ่านช่องติ๊กต็อก ‘dobung’ บอกเล่าเหตุการณ์สุดระทึกที่ต้องหนีเอาชีวิตรอดจากเหตุการณ์ยิงขีปนาวุธกลุ่มฮามาส ใส่ประเทศอิสราเอล โดยระบุว่า…

“เช้าวันนี้ (7 ต.ค.) ผมไม่ได้ตื่นขึ้นมาเพราะเสียงนาฬิกาปลุก แต่ผมตื่นเพราะเสียงระเบิด และเสียงฝ้าภายในห้องพักที่ถูกแรงระเบิดปะทะจนสั่นสะเทือน เกิดเป็นเสียงอึกทึกครึกโครม เพราะวันนี้ที่ประเทศอิสราเอลได้เกิดการรบกันขึ้น ซึ่งจริงๆ อาจจะเรียกได้ว่าที่นี่มีการรบกันจนแทบจะเป็นเรื่องปกติเลยก็ว่าได้

สิ่งที่จะสามารถปกป้องผมได้คือ ระบบป้องกันจรวดของอิสราเอล หรือ ‘Iron Dome’ ซึ่งเป็นตัวต่อต้านจรวดที่ฝ่ายตรงข้ามยิงมา และอาจจะป้องกันได้ไม่เต็ม 100% หากจำนวนจรวดที่ฝ่ายตรงข้ามยิงมามีมากเกินจนสกัดไม่ทัน”

เจ้าของช่อง ยังได้กล่าวต่อว่า เหตุการณ์รบที่อิสราเอลครั้งนี้ ค่อนข้างมีความรุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มาเป็นอย่างมาก จนถึงขั้นทำให้นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลประกาศ ‘ภาวะสงคราม’ อีกทั้งช่วงที่เกิดเหตุชุลมุนขณะที่ได้มีจรวดถูกยิงเข้ามาเป็นพันๆ ลูก ก็ได้มีกลุ่มก่อการร้ายแทรกซึมเข้ามาในประเทศอิสราเอล โดยแทรกซึมเข้ามาทั้งทางรถยนต์และเครื่องร่อน

โดยหลังจากที่กลุ่มก่อการร้ายได้แทรกซึมเข้ามายังอิสราเอล ก็ได้ทำการกราดยิงประชาชน รวมถึงจับกุมตัวประชาชนไปเป็นตัวประกัน เพื่อใช้ในการเจรจาต่อรองอีกด้วย

“ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ กลุ่มพี่น้องแรงงานคนไทยที่อยู่ใกล้กับฉนวนกาซา ซึ่งเป็นพื้นที่ภาคใต้ของอิสราเอล… ผมขอให้ทุกคนอยู่รอดปลอดภัยนะครับ” เจ้าของช่อง กล่าวทิ้งท้าย

‘สหรัฐฯ’ เคลื่อนเรือรบประชิดชายฝั่งเมดิเตอร์ฯ หนุน ‘อิสราเอล’ ด้าน ‘กลุ่มชีอะห์’ เตือน!! พร้อมลุยฐานทัพสหรัฐฯ หากจุ้นกาซา

(9 ต.ค. 66) ‘ลอยด์ ออสติน’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ออกคำสั่งให้เคลื่อนพลกองเรือรบ เรือบรรทุกเครื่องบินรบ และอากาศยานอื่นๆ เข้าประชิดชายฝั่งด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแล้ว เพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มติดอาวุธฮามาสในอิสราเอล อันเป็นเหตุให้มีชาวอเมริกัน อย่างน้อย 4 คนเสียชีวิต

‘ลอยด์ ออสติน’ ได้กล่าวผ่านสื่อสหรัฐฯ ว่า ได้หารือกับ ‘โจ ไบเดน’ ผู้นำสหรัฐฯ ถึงสถานการณ์ในอิสราเอล และขั้นตอนการยกระดับบทบาทด้านการทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ และในวันนี้ก็มีคำสั่งให้เคลื่อนเรือบรรทุกเครื่องบินรบ USS Gerald R. Ford ที่ได้ชื่อว่าเป็นเรือรบที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงเรือรบติดขีปนาวุธ USS Normandy, USS Thomas Hudner, USS Ramage, USS Carney และ USS Roosevelt เข้าประชิดชายฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งใกล้เขตน่านน้ำของอิสราเอล และบริเวณฉนวนกาซา

ด้านฝ่ายกลาโหมสหรัฐฯ ได้พูดคุยกับ ‘โยอาฟ แกลลันต์’ รัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอลว่า สหรัฐอเมริกาพร้อมจะสนับสนุนชาวอิสราเอลจากการโจมตีของกลุ่มฮามาส เพื่อคืนความมั่นคง ปลอดภัยให้แก่อิสราเอล ส่วนยุทโธปกรณ์ด้านการรบ จะมีการขนส่งด่วนมาทางเครื่องบินในอีกไม่กี่วันข้างหน้าอย่างแน่นอน

การเคลื่อนไหวของกลาโหมสหรัฐฯ เกิดขึ้นหลังจากที่โจ ไบเดน ได้พูดคุยกับ ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เมื่อวันอาทิตย์ (8 ตุลาคม 66) ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นสัญญากับผู้นำอิสราเอลว่า จะส่งความช่วยเหลือถึงกองทัพอิสราเอลในเร็ววันนี้ และเน้นย้ำว่าสหรัฐฯ จะไม่รับฟังข้ออ้างใดๆ สำหรับการก่อการร้าย และทุกประเทศทั่วโลกต้องแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการต่อต้านการใช้อำนาจนิยมที่โหดร้ายเช่นนี้ อีกทั้งจะยกระดับการติดต่อทางการทูตอย่างเข้มข้นระหว่าง 2 ชาติตลอด 24 ชั่วโมง 

‘สหรัฐอเมริกา’ และ ‘อิสราเอล’ ถือเป็นประเทศพันธมิตรที่แน่นแฟ้นกันมายาวนาน ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งงบประมาณช่วยเหลือด้านการทหารแก่อิสราเอลหลายพันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี นับเป็นประเทศที่ได้รับงบประมาณจากสหรัฐอเมริกามากที่สุดประเทศหนึ่ง 

จึงไม่แปลกใจที่สหรัฐอเมริกาจะแสดงจุดยืนสนับสนุนฝ่ายอิสราเอลอย่างชัดเจน และเตรียมความพร้อมที่จะแทรกแซง หากสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ขยายวงความรุนแรงจนเกินควบคุม 

แต่ทว่า ด้านกลุ่ม ‘Kata'ib Sayyid al-Shuhada’ กองกำลังติดอาวุธกลุ่มชีอะห์ ในอิรัก ออกมาเตือนว่า หากสหรัฐอเมริกาแทรกแซงสงครามในกาซาเมื่อใด ฐานทัพสหรัฐฯ ทุกแห่งในภูมิภาคแถบตะวันออกกลาง มีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีโดยกองกำลังพันธมิตรของปาเลสไตน์ทันที เพราะปาเลสไตน์ ไม่ใช่ยูเครน ที่สหรัฐอเมริกาจะเข้าแทรกแซงได้ตามอำเภอใจ เพราะความขัดแย้งในดินแดนปาเลสไตน์ และระบอบไซออนนิสต์ มีความละเอียดอ่อนสูงกว่ามาก 

และการแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังทหาร และการเมืองตามแนวทางของสหรัฐอเมริกา ก็อาจไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นมากนัก และเกรงว่าจะยิ่งทับถมปมความขัดแย้งที่ยาวนานมากกว่า 75 ปี ให้ฝังลึกในดินแดนแถบนี้ลงไปอีกนั่นเอง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top