Tuesday, 14 May 2024
ECONBIZ

สุชาติ รมว.รง. แจงมติ ครม. เห็นชอบขยายเวลาสมัครเป็นผู้ประกันตน ม.39 ได้ถึง 30 มิ.ย. 64

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศ กระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาแสดงความจำนง เป็นผู้ประกันตน และการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 พ.ศ. .... เพื่อช่วยเหลือเยียวยาภายหลังช่วงวิกฤติสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ให้ผู้ประกันตนได้มีโอกาสกลับเข้าสู่ระบบประกันสังคม และได้รับสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่อง โดยเห็นชอบให้กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้เสนอให้มีการขยายระยะเวลารับสมัครผู้ประกันตน 33 ที่สิ้นสภาพแล้ว 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 หากประสงค์อยู่ในระบบประกันสังคมต่อไป สามารถแสดงความจำนงเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ภายใน 30 มิถุนายน 2564 พร้อมกันนี้ 

มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังเห็นชอบให้กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ขยายกำหนดเวลาให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม สำหรับเงินสมทบที่ต้องนำส่งประจำงวดเดือนมีนาคม 2563 ถึงงวดเดือนพฤษภาคม 2564 ให้นำส่งภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2564 อีกด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า การขยายกำหนดเวลาแสดงความจำนง เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ของผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่สิ้นสภาพ และการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 ในครั้งนี้ จะช่วยรักษาสถานภาพการเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 และสิทธิความคุ้มครอง จากสำนักงานประกันสังคมตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ประมาณ 207,000 คน สำหรับขั้นตอนของการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว ตนได้เร่งให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการเพื่อให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ได้ทันภายในกำหนด จึงขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจการดำเนินงานของกระทรวงแรงงานในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของผู้ประกันตนให้ตรงจุด และทันท่วงที เพื่อสร้างสรรค์หลักประกันที่มั่นคงและเป็นที่พึ่งอยู่เคียงข้างผู้ประกันตนตลอดไป

ทิศทางส่งออกเครื่องมือแพทย์ของไทยอนาคตสดใส

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยกำลังขยายตัวด้วยดี เติบโตเฉลี่ย 9 - 10% โดยปี 63 สินค้าเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ส่งออกรวม 23,314 ล้านบาท และสินค้าถุงมือยางส่งออกรวม 72,680 ล้านบาท  ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และศูนย์กลางการส่งออกเครื่องมือแพทย์ ที่สำคัญการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้ผู้นำเข้าได้รับรู้ถึงศักยภาพของไทยที่พร้อมเป็นประเทศส่งออกสินค้าประเภทนี้มากขึ้น 

ทั้งนี้ กรมฯ ได้เร่งรัดแผนการส่งออกสินค้าสินค้าเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ เพื่อขยายตลาดการส่งออกสินค้าไทยในช่วงที่ไวรัสโควิดแพร่ระบาด โดยล่าสุดได้จัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจการค้าออนไลน์สินค้าไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นสินค้าชุดป้องกันทางการแพทย์ พีพีอี และชุดเสื้อคลุม ส่วนครั้งสองเป็นกลุ่มสินค้าเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี อีกทั้งยังได้เพิ่มสินค้านวัตกรรมทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์ ไปด้วย โดยคาดจะมีมูลค่าซื้อขายภายใน 1 ปี 118.40 ล้านบาท  

นายสมเด็จ กล่าวว่า ทั่วโลกมีความต้องการสินค้าเครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์ชุดป้องกัน พีพีอี สินค้านวัตกรรมทางการแพทย์อื่น ๆ ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย ผู้ที่มีความเสี่ยง หรือประชาชนทั่วไปในแต่ละประเทศทั่วโลก เพิ่มมากขึ้น เพื่อใช้รับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ทันท่วงที ดังนั้นจึงถือเป็นโอกาสที่ไทยจะเร่งเข้าไปขยายตลาดส่งออกในสินค้ากลุ่มนี้มากขึ้น

ม.หอการค้า ประเมินผลกระทบโควิดระบาดระลอกใหม่ ทุบดัชนีเชื่อมั่น มี.ค. วูบ คาดฉุดกำลังซื้อหดหาย 3 - 5 หมื่นล้านบาทต่อเดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯผ่านสถานบันเทิง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่มาจากอังกฤษที่แพร่กระจายได้รวดเร็วขึ้นนั้น ส่งผลกับความมั่นใจและกำลังซื้อของประชาชนทำให้มีความวิตกกังวลต่อการใช้จ่ายและการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมองว่าจะทำให้เงินจากการบริโภคของประชาชนหายไป 5 - 10% หรือ อยู่ที่ประมาณ 30,000 - 50,000 ล้านบาทต่อเดือน

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์ฯ ยังประเมินว่าการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่จะสามารถคลี่คลายได้ภายใน 1 - 2 เดือน ส่งผลทำให้เม็ดเงิน หายออกไปจากระบบเศรษฐกิจประมาณ 60,000 - 100,000 ล้านบาท หรือ กระทบกับจีดีพี 0.3 - 0.5% โดยยังมีปัจจัยหนุนการส่งออกที่เริ่ม ปรับตัวดีขึ้นหลังจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ในขณะที่การค้าชายแดนยังคงทำการค้าได้ จึงยังคงประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ในกรอบเดิมที่ 2.5 - 3.0% ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องไม่มีการประกาศล็อกดาวน์ประเทศและห้ามการเดินทางในประเทศเป็นสำคัญ

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนมี.ค. 2564 จากสำรวจภาคเอกชน 369 ราย ระหว่างวันที่ 23 - 29 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ธุรกิจทุกจังหวัดส่วนใหญ่ 94% ระบุว่าเศรษฐกิจและการค้า อยู่ในภาวะแย่ลงและไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ส่งผลต่อกิจกรรมต่าง ๆ ยังไม่กลับเท่าปี 2562 กังวลเสถียรภาพทางการเมืองและการชุมนุมทางการเมือง ส่วนราคาพืชผลเกษตรดีแต่ด้วยบางพื้นที่เจอภัยแล้งผลผลิตต่ำลงจึงกระทบต่อรายได้ที่ได้รับลดลง

จุรินทร์ ปลื้มดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 2 เดือนติดกัน อานิสงค์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและราคาพืชผลการเกษตรปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

วันที่ 8 เมษายน 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่าดัชนีความเชื่อมั่น ผู้บริโภคโดยรวมในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ทุกภาค และทุกอาชีพ โดยเฉพาะในอนาคต ปรับขึ้นมาอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง เนื่องด้วยประชาชนเชื่อมั่นในมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจและราคาพืชผลการเกษตรดีขึ้นจากมาตรการเชิงรุกของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การเกษตร การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และประชาชนมีความคาดหวัง ในแง่ดีต่อวัคซีน Covid-19

นายจุรินทร์กล่าวเพิ่มเติมว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมีนาคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ ระดับ 47.5 เทียบกับระดับ 45.5 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 38.1 มาอยู่ที่ระดับ 40.2 และ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต พบว่า ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 50.4 มาอยู่ที่ระดับ 52.3

เมื่อจำแนกรายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากระดับ 46.1 มาอยู่ที่ระดับ 49.6 และภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 47.0 มาอยู่ที่ระดับ 48.5 เมื่อจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 45.8 มาอยู่ที่ระดับ 49.3 เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว 

ส่วนกลุ่มเกษตรกรปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 46.8 มาอยู่ที่ระดับ 47.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคา สินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และกลุ่มพนักงานของรัฐ ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 51.4 มาอยู่ที่ระดับ 52.5 ซึ่งปรับตัวมาอยู่ในระดับเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส Covid-19 น้อยที่สุด

กล่าวโดยสรุป แนวโน้มความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มมั่นใจ ที่จะจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ซึ่งหากไม่มีสถานการณ์ปัญหาร้ายแรงอื่นเพิ่มเติม จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ เศรษฐกิจไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องขึ้นเป็นลำดับ

‘บิ๊กตู่’ สั่งเข้ม! มาตรการสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ปิดทันทีอย่างน้อย 14 วัน มีผลแล้ว

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานบริการต่างๆ รัฐบาลจึงเน้นมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ โดยเริ่มแล้วตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2564 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) กรณีพบผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการแห่งใดแห่งหนึ่ง ให้ปิดสถานประกอบการนั้น ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์

2) กรณีพบผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการหลายแห่งให้พื้นที่ใกล้เคียงกัน ให้ปิดสถานประกอบการในพื้นที่นั้น ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์

3) กรณีมีการแพร่ระบาดในสถานประกอบการหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดใด ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือ กทม. พิจารณาปิดสถานประกอบการในพื้นที่ทั้งจังหวัด/กทม. เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์

โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ได้เพิ่มความเข้มข้นและความถี่ในการตรวจกำกับดูแล ให้สถานประกอบการดำเนินมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตามที่กำหนดให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ส่วนการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ยังเปิดดำเนินการได้ตามที่กำหนดในแต่ละพื้นที่ โดยให้เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ใน กรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อในร้านอาหารหรือเครื่องดื่มในสถานประกอบการใด ให้ปิดสถานที่นั้น ๆ เพื่อจัดระเบียบและระบบป้องกันโรคโควิด-19 อย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือหากพบว่ามีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในร้านอาหารหรือเครื่องดื่มหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดใด ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกทม. พิจารณาเพิ่มการปิดร้านอาหารที่มีความเสี่ยง ได้แก่ สถานประกอบการที่เป็นห้องแอร์ สถานประกอบการที่ไม่ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ด้วยเช่นกัน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 35 ที่สามารถดำเนินการได้ในปัจจุบัน ซึ่งระบุว่า กรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีอำนาจสั่งปิดตลาด สถานที่ประกอบหรือจำหน่ายอาหาร สถานที่ผลิตหรือจำหน่ายเครื่องดื่ม โรงงาน สถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใดไว้เป็นการชั่วคราว

พร้อมทั้งสั่งให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย โรคระบาดหยุดการประกอบอาชีพเป็นการชั่วคราว และสั่งห้ามผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเข้าไปในสถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อด้วย

คลังเผยผู้คัดกรอง คุณสมบัติ ‘เราชนะ' กลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนเข้าเกณฑ์รับเงิน 7,000 บาท

8 เมษายน 2564 นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการประกาศผลการคัดกรองคุณสมบัติประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ (กลุ่มผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน) ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราชนะ (โครงการฯ) ระหว่างวันที่ 8 – 26 มีนาคม 2564 ว่า ประชาชนที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ในช่วงเวลาดังกล่าว สามารถตรวจสอบผลการคัดกรองคุณสมบัติได้ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2564 เป็นต้นมา ทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com หรือ Call Center ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หมายเลขโทรศัพท์ 0 2111 1122 โดยผู้ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติจะได้รับการโอนวงเงินสิทธิ์ จำนวน 7,000 บาท และสามารถใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ผ่านบัตรประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) ได้ที่ผู้ประกอบการร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2564 

นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำว่า สำหรับประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง (ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้ป่วยติดเตียง) ที่ไม่สามารถเดินทางออกจากที่พักอาศัยได้และจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยรับลงทะเบียนเคลื่อนที่ ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม – 9 เมษายน 2564 จะทราบผลการคัดกรองคุณสมบัติได้ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2564 เป็นต้นไป โดยผู้ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติจะได้รับการโอนวงเงินสิทธิ์ จำนวน 7,000 บาท และสามารถใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ผ่านบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) ได้ที่ผู้ประกอบการร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2564 

โฆษกกระทรวงการคลังได้แถลงเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าของโครงการฯ ณ วันที่ 7 เมษายน 2564 ดังนี้ 1) ประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.7 ล้านคน ได้มีการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน 72,028 ล้านบาท 2) ประชาชนกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและยืนยันการใช้สิทธิ์ร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 16.8 ล้านคน และมีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน 108,313 ล้านบาท และ 3) ประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว จำนวน 2.3  ล้านคน มียอดใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสม 

ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2564 เป็นต้นมา จำนวน 11,844 ล้านบาท ทำให้มีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการฯ แล้ว รวมทั้งสิ้น จำนวน 32.8 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 192,185 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านผู้ประกอบการร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ร้านค้าคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการณ รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 1.3 ล้านกิจการ 

โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จับมือ อเมซอน ฟอลส์ เปิดธีมพาร์คและสวนน้ำโคลัมเบีย พิคเจอร์สแห่งแรกของโลกในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “โคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส" เตรียมเปิดให้บริการตุลาคมนี้

โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จับมือ บริษัท อเมซอน ฟอลส์ จำกัด เตรียมเปิดสนุกและสวนน้ำในธีมภาพยนตร์ของโคลัมเบีย พิคเจอร์ส ในประเทศไทยเป็นแห่งแรกในโลก บนทำเลทองพื้นที่กว่า 35 ไร่ ณ ชายทะเลบางเสร่ ภายใต้ชื่อ โคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส (Columbia Pictures’ Aquaverse)

นายเจฟฟรี่ย์ ก็อดสิค รองประธานบริหารสายงานโกลบอล พาร์ทเนอร์ชิพ และแบรนด์ เมเนจเม้นต์ โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เปิดเผยว่า โซนี่ พิคเจอร์สฯ ได้ร่วมกับ บริษัท อเมซอน ฟอลส์ จำกัด นำสวนสนุกและสวนน้ำในธีมภาพยนตร์ของโคลัมเบีย พิคเจอร์ส มาเปิดในประเทศไทยเป็นแห่งแรกในโลก บนพื้นที่กว่า 35 ไร่ บริเวณชายทะเลบางเสร่ จังหวัดชลบุรี ภายใต้ชื่อ โคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส เพื่อช่วยสร้างความบันเทิงที่ให้ผู้บริโภคออกมาสัมผัสในสถานที่จริงกับเรื่องราวในภาพยนตร์ผ่านสวนน้ำ การจัดแสดงนิทรรศการ และอุปกรณ์เครื่องเล่นต่าง ๆ โดยพร้อมเปิดให้บริการตั้งแต่เดือน ต.ค. นี้

สำหรับสวนน้ำโคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควำเวิร์สแห่งนี้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ช่วยดึงดูดแฟนภาพยนตร์และนักท่องเที่ยวจากทั้งในประเทศและทั่วโลกให้มาเล่นเครื่องเล่น จากคาแร็คเตอร์ภาพยนตร์ฮอลลีวูดยอดนิยมตลอดกาลทั้ง โกสต์บัสเตอร์ส บริษัทกำจัดผี, จูแมนจี้ เกมดูดโลกมหัศจรรย์, แบดบอยส์ คู่หูขวางนรก, เอ็มไอบี หน่วยจารชนพิทักษ์จักรวาล, และโฮเทล ทรานซิลเวเนีย โรงแรมผี หนี ไปพักร้อน

รวมทั้งยังมีโซน เซิร์ฟอัพ สวรรค์ของนักเซิร์ฟ บนคลื่นยักษ์, โซน ผจญภัยในแม่น้ำสวอลโลว์ฟอลส์กับมหัศจรรย์ลูกชิ้นตกทะลุมิติ ผ่านการล่องไปตามสายน้ำ ทักทายบรรดาสัตว์อาหารกลายพันธุ์ฟู้ดนิมอลจากภาพยนตร์แอนิเมชัน และยังมีโซน สระคลื่นยักษ์วีโว่ เป็นสระน้ำที่จะซัดลูกคลื่นขนาดยักษ์เข้าใส่ตัว ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์มิวสิคัลแอนิเมชันที่กำลังจะเปิดฉายในเร็ว ๆ นี้ รวมทั้งยังมีพื้นที่ใช้สำหรับจัดกิจกรรม คอนเสิร์ต หรือไลฟ์โชว์ของศิลปินดังระดับโลกด้วย

รูปแบบการเดินทางในอนาคตกำลังเปลี่ยนแปลงไป ความอัจฉริยะ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กำลังเข้าเป็นส่วนผสมสำคัญใหม่ของยานยนต์แห่งอนาคตชัดขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการเชื่อมต่อกับสิ่งต่าง ๆ (Connected)

เช่น ความสามารถขับขี่อัตโนมัติ (Automated) การใช้งานยานยนต์ร่วมกัน (Shared) และการใช้ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electrified) หรือเรียกโดยรวมว่า C-A-S-E Technology ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยียานยนต์ดังกล่าวจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งในด้านโอกาสและความท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากงานสัมมนาเปิดโครงการ ภายใต้หัวข้อ ‘การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์ของประเทศไทย’ ได้มีการพูดถึงเรื่องดังกล่าว โดยมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติ ที่จะมาควบคู่กับเทคโนโลยียานยนต์เชื่อมต่อ หรือเรียกรวมกันว่ายานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (Connected and Autonomous Vehicle: CAV) ซึ่งเทคโนโลยี CAV จะส่งผลต่อการใช้งานยานยนต์ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ลดความสูญเสียจากการชนเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ช่วยลดความคับคั่งจากการจราจร ลดการปล่อยมลพิษ ลดต้นทุนการขนส่งจากการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดธุรกิจใหม่ ๆ รวมทั้ง ทำให้ผู้คนทุกกลุ่มสามารถเดินทางได้สะดวก ช่วยทำให้การใช้พื้นที่เมืองมีประสิทธิภาพ ทำให้เมืองน่าอยู่ และเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยว

การใช้งาน CAV ไม่เพียงแต่ต้องเตรียมความพร้อมด้านยานยนต์ แต่ต้องคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ถนนและสัญญาณจราจรต่าง ๆ สัญญาณสื่อสาร 5G กฎหมายขนส่ง และความปลอดภัยของข้อมูล ดังนั้น การจัดทำแผนยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะหากประเทศไทยปรับตัวไม่ทันกับเทคโนโลยีใหม่นี้ ในเวลาไม่เกิน 10 ปี จะส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียการเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนของภูมิภาค และการเติบโตของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการสื่อสาร และอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve)

เกี่ยวกับประเด็นที่ว่านี้ ทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้สถาบันยานยนต์ดำเนินโครงการ ‘การจัดทำแนวการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์อัตโนมัติ’ โดยร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และกรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อให้การส่งเสริมการผลิตยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งดำเนินกิจกรรมสร้าง ‘ภาคีเครือข่ายทางธุรกิจ (Business Alliance)’ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการต่อยอดไปสู่การผลิตยานยนต์ต้นแบบไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์

สำหรับการจัดงานสัมมนาเปิดโครงการ ภายใต้หัวข้อ ‘การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์ของประเทศไทย’ มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติให้แก่ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์สมัยใหม่ รวมทั้งนักวิชาการและนักวิจัย ภายในงานสัมมนาประกอบด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่จากผู้เชี่ยวชาญมากมาย อาทิ การบรรยายเรื่อง ‘จับตาการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในอนาคตของเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่’ จาก รศ.ดร.สรวิศ นฤปิติ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.นักสิทธิ์ นุ่มวงษ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต่อด้วยการเสวนา เรื่อง ‘อุตสาหกรรมไทยกับการก้าวสู่อุตสาหกรรมยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (CAV) ภายใต้ภาคีเครือข่ายธุรกิจ (Business Alliance)’ โดย คุณฐิติภัทร ดอกไม้เทศ ผู้จัดการแผนกวิจัยอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์ ผศ.ดร.นักสิทธิ์ นุ่มวงษ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ดร.ปาษาณ กุลวานิช ผู้ชำนาญการด้านการพัฒนารถไร้คนขับและระบบหุ่นยนต์เคลื่อนที่แบบอัตโนมัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยแนวทางสำคัญที่จะช่วยยกระดับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องไปสู่การผลิต CAV คือ การรวมกลุ่มเป็นภาคีเครือข่ายธุรกิจ (Business Alliance) ที่จะร่วมมือกันตั้งแต่การทำวิจัยพัฒนายานยนต์ต้นแบบไปจนถึงการผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งความร่วมมือนี้ไม่ใช่เพียงกิจกรรมที่พิสูจน์ความมุ่งมั่นของสมาชิกในเครือข่ายเท่านั้น แต่ยังเป็นงานที่ต้องได้รับความร่วมมือและความเชื่อมั่นกันของสมาชิกที่จะมาจากหลากหลายธุรกิจ/อุตสาหกรรม ที่ไม่ใช่เพียงอุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้น อีกทั้งต้องประสานความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศด้วย

ปิดท้ายด้วยการบรรยาย เรื่อง ‘เทคโนโลยีและชิ้นส่วนยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (CAV)’ จาก ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ และ ดร.จาตุวัฒน์ ราชเรืองระบิน หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งการนำเสนอครั้งนี้มุ่งเน้นแสดงให้เห็นตัวอย่างการสร้างเทคโนโลยียานยนต์ CAV ผ่านการวิจัยและพัฒนาที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการพัฒนางานทางด้านการขนส่งสมัยใหม่ พร้อมกับร่วมขับเคลื่อนการพัฒนา Ecosystem ในเชิงอุตสาหกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศ รวมทั้งการเปรียบเทียบเทคโนโลยีและชิ้นส่วนสำคัญที่มีการประยุกต์ใช้ในยานยนต์ CAV ซึ่งเริ่มมีการนำมาใช้งานในต่างประเทศ

นอกจากนี้ ภายในงานสัมมนายังมีการสาธิตการใช้งานรถยนต์ขับขี่อัตโนมัติต้นแบบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ รวมทั้งชมเทคโนโลยีเชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติจากผู้ผลิตรถยนต์ ได้แก่ บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด

ครม.อนุมัติเงินกู้ ให้สำนักงานธนานุเคราะห์ ประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 500 ล้านบาท เตรียมพร้อมรองรับคนใช้บริการราว 1.45 ล้านคน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 ว่า ครม. อนุมัติการกู้เงินเพื่อใช้จ่ายในกิจการของสำนักงานธนานุเคราะห์ประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 500 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ โดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรองรับธุรกรรมการรับจำนำของประชาชนที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง และเพื่อประกันการขาดสภาพคล่องทางการเงินที่ส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชน

ทั้งนี้เนื่องจากสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) ประเมินว่า ในงบประมาณปี พ.ศ.2564 จะมีผู้มาใช้บริการประมาณ 1.45 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 48,333 ราย และมีจำนวนเงินรับจำนำประมาณ 20,647 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 609 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องเสนอแผนเงินกู้ดังกล่าวไว้รองรับ

“โรงรับจำนำของรัฐเป็นช่องทางหนึ่งที่เป็นแหล่งพึ่งพิงสำคัญ สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถกู้ยืมจากสถาบันการเงินอื่น ๆ ได้ ซึ่งที่ผ่านมา สธค. มีผลประกอบการที่มีกำไรอย่างต่อเนื่อง มีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี และวงเงินกู้ดังกล่าวได้รับการบรรจุในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2564 ตามที่ ครม. ได้มีมติอนุมัติไปแล้วเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563”

‘สุริยะ’ จี้ สมอ. คุมเข้มสินค้า 43 รายการ เสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิต ให้เร่งประกาศเป็นสินค้าควบคุม ทั้งไฟฟ้า ยานยนต์ เคมี วัสดุก่อสร้าง เครื่องมือแพทย์ และสินค้าอุปโภคบริโภค ภายในปีนี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันจากที่เป็นอยู่ให้สูงขึ้น เพื่อให้สามารถดึงความสนใจของนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาในประเทศไทยได้

ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายที่ภาคอุตสาหกรรมและกระทรวงอุตสาหกรรมต้องเร่งดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกดิ่งลงเป็นประวัติการณ์ และในการผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำเป็นต้องมีมาตรการเสริมนอกเหนือจากการส่งเสริมการลงทุนโดยปกติ ซึ่งมาตรฐานก็เป็นหนึ่งในมาตรการที่มีความสำคัญต่อ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพสินค้าให้สามารถแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกได้

“ผมได้เร่งรัดให้ สมอ. เร่งดำเนินการกำหนดมาตรฐานเพื่อให้ทันกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ตลอดจนคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้เข้มงวด และควบคุมสินค้าที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชน โดยให้เร่งประกาศเป็นสินค้าควบคุมด้วย” นายสุริยะฯ กล่าว

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ได้ขออนุมัติบอร์ด สมอ. กำหนดมาตรฐานสินค้าทั้งสิ้นจำนวน 361 เรื่อง ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve จำนวน 117 เรื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve จำนวน 60 เรื่อง เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กลุ่มอุตสาหกรรมเชิงนโยบายและอื่นๆ จำนวน 113 เรื่อง ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เกษตรแปรรูป พลาสติก ยาง สมุนไพร นวัตกรรม เป็นต้น และกลุ่มผลิตภัณฑ์พื้นฐานตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จำนวน 71 เรื่อง ได้แก่ เครื่องกล เหล็ก คอนกรีต วัสดุก่อสร้าง และโภคภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งก็เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ไตรมาส 2 สมอ. กำหนดมาตรฐานแล้วทั้งสิ้นกว่า 250 เรื่อง และคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมด ภายในไตรมาสที่ 4 อย่างแน่นอน

“ขณะนี้ สมอ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำมาตรฐานใหม่ที่จะประกาศเป็นสินค้าควบคุมอีกทั้งหมด 43 รายการ เช่น ยางหล่อดอกซ้ำ เหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อนเคลือบสังกะสี หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว ถุงมือสำหรับการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ชนิดใช้ครั้งเดียว กระดาษสัมผัสอาหาร ภาชนะพลาสติกสำหรับบรรจุน้ำบริโภค เครื่องฟอกอากาศ ถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร เก้าอี้นวดไฟฟ้า และเครื่องเล่นสนาม ได้แก่ ชิงช้า กระดานลื่น ม้าหมุน อุปกรณ์โยก เป็นต้น และนำมาตรฐานเดิมมาทบทวนและเสนอบังคับต่อเนื่องอีกจำนวน 21 รายการ เช่น

มาตรฐานในกลุ่มสีย้อมสังเคราะห์ เหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานโครงสร้างเครื่องจักรกล เตารีดไฟฟ้า กระทะไฟฟ้า เตาไมโครเวฟ ท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ เครื่องดับเพลิง และแบตเตอรี่มือถือ เป็นต้น โดยทั้งหมดจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2564 นี้ จึงขอแจ้งไปยังผู้ประกอบการที่จะทำสินค้าดังกล่าว ให้เตรียมตัวดำเนินการตามมาตรฐาน ทั้งที่ทำในประเทศ และนำเข้า เพราะท่านจะต้องขออนุญาตจาก สมอ. ก่อนทำหรือนำเข้า พร้อมทั้งให้เตรียมตัวยื่นขอใบอนุญาตก่อนวันที่มาตรฐานแต่ละรายการจะมีผลบังคับใช้ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถติดต่อได้ที่ สมอ. หรือจะยื่นขอ มอก. ออนไลน์ผ่านระบบ E-license ได้ที่ https://itisi.go.th/e-license/ ตลอด 24 ชั่วโมง” เลขาธิการ สมอ. กล่าว

“สุชาติ” เผย โครงการ ม.33 เรารักกัน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากทำเงินหมุนเวียนหลายหมื่นล้าน เตรียมขอขยายตรวจหาเชื้อโควิดในแรงงานต่างด้าวไปอีก 1-2 เดือน

7 เมษายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุถึงการกระจายรายได้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการ ม.33 เรารักกัน ว่า มีเม็ดเงินหมุนเวียนหลายหมื่นล้านบาท จากจำนวนเงินในโครงการที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังได้ให้มา 37,000 ล้านบาท มีรอบเงินหมุนเวียนในตลาดมีการใช้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจำนวนเงิน 37,000 ล้านบาท หากมีการหมุนเวียน 1 เดือนจำนวนสามรอบจะมีเงินกว่าแสนล้านบาทขยายลักษณะแนวนอน ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากขยายตัวขึ้น

นายสุชาติ กล่าวถึงการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ลามถึงทำเนียบรัฐบาลที่ทำให้รัฐมนตรีหลายคนต้องกักตัว ว่า ส่วนตัวมองว่ารัฐมนตรีทุกคนระมัดระวังตนเองอยู่แล้ว อย่างเช่นตน ซึ่งรัฐบาลก็พยายามหามาตรการควบคุมอย่างดีที่สุดและในส่วนของกระทรวงแรง ตนได้กำชับสถานประกอบการและเดินหน้าตรวจโควิดให้กำแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนอย่างต่อเนื่อง และในวันนี้ขยายระยะเวลาการตรวจหาโควิดและเก็บอัตลักษณ์ในแรงงานต่างด้าวออกไป 1-2 เดือนเพราะกังวัลว่าจะไม่ทันวันที่ 16 เมษายนนี้

ปิดฉาก Motor Show 2021 ยอดจองในงานทะลักกว่า 2.7 หมื่นคัน ทะลุเป้าโต 51.5% เงินสะพัด 3 หมื่นล้าน ส่วนยอดเข้าชมกว่า 1.34 ล้านคน

นายจาตุรนต์ โกมลมิศร์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในฐานะรองประธานจัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 42 เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 42 ปี ที่งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ได้รับความเชื่อมั่นจากค่ายรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ต่างมั่นใจในศักยภาพของงานว่า มีส่วนช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายในช่วงที่เหลือของปีดังที่ปรากฏมาโดยตลอด และยังเป็นงานที่ผู้บริโภคต่างรอคอย เพราะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการหาซื้อรถยนต์คันใหม่ เนื่องจากจะมีโปรโมชั่นและแคมเปญหลากหลายมากระตุ้นยอดขายในช่วงนี้

โดยที่ผ่านมาต้องเจอผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ยอดจองลดลงจากช่วงปรกติ แต่ด้วยตัวเลขยอดจองในปีนี้ มีการเติบโตขึ้นจากปีก่อนถึง 51.5 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่ากำลังซื้อของคนไทยไม่ได้หายไปไหน แค่รอเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน ในการออกแคมเปญ และโปรโมชั่นของค่ายรถช่วยให้ทุกคนเป็นเจ้าของรถคันใหม่ได้สะดวกขึ้น

ขณะที่ในส่วนพฤติกรรมของผู้บริโภคเองปีนี้ต่างให้การตอบรับกับรถยนต์รุ่นใหม่ที่เปิดตัวก่อนหน้างาน และเปิดจองภายในงานมอเตอร์โชว์เป็นครั้งแรก เห็นได้จากบรรยากาศการเจรจาที่หนาแน่นดังเช่นทุกปีโดยเฉพาะในช่วงสุดสัปดาห์ที่มียอดจองเป็นสองเท่าของวันธรรมดา แต่ด้วยพฤติกรรมของคนผู้บริโภคเปลี่ยนไป เพื่อให้สมกับช่วงที่ต้องรัดเข้มขัด จึงหันมาซื้อหารถใหม่ที่ตอบโจทย์ความคุ้มค่ามากขึ้น ขณะที่ตลาดรถหรูยังคงเติบโตตามเป้าด้วยสาเหตุที่ค่ายรถเองต่างชิงเปิดตัวสินค้าใหม่แทบทุกรุ่น เพื่อกระตุ้นยอดขาย

ส่วนในด้านเทคโนโลยีปีนี้เป็นปีของยานยนต์ไฟฟ้า ผู้บริโภคต่างให้ความสนใจพร้อมเปิดรับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อค่ายรถหันมาทำตลาดรถยนต์ไฮบริด หรือรถปลั๊กอินไฮบริด เพิ่มมากขั้น ส่วนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าต่อจากนี้คงต้องจับตาเมื่อมีผู้เล่นหน้าใหม่หันมาชิงตลาดนี้ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกับแบรนด์ที่เกิดใหม่อย่าง เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) ที่เมื่อ 7 ปีที่แล้วเคยเข้ามาร่วมงานกับเราครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งการกลับมาในปีนี้พร้อมนำผลิตใหม่ ๆ เข้ามาสร้างสีสันภายในงาน คงต้องคอยดูว่า ในปีหน้าจะนำนวัตกรรมใหม่ๆอะไรบ้างเข้ามาร่วมงาน เป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้เหนือสิ่งอื่นใด มาตรการป้องกันการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทางผู้จัดฯ วางไว้อย่างเข้มข้น ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในความปลอดภัย ทำให้ภาพรวมงานในปีนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี เหมือนกับธีมงานมอเตอร์โชว์ วิถีชีวิตใหม่ใจเป็นสุข เนื่องจากการจัดงาน นอกจากเป็นการกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะในเรื่องของการจ้างงาน เพราะตั้งแต่การก่อสร้างจนลื้อถอน ต้องใช้แรงงานนับ 10,000 คนต่อวัน ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนตลอดระยะเวลาของการจัดงานกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมอีกด้วย

สำหรับปริมาณยอดจองรถยนต์ภายในงานมีจำนวนทั้งสิ้น 27,868 คัน คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 30,000 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 51.5% จากปีที่ผ่านมา และมีตัวเลขผู้เข้าชมงานสูงถึง 1.34 ล้านคน จากเดิม 1.049 ล้านคน เพิ่มขึ้น 28.6% ซึ่งบริษัทที่ทำยอดจองสูงสุดภายในงานได้แก่ อันดับ 1 โตโยต้า ยอดจองรวม 4,406 คัน,อันดับ 2 มาสด้า ยอดจองรวม 3,454 คัน,อันดับ 3 ฮอนด้า ยอดจองรวม 3,305 คัน,อันดับ 4 อีซูซุ ยอดจองรวม 2,829 คัน,อันดับ 5 ซูซูกิ ยอดจองรวม 2,689 คัน,อันดับ 6 เมอร์เซเดส-เบนซ์ ยอดจองรวม 1,863 คัน,อันดับ 7 เอ็มจี ยอดจองรวม 1,629 คัน,อันดับ 8 มิตซูบิชิ ยอดจองรวม 1,462 คัน,อันดับ 9 ฟอร์ด ยอดจองรวม 1,212 คัน และอันดับ 10 นิสสัน ยอดจองรวม 1,144 คัน

ส่วนแบรนด์รถจักรยานยนต์มียอดจองภายในงานรวมทั้งสิ้น 1,155 คัน ที่ทำยอดจองสูงสุดได้แก่ อันดับ 1 ยามาฮ่า ยอดจองรวม 815 คัน,อันดับ 2 ซูซูกิ 131 คัน,อันดับ 3 ฮาเลย์-เดวิสัน ยอดจองรวม 126 คัน,อันดับ 4 วรูม ผู้จัดจำหน่าย เคทีเอ็ม,บาจาจ และฮัสควาร์น่า ยอดจองรวม 83 คัน สำหรับยอดจองขอรถจักรยานยนต์ฮอนด้านั้น ทางบริษัทของดแจ้งยอด

LG Electronics Inc. กำลังปิดหน่วยสมาร์ทโฟน เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานและมุ่งเน้นไปที่โครงการในอนาคตเช่นส่วนประกอบของรถยนต์ไฟฟ้า หลังแผนกนี้ขาดทุนอย่างหนัก

LG จะยุติการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ เพื่อมุ่งเน้นทรัพยากรในด้านการเติบโตรวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า (EV), บ้านอัจฉริยะ, หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์

ทั้งนี้ โทรศัพท์มือถือคิดเป็น 8.2% ของยอดขาย LG ในปีที่แล้ว โดยบริษัทฯ คาดว่าจะมีการสูญเสียรายได้อีกในระยะสั้น ฉะนั้นหากบริษัทปิดธุรกิจนี้ น่าจะเป็นผลดีทางการเงินในระยะยาว แล้วไปเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ รวมถึงไปทุ่มพัฒนาเทคโนโลยีมือถือเช่นระบบเครือข่ายและกล้องรุ่นที่ 6

สำหรับ LG เริ่มผลิตโทรศัพท์มือถือครั้งแรกในปี 1995 และ LG เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกระบบปฏิบัติการ Android โดยร่วมมือกับ Google ของ Alphabet Inc. ในกลุ่มผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟน Nexus และผลิตกล้องและเทคโนโลยีการแสดงผลที่ดีที่สุดในกลุ่มนี้

โดย LG Electronics เคยเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ยิ่งไปกว่านั้นในแง่ของส่วนแบ่งการตลาดในตลาดสหรัฐ LG ก็เคยเป็นอันดับสามรองจาก iPhone ของ Apple Inc. และSamsung Electronics Co. จากประเทศเดียวกัน

แต่ปัจจุบัน LG สู้คู่แข่งไม่ได้มาหลายปี และจากนั้น OnePlus ของจีน ก็พุ่งพรวดเข้ามาแทนที่ท่ามกลางการสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดไปทั่วโลกให้กับคู่แข่งจากต่างประเทศ โดยธุรกิจมือถือของ LG ตกอยู่ในสภาพย่ำแย่มาตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2015มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานสะสมถึง 5 ล้านล้านวอน (4,400 ล้านดอลลาร์) ในปีที่แล้วตามรายงานของสำนักข่าวยอนฮัป

ดังนั้นในเดือนมกราคมผ่านมา ทางบริษัทจึงตัดสินใจทบทวนทิศทางของธุรกิจสมาร์ทโฟนใหม่ ด้วยการปิดไลน์ธุรกิจดังกล่าว ทั้งๆ ที่เมื่อเดือนก่อนหน้านั้นสัญญาว่าจะขายโทรศัพท์แบบพับได้ในปีนี้


ที่มา: https://www.posttoday.com/world/649675

ไอเดียกระฉูด! รัฐบาล สั่งปั้นแอปฯ ‘เป๋าตัง’ ต่อยอดระบบอี-เพย์เมนต์ เล็งเปิดให้ประชาชนกู้เงินกันเองผ่านแอปพลิเคชั่น

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังศึกษาแนวทางการต่อยอดการทำธุรกรรมของประชาชนผ่านระบบอี-เพย์เมนต์ ให้มากขึ้น โดยในอนาคตอาจให้ประชาชนสามารถปล่อยกู้ระหว่างกันเองผ่านแอพพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น และประชาชนที่มีเงินออมเพียงพอที่จะสามารถปล่อยกู้และรับความเสี่ยงได้ก็ใช้ช่องทางนี้ปล่อยเงินกู้ได้ตามกฎหมายที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งเชื่อว่าในอีกไม่นานจากนี้จะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น

สำหรับรูปแบบการดำเนินการในลักษณะนี้พบว่ามีต้นแบบการดำเนินการแล้วในต่างประเทศ เช่น ในประเทศจีนมีการดำเนินการโดยบริษัท อาลีบาบา ที่มีบริษัทลูกที่ดำเนินการในเรื่องนี้ โดยใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยวิเคราะห์เครดิตของผู้กู้เงินทำให้การปล่อยกู้เงินผ่านระบบแอพพลิเคชั่นสามารถทำได้

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า การช่วยเหลือประชาชนผ่านระบบอีเพย์เมนต์ที่รัฐบาลโอนเงินช่วยเหลือให้ประชาชนผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังหลายโครงการในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและเรียนรู้การใช้จ่ายเงินผ่านระบบอีเพย์เมนต์ได้รวดเร็วโดยความสำเร็จในเรื่องนี้รวมทั้งข้อมูลที่รัฐบาลได้รับในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลกำลังพัฒนาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

จับตา 'คลัง'เคาะภาษีบุหรี่ใหม่ ตอบโจทย์ 4 ด้าน ระบุไม่จำเป็นต้องคงอัตราเดียวกัน

วันที่ 5 เมษายน  2564 นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า จะนำผลการศึกษาเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่หารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง เพื่อหาข้อสรุปโดยเร็วที่สุด ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากโครงสร้างภาษีตุลาคม 2564 จึงต้องการสรุปรายละเอียดเพื่อให้ผู้ประกอบการรับทราบและเตรียมปรับตัวในการดำเนินธุรกิจต่อไป

สำหรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่นั้น จะต้องตอบโจทย์ 4 เรื่อง คือ 1. ด้านสาธารณสุข 2. ด้านเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ จะต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด 3. ด้านรายได้ของรัฐบาลจะต้องไม่ลดลง และ 4. ด้านการดูแล บริหารจัดการบุหรี่เถื่อน และบุหรี่ปลอม ภายใต้โจทย์ทั้ง 4 เรื่องนี้ โครงสร้างภาษีใหม่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่กลุ่มผู้ค้าบุหรี่บางกลุ่มต้องการ เพราะว่ามีข้อเสนอที่สุดโต่งเกินไป

นายลวรณ กล่าวอีกว่า โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ไม่จำเป็นต้องเป็นอัตราเดียวเหมือนต่างประเทศ หรือตามกฎหมายเดิมที่ใช้ในปัจจุบัน โดยจะมีการปรับให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและบริบทของผู้ประกอบการ รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้มากที่สุด จึงยังบอกไม่ได้ว่าโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่จะอัตราเป็นอย่างไร จะเป็นอัตราเดียว หรือหลายอัตรา

"โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่จะมีการเสนอผลการศึกษาให้ รมว.การคลัง พิจารณาเห็นชอบมากกว่า 1 ทางเลือก ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เสนอว่าให้มีการจัดเก็บอัตราภาษีบุหรี่ 3 อัตรา โดยมีอัตราต่ำขึ้น เพื่อทำให้ ยสท. ขายบุหรี่ในราคาถูกได้นั้น ก็เป็นการเสนอได้ ส่วนการตัดสินใจทั้งหมดเป็นหน้าที่ของกรมสรรพสามิต" นายลวรณ กล่าว

นายลวรณ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันกรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีบุหรี่เฉลี่ยปีละ 60,000 ล้านบาท โดยกรมสรรพสามิตได้ให้ความสำคัญกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างภาษีบุหรี่ทั้งหมด ทั้งผู้ค้า และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ที่เริ่มใช้เมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้ขายใบยาสูบได้ลดลง ซึ่งทางกรมสรรพสามิตได้มีการจ่ายเงินเยียวยาให้มาเป็นเวลา 2 ปีก่อนเรื่อง

โดยล่าสุดกรมสรรพสามิตได้เสนอสำนักงบประมาณ เพื่อขอใช้งบประมาณปี 2564 วงเงิน 159 ล้านบาท ในการจ่ายชดเชยให้ผู้ปลูกใบยาสูบในปีการผลิต 2564


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top