Tuesday, 30 May 2023
ECONBIZ

กระทรวงพลังงาน จับมือ ปตท. ร่วมเป็นเจ้าภาพงาน Future Energy Asia 2023 ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงาน และยานยนต์ ระดับภูมิภาคเอเชีย

ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการและการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงทางพลังงานระดับภูมิภาค Future Energy Asia 2023 โดยมีนายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ร่วมกล่าวปาฐกถาเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) คาดการณ์สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม กลุ่ม ปตท. ได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเตรียมพร้อมรับความท้าทาย ตามวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond” มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนการดำเนินงาน สู่การดำเนินธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต อาทิ การลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและระบบกักเก็บพลังงาน ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจไฮโดรเจน รวมถึงเร่งการดำเนินงานในธุรกิจ LNG ที่จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานอีกด้วย

‘พงษ์ภาณุ’ อดีตรองปลัดคลังฯ วิเคราะห์ ‘จีน’ ผลิตชิปเองทั้งระบบ อ้างเหตุ ด้านความมั่นคง

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจของโลก ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 66 โดยระบุว่า มนุษย์ผลิต ทรานซิสเตอร์ ชิป กันอย่างมากมายมหาศาล และราคาของชิปนั้น ก็ถูกมาก หาซื้อได้ง่าย ชิปนั้นมีความสำคัญกับมนุษย์มาก ทุกเครื่องใช้ไฟฟ้า จะต้องมีชิปเป็นส่วนประกอบ จุดเริ่มต้นของการผลิตชิปนั้น ก็ประมาณหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ประเทศอเมริกา มีผู้ผลิตวงจรทรานซิสเตอร์ได้สำเร็จ เริ่มต้นนั้น ชิป ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของสหรัฐอเมริกา นำไปใช้ในขีปนาวุธเพื่อนำวิถี เริ่มใช้ในสงครามเวียดนาม แต่มาประสบผลสำเร็จอย่างมากก็ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย

นอกจากนี้โครงการอพอลโล ที่เดินทางไปดวงจันทร์ ก็ใช้ชิปเหล่านี้ โดยมีการพัฒนาให้ชิปมีขนาดเล็กลงและมีน้ำหนักเบา ซึ่งต้องชื่นชมการประสานงานการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล บริษัทเอกชน และสถาบันการศึกษาต่างๆในอเมริกา ที่ร่วมกันทำงานอย่างไร้รอยต่อ ซี่งหลังจากนั้นก็มีการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตชิป ให้ขยายออกไปในวงกว้าง เพื่อทำตลาดขายให้กับบุคคลทั่วไป ซึ่งมีฐานการผลิตที่กระจายออกไปยังประเทศตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อนำชิปมาผลิตเป็นเคื่องคิดเลข คอมพิวเตอร์ เป็นการกระจาย เอาท์ซอร์ท ซัพพลายเชนท์ ออกไปทั่วโลก รวมทั้งกระจายมายัง ไทย เวียดนาม

แต่ในปัจจุบัน ประเทศมหาอำนาจอย่างจีน กลับเน้นที่จะผลิตชิปเองภายในประเทศ เพราะเหตุผลทางด้านความมั่นคง ซึ่งส่งผลให้เกิดการแข่งขันการผลิตชิป รวมทั้งสงครามทางการค้า ซึ่งก่อให้เกิดการตึงเครียด ไปถึงความมั่นคง

แต่ในขณะเดียวกัน อเมริกา ในฐานะต้นกำเนิดของผู้ผลิตชิปนั้นก็ยังคงเป็นผู้นำทางด้านความไฮเทคในการผลิตชิปต่างๆ ซึ่งก็ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับจีน ในการที่จะทำสงครามเรื่องชิปกับประเทศที่ไฮเทคอย่างอเมริกา

จีน เตรียมถ่ายทอด เทคโนโลยีรถไฟหัวกระสุน ให้ไทย ทั้งการก่อสร้างระบบราง – ขบวนรถ

สำนักข่าว Reporter Journey ได้โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับ โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย – จีน โดยมีใจความว่า

โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย - จีน อภิมหาโปรเจกต์ที่มีขนาดใหญ่และใช้ระยะเวลาการก่อสร้างนาน ซึ่งปัจจุบันจะเห็นความคืบหน้าของการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ในเฟสแรกคือช่วง กรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทางราวๆ 250 กิโลเมตร แม้จะอยู่ในสปีดที่ช้าเนื่องจากมีปัญหาหลายอย่างที่ต้องแก้ไข แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นครั้งยิ่งใหญ่ในการปฏิวัติระบบคมนาคมขนส่งทางรางของไทย ที่จะมีผลต่อการพัฒนารถไฟสายอื่นๆ ในอนาคต

อย่างที่หลายคนคงทราบกันว่าโครงการนี้นอกจะก่อสร้างทางวิ่ง สถานี สะพาน อุโมงค์ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่ได้องค์ความรู้จากประเทศจีนซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกด้านระบบรถไฟความเร็วสูง และยังเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นของไทยมาโดยตลอด สิ่งที่ระบุไว้ในสัญญาชัดเจนตั้งแต่ต้นคือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีจีนและองค์ความรู้บางส่วนให้กับประเทศไทย เพื่อให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถพัฒนาเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงของตนเองได้

เกา เร่ย วิศวกรอาสุโสและทีมบริหารวิศวกรรมและการเจรจาทางเทคนิคในต่างประเทศของ China Railway International Group" ได้เขียนระบุลงในวารสารรถไฟ Railway Standard Design ของจีนเมื่อเดือนที่แล้วโดยมีใจความสำคัญว่า

“เมื่อความร่วมมือในโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน - ไทยลึกซึ้งยิ่งขึ้น ความปรารถนาของไทยในการออกแบบและสร้างรถไฟความเร็วสูงด้วยตัวเองก็ค่อยๆ แข็งแกร่งขึ้น พวกเขาหวังว่าจะมีบทบาทมากขึ้นในความร่วมมือในอนาคต"

"เพื่อตอบสนองต่อคําขอซ้ำๆ ของไทยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการสอนเกี่ยวกับเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีนในการประชุมคณะกรรมการร่วม จีนได้ตกลงที่จะส่งต่อเทคโนโลยีดังกล่าวมายังประเทศไทยภายใต้สมมติฐานว่าไม่ละเมิดกฎหมายจีน"

ภายใต้กฎหมายจีน บริษัท และบุคคลต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลในการส่งออกเทคโนโลยีที่ถือว่ามีความสําคัญต่อความมั่นคงของชาติหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับประเทศจีน ถือว่าเป็นมหาอำนาจรถไฟความเร็วสูงในปัจจุบันอย่างเต็มตัว โดยมีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ใหญ่ที่สุดในโลกครอบคลุมมากกว่า 40,000 กม. หรือยาวพอที่จะโคจรรอบโลก มีประสบการณ์ด้านวิศวกรรม ความรู้และเทคโนโลยีของตัวเองที่พัฒนาต่อยอดมาจากรถไฟความเร็วสูงรุ่นต้นแบบจากทั้งของเยอรมันและญี่ปุ่นที่นำมาศึกษา ก่อนจะสร้างรถไฟความเร็วสูงของตัวเองขึ้นมา ซึ่งใช้เวลาเพียง 15 ปี ที่จีนสามารถก้าวขึ้นเป็นหัวแถวของโลก อีกทั้งยังพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศที่มีศักยภาพและความพร้อมอื่นๆ ที่ต้องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่คล้ายคลึงกันอย่างรวดเร็วและด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำกว่า

ตัวอย่างเช่น จีนได้พัฒนาการออกแบบโมดูลาร์สําหรับสถานีรถไฟและส่วนประกอบโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่สามารถประกอบได้อย่างรวดเร็วในสถานที่ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาวัสดุใหม่สําหรับรางรถไฟที่สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบํารุงรักษาในระยะยาว เช่น เหล็กและคอนกรีตที่มีความแข็งแรงสูง

ซึ่งทางจีนได้เห็นชอบในหลักการที่จะถ่ายทอดหรือส่งต่อเทคโนโลยี ทักษะ และความรู้ใน 11 ด้าน ของการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงมาให้กับประเทศไทย

ไทยจะได้อะไรบ้างจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีของจีน?

การถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างองค์กรหรือประเทศต่างๆ อาจเกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนสิทธิบัตร ใบอนุญาต หรือสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือการประกอบตัวรถไฟภายในประเทศ ซึ่งมีทั้งที่เปิดเผยต่อสาธารณะชนได้และยังเปิดเผยไม่ได้

โดยทั่วไปข้อมูลและความเชี่ยวชาญจะถูกแบ่งปันผ่านโปรแกรมการฝึกอบรม การประชุมเชิงปฏิบัติการ และกิจกรรมอื่น ๆ ในขณะที่การถายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวมักจะทําโดยมีค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่นๆ ซึ่งจริงจะเรียกว่าเหมือนได้มาฟรีเป็นของแถมจากการซื้อเทคโลโลยีมาใช้ก็น่าจะไม่ผิดนัก

จีนสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างรางรถไฟ และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสําหรับการวางรางในภูมิประเทศที่แตกต่างกัน

ความเชี่ยวชาญอื่นๆ ที่สามารถส่งต่อได้แก่ การออกแบบสถานีรถไฟเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานของผู้สาร การสร้างสะพานข้ามแม่น้ําหรือแหล่งน้ําอื่นๆ ด้วยความเร็วที่เร็วขึ้น แต่ต้นทุนที่ต่ำกว่า การเตรียมพื้นดินใต้รางรถไฟเพื่อความมั่นคงและปลอดภัย และวิธีการออกแบบและสร้างอุโมงค์ที่ปลอดภัย

ในเอกสารทีมงานของเกา เร่ย กล่าวว่า ในการปรับปรุงคุณภาพและความเร็วในการก่อสร้างจะถูกแบ่งปันตั้งแต่การสํารวจที่ดิน และการจัดการแหล่งน้ําใกล้เคียงไป จนถึงแสงสว่างในอุโมงค์ และระบบทําความร้อนการระบายอากาศ และเครื่องปรับอากาศภายในสถานี รวมทั้งสิ่งอํานวยความสะดวกอื่นๆ อีกมากมาย

สำหรับโครงการรถไฟจีน - ไทยที่ครบทั้งเฟสนั้นจะขยายเส้นทางต่อไปยังจังหวัดหนองคาย เพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟลาว - จีน ระยะทาง 873 กม. ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเส้นทางเชื่อมต่อมาจากนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ และให้บริการด้วยรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วสูงสุดที่ 250 กม./ชม.

และเป็นส่วนสําคัญของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ที่รัฐบาลจีนต้องการจะเชื่อมโยงพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะผ่านเมืองต่างๆ ของไทย และเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงมาเลเซีย - สิงคโปร์ ที่แม้จะยกเลิกโครงการไปแล้วเนื่องจากมาเลเซียประเมินฐานะการคลังของตัวเองว่า ณ ปัจจุบันยังไม่มีความพร้อมที่จะก่อสร้าง เนื่องจากมีหนีสินในสกุลเงินตราต่างประเทศสูง และค่าเงินริงกิตที่ร่วงลงอย่างหนัก

สำหรับเส้นทางในระยะแรกมีการสร้างทางรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ - นครราชสีมา จีนจะมีบทบาทสําคัญในการออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง

ส่วนระยะต่อไประหว่างนครราชสีมา - หนองคาย จีนจะลดบทบาทลงและให้บริษัทเอกชนของไทยที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้วจะเป็นผู้รับผิดชอบงานออกแบบและก่อสร้างมากขึ้น

ฝั่งของจีนยอมรับว่า การเจรจาโครงการในไทยเป็นอะไรที่ "ยากมาก" เพราะไทยปฏิเสธข้อเสนอของจีนในการจัดหาเงินทุนให้กับโครงการทั้งหมด โดยเลือกที่จะใช้แหล่งเงินทุนภายในประเทศ และการลงทุนภาคเอกชนผสมกันแทน และทําให้การเจรจามีความเท่าเทียมกันมากขึ้น

หนึ่งในประเด็นบนโต๊ะเจรจาที่มีการถกเถียงกันคือมาตรฐานรถไฟความเร็วสูงของจีน ไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานระหว่างประเทศเสมอไป และต้องได้รับการตรวจสอบและประเมินโดยเจ้าหน้าที่ไทยเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยและกฎระเบียบของประเทศ

คุณสมบัติของวิศวกรชาวจีนที่เกี่ยวข้องกับโครงการก็เป็นปัญหาเช่นกัน เพราะไม่มีกลไกการยอมรับร่วมกันสําหรับคุณสมบัติของวิศวกรและสถาปนิกระหว่างจีนและไทย ดังนั้นฝ่ายไทยจึงไม่ยอมรับคุณสมบัติทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องของบุคลากรด้านเทคนิคของจีนโดยตรง ซึ่งทำให้วิศวกรชาวจีนต้องผ่านการฝึกอบรมและกระบวนการรับรองตามมาตรฐานของไทยเพิ่มเติม เพื่อให้พวกเขาสามารถทํางานในโครงการนี้ได้

เรียกได้ว่าไทยเองก็ “เขี้ยวลากดิน” ใส่จีนพอสมควร ไม่ใช่ “หมูสยาม” อย่างที่พญามังกรจีนจะสามารถเคี้ยวได้ง่ายๆ เหมือนที่ทำกับประเทศอื่นๆ ที่ยอมให้จีนเข้าควบคุมเบ็ดเสร็จทุกกระบวนการ รวมทั้งการขอสัมปทานการเดินรถเป็นหลายสิบปี

แต่ก็ทีมงานจีนกล่าวว่า เงื่อนไขที่จะให้จีนถ่ายการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้คือ ไทยต้องเปลี่ยนไปใช้มาตรฐานรถไฟความเร็วสูงของจีน

ประเด็นคือแบบนี้ โดยทั่วไปมาตรฐานระบบรถไฟถูกกำหนดโดยประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งเป็นชาติต้นกำเนิดรถไฟ และได้กําหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมเอาไว้ซึ่งมีการใช้งานมานานกว่าศตวรรษ และมีอิทธิพลอย่างมากต่อประเทสอื่นๆ ที่ต้องการสร้างระบบรถไฟ เพราะต้องอิงตามมาตรฐานเทคโนโลยีจากโลกตะวันตก ซึ่งตกทอดไปสู่โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ของไทยทุกโครงการต้องใช้มาตรฐานยุโรปหรือญี่ปุ่นเป็นเกณฑ์คุณภาพทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนจะต้องหาที่ยืนของเทคโลยีของตัวเองให้ได้ในตลาดไทย และรถไฟควาวเร็วสูงจึงเป็นจุดยืนสำคัญที่จีนจะได้มีอิทธิพลทางด้านเทคโนโลยีนี้

สำหรับรถไฟความเร็วสูงของจีนสามารถทำความเร็วสูงสุด 350 กม. / ชม. เร็วกว่ารถไฟหัวกระสุนส่วนใหญ่ในยุโรปและญี่ปุ่น พวกเขามักจะมีความยาวกว่าทั้งในเรื่องของตัวรถและเส้นทาง เช่น รุ่น Fuxing ที่ใช้ในสายปักกิ่ง - เซี่ยงไฮ้มีความยาวของขบวนรถมากกว่า 400 เมตร นั่นคือเกือบสองเท่าของความยาวของ TGV ในยุโรป เนื่องจากจำนวนผู้ใช้งานในจีนนั้นสูงกว่าและหนาแน่นกว่าตามจำนวนของประชากร

อีกทั้งจีนยังใช้ระบบอานัติสัญญาณของตัวเองสําหรับเครือข่ายซึ่งเข้ากันไม่ได้กับระบบยุโรปหรือญี่ปุ่น ซึ่งวิศวกรชาวจีนได้ยืนยันที่จะใช้มาตรฐานรถไฟของประเทศในระหว่างการเจรจากับประเทศไทยบนพื้นฐานที่จะคุ้มค่าและง่ายต่อการรวมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟที่มีอยู่ในจีนและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

ส่วนการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและผลิตรถไฟจีน เช่น ซีรีส์ CRH380 รวมถึงเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ เช่นแหล่งจ่ายไฟยังคงอยู่ระหว่างการเจรจาระหว่างไทยและจีน ตามเอกสาร

จีนซึ่งเป็นผู้ถือสิทธิบัตร ส่วนวัสดุราง และระบบอานัติสัญญาณบางอย่างที่ใช้ในเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง จีนกำลังพิจารณาว่าสิทธิบัตรเหล่านี้ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงของจีน จะได้รับอนุญาตหรือแบ่งปันกับประเทศไทยในด้านใดบ้าง

เพราะถ้าหากทำได้ ไทยจะกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่จีนยอมถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงนี้ให้ และอาจจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถผลิตรถไฟความเร็วสูงได้ครบวงจรทั้งการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานและตัวรถอีกด้วย

ต่างชาติขนเงินลงทุนไทย 4 เดือนแรก ทะลุ!! 3.8 หมื่น ลบ. เพิ่มขึ้น 6% จากปี 65 ‘ญี่ปุ่น’ ครองแชมป์อันดับ 1  

(19 พ.ค. 66) นายทศพล ทั้งสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานว่าในเดือน เม.ย. 66 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 43 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 13 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 30 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,654 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 487 คน ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์

ขณะที่ช่วง 4 เดือนแรกปี 2566 (ม.ค. – เม.ย.) ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 217 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 69 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 148 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 38,702 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 2,419 คน

โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 55 ราย (คิดเป็น 25%) เงินลงทุน 14,024 ล้านบาท, สิงคโปร์ 35 ราย (16%) เงินลงทุน 4,854 ล้านบาท, สหรัฐอเมริกา 34 ราย (15%) เงินลงทุน 1,725 ล้านบาท, จีน 14 ราย (6%) เงินลงทุน 11,230 ล้านบาท, สมาพันธรัฐสวิส 11 ราย (5%) เงินลงทุน 1,692 ล้านบาท และอื่น ๆ 68 ราย (33%) เงินลงทุน 5,177 ล้านบาท

รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรง จากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานสลิงและอุปกรณ์ช่วยยกในงานขุดเจาะปิโตรเลียม, องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า, องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของระบบการให้บริการรายการโทรทัศน์ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet Protocol Television : IPTV), องค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาในการใช้งานยางล้ออากาศยาน และองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการแก่ไขปัญหาเครื่องอัดอากาศ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย 217 ราย เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการลงทุน 38,702 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจ้างงานคนไทย 2,419 คน เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด คือ ‘ญี่ปุ่น’

โดยธุรกิจที่ได้รับอนุญาตในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 66 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ บริการขุดเจาะหลุมปิโตรลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับ สัมปทานในอ่าวไทย บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ทดลองระบบ เชื่อมระบบ และการเปิดใช้งาน ตลอดจนการบริหารจัดการ สำหรับโครงการรถไฟฟ้า

บริการก่อสร้าง รวมทั้งติดตั้งและทดสอบเกี่ยวกับการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก ดังนี้

บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาและแนะนำเชิงเทคนิค การแก้ไขปัญหาด้านเทคนิค รวบรวมข้อมูลด้านเทคนิค เป็นต้น

บริการกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มกลางสำหรับซื้อ-ขายสินค้า

บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งให้บริการแก่กิจการของวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ

ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วง 4 เดือนแรกปี 2566 (ม.ค. – เม.ย.) มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 43 ราย คิดเป็น 20% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 7,521 ล้านบาท คิดเป็น 19% ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 17 ราย ลงทุน 2,816 ล้านบาท, จีน 8 ราย ลงทุน 725 ล้านบาท, ฮ่องกง 3 ราย ลงทุน 2,920 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ อีก 15 ราย ลงทุน 1,058 ล้านบาท

โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ
1.) บริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการบริหารจัดการกระบวนการการผลิต ด้านการบริหารจัดการคุณภาพสินค้า และด้านการบริหารจัดการระบบการซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

2.) บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การออกแบบเครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือและอุปกรณ์

3.) บริการรับจ้างผลิตเครื่องจักร และชิ้นส่วนเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรม 

4.) บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ

5.) การค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อค้าส่งในประเทศ เป็นต้น

3 ปัจจัยที่ทำให้ไทยด้อยกว่า 'เวียดนาม' 'การเมือง-ข้อตกลงการค้า-วัยทำงานสะพัด'

หลังจากได้ดูผลสรุปตารางเหรียญ กีฬาซีเกมส์ 2023 ที่ประเทศกัมพูชา เมื่อวันพุธที่ 17 พ.ค. 2566 โดยอันดับ 1 ได้แก่ เวียดนาม มี 136 เหรียญทอง 105 เหรียญเงิน 118 เหรียญทองแดง รวม 359 เหรียญ ส่วนอันดับ 2 ไทย มี 108 เหรียญทอง 96 เหรียญเงิน 108 เหรียญทองแดง รวม 312 เหรียญ

อาจจะเป็นคนละเรื่องเดียวกันที่ตอนนี้ พัฒนาการหลายด้านของเวียดนามเริ่มจะทำให้ไทยตุ้ม ๆ ต่อม ๆ

หากย้อนไปเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ประเทศเวียดนามเคยขึ้นชื่อเป็นประเทศที่ยากจนอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ทุกวันนี้เวียดนามกำลังกลายเป็นประเทศแห่งโอกาส จนบางครั้งก็ถูกมองว่าเสือตัวใหม่แห่งเอเชีย และนี่คือเรื่องที่น่าห่วงต่อสถานภาพของประเทศไทย ในวันที่ยังทะเลาะกันเองไม่เลิก

เชื่อหรือไม่ว่า ในวันนี้ หากมองกลุ่มประเทศในอาเซียนที่น่าลงทุนนอกจากประเทศไทยเรา ชื่อชั้นของ เวียดนาม กำลังเนื้อหอมอย่างแรง ภายใต้เศรษฐกิจเวียดนามที่ทะยานเติบโตรอบด้าน มีแรงหนุนจนจีดีพีประเทศโตทะลุ 13% ไปแล้วเมื่อปี 2564 ส่วนปี 2565 ก็เติบโตมากถึง 8% 

เหตุผลสำคัญที่ทำให้เวียดนามเปลี่ยนแปลงได้เช่นนั้น มาจากการปรับเปลี่ยนแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมือง มาเป็นแบบระบบเศรษฐกิจตลาด แบบเชิงสังคมนิยม หรือ 'โด่ยเหมย' ด้วยการเพิ่มบทบาทของเอกชน แล้วลดบทบาทของภาครัฐลง ทำให้เศรษฐกิจเวียดนาม พลิกมาเติบโตอย่างรวดเร็ว 

ผลลัพธ์ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี จากเดิมที่ก่อนหน้านี้เวียดนามเน้นส่งออกสินค้าเกษตกรเป็นหลัก แต่ทุกวันนี้ภาพเปลี่ยนไป เวียดนามกลายเป็นผู้ส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในประเทศมากกว่า 67,000 แห่ง มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้เป็นสากลมากขึ้น รวมทั้งมีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เวียดนามเนื้อหอมขึ้นมาเลยทีเดียว

ทั้งนี้ หากมองในแง่นักลงทุนว่าทำไมต้องเลือกมาลงทุนเวียดนาม ก็จะมีปัจจัยสำคัญ ได้แก่...

>> ปัจจัยแรก เพราะการเมืองของเวียดนามมีเสถียรภาพ เนื่องจากมีพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เป็นองค์กรที่มีอำนาจ สูงสุดเพียงพรรคการเมืองเดียว 

>> ปัจจัยที่ 2 สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่น่าสนใจ เวียดนามมีข้อตกลงทางการค้ากับหลายประเทศ มากกว่า 15 ฉบับ ครอบคลุมไปกว่า 50 ประเทศ

>> และอีกปัจจัยสำคัญ คือ ค่าแรงยังต่ำกว่าไทยมาก เฉลี่ยไม่ถึง 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง

นอกจากเวียดนามจะมี 3 สิ่งใหญ่ ๆ ที่ไทยไม่มีแล้ว หากลองเทียบดูตอนนี้กลุ่มประชากรไทยส่วนใหญ่ ก็กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย ในขณะที่ประชากรเวียดนามส่วนใหญ่ อยู่ในกลุ่มคนทำงานอีกด้วย

สรุปได้ว่า หากประเทศไทยไม่อยากถูกเวียดนามแซงในทุก ๆ มิติของการเป็นหนึ่งแห่งอาเซียน ก็คงต้องเร่งเครื่องให้แรง เริ่มตั้งแต่สร้างเสถียรภาพการเมืองให้เข้มแข็ง ขณะเดียวกันก็คงต้องสร้างแรงดึงดูดนักลงทุนด้วยการให้สิทธิประโยชน์ที่ดูดใจนักลงทุนให้มาก ส่วนเรื่องสังคมสูงวัย เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ ที่น่าหนักใจต่อไทยจริง

เจ้าแม่โลจิสติกส์ ออกโรงเตือน  ให้รีบสามัคคี ก่อนที่ไทย จะไม่มีที่ยืนในเวทีโลก

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล เจ้าแม่แห่งวงการโลจิสติกส์ อภิมหาเศรษฐีคนหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศเวียดนาม จากประสบการณ์ในการทำธุรกิจ และได้ไปเห็น การลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ ของ

ประเทศเวียดนามแล้ว ก็เห็นถึงแนวโน้มที่ประเทศเวียดนาม จะดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากทั่วโลก และหากประเทศไทยยังมัวแบ่งฝ่ายทะเลาะกัน ขาดความรักความสามัคคีกันในชาติ เราก็อาจจะถูกประเทศเวียดนามพัฒนาแซงหน้าไปได้

โดยนางสาวจรีพร ได้โพสต์ ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว มีใจความว่า “เพิ่งกลับจากเวียดนาม โอกาสของการลงทุนยังมีอีกมาก คนไทยเราเลิกทะเลาะกันได้แล้ว ก่อนที่จะไม่มีที่ยืนในเวทีโลก”

‘บิ๊กตู่’ หนุนการค้าและการลงทุน ‘ไทย-จีน’ เต็มอัตรา หวังเชื่อมโยง ‘เซี่ยงไฮ้-EEC’ ยกระดับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

(18 พ.ค. 66 ) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สนับสนุนความร่วมมือด้านการลงทุนและการค้าระหว่างไทย-จีน ซึ่งมีแนวโน้มคึกคักต่อเนื่อง ด้านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พร้อมเชื่อมโยงพื้นที่ EEC กับเขตพิเศษหลินกังของนครเซี่ยงไฮ้ มุ่งสู่คลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

โดยเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา นายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้ นำคณะผู้บริหารระดับสูงของนครเซี่ยงไฮ้ เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อร่วมงานลงทุนเซี่ยงไฮ้ ร่วมแบ่งปันอนาคตซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ดำเนินการร่วมกับนครเซี่ยงไฮ้และภาคเอกชนจัดขึ้น เพื่อขยายความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงต่อยอดจากการเดินทางไปโรดโชว์ส่งเสริมการลงทุนที่ประเทศจีนของ BOI เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดย BOI เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนชาวจีน โดยมีทำเลที่ตั้งซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับภูมิภาค รวมถึงมีระบบขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และนิคมอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งในอนาคตสามารถเชื่อมโยงกับเขตพิเศษหลินกังของนครเซี่ยงไฮ้ได้อีกด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ นครเซี่ยงไฮ้ของจีนได้ให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยผลักดันเขตพิเศษหลินกัง (Shanghai Lin-gang Special Area) เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล สุขภาพและการแพทย์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และยานยนต์ไฟฟ้า โดยเป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญในการเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างไทยและจีนให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

“นายกรัฐมนตรียินดีที่การค้าและการลงุทนระหว่างไทยและจีนยังคงเดินหน้าเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทั้งอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และดิจิทัล สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ทั้งนี้ รัฐบาล และ BOI ซึ่งมีสำนักงานในจีน 3 แห่ง ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และกว่างโจว พร้อมขยายโอกาสเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศให้เติบโตมากยิ่งขึ้น” นายอนุชากล่าว

เปิดลงทะเบียนแล้ว!! กับกิจกรรม ‘Seminar in Fair #2’ เพื่อมาเจาะลึก ‘อุตสาหกรรมอาหาร’ วันที่ 23-24 พ.ค.นี้

(17 พ.ค. 66) ข่าวดี! การกลับมาของกิจกรรม Seminar in Fair #2 : THAIFEX - Anuga Asia 2023 ระหว่างวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2566 ณ ห้องจูปิเตอร์ 7 และ 8 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โอกาสดีของผู้ประกอบการ พบกับเสวนา/บรรยายให้ความรู้ เต็มอิ่มตลอด 2 วัน สนใจสมัครเข้าฟังการบรรยาย ฟรี! ไม่เสียค่าใช้จ่าย (รับจำนวนจำกัด) ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ ปิดรับสมัคร 22 พฤษภาคม 2566  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0989931942 (คุณกาญจนา) หรือ โทร 1169 กด1 และ 1 ในเวลาราชการ 

ห้ามพลาด! กับ 9 หัวข้อบรรยาย พร้อมลิงค์รับสมัคร คลิกเลย 
1. การเจาะตลาด Mainstream สหรัฐอย่างไรให้ได้ผล โดย  คุณณัฐวิณี เนตรสุวรรณ ผู้นำเข้าสินค้าอาหารไทยในตลาดสหรัฐอเมริกาและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ ThaiTable.com คลิก https://shorturl.asia/ycdOI

2.เจาะตลาดคนรักอาหารไทยด้วย Video Conference โดย นายพงษ์พัฒน์ เชี่ยวปัญญาทอง Mass Market  บริษัท Zoom Video Communications จำกัด คลิก https://shorturl.asia/LVxdz

3.เจาะลึกตลาดอาหารในตะวันออกกลาง โอกาสใหม่ของผู้ประกอบการไทย โดย คุณปณต บุณยะโหตระ
ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมการค้าผู้ส่งออกเอเซียและตะวันออกกลาง และอดีตผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และผู้นำเข้าสินค้าไทยในตลาดตะวันออกกลาง คลิก https://shorturl.asia/Sfanx

4.ครัวออร์แกนิคไทยสู่ครัวโลก โดย ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ นายกสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย และ คุณกนก อภิรดี ประธานคณะที่ปรึกษาสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย และอดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) คลิก https://shorturl.asia/51GT3

5. โอกาสทองของอาหารไทยในลาตินอเมริกา: สินค้ากัญชา ข้าว โดย คุณชนะ คณารัตนดิลก รองประธานบริษัท Riceland จำกัด และ 
คุณกิติชัย วงศ์เจริญสิน รองประธานบริษัท CPL Public จำกัด และ 
ศ.ดร.สุพจน์ หาญหนองบัว CEO บริษัท Siam Snail จำกัด คลิก https://shorturl.asia/Mqw1f 

6. จับอาหารอินทรีย์ไทยมาติดปีกบิน โดย ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ นายกสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย คลิก https://shorturl.asia/XAnsS

7. Market Opportunities for Thai Products in Latin Zone โดย Mr.Miguel George Cruz, Chief of Commercial & Cultural Sector, Mexican Embassy และ Mr. Fernando Berguno, Commercial Attache Chilean Embassy คลิก https://shorturl.asia/rOvi0

8. แนวโน้มตลาดอาหารไทยในตลาดส่งออกใหม่ โดย นางประภา บุรณศิริ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ สำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 2 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ คลิก https://shorturl.asia/HsxWk

9. Future Food โอกาสทองของผู้ส่งออกไทย โดย ผู้แทนจาก ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (Economic Intelligence Center: EIC ) ธนาคารไทยพาณิชย์ คลิก https://shorturl.asia/SKBnF

การบินไทยฟื้นตัว คงสถานะสายการบินแห่งชาติ คาด!! พร้อมกลับเข้าตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 4 ปี 67

(16 พ.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยนายกรัฐมนตรีชื่นชมที่ รัฐบาลสามารถแก้ปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้อย่างคืบหน้าในระดับหนึ่ง ซึ่งขอให้เร่งรัดแก้ปัญหาให้เร็วขึ้น เพื่อให้ได้กลับคืนสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งฝากดูแลเจ้าหน้าที่พนักงานของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ ไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ ให้ได้รับความเป็นธรรมและสามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมั่นใจ

สำหรับมติที่สำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการดำเนินการปรับโครงสร้างทุน การแปลงหนี้เป็นทุนและการจัดสรรเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิม ไม่จัดสรรและเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดย การบินไทย จะดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุนและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน PPO ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 ซึ่งจะทำให้มีส่วนของผู้ถือหุ้น จำนวน 28,685 ล้านบาท เพื่อให้สามารถกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ภายในไตรมาส 4 ปี 2567

ส่วนการปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ ไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ มีอากาศยานที่ใช้ทำการบินรวม 64 ลำ ซึ่งบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการขออนุญาตจัดหาอากาศยานเพิ่มเติมโดยเช่าดำเนินงาน 13 ลำ และมีอากาศยานที่อยู่ระหว่างจัดหาตามแผนการจัดหาอากาศยานปี 2567-2568 อีกจำนวน 9 ลำ 

ทั้งนี้ยังคงสถานะสายการบินแห่งชาติ เนื่องจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 83.93% ถือเป็นสัดส่วนการถือหุ้นที่มีความเหมาะสมสำหรับการกำหนดให้เป็นสายการบินแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการดำเนินภารกิจสำคัญต่าง ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ รวมถึงให้สามารถกลับเข้าร่วมในคณะกรรมการต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการการจัดสรรเวลาเข้า-ออก ของเที่ยวบิน คณะกรรมการของผู้แทนของรัฐบาลเพื่อพิจารณาจัดทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับรัฐบาลต่างประเทศเป็นประจำ

นอกจากนี้ในการติดตามหนี้สินที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีสิทธิเรียกร้องและทุนทรัพย์สูง โดยธนาคารเจ้าหนี้ ได้แก่ ธนาคารออมสิน และ ธนาคารกรุงไทย โดยได้นำเงินฝากในบัญชีกองทุนบำเหน็จพนักงานการบินไทยหักกลบหนี้ตามมูลหนี้ ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีต่อธนาคารต่อไป

'แสนสิริ' ประกาศกำไรไตรมาสแรกปี 66 ฟาดรายได้ทะลุ 1,582 ล้านบาท โต 423%

(16 พ.ค.66) นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2566 แสนสิริมีรายได้รวมในไตรมาสแรกปี 2566 อยู่ที่ 8,505 ล้านบาท โตขึ้น 63% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ผลงานมาจากรายได้จากการขายโครงการที่โดดเด่นในทุกกลุ่มที่อยู่อาศัย นำด้วยรายได้จากการขายคอนโดมิเนียม ที่ในไตรมาสนี้เติบโตสูงสุดถึง 217% หรือโกยรายได้ 2,717 ล้านบาท รายได้หลักมาจากโครงการเอ็กซ์ที พญาไทที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มมีการโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงเดือนธันวาคมของปี 2565 ที่ผ่านมา ตามด้วยโครงการเอ็กซ์ที ห้วยขวาง, โอกะ เฮ้าส์ และเอดจ์ เซ็นทรัล พัทยา นอกจากนี้ ยังมีคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จและเริ่มโอนกรรมสิทธิ์ในไตรมาสนี้ คือ เดอะ มูฟ บางนา

ในไตรมาสนี้ แสนสิริยังมีรายได้จากการขายโครงการแนวราบ ประกอบด้วยบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮมและมิกซ์ โปรดักส์ โดยแชมป์รายได้จากโครงการบ้านเดี่ยว ได้แก่ โครงการนาราสิริ กรุงเทพกรีฑา, โครงการบุราสิริ วัชรพล, โครงการเศรษฐสิริ จรัญ-ปิ่นเกล้า2, โครงการเศรษฐสิริ พระราม 5 และโครงการสราญสิริ รังสิต ส่วนรายได้จากการขายโครงการทาวน์โฮม เติบโตขึ้นถึง 104% โดยเฉพาะความสำเร็จในลักซ์ชัวรี่ เรสซิเดนท์แนวคิดใหม่ ‘เดมี สาธุ 49’ พร้อมกันนี้ยังสร้างผลงานในโครงการที่อยู่อาศัยแบบมิกซ์โปรดักส์ ที่รวมบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม ในโครงการเดียว ตอบรับแนวคิดการอยู่อาศัยแบบ Feel Just Right ความพอดีที่ลงตัวภายใต้แบรนด์ “อณาสิริ” ที่ประสบความสำเร็จและสร้างรายได้ที่โดดเด่นต่อเนื่องในปีนี้เช่นเดียวกัน อาทิ โครงการ อณาสิริ บางใหญ่, โครงการอณาสิริ กรุงเทพ-ปทุมธานี และโครงการอณาสิริ ติวานนท์ - ศรีสมาน เป็นต้น

นอกจากรายได้ที่โดดเด่นในทุกโปรดักส์แล้ว กำไรขั้นต้นจากการขายโครงการที่อยู่อาศัยยังคงสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ประกอบกับในไตรมาสนี้ แสนสิริมีการบันทึกกำไรจากการขายกิจการโรงเรียนสาธิตพัฒนา และการเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้าและบริษัทร่วม ทำให้กำไรสุทธิในไตรมาสแรกของปี 2566 เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยแสนสิริมีกำไรสุทธิ 1,582 ล้านบาท เติบโตโดดเด่นขึ้นถึง 423% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไรสุทธิสูงถึง 18.6% ของรายได้รวม ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากจากอัตรากำไรสุทธิที่ร้อยละ 5.8 ของรายได้รวมในไตรมาสแรกของปี 2565

สำหรับไฮไลท์ของไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เพื่อตอกย้ำผู้นำตลาดลักซ์ชัวรีที่แสนสิริได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้ามาโดยตลอด แสนสิริยังเตรียมเปิดตัวโครงการ “นาราสิริ พหล – วัชรพล” ที่สุดของโครงการบ้านเดี่ยวลักซ์ชัวรี่ในปีนี้ บนที่สุดของทำเลศักยภาพแห่งใหม่ ที่กำลังเป็นที่จับตาของกลุ่มตลาดลักซ์ชัวรี่ เชื่อมต่อขยายจากถนนเลียบทางด่วน-รามอินทรา ในราคา 35-70 ล้านบาท ถ่ายทอดปรัชญาด้าน Brand Taste-Maker ลงรายละเอียดในทุกดีเทลของความเป็นฝรั่งเศส รวมถึงส่วนกลางที่มีพื้นที่มากถึง 6 ไร่ มูลค่าโครงการรวม 5,100 ล้านบาท เตรียมเปิดตัววันที่ 24-25 มิถุนายนนี้

นอกจากนี้ แสนสิริยังคงรุกเดินหน้าต่อเพื่อรองรับแผนการเติบโตในปี 2566 เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ชุดใหม่ โดยหุ้นกู้ที่จะเสนอขายครั้งนี้เป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป สำหรับหุ้นกู้ชุดที่ 1 อายุ 2 ปี 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยระหว่าง [4.00-4.10]% ต่อปี และหุ้นกู้ชุดที่ 2 อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยระหว่าง [4.45-4.55]% ต่อปี ผ่าน 10 สถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง และบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) หุ้นกู้ทั้ง 2 ชุดจ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือนตลอดอายุหุ้นกู้ สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่แน่นอนจะประกาศให้ทราบอีกครั้ง โดยหุ้นกู้และบริษัทได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่ (Stable)” จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 และคาดว่าจะเสนอขายระหว่างวันที่ 1-2 และ 6 มิถุนายน 2566 นี้ ด้วยเงินจองซื้อขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 1,000 บาท เพื่อเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ของแสนสิริ ที่เป็นแบรนด์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงเฉพาะการพัฒนาที่อยู่อาศัยเท่านั้น แสนสิริยังมองถึงความสำคัญในด้านการลงทุนที่ต้องทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยการระดมทุนเพื่อรุกเดินหน้าธุรกิจในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในแผนธุรกิจที่คาดว่าจะทำให้แสนสิริสร้างผลประกอบการเป็น New High ได้ต่อเนื่องจากปีก่อน” นายอุทัย กล่าวปิดท้าย

'ศูนย์ฯ กสิกร' หวั่น!! ความไม่แน่นอนการจัดตั้งรัฐบาล อาจกระทบการเบิกจ่ายภาครัฐในไตรมาส 4/2566

(16 พ.ค.66) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2566 ขยายตัวที่ 2.7% (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน YoY ) ขณะที่เมื่อปรับฤดูกาลแล้วเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2566 ขยายตัวได้ 1.9% เมื่อเทียบ จากไตรมาสที่ผ่านมา ใกล้เคียงกับที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 1/2566 มีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลให้การส่งออกภาคบริการขยายตัวได้ถึง 87.8% YoY

นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ 5.4% YoY ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2566 มีปัจจัยกดดันจากการส่งออกที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ประกอบกับการอุปโภคของรัฐบาลที่หดตัว 6.2% YoY โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายเกี่ยวกับโควิดที่ลดลงอย่างมาก

เมื่อมองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ 3.7%

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ ปัจจัยภายในประเทศยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายภาครัฐในไตรมาส 4/2566 ได้

ทั้งนี้ ทิศทางเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทิศทางนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางหลัก ประกอบกับปัญหาในภาคธนาคารของประเทศตะวันตก ซึ่งส่งผลให้ภาพการค้าโลกในระยะข้างหน้ายังคงเผชิญแรงกดดันอยู่ แม้จะมีแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจจีนที่มีโมเมนตัมขยายตัวได้ดีหลังยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด

ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกไทยในภาพรวมในปีนี้มีแนวโน้มที่จะติดลบจากปีก่อนหน้า ในขณะที่ ในด้านปัจจัยในประเทศ ยังมีความเสี่ยงจากประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้การอนุมัติร่าง พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 นั้นล่าช้าออกไป และกระทบการเบิกจ่ายของรัฐบาลในช่วงไตรมาส 4/2566 เป็นต้นไป รวมถึงยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการออกนโยบายต่างๆ ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าได้

'นายกฯ' ปลื้ม!! มาตรฐาน 'ฮาลาลไทย' นานาชาติไว้ใจ พร้อมหนุน บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ

(16 พ.ค.66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาล และเป็นผู้ผลิตอาหารฮาลาลรายใหญ่ของโลก อุตสาหกรรมฮาลาลไทยเป็นที่ยอมรับในหลายประเทศ 

โดยอาหารฮาลาลคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของการส่งออกอาหารทั้งหมดของประเทศไทย และร้อยละ 60 ของการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และบรูไน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564/2565 ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าขึ้นร้อยละ 3 ภายในปี 2566 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เชื่อมั่นในศักยภาพ การผลิต และส่งออกสินค้าฮาลาลมาโดยตลอด พร้อมสนับสนุน และยกระดับธุรกิจฮาลาลของไทยให้เป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เข้าถึงตลาดประชากรมุสลิมจำนวนหลายพันล้านคน 

นายอนุชา กล่าวว่า อุตสาหกรรมฮาลาลของไทยยังครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆที่หลากหลาย เช่น เครื่องสำอาง แฟชั่น เวชภัณฑ์ และการท่องเที่ยว ซึ่งกิจกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวฮาลาล (Halal tourism) ถือเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันกระแสความต้องการท่องเที่ยวทางศาสนาและวัฒนธรรมเป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภคชาวมุสลิม และประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 5 จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงสุดสำหรับประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมใน Global Muslim Travel Index ปี 2565 โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมงาน Arabian Travel Market (ATM) 2023 งานส่งเสริมการขายด้านการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นำเอกลักษณ์และความหลากหลายทั้งด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต และ Soft Power ของไทย โดยเฉพาะอาหารฮาลาล เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคจากตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่สุดตลาดหนี่งของประเทศไทย ทั้งทางรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งในปี 2565 มีนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางมาไทยกว่า 3 แสนคน และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อวันมากกว่า 220 ดอลลาร์สหรัฐ และมีวันพักค้างเฉลี่ย 11.14 วันในปี 2562

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพ ชื่อเสียงของไทย และการทำงานสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เดินหน้าขับเคลื่อนความร่วมมือเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจฮาลาลอย่างต่อเนื่อง ทั้งการค้าและการลงทุน ผลิตภัณฑ์และอาหารฮาลาล รวมถึงการท่องเที่ยว ซึ่งมั่นใจว่าด้วยระบบสนับสนุนที่แข็งแกร่ง และชื่อเสียง คุณภาพที่เป็นที่ยอมรับมายาวนานของผลิตภัณฑ์ไทยที่ผ่านการรับรองฮาลาล ส่งผลให้อุตสาหกรรมฮาลาลของไทยมีความพร้อม และมีศักยภาพที่จะเติบโตในระดับสากลได้อีกมาก” นายอนุชากล่าว

เงินสำรองไทยแกร่งต่อเนื่อง แตะ 8.6 ล้านล้านบาท สะท้อนสถานะทางการเงินของประเทศสุดแข็งแกร่ง

ในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 นับเป็นช่วงเวลาที่ฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยอ่อนแอลงอย่างมาก เนื่องจากต้องรับมือกระแสเก็งกำไรค่าเงินบาท ในช่วงก่อนเกิดวิกฤต จนทำให้เหลือเงินสำรองฯ เพียง 2 หมื่นกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น

อย่างไรก็ดี หลังจากได้รับบทเรียนจากวิกฤตในครั้งนั้น ฐานะเงินสำรองฯ ของประเทศไทยก็เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาถึง 10 เท่า จากปี 2540

และเมื่อมองย้อนกลับไป 5 ปี หลังสุด พบว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ปี 2559 อยู่ที่ 6,155,783 ล้านบาท, ปี 2560 อยู่ที่ 6,615,482 ล้านบาท, ปี 2561 อยู่ที่ 6,666,266 ล้านบาท, ปี 2562 อยู่ที่ 6,756,943 ล้านบาท, ปี 2563 อยู่ที่ 7,747,644 ล้านบาท และ ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 8,212,110 ล้านบาท

ทว่าในปี 2565 ช่วงเดือนธันวาคม ไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ อยู่ที่ 8,491,594.33 ล้านบาท ขณะที่ปี 2566 ในเดือนเมษายน มีทุนสำรองอยู่ 8,604,607.56 ล้านบาท มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ใกล้เคียงกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและเป็นรองเพียงสิงคโปร์ในกลุ่มประเทศอาเซียนเท่านั้น 

ในส่วนของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย มีทองคำด้วยมูลค่า 495,966.88 ล้านบาท รวมอยู่ด้วย ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีจำนวนทองคำมากที่สุดในกลุ่มอาเซียน (244 ตัน)

นอกจากนี้ ไทย ยังถือเป็นหนึ่งใน ‘เจ้าหนี้’ ของ IMF หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยได้เงินสบทบหรือให้กู้แก่ IMF เป็นจำนวน 41,508.51 ล้านบาทอีกด้วย

ทั้งนี้ เงินสำรองทางการ คือ เงินตรา/สินทรัพย์ต่างประเทศของเศรษฐกิจไทยที่อยู่บนงบดุลของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อรองรับความเสี่ยงในการทำธุรกรรมของเศรษฐกิจไทย และรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ ให้ค่าเงินบาทยังสามารถรักษาอำนาจในการซื้อของเศรษฐกิจไทย (Global Purchasing Power) ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั้งในไทยและต่างชาติ

ดังนั้น เงินสำรองทางการจึงทำหน้าที่เป็น ‘กันชน’ ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อไม่ให้ความผันผวนจากภายนอกเข้ามาสร้างผลกระทบต่อธุรกิจไทย ซึ่งอาจจะกระทบกับอำนาจการซื้อของเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้  

เงินสำรองทางการ จึงเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่ต่างชาติใช้ประเมินความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

เมื่อธุรกิจไทยส่งออกสินค้า คนต่างชาติมาท่องเที่ยวมากขึ้น หรือมีการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ความต้องการที่จะแลกเงินบาทก็จะมีมากขึ้น เงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้น

ฉะนั้น เงินสำรองฯ จึงเป็นเครื่องชี้สำคัญที่ต่างชาติใช้ประเมินความมั่นคง และเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ หากเงินสำรองฯ มีน้อยไปก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตค่าเงินเช่นที่เคยเกิดขึ้น แต่ถ้ามีมากไปก็อาจต้องคำนึงถึงภาระจากขนาดงบดุลธนาคารกลางที่ใหญ่ขึ้นทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สินด้วยเช่นกัน

และแน่นอนว่า จากระดับของทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นอีกหนึ่งดัชนีชี้วัด ที่สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจของโลก ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา

‘พงษ์ภาณุ’ ชี้!! รายได้ท่องเที่ยวไทยยังกระจุกตัว แนะใช้แพลตฟอร์มระดับโลก หนุนเที่ยว ‘เมืองรอง’

(14 พ.ค. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจของไทย ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 66 โดยระบุว่า...

แม้ประเทศไทยจะเผชิญกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระดับสูง แต่การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยว ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวนับเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ซึ่งในอดีตช่วงที่การท่องเที่ยวประเทศไทยเติบโตสุดขีด เคยสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 2 ล้านล้านบาท และจากคนไทยเที่ยวไทยอีกราว 1 ล้านล้านบาท รวมเป็น 3 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็น 20% ของจีดีพี ขณะเดียวกัน ก็มีการจ้างงานถึง 10 ล้านคน แต่หลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ในส่วนนี้หายไปเกือบหมด ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก

นายพงษ์ภาณุ ระบุว่า ภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย เชื่อว่า การท่องเที่ยวไทยจะกลับมาคึกคัก และสร้างรายได้เข้าประเทศได้เช่นในอดีต พร้อมทั้งเป็นปัจจัยหนุนหลักให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ และ ส่งผลดีต่อไปยังตลาดแรงงาน รวมถึงเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ที่จะได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยว เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่เงินไหลตรงไปยังกลุ่มรากหญ้าจริงๆ ซึ่งจะแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ

แต่ทว่า ในปัจจุบัน การท่องเที่ยวไทยกระจุกตัวอยู่เพียง 7 จังหวัดเท่านั้น ประกอบด้วย กรุงเทพฯ, ภูเก็ต, ชลบุรี, เชียงใหม่, ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี และกระบี่ โดยจังหวัดเหล่านี้มีครองสัดส่วนรายได้ถึง 80% ส่วนอีก 20% กระจายไปยังอีก 70 จังหวัดที่เหลือ

อย่างไรก็ตาม จากการท่องเที่ยวที่กระจุกตัวอยู่เพียงในเมืองหลัก แม้ว่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของจังหวัดนั้นๆ แต่ก็มีผลเสียและปัญหามากมายเช่นกัน ทั้งด้านความแออัด ด้านการกระจายรายได้ที่ไม่สมดุล ด้านการจราจรที่ติดขัด และด้านความปลอดภัย

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลพยายามกระจายการท่องเที่ยว ผ่านนโยบายที่เรียกว่า ‘การท่องเที่ยวเมืองรอง’ ทั้งการไปสร้างแหล่งท่องเที่ยว การมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยว แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร 

“จากการที่ได้คุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวของจีน พบว่า นักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเที่ยวประเทศไทยนั้น เขากังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะฉะนั้น หากรัฐบาลต้องการกระจายการท่องเที่ยวไปยังเมืองรอง สิ่งที่ต้องเข้ามาดูแลข้อแรก คือ เรื่องความปลอดภัย ข้อสอง ความสะดวกในการเดินทาง และข้อสาม เรื่องการตลาดที่ต้องโปรโมตสถานที่ท่องเที่ยว อาหารและกิจกรรมที่รองรับนักท่องเที่ยว ผ่านระบบดิจิทัลที่เข้าถึงได้ง่าย เป็นต้นว่า การนำข้อมูลบ้านพักในภาคอีสานของไทย เข้าไปอยู่ใน Air BNB แพลตฟอร์มท่องเที่ยวระดับโลก พร้อมกับการรับรองความปลอดภัย ความสะอาด และการต้อนรับที่อบอุ่นจากเจ้าของบ้าน หากข้อมูลข่าวสารพวกนี้เข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มระดับโลกได้ เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้การท่องเที่ยวเมืองรองเกิดได้” นายพงษ์ภาณุ กล่าว

‘การบินไทย’ รุกเพิ่มความถี่เส้นทางบิน ‘จีน-ญี่ปุ่น’ เล็งเพิ่มไฟลต์ 1 ก.ค.นี้ คาดรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้าน

‘การบินไทย’ เผยไตรมาส 1/66 กำไร 1.2 หมื่นล้าน โตต่อเนื่อง 3 ไตรมาส ดีกว่าแผนที่กำหนดไว้ เผย 1 ก.ค.นี้ รุกเพิ่มความถี่เส้นทางบินสู่จีน-ญี่ปุ่น อีกระลอกใหญ่ พร้อมเตรียมรองรับไฮซีซั่นไตรมาส 4 เต็มที่ หลังรับมอบเครื่องบินใหม่ปีนี้ครบ 4 ลำ คาดรายได้รวมปี’ 66 ไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้าน ขนส่งผู้โดยสารกว่า 9 ล้านคน

(13 พ.ค. 66) นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไตรมาส 1/2566 ที่ผ่านมา บริษัทมีผลประกอบการดีกว่าแผนที่กำหนดไว้ค่อนข้างมาก โดยบริษัทการบินไทยและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 41,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งมีรายได้รวม 11,181 ล้านบาท (271.2%) หรือประมาณ 3 เท่าตัว และมีกำไรสุทธิ 12,523 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่อง 3 ไตรมาส ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าขาดทุน 3,243 ล้านบา

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นถึง 30,502 ล้านบาท หรือ 681.5% เนื่องจากให้บริการเส้นทางบินสู่ 34 เส้นทางทั่วโลก ทั้งยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย และเพิ่มความถี่ในเส้นทางที่ได้รับความนิยม อาทิ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ เป็นต้น รวมถึงการกลับมาให้บริการเส้นทางบินสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนอีกครั้งตั้งแต่ 1 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ประกอบกับมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (cabin factor) โดยรวมเฉลี่ยสูงถึง 83.5%

“ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา การบินไทยและไทยสมายล์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือมีเครื่องที่ใช้ทำการบินรวม 65 ลำ มีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน 12.3 ชั่วโมง มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 121.4% มีจำนวนผู้โดยสารรวม 3.52 ล้านคน เพิ่มขึ้น 245.1%” นายชาย กล่าว

นายชายกล่าวด้วยว่า ตามแผนการขยายฝูงบินและเพิ่มปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) บริษัทจะดำเนินการเช่าเครื่องบินใหม่ (แอร์บัส A350) เข้ามาเสริมฝูงบินอีกรวม 11 ลำ ภายในปี 2567 โดยปีนี้จะรับมอบจำนวน 4 ลำ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา บริษัทได้รับมอบเครื่องบินลำแรกเข้ามาประจำฝูงบินแล้ว ส่วนลำที่ 2 จะรับมอบประมาณเดือนมิถุนายน ที่เหลืออีก 2 ลำจะทยอยเข้ามาประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน 2566 เพื่อรองรับไฮซีซั่นในช่วงไตรมาส 4/2566

ด้านนายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า บริษัทมีแผนนำเครื่องบินที่รับมอบใหม่มาทำการบินเส้นทางสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากเป็นตลาดที่เพิ่งเปิดและการบินไทยยังทำการบินได้ไม่มากนัก รวมถึงเส้นทางสู่ญี่ปุ่นที่ได้รับการตอบรับดีอย่างต่อเนื่อง

โดยตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2566 นี้เป็นต้นไป บริษัทมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินสู่จีนให้เป็นวันละ 1 เที่ยวบิน (daily fight) ทุกเส้นทาง จากปัจจุบันเส้นทางสู่เซี่ยงไฮ้ทำการบินอยู่จำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, กวางเจาให้บริการอยู่จำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และปักกิ่ง 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

ส่วนเส้นทางสู่ญี่ปุ่นก็มีแผนจะเพิ่มความถี่ต่อเนื่องเช่นกัน กล่าวคือ เพิ่มเส้นทางบินกรุงเทพฯ-โตเกียวจากปัจจุบัน 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 21 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เส้นทางกรุงเทพฯ-โอซากา ปัจจุบันให้บริการอยู่ 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เส้นทางกรุงเทพฯ-นาโกยา ปัจจุบันให้บริการอยู่ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็นต้น

และฮ่องกง ซึ่งมีแนวโน้มคลี่คลายมากขึ้นก็เตรียมแผนเพิ่มเที่ยวบินจากปัจจุบัน 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 21 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เช่นกัน ขณะที่เส้นทางยุโรปที่มีแผนให้บริการสัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน หรือ daily fight ในเมืองสำคัญๆ และ 2 เที่ยวบินต่อวันสำหรับเส้นทางสู่ลอนดอน, แฟรงก์เฟิร์ต

“ในช่วงไตรมาส 2 ปกติจะเป็นโลว์ซีซั่น เราจึงไม่ได้คาดหวังมากนักในแง่การเติบโตของรายได้ แต่ตลาดยุโรปสู่ไฮซีซั่นอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม ตอนนี้ก็เริ่มมีบุ๊กกิ้งเข้ามาแล้ว เราจึงต้องเตรียมแผนรองรับเช่นกัน เพราะยุโรปยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญถึงประมาณ 40% ของเรา” นายกรกฎ กล่าว

นายชายกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับภาพรวมทั้งปี 2566 นี้ บริษัทคาดว่าจะมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้านบาท และขนส่งผู้โดยสารรวมกว่า 9 ล้านคน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top