Sunday, 28 May 2023
ECONBIZ

'บิ๊กตู่' ปลื้ม!! กล้วยหอมทองหนองบัวแดง ขึ้นทะเบียน GI  ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนปีละไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท

(11 พ.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยินดีที่ได้รับทราบว่า 'กล้วยหอมทองหนองบัวแดง' ของจังหวัดชัยภูมิ ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) สะท้อนคุณภาพของผลไม้ไทยที่มีศักยภาพและมีอัตลักษณ์จากแหล่งผลิตท้องถิ่น ปัจจุบันมีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศที่สำคัญ คือ ประเทศญี่ปุ่น สามารถสร้างรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท ขณะที่ ทุเรียนไทย มีแพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน KASETTRACK ช่วยควบคุมมาตรฐานการผลิต พร้อมส่งออกผลไม้ไทยในตลาดต่างประเทศควบคู่การใช้นวัตกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า สร้างรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DEPA) บริษัท วีเดฟซอฟท์ จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน KASETTRACK และกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี ยังได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน KASETTRACK เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการบันทึกข้อมูลการผลิตให้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน สร้างมาตรฐานการผลิตทุเรียนคุณภาพ 

โดยระบบจะสร้างขั้นตอนการผลิตทุเรียนที่เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐาน GAP ให้เกษตรกรสามารถบันทึกและวิเคราะห์ความก้าวหน้ากิจกรรมการผลิต และการดูแลรักษาในทุกระยะการเติบโต สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าทุเรียนอันดับหนึ่งของไทย โดยปัจจุบันเกษตรกรใช้งานแอปพลิเคชัน KASETTRACK แล้วกว่า 1,000 รายใน 8 จังหวัด ได้แก่ ตราด จันทบุรี ระยอง ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ยะลา และสุโขทัย พร้อมตั้งเป้าหมายว่า KASETTRACK จะดูแลการผลิตทุเรียนไทยคุณภาพได้กว่า 1 แสนตัน สร้างเกษตรกรคุณภาพที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ไม่น้อยกว่า 10,000 รายในปี 2569

“นายกรัฐมนตรีสนับสนุนความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่ผลักดันและพัฒนาศักยภาพภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลไม้ไทยซึ่งเป็นผลผลิตจากชุมชนท้องถิ่น ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาทั้งการส่งเสริมสินค้า GI และการผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อควบคุมการผลิต เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างมูลค่าทางการค้า คงมาตรฐานคุณภาพสินค้าไทยในตลาดโลก ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการท้องถิ่น สร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืน” นายอนุชา กล่าว

ปตท. ผนึก JERA นำร่องพัฒนาธุรกิจไฮโดรเจนและแอมโมเนียในไทย มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions 2050

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือโครงการริเริ่มการขยายห่วงโซ่อุปทานและการใช้ประโยชน์จากไฮโดรเจนและแอมโมเนีย เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย โดยมี ดร.ยุทธนา สุวรรณโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ Mr. Toshiro Kudama (โทชิโระ คุดามะ) Senior Managing Executive Officer และ CEO JERA Asia บริษัท JERA Co., Inc. (JERA) (ที่ 2 จากขวา) ร่วมลงนาม พร้อมทั้งผู้บริหารของทั้งสององค์กรร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งศึกษาแนวทางการพัฒนาธุรกิจ และการใช้ไฮโดรเจนและแอมโมเนียในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อแสวงหาโอกาสการลงทุนในอนาคต ตอกย้ำว่า ปตท. พร้อมเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมพลังงานที่ยั่งยืน

‘รัฐบาล’ ชี้ การบริโภค-ท่องเที่ยว ช่วย ศก.ไทยฟื้นตัว เผย ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปี 66 เติบโตต่อเนื่อง

(10 พ.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค เดือนมีนาคม 2566 เติบโตทั่วประเทศ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทย GDP ในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้มากกว่าครึ่งปีแรกที่มากกว่า 4% และทั้งปี 2566 GDP ไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.6

นายอนุชา กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค เดือนมีนาคม 2566 โดยเศรษฐกิจภูมิภาคส่วนใหญ่ ล้วนได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นทุกภาค รวมถึงเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ของภาคเหนือขยายตัวร้อยละ 8.5 ต่อปี ภาคใต้ขยายตัวร้อยละ 23.7 ต่อปี

ด้าน กทม.และปริมณฑลขยายตัวร้อยละ 4.7 ต่อปี ภาคตะวันตกขยายตัวร้อยละ 20.0 ต่อปี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อปี ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน รวมถึงรายได้เกษตรกรมีการขยายตัว

นายอนุชา กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2566 จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้น จากปัจจัยด้านการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกไทยจะดีขึ้นในครึ่งหลังของปี 2566 โดยการส่งออกผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าคาดว่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ทำให้การส่งออกขยายตัวดีขึ้น รวมทั้ง GDP ในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้มากกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งครึ่งปีแรกจะขยายตัวร้อยละ 2.9-3 และในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 4 ส่งผลให้ปี 2566 GDP ของไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.6 สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อ ในช่วงครึ่งปีแรกยังสูงที่ร้อยละ 3.3 แต่ในช่วงครึ่งหลังเงินเฟ้อทั่วไปจะต่ำกว่ากรอบอยู่ที่ร้อยละ 2.5 โดยยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกในเวลานี้ที่ยังมีความไม่แน่นอน

“เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ในภาพรวมยังเป็นไปในเชิงบวก ซึ่งการบริโภคและการท่องเที่ยว จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง รัฐบาลยังคงติดตามสภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือและดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเพิ่มศักยภาพเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอย่างยั่งยืน” นายอนุชา กล่าว

‘ศุภชัย เจียรวนนท์’ ฝากโจทย์ 7 ข้อ ถึงรัฐบาลชุดใหม่ ชู!! ‘ภาครัฐ-เอกชน’ ผนึกกำลังทรานส์ฟอร์มประเทศ

(9 พ.ค. 66) สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ได้เสนอแนวนโยบาย 7 ข้อ ให้กับรัฐบาลชุดใหม่เพื่อทรานฟอร์มประเทศไทยขับเคลื่อนไทยแลนด์ 5.0 เพื่อเป็นแนวทางแก่รัฐบาลใหม่ในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนี้…

1. กำหนดวิชาภาษาคอมพิวเตอร์/Computer Science เป็นวิชาหลักในการหลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน และเด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์ที่มีซอฟต์แวร์คัดกรองที่ดีและมีคุณธรรมในการใช้เทคโนโลยี

2. ส่งเสริม Media & Content ที่เกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรม ในช่วง Prime Time ด้วยการให้ Incentive

3. ตั้งเป้าเทคสตาร์ตอัป 20,000 บริษัท เพื่อช่วย Digital Transformation และ Digital & Tech Workforce 1 ล้านคน

4. ยกระดับการเกษตร Agro Industry Transformation / Smart Farming / Food Tech & Brand / สร้าง 3,000-5,000 องค์กร สหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน 5.0

5. ดึงดูดคนเก่งและคนดีเข้าสู่ระบบราชการระดับบริหารด้วยการปรับเงินเดือน เทียบเท่าหรือสูงกว่าเอกชน ปรับรัฐบาลเป็นรัฐบาลดิจิทัล (E-Government) และควรมีข้าราชการที่มีทักษะดิจิทัลอย่างน้อย 20%

6. สร้าง 5 Innovation Centers ระดับโลก ได้แก่ 1. Bio 2. Nano & Energy 3. Robotic & Digital 4. Space 5. Preventive Health Care/Health Tech

7. สนับสนุนการต่อยอดผู้ประกอบการไทย

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 1-5 พ.ค. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 8-12 พ.ค. 66

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยสัปดาห์สิ้นสุด 5 พ.ค. 66 ลดลง 5.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ 74.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและเปลี่ยนไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย จากความวิตกกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาอาจเข้าสู่สภาวะถดถอย ทั้งในภาคงบประมาณ การเงิน และการธนาคาร อาทิ วันที่ 4 พ.ค. 66 หุ้น PacWest Bancorp ลดลง 51% แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หลังธนาคารเปิดเผยว่าอาจพิจารณาเพิ่มทุนหรือขายกิจการ, หุ้น Western Alliance Bancorp ลดลง 38% ขณะที่ธนาคารยืนยันสถานะทางการเงินว่ายังไม่ต้องขายกิจการ, หุ้น First Horizon ลดลง 33% ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2551 หลัง Dominion Bank ของแคนาดายุติการเจรจาซื้อกิจการ 

ทางด้านนักวิเคราะห์ Reuters คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve: Fed) อาจยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และนักลงทุนคาดการณ์ว่า Fed จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน ก.ย. 66 ทั้งนี้วันที่ 3 พ.ค. 66 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 5.0-5.25% และจะมีการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 13-14 มิ.ย. 66 

คาดว่าราคา ICE Brent ในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Joe Biden มีแผนหารือร่วมกับแกนนำรัฐสภา 4 ท่าน ในวันที่ 9 พ.ค. 66 ทั้งฝั่งวุฒิสภา ได้แก่ นาย Chuck Schumer (Democratic Senator - Majority Leader), นาย Mitch McConnell (Senate Republican leader) และฝั่งสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ นาย Kevin McCarthy (Speaker of the House - Republican), และนาย Hakeem Jeffries (House Minority Leader) ในประเด็นการใช้จ่ายงบประมาณ และขยายเพดานหนี้

>> ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- 4 พ.ค. 66 ที่ประชุมธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ (Deposit Facility Rate) มาอยู่ที่ 3.25% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ (Marginal Lending Facility Rate) มาอยู่ที่ 4%

‘นักเศรษฐศาสตร์’ เปรียบ ‘เศรษฐกิจไทย’ เป็น ‘นักกีฬาสูงวัย’ ต้องมีโค้ชมือฉมังมาช่วย ก่อนถูกเพื่อนบ้านแซงหน้าไม่เห็นฝุ่น

(8 พ.ค. 66) นายสันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าเศรษฐกิจไทยเปรียบเสมือน ‘นักกีฬาสูงวัย’ ที่ต้องการ ‘โค้ช’ เก่ง ๆ มาช่วย

นักกีฬาคนนี้สมัยก่อนเคยโดดเด่น 

ช่วงเปลี่ยนเข้ายุคอุตสาหกรรม เขาเกือบเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย เศรษฐกิจโตเฉลี่ยกว่า 7% หากเปรียบกับกีฬาบาสเกตบอล NBA ก็เกือบได้รับคัดเลือกเป็นนักบาสระดับออลสตาร์

แม้จะเคยเล่นผาดโผนผิดพลาดจนบาดเจ็บหนักเกือบจบชีวิตนักกีฬาช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่สุดท้ายก็ยังหวนคืนสู่สนามกลับมาเก่งอีกครั้งได้

หลังจากนั้นแนวการเล่นจะเปลี่ยนไปบ้างจากเดิม มีการท่องเที่ยวมากลายเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ แต่ก็ยังโดดเด่น ยังเป็นที่ต้องการตัว นักลงทุนยังให้ความสนใจ 

หลังจากนั้นเศรษฐกิจไทยก็มีปัญหาเรื่องโค้ช/ทีมผู้จัดการบ่อย ๆ มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้งอย่างที่ทราบกันดี 

แต่ดูเผิน ๆ เศรษฐกิจก็เหมือนจะผ่านมาได้โอเค จนนักลงทุนต่างประเทศเคยให้สมญานามว่า เศรษฐกิจเทฟลอน (Teflon economy) คือ แม้จะมีปัญหาเหมือนจะถูกกดให้จมน้ำหลายครั้ง ทั้งการเมือง ทั้งภัยพิบัติ แต่ก็สามารถกลับขึ้นมาลอยใหม่ได้ 

จนหลายคนทั้งในไทยและต่างประเทศบอกว่ารัฐบาลเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไรหรอกเพราะเศรษฐกิจไทยเอกชนนำไปต่อได้ เสมือนบอกว่าโค้ชไม่สำคัญขนาดนั้นเพราะนักกีฬาคนนี้เล่นเก่งอยู่แล้ว ปล่อย Auto-pilot ไปได้เดี๋ยวเขาก็จัดการเอง

ซึ่งในมุมหนึ่งก็จริงว่าเศรษฐกิจไทยเป็นนักกีฬาที่มีพรสวรรค์ มีบุญเก่าอยู่มาก มีทรัพยากร มีเสน่ห์ดึงดูดการท่องเที่ยว อยู่ในจุดภูมิศาสตร์ที่ดี และคนไทยก็มีความสามารถหลายด้าน ฯลฯ

แต่ทุก ๆ วันที่ผ่านไปที่เราเหมือนจะ ‘ลอยตัว’ นั้นความสูงวัยเริ่มกัดกร่อนนักกีฬาคนนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่เพียงอายุเฉลี่ยของประชากรที่เริ่มเข้าสูงวัยแต่อาการทางเศรษฐกิจก็ไปในทางเดียวกัน

วิ่งช้าลง กระโดดเริ่มไม่สูง เล่นได้ไม่นานก็เหนื่อย ร่างกายไม่บาลานซ์ ซึ่งในทางเศรษฐกิจคือ ‘โตช้า เหลื่อมล้ำ ไม่ยั่งยืน’

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เฉลี่ยเหลืออยู่แค่ปีละ 3% กว่ากลายเป็นนิวนอร์มอล 

ความเหลื่อมล้ำที่สูงโดยเฉพาะความไม่เท่าเทียมด้านโอกาส (เช่นคนที่รายได้ระดับ 20% ล่างของประเทศเข้าถึงการศึกษามหาวิทยาลัยแค่ 4% เท่านั้น ทำให้จำกัดโอกาสได้งานดีๆ) 

และปัญหาด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมที่เริ่มพังจนเห็นได้ชัด (เช่น ฝุ่น PM 2.5, overtourism ในการท่องเที่ยว)

ยังดีที่ว่าเพราะเคยเจ็บตัวหนักมาตอนวิกฤตการเงินจึงเล่นกีฬาอย่างระมัดระวัง มีระบบการเงินที่มีเสถียรภาพ ไม่ได้เสี่ยงที่จะล้มเจ็บหนักระดับวิกฤตแบบศรีลังกา อาร์เจนตินา ฯลฯ

ความเสี่ยงที่น่ากลัวกว่าในตอนนี้ คือ เศรษฐกิจไทยจะเป็น ‘นักกีฬาที่ถูกลืม’ ค่อย ๆ ถูกเพื่อนแทรงหน้าไปเรื่อย ๆ ถูกมองข้ามในเวทีโลกและภูมิภาค โอกาสที่ได้ลงเล่นก็น้อยลง ๆ 

เราอาจจะมองว่าแต่เพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ก็ปัญหาเยอะเหมือนกันนะ กฎกติกาทำธุรกิจก็ยาก โครงสร้างพื้นฐานก็ยังไม่ดี คนก็ยังเข้าไม่ค่อยถึงเงินทุน แย่กว่าไทยด้วยซ้ำ ทำไมเขาจะมาแซงเราได้?

คำตอบหนึ่งคือ เขาคือนักกีฬาที่ยังเป็น ‘วัยรุ่น’ อยู่ 

อายุเฉลี่ยเวียดนามและอินโดนีเซียคือประมาณ 30 ปี ในขณะที่ของไทยอยู่ที่ 40 กว่า ประชากรเขาโตอัตราเร็วกว่าเรา 3-4 เท่า แปลว่าตลาดของเขายังมีโอกาสเติบโตอีกมากและเศรษฐกิจยังสามารถเติบโตจากการเพิ่มแรงงานเข้าไปได้ (ต่างจากไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัย) ยิ่งเสริมการลงทุนจากรัฐและเอกชนเข้าไปด้วยก็สามารถสร้าง GDP ให้โตเฉลี่ย 5-6% ได้ไม่ยากนัก

เหมือนนักกีฬาวัยหนุ่มสาวที่แม้ทานอาหารไม่ระวังบ้าง ไม่ดูแลตัวบ้าง ไม่เกลาบางเทคนิค ใช้แค่สมรรถนะร่างกายเข้าสู้ก็พอไปได้ แม้สมมติว่าโค้ชและผู้จัดการทีมไม่เก่ง (แต่ในความเป็นจริงโค้ชของเขาก็ค่อนข้างเก่งด้วย) ก็ยังไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายเพราะยังพึ่งพรสวรรค์ได้  

ต่างกับเราวันนี้ที่หากไม่เน้นคุณภาพให้สู้ด้วยปริมาณไม่ไหวอีกต่อไป

แต่การเป็นนักกีฬาสูงวัยไม่ได้แปลว่าเราจะหมดความหมาย ไม่ได้แปลว่าเราจะแพ้ ไม่ได้แปลว่าเราเล่นไม่ได้แล้ว 

นักกีฬาบาสเกตบอล NBA ที่เก่งที่สุดในโลกคนหนึ่งในปัจจุบันคือ เลบรอน เจมส์ ที่อายุ 38 ปีแล้วเทียบกับอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 26 ปี และยังมีนักกีฬาอีกจำนวนไม่น้อยที่แม้เข้าสู่ช่วงสูงวัยแล้วก็ยังเก่งมาก

นอกจากนี้เรายังอยู่ในยุคที่นักลงทุนและนักธุรกิจทั่วโลกสนใจตลาดอาเซียนโดยรวมมากขึ้นจึงเป็นโอกาส แค่เราต้องเปลี่ยนวิธีเล่น เปลี่ยนวิธีดูแลตนเอง และเปลี่ยน Mindset 

โดยหลักที่สำคัญที่สุดของนักกีฬาที่มีสมรรถนะทางร่างกายน้อยลงคือ 

“ใช้น้อยลงให้ได้มากขึ้น” 

เสมือนนักกีฬาที่ต้องเล่นให้สมาร์ตขึ้น เศรษฐกิจไทยก็เช่นกัน

ใช้คนน้อยลงแต่ให้ได้ผลผลิตมากขึ้น (เพิ่ม Productivity เช่น รีสกิลเพิ่มทักษะให้แรงงานใช้เทคโนโลยีได้มากขึ้น)

ใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบล้างผลาญน้อยลง แต่ให้ได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากขึ้น (เพิ่ม Sustainability - เช่น เน้นท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ)

ใช้งบประมาณประเทศแบบฟุ่มเฟือยน้อยลง แต่ช่วยคนตัวเล็ก-MSME-สตาร์ตอัปได้มากขึ้น (เพิ่ม Inclusivity เช่น ใช้งบประมาณช่วยคนให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและตรงความต้องการของเขา)

‘พงษ์ภาณุ’ หวั่น ไทยหลุดโผลงทุนจาก ‘สหรัฐฯ - ยุโรป’ หลังตะวันตก เริ่มแง้มกันท่าชาติไม่เป็นประชาธิปไตย

‘พงษ์ภาณุ’ หวั่น ไทย หลุดเรดาร์ลงทุน หลังสหรัฐฯ - ตะวันตก อ้าง ‘ความมั่นคง’ จัดระเบียบ Supply Chains ใหม่ ปักหมุดฐานการผลิตประเทศที่ไว้วางใจ กีดกันชาติไม่เป็นประชาธิปไตย

(7 พ.ค. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจของโลก ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00-08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 66 โดยระบุว่า สืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ อเมริกา กับจีน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดสงครามทางการค้ามาอย่างต่อเนื่อง จากผลพวงที่เกิดขึ้นทำให้สินค้าหลายแบรนด์ได้ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน อาจกล่าวได้ว่า โลกกำลังจัดระเบียบ Global Supply Chains ใหม่จากเดิมที่เน้นประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ มาเน้นเรื่องความมั่นคงมากขึ้น

ย้อนกลับไปในอดีตหลายสิบปี ก่อนที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในอุตสาหกรรมการผลิตและ Supply Chains ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจ หรือประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงสุดด้านการผลิตทั่วโลก บริษัทฯ ใหญ่ ๆ ประสบความสำเร็จจากการใช้ระบบนี้ ยกตัวอย่าง แอปเปิล และไนกี้ ที่มีการกระจายการผลิตชินส่วนไปในหลาย ๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน เวียดนาม ไทย เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้นับว่ามีประสิทธิภาพในการผลิตสูงและต้นทุนต่ำ

แต่ภายหลังเกิดความขัดแย้ง เริ่มเกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างกันอย่างชัดเจน เดิมที่ยึดผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ปัจจุบันความมั่นคงปลอดภัยด้าน Supply Chains ถูกยกขึ้นมาให้ความสำคัญมากกว่า และแทนที่ประสิทธิภาพไปแล้ว

นายพงษ์ภาณุ ได้ยกตัวอย่างความมั่นคงทางด้าน Supply Chains ว่า บริษัทยักษ์ใหญ่จากชาติตะวันตกได้บทเรียนจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจีนปิดประเทศไป 3 ปี และสงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ที่ทำให้เกิดการหยุดชะงักด้าน Supply Chains ในหลาย ๆ จุด ทำให้บริษัทแม่ไม่สามารถผลิตสินค้าออกสู่ตลาดได้ ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ชาติตะวันตกนำมาใช้อ้าง เพื่อย้ายฐานการผลิต

แน่นอนว่า เมื่อเกิดการย้ายฐานการผลิต ย่อมมีประเทศที่ได้รับประโยชน์ โดยประเทศที่ได้รับอานิสงส์ในส่วนนี้มี 2 ประเทศในอาเซียน นั่นก็คือ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่มีปัจจัยสนับสนุนทั้งปัจจัยทางการเมืองและปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการดึงดูด Supply Chains เข้ามาเลือกเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่

นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า ประเด็นที่น่ากังวลต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย จากการย้ายฐานการผลิตที่ผ่านมาสหรัฐฯ และชาติตะวันตกมองว่าไทยไม่มั่นคงและจัดอยู่ในกลุ่มเผด็จการ (Autocracy) ส่วนประสิทธิภาพและต้นทุนก็สู้คนอื่นไม่ได้ Global Supply Chains จึงย้ายไปที่อื่นหมด ขณะเดียวกันเป็นที่น่าสังเกตว่า ในขณะที่ เวียดนามและอินโดนีเซีย ขยับเข้าใกล้สหรัฐฯ มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยกลับดูเหมือนเดินห่างจากสหรัฐฯ มากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ เห็นได้จาก กรณีที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้จัดเวทีการประชุมสุดยอดฝ่ายประชาธิปไตย ที่ใช้ชื่อว่า Summit for Democracy ครั้งที่ 2 เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งถือเป็นความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะแบ่งประเทศในโลกออกเป็น 2 กลุ่ม คือประชาธิปไตย และเผด็จการ โดยในครั้งนี้มีการเชิญผู้นำกว่า 120 ประเทศเข้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย หรือมีแนวโน้มดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นบวกในสายตารัฐบาลสหรัฐฯ และน่าสังเกตว่า เวียดนาม ได้เข้าร่วม ทั้งที่ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ แต่ประเทศไทยกลับไม่ได้รับเชิญทั้ง 2 ครั้ง

“ถ้าหากว่าประเทศไทย ต้องการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากชาติตะวันตก จำเป็นจะต้องเข้าร่วมเป็นพันธมิตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นมิติทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นข้ออ้างของสหรัฐฯ และชาติตะวันตกที่จะนำมาพิจารณากระจาย Supply Chains โดยให้ความสำคัญในประเด็นความมั่นคงทางการเมือง มากกว่าประสิทธิภาพเหมือนเช่นในอดีต ในส่วนนี้ไทยเองจะต้องแสดงให้เห็นว่า ยังคงเป็นประเทศที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้อยู่ในเรดาร์ของประเทศมหาอำนาจภายหลังจากนี้”

นอกจากนี้ นายพงษ์ภาณุ มองว่า เรื่องต้นทุนพลังงานของประเทศไทยที่สูงขึ้น จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้เช่นกัน เพราะต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนหลักสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตในขณะนี้ ถือว่าสูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม และอินโดนีเซีย อยู่พอสมควร 

‘บิ๊กตู่’ จ่อ ฟื้นประชุม JTC หลังการค้าไทย-อินเดียคืบหน้า หวังแก้อุปสรรคทางการค้า หนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้น

(4 พ.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันความร่วมมือด้านการค้าระหว่างไทยกับอินเดียจนมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย – อินเดีย ครั้งที่ 13 ที่กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ถือเป็นการประชุมครั้งแรกในรอบ 20 ปี นับจากการประชุมเมื่อปี 2546

นายอนุชา กล่าวว่า การประชุม JTC ถือเป็นกลไกสำคัญในการหารือแนวทางการส่งเสริมการค้าและการลงทุน และแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งในปี 2563 ไทยและอินเดียตกลงรื้อฟื้นการประชุม JTC ขึ้นใหม่ ภายหลังว่างเว้นมานานเกือบ 2 ทศวรรษ เนื่องจากทั้งสองประเทศเข้าสู่การเจรจา FTA ไทย – อินเดีย และ FTA อาเซียน – อินเดีย โดยการประชุม JTC ในครั้งนี้ มีวาระการหารือที่สำคัญเกี่ยวกับการลดอุปสรรคทางการค้า และส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอินเดีย

สำหรับผลลัพธ์การประชุมในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในหลักการที่จะใช้การลงนามและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า รวมทั้งผลักดันการใช้ QR Code ผ่านการเชื่อมโยงระบบ Unified Payments Interface (UPI) ของอินเดียกับระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ของไทย เพื่อรองรับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือด้านการถ่ายทำภาพยนตร์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

‘ปตท.’ ยึดมั่นในนโยบายรัฐ ดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เพื่อประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก มุ่งสร้างสมดุลทุกภาคส่วน

นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีการพาดพิงการดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ที่จำหน่ายให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในราคาที่ถูกกว่าโรงไฟฟ้าเป็นสาเหตุให้ค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ดังนี้

การจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นสัดส่วนเพียง 20% ใช้ในภาคอุตสาหกรรมขนส่งและครัวเรือนประมาณ 30% และใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า 50% ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ดำเนินการมากว่า 40 ปี ปริมาณสำรอง และปริมาณการผลิตลดลง ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จำเป็นต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้านและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากแหล่งต่างๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ ราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้ต้นทุนราคาเนื้อก๊าซเดียวกัน สำหรับในส่วนที่ต้องจัดหาเชื้อเพลิงเพิ่มเติมเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า หรือวัตถุดิบเพิ่มเติมในแต่ละผลิตภัณฑ์จะเป็นไปตามปัจจัยสถานการณ์ตลาดพลังงานโลก และตลาดของผลิตภัณฑ์นั้นๆ

‘จุรินทร์’ แจ้งข่าวดีชาวนา เตรียมรับเงินประกันรายได้ข้าว งวด 29 พร้อมโอนเข้ากระเป๋า 3 พ.ค.นี้ เพื่อชดเชยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ

(30 เม.ย. 66) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลาง อ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ระบุว่า สำหรับการจ่ายเงินส่วนต่างตามนโยบายประกันรายได้เกษตรกรปี 4 นั้น ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 งวดที่ 29 สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 22-28 เมษายน 66 ดังนี้

1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ สิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว

2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ เกณฑ์กลางตันละ 13, 622.75 บาท ชดเชยตันละ 377.25 บาท

3) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี เกณฑ์กลางตันละ 11,132.26 บาท ไม่ต้องชดเชยเนื่องจากราคาเกณฑ์กลางสูงกว่าเป้าหมาย

‘พงษ์ภาณุ’ ชี้สงครามการค้า ‘สหรัฐฯ - จีน’ พาอุตฯ หลัก แห่ย้ายฐานการผลิต ชี้!! ‘อินโดฯ - เวียดนาม’ ที่มั่นใหม่ แนะ!! ‘ไทย’ เร่งคว้าโอกาสก่อนตกขบวน

สงครามการค้า 'จีน-สหรัฐฯ' ระเบียบโลกสั่นคลอน โลกาภิวัฒน์ถดถอย อินโดนีเซียและเวียดนามได้ประโยชน์เต็มๆ จากนโยบายต่างประเทศที่ชาญฉลาด แล้วไทยจะยืนอยู่ตรงไหน???

(30 เม.ย.66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจของโลกและภูมิภาคอาเซียน ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 66 โดยระบุว่า...

จากสงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งสหรัฐฯ มองว่า จีน จะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญทั้งในด้านเทคโนโลยีและการทหาร เพราะฉะนั้น ทางสหรัฐฯ จึงได้แบนสินค้าจากจีน ด้วยการอ้างเหตุผลสารพัด ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จนถึงปัจจุบัน แม้จะเปลี่ยนผู้นำคนใหม่แล้ว สถานการณ์ก็ยังคงเหมือนเดิม 

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ไม่เพียงแต่การแบนสินค้าจากจีนเท่านั้น แต่ในช่วงที่ผ่านมา แบรนด์สินค้าจากฝั่งสหรัฐฯ ที่เคยมีฐานการผลิตใหญ่อยู่ในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็น แอปเปิล ไนกี้ และอีกหลายแบรนด์ ก็ได้เริ่มทยอยย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะมองว่า ฐานการผลิตในจีนเริ่มไม่มีความมั่นคง ไม่มีความปลอดภัย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีระบบการปกครองที่เป็นเผด็จการ ธุรกิจในประเทศถูกควบคุมโดยรัฐบาลกลาง มีความสุ่มเสี่ยงมากขึ้น

แน่นอนว่า หากแบรน์ใหญ่ ๆ เหล่านี้ เลือกฐานการผลิตประเทศใด ย่อมสร้างรายได้ และสร้างงานให้กับประเทศนั้น ๆ ได้อย่างมหาศาล ซึ่งจะเห็นได้ว่า หลาย ๆ ประเทศในอาเซียนต่างพยายามนำเสนอจุดแข็งของประเทศเพื่อดึงดูเม็ดเงินการลงทุนจากแบรนด์สินค้าเหล่านั้น

นายพงษ์ภาณุ ระบุว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มองว่ามีอยู่ 2 ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่จะได้รับผลประโยชน์อย่างสูงมากกว่าชาติอื่น ๆ นั่นก็คือ อินโดนีเซีย และเวียดนาม 

เหตุที่มองเช่นนั้น เพราะว่า ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด หรือ โจโควี ของอินโดนีเซีย ที่เป็นผู้นำประเทศมา 10 ปี และกำลังจะครบเทอมในปีหน้า เป็นคนที่วางตำแหน่งประเทศอินโดนีเซียได้ยอดเยี่ยมมาก...

ข้อแรก วางตัวเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เปิดเสรีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเต็มที่

ข้อสอง เป็นประเทศที่มีนโยบายการต่างประเทศที่เป็นอิสระ ที่สำคัญตัวผู้นำประเทศยังสามารถคุยได้กับทุกฝ่าย นับเป็นผู้นำประเทศเพียงไม่กี่คนที่ได้พบปะพูดคุยกับผู้นำถึง 4 ประเทศ ประกอบด้วย โจ ไบเดน, สีจิ้นผิง, วลาดีมีร์ ปูติน และ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ในปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นคนเดียวที่มีโอกาสพบผู้นำ 4 คนภายในปีเดียว สะท้อนให้เห็นว่า ผู้นำประเทศอินโดนีเซียคนนี้ ได้รับการยอมรับมากเพียงใด

‘บิ๊กตู่’ มั่นใจ!! ภาพรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น เผย ยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่พุ่ง สูงสุดในรอบ 10 ปี

นายกฯ เชื่อมั่นเศรษฐกิจภาพรวมไทยดีขึ้น ยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่เดือนมีนาคม 2566 กว่า 9 พันราย สูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าปี 2566 จะมียอดจดประมาณถึง 72,000 – 77,000 ราย

(29 เม.ย. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวม และสถานการณ์การท่องเที่ยว ฟื้นตัวดีขึ้นช่วยให้มีการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ในเดือนมีนาคม 2566 ถึงกว่า 9 พันราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (มีนาคม 2565) ถึงร้อยละ 28 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เชื่อมั่นเศรษฐกิจประเทศมีศักยภาพ สถานการณ์การเงินการคลังของประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ต่างประเทศยอมรับในเศรษฐกิจของประเทศ และมีความเชื่อมั่นในเสถียรภาพการเงิน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาพรวมการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเดือนมีนาคม 2566 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 9,179 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เกือบร้อยละ 8 ในขณะที่หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (มีนาคม 2565) เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 28 โดย 3 ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 752 ราย ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 699 ราย และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 440 ราย ตามลําดับ ซึ่งเป็นตัวเลขทุนจดทะเบียนรวม 299,608.53 ล้านบาท ทำให้จำนวนรวมในไตรมาสแรก (มกราคม – มีนาคม) ของปี 2566 มียอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 26,182 ราย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากสถิติเดือนมีนาคม 2557 – ปี 2566 ทำให้ยอดการจัดตั้งธุรกิจในเดือนมีนาคม 2566 เป็นยอดสูงสุดในรอบ 10 ปีเช่นเดียวกับเดือนมกราคม 2566 และกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจในประเทศมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากสถิติการจดทะเบียนรายเดือนและรายไตรมาสที่เพิ่มขึ้น โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้คาดการณ์ว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 40,000 – 42,000 ราย และตลอดทั้งปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 72,000 – 77,000 ราย

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพของเศรษฐกิจไทย จากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในภาคบริการที่มีสัญญาณจากการจัดตั้งบริษัทใหม่จำนวนมาก ซึ่งเงินหมุนเวียนที่เกิดจากการจับจ่ายใช้สอย กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น ส่งผลถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับที่ตัวเพิ่มขึ้น จะเป็นอีกแรงบวกที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจในทุกระดับและจะส่งผลถึงในการพัฒนาเศรษฐกิจภาพรวม” นายอนุชากล่าว

บิ๊กตู่’ โชว์ผลงาน ‘การท่องเที่ยว-การเกษตร’ ฟื้นตัว ส่งผลเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง - ความเชื่อมั่นพุ่งสูง

(28 เม.ย.66) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ตนมุ่งมั่นพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยจากวิกฤติการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควด-19 และผลกระทบจากสงครามในทวีปยุโรป ทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

ล่าสุด รายงานสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน มี.ค.2566 เศรษฐกิจได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวและภาคการเกษตรที่ขยายตัวได้ดี อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง จากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 20.1% การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ลดลงจากเล็กน้อยช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -0.9% ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.8 จากระดับ 52.6 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และสูงสุดในรอบ 37 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น รวมถึงความกังวลจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า โดยเฉพาะในช่วงเดือน มี.ค. 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวมจำนวน 2.22 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 953.0% ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2566 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นใน 6 เดือนข้างหน้า ปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค โดยดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้อยู่ที่ระดับ 83.5 ภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 82.3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 77.4 ภาคตะวันตกอยู่ที่ระดับ 76.8 ภาคกลางอยู่ที่ระดับ 71.9 กทม. และปริมณฑลอยู่ที่ระดับ 60.9 

ประชาธิปัตย์ปลื้มนโยบายประกันรายได้โดนใจชาวนา

'อลงกรณ์' ขอบคุณผู้นำสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยเชียร์ชาวนา 4.6 ล้านครัวเรือนกาเบอร์ 26 พรรคประชาธิปัตย์ เผยทีมเศรษฐกิจปชป.เตรียมเปิดตัวนโยบายเกษตรทันสมัย 26-26 แก้หนี้ แก้จนแบบเต็มคาราเบล  27 เม.ย.นี้

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าววันนี้(26 เม.ย)ว่า ขอขอบคุณ นายเดชา นุตาลัย อุปนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยที่ออกมาประกาศสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์โดยขอให้ชาวนา 4.6 ล้านครัวเรือน กาเบอร์ 26 พรรคประชาธิปัตย์ เพราะชาวนาได้รับการดูแลช่วยเหลือและได้ประโยชน์จากผลงานและนโยบายประกันรายได้ของพรรคประชาธิปัตย์

‘บุญรอดฯ’ ซุ่มจับมือกับโรงกลั่นระดับโลก คลอด ‘ซิลเวอร์ไนท์’ สกอตช์วิสกี้ 8 ปี ระดับพรีเมี่ยม ในราคาเริ่มต้นเพียง 549 บาท

ตลาดน้ำเมา 5 แสนล้านคึกคัก ‘บุญรอดฯ’ ซุ่มจับมือโรงกลั่นดังสกอตแลนด์ ส่ง ‘ซิลเวอร์ไนท์’ สกอตช์วิสกี้ 8 ปี ราคาแค่พันเดียว เอาใจคอทองแดงไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยซึ่งมีมูลค่าตลาดราว 5 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น ตลาดเบียร์ 2.6  แสนล้านบาท ตลาดสุรา 1.8 แสนล้านบาท และที่เหลือเป็น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อื่นๆ อาทิ ไวน์ อาร์ทีดี ฯลฯ ต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการเฝ้าระวังในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาซึ่งมีการระบาดของโควิด-19 ก่อนที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวในปลายปีที่ผ่านมา หลังผ่อนคลายมาตรการและเปิดประเทศ

ข้อมูลจาก ‘วิจัยกรุงศรี’ ยังระบุว่า ตลาดเบียร์ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดคือ 57.9% รองลงมาได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 34.3% บริษัท ไทย เอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด 4.7% ส่วนที่เหลือ 3.1% หากแบ่งเป็นแบรนด์ จะพบว่า “ลีโอ” มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 44.8% รองลงมาคือ “ช้าง” 31.2%  สิงห์ 11.2%  ไฮเนเก้น 3.8% และ อาชา 2.4%

ส่วนตลาดเหล้าหรือสุรา บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด คือ 59.5% รองลงมาได้แก่ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด 8% บริษัท รีเจนซี่ บรั่นดีไทย จำกัด 4.4% และอื่นๆ 28.1%

ความคึกคักของตลาดเริ่มระอุอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเจ้าพ่อบาวแดง (คาราบาวแดง) ‘เสถียร เสถียรธรรมะ’ ประกาศทุ่ม 4,000 ล้านบาท เตรียมทำคลอดเบียร์น้องใหม่ออกบุกตลาดในปลายปีนี้ หลังจากปูพรมสร้างช่องทางจำหน่ายทั้งร้านค้าปลีกไซส์ใหญ่ อย่าง ซีเจ มอร์, ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต รวมไปถึง ร้านถูกดีมีมาตรฐาน อยู่ทั่วหัวระแหง

ขณะที่ก่อนหน้านี้เหล้านอกแบรนด์ดังอย่าง “ชีวาส” ก็ขยับตัว ด้วยการเปิดตัว ‘ลิซ่า BLACKPINKง เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์หญิงคนแรก ซึ่งแน่นอนว่า นอกจากเป้าหมายในการขยายฐานผู้ดื่มมายังคนรุ่นใหม่แล้ว ยังเล็งเห็นว่าตลาดเอเชียยังคงเป็นตลาดสำคัญของสกอตซ์วิสกี้ ด้วย 

ล่าสุดเป็นทีของตลาดเหล้า เมื่อ ‘บุญรอดบริวเวอรี่’ เบอร์ 1 ในตลาดเบียร์ ขอชิมลางตลาดเหล้านอก ด้วยการแจ้งเกิด ‘ซิลเวอร์ไนท์’ (Silver Knight) สกอตช์วิสกี้ 8 ปี ระดับพรีเมี่ยม ที่ซุ่มจับมือกับโรงกลั่นระดับโลก ผลิตจนได้รสชาติถูกปาก ออกมาทำตลาดในสนนราคาที่เชื่อว่าจะโดนใจคอทองแดงไทยแน่นอน

‘เต้ - ภูริต ภิรมย์ภักดี’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า บุญรอดฯ ได้ศึกษาตลาด พร้อมสำรวจแหล่งผลิตสกอตช์วิสกี้ที่ดีที่สุดระดับโลก จนได้ทำงานร่วมกับโรงกลั่นมาตรฐานระดับโลกจากประเทศสกอตแลนด์ที่มีประสบการณ์กว่า 136 ปี ในการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์จนได้สกอตช์วิสกี้ที่ลงตัวอย่าง Silver Knight ที่มีคุณภาพ เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญอย่างมากในการเลือกซื้อสกอตช์วิสกี้

“Silver Knight เป็นสกอตช์วิชกี้ 8 ปีจากดินแดนต้นกำเนิดที่เราภูมิใจเสนอต่อตลาดวิสกี้ในเมืองไทย เพื่อให้คนไทยได้สกอตช์วิสกี้ที่ดีที่สุด เป็นเอกลักษณ์และราคาจับต้องได้”

ขณะที่ ‘ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล’  Chief Marketing Officer บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด กล่าวย้ำว่า จุดเด่นของซิลเวอร์ไนท์ คือ เป็นสกอตวิสกี้แท้ ใช้กรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม ตั้งแต่กระบวนการคัดสรรวัตถุดิบ ผลิตโดยโรงกลั่นตามมาตรฐานของ Scotch Whisky Association ที่ปลูกในประเทศอังกฤษและสกอตแลนด์เท่านั้น


โดยได้การรับรองมาตรฐานสากลจาก Scotch Whisky Association โดยมี Blend Master ผู้เชี่ยวชาญการกลั่นวิสกี้ระดับโลก คัดเลือกวิสกี้จากพื้นที่โลว์แลนด์ ไฮแลนด์ และสเปย์ไซด์ของสกอตแลนด์
 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top