(9 เม.ย. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และอดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวถึงแหล่งที่มาของเงินเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ โดยข้องเกี่ยวกับภาษีที่ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ ต้องจ่าย รวมถึงความจำเป็นในการกู้เงินเพื่อนำมาต่อยอดประเทศในด้านต่างๆ ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 66 ระบุว่า…
ถ้าย้อนความเรื่องของการจัดเก็บภาษี ก็ต้องบอกว่ามีมาช้านานแล้ว และไม่ใช่เพียงแค่ในรูปแบบของเงินเท่านั้นด้วย โดยในสมัยก่อนยังมีเรื่องของการเสียภาษีเป็นทาส กล่าวคือ การเอาคนมาเป็นทาส ถือเป็นการเก็บภาษีจากแรงงานของคน โดยไม่ได้รับผลตอบแทนใด ๆ เป็นต้น
แต่แน่นอนว่า ยุคสมัยเปลี่ยนไป รูปแบบการจัดเก็บภาษีก็เปลี่ยนแปลง เพื่อให้สามารถเข้ากับรูปแบบสังคมในปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นไปในรูปแบบของการจัดเก็บเงินได้แบบที่เราคุ้นเคยกัน แต่จะมีความต่างจากในสมัยก่อน เพราะเงินภาษีที่ประชาชนยอมสละส่วนหนึ่งไปให้รัฐฯ นั้น ก็เพื่อนำไปพัฒนาประเทศต่อ ไม่ได้หายไปเปล่า ๆ เหมือนดั่งเช่นในอดีต
ฉะนั้น เมื่อมักมีคนถามถึงเหตุผลที่รัฐฯ เข้ามาบังคับจัดเก็บภาษี ว่าเก็บไปเพื่ออะไร และทำไมจึงต้องมีการจัดเก็บภาษีเท่านั้นเท่านี้...
ผมก็ต้องเรียนตามตรงว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นเชิงปรัชญา เช่น เวลาเราถามว่า รัฐฯ คืออะไร และต้องใหญ่ขนาดไหน ซึ่งบางทีก็ต้องไปดูความต้องการของรัฐฯ ในประเทศนั้น ๆ ต้องการมีส่วนแบ่งในระบบเศรษฐกิจมากเพียงใด ซึ่งแน่นอนว่ามันก็จะผูกพันและเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละยุค แต่ละสมัย แต่ละประเทศ แต่ละศาสนา แต่ละสังคมที่ไม่เหมือนกันด้วย