Thursday, 28 March 2024
ECONBIZ

‘รมว.ปุ้ย’ แง้ม!! เล็งหา ‘พันธมิตรใหม่’ ลุยลงทุนเหมืองโปแตซ หลังผู้รับประทานบัตร 3 ราย ขาดสภาพคล่อง ฉุดโครงการล่าช้า

เมื่อวานนี้ (13 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดใจกับเครือเนชั่น ถึงแนวทางแก้ปัญหาโครงการลงทุนเหมืองโปแตช หลังผู้ได้รับ ประทานบัตร 3 ราย ขาดสภาพคล่อง จนทำให้โครงการล่าช้า โดยระบุว่า…

ปัจจุบันมีบริษัทที่ได้ประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช 3 เจ้า แต่ยังไม่มีเจ้าไหนสามารถขุดแร่ขึ้นมาได้ จากเหมืองใน 3 จังหวัดได้แก่ ชัยภูมิ, อุดรธานี และนครราชสีมา เนื่องจากผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานขาดเงินทุนขาดสภาพคล่องในการลงทุนที่จะขุดแร่โปแตซขึ้นมาใช้ประโยชน์

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ทั้งนี้ โดยหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นผู้ให้ประธานบัตรกับผู้ลงทุน ซึ่งถ้าจะถามว่าความรับผิดชอบสิ้นสุดแล้วหรือไม่? ก็ไม่ถึงกับสิ้นสุด เพราะยังต้องติดตามว่าผู้ที่ได้รับบัตรสามารถประกอบกิจการได้หรือไม่? อย่างไร? แต่แน่นอนว่า ทุกฝ่ายคาดหวังกับการขุดแร่โปแตช เพื่อนำมาทำเป็นปุ๋ยให้ได้โดยเร็ว เพราะจะช่วยให้เกิดความมั่นคงต่อประเทศในระยะยาว ไม่ต้องไปพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น เช่น เมื่อสงคราม ราคาปุ๋ยก็จะพุ่งกระฉูด ดังนั้นทั้ง 3 ผู้ประกอบการที่ได้ประทานบัตรไป หากสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น ก็ถือเป็นความสำเร็จของกระทรวงอุตสาหกรรมเช่นกัน

อย่างไรก็ตามเมื่อทั้ง 3 เกิดปัญหาไม่มีเงินทุนขาดสภาพคล่อง ก็ต้องเริ่มมองไปถึงการเปิดโอกาสดึงกลุ่มทุนที่มีศักยภาพรายใหม่ ๆ เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งปัจจุบันต้องบอกว่ามีเสียงตอบรับที่ดีมาก ๆ อยู่แล้ว เนื่องจากมีหลายบริษัทที่สนใจทั้งจากไทยและเทศที่อยากจะเข้ามาร่วม เพียงแต่ต้องยอมรับว่า ประทานบัตรนั้นมีอายุและถือเป็นสิทธิ์ของผู้ที่ได้รับไป แต่เมื่อไรก็ตามถ้าประธานบัตรหมดอายุขึ้นมา ตัดสิทธิ์ก็จะวนกลับมาที่กระทรวงอุตสาหกรรมใหม่อีกรอบหนึ่ง นั่นจึงทำให้ทางกระทรวงฯ จึงยังต้องเฝ้าดูและคอยกระตุ้นผู้ที่ถือบัตรฯ อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามทั้ง 3 ผู้ประกอบการก็มีความพยายามในการขับเคลื่อนภารกิจของตน เพราะเกี่ยวกับเรื่องนี้ท่านนายกฯ ก็ลงมากำชับด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันทุกครั้งที่ท่านไปปฏิบัติภารกิจที่ต่างประเทศ ก็จะพยายามมองหาผู้ที่สนใจที่มีศักยภาพมาร่วมลงทุนด้วยเช่นกัน

เมื่อถามถึงผลลัพธ์ของเหมืองโปแตซที่ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยลดราคาปุ๋ยของไทยได้มากน้อยแค่ไหน? รมว.พิมพ์ภัทรา เผยว่า “3เหมืองนี้เพียงพอที่จะทำให้ไทยมีปุ๋ยใช้ในประเทศได้เพียงพอและมากพอที่จะส่งออกได้ด้วย ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความมั่นคงของประเทศอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นในโลก เมื่อเรามีต้นทุนปุ๋ยเป็นของตนเอง อย่างน้อยก็ไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ”

'รมว.ปุ้ย' เร่งออก มอก. ภาคบังคับเพิ่ม 2 เท่า สกัด 'สินค้าราคาถูก-ด้อยคุณภาพ' พังตลาดไทย

(13 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องกำลังผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยลดลง ว่า ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากการที่ผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งออกมาตรฐานบังคับใช้ หรือ มอก. ให้ได้มากกว่าที่ผ่านมา 2 เท่า เพราะเชื่อว่าอย่างน้อยจะช่วยเป็นหลักประกัน และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริโภคด้วยว่าจะเลือกใช้ของถูกแต่ไม่มีมาตรฐาน หรือของถูกที่ได้มาตรฐาน

"ยอมรับว่าการที่ภาคการผลิตชะลอตัวอาจจะเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็มีหน้าที่ในการดูแล และสนับสนุน เพราะเวลานี้ผู้ประกอบการเองนำหน้ารัฐบาลไปมาก ดังนั้น สิ่งสำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้ไม่เกิดอุปสรรค ควบคู่ไปกับการสนับสนุน"

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากระทรวงฯเองก็มีมาตรการที่ดูแลผู้ประกอบการไทย และผู้บริโภค เพียงแต่การดูแลจะต้องทำให้ได้อย่างทั่วถึง โดยในส่วนของผู้บริโภคเองย่อมต้องการสินค้าที่ราคาไม่แพง แต่ประเด็นที่สำคัญคือ จะต้องมีคุณภาพด้วย ซึ่งกระทรวงฯมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง สมอ. คอยช่วยดูแลอยู่ ในการสร้างมาตรฐาน มอก.

โดยสินค้าที่จะเข้ามาจำหน่ายในไทยจะต้องได้รับการยอมรับ หรือผ่านมาตรฐาน มอก. จากการตรวจสอบอย่างเข้มงวด แต่ปัจจุบันมีปัญหาจากการสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือถูกมาพักไว้ตามแนวตะเข็บชายแดนก่อนนำเข้า

อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนว่ากระทรวงฯคงดูแลรับผิดชอบเพียงหน่วยงานเดียวไม่ไหว จะต้องมีหน่วยงานอื่นร่วมมือกันด้วย โดยก่อนหน้านี้ได้มีการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ในการดูแลสินค้านำเข้าให้มีคุณภาพ เพราะหากสินค้าไม่มีคุณภาพเข้ามาเป็นจำนวนมากย่อมกระทบกับผู้ประกอบการไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้นทุนถูกกว่า ซึ่งการดูแลจึงต้องทำควบคู่กันไปทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อไปอีกว่า ในระยะต่อไปสินค้าที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในไทย จะต้องมีกระบวนการในการตรวจสอบมาตรฐาน ตั้งแต่สินค้าชิ้นเล็ก เช่นปลั๊กไฟ หากไม่ได้มาตรฐานอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิต และครอบครัว หรือเหล็ก ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงความมั่นคงของประเทศ โดยปัจจุบันมีทั้งผู้ผลิตในประเทศไทย และเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศที่ผ่าน มอก. อย่างถูกต้อง และไม่ถูกต้อง

"ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกัน โดยมองว่าไม่ใช่ช่วยกันเฉพาะการนำเข้า เพราะไม่ใช่ข้อห้าม แต่สิ่งสำคัญสินค้าจะต้องได้มาตรฐาน"

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ต้องทำความเข้าใจด้วยว่ามาตรฐานมี 2 แบบ คือ มาตรฐานบังคับใช้ และมาตรฐานทั่วไป โดยที่ผ่านมากระทรวงฯพบข้อมูลแล้วว่าเรื่องมาตรฐานเริ่มมีปัญหากับผู้ประกอบการในประเทศ จึงมีการยกระดับให้เป็นมาตรการบังคับ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการออกมาตรฐานไม่ใช่สิ่งที่ทำได้โดยง่าย เพราะจะต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ตั้งแต่วิธีการผลิต และการตรวจคุณภาพ ซึ่งอาจจะไม่ทันกับจำนวนสินค้าที่หลั่งไหลเข้ามา

‘รมช.กฤษฎา’ จ่อชง ครม. อนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 5 หมื่นลบ. พร้อมผนึก ‘ธ.ออมสิน’ ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ กลุ่มอุตฯ เป้าหมาย

(13 มี.ค. 67) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง เปิดเผยว่า เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามาตรการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 วงเงิน 50,000 ล้านบาท ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อสนับสนุนนโยบาย IGNITE Thailand ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยครอบคลุม 8 ฮับ เพื่อดันประเทศไทยเป็นที่ 1 ในภูมิภาค

นอกจากนั้นได้ให้ ธนาคารออมสิน เตรียมแพ็กเกจสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่อง หรือ ลงทุนปรับปรุงหรือขยายกิจการให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมตามนโยบาย IGNITE Thailand ได้แก่ 1. ศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) 2. ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub) และ 3. ศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub)

นายกฤษฏา กล่าวย้ำว่า มาตรการดังกล่าว จะสามารถเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ให้มีสภาพคล่องและสามารถแข่งขันได้ในตลาดปัจจุบัน อีกทั้งจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนระบบ เกิดการจ้างงานกระตุ้นการลงทุนอีกด้วย

'พีระพันธุ์' เร่งสรุปรูปแบบการสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์  สร้างความมั่นคงด้าน 'พลังงาน-ราคาน้ำมัน' เพื่อคนไทยอย่างเป็นธรรม

'พีระพันธุ์ รมว.พลังงาน' เร่งสรุปรูปแบบการสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ เน้นสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้ยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (12 มี.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ ครั้งที่ 7/2567 ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล 
.
โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละด้าน รวมทั้งผู้บริหารกระทรวงพลังงานร่วมกันดำเนินการออกแบบแนวทางการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ในครั้งนี้

ตลอดระยะเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการพิจารณาประเด็นสำคัญในการวางรูปแบบการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อความมั่นคง และรักษาเสถียรภาพทางด้านราคา โดยคำนึงถึงภาครัฐ, ภาคเอกชน และผลกระทบภาคประชาชนเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นหัวใจของการเปลี่ยนแปลงระบบการสำรองน้ำมันและก๊าซในครั้งนี้

นอกจากนี้ ได้มีการศึกษาการอุดหนุนราคาน้ำมันของประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์, การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางการทหารและประชาชนในประเทศไทย, การปันส่วนน้ำมันในกรณีเกิดการขาดแคลน รวมทั้งหารือแนวทางการบริหารจัดการน้ำมันดิบที่ผลิตในประเทศ เพื่อให้นำมาใช้ประโยชน์ในประเทศให้มากที่สุด เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน แม้จะสามารถผลิตน้ำมันเองได้ แต่ก็เป็นส่วนน้อย

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยให้สูงขึ้น 

ดังนั้น การจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซในครั้งนี้ ประชาชนจะมั่นใจได้ว่าจะเป็นการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซที่เป็นธรรมกับประชาชนอย่างแน่นอน และก่อให้เกิดผลดีต่อการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศในอนาคตอย่างยั่งยืน

KKP Research ชี้!! ส่งออกไทยเข้าสู่ภาวะอ่อนแรง แบก ศก.เหนื่อย ซ้ำ!! ถูกจีนส่งสินค้าราคาถูกตีตลาด ในขณะที่ไทยขาดสินค้าดาวรุ่ง

(12 มี.ค. 67) สำนักวิจัย KKP Research ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ภาคส่งออกที่พัฒนามาค่อนข้างมากและเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากว่า 30 ปี กำลังมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยเริ่มมีปัญหาภาคส่งออกที่กำลังอ่อนแรงไว้ว่า...

- ไทยเป็นฐานการผลิตของสินค้าโลกเก่า กล่าวคือ สินค้าที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นเป็นสินค้าที่โลกมีความต้องการลดลงเรื่อยๆ จากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและความต้องการของตลาด ขณะที่ไทยยังไม่สามารถดึงดูดและพัฒนาเทคโนโลยีของสินค้าที่เข้ามาทดแทนได้ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์สันดาปและชิ้นส่วนยานยนต์ ที่กำลังถูกตีตลาดจากรถยนต์ไฟฟ้า, Hard Disk Drive (HDD) ที่กำลังถูกแทนที่ด้วย Solid State Drive (SSD) รวมถึงผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ความต้องการตลาดโลกลดลงตามกระแสเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น

- ประเทศไทยไม่มีสินค้าดาวรุ่งในโลกใหม่ สินค้าที่กำลังเติบโตได้ดีและเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นในตลาดโลกตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ Smart phone, Semiconductor, และ SSD ไทยกลับมีส่วนแบ่งตลาดลดลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สุดท้าย คือ สินค้าที่ยังพอมีโอกาสเป็นกลุ่มสินค้าซับซ้อนต่ำ สินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น คือ กลุ่มสินค้าเกษตรและสินค้าที่ไม่มีความซับซ้อนในการผลิต และมีมูลค่าเพิ่มไม่มากนัก เช่น ผลไม้สด เนื้อสัตว์แปรรูป ยางรถยนต์ ซึ่งอาจยังเป็นสินค้าสำคัญของภาคส่งออกไทยต่อไปได้ (ยกเว้นยางพาราและข้าวที่มีไทยมีส่วนแบ่งตลาดลดลงอย่างเห็นได้ชัด)

อย่างไรก็ดี ความต้องการสินค้ากลุ่มนี้ในตลาดโลกไม่ได้มีสัดส่วนเปลี่ยนไป และขนาดมูลค่าการส่งออกทั่วโลกของสินค้ากลุ่มนี้ไม่ได้สูงมากนัก โดยสินค้าเกษตรสำคัญของไทยคือข้าวมีแนวโน้มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดียมากขึ้นเรื่อยๆ 

ในขณะเดียวกัน เห็นได้ชัดว่าประเทศคู่แข่งเริ่มปรับเปลี่ยนโครงสร้างสินค้าส่งออกไปเป็นสินค้าใหม่ๆ มากขึ้น เช่น เวียดนามได้กลายเป็นฐานการส่งออก Smartphone แผงวงจรไฟฟ้า และ Solar cell ในตลาดโลกมากขึ้น หรือมาเลเซียที่หันมาส่งออกสินค้าโลกใหม่ เช่น SSD มากขึ้นในตลาดโลก และเริ่มลดการส่งออกสินค้าโลกเก่าอย่าง HDD ลง

- ด้านเศรษฐกิจไทยยังถูกตีตลาดจากจีนมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่ไทยพึ่งพาจีนในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของโลก แต่ปัจจุบันสินค้าหลายชนิด จีนผลิตได้เองในต้นทุนที่ถูกกว่าและส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายมาที่ไทยโดยตรง 

KKP Research มองว่าปรากฏการณ์นี้กระทบเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการแข่งขันที่ยิ่งลดลง จากการที่ภาคการผลิตของไทยแข่งยากขึ้นเมื่อเทียบกับสินค้าส่งออกของจีนที่ราคาถูกกว่า ทั้งสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เหล็ก รถยนต์โดยเฉพาะรถไฟฟ้า EV เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ ยางรถยนต์

ด้านมูลค่าเพิ่มของสินค้าส่งออกไทยลดลง เหตุจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่รุนแรงขึ้น ทำให้สหรัฐฯ ลดการนำเข้าสินค้าโดยตรงจากจีน ผู้ประกอบการจีนจึงโยกย้ายการลงทุนไปยังประเทศอื่นเพื่อใช้เป็นช่องทางในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ (Re-routing) รวมถึงไทย เช่น การส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ (Solar PV) ของไทยที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ในภาพรวมเป็นเพียงแค่ทางผ่านของแผงโซลาร์เซลล์จากจีนไปยังตลาดสหรัฐฯ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทยน้อยมาก ดังนั้น หากแนวโน้ม Re-routing ขยายวงกว้างขึ้นไปยังสินค้าอื่นๆ จะทำให้มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในประเทศ ไม่เพิ่มขึ้นแม้การส่งออกจะยังเติบโตได้ก็ตาม

- ด้านจีนเข้ามาทำธุรกิจในไทยโดยตรงมากขึ้น เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจและเข้ามาเจาะตลาดในไทยโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจในภาคบริการอื่นๆ โดยในปัจจุบันการลงทุนโดยตรง (FDI) จากจีนเร่งตัวขึ้นจนเป็นอันดับหนึ่งตั้งแต่ปี 2022 แซงหน้าญี่ปุ่นที่เคยเป็นแหล่งเงินลงทุนโดยตรงรายใหญ่ในไทย ในแง่หนึ่งการลงทุนที่เพิ่มขึ้นนี้อาจเป็นผลดีต่อการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แต่ก็จะทำให้ธุรกิจไทยเองต้องเร่งปรับตัวรับการแข่งขันในตลาดในประเทศที่จะดุเดือดขึ้น

ความท้าทายนี้ ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 มิติ คือ...

(1) ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลง จากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง และจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง เพราะ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจกว่าครึ่งหนึ่งมาจากภาคการส่งออกสินค้า 

(2) แรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงตกงานหรือรายได้ไม่โต 

และ (3) ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจไม่กลับไปสูงเหมือนในอดีต สร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในระยะยาว

ทั้งนี้ สำหรับแนวทางออก KKP Research แนะนำว่าผลกระทบด้านลบทั้งหมดนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น หากแต่ต้องหานโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง (Supply-side structural reform policy) โดยดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระดับการพัฒนาและจุดแข็งของเศรษฐกิจไทย เร่งเพิ่มศักยภาพของแรงงานให้มีความสามารถในการรองรับการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้น รวมไปถึงดึงดูดแรงงานที่มีทักษะจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มการจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ อีกทั้งควรลดข้อจำกัดและกฎระเบียบในการทำธุรกิจ เพื่อเสริมให้ศักยภาพที่อ่อนแรงลงของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นกลับมาเติบโตได้ดีขึ้นในระยะยาว 

นอกจากนี้ ควรมีการประเมินและหาแนวทางบรรเทาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ จากการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

‘BWG-ETC-GULF’ ปิดดีลใหญ่ 2 หมื่นล้านบาท ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตฯ-ผลิตเชื้อเพลิง

‘BWG-ETC’ บิ๊กดีลผนึกร่วมลงทุน GULF ลุยลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ-ผลิตเชื้อเพลิง SRF 20,800 ล้านบาท ประกาศขึ้นแท่นผู้ดำเนินโครงการ โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเบอร์1ของประเทศ

(12 มี.ค. 67) บมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน หรือ BWG, บมจ.เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ หรือ ETC, และบมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ร่วมลงนามลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 12 โครงการ และโครงการลงทุนโรงงานผลิตเชื้อเพลิง SRF จำนวน 3 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 20,800 ล้านบาท ตอกย้ำการเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเบอร์ 1 ของประเทศ

นายศุภวัฒน์  คุณวรวินิจ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ETC เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ ร่วมลงนามในสัญญาผู้ถือหุ้นกับ บริษัท กัลฟ์ เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำกัด หรือ GWTE ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เพื่อร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 12 โครงการ และโครงการลงทุนโรงงานผลิตเชื้อเพลิง SRF จำนวน 3 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 20,800 ล้านบาท ดังนี้

1.การลงนามในสัญญาผู้ถือหุ้นระหว่าง ETC กับ GWTE เพื่อเข้าลงทุนในบริษัทเก็ท กรีน พาวเวอร์ จำกัด หรือ GGP ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 10 โครงการ เพื่อจำหน่ายไฟฟ้ารวม 80 เมกะวัตต์ ในสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 50:50 ซึ่ง GWTE มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจพร้อมทั้งมีศักยภาพทางการเงิน เนื่องจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 10 โครงการใช้เงินลงทุนถึง 15,000 ล้านบาท

2.การลงนามในสัญญาผู้ถือหุ้นระหว่าง BWG กับ GWTE เพื่อเข้าร่วมลงทุนในบริษัท เซอร์คูลาร์ แคมป์ จำกัด (CC) ผู้พัฒนาโครงการโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม (SRF) จำนวน 3 โครงการ ในสัดส่วนการถือหุ้น 50:50 เช่นกัน มูลค่าโครงการรวม 2,600 ล้านบาท เพื่อจำหน่ายเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม (SRF) ให้กับโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมทั้ง 12 โครงการ

3.การลงนามสัญญาผู้ถือหุ้นระหว่าง ETC กับ GWTE และบริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด (WTX) เพื่อให้ ETC เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจำนวน 2 โครงการ ภายใต้บริษัท ซันเทค อินโนเวชั่น พาวเวอร์ จำกัด (SIP) โดยการเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งปัจจุบัน GWTE และ WTX ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 51.00 และ 49.00 ตามลำดับ ซึ่งภายหลังจากการเพิ่มทุนดังกล่าวจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นใน SIP ของ ETC อยู่ที่ 33% GWTE อยู่ที่ 34% และ WTX อยู่ที่ 33% ซึ่งปัจจุบัน SIP มีการดำเนินการ ไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมทั้ง 2 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 3,200 ล้านบาท โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา รวม 16 เมกะวัตต์ ซึ่งได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นระยะเวลา 20 ปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อ วันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

ด้าน นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG กล่าวว่า ความร่วมมือกับ GULF ในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำการเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเบอร์ 1 ของประเทศ โดยการดำเนินธุรกิจด้านโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรมของ BWG รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมของ ETC และบริษัทในเครือถือเป็นการให้ความสำคัญด้านการลงทุนที่สร้างโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจหมุนเวียนตามนโยบายภาครัฐ Bio-Circular-Green Economy (BCG) โดยการนำขยะอุตสาหกรรมมาแปรรูปเพื่อเป็นพลังงานนี้ จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดปริมาณของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสอดรับกับนโยบายของภาครัฐที่มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านพลังงานสีเขียว และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

“BWG มีประสบการณ์มามากกว่า 20 ปี ในการเป็นผู้ให้บริการด้านการจัดการกากอุตสาหกรรม (ขยะอุตสาหกรรม) อย่างครบวงจร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการแปรรูปขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นของเสียอันตรายเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้า (SRF) และ ETC เป็นผู้ที่มีความชำนาญในการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมและขยะ ชุมชนที่มีมาตรฐานสูง”

ล่าสุดบอร์ดเคาะอนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ แบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) จำนวน 540,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท (Par) เพื่อเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) และอนุมัติการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ ครั้งที่ 6 (BWG-W6) จำนวน 900,199,539 หน่วยเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อนำเงินที่ได้รองรับการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมกับผู้ร่วมทุนอื่นจำนวน 10 โครงการ และ 2 โครงการ จากการเข้าทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)

'เทสลา' ตั้งเงื่อนไข ลงทุนไทย ต้องได้ที่ดิน 2 พันไร่แปลงเดียว ด้าน 'เศรษฐา' มอบ 'รมว.ปุ้ย' ถกผังเมืองอุตฯ เอื้อลงทุน

(12 มี.ค. 67) รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า เมื่อไม่นานมานี้ นายเศรษฐา ได้สั่งการให้ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าหารือเพื่อแก้ปัญหาผังเมืองอุตสาหกรรมไม่เอื้อการลงทุนอย่างจริงจัง พร้อมให้หารือกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อปลดล็อกอุปสรรคครั้งนี้ เพราะจากตัวเลขการลงทุนปี 2566 ที่เติบโตต่อเนื่องถึงปีนี้ จากยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ตลอดจนยอดการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และยอดเช่า/ซื้อที่ดินของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และนิคมอุตสาหกรรมของเอกชน ที่เป็นผลจากการเคลื่อนย้ายลงทุน และรัฐบาลนำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐบาลออกไปชักจูงการลงทุนในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน 

ล่าสุดได้รับเสียงสะท้อนจากนักลงทุนจำนวนมากแต่ผังเมืองภาคอุตสาหกรรมของไทยที่พบปัญหาไม่เอื้อต่อการลงทุน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา

“ตัวอย่างนักลงทุนที่ร้องเรียน อาทิ ญี่ปุ่นที่มีที่ดินติดปัญหาเคยมีลำน้ำสาธารณะที่ปัจจุบันไม่มีน้ำแล้ว นักลงทุนเสนอขุดลำน้ำให้ใหม่แต่ชุมชนไม่ยอม นอกจากนี้ยังพบว่า เทสลา ต้องการที่ดินลงทุนผลิตรถอีวีจำนวนมากถึง 2,000 ไร่ แต่ผังเมืองไม่เอื้อ” รายงานข่าวระบุ

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ปลายปีที่ผ่านมา เทสลาได้เข้ามาดูพื้นที่ลงทุนในไทย หลังนายเศรษฐา โรดโชว์สหรัฐอเมริกา และได้เชิญชวนเทสลาเข้ามาลงทุน โดยเงื่อนไขการลงทุนของเทสลาคือ ต้องใช้พื้นที่ลงทุน 2,000 ไร่ เป็นผืนเดียวกัน แต่พื้นที่ลงทุนของไทยในนิคมฯ ไม่เพียงพอ ทั้งของ กนอ.และนิคมฯเอกชน เพราะปกติการจัดตั้งนิคมฯ จะใช้พื้นที่ประมาณ 1,000-2,000 ไร่ และการลงทุนจะใช้หลักร้อยไร่ต่อราย อาทิ บีวายดี ใช้ 600 ไร่จึงสามารถหาได้ทันที

รายงานข่าวระบุว่า เบื้องต้นมีรายงานเทสลากำลังพิจารณาที่ดินย่านลาดกระบัง 2,000 ไร่ แต่ไม่ใช่นิคมฯ จึงต้องดูว่าจะปิดดีลได้หรือไม่ และพื้นที่ดังกล่าวจะไม่เกิดปัญหาผังเมืองตามมา

'อ.อุ๋ย-ปชป.' วอนรัฐสนับสนุนวิชาชีพช่างแว่นตา ชี้!! สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจนับหมื่นล้านบาท

(12 มี.ค. 67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กทม. เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเห็น ว่า...

"วันนี้สวมหมวกที่ปรึกษากฎหมายของราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ บรรยายหัวข้อ 'กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับช่างแว่นตา' ซึ่งจัดโดยชมรมจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาแห่งประเทศไทย

"วิชาชีพช่างแว่นหรือช่างวัดสายตาประกอบแว่น (optician) เป็นหนึ่งในสามเสาหลักของวิชาชีพทางด้านจักษุ ซึ่งได้แก่ จักษุแพทย์ นักทัศนมาตร และช่างแว่น ซึ่งต้องทํางานสอดประสานกันเพื่อเติมเต็มบริการสาธารณสุขทางด้านจักษุ ปัจจุบันตลาดแว่นตาไทยมีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท มีร้านแว่นตาทั่วประเทศกว่า 20,000 ร้าน และเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% 

"จึงจําเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐควรเข้ามากํากับดูแลเพื่อรักษามาตรฐาน และยกระดับ/พัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการของกิจการแว่นตาไทย สร้างมูลค่าเพิ่มและ productivity เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่สําคัญของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ

"ปัจจุบันร่างกฎกระทรวงกำหนดให้กิจการตรวจวัดสายตาประกอบแว่นเป็นกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. ....ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งหากประกาศใช้แล้วจะยกระดับมาตรฐานวิชาชีพช่างแว่นให้เทียบเท่าสากล พัฒนากลไกเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อรองรับสถานะต่างๆตามกฎหมายซึ่งนําไปสู่การสนับสนุนในรูปแบบอื่น ๆ จากภาครัฐต่อไปในอนาคต ผมจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันเรื่องนี้โดยเร็ว เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ประกอบวิชาชีพนี้และผู้บริโภคครับ"

‘รมว.ปุ้ย’ มอบนโยบาย ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ ขับเคลื่อน SMEs ไทย ฟาก ‘SME D Bank’ ขานรับ ชู ‘เติมทุนคู่พัฒนา’ วงเงินกู้สูงสุด 50 ลบ.

(11 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง ว่า ได้มอบนโยบายการทำงานแก่คณะกรรมการ และคณะผู้บริหาร SME D Bank ให้เดินหน้าสนับสนุนเอสเอ็มอีกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับ Thailand Vision ที่ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใน 8 ด้าน ได้แก่ การท่องเที่ยว การแพทย์-สุขภาพ อาหาร การบิน การขนส่ง ยานยนต์อนาคต ดิจิทัล และการเงิน โดยให้บริการด้านการพัฒนาควบคู่กับการให้สินเชื่อ พร้อมเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายพันธมิตรภายในและภายนอกกระทรวงอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ขอให้ SME D Bank นำแนวทาง ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ มายกระดับขั้นตอนการทำงาน หมายถึง รื้อ ลด และปลด สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอี พร้อมกับสร้างสิ่งใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี เช่น การพัฒนาศูนย์ One Stop Service สำหรับให้บริการกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกกระบวนการ และมุ่งสู่การเป็น Digital Banking โดยสมบูรณ์ 

นอกจากนี้ ธนาคารจะต้องใช้ประโยชน์จากข้อมูล Data Warehouse และระบบ Core Banking System (CBS) ที่ธนาคารพัฒนาขึ้น เพื่อนำไปวิเคราะห์ วิจัย และประมวลผลให้ได้ข้อมูลเชิงลึก (SME Insight) สำหรับกำหนดเป็นนโยบายสนับสนุนเอสเอ็มอีต่อไป

นอกจากนั้น SME D Bank ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ จะต้องวางภาพลักษณ์องค์กรเป็น Professional Banking มีวัฒนธรรมการทำงานที่โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นมืออาชีพ

“ดิฉันมั่นใจในศักยภาพของ SME D Bank และยินดีที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของ SME D Bank ในทุกมิติ เพื่อให้ SME D Bank เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล สามารถช่วยเหลือและเพิ่มศักยภาพแก่เอสเอ็มอีไทย ซึ่งจะสร้างประโยชน์ ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ประชาชนมีรายได้ คุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่งต่อประโยชน์ไปยังทุกภาคส่วน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้ประเทศไทยเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานกรรมการ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank พร้อมขานรับดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านกระบวนการ ‘เติมทุนคู่พัฒนา’ ช่วยเอสเอ็มอีเติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยด้าน ‘การเงิน’ จัดเตรียมผลิตภัณฑ์สินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มเอสเอ็มอี วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท 

นอกจากนั้น ยังเป็นสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ผ่อนนานพิเศษสูงสุด 15 ปี และปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 24 เดือน ช่วยลดภาระทางการเงิน อีกทั้ง ใช้กลไกบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สนับสนุนกลุ่มที่ไม่มีหลักประกันให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ขณะเดียวกัน พิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง 

ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา SME D Bank ดูแลช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง สามารถพาเข้าถึงแหล่งเงินทุนกว่า 231,250 ล้านบาท ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 1 ล้านล้านบาท และช่วยรักษาการจ้างงานได้กว่า 752,345 ราย ควบคู่กับช่วยพัฒนาเสริมศักยภาพเอสเอ็มอีกว่า 75,000 ราย อีกทั้ง ช่วยเหลือผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน (ฟ้า-ส้ม) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กว่า 83,520 ราย วงเงินรวมกว่า 145,240 ล้านบาท

ส่วนด้าน ‘การพัฒนา’ ยกระดับศักยภาพเอสเอ็มอี ผ่านโครงการ SME D Coach ที่เชื่อมโยงการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 50 แห่งมาไว้ในจุดเดียว เน้นเติมความรู้ใน 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.การตลาด 2.มาตรฐาน พัฒนาผลิตภัณฑ์ 3.เทคโนโลยีและนวัตกรรม 4.การเงิน เขียนแผนธุรกิจ บัญชี ภาษี 5.การผลิต และ 6.บ่มเพาะเตรียมพร้อมเข้าสู่แหล่งทุน 

ทั้งนี้ SME D Bank ยังดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล แก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบให้แก่ประชาชนและเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลุ่มรหัส 21 (วงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 10 ล้านบาท และเป็น NPL ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2566) ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น พักชำระหนี้เงินต้น 1 ปี อีกทั้ง ระหว่างพักชำระเงินต้นจะได้ลดดอกเบี้ย 1% ต่อปี 

นอกจากนั้น ยกดอกเบี้ยผิดนัดให้ทั้งหมด และหากปิดบัญชี ลดดอกเบี้ยค้างให้ 100% เป็นต้น สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน 2568 ณ สาขา SME D Bank ที่ใช้บริการสินเชื่อ

สำหรับปีนี้ (2567) SME D Bank ยังเดินหน้ากระบวนการ ‘เติมทุนคู่พัฒนา’ พร้อมยกระดับนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาให้บริการเอสเอ็มอีได้คลอบคลุม และกว้างขวางยิ่งขึ้น ได้แก่ ระบบ Core Banking System (CBS) ที่สามารถให้บริการทางการเงินได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง และแพลตฟอร์ม DX (Development Excellent) ระบบพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ สร้างสังคมของการเรียนรู้ e-Learning ศึกษาได้ด้วยตัวเอง 24 ชม. ช่วยเติมศักยภาพให้เอสเอ็มอีสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

‘กสิกรไทย-อินโนพาวเวอร์’ เตรียมเปิดแพลตฟอร์ม REC  หนุนรายย่อยสร้างรายได้จากการใช้ ‘โซลาร์รูฟท็อป’

‘ธนาคารกสิกรไทย’ ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับ ‘อินโนพาวเวอร์’ ผู้บุกเบิกนวัตกรรมด้านพลังงาน เปิดตัวแพลตฟอร์มสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) สำหรับองค์กรและประชาชนรายย่อยครั้งแรกในประเทศไทย เตรียมเปิดแพลตฟอร์มให้บริการในไตรมาส 2 ปี 67 ช่วยให้ลูกค้ารายย่อยที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปสามารถขอและขายใบรับรอง REC ได้ง่ายขึ้น ถือเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย และส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืนในประเทศ

(11 มี.ค. 67) ดร.กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารมุ่งมั่นสนับสนุนภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการใช้พลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาได้ออกผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสนับสนุนหลากหลายรูปแบบภายใต้แนวคิด Go Green Together 

โดยความร่วมมือกับ บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ในครั้งนี้ จะเป็นการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดระบบนิเวศสีเขียวที่ยั่งยืน (Green Ecosystem) ผ่านการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดในภาคประชาชน ถือเป็นครั้งแรกที่ประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจะมีช่องทางการให้บริการที่ง่ายและสะดวกในการขึ้นทะเบียน REC และทำการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนผ่านบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด จากที่ผ่านมาจะเป็นการขึ้นทะเบียนให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟแล้ว ยังได้ประโยชน์จากการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนอีกด้วย 

โดยคาดว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยจุดกระแสให้ประชาชนทั่วไปหันมาผลิตและใช้พลังงานสะอาดผ่านการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ให้สำเร็จ

ทั้งนี้ ธนาคารได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลในการพัฒนาบริการต่าง ๆ ให้กับโครงการฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ 

1.) ให้บริการยืนยันตัวตนและนำส่งข้อมูลประกอบการขึ้นทะเบียน REC
2.) ออกแบบ UX/UI และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสาระสนเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟสมัครใช้บริการขึ้นทะเบียน REC 
3.) ให้บริการ Cash Management ซึ่งเป็นการพัฒนาโซลูชันทางการเงินที่เชื่อมต่อระหว่างธนาคาร อินโนพาวเวอร์ และลูกค้าที่ขาย REC ให้มีรูปแบบการชำระเงินที่เหมาะสม ปลอดภัย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้ใช้รายย่อย และสร้างประสบการณ์ที่ดีในการรับ-จ่ายเงิน

นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า “อินโนพาวเวอร์ เป็นผู้ให้บริการจัดหาและซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) ครบวงจรอันดับหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ให้บริการกับองค์กรขนาดใหญ่ แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทฯ ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยเข้าไปช่วยรวบรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าระดับรายบุคคลและองค์กรรายย่อยที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในภาคครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีขนาดกำลังการผลิตไม่ถึง 500 กิโลวัตต์ โดยผู้ผลิตเหล่านี้มีเป็นจำนวนมากและตลาดโซลาร์รูฟท็อปมีอัตราการเติบโตสูงถึงปีละ 26% บริษัทฯ จึงได้ร่วมมือกับธนาคารพัฒนา REC Aggregator Platform ผ่านการรวบรวมและจัดเตรียมข้อมูลการขึ้นทะเบียน REC เพื่อช่วยผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยสามารถยื่นขอใบรับรอง REC ได้สะดวกขึ้น และอำนวยความสะดวกในการนำ REC ที่ออกและได้รับการรับรองไปจำหน่ายแก่ผู้รับซื้อ 

โดยนอกจากจะช่วยให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถขาย REC เป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่งแล้ว แพลตฟอร์มนี้ยังช่วยกระตุ้นให้การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในตลาดเติบโตยิ่งขึ้น และยังช่วยให้องค์กรและประเทศบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) อย่างเป็นรูปธรรม

ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) คือใบรับรองสำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่สามารถซื้อขายได้ เพื่อยืนยันที่แหล่งผลิตว่ามาจากพลังงานธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์, น้ำ และลม เป็นต้น การซื้อขายใบรับรองมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดย REC สามารถนำไปใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้ในกิจกรรมที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้า (Scope 2: Indirect Emission) 

'EGCO Group' แต่งตั้ง 'กัมปนาท บำรุงกิจ' ดำรงตำแหน่ง 'รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่'

(11 มี.ค. 67) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ประกาศแต่งตั้ง นายกัมปนาท บำรุงกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานปฏิบัติการ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ และทำหน้าที่รักษาการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ รวมทั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดย่อย ได้แก่ กรรมการลงทุน กรรมการกำกับความเสี่ยง และกรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป จนกว่าคณะกรรมการบริษัทจะแต่งตั้งผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่

ทั้งนี้ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการกำกับความเสี่ยง ซึ่งจะมีผลในวันที่ 14 มีนาคม 2567 แต่ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการ กรรมการลงทุน และกรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืนของบริษัท

'อ.พงษ์ภาณุ' มอง!! Carbon Pricing กุญแจสำคัญสู่ Net Zero ตอบโจทย์ธุรกิจในโลกยุคใหม่ ช่วยต่อลมหายใจให้โลกใบเก่า

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'Carbon Pricing กุญแจสู่ Net Zero' เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงสุดเป็นอันดับ 9 ของโลก ที่จะได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่มากับภาวะโลกร้อน 

ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาเราต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติครั้งแล้วครั้งเล่า ที่รุนแรงที่สุดดูเหมือนจะเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 และฝุ่น PM 2.5 ซึ่งยังคงหลอกหลอนเราอยู่ในปัจจุบัน

แม้ว่าไทยจะไม่ใช่ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก แต่ก็คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความกดดันที่จะต้องมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ได้ 

แรงกดดันดังกล่าวมาจากทั้งองค์การระหว่างประเทศ ตลาดเงินตลาดทุน Supply Chains ในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนผู้บริโภคและ NGO ต่าง ๆ

นายกรัฐมนตรีไทยได้ประกาศในที่การประชุม COP 26 ที่ Glasgow สหราชอาณาจักร ว่าประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2065 ซึ่งแม้จะเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แต่ก็ยังล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศ รวมทั้ง มาเลเซีย, ลาว และกัมพูชา

เป้าหมายดังกล่าว กอปรกับแรงกดดันจากทุกภาคส่วน ยังคงความจำเป็นให้ต้องมี Roadmap ที่ชัดเจนและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดในด้านทรัพยากรและขีดความสามารถในการบังคับใช้กฎหมาย 

ดังนั้น การใช้กลไกตลาด จึงน่าจะเป็นกุญแจสำคัญของเส้นทางไปสู่เป้าหมาย Net Zero การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) อาจกระทำโดยการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และการจัดระบบซื้อขายคาร์บอนผ่านกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต

ประการแรก การจัดเก็บภาษีคาร์บอนที่สะท้อนต้นทุนทางสังคม เป็นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ กรมสรรพสามิตเป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์จัดเก็บภาษีบาป (Sin Tax) อยู่ในปัจจุบัน ทั้งจากสุรา, ยาสูบ และน้ำตาล จึงไม่มีปัญหาในการเพิ่มคาร์บอนเข้าไปในรายการสินค้าบาปแต่อย่างใด แต่ปัญหาอยู่ที่ช่วงการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งอาจเกิดผลกระทบต่อประชาชนในระยะสั้น, ความสามารถในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสู่พลังงานสะอาด และที่สำคัญที่สุดความกล้าหาญทางการเมืองของรัฐบาล

ประการที่สอง การซื้อขายคาร์บอนผ่านกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งในปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะในยุโรป สำหรับในประเทศไทยก็มีพัฒนาการในระดับที่น่าพอใจ แต่ยังต้องกระตุ้นให้เกิดสภาพคล่องมากกว่านี้ 

กฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับใหม่ ซึ่งกำลังจะออกมาบังคับใช้ในเร็ววันนี้ จะมีการกำหนดระดับการปล่อยคาร์บอนภาคบังคับของธุรกิจขนาดใหญ่ในบางสาขาอุตสาหกรรม และน่าจะช่วยให้ตลาดคาร์บอนของไทยมีความคึกคักมากขึ้นทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง รวมทั้งยกระดับคาร์บอนเครดิตของไทยให้เป็นมาตรฐานสากล 

ดังนั้น จึงเชื่อมั่นได้ว่าด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ ประเทศไทยน่าจะสามารถเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนในระดับภูมิภาคได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการกำหนดราคาคาร์บอนจะเป็นหัวใจของเส้นทางเดินสู่ Net Zero ก็ตาม แต่คงไม่เพียงพอที่จะยับยั้งความเสื่อมโทรมของสภาพภูมิอากาศได้ 

ฉะนั้น ประเทศไทย จำเป็นต้องระดมทรัพยากรและสรรพกำลังทุกภาคส่วนมาร่วมกันแก้ปัญหาที่เลวร้ายที่สุดของมนุษยชาติในวันนี้ และก็จำเป็นที่ต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนเป้าหมายเดิมที่ประกาศไว้ด้วย

‘เอแบค’ โพลชี้ ชาวเจน Z กว่า 73.2% ชอบการไหว้ขอพร เผย ทำแล้วสบายใจ-ได้ผลทันตาเห็น

(9 มี.ค.67) Business Tomorrow สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ทำการสำรวจ AU Poll เรื่อง 'เส้นทางสายมูของ GEN Z' จากนักศึกษาปริญญาตรีทั่วประเทศ จำนวน 950 คน โดยเก็บข้อมูลระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2023 พบว่า ชาวเจน Z ถึง 73.2% เป็นชาวสายมู หรือชื่นชอบการขอพรหรือเสริมดวง โดยพบอีกว่า 77.4 % ชอบดูดวง ลายมือ ไพ่ยิปซี 72.5 % ชอบการอธิษฐานขอพร และ69.6 % ชอบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามสถานที่ต่าง ๆ

การมูเตลูสำหรับคนรุ่นใหม่ถือเป็นสิ่งที่พบเห็นและเข้าถึงง่ายเพราะ 37.0% เห็นข้อมูลเกี่ยวกับการมูเตลูจากแหล่งต่าง ๆ อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งเห็นทางช่องทางโซเชียลมากที่สุดถึง 86.2%

ทั้งนี้ยังเป็นกิจกรรมสานสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อนได้ดี เพราะ ส่วนใหญ่ที่เข้าวงการมูเตลู 60.0 % เพราะเพื่อนพามู โดยเรื่องที่ชาวเจน Z จะขอพรนั้น เรื่องการเรียนมีมากถึง 73.7% รองลงมาคือ เรื่องการเงิน 60.7%

จำนวนเม็ดเงินรายหัวต่อครั้งอยู่ที่ 300-400 บาท โดยตลาดการมูเตลูของชาวเจน Z ส่วนใหญ่นั้น พบว่า 28.2% จะมูอย่างน้อยปีละครั้ง ในขณะที่ 20.7% มู 2-3 เดือนต่อครั้ง และ 16.4% ที่มูอย่างน้อยเดือนละครั้ง ทำให้ถือเป็นตลาดที่มีการเข้ามาใช้จ่ายได้ในทุก ๆ เดือน ทั้งนี้ เหตุผลที่ต้องมูนั้นคือ ความสบายใจที่ได้รับถึง 66.7% ในขณะที่ 20.1% ที่เห็นผลในทางบวก เช่น เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

‘โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ’ เดินหน้าช่วยสังคมไทยระลอกใหม่ มอบ 100 ล้านสานฝันเด็กไทย ผ่าน ‘Aerosoft Give Scholarships’

จากรายการ The Tomorrow มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 9 มี.ค.67 ได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ใจดีของสังคมไทย คุณโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกรรมการ บริษัท ซัมมิทฟุตแวร์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรองเท้าแบรนด์ แอโร่ซอฟ (Aerosoft) ซึ่งมาเผยถึงผลสำเร็จของโครงการสนับสนุนการศึกษาเด็กไทยทั่วประเทศ ภายใต้ชื่อโครงการ ‘Aerosoft Give Scholarships มอบทุน 100 ล้าน สานฝันให้เด็กไทย’ ซึ่งเป็นโครงการมอบทุนการศึกษาและอุปกรณ์กีฬาให้แก่ 1. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 2. ศึกษาพิเศษ 3. ศูนย์ศึกษาพิเศษ และ 4. ศึกษาสงเคราะห์ ทั่วประเทศ รวม 2,549 โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567

คุณโกมล เผยถึงรายละเอียดด้วยว่า ทุนที่มอบให้ในครั้งนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย มอบเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่เรียนดี / ความประพฤติดี ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3-5 โรงเรียนละ 6 ทุน ทุนละ 5,000 บาท (ระดับชั้นละ 2 คน ชาย 1 คน หญิง 1 คน) มอบทุนสนับสนุนตามวัตถุประสงค์ของโรงเรียน ทุนละ 5,000 บาท และมอบอุปกรณ์กีฬาให้แก่โรงเรียน โรงเรียนละ 5,571 บาท เป็นทุนที่มอบให้ในลักษณะให้ฟรี โดยไม่มีพันธะผูกมัดใด ๆ

“การมอบทุน 100 ล้านบาท จาก Aerosoft เพื่อสนับสนุนการเด็กไทยทั่วประเทศในครั้งนี้  มีแนวคิดมาจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ไม่ค่อยดีนัก แต่ผมมองเห็นว่าเด็กนักเรียนในชนบทจำนวนมาก เป็นเด็กที่เรียนดี เป็นเด็กที่เก่ง เพียงแต่พวกเขามักจะขาดแคลนทุนทรัพย์กันพอสมควร ผมจึงมองว่าเงินตรงนี้ สามารถปรับเปลี่ยนเป็นทุนการศึกษาที่จะช่วยให้พวกเขานำไปต่อยอดโอกาสในการเรียนและสร้างขวัญกำลังใจให้พวกเขาได้มากขึ้น พร้อมๆ ไปกับการมอบอุปกรณ์เครื่องกีฬาที่มีการแจกให้กับโรงเรียนต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาศักยภาพทางด้านร่างกายและห่างไกลจากยาเสพติด” คุณโกมล กล่าว

เมื่อถามถึงการขยายโครงการการมอบทุน ‘Aerosoft Give Scholarship’ เพิ่มเติมในอนาคต? คุณโกมล เผยว่า ขอประเมินผลจากการดำเนินงานในครั้งนี้ก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่ส่วนตัวมีแนวคิดว่าจะเพิ่มทุนให้กับนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์จริงๆ อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

“ความรู้เป็นสิ่งสำคัญ อยากฝากหลานๆ ทุกคนให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ขยันหมั่นเพียรในการศึกษา เพราะความรู้เท่านั้นที่จะนำพาเราสู่อนาคตที่ดีได้ ที่สำคัญอย่าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การพนันออนไลน์ ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งกล้าปฏิเสธไม่ทำในสิ่งที่ผิด แล้วนำความรู้จากการศึกษาเล่าเรียนไปพัฒนาตัวเอง เมื่อมีหน้าที่การงานที่ดีจะได้กลับมาตอบแทนพระคุณพ่อแม่ได้ในอนาคต” คุณโกมล เสริม

เมื่อถามถึงเหตุผลว่า ทำไม คุณโกมล และ Aerosoft ในช่วงระยะหลังจึงออกมาช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ ถี่ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าเป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโร 2020 (EURO 2020) ให้คนไทยได้ดูฟุตบอลยูโรฟรีๆ การบริจาคเงิน 100 ล้านบาท และอุปกรณ์ทางการแพทย์ สนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลศิริราช ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา และยังได้ดำเนินงานด้านงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าว เพื่อแก้ปัญหา พร้อมยกระดับวงการข้าวไทยครบวงจร ภายใต้มูลนิธิรวมใจพัฒนา เป็นต้น? คุณโกมล บอกว่า... 

“ผมแค่อยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม ผมไม่ได้หวังผลตอบแทนใดกลับคืนครับ แต่ผมตั้งใจอยากตอบแทนบุญคุณคืนแก่แผ่นดินของเรา ผมคิดแค่นั้น ฉะนั้นถ้ามีโครงการในรูปแบบใดที่จะช่วยเหลือสังคมและประเทศได้ ผมก็จะลงมือช่วยทันที อย่างในอนาคตอันใกล้นี้ก็มีการคิดจะสร้างโรงพยาบาล เนื่องจากปัจจุบันโรงพยาบาลในบ้านเรายังขาดแคลนอยู่มาก”

'สว.วีระศักดิ์' ยัน!! ทุกระบบ 'เศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง' ทั่วโลกรอดยาก หากวันหนึ่ง 'ระบบนิเวศธรรมชาติของโลก' ทวงคืน ไม่เอื้อให้มนุษย์ได้อยู่ต่อ

(9 มี.ค.67) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ออกบทความในหัวข้อ ‘ระบบนิเวศในธรรมชาติของโลก กับเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ (ตอนที่ 2) มีเนื้อหา ระบุว่า...

Climate Change มีผลต่อชีววิทยาทางธรรมชาติอีกมาก อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสัตว์และพืชอีกมากมายหลายชนิด

แต่ผมขอแยกประเด็นนี้ออกไปก่อน เพราะซับซ้อนมากเกินกว่าจะอธิบายเพิ่มในพื้นที่จำกัดนี้

แต่ขอโฟกัสมาสู่การบันทึกว่าบัดนี้เราค้นพบว่าโลกที่ร้อนขึ้นนำเราไปสู่อะไรแล้วบ้าง

อย่างแรก การละลายของน้ำแข็งทั้งโลกเกิดขึ้นรวดเร็ว ดังนั้นน้ำจากที่สูงจะไหลลงไปรวมที่มหาสมุทร

ระดับน้ำทะเลจะท่วมชายฝั่งขึ้นมาเรื่อยๆ

และมนุษย์ฝังรากทางอารยธรรมอยู่ชายฝั่งเป็นส่วนมาก เมืองท่าค้าขาย เมืองเพื่อการผลิต เมืองการอยู่อาศัย เมืองเพื่อการท่องเที่ยว ล้วนมีระดับสูงจากทะเลปานกลางน้อยมากๆ

ส่วนเมืองเกษตรกรรมที่มักอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน มักอยู่ได้ด้วยลำน้ำจืดไหลผ่าน ซึ่งมีลำน้ำสาขาแผ่กระจาย จึงเป็นชลประทานธรรมชาติที่ทำให้มีนามีสวน

น้ำทะเลที่เพิ่ม อาจไม่ท่วมเหนือแผ่นดินลึกเข้าไปมากก็จริง แต่ก้นของแม่น้ำนั้นมักอยู่ในระดับสูงกว่าระดับทะเลปานกลางน้อยยิ่งกว่าเมืองชายฝั่งเสียอีก

แถมหลายสายจะต่ำกว่าทะเลปานกลางด้วย

ดังนั้น นิเวศน้ำจืดจำนวนมากจะถูกรุกล้ำด้วยน้ำเค็มเข้าลึกไปในแผ่นดิน เมืองไทยน้ำเค็มมีแนวโน้มจะบุกลึกใต้แม่น้ำไปถึงอ่างทอง นี่คือสิ่งที่อธิบดีกรมชลประทานเคยคาดการณ์ไว้

ยิ่งเมื่อมีภาวะภัยแล้ง หรือเมื่อน้ำแข็งยอดเขาละลายจนหมด ลำน้ำจืดจะไม่เหลือพลังดันน้ำเค็มอย่างที่เคยทำได้ตลอดปี ในหน้าแล้งเขื่อนและฝายจะกักเก็บน้ำไว้

น้ำจืดไหลลงร่องน้ำมาน้อยลง แปลว่าน้ำทะเลจะเอ่อเข้าลำน้ำในแผ่นดินไปทำลายนิเวศน้ำจืดของการเพาะปลูกจำนวนมากได้อย่างเงียบๆ

เพราะชาวบ้านสูบน้ำมาเข้าสวนเข้านาปกติไม่มีใครสำรวจหรือชิมว่าน้ำมันเค็มหรือยัง

จะรู้อีกทีก็ใบเหลืองเค็มจนเฉาแล้วทั้งสวน

ความมั่นคงทางอาหารจะถูกสั่นคลอนอย่างร้ายแรง

น้ำแข็งที่ว่าละลายนั้น ก็ให้ปรากฏการณ์ใหม่แก่มนุษย์อีก เพราะเมื่อน้ำแข็งหนาหลายกิโลเมตรของกรีนแลนด์และที่ขั้วโลกใต้ละลาย มันได้กลายเป็นทะเลสาบทีละหย่อมเรียงรายไปสุดลูกตา

ทะเลสาบเหล่านั้นค่อยๆ กัดกร่อนน้ำแข็งต่อเพื่อหย่อนให้น้ำเหลวๆ ใสๆ สามารถลงสู่ที่ต่ำตามแรงโน้มถ่วงได้

เกิดสภาพคล้ายสว่านหมุนเกลียวเจาะลงสู่เบื้องล่าง แล้วทำให้กลายเป็นโพรงรูพรุนคล้ายชีส เยอะไปหมด เมื่อน้ำไหลได้ มวลของมันจะส่งพลังการกระแทกเบียดกับผนังน้ำแข็งภายในโพรงราวน้ำตกกระแทกก้อนหิน ซึ่งย่อมเปราะบางกว่าหินมาก

การกร่อนของภูเขาน้ำแข็งจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นถ้ำน้ำลอดเต็มไปหมด

รูโพรงเหล่านี้ทำให้อากาศไหลเข้าไปด้านในและนำความอุ่นไปรบกวนน้ำแข็งในระดับโครงสร้างเพิ่มเข้าไปอีก

มนุษย์จึงตกใจว่าธารน้ำแข็งและแผ่นทวีปแอนตาร์กติกาและน้ำแข็งกรีนแลนด์กำลังแตกตัวออกตามที่ต่างๆ ในอัตราที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ไม่ใช่มันละลาย แต่เพราะโครงสร้างถูกลมอุ่นมุดเข้าไปเจาะภายในราวกับรังปลวกบุกกินไม้อย่างตะกละตะกลาม

ในขณะเดียวกัน น้ำแข็งที่ละลายที่เกาะกรีนแลนด์ ได้ปล่อยน้ำจืดมหาศาลลงทะเลแอตแลนติกตอนบน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของระบบเครื่องปรับอากาศของโลก ที่เคยเป็นจุดตั้งต้นของสายพานใต้ทะเลส่งความเยือกเย็นจากขั้วโลกให้ถูกน้ำทะเลพาไปไหลเวียนในทุกมหาสมุทรฟรีๆมานับล้านปี

ทำให้ตะกอนแร่ธาตุผงธุลีใต้ทะเลที่รับมาจากแม่น้ำบนฝั่งสามารถเดินทางไปไหลเวียนทั่วท้องมหาสมุทร เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่สารพัดชีวิตใต้ผืนมหาสมุทร

เมื่อการแปลงสภาพน้ำทะเลจากของเหลวไปเป็นน้ำแข็ง เกิดขึ้นมากที่สุดที่ข้างเกาะกรีนแลนด์ เพราะที่นี่ทะเลกว้างและลึกมาก

ต่างจากจุดเชื่อมของทะเลแปซิฟิกกับขั้วโลกเหนือที่ทั้งแคบและตื้น เฉลี่ยความลึกของแปซิฟิกตอนบนนั้น ตื้นกว่าอ่าวไทยเสียอีก เพราะที่นั่นลึกเพียง50 เมตร ในขณะที่อ่าวไทยลึกเฉลี่ย68เมตร

แต่ที่ข้างเกาะกรีนแลนด์นั้น ทะเลลึกหลายๆพันเมตร

ในการกลายสภาพจากน้ำไปสู่การเป็นน้ำแข็ง กฎทางธรรมชาติของฟิสิกส์จะทำให้โมเลกุลน้ำเท่านั้นที่กลายเป็นน้ำแข็ง

ดังนั้นน้ำแข็งธรรมชาติทั้งมวลจึงจืด เพราะที่ข้างเกาะกรีนแลนด์นั่นเองที่น้ำปริมาณมหาศาลกำลังกลายเป็นน้ำแข็ง ทั้งวันทั้งคืนมันจึงเกิดน้ำตกใต้ทะเลของผงตะกอนแร่ธาตุโดยเฉพาะเกลือที่ร่วงลงมา แล้วถูกแรงโน้มถ่วงโลกดึงมันจมลงสู่ก้นทะเลอันลึกล้ำ

แรงจมของเกลือปริมาณมหาศาลทุกวินาทีตลอดวันตลอดคืนนี้เองที่กลายเป็นแม่ปั้มธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่ดันส่งกระแสน้ำใต้สมุทรจากจุดนี้ให้ไหลดันตามกันไปจนเมื่อเเรงกดส่งตะกอนไปถึงก้นทะเลแล้วยังดันกันต่อไปจนเดินทางลงใต้ไปกระทบกับแผ่นดินของขั้วโลกใต้ ซึ่งก็เย็นจัดเช่นกัน แล้วจึงไหลเข้าสู่ก้นมหาสมุทรอินเดีย และแปซิฟิก นำพาความเย็นจากสองขั้วโลกเข้าสู่ใต้สมุทรทั้งหลาย

จากนั้นน้ำทะเลที่ไหลนี้จึงเริ่มมีน้ำหนักเบาขึ้น และค่อยๆสะสมการรับแดดในเขตศูนย์สูตรแล้วเดินทางต่อจนกลับมายังแอตแลนติกข้างเกาะกรีนแลนด์เหมือนเดิม

หนึ่งรอบวงจรนี้ ใช้เวลาราวพันปี

วงจรนี้เรียกว่า The Great Conveyor Belt ของโลกที่ส่งความเยือกเย็นจากสองขั้วโลกให้ไหลไปถึงใต้ชายฝั่งทะเลทั้งหลาย

ภูมิอากาศของโลกจึงถูกระบบนี้กำกับให้มาโดยตลอด

แต่เพราะน้ำจืดที่ละลายลงมาที่กรีนแลนด์ ทำให้ม่านความเค็มใต้ทะเลที่จุดเริ่มต้นการเดินทาง เจือจางลงมาก

ทำให้สารละลายขาดน้ำหนักเพียงพอที่จะจมลงในอัตราที่เคยเป็น 

แรงดันใต้มหาสมุทรให้เป็นกระแสธารของความเยือกเย็นจึงอ่อนลงเรื่อยๆ รายงานจากงานวิจัยชี้ว่าอ่อนลงกว่า 15% และยังคงอ่อนลงเรื่อยๆ

ระบบปรับอุณหภูมิของใต้สมุทรจึงกำลังค่อยๆ พังทลายลง และพลังการส่งสารอาหารให้เดินทางไปทั่วผืนสมุทรจึงกำลังหมดลงด้วย

อากาศเหนือชายฝั่งจึงต้องถูกกระทบ

หมู่ปลาและสัตว์ทะเลจะปั่นป่วนเพราะธาตุอาหารที่เคยไหลผ่านจางลงจนอาจหายไป

แล้วมนุษย์ซึ่งพึ่งพาทั้งเกษตรบนแผ่นดินและโปรตีนจากทะเลจะทำอย่างไร?

ทั้งหมดนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่มนุษย์ต้องคลี่คลายให้ได้ก่อนที่จะถึงวันที่หลายระบบจะล่มลงหรืออ่อนลงจนธรรมชาติเอื้อมส่งวงจรทางนิเวศกันไม่ถึง

ปี 2030 เป็นเสมือน Tipping Points ชุดแรกที่บอกเราได้ ว่าลูกบอลที่ชื่อนิเวศของโลกใบนี้จะตกบันไดที่น่าจะกู่ไม่กลับแล้ว

และถ้ายังปล่อยไปหรือเบรกไว้ไม่แรงพอ

ปี 2050 คือชุดบันไดยาวๆ ที่ลูกบอลแห่งระบบนิเวศนี้จะร่วงหล่นกลิ้งเป็นลูกขนุนตกเขา แม้มีเงินมีเศรษฐกิจชนิดไหน ณ ที่ใดของโลก ทุกระบบก็จะกระเด็นกระดอนจนพังพินาศทั้งหมด

There is no healthy business on a collapsing planet.

โลกใบนี้มีมานานก่อนมนุษย์คนแรกกลุ่มแรกจะปรากฏตัวขึ้น

และโลกใบนี้จะอยู่ได้สบายด้วย แม้ไม่มีมนุษย์อยู่อาศัยหลังจากนั้นแล้ว

แต่มนุษย์ต่างหากที่จะสาบสูญ ถ้าระบบธรรมชาติของโลกถูกรบกวนมากเกินไป

บทความนี้ถูกเขียนเรียบเรียงขึ้นเพื่อยืนยันว่า...

ทุกระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม และระบบการเมืองใดๆ ก็ไม่อาจอยู่ได้

ถ้าระบบนิเวศธรรมชาติของโลก เอาคืนหรือไม่เอื้อให้ระบบมนุษย์อยู่กันได้อีกต่อไป

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกความพยายามที่จะรื้อฟื้น คืนทุนให้ระบบธรรมชาติ ผ่านกลไกเศรษฐกิจสีเขียว การค้าสีเขียว การลงทุนสีเขียว และสังคมที่ระดมให้ทุกชีวิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top