Wednesday, 4 December 2024
ECONBIZ

‘เอกนัฏ’ นำทีม ‘ดีพร้อม’ จับคู่พันธมิตร ‘จังหวัดโทคุชิมะ’ ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยุคใหม่หนุน ศก.ไทย – ญี่ปุ่น โตยั่งยืน

เมื่อวันที่ (31 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในงานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วย นายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายโกโตดะ มาซาซูมิ ผู้ว่าราชการจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น นายวัชรุน จุ้ยจำลอง นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้อง Ballroom 1 ชั้น 5 โรงแรม S31 กรุงเทพฯ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งขับเคลื่อนนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” มุ่งเซฟผู้ประกอบการไทยให้อยู่รอด และแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม พร้อมสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก ผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ผลักดันอุตสาหกรรมยุคใหม่ อีกทั้ง ยังได้จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างภาคอุตสาหกรรมไทย–ญี่ปุ่น เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทยให้เติบโตได้ในตลาดสากล ผ่านการต่อยอดธุรกิจ และสร้างเครือข่ายและพันธมิตรทางการค้า คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,000 ล้านบาท 

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบายในการ “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SME ไทย สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย “Save อุตสาหกรรมไทย” เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งหาช่องทางขยายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเติบโตต่อไปได้ในตลาดสากลอย่างมั่นคง เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจโลก

‘สุชาติ’ หารือ ‘รมช. การค้าตุรกี’ ผลักดันเจรจา FTA ต่อ สานสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนไทย-ตุรกี

(5 พ.ย. 67) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้พบหารือทวิภาคีกับนายมุสตาฟา ตุซคู (H.E. Mr. Mustafa Tuzcu) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าสาธารณรัฐตุรกี ในห้วงการเดินทางเยือนตุรกี เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการถาวรว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า (COMCEC) ครั้งที่ 40 ภายใต้องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ระหว่างวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2567 ณ นครอิสตันบูล 

นายสุชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สองฝ่ายได้หารือถึงแนวทางที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะการกลับเข้าสู่การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ตุรกี ซึ่งได้หยุดชะงักลงตั้งแต่ปี 2565 หลังจากการเจรจาร่วมกันมา 7 รอบโดยขอให้คณะเจรจาสองฝ่ายกลับเข้าสู่การเจรจา FTA ระหว่างกันโดยเร็ว โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่ายนอกจากนั้น ฝ่ายตุรกียังได้แสดงความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือ Joint Trade Committee (JTC) ระดับรัฐมนตรี ณ กรุงอังการา ซึ่งเป็นกลไกการหารือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับตุรกี ที่สองฝ่ายได้จัดตั้งไว้แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีการประชุมระหว่างกัน 

“ผมแจ้งฝ่ายตุรกีว่าไทยพร้อมเข้าร่วมประชุม JTC ไทย-ตุรกี ครั้งที่ 1 เพื่อจะได้หารือถึงแนวทางกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ผมได้เชิญชวนฝ่ายตุรกีให้เข้ามาลงทุนในไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ EEC ขณะเดียวกัน ฝ่ายตุรกีก็เชิญชวนไทยเข้าไปลงทุนในตุรกี ซึ่งผมได้แจ้งว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ และผมจะส่งเสริมให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในตุรกีต่อไป  ส่วนการเจรจา FTA ที่ค้างอยู่ ผมขอให้ทีมเจรจาสองฝ่ายพูดคุยกันต่อ เพื่อผลักดันให้การเจรจาเดินหน้าต่อไป ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันของทั้งสองประเทศ“ นายสุชาติกล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 33 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 4 ในตะวันออกกลาง ในระยะ 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2567 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 1,221 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง และเส้นใยประดิษฐ์ และสินค้านำเข้า ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องประดับอัญมณี น้ำมันดิบ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป

เทศกาลช้อปปิ้ง THE MERRY VILLE JOLLY MARKET กลับมาอีกครั้ง! พร้อมเปิดพื้นที่ให้พ่อค้าร่วมออกบูธต้อนรับนักช้อปช่วงปลายปี

(5 พ.ย. 67) ฤดูกาลแห่งการช้อปปิ้งเริ่มขึ้นแล้ว! เตรียมพบกับเทศกาลปลายปีสุดอลังการที่จะเนรมิตบรรยากาศความสุขตลอดเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองที่ Central World (Sq.C) งานที่ทุกสายช้อปและสายขายต้องไม่พลาด! THE MERRY VILLE JOLLY MARKET เปิดให้จองพื้นที่บูธครบทั้ง 4 EP ให้คุณได้มาร่วมสร้างความทรงจำพิเศษไปด้วยกัน!
📅 กำหนดการเปิดบูธ:
• EP.1: วันที่ 5-19 พฤศจิกายน (15 วัน)
• EP.2: วันที่ 20 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม (14 วัน)
• EP.3: วันที่ 4-17 ธันวาคม (14 วัน)
• EP.4: วันที่ 18 ธันวาคม - 5 มกราคม (19 วัน)

ภายในงานนอกจากจะได้สัมผัสบรรยากาศการช้อปปิ้งช่วงปลายปีแล้ว บริเวณโดยรอบยังตระการตาไปด้วยแสงไฟระยิบระยับ ต้นคริสต์มาสยักษ์สุดอลังการ และงาน Countdown สุดมันส์ที่ทุกคนรอคอย! รวมร้านเด็ดร้านดังที่จะทำให้พ่อค้าแม่ค้ามียอดขายปังๆ และลูกค้าช้อปได้อย่างเพลิดเพลินที่สุด!

อย่ารอช้า! รีบจับจองพื้นที่เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาสุดพิเศษนี้ไปพร้อมๆ กัน มาเปลี่ยนทุกก้าวเดินใน Central World ให้เป็นความทรงจำที่ไม่เหมือนใครในช่วงเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปี

📲 ติดต่อจองพื้นที่:
• LINE: @fyimarket (มี @)
• โทร 098-983-8995
• โทร 065-957-4514

อย่าพลาด! มาร่วมเปิดโอกาสเปิดบูธขายอาหาร เครื่องดื่ม และขนม ต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักช้อปปลายปีไปด้วยกัน งานดีๆ แบบนี้มีเพียงปีละครั้งเท่านั้น!

ททท. ผุด E – Guidebook กระตุ้นคน Gen S ท่องเที่ยวด้วยรถไฟ ประเดิมเส้นทางฮิต ‘กรุงเทพฯ – เพชรบุรี – หัวหิน – ประจวบฯ’

(5 พ.ย. 67) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดตัว E-Guide Book #MyRailJourney ส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถไฟ เชิญชวนนักท่องเที่ยวออกแบบประสบการณ์เดินทางเองเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเดินทางท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประเดิมด้วยแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในเส้นทาง กรุงเทพมหานคร – เพชรบุรี และ หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมจับมือกับ เคทีซี  รวมถึงพันธมิตรระดับโลกอย่าง Netflix และ Airbnb ร่วมปักธงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่งมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวที่มีความหมาย เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว GenS ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ณ เคทีซี ทัช กรุงเทพมหานคร 

นางสาวเอิบลาภ ศรีภิรมย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าการท่องเที่ยว ททท. กล่าวว่า ททท. ให้ความสำคัญต่อการนำเสนอประสบการณ์เดินทางที่มีคุณค่าและมุ่งเป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในทุกมิติ โดยเล็งเห็นว่า การเดินทางด้วยรถไฟนั้นเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพราะมีการปล่อยคาร์บอนน้อยกว่ารถยนต์หรือเครื่องบิน อีกทั้งการเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถไฟนั้นอยู่คู่กับนักเดินทางชาวไทยมายาวนานกว่า 120 ปีถือเป็นการสร้างประสบการณ์ที่สนุกและมีเสน่ห์เฉพาะตัว จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรจัดทำ E- Guidebook #MyRailJourney เส้นทางเพชรบุรีและหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ ขึ้น เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถไฟ เปิดมุมมองใหม่ในการเดินทางที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม 

เจาะกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยว GenS (Generation Sustainability) นักท่องเที่ยวหัวใจยั่งยืนที่พร้อมใส่ใจสิ่งแวดล้อมไม่จำกัดช่วงวัย โดยมี E- Guidebook เป็นเสมือนไกด์นำเที่ยวคนสำคัญในการออกเดินทาง ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถออกแบบประสบการณ์ท่องเที่ยวที่มีความหมายด้วยตัวเอง นับตั้งแต่การเลือกตารางเวลารถ การคำนวณระยะเวลาในการเดินทาง การเลือกขบวนรถ การเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อทำกิจกรรมที่ชื่นชอบในระหว่างนั่งรถไฟ รวมทั้งวางแผนการท่องเที่ยวในจุดหมายปลายทางจนกระทั่งเดินทางกลับ ทั้งนี้ ททท.จึงอยากเชิญชวนให้ทุกท่านมาสัมผัสการเดินทางแบบ Slow Travel ที่งดงามและยั่งยืน เพื่อร่วมกันสร้างเทรนด์ใหม่เป็นทางเลือกให้การท่องเที่ยวของไทยไปพร้อมกัน 

ด้าน Mr. Ruben Hattari, Public Policy Director for Netflix in Southeast Asia กล่าวว่า Netflix ในฐานะผู้มอบความบันเทิงระดับโลก มีความยินดีที่จะแนะนำภาพยนตร์ ซีรี่ส์ และสารคดี ที่มีเนื้อหาส่งเสริมประสบการณ์การเดินทางที่ลึกซึ้งเพื่อให้นักเดินทางได้ชมระหว่างนั่งรถไฟ ซึ่งได้แนะนำไว้ใน E - Guidebook ฉบับนี้ และยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ชม Netflix เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และหวังว่าคอนเทนต์ต่างๆ ที่คัดสรรมานำเสนอจะกระตุ้นความสนใจให้มีการออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย

ขณะที่ Ms. Mich Goh, Director of Public Policy for Asia Pacific at Airbnb กล่าวว่า นอกเหนือจากการเปิดบ้านและที่พักแล้ว Airbnb ให้ความสำคัญต่อการเป็น Host ที่ส่งมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวที่เข้าถึงความเป็นท้องถิ่น โดยเล็งเห็นว่าการเดินทางท่องเที่ยวโดยรถไฟนั้นจะนำพานักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ เข้าสู่พื้นที่ได้อย่างทั่วถึง Airbnb จึงมุ่งมั่นที่จะสร้างประสบการณ์ที่มีความหมายให้กับนักเดินทางที่เลือกใช้บริการ Host  และ Airbnb จะเป็นช่องทางสำคัญในการประชาสัมพันธ์ E-Guidebook รวมทั้งช่วยให้ข้อมูลและเรื่องราวในพื้นที่ และเป็นทูตวัฒนธรรมที่ช่วยแนะนำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยว สำรวจมรดกท้องถิ่น อาหารพื้นเมือง และสถานที่ที่พิเศษต่างๆ ในเมือง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อชุมชนท้องถิ่นโดยรอบ

นางสาวพัทธ์ธีรา อนันต์โชติพัชร ผู้บริหาร KTC World Travel Service และการตลาดหมวด
สายการบิน “เคทีซี” กล่าวว่า เคทีซีคำนึงถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และพร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์กรีนโปรดักส์ด้านการเดินทางท่องเที่ยวผ่านช่องทางเคทีซี เวิลด์ ทราเวล เซอร์วิส อาทิ บัตรรถไฟ บัตรรถราง รถเช่าไฟฟ้า (EV) และแพ็กเกจท่องเที่ยวชุมชน สำหรับ

การเดินทางท่องเที่ยวโดยรถไฟนั้น เชื่อมั่นว่านักเดินทางจะได้รับประสบการณ์พิเศษที่ไม่เหมือนใคร ทั้งประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่น ธรรมชาติและชุมชน รับคะแนนเพิ่ม 1,000 KTC FOREVER เมื่อจองตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป ขณะเดียวกันเคทีซีพร้อมสร้างความตระหนักรู้ให้กับนักท่องเที่ยวผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของเคทีซีเพื่อแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวชุมชน ร้านอาหารท้องถิ่น ร้านขายของฝาก ที่พักชุมชนให้สมาชิกได้เข้าถึงข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวได้สะดวกมากขึ้น

นอกจากนี้ ในการจัดกิจกรรมเปิดตัว E -Guidebook #MyRailJourney ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับฟังแนวทางการพัฒนาโครงข่ายและการให้บริการของการรถไฟแห่งประเทศไทยโดย นางศุภมาศ ปลื้มกุศล หัวหน้ากองโฆษณาและส่งเสริมการท่องเที่ยว รฟท. พร้อมทั้งชมความงดงามเสน่ห์ของการเดินทางด้วยรถไฟผ่านนิทรรศการภาพถ่ายในหัวข้อ “ชีวิตที่สวยงาม” และ “การเฉลิมฉลองช่วงเวลาที่น่าจดจำ”ถ่ายภาพโดย ชาตรี สลีวงศ์ ช่างภาพสารคดีชื่อดัง ซึ่งถ่ายทอดจิตวิญญาณของการเดินทางด้วยรถไฟ ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวของผู้คน ทิวทัศน์ และความอมตะของการเดินทาง ความมหัศจรรย์ในการชะลอจังหวะชีวิตและสัมผัสประสบการณ์ผ่านหน้าต่างรถไฟ  และ กฤษฎากร สุขมูล ช่างภาพผู้เชี่ยวชาญด้านภาพถ่ายอาหาร และนำเสนอความงดงามของรถไฟไทยไม่ใช่แค่ปลายทาง แต่เป็นการเดินทางที่เติมเต็มด้วยวัฒนธรรม ธรรมชาติ และการเชื่อมต่อของผู้คนในแต่ละจุดที่รถไฟหยุด นอกจากนี้ ผู้ร่วมงานจะได้สัมผัสประสบการณ์เดินทางจากอาหาร รังสรรค์โดย เชฟเบลล์ พิมพ์ทิพย์ เป้าศิลา เชฟชื่อดังจากรายการ Master Chef Thailand นำเสนอแนวคิดการเดินทางด้วยรถไฟคือการซึมซับทุกช่วงเวลา เหมือนกับการเพลิดเพลินกับอาหารจานพิเศษที่เชื่อมโยงกับการเดินทางได้อย่างลึกซึ้ง

ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลด E-Guide Book #MyRailJourney เพื่อเป็นข้อมูลแนะนำประสบการณ์เดินทางท่องเที่ยวด้วยรถไฟได้แล้วที่ https://tourismproduct.tourismthailand.org/2024/10/23/rail-journey/  หรือสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 1672 Travel Buddy

ผลโพลชี้ชัด!! ‘พีระพันธุ์’ คะแนนนิยมพุ่งอย่างต่อเนื่อง หลังดันนโยบาย ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ พลังงานไทยเป็นรูปธรรม

จากผลสำรวจความคิดเห็นสวนดุสิตโพล ‘ดัชนีการเมืองไทย เดือนตุลาคม 2567’ ซึ่งสะท้อนถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอุทกภัย ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ รวมไปถึงอุบัติเหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้ ซึ่งทางรัฐบาล ได้เร่งทำงานและแก้ปัญหาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างรวดเร็ว 

ในขณะที่รัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ที่มีความโดดเด่นในสายตาประชาชน พบว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังมาเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อันดับ 2 และ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 3

แต่เป็นที่น่าสนใจว่า นายพีระพันธุ์ มีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งมีคะแนนอยู่ที่ 18.36% ขึ้นมาเป็น 20.79% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประชาชนให้การยอมรับและเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานของนายพีระพันธุ์ ที่ได้เดินหน้าปฏิรูปพลังงานของประเทศไทยทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม ตามแนว ตามแนวทาง 'รื้อ ลด ปลด สร้าง'

โดยตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายพีระพันธุ์ ได้เสนอให้มีการตรึงราคาพลังงานก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า เพื่อลดค่าครองชีพช่วยเหลือพี่น้องประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการร่างกฎหมายเพื่อวางกรอบในการปฏิรูปโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาและวางกรอบป้องกันสถานการณ์วิกฤตพลังงานในอนาคต โดยก่อนหน้านี้ ได้ออกประกาศให้ผู้ค้าน้ำมัน ต้องแจ้งต้นทุนนำเข้าส่งออกราคาน้ำมันให้ภาครัฐ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี เพื่อนำไปกำหนดราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

นอกจากนี้ ยังมีร่างกฎหมายเตรียมเข้าสู่สภาฯ อีกหลายฉบับ อาทิ กฎหมายด้านพลังงานฉบับใหม่ ซึ่งจะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ไม่ใช่การอ้างอิงราคาในต่างประเทศ จะทำให้ราคาพลังงานถูกลง ทั้งน้ำมันและก๊าซหุงต้ม โดยกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันสามารถปรับเปลี่ยนราคาได้เพียงเดือนละครั้งเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการตรวจรายละเอียดจากผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านกฎหมายและพลังงาน และคาดว่าการตรวจสอบร่างกฎหมายจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ได้ภายในปีนี้ พร้อม ๆ กับกฎหมายกำกับดูแลการติดตั้งระบบไฟฟ้าโซลาร์ (Solar Rooftop) เพื่อผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใช้งานภายในบ้าน ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้ง และจะช่วยให้ประชาชนไม่ต้องกังวลกับค่าไฟแพงอีกต่อไป

รวมถึง ร่างกฎหมายจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันแห่งชาติ หรือ Strategic Petroleum Reserve (SPR) ที่จะมาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมทั้งสร้างเสถียรภาพด้านราคาน้ำมัน รวมไปถึงก๊าซธรรมชาติด้วย โดยต่อไปการกำหนดราคาน้ำมันในประเทศจะเป็นเรื่องของภาครัฐกับผู้ประกอบกิจการค้าน้ำมัน ไม่ต้องผันผวนรายวันตามราคาขึ้นลงของตลาดโลก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจพิจารณาและคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในปี 2567 นี้เช่นกัน 

แน่นอนว่า ความนิยมในตัวนายพีระพันธุ์ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นบทพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนถึงการยอมรับในผลงานและความมุ่งมั่นทุ่มเททำงานอย่างหนัก และที่สำคัญไม่มีความหวั่นเกรงต่อกลุ่มทุนพลังงาน ซึ่งถือเป็นกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยแต่อย่างใด ขอเพียงนโยบายและโครงการที่จะทำนั้นเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ รวมถึงการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เพื่อความเป็นธรรมและมั่นคงอย่างยั่งยืนเท่านั้น

เกียรติยศแห่งความสำเร็จ! PTT คว้า 2 รางวัลใหญ่ในงาน SET Awards 2024 ตอกย้ำความมุ่งมั่นสู่อนาคตที่ยั่งยืน และก้าวล้ำไปอีกขั้นของนวัตกรรม

(4 พ.ย. 67) รางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จด้านความยั่งยืน (Sustainability Awards of Honor)
4 ปีต่อเนื่อง (ปี 2021 – 2024)

รางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จด้านนวัตกรรม (SET Awards of Honor)
-ปี 2021 จากผลงานการพัฒนานวัตกรรม วัสดุปิดแผลไบโอเซลลูโลสคอมพอสิต Innaqua
-ปี 2022 จากผลงานนวัตกรรม PTT EV Charger and Charging Platform 
-ปี 2023 จากผลงานตัวเร่งปฏิกิริยา PTT SCR
-ปี 2023 จากผลงานนวัตกรรม เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนไมโครสเกล หรือ PTT MicroHX

CLICK ON CLEAR
สำหรับรางวัล SET Awards จัดขึ้นโดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อยกย่องบริษัทจดทะเบียนที่มีความโดดเด่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในภาพรวมโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ถือเป็นอีกหนึ่งรางวัลอันทรงเกียรติของตลาดทุนไทย

หากประธานกรรมการ หรือกรรมการแบงก์ชาติ ใช้อำนาจที่มีตอบสนองผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง จะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และอาจเกิดความเสียหายที่ไม่สามารถแก้ไข หรือย้อนกลับได้

(4 พ.ย. 67) ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงการแต่งตั้ง “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ ว่า

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของแบงก์ชาติ แต่เป็นเรื่องอนาคตของชาติ

รัฐบาลจะอยู่ได้นานแค่ไหน ไม่มีใครทราบ แต่ถ้าคนการเมืองได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการ หรือกรรมการแบงก์ชาติแล้วจะอยู่ได้ครบเทอม

หากประธานกรรมการ หรือกรรมการแบงก์ชาติ ใช้อำนาจที่มีตอบสนองผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง จะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และอาจเกิดความเสียหายที่ไม่สามารถแก้ไข หรือย้อนกลับได้

นักลงทุนต่างชาติ เชื่อมั่น!! ประเทศไทย ลงทุนกว่า 1.3 แสนล้านบาท ชี้!! มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี วัตถุดิบที่เพียงพอ กระตุ้นให้เกิดการลงทุน

(3 พ.ย. 67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงตัวเลขนักลงทุนต่างชาติที่สนใจมาลงทุนในประเทศไทย ว่า ตัวเลขเพิ่มขึ้น แสดงถึงศักยภาพของไทยที่ได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน โดยพบว่าตั้งแต่เดือน มกราคม-กันยายน ที่อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 636 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 143 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 493 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 134,805 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานคนไทยจากนักลงทุนที่ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 2,505 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 143 ราย คิดเป็นร้อยละ 29 มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 50,792 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60

นายจิรายุ กล่าวว่า ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก 1.ญี่ปุ่น 157 ราย (25%) เงินลงทุน 74,091 ล้านบาท 2.สิงคโปร์ 96 ราย (15%) ลงทุน 12,222 ล้านบาท 3.จีน 89 ราย (14%) ลงทุน 11,981 ล้านบาท 4.สหรัฐอเมริกา 86 ราย (13%) ลงทุน 4,147 ล้านบาท และ 5.ฮ่องกง 46 ราย (7%) ลงทุน 14,116 ล้านบาท โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน

สำหรับการลงทุนในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)ของนักลงทุนต่างชาติช่วง 9 เดือน ปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติลงทุน 207 ราย (33% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 108 ราย (109%) มูลค่าการลงทุน 39,830 ล้านบาท (30% ของเงินลงทุนทั้งหมด) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 23,690 ล้านบาท (147%) โดยเป็นนักลงทุนจาก ญี่ปุ่น 67 ราย เงินลงทุน 13,191 ล้านบาท จีน 54 ราย ลงทุน 7,227 ล้านบาท ฮ่องกง 18 ราย ลงทุน 5,219 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ 68 ราย ลงทุน 14,192 ล้านบาท

ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศคือ ธุรกิจ แพลตฟอร์ม และ ซอฟต์แวร์ ที่ช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยมีสัดส่วนการลงทุนมูลค่า 28,397.26 ล้านบาท คิดเป็น 7.27% (กลุ่มแพลตฟอร์ม 11,721.44 ล้านบาท กลุ่มซอฟต์แวร์ 16,675.82 ล้านบาท) โดยต่างชาติที่มาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ สิงคโปร์ ลงทุน 9,814.28 ล้านบาท ไต้หวัน 5,953.63 ล้านบาท และ มาเลเซีย 2,237.63 ล้านบาท

นายจิรายุ กล่าวว่า ตัวเลขการลงทุนดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนชาวต่างชาติให้ความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ควรแก่การมาลงทุน เป้าหมายของรัฐบาล คือการหาตลาดการลงทุนใหม่ รักษาตลาดเก่า ขยายการลงทุนให้เป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีสิทธิประโยชน์ที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานที่ดี วัตถุดิบที่เพียงพอ และมีอุตสาหกรรมที่พร้อมสนับสนุนแผนการลงทุน ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนมั่นใจในศักยภาพของประเทศไทย

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ผวา!! หายนะประเทศไทย ห่วงใยบ้านเมือง แห่ลงชื่อ!! ต้านฝ่ายการเมือง หวั่น ‘กิตติรัตน์’ เข้ายึดแบงก์ชาติ

(2 พ.ย. 67) จากกรณีที่ในวันจันทร์ที่ 4 พ.ย. นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือประธานบอร์ดธปท. และได้มีการเคลื่อนไหวของ227 นักวิชาการ และกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ที่ออกแถลงการณ์ เรื่อง ห่วงใยธนาคารแห่งประเทศไทย ถูกแทรกแซงจากกลุ่มการเมือง เพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น ทําลายเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของประเทศในระยะยาว ที่แสดงความเป็นห่วงหากการเมืองเข้าครอบงำธปท.ผ่านบอร์ดธปท. หลังมีกระแสข่าวว่า คณะกรรมการสรรหาฯ อาจเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯและอดีตรมว.คลัง ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและอดีตประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี(เศรษฐา ทวีสิน) เป็นประธานบอร์ดธปท.คนใหม่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อดังกล่าวด้วยกับกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม กล่าวว่า เหตุที่ร่วมลงชื่อ เพราะทราบดีว่า หากธนาคารกลาง ซึ่งเป็นองค์กรที่ต้องเป็นอิสระ ถูกฝ่ายการเมืองกินรวบจะเป็นหายนะของประเทศ และในฐานะที่เป็นอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และเป็นคนไทยคนหนึ่งที่รู้ผิดรู้ถูก

หากนิ่งเฉย ไม่ทำอะไร จะรู้สึกเสียใจ เมื่อประเทศต้องเข้าสู่จุดนั้น แต่ถ้าวันนี้ได้ทำเต็มที่ ก็จะไม่มีอะไรค้างคาใจเพราะได้ทำในสิ่งที่ควรจะทำ ได้ตอบแทนคุณแผ่นดินแล้ว

ดร.ชิดตะวัน จากกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม กล่าวว่า ที่ผ่านมาการทำงานของธปท.แม้อาจจะมีจุดบกพร่องบ้าง เช่น การอธิบายสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจอาจจะน้อยหรือยากเกินไปแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่เคยทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย ไม่สมควรให้คนของรัฐบาลเข้ามาดูแลหรือนั่งในบอร์ดแบงค์ชาติ เนื่องจากหลักการสำคัญของ central bankคือต้องไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายการเมือง เพราะรัฐบาลโดยทั่วไปจะบริหารประเทศโดยคำนึงถึงกลุ่มทุนที่ให้การสนับสนุน และความนิยมของประชาชน ซึ่งเป็นผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทำให้มักออกนโยบายสายตาสั้น (myopic policy) เช่น นโยบายประชานิยม นโยบายเอื้อประโยชน์นายทุนซึ่งเป็นผลเสียต่อประเทศชาติและประชาชนในระยะยาว นอกจากนี้เมื่อพิจารณาการจัดอันดับโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ปัจจุบันประเทศไทยมีการคอร์รัปชันที่รุนแรงมากในขณะที่ประเทศเดนมาร์กและภูฐานมีการคอร์รัปชันต่ำที่สุดในโลก อันดับ 1 และ 26 ตามลำดับประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 108 จากจำนวน 177 ประเทศ

การให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปนั่งเป็นบอร์ดของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดหายนะต่อประเทศจากการที่นักการเมืองแสวงหาประโยชน์ ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในปี 2540ซึ่งทำให้ชาติบ้านเมืองได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวง

“การที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของฝ่ายการเมืองก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศโดยรวม เช่น กรณีท่านเศรษฐพุฒิ ผู้ว่าฯธปท.ได้แสดงจุดยืนคัดค้านนโยบายรัฐบาลที่จะแจกเงินประชาชนที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป ทุกคนซึ่งต้องใช้งบประมาณแผ่นดินเกือบ 6 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดภาระทางการคลังที่คนไทยทั้งประเทศต้องรับผิดชอบในระยะยาวจนในที่สุดรัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายเป็นแจกเงินเฉพาะกลุ่มเปราะบางทำให้ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติน้อยลง เป็นต้น” ดร.ชิดตะวันกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจากกลุ่มนักวิชาการ กว่า 200 ราย และกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ออกแถลงการณ์ห่วงใยธนาคารแห่งประเทศไทย ถูกแทรกแซงจากกลุ่มการเมือง เพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น ทำลายเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของประเทศในระยะยาว และกลุ่มอดีตพนักงานธปท.ที่ร่วมกันลงชื่อเคลื่อนไหว ไม่ให้การเมืองเข้าครอบงำธปท.แล้ว
.
ในส่วนของภาคประชาสังคมพบว่า ในเพจของ ‘กองทัพธรรม’ ก็ได้มีการรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงชื่อผ่านกองทัพธรรม และเครือข่าย ในหัวข้อ ‘กองทัพธรรม ขอเชิญพี่น้องประชาชนร่วมลงนามสนับสนุน นักวิชาการและกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ออกแถลงการณ์คัดค้าน รัฐบาลครอบงำแบงก์ชาติ’

โดยล่าสุดจนถึงเวลา 12.00 น. พบว่ามีประชาชนจำนวน 3,740 คน ได้ร่วมลงชื่อผ่านทางกองทัพธรรม สนับสนุน นักวิชาการ และกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ออกแถลงการณ์ห่วงใยธนาคารแห่งประเทศไทย ถูกแทรกแซงจากกลุ่มการเมือง เพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น ทำลายเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของประเทศในระยะยาว

‘บีโอไอ’ เคาะลงทุน!! Data Center 6 หมื่นล้าน พร้อมขยายมาตรการ!! กระตุ้นลงทุน เร่งฟื้นเศรษฐกิจ

(2 พ.ย. 67) บอร์ดบีโอไอ ไฟเขียวลงทุน Data Center 2 โครงการใหญ่ ของบริษัทในเครือ Google และ GDS มูลค่ารวมกว่า 6 หมื่นล้านบาท และอนุมัติบริษัท เฉิงยี่ เทคโนโลยี ผู้ผลิตวัตถุดิบสำคัญ PCB อันดับ 2 ของโลก ลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท พร้อมออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัย และต่ออายุมาตรการกระตุ้นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อเนื่องถึงปี 2568  

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนกิจการ Data Center 2 โครงการใหญ่ มูลค่ารวมกว่า 60,000 ล้านบาท ประกอบด้วยบริษัท ควอตซ์ คอมพิวติ้ง จำกัด ในเครือ Google มูลค่าลงทุน 32,760 ล้านบาท และบริษัท ดิจิทัลแลนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด ในเครือ GDS มูลค่าลงทุน 28,000 ล้านบาท

สำหรับโครงการ Data Center ของบริษัท ควอตซ์ คอมพิวติ้ง ในเครือ Alphabet Inc. (สหรัฐอเมริกา) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google เป็นการลงทุนตามแผนธุรกิจที่ Google ได้ประกาศระหว่างการพบนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ว่าจะสร้าง Data Center และ Cloud Region แห่งใหม่ในประเทศไทย ด้วยมูลค่าเงินลงทุนเฟสแรก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะเป็นศูนย์ Data Center แห่งที่ 5 ในเอเชียของ Google ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี มีแผนเปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2570 

ส่วนโครงการ Data Center ของบริษัท ดิจิทัลแลนด์ เซอร์วิสเซส ในเครือ GDS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Data Center ชั้นนำระดับโลก ที่ให้บริการทั้งในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยโครงการใหม่ในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี มีแผนเปิดให้บริการในปี 2569

ทั้งสองโครงการจะเป็น Data Center ขนาดใหญ่ระดับ Hyperscale ที่มีขีดความสามารถในการประมวลผลสูง และสามารถรองรับการขยายตัวของการใช้บริการ Cloud Services ทั้งจากผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีอัตราการใช้บริการออนไลน์และการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลในสัดส่วนที่สูง รวมทั้งมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G, Cloud Computing, Internet of Things (IoT) และ AI เพื่อต่อยอดธุรกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร รวมทั้งไทยยังสามารถเป็นฐานในการให้บริการ Data Center แก่ประเทศอื่น ๆ เนื่องจากอยู่ในทำเลที่ตั้งที่สะดวกต่อการเชื่อมต่อกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

“กระแสการลงทุนในกิจการ Data Center ในประเทศไทยยังมีอย่างต่อเนื่อง การตัดสินใจลงทุน Data Center ขนาดใหญ่ของบริษัทระดับโลกทั้งสองโครงการนี้ เป็นการตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทย ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ รองรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลของทั้งภาคธุรกิจและองค์กรภาครัฐ อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น Digital Innovation Hub ของภูมิภาคอาเซียนด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโครงการลงทุนในกิจการ Data Center และ Cloud Service ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 47 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 173,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนจากบริษัทรายใหญ่ทั้งสัญชาติอเมริกัน ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย

นอกจากนี้ บอร์ดบีโอไอยังได้อนุมัติให้การส่งเสริมลงทุนโครงการผลิตวัตถุดิบตั้งต้นสำคัญของแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) อย่าง Prepreg และ Copper Clad Laminate (CCL) มูลค่าลงทุน 6,150 ล้านบาท ของบริษัท เฉิงยี่ เทคโนโลยี โดยเป็นผู้ผลิตอันดับ 2 ของโลก ซึ่งตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย เพราะมองเห็นแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรม PCB ในประเทศไทย โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นผู้ผลิต PCB รายใหญ่ เช่น KCE, APEX, MFLEX เป็นต้น การลงทุนของเฉิงยี่ เป็นข้อต่อสำคัญในการสร้างซัพพลายเชนของอุตสาหกรรม PCB ที่กำลังจะเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย โดยโครงการนี้จะตั้งที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และจะมีการจ้างงานบุคลากรไทยกว่า 200 คน 

นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอ ยังได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและสนับสนุนให้ฟื้นฟูธุรกิจได้โดยเร็ว โดยจะยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรที่นำเข้ามาทดแทนเครื่องจักรที่เสียหาย รวมถึงอนุญาตให้ตัดบัญชีเครื่องจักรและวัตถุดิบที่ได้รับความเสียหายหรือสูญหายจากน้ำท่วม โดยไม่มีภาระภาษีอากร โดยต้องยื่นเอกสารเข้ามาที่บีโอไอภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ออกประกาศ หรือหากเป็นกรณีประสบอุทกภัยหลังวันที่ออกประกาศ ให้ยื่นเอกสารภายใน 6 เดือน นับจากวันที่สิ้นสุดสถานการณ์อุทกภัย

นอกจากนี้ บอร์ดบีโอไอยังได้ขยายระยะเวลาและปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน 4 มาตรการสำคัญที่จะสิ้นสุดในปี 2567 ได้แก่ มาตรการรักษาและขยายฐานการผลิตเดิม (Retention and Expansion Program) มาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร (Relocation Program) มาตรการกระตุ้นการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยให้ขยายเวลาทั้ง 4 มาตรการถึงสิ้นปี 2568 และได้ปรับปรุงเงื่อนไขของมาตรการกระตุ้นการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเพิ่มมูลค่าเงินลงทุนจริงขั้นต่ำจาก 1,000 เป็น 2,000 ล้านบาท เพื่อเร่งให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องในประเทศไทย

'เอกนัฏ' ย้ำเจตนารมณ์ไทย บนเวที COP13/MOP36 เดินหน้าเชิงรุกลดใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน

(1 พ.ย. 67) รมว.เอกนัฏ ประกาศบนเวทีสหประชาชาติ COP13/MOP36 ดันไทยลดใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน เดินหน้าเชิงรุก ปฏิรูปอุตสาหกรรม ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเปิดการประชุมระดับสูงภาคีอนุสัญญาเวียนนา ครั้งที่ 13 (COP13) และรัฐภาคีพิธีสารมอนทรีออล ครั้งที่ 36 (MOP36) (วันที่ 31 ตุลาคม 2567) ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมระหว่างประเทศภาคีสมาชิก ซึ่งมีผู้แทนจากรัฐภาคีกว่า 148 ประเทศเข้าร่วมการประชุม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น รายงานการศึกษาทั้งด้านเทคนิคและวิชาการ การนำเสนอเทคโนโลยีสารทดแทนที่มีค่าศักยภาพทำให้โลกร้อนต่ำและประหยัดพลังงาน รายงานการเงินและงบประมาณกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ประเทศไทยให้ความสําคัญในเรื่องสภาพภูมิอากาศ และการปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซน โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของพิธีสารมอนทรีออล เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2532 เพื่อแสดงความรับผิดชอบและให้ความร่วมมือกับนานาประเทศในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมโลก โดยได้ดำเนินแนวทางเชิงรุกในการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนได้เร็วกว่าที่พิธีสารมอนทรีออลกำหนดไว้ ด้วยการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ซึ่งประเทศไทยมีห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง ประกอบกับความต้องการภายในประเทศและประเทศคู่ค้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกเครื่องปรับอากาศเป็นอันดับ 2 ของโลก มีมูลค่าการส่งออกกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นเทคโนโลยีขั้นสูง ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและสารทดแทนที่มีค่าศักยภาพทำให้โลกร้อนต่ำและประหยัดพลังงานภายในประเทศ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ก้าวทันบริบทโลก ผ่านกลไกกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล ซึ่งมีกรอบเงินทุนการดำเนินโครงการลดและเลิกใช้สารเอชซีเอฟซี ระยะที่ 2 (ปี พ.ศ. 2563 – 2568) กว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับประเทศไทยยังได้มีการใช้มาตรการทางกฎหมายโดยการประกาศห้ามใช้สารซี เอฟ ซี (Chlorofluorocarbons (CFCs)) ในการผลิตอุปกรณ์ทำความเย็น และห้ามนำเข้าอุปกรณ์ทำความเย็นที่ใช้สาร CFCs เข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการควบคุมและกำกับดูแล 

นอกจากนี้ ยังได้ให้สัตยาบันต่อพิธีสารมอนทรีออล ฉบับแก้ไข ณ กรุงคิกาลี เพื่อลดการใช้สารเอช เอฟ ซี Hydrofluorocarbons (HFCs) โดยส่วนใหญ่ใช้เป็นสารทําความเย็นในอุปกรณ์ทําความเย็น ซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ถือเป็นความท้าทายของประเทศไทย 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนให้เร็วกว่าข้อกำหนดตามพิธีสารมอนทรีออล ฉบับแก้ไข ณ กรุงคิกาลี ที่กำหนดให้ปี 2572 ต้องลดปริมาณการใช้ HFCs ลง 10%  ปี 2578 ลดปริมาณการใช้ HFCs ลง 30%  ปี 2583 ลดปริมาณการใช้ HFCs ลง 50% และในปี 2588 ลดปริมาณการใช้ HFCs ลง 80% เพื่อการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยที่ร้อยละ 30 - 40 ภายในปี 2573 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608

“ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะร่วมมือดำเนินงานกับภาคีต่าง ๆ และประชาคมโลก เพื่อแสวงหาแนวทางที่สร้างสรรค์และยั่งยืน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป” รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย

‘พีระพันธุ์’ เดินหน้าเร่งจัดตั้ง SPR สร้างระบบสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์หนุนความมั่นคงพลังงานไทย คาดกฎหมายเกี่ยวข้องจะแล้วเสร็จในสิ้นปี 67 นี้ เพื่อให้ประชาชนจ่ายค่าพลังงานตามต้นทุนที่แท้จริง

(31 ตุลาคม 2567) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "แนวนโยบายของรัฐบาลต่อการพัฒนาพลังงานของประเทศเพื่อความมั่นคงของชาติและประชาชนที่ยั่งยืน" ในงานเสวนา "การพัฒนาการจัดบริการสาธารณะด้านพลังงานเพื่อความมั่นคงของประชาชน" ซึ่งจัดโดย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 

ในส่วนหนึ่งของปาฐกถาครั้งนี้ นายพีระพันธุ์ ได้กล่าวถึงการเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงานว่า ตนมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของประชาชน  โดยที่ผ่านมา ตนได้ดำเนินการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ที่แท้จริง รวมทั้งศึกษากฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ  เพื่อหาแนวทางในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชนอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย  และที่สำคัญต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศด้วย  เพราะในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยขุดน้ำมันได้ที่ อ.ฝาง เมื่อกลั่นแล้วเหลือใช้ในกองทัพจึงขายให้กับประชาชน โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการค้าขายเพื่อผลกำไร แต่หลังจากที่มีการก่อตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย  ทิศทางการจัดการด้านพลังงานของประเทศได้มุ่งไปทางธุรกิจมากกว่าความมั่นคง และไม่ได้มีการปรับปรุงด้านกฎหมายมานานกว่า 50 ปีแล้ว 

นายพีระพันธุ์กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve : SPR) เหมือนประเทศอื่น ๆ ทำให้ประเทศไม่มีความมั่นคงด้านพลังงาน  ตนจึงได้ดำเนินการร่างกฎหมาย SPR เพื่อสร้างระบบสำรองน้ำมันของประเทศไทย  โดยที่ภาครัฐไม่ต้องเสียงบประมาณในการลงทุนสร้างคลังน้ำมันและซื้อน้ำมัน  และเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาน้ำมัน รวมไปถึงก๊าซธรรมชาติด้วย  โดยต่อไปการกำหนดราคาน้ำมันในประเทศจะเป็นเรื่องของภาครัฐกับผู้ประกอบกิจการค้าน้ำมัน  ไม่ต้องผันผวนรายวันตามราคาขึ้นลงของตลาดโลก

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน กระทรวงพลังงานได้มีความคืบหน้าในการกำหนดให้บริษัทผู้ประกอบกิจการค้าน้ำมันต้องแสดงต้นทุนราคาน้ำมันที่แท้จริง เพื่อพิจารณาไม่ให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบประชาชนเกินไป  และกำลังดำเนินการร่างกฎหมายด้านพลังงานที่สำคัญอีกหลายฉบับ เช่น ร่างกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมันและก๊าซ  ร่างกฎหมายกํากับดูแลการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดตั้งระบบ Solar Rooftop รวมถึง ร่างกฎหมายจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันแห่งชาติ หรือ Strategic Petroleum Reserve (SPR) ที่จะมาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจพิจารณาและคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในปี 2567 นี้

“ผมมาทำงานตรงนี้ ไม่ได้มาเพื่อโปรโมทตัวเอง แต่ผมเข้ามาทำในสิ่งที่ต้องทำ ในส่วนของค่าไฟฟ้าผมยืนยันได้ว่า ผมจะสู้เพื่อประชาชน ทำทุกวิถีทางไม่ให้ค่าไฟขึ้น น้ำมันก็เช่นกัน ในอนาคต หากมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น แต่หากทำให้ต้นทุนน้ำมันสูงขึ้น ก็ต้องหาวิธีไม่ให้กระทบกับประชาชน ส่วนแผน Carbon Neutrality และ Net Zero ก็เป็นแผนที่ผมให้ความสำคัญ และได้มอบให้ กฟผ. ไปศึกษาเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับในเขื่อนที่มีอยู่ รวมทั้งการนำแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้า นำมาให้ให้เกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุด” นายพีระพันธุ์ กล่าว

ทำความรู้จักแลนด์บริดจ์โครงการเชื่อมโยง 2 ฝั่งทะเลไทย ใช้ประโยชน์จากทำเล ลุ้น!! สร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้ภาคใต้

(31 ต.ค. 67) จากข่าววานนี้ที่ทาง นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึง วิจารณ์การขึ้นป้ายสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ นั้น

ในวันนี้ THE STATES TIMES จะพาทุกคนมารู้จักโครงการแลนด์บริดจ์(Land Bridge)กัน สำหรับโครงการนี้มีชื่อเต็มว่า โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน

อธิบายอย่างเข้าใจง่ายโครงการนี้จะประกอบไปด้วย 
1.ท่าเรือน้ำลึก 2 ท่าเรือ ตั้งอยู่ฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามันอย่างละหนึ่งท่าเรือ เพื่อรับส่งของจากเรือต่าง ๆ
2.ทางรถไฟ มอเตอร์เวย์ เชื่อมระหว่าง 2 ท่าเรือ เพื่อให้การขนส่งสินค้าจากท่าเรือทั้งสองดำเนินการได้โดยง่ายไร้รอยต่อ หรือ Seamless 

โดยเป้าหมายของโครงการนี้คือชิงส่วนแบ่งการตลาดจากท่าเรือแถว ๆ ช่องแคบมะละกาที่มีปริมาณเรือเป็นจำนวนมาก และต้องใช้ระยะเวลาจำนวนหนึ่งในการเดินทางอ้อมช่องแคบมะละกา 

นอกจากโครงสร้างพื้นฐานแล้วสิ่งที่จะเป็นอาวุธสำคัญของโครงการแลนด์บริดจ์ คือ กฎหมาย SEC ที่ใช้โมเดลเดียวกับ EEC เพื่อกระตุ้นให้เกิดอุตสาหกรรมหลังอ่าว 

ด้วยอาวุธชิ้นนี้ผู้ที่ดำเนินการโครงการจึงมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จ นอกจากนี้เอกชนผู้ที่จะร่วมลงทุนในโครงการนี้จะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ เป็นบริษัทเรือเดินทะเล 

ดังนั้นอย่างน้อยที่สุด ลูกค้าที่จะมาจะมาจากบริษัทผู้ร่วมทุนนั้นเอง 

ทุก ๆ ครั้งที่พูดถึงโครงการนี้ จะนึกถึงตัวอย่างหนึ่งตลอดมา คือ เราเป็นคนจนคนหนึ่งแต่โชคดีมีที่ดินติดรถไฟฟ้า บางคนอาจจะอยากขายที่ดินหาเงินใช้ บางคนอาจจะปล่อยเช่า หรือบางคนอาจจะร่วมลงทุนกับผู้ที่สนใจใช้ที่ดินทำประโยชน์ 

โครงการแลนด์บริดจ์ก็ไม่ต่างกันมากนัก คือ การใช้ประโยชน์จากทำเลเพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งหากย้อนไปในประวัติศาสตร์บริเวณปลายด้ามขวานแห่งนี้เคยทรงอิทธิพลในภูมิภาคด้วยความที่เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้า วัฒนธรรมระหว่างตะวันออกและตะวันตก

และครั้งนี้โครงการแลนด์บริดจ์จะนำสถานะนั้นกลับมาอีกครั้งได้หรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไป

น้ำมันพืชเตรียมพาเหรดขึ้นราคา น้ำมันปาล์มพรวด 10 บาท พาณิชย์ เด้งรับ งัดมาตรการงดส่งออกเพิ่มสต๊อกปาล์มในประเทศ

(31 ต.ค. 67) นายสมชาย พรรัตนเจริญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันกำลังยังไม่ค่อยคึกคัก เนื่องจากคนมีรายได้เท่าเดิมและเริ่มใช้จ่ายประหยัดขึ้น ทำให้สินค้าที่เป็นของกินของใช้ในครัวเรือน เช่น กะปิ น้ำปลา ที่ไม่ใช่แบรนด์ใหญ่ และราคาไม่เกิน 10-20 บาท จะขายดี ส่วนความเคลื่อนไหวของราคาสินค้า ล่าสุดมีน้ำมันปาล์มขวดปรับราคาขายขึ้นอีก 10 บาทต่อขวดลิตร จากเดิมขายอยู่ที่ 40 กว่าบาท เป็น 50 กว่าบาทต่อขวดลิตร ซึ่งไม่ทราบสาเหตุเกิดจากอะไรถึงทำให้ราคาปรับขึ้นแรง

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด จ.อุดรธานี กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันถั่วเหลืองยี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่ง จะปรับราคาขายขึ้นอีก 1-2 บาทต่อขวด ภายในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เข้าใจว่าน่าจะเป็นผลมาจากน้ำมันปาล์มปรับราคาขายขึ้น จึงต้องขึ้นตาม

ทางสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจรายงานว่า นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมัน ว่า ขณะนี้ผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดน้อยลง ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าไปดูแลให้เกิดความสมดุล เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาดี และผู้บริโภคไม่ต้องบริโภคน้ำมันปาล์มขวดแพงเกินไป โดยได้สั่งการให้กรมการค้าภายในไปพิจารณามาตรการดูแลปาล์มน้ำมัน โดยในระยะสั้น ไม่ให้ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อให้มีสต็อกเพียงพอ และดูแลราคาน้ำมันปาล์มขวดให้เหมาะสม หรือหากจำเป็น ก็ปรับลดการใช้น้ำมันปาล์มในไบโอดีเซลลงมา เพื่อให้เหลือบริโภคมากขึ้น

นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า  ช่วงนี้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากเจอภัยแล้ง และโรคระบาดก่อนหน้านี้ ทำให้ผลผลิตเข้าสู่ตลาดลดลง โดยราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 8-9 บาท ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกร แต่ก็ต้องดูแลฝั่งผู้บริโภคในส่วนของน้ำมันปาล์มขวด ไม่ให้ราคาสูงเกินไป ซึ่งนายวิทยากร มณีเนตร ผู้ตรวจราชการ กระทรวงพาณิชย์ และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ จึงได้มีการหารือร่วมกับสมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และสมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม  ถึงแนวทางการบริหารจัดการสต็อกน้ำมันปาล์มให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งความต้องการบริโภค และการใช้ในภาคพลังงาน

โดยพบว่า ขณะนี้ปริมาณมีเพียงพอต่อความต้องการ สต็อกเกินกว่า 2 แสนตัน และทางสมาคมฯ ยังยืนยันที่จะไม่ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบในช่วงนี้ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มตั้งแต่ ม.ค.2568 เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน ได้หารือร่วมกับห้างค้าส่งค้าปลีก และห้างท้องถิ่น ถึงสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะน้ำมันพืชบรรจุขวด โดยกรมขอความร่วมมือผู้ผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวดชะลอการปรับราคาออกไปให้นานที่สุด และขอความร่วมมือห้างค้าส่ง/ค้าปลีก จำหน่ายน้ำมันปาล์มบรรจุขวดให้อยู่ในระดับราคาที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชน โดยห้างยินดีให้ความร่วมมือในการตรึงราคาน้ำมันพืช พร้อมจัดโปรโมชันเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง

นายกรนิจ กล่าวว่า  ส่วนราคาน้ำมันปาล์มขวด ขณะนี้จำหน่ายในราคาตั้งแต่ 43-48 บาทต่อขวด แล้วแต่สต็อกเก่าใหม่ ซึ่งกรมได้หารือกับห้างค้าปลีกค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า และห้างท้องถิ่น เพื่อขอความร่วมมือให้ตรึงราคาจำหน่ายให้นานที่สุด และขอความร่วมมือให้จัดโปรโมชันลดราคาน้ำมันปาล์มขวดต่อเนื่อง รวมทั้งหากจะมีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายจากราคาเดิม ให้แจ้งมายังกรมด้วย และกรณีที่สั่งน้ำมันปาล์มขวดจากผู้ผลิต และได้รับสินค้าช้า หรือมีสินค้าไม่เพียงพอ ก็ให้รีบแจ้งมายังกรม เพื่อที่จะเข้าไปดูแลต่อไป

ทั้งนี้กรมการค้าภายใน และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดจะติดตามสถานการณ์น้ำมันพืช ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง หากพบผู้ประกอบการดำเนินการใดๆ โดยจงใจที่จะทำให้ราคาสูงเกินสมควร หรือทำให้ปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการใด จะดำเนินการตามกฎหมายต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยประชาชนสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือทางแอปพลิเคชัน[email protected] และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ

'พิชัย' หารือ รมต.เกษตรรัสเซีย เร่งเจรจา FTA ไทย-ยูเรเซีย(EAEU) เปิดประตูการค้า-ลงทุนกับกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย 5 ประเทศ

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการหารือกับนายเซอร์เกย์ เลวิน (H.E. Mr. Sergey Levin) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรสหพันธรัฐรัสเซีย เมื่อช่วงเย็นวันที่ 30 ต.ค.2567 ที่ผ่านมา ณ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาแนวทางในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และเชิญชวนให้รัสเซียซื้อสินค้าเกษตรของไทย อาทิ ข้าว เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ พร้อมเร่งเจรจา FTA ระหว่างไทยและกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย 5 ประเทศ ที่ประกอบด้วย รัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และอาร์เมเนีย ซึ่งจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพของไทยต่อไป

นายพิชัย กล่าว่า โดยที่ปัจจุบัน มูลค่าการค้าระหว่างไทยและรัสเซียยังมีปริมาณไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือเพื่อขยายการค้า-การลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้น โดยไทยได้ขอให้รัสเซียพิจารณาเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสาขาที่รัสเซียมีความเชี่ยวชาญ เช่น เทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีการลงทุนจากต่างประเทศในธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) และการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) ในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนช่วยให้การลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งอุตสาหกรรมดิจิทัล และเทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ ไทยมีความพร้อมเป็นศูนย์กลางสินค้าอาหารเพื่อความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ของโลก จึงขอให้รัสเซียพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าข้าวและสินค้าอาหารจากไทย ขณะที่ ฝ่ายรัสเซียได้ขอให้ไทยพิจารณาการนำเข้าสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์นม รวมทั้งผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์จากรัสเซียด้วยเช่นกัน

นายพิชัย ระบุว่า ตนได้แจ้งความพร้อมของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-รัสเซีย ครั้งที่ 5 ซึ่งจะเป็นการประชุมในระดับรัฐมนตรีและเป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจในสาขาต่าง ๆ ของทั้งสองประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถจัดการประชุมดังกล่าวได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2568

นอกจากนี้ ไทยและรัสเซียเห็นพ้องถึงประโยชน์ในการจัดทำความตกลง FTA ระหว่างไทยและสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union: EAEU) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และอาร์เมเนีย ซึ่งจะเป็นช่องทางในการเพิ่มศักยภาพในตลาดของทั้งสองประเทศ รวมไปถึงขยายมูลค่าการค้าและการลงทุนและสามารถช่วยลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างไทยกับรัสเซีย 

ในปี 2566 รัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 37 ของไทยในโลก และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ในปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยและรัสเซียมีมูลค่าการค้ารวม 1,188.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.26 ของการค้าไทยในตลาดโลก โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 32.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปยังรัสเซีย มูลค่ารวม 610.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล การนำเข้าจากรัสเซียมูลค่ารวม 578.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top