Tuesday, 10 December 2024
ECONBIZ

‘บีโอไอ’ เคาะลงทุน!! Data Center 6 หมื่นล้าน พร้อมขยายมาตรการ!! กระตุ้นลงทุน เร่งฟื้นเศรษฐกิจ

(2 พ.ย. 67) บอร์ดบีโอไอ ไฟเขียวลงทุน Data Center 2 โครงการใหญ่ ของบริษัทในเครือ Google และ GDS มูลค่ารวมกว่า 6 หมื่นล้านบาท และอนุมัติบริษัท เฉิงยี่ เทคโนโลยี ผู้ผลิตวัตถุดิบสำคัญ PCB อันดับ 2 ของโลก ลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท พร้อมออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัย และต่ออายุมาตรการกระตุ้นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อเนื่องถึงปี 2568  

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนกิจการ Data Center 2 โครงการใหญ่ มูลค่ารวมกว่า 60,000 ล้านบาท ประกอบด้วยบริษัท ควอตซ์ คอมพิวติ้ง จำกัด ในเครือ Google มูลค่าลงทุน 32,760 ล้านบาท และบริษัท ดิจิทัลแลนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด ในเครือ GDS มูลค่าลงทุน 28,000 ล้านบาท

สำหรับโครงการ Data Center ของบริษัท ควอตซ์ คอมพิวติ้ง ในเครือ Alphabet Inc. (สหรัฐอเมริกา) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google เป็นการลงทุนตามแผนธุรกิจที่ Google ได้ประกาศระหว่างการพบนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ว่าจะสร้าง Data Center และ Cloud Region แห่งใหม่ในประเทศไทย ด้วยมูลค่าเงินลงทุนเฟสแรก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะเป็นศูนย์ Data Center แห่งที่ 5 ในเอเชียของ Google ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี มีแผนเปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2570 

ส่วนโครงการ Data Center ของบริษัท ดิจิทัลแลนด์ เซอร์วิสเซส ในเครือ GDS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Data Center ชั้นนำระดับโลก ที่ให้บริการทั้งในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยโครงการใหม่ในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี มีแผนเปิดให้บริการในปี 2569

ทั้งสองโครงการจะเป็น Data Center ขนาดใหญ่ระดับ Hyperscale ที่มีขีดความสามารถในการประมวลผลสูง และสามารถรองรับการขยายตัวของการใช้บริการ Cloud Services ทั้งจากผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีอัตราการใช้บริการออนไลน์และการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลในสัดส่วนที่สูง รวมทั้งมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G, Cloud Computing, Internet of Things (IoT) และ AI เพื่อต่อยอดธุรกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร รวมทั้งไทยยังสามารถเป็นฐานในการให้บริการ Data Center แก่ประเทศอื่น ๆ เนื่องจากอยู่ในทำเลที่ตั้งที่สะดวกต่อการเชื่อมต่อกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

“กระแสการลงทุนในกิจการ Data Center ในประเทศไทยยังมีอย่างต่อเนื่อง การตัดสินใจลงทุน Data Center ขนาดใหญ่ของบริษัทระดับโลกทั้งสองโครงการนี้ เป็นการตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทย ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ รองรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลของทั้งภาคธุรกิจและองค์กรภาครัฐ อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น Digital Innovation Hub ของภูมิภาคอาเซียนด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโครงการลงทุนในกิจการ Data Center และ Cloud Service ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 47 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 173,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนจากบริษัทรายใหญ่ทั้งสัญชาติอเมริกัน ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย

นอกจากนี้ บอร์ดบีโอไอยังได้อนุมัติให้การส่งเสริมลงทุนโครงการผลิตวัตถุดิบตั้งต้นสำคัญของแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) อย่าง Prepreg และ Copper Clad Laminate (CCL) มูลค่าลงทุน 6,150 ล้านบาท ของบริษัท เฉิงยี่ เทคโนโลยี โดยเป็นผู้ผลิตอันดับ 2 ของโลก ซึ่งตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย เพราะมองเห็นแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรม PCB ในประเทศไทย โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นผู้ผลิต PCB รายใหญ่ เช่น KCE, APEX, MFLEX เป็นต้น การลงทุนของเฉิงยี่ เป็นข้อต่อสำคัญในการสร้างซัพพลายเชนของอุตสาหกรรม PCB ที่กำลังจะเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย โดยโครงการนี้จะตั้งที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และจะมีการจ้างงานบุคลากรไทยกว่า 200 คน 

นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอ ยังได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและสนับสนุนให้ฟื้นฟูธุรกิจได้โดยเร็ว โดยจะยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรที่นำเข้ามาทดแทนเครื่องจักรที่เสียหาย รวมถึงอนุญาตให้ตัดบัญชีเครื่องจักรและวัตถุดิบที่ได้รับความเสียหายหรือสูญหายจากน้ำท่วม โดยไม่มีภาระภาษีอากร โดยต้องยื่นเอกสารเข้ามาที่บีโอไอภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ออกประกาศ หรือหากเป็นกรณีประสบอุทกภัยหลังวันที่ออกประกาศ ให้ยื่นเอกสารภายใน 6 เดือน นับจากวันที่สิ้นสุดสถานการณ์อุทกภัย

นอกจากนี้ บอร์ดบีโอไอยังได้ขยายระยะเวลาและปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน 4 มาตรการสำคัญที่จะสิ้นสุดในปี 2567 ได้แก่ มาตรการรักษาและขยายฐานการผลิตเดิม (Retention and Expansion Program) มาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร (Relocation Program) มาตรการกระตุ้นการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยให้ขยายเวลาทั้ง 4 มาตรการถึงสิ้นปี 2568 และได้ปรับปรุงเงื่อนไขของมาตรการกระตุ้นการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเพิ่มมูลค่าเงินลงทุนจริงขั้นต่ำจาก 1,000 เป็น 2,000 ล้านบาท เพื่อเร่งให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องในประเทศไทย

'เอกนัฏ' ย้ำเจตนารมณ์ไทย บนเวที COP13/MOP36 เดินหน้าเชิงรุกลดใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน

(1 พ.ย. 67) รมว.เอกนัฏ ประกาศบนเวทีสหประชาชาติ COP13/MOP36 ดันไทยลดใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน เดินหน้าเชิงรุก ปฏิรูปอุตสาหกรรม ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเปิดการประชุมระดับสูงภาคีอนุสัญญาเวียนนา ครั้งที่ 13 (COP13) และรัฐภาคีพิธีสารมอนทรีออล ครั้งที่ 36 (MOP36) (วันที่ 31 ตุลาคม 2567) ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมระหว่างประเทศภาคีสมาชิก ซึ่งมีผู้แทนจากรัฐภาคีกว่า 148 ประเทศเข้าร่วมการประชุม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น รายงานการศึกษาทั้งด้านเทคนิคและวิชาการ การนำเสนอเทคโนโลยีสารทดแทนที่มีค่าศักยภาพทำให้โลกร้อนต่ำและประหยัดพลังงาน รายงานการเงินและงบประมาณกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ประเทศไทยให้ความสําคัญในเรื่องสภาพภูมิอากาศ และการปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซน โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของพิธีสารมอนทรีออล เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2532 เพื่อแสดงความรับผิดชอบและให้ความร่วมมือกับนานาประเทศในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมโลก โดยได้ดำเนินแนวทางเชิงรุกในการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนได้เร็วกว่าที่พิธีสารมอนทรีออลกำหนดไว้ ด้วยการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ซึ่งประเทศไทยมีห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง ประกอบกับความต้องการภายในประเทศและประเทศคู่ค้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกเครื่องปรับอากาศเป็นอันดับ 2 ของโลก มีมูลค่าการส่งออกกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นเทคโนโลยีขั้นสูง ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและสารทดแทนที่มีค่าศักยภาพทำให้โลกร้อนต่ำและประหยัดพลังงานภายในประเทศ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ก้าวทันบริบทโลก ผ่านกลไกกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล ซึ่งมีกรอบเงินทุนการดำเนินโครงการลดและเลิกใช้สารเอชซีเอฟซี ระยะที่ 2 (ปี พ.ศ. 2563 – 2568) กว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับประเทศไทยยังได้มีการใช้มาตรการทางกฎหมายโดยการประกาศห้ามใช้สารซี เอฟ ซี (Chlorofluorocarbons (CFCs)) ในการผลิตอุปกรณ์ทำความเย็น และห้ามนำเข้าอุปกรณ์ทำความเย็นที่ใช้สาร CFCs เข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการควบคุมและกำกับดูแล 

นอกจากนี้ ยังได้ให้สัตยาบันต่อพิธีสารมอนทรีออล ฉบับแก้ไข ณ กรุงคิกาลี เพื่อลดการใช้สารเอช เอฟ ซี Hydrofluorocarbons (HFCs) โดยส่วนใหญ่ใช้เป็นสารทําความเย็นในอุปกรณ์ทําความเย็น ซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ถือเป็นความท้าทายของประเทศไทย 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนให้เร็วกว่าข้อกำหนดตามพิธีสารมอนทรีออล ฉบับแก้ไข ณ กรุงคิกาลี ที่กำหนดให้ปี 2572 ต้องลดปริมาณการใช้ HFCs ลง 10%  ปี 2578 ลดปริมาณการใช้ HFCs ลง 30%  ปี 2583 ลดปริมาณการใช้ HFCs ลง 50% และในปี 2588 ลดปริมาณการใช้ HFCs ลง 80% เพื่อการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยที่ร้อยละ 30 - 40 ภายในปี 2573 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608

“ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะร่วมมือดำเนินงานกับภาคีต่าง ๆ และประชาคมโลก เพื่อแสวงหาแนวทางที่สร้างสรรค์และยั่งยืน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป” รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย

‘พีระพันธุ์’ เดินหน้าเร่งจัดตั้ง SPR สร้างระบบสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์หนุนความมั่นคงพลังงานไทย คาดกฎหมายเกี่ยวข้องจะแล้วเสร็จในสิ้นปี 67 นี้ เพื่อให้ประชาชนจ่ายค่าพลังงานตามต้นทุนที่แท้จริง

(31 ตุลาคม 2567) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "แนวนโยบายของรัฐบาลต่อการพัฒนาพลังงานของประเทศเพื่อความมั่นคงของชาติและประชาชนที่ยั่งยืน" ในงานเสวนา "การพัฒนาการจัดบริการสาธารณะด้านพลังงานเพื่อความมั่นคงของประชาชน" ซึ่งจัดโดย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 

ในส่วนหนึ่งของปาฐกถาครั้งนี้ นายพีระพันธุ์ ได้กล่าวถึงการเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงานว่า ตนมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของประชาชน  โดยที่ผ่านมา ตนได้ดำเนินการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ที่แท้จริง รวมทั้งศึกษากฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ  เพื่อหาแนวทางในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชนอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย  และที่สำคัญต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศด้วย  เพราะในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยขุดน้ำมันได้ที่ อ.ฝาง เมื่อกลั่นแล้วเหลือใช้ในกองทัพจึงขายให้กับประชาชน โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการค้าขายเพื่อผลกำไร แต่หลังจากที่มีการก่อตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย  ทิศทางการจัดการด้านพลังงานของประเทศได้มุ่งไปทางธุรกิจมากกว่าความมั่นคง และไม่ได้มีการปรับปรุงด้านกฎหมายมานานกว่า 50 ปีแล้ว 

นายพีระพันธุ์กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve : SPR) เหมือนประเทศอื่น ๆ ทำให้ประเทศไม่มีความมั่นคงด้านพลังงาน  ตนจึงได้ดำเนินการร่างกฎหมาย SPR เพื่อสร้างระบบสำรองน้ำมันของประเทศไทย  โดยที่ภาครัฐไม่ต้องเสียงบประมาณในการลงทุนสร้างคลังน้ำมันและซื้อน้ำมัน  และเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาน้ำมัน รวมไปถึงก๊าซธรรมชาติด้วย  โดยต่อไปการกำหนดราคาน้ำมันในประเทศจะเป็นเรื่องของภาครัฐกับผู้ประกอบกิจการค้าน้ำมัน  ไม่ต้องผันผวนรายวันตามราคาขึ้นลงของตลาดโลก

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน กระทรวงพลังงานได้มีความคืบหน้าในการกำหนดให้บริษัทผู้ประกอบกิจการค้าน้ำมันต้องแสดงต้นทุนราคาน้ำมันที่แท้จริง เพื่อพิจารณาไม่ให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบประชาชนเกินไป  และกำลังดำเนินการร่างกฎหมายด้านพลังงานที่สำคัญอีกหลายฉบับ เช่น ร่างกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมันและก๊าซ  ร่างกฎหมายกํากับดูแลการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดตั้งระบบ Solar Rooftop รวมถึง ร่างกฎหมายจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันแห่งชาติ หรือ Strategic Petroleum Reserve (SPR) ที่จะมาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจพิจารณาและคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในปี 2567 นี้

“ผมมาทำงานตรงนี้ ไม่ได้มาเพื่อโปรโมทตัวเอง แต่ผมเข้ามาทำในสิ่งที่ต้องทำ ในส่วนของค่าไฟฟ้าผมยืนยันได้ว่า ผมจะสู้เพื่อประชาชน ทำทุกวิถีทางไม่ให้ค่าไฟขึ้น น้ำมันก็เช่นกัน ในอนาคต หากมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น แต่หากทำให้ต้นทุนน้ำมันสูงขึ้น ก็ต้องหาวิธีไม่ให้กระทบกับประชาชน ส่วนแผน Carbon Neutrality และ Net Zero ก็เป็นแผนที่ผมให้ความสำคัญ และได้มอบให้ กฟผ. ไปศึกษาเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับในเขื่อนที่มีอยู่ รวมทั้งการนำแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้า นำมาให้ให้เกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุด” นายพีระพันธุ์ กล่าว

ทำความรู้จักแลนด์บริดจ์โครงการเชื่อมโยง 2 ฝั่งทะเลไทย ใช้ประโยชน์จากทำเล ลุ้น!! สร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้ภาคใต้

(31 ต.ค. 67) จากข่าววานนี้ที่ทาง นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึง วิจารณ์การขึ้นป้ายสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ นั้น

ในวันนี้ THE STATES TIMES จะพาทุกคนมารู้จักโครงการแลนด์บริดจ์(Land Bridge)กัน สำหรับโครงการนี้มีชื่อเต็มว่า โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน

อธิบายอย่างเข้าใจง่ายโครงการนี้จะประกอบไปด้วย 
1.ท่าเรือน้ำลึก 2 ท่าเรือ ตั้งอยู่ฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามันอย่างละหนึ่งท่าเรือ เพื่อรับส่งของจากเรือต่าง ๆ
2.ทางรถไฟ มอเตอร์เวย์ เชื่อมระหว่าง 2 ท่าเรือ เพื่อให้การขนส่งสินค้าจากท่าเรือทั้งสองดำเนินการได้โดยง่ายไร้รอยต่อ หรือ Seamless 

โดยเป้าหมายของโครงการนี้คือชิงส่วนแบ่งการตลาดจากท่าเรือแถว ๆ ช่องแคบมะละกาที่มีปริมาณเรือเป็นจำนวนมาก และต้องใช้ระยะเวลาจำนวนหนึ่งในการเดินทางอ้อมช่องแคบมะละกา 

นอกจากโครงสร้างพื้นฐานแล้วสิ่งที่จะเป็นอาวุธสำคัญของโครงการแลนด์บริดจ์ คือ กฎหมาย SEC ที่ใช้โมเดลเดียวกับ EEC เพื่อกระตุ้นให้เกิดอุตสาหกรรมหลังอ่าว 

ด้วยอาวุธชิ้นนี้ผู้ที่ดำเนินการโครงการจึงมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จ นอกจากนี้เอกชนผู้ที่จะร่วมลงทุนในโครงการนี้จะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ เป็นบริษัทเรือเดินทะเล 

ดังนั้นอย่างน้อยที่สุด ลูกค้าที่จะมาจะมาจากบริษัทผู้ร่วมทุนนั้นเอง 

ทุก ๆ ครั้งที่พูดถึงโครงการนี้ จะนึกถึงตัวอย่างหนึ่งตลอดมา คือ เราเป็นคนจนคนหนึ่งแต่โชคดีมีที่ดินติดรถไฟฟ้า บางคนอาจจะอยากขายที่ดินหาเงินใช้ บางคนอาจจะปล่อยเช่า หรือบางคนอาจจะร่วมลงทุนกับผู้ที่สนใจใช้ที่ดินทำประโยชน์ 

โครงการแลนด์บริดจ์ก็ไม่ต่างกันมากนัก คือ การใช้ประโยชน์จากทำเลเพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งหากย้อนไปในประวัติศาสตร์บริเวณปลายด้ามขวานแห่งนี้เคยทรงอิทธิพลในภูมิภาคด้วยความที่เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้า วัฒนธรรมระหว่างตะวันออกและตะวันตก

และครั้งนี้โครงการแลนด์บริดจ์จะนำสถานะนั้นกลับมาอีกครั้งได้หรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไป

น้ำมันพืชเตรียมพาเหรดขึ้นราคา น้ำมันปาล์มพรวด 10 บาท พาณิชย์ เด้งรับ งัดมาตรการงดส่งออกเพิ่มสต๊อกปาล์มในประเทศ

(31 ต.ค. 67) นายสมชาย พรรัตนเจริญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันกำลังยังไม่ค่อยคึกคัก เนื่องจากคนมีรายได้เท่าเดิมและเริ่มใช้จ่ายประหยัดขึ้น ทำให้สินค้าที่เป็นของกินของใช้ในครัวเรือน เช่น กะปิ น้ำปลา ที่ไม่ใช่แบรนด์ใหญ่ และราคาไม่เกิน 10-20 บาท จะขายดี ส่วนความเคลื่อนไหวของราคาสินค้า ล่าสุดมีน้ำมันปาล์มขวดปรับราคาขายขึ้นอีก 10 บาทต่อขวดลิตร จากเดิมขายอยู่ที่ 40 กว่าบาท เป็น 50 กว่าบาทต่อขวดลิตร ซึ่งไม่ทราบสาเหตุเกิดจากอะไรถึงทำให้ราคาปรับขึ้นแรง

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด จ.อุดรธานี กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันถั่วเหลืองยี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่ง จะปรับราคาขายขึ้นอีก 1-2 บาทต่อขวด ภายในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เข้าใจว่าน่าจะเป็นผลมาจากน้ำมันปาล์มปรับราคาขายขึ้น จึงต้องขึ้นตาม

ทางสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจรายงานว่า นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมัน ว่า ขณะนี้ผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดน้อยลง ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าไปดูแลให้เกิดความสมดุล เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาดี และผู้บริโภคไม่ต้องบริโภคน้ำมันปาล์มขวดแพงเกินไป โดยได้สั่งการให้กรมการค้าภายในไปพิจารณามาตรการดูแลปาล์มน้ำมัน โดยในระยะสั้น ไม่ให้ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อให้มีสต็อกเพียงพอ และดูแลราคาน้ำมันปาล์มขวดให้เหมาะสม หรือหากจำเป็น ก็ปรับลดการใช้น้ำมันปาล์มในไบโอดีเซลลงมา เพื่อให้เหลือบริโภคมากขึ้น

นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า  ช่วงนี้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากเจอภัยแล้ง และโรคระบาดก่อนหน้านี้ ทำให้ผลผลิตเข้าสู่ตลาดลดลง โดยราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 8-9 บาท ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกร แต่ก็ต้องดูแลฝั่งผู้บริโภคในส่วนของน้ำมันปาล์มขวด ไม่ให้ราคาสูงเกินไป ซึ่งนายวิทยากร มณีเนตร ผู้ตรวจราชการ กระทรวงพาณิชย์ และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ จึงได้มีการหารือร่วมกับสมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และสมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม  ถึงแนวทางการบริหารจัดการสต็อกน้ำมันปาล์มให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งความต้องการบริโภค และการใช้ในภาคพลังงาน

โดยพบว่า ขณะนี้ปริมาณมีเพียงพอต่อความต้องการ สต็อกเกินกว่า 2 แสนตัน และทางสมาคมฯ ยังยืนยันที่จะไม่ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบในช่วงนี้ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มตั้งแต่ ม.ค.2568 เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน ได้หารือร่วมกับห้างค้าส่งค้าปลีก และห้างท้องถิ่น ถึงสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะน้ำมันพืชบรรจุขวด โดยกรมขอความร่วมมือผู้ผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวดชะลอการปรับราคาออกไปให้นานที่สุด และขอความร่วมมือห้างค้าส่ง/ค้าปลีก จำหน่ายน้ำมันปาล์มบรรจุขวดให้อยู่ในระดับราคาที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชน โดยห้างยินดีให้ความร่วมมือในการตรึงราคาน้ำมันพืช พร้อมจัดโปรโมชันเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง

นายกรนิจ กล่าวว่า  ส่วนราคาน้ำมันปาล์มขวด ขณะนี้จำหน่ายในราคาตั้งแต่ 43-48 บาทต่อขวด แล้วแต่สต็อกเก่าใหม่ ซึ่งกรมได้หารือกับห้างค้าปลีกค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า และห้างท้องถิ่น เพื่อขอความร่วมมือให้ตรึงราคาจำหน่ายให้นานที่สุด และขอความร่วมมือให้จัดโปรโมชันลดราคาน้ำมันปาล์มขวดต่อเนื่อง รวมทั้งหากจะมีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายจากราคาเดิม ให้แจ้งมายังกรมด้วย และกรณีที่สั่งน้ำมันปาล์มขวดจากผู้ผลิต และได้รับสินค้าช้า หรือมีสินค้าไม่เพียงพอ ก็ให้รีบแจ้งมายังกรม เพื่อที่จะเข้าไปดูแลต่อไป

ทั้งนี้กรมการค้าภายใน และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดจะติดตามสถานการณ์น้ำมันพืช ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง หากพบผู้ประกอบการดำเนินการใดๆ โดยจงใจที่จะทำให้ราคาสูงเกินสมควร หรือทำให้ปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการใด จะดำเนินการตามกฎหมายต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยประชาชนสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือทางแอปพลิเคชัน[email protected] และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ

'พิชัย' หารือ รมต.เกษตรรัสเซีย เร่งเจรจา FTA ไทย-ยูเรเซีย(EAEU) เปิดประตูการค้า-ลงทุนกับกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย 5 ประเทศ

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการหารือกับนายเซอร์เกย์ เลวิน (H.E. Mr. Sergey Levin) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรสหพันธรัฐรัสเซีย เมื่อช่วงเย็นวันที่ 30 ต.ค.2567 ที่ผ่านมา ณ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาแนวทางในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และเชิญชวนให้รัสเซียซื้อสินค้าเกษตรของไทย อาทิ ข้าว เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ พร้อมเร่งเจรจา FTA ระหว่างไทยและกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย 5 ประเทศ ที่ประกอบด้วย รัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และอาร์เมเนีย ซึ่งจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพของไทยต่อไป

นายพิชัย กล่าว่า โดยที่ปัจจุบัน มูลค่าการค้าระหว่างไทยและรัสเซียยังมีปริมาณไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือเพื่อขยายการค้า-การลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้น โดยไทยได้ขอให้รัสเซียพิจารณาเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสาขาที่รัสเซียมีความเชี่ยวชาญ เช่น เทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีการลงทุนจากต่างประเทศในธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) และการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) ในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนช่วยให้การลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งอุตสาหกรรมดิจิทัล และเทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ ไทยมีความพร้อมเป็นศูนย์กลางสินค้าอาหารเพื่อความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ของโลก จึงขอให้รัสเซียพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าข้าวและสินค้าอาหารจากไทย ขณะที่ ฝ่ายรัสเซียได้ขอให้ไทยพิจารณาการนำเข้าสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์นม รวมทั้งผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์จากรัสเซียด้วยเช่นกัน

นายพิชัย ระบุว่า ตนได้แจ้งความพร้อมของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-รัสเซีย ครั้งที่ 5 ซึ่งจะเป็นการประชุมในระดับรัฐมนตรีและเป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจในสาขาต่าง ๆ ของทั้งสองประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถจัดการประชุมดังกล่าวได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2568

นอกจากนี้ ไทยและรัสเซียเห็นพ้องถึงประโยชน์ในการจัดทำความตกลง FTA ระหว่างไทยและสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union: EAEU) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และอาร์เมเนีย ซึ่งจะเป็นช่องทางในการเพิ่มศักยภาพในตลาดของทั้งสองประเทศ รวมไปถึงขยายมูลค่าการค้าและการลงทุนและสามารถช่วยลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างไทยกับรัสเซีย 

ในปี 2566 รัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 37 ของไทยในโลก และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ในปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยและรัสเซียมีมูลค่าการค้ารวม 1,188.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.26 ของการค้าไทยในตลาดโลก โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 32.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปยังรัสเซีย มูลค่ารวม 610.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล การนำเข้าจากรัสเซียมูลค่ารวม 578.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์

4 อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติจับมือกลุ่มนักวิชาการ ออกแถลงการณ์ค้านการเมืองครอบ ปธ.แบงก์ชาติ

(31 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 277 นักวิชาการ และกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม โดยมี 4 อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล, นายวิรไท สันติประภพ และนางธาริษา วัฒนเกส รวมถึงนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง อาทิ  รศ. ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง (อดีตรองศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.), ดร. สมชัย จิตสุชน (ในนามส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานสังกัด), รศ. ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ (อดีตคณบดีคณะ เศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทยโดยกลุ่มการเมือง ว่า

ในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสองท่านในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางว่า รัฐบาลได้เสนอชื่อบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง เพื่อดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมและภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม  มีความกังวลอย่างยิ่งถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมือง ซึ่งโดยทั่วไปฝ่ายการเมืองมักให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ในระยะสั้น เพื่อแสดงผลงานที่รวดเร็วเพราะมีความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจดำรงตำแหน่งได้ไม่ยืนยาวนัก จึงอาจส่งผลให้เกิดผลเสียหายรุนแรงต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจระยะยาว

ซึ่งเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจ เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามรูปแบบของสากลประเทศที่ธนาคารกลางของประเทศที่ดีจะต้องมุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้เหมาะสมตามสถานการณ์และสถานภาพของประเทศ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศที่มั่นคงยั่งยืนในระยะยาว

บทบาทของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยครอบคลุมภารกิจสำคัญ ได้แก่ การกำกับดูแลการบริหารงาน การจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศ การคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการต่างๆ โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน อันเป็นเครื่องมือสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงิน  หากคณะกรรมการใช้อำนาจที่มีนี้เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ระยะสั้นของฝ่ายการเมือง ย่อมส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และอาจเกิดความเสียหายที่ไม่สามารถย้อนกลับได้

นอกจากนี้ หากการครอบงำครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ก็มีแนวโน้มว่าฝ่ายการเมืองจะใช้วิธีเดียวกันในการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงกลางถึงปลายปีหน้า โดยส่งบุคคลที่มีความสนิทใกล้ชิดทางการเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่งเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ขอเรียกร้องต่อคณะกรรมการคัดเลือก ที่จะพิจารณาในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ ให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม โปร่งใสและมีธรรมาภิบาล โดยไม่ยอมรับแรงกดดันทางการเมือง เพื่อร่วมรักษาสถาบันที่สำคัญคือธนาคารแห่งประเทศไทยที่บุคคลสำคัญในอดีตได้ร่วมกันพัฒนามาอย่างดี และเชิญชวนภาคส่วนอื่นในสังคมร่วมแสดงจุดยืน (โดยการร่วมลงนามข้างท้าย) เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทยให้หลุดพ้นจากผลประโยชน์ระยะสั้นทางการเมือง และธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของนานาอารยประเทศ

กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม
ปลายตุลาคม พุทธศักราช 2567

‘พิชัย’ เผย ขอไทยเตรียมความพร้อม 5 ปี ก่อนเข้าร่วม OECD เน้นภาษีเงินได้นิติฯ

(30 ต.ค. 67) นายมาทีอัส คอร์มันน์ เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) เข้าพบหารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนจะเดินทางเข้าพบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าวภายหลังการหารือว่า จากการหารือประเทศไทยยังมีงานต้องทำอีกหลายอย่างให้เสร็จสิ้นภายในช่วงเวลา 5 ปี ก่อนที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD อย่างเป็นทางการ ทั้งเรื่องกฎหมาย และแนวทางการปฏิบัติด้านต่าง ๆ ที่จะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD โดยเฉพาะเรื่องของนโยบายทางด้านภาษี 

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการทางด้านภาษี เพื่อให้สอดคล้องกับกติกาภาษีใหม่ของ OECD ซึ่งได้ประกาศการบรรลุข้อตกลงเรื่องอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) จากบริษัทข้ามชาติทั่วโลก ในอัตรา 15% ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วที่สุดในการประชุมคณะกรรมการบีโอไอ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 นี้ จะมีการหารือถึงมาตรการดังกล่าว

“เรื่องของภาษีเป็นความจำเป็น เพราะไทยจะต้องทำตามกติกาภาษีใหม่ที่ให้เก็บ 15% กับบริษัทขนาดใหญ่ เพราะมาตรการเดิมของบีโอไอ ให้สิทธิประโยชน์ด้านการยกเว้นภาษี แต่ท้ายที่สุดบริษัทเหล่านั้นก็ต้องเสียภาษีต้นทาง ดังนั้นจึงอยากเซตกติกาใหม่กับบีโอไอ เช่น ถ้าลงทุนพัฒนาทักษะคน หรือใช้เทคโนโลยีสีเขียว ก็มีมาตรการออกมาช่วยโดยจะออกมาเป็นกฎหมายที่จ่ออยู่แล้ว เพื่อให้มีผลใช้บังคับได้ในปี 2568” นายพิชัย ระบุ

นายพิชัย กล่าวว่า ในส่วนประเด็นด้านการเติบโต และด้านศักยภาพของเศรษฐกิจไทยนั้น จากการหารือก็เห็นว่าเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นการฟื้นตัวในระยะต่อไปต้องฟื้นตัวอย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพ ซึ่ง OECD ก็มีตัวอย่างของประเทศพัฒนาแล้ว ที่ประเทศไทยสามารถนำวิธีคิด และวิธีทำงานมาแลกเปลี่ยนกันต่อไป 

“วันนี้จะอยู่แบบเดิมไม่ได้ต้องอยู่แบบประสิทธิภาพ และคุณภาพ ซึ่งวิธีคิด และวิธีทำงานที่สอดคล้องกันของประเทศสมาชิกจะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันได้ง่ายขึ้น และเป็นผลดีกับไทยที่มีปัญหาการทำงาน มีปัญหาซ้ำซ้อนเรื่องค่าใช้จ่ายภาครัฐมาก โดยเรื่องทั้งหมดนั้น เรามีงานต้องทำอีกมากตามเป้าหมายการทำงานในช่วง 5 ปีจากนี้” นายพิชัย ระบุ

สศอ. เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมทรุด จากอุตสาหกรรมหนักส่งออกน้อย แนะ เตรียมปรับตัวรับนโยบายผู้นำสหรัฐคนใหม่ ผ่านปฏิรูปอุตสาหกรรม

(30 ต.ค. 67) นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ระดับ 92.44 หดตัวร้อยละ 3.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 57.47 ส่งผลให้ดัชนี MPI ไตรมาส 3 ปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 94.74 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.23 และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 58.29 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 0.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตยานยนต์ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ทั้งตลาดภายในประเทศและการส่งออก จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือนสูง และสถานการณ์หนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ยังอยู่ในระดับที่สูง ทำให้สถาบันการเงินยังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและยอดปฏิเสธสินเชื่ออยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันต้นทุนพลังงานอยู่ในระดับสูง และปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูกมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาถูกกว่าสินค้าของไทย 

โดยเฉพาะการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์กระทบผู้ประกอบการไทย ซึ่งสินค้านำเข้าที่ทะลักเข้ามามาก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้า เป็นต้น ขณะที่ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัวร้อยละ 2.86 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาส 3 ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 7.05

ด้านการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยเดือนตุลาคม 2567 'ส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น' โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น ตามการลงทุนภาคเอกชนและความเชื่อมั่นทางธุรกิจใน ภาคการผลิตที่ลดลง ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ และผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น จากภาคการผลิตของสหภาพยุโรปที่ยังคงหดตัว รวมถึงสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา และความกังวลต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี

“สำหรับประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐมีผลต่ออุตสาหกรรมไทยนั้น มองว่ามีทั้งได้รับอานิสงส์และอาจจะได้รับผลกระทบ ดังนั้น สศอ. จึงมีข้อเสนอแนะแก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยเพื่อให้สามารถปรับตัวและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสม ได้แก่ 

1. ปรับตัวสู่เทคโนโลยีพลังงานสะอาด และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน 

2. พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยตรวจสอบและปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการใช้พลังงาน หรือการสูญเสียพลังงานในแต่ละขั้นตอนเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต 

3. นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล 

4. ผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก โดยต้องมีความเข้าใจความต้องการและสามารถจัดการกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และ 

5. พัฒนาแรงงานโดยสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กร (Reskill) พัฒนาเพื่อยกระดับทักษะที่มีอยู่เดิมให้ดียิ่งขึ้น (Upskill) เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ นำมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน (Newskill) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะของแรงงานให้ตรงตามความต้องการของตลาดโลก” นายภาสกร กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนกันยายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.54 จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันเบนซิน เป็นหลัก จากการผลิตกลับมาเป็นปกติในปีนี้หลังผู้ผลิตบางรายหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในปีก่อน

สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 49.96 จากปลาทูน่ากระป๋อง เป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย เพื่อสต็อกสินค้าไว้รองรับความต้องการในช่วงเทศกาลและวันหยุดปลายปี ส่งผลให้ตลาดส่งออกขยายตัว

เครื่องจักรอื่นๆ ที่ใช้งานทั่วไป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.73 จากเครื่องปรับอากาศ เป็นหลัก ตามสภาพอากาศทั่วโลกที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ลูกค้าจากสหรัฐอเมริกาเร่งให้ส่งมอบสินค้า และผู้ผลิตพัฒนาสินค้าได้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนกันยายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.48 จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก รถยนต์ไฮบริดขนาดมากกว่า 1800 ซีซี เป็นหลัก ตามการหดตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือนสูง และสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.54 จาก Integrated circuits (IC) เป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่ลดลงและบริษัทแม่ในต่างประเทศยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจ ต่างจากสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ที่ค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.96 จากพื้นสำเร็จรูปคอนกรีตและเสาเข็มคอนกรีต เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของโครงการก่อสร้างของภาครัฐและอสังหาริมทรัพย์ในภาคเอกชน ตามภาวะเศรษฐกิจหนี้ครัวเรือนสูง สถาบันการเงินเข้มงวดอนุมัติสินเชื่อ ขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้น

แนะเพิ่มช่องทางหาเงินเข้ารัฐ ภาษีลาภลอย ช่วยรัฐบาลได้

(29 ต.ค. 67) ไม่แปลกนักที่ในห้วงระยะเวลานี้จะมีข่าวการเตรียมจัดเก็บค่าธรรมเนียม ภาษี หรือรายได้อื่น ๆ จากทางภาครัฐ เนื่องจากการทำรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

แต่มีอีก 1 ช่องทางในการสร้างรายได้อีก 1 ช่องทาง ที่เหมือนจะหลงลืมกันไป นั่นก็คือ ‘ภาษีลาภลอย’

ภาษีลาภลอย คือ ภาษีที่จะจัดเก็บจากผู้ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น ทางด่วน รถไฟฟ้า สนามบิน หรืออื่น ๆ

เหตุผลที่มีแนวคิดในการจัดเก็บ เนื่องจากบรรดาที่ดินที่ได้รับประโยชน์เหล่านี้ อยู่ดี ๆ ก็มีมูลค่าสูงขึ้นจากการลงทุนของทางภาครัฐ 

ขอย้ำอีกครั้งว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยมีการเตรียมเสนอกฎหมายที่มีแนวคิดคล้าย ๆ กันมาแล้ว ร่างพระราชบัญญัติภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐพ.ศ. …

โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐหรือเป็นเจ้าของห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาทและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอการจำหน่ายซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯ

2.โครงการฯ ที่จัดเก็บภาษี คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่น ๆ ที่กำหนดในกระทรวง

3.การจัดเก็บภาษีแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
3.1 ในระหว่างการดำเนินการจัดทำโครงการฯ จะจัดเก็บภาษีจากการขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือห้องชุดซึ่งตั้งอยู่รอบพื้นที่โครงการฯ ในรัศมีที่กำหนด
3.2 เมื่อการก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จ จะจัดเก็บภาษีเพียงครั้งเดียวจาก
1) ที่ดินหรือห้องชุดเฉพาะส่วนที่ใช้ประชาชนในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท (ยกเว้นภาษีให้แก่ที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้เพื่อพักอาศัยและที่ดินที่ใช้ประกอบเกษตรกรรม)
2) ห้องชุดของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่รอจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯ

4.พื้นที่จัดเก็บภาษี กำหนดขอบเขตไว้ไม่เกินรัศมี 5 กิโลเมตร รอบพื้นที่โครงการฯ ทั้งนี้ กำหนดให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษี ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการออกประกาศกำหนดพื้นที่ที่จะจัดเก็บภาษีในแต่ละโครงการฯ

5.หน่วยงานจัดเก็บภาษี ได้แก่ กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีโครงการฯตั้งอยู่

6.ฐานภาษีเพื่อการคำนวณภาษี ให้จำนวนจากส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือที่ขึ้นระหว่างวันที่รัฐเริ่มก่อสร้างโครงการฯ และมูลค่าในวันที่การก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จ

7.การคำนวณภาษีให้ใช้ฐานภาษีของที่ดินหรือท้องที่ชุดคำนวณได้คุมด้วยอัตราภาภาษี

8.อัตราภาษี กำหนดเพดานอัตราสูงสุดของภาษีที่กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บได้ ไม่เกินร้อยละ 5 ของฐานภาษี ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริงจะกำหนดในพระราชกฤษฎีกา

9.ภาษีที่จัดเก็บได้ให้นำส่งเงินภาษีเข้าคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน

จะเห็นได้ว่าการเอาภาษีตัวนี้มาปัดฝุ่นอีกครั้ง สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันอย่างยิ่ง เนื่องจากหลายโครงการโครงสร้างพื้นฐานอยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งรายได้ส่วนนี้จะสามารถนำมาใช้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นด้านอื่น ๆ ของประเทศได้อีกด้วย

AION จัดทริป Y So Amazing พาลูกค้า AION Y Plus เปิดประสบการณ์ท่องเที่ยว นครราชสีมา - ปราจีนบุรี - นครนายก

AION เปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวสุดเอ็กซ์คลูซีฟ 'Y So Amazing Trip' ให้กับลูกค้า AION Y Plus ได้สัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรมแบบปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ สัมผัสอากาศดี ๆ ในเส้นทาง นครราชสีมา - ปราจีนบุรี - นครนายก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และสร้างชุมชน ในกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า AION Y Plus โดยกิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 และมีแผนที่จะจัดกิจกรรมต่อไปอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อเสริมสร้างความประทับใจและความภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว AION Y Plus

ทริปนี้เริ่มต้นขึ้นในเช้าของวันที่ 18 ตุลาคม 2567 โดยขบวนคาราวาน AION Y Plus ได้ออกเดินทางจากโชว์รูม AION โกลด์ อินทิเกรท มีนบุรี ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้นของผู้ร่วมเดินทางที่มารวมตัวกันตั้งแต่เช้า หลังจากลงทะเบียนและรับของที่ระลึก ผู้เข้าร่วมทริปได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมทั้งได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับเส้นทางและรายละเอียดของกิจกรรมก่อนจะเริ่มออกเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางแรก คือ จังหวัดนครราชสีมา

จุดหมายแรกของทริปอยู่ที่ ร้านอาหารบ้านไร่ปลายเนิน เพื่อรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ท่ามกลางบรรยากาศสบายๆ ท่ามกลางธรรมชาติและภูเขา ผู้เข้าร่วมทริปต่างเพลิดเพลินกับอาหารรสเลิศ พร้อมชมทิวทัศน์สวยงามของพื้นที่โดยรอบ

หลังจากรับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว ขบวนคาราวานได้เดินทางไปยังโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแบบสูบกลับ (Underground Powerhouse) ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจในฐานะโรงไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรกของประเทศไทย ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า รวมถึงได้สัมผัสกับธรรมชาติรอบข้างที่งดงาม สะท้อนถึงความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของ AION ในการสนับสนุนพลังงานสะอาดที่ยั่งยืน

หลังจากจบทริปที่โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ขบวนคาราวานได้เดินทางต่อไปยังโรงแรมเดอะเภรี เขาใหญ่ เพื่อเข้าพักผ่อนตามอัธยาศัย พร้อมกิจกรรมทำผ้าบาติก ในช่วงเย็นได้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำในบรรยากาศที่อบอุ่น โดยสมาชิกผู้เข้าร่วมทริปต่างนั่งพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้รถยนต์ไฟฟ้า AION Y Plus ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง

วันที่สองของการเดินทาง ขบวนคาราวาน AION Y Plus มุ่งหน้าสู่ GranMonte หนึ่งในไร่องุ่นชื่อดังของเขาใหญ่ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมจากผู้ที่ชื่นชอบไวน์ ผู้เข้าร่วมทริปได้สัมผัสและเรียนรู้กระบวนการทำไวน์ตั้งแต่การปลูกองุ่นไปจนถึงการผลิตไวน์ รวมถึงสัมผัสกับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติของไร่องุ่นอีกด้วย

หลังจากเยี่ยมชมไร่องุ่นกันอย่างจุใจแล้ว ก็ได้เดินทางต่อไปยังอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่เป็นแหล่งรวมสัตว์ป่าและพืชพรรณหลากหลายสายพันธุ์ ผู้เข้าร่วมทริปได้มีโอกาสเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติ พร้อมทั้งฟังคำบรรยายจากเจ้าหน้าที่ เกี่ยวกับพืชพันธุ์และสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แบบเต็มที่ สร้างความประทับใจให้กับทุกคน ที่ได้สัมผัสความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ขบวนคาราวานได้มุ่งหน้าต่อไปยังบ้านเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรและอาหารเป็นยา ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้วิถีชีวิตดั้งเดิมและภูมิปัญญาพื้นบ้าน นอกจากนี้ ยังได้แวะชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุและแสดงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของภูมิภาคตะวันออกของประเทศไทย

ในวันสุดท้ายของทริป ขบวนคาราวาน AION Y Plus ได้เดินทางไปยังอ่างเก็บน้ำจักรพงษ์ เขาอีโต้ จังหวัดนครนายก เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมปล่อยปลาลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลังจากทำกิจกรรมร่วมกัน ผู้เข้าร่วมทริปได้เพลิดเพลินกับการชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามของจุดชมวิวผาหินซ้อน และจุดชมวิวเขาอีโต้ ซึ่งสามารถมองเห็นทัศนียภาพที่กว้างไกลของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก่อนจะปิดท้ายการเดินทางด้วยการรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารวินเทจ การ์เด้น ผู้เข้าร่วมทริปร่วมกันถ่ายภาพเพื่อเป็นที่ระลึกและเดินทางกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ

ทริป 'Y So Amazing Trip' ครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างลูกค้าผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า AION Y Plus ผ่านประสบการณ์การท่องเที่ยวและกิจกรรมที่น่าประทับใจ ไม่เพียงแต่สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ร่วมทริป แต่ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของ AION ในฐานะแบรนด์ที่ใส่ใจลูกค้าและสร้างสรรค์กิจกรรมที่มีคุณค่า นอกจากนี้ ทริปดังกล่าวยังเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้งานรถยนต์ AION Y Plus และสร้างเครือข่ายในกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า สะท้อนถึงแนวทางของบริษัทที่เน้นความเป็นมิตรและใส่ใจลูกค้า การจัดทริป 'Y So Amazing Trip' ในครั้งนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นการท่องเที่ยวธรรมดา แต่เป็นการมอบประสบการณ์ที่เหนือชั้นและสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า

KResearch คาด ส่งออกปีนี้ซบเซาต่อเนื่อง ลุ้น!! ‘อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์’ เป็นพระเอกขี่ม้าขาว

(29 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ หรือ ‘KResearch’ ได้สรุปสภาวะการส่งออกของประเทศไทย ดังต่อไปนี้

การส่งออกไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2024 คาดว่าจะเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าช่วง 9 เดือนก่อนหน้า เนื่องจาก

1.ปัญหาเชิงโครงสร้างในประเทศที่ยังคงอยู่ ประกอบกับแรงกดดันจากแนวโน้มอุปสงค์โลกที่ชะลอตัวโดยเฉพาะในตลาดจีน โดยดัชนีภาคการผลิต (Manufacturing PMI) และดัชนีคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออก (New export order) ของโลกอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน (รูปที่ 2) นอกจากนี้ การส่งออกเกาหลีใต้ 20 วันแรกของเดือน ต.ค. หดตัว -2.9%YoY ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2024 แม้การส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ยังขยายตัวดี

2.นโยบายกีดกันการค้ากับจีน โดยสงครามการค้าอาจรุนแรงขึ้นหากสงครามการค้ารอบใหม่เกิดขึ้นจากนโยบายของทรัมป์ฯ ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2024 อาจได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการเร่งนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ก่อนที่มาตรการทางการค้าจะยกระดับขึ้นในปี 2025 แต่อัตราการขยายตัวการส่งออกไปสหรัฐฯ คงไม่เพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2024 ซึ่งอยู่ที่ 12.5%YoY มากนัก เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เติบโตชะลอลงและสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2024 อยู่ที่ 2.5% โดยในไตรมาสที่ 4/2024 คาดว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวชะลอลงตามอุปสงค์โลกที่ชะลอตัว 

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์อุทกภัยหากมีความยืดเยื้อหรือผลกระทบเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ภาคกลางและใต้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตรมากขึ้น อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ดีกว่าคาด หากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ หากพิจารณาการนำเข้าสินค้าของไทยในเดือน ก.ย. 2024 พบว่า ขยายตัวสูงสวนทางการส่งออกที่ 9.9%YoY จากการนำเข้าทองคำที่ขยายตัวถึง 910.8%YoY ประกอบกับการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย ส่งผลให้มีการนำเข้าเครื่องจักรและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากจีนขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รวมถึงการนำเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภคจากจีนก็สูงขึ้นเช่นกัน อาทิ ของตกแต่งบ้านและเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าภาพรวมดุลการค้าไทย (ตามฐานศุลกากร) ในปี 2024 จะยังติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

‘สุริยะ’ ยันโครงการ ‘รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน’ เป็นประโยชน์ต่อประเทศ เตรียมชงแก้สัญญาเข้า ครม.

(29 ต.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ว่า ยังไม่มีการนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะเป็นสัปดาห์หน้าหรือสัปดาห์ถัดไป 

แต่ยืนยันว่าการแก้ไขสัญญาโครงการดังกล่าวเป็นเรื่องที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้เจรจากับภาคเอกชน โดยเอกชนได้รับผลกระทบจากโควิด อยากให้รัฐบาลแก้ไขเยียวยา ซึ่งมีข้อเสนอมา 6 ข้อ แต่คณะกรรมการกำกับดูแลสัญญาเห็นว่ามีเพียงข้อเดียวที่จะรับได้คือ เรื่องต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้น เนื่องจากมีผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน   

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเรียกร้องประเด็นค่าก่อสร้างเพิ่มเติมที่เอกชนขอมานั้น รฟท.ไม่ได้ให้ ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับผลกระทบโควิด เรามองว่าเป็นเหตุสุดวิสัย จึงต้องแก้สัญญา โดยได้ดูครบถ้วนทุกประเด็นที่รัฐไม่เสียประโยชน์ ประกอบกับเราอยากให้โครงการนี้เดินต่อ 

หากมีการยกเลิกสัญญาปัญหาจะตามมา รัฐเองต้องยอมรับว่าไม่สามารถส่งพื้นที่ก่อสร้างให้กับเอกชนได้ เอกชนเองที่ต้องจ่ายในส่วนของแอร์พอร์ตลิงก์ให้ก็ไม่ได้จ่าย ทำให้ต้องเจรจากัน อย่างไรก็ตาม เรื่องการเจรจา ตนไม่ใช่ผู้ริเริ่มเจรจา แต่เป็นโครงการที่ต่อเนื่องมาจาก รฟท. และเข้ามาที่สำนักงานนโยบายและแผนงานและขนส่งจราจร  กระทรวงคมนาคม เป็นผู้กรองเรื่อง ซึ่งเห็นแล้วว่าเป็นประโยชน์ ไม่เสียเปรียบ ตนจึงได้เซ็นเรื่องไป

”โครงการนี้เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ ลดระยะเวลาเดินทางจาก กทม.ไปอู่ตะเภาได้มาก การเดินหน้าโครงการนี้จึงเป็นประโยชน์ ยืนยันการเดินหน้าโครงการนี้รัฐบาลไม่เสียเปรียบเอกชน 100%  เพราะการแก้ไขสัญญาต่าง ๆ มีอัยการเข้ามาช่วยดูแล” นายสุริยะ กล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากการแก้ไขสัญญาเสร็จสิ้นแล้ว โครงการจะแล้วเสร็จเมื่อใด นายสุริยะ กล่าวว่า หากเราไม่รีบเจรจาแก้ไขสัญญา โครงการจะแล้วเสร็จล่าช้ากว่าปี 71 จะมีผลกระทบไปถึงโครงการเมืองการบินที่การยื่นเงื่อนไขการยื่นประมูลมีเรื่องของรถไฟเชื่อม 3 สนามบินเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหากล่าช้ากว่าปี 71 อาจจะถูกฟ้องร้องจากเอกชน เราพยายามจะทำให้เสร็จตามกรอบเวลาดังกล่าว 

‘เอกนัฏ’ หนุนพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ เตรียมเปิดตัว ‘กำแพงป้องกันน้ำท่วม’ จากวัสดุเหลือใช้

(29 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสภาวะโลกร้อนที่เพิ่มความรุนแรงขึ้นจนเป็นสภาวะโลกเดือดในปัจจุบัน ส่งผลให้ภูมิอากาศทั่วโลกแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากภัยน้ำท่วมอย่างรุนแรง และต่อเนื่องในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินกว่า 3.1 พันล้านบาท 

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม ในการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ นำร่องการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ จึงได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เข้าไปส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ เพื่อให้สามารถผลิตอุปกรณ์รองรับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต 

โดยเฉพาะอุปกรณ์ในด้านการป้องกันภัยจากน้ำท่วม ที่เป็นปัญหาสำคัญของไทย และเกิดขึ้นได้เกือบทุกปี ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุอุทกภัย โดยสามารถผลิตได้เองภายในประเทศ ลดการนำเข้าเนื่องจากสินค้ามีราคาสูง รวมทั้งยังสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย นอกจากนี้ วัสดุที่นำมาใช้มีทั้งที่เป็นนวัตกรรมจากวัสดุคอมโพสิต และวัสดุเหลือใช้ตามแนวคิด BCG ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

ด้าน นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้ดำเนินการวิจัย และพัฒนาวัสดุ รวมทั้งบูรณาการกับหน่วยงานภาคเอกชนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ เพื่อพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วม 

โดยพัฒนาวัสดุกำแพงป้องกันน้ำท่วมผลิตจากนวัตกรรมวัสดุคอมโพสิต หรือเศษขยะพลาสติกเหลือทิ้งนำมาบดขึ้นรูปใหม่ (upcycling Recycle) ตามแนวคิด BCG โดยมีวัสดุทางเลือกจากการวิจัยมีคุณสมบัติที่โดดเด่นในเรื่องความแข็งแรงทนทาน มีน้ำหนักเบา และมีราคาถูกกว่าการนำเข้า รวมทั้งยังช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก และนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 

นอกจากนี้ ยังใช้ระบบ KNOCK DOWN ที่สามารถติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว แม่นยํา และปลอดภัย เหมาะสำหรับติดตั้งบริเวณประตูทางเข้าออกของโครงการ หรืออาคาร ทางลงชั้นจอดรถใต้ดิน หน้าบันไดเลื่อน หน้าลิฟต์ และล้อมเครื่องจักรมูลค่าสูง เป็นต้น อีกทั้ง จะสามารถนำนวัตกรรมนี้ไปถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ประกอบการเพื่อผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย นางสาวณัฏฐิญา กล่าวทิ้งท้าย

Equinix ประกาศตั้ง Data Center ในประเทศไทย ลงทุน 1.6 หมื่นล้าน เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค CLMVT

(29 ต.ค. 67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา เราเห็นกระแสการลงทุนในไทยของบริษัทยักษ์ใหญ่ในกิจการ Data Center ระดับโลกอย่างต่อเนื่อง 

ปัจจุบันมีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการ Data Center และ Cloud Service รวม 47 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 173,000 ล้านบาท 

ล่าสุดบริษัท Equinix ผู้ให้บริการ Data Center แบบ Colocation อันดับ 1 ของโลก จากประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมี Data Center ให้บริการมากกว่า 260 แห่ง ใน 72 เมืองทั่วโลก ได้ประกาศแผนการลงทุน Data Center ในประเทศไทย มูลค่ารวมกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 16,500 ล้านบาท) ในระยะ 10 ปีข้างหน้า ซึ่งบีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการในเฟสแรกมูลค่ากว่า 7,180 ล้านบาทแล้ว โดยจะเปิดให้บริการในปี 2570

เหตุผลที่ Equinix ได้ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้ง Data Center แห่งใหม่ เพื่อรองรับลูกค้าในประเทศไทยและกลุ่มประเทศในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (CLMVT) มี 3 เหตุผลสำคัญ คือ 

(1)ความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัลของภูมิภาค โดยเฉพาะการเป็น Connecting Hub สำหรับกลุ่ม CLMVT ที่มีประชากรรวมกันกว่า 250 ล้านคน  

(2)ศักยภาพของตลาดในประเทศที่ขยายตัวสูง จากการเติบโตของเทคโนโลยี AI และความต้องการของภาคธุรกิจในการยกระดับองค์กรไปสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) รวมทั้งนโยบายเชิงรุกด้าน Cloud First Policy ที่จะช่วยกระตุ้นดีมานด์จากการสนับสนุนให้ภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ ใช้เทคโนโลยี Cloud ซึ่งจะส่งผลให้ตลาด Data Center ในไทยขยายตัวมากขึ้น  

(3) นโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจนของรัฐบาลและบีโอไอ ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่มีคุณภาพสูง ทั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เครือข่าย 5G ระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียร และสัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 85 ของประชากรทั้งหมด 

“การประกาศลงทุนครั้งใหญ่ในไทยของ Equinix จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศไทย ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงโครงข่ายเทคโนโลยีดิจิทัลคุณภาพสูง เพิ่มโอกาสในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ ๆ และช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต การเงิน การค้า การท่องเที่ยว และ Digital Services ต่าง ๆ 

นอกจากนี้ Equinix ยังมีแผนถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับบุคลากรไทย โดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเตรียมคนไทยให้พร้อมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอนาคตด้วย” นายนฤตม์ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top